Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

มดงานนิรนามสู้ COVID19 EP3 : ศิษย์เก่าคณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
ในขณะที่การแพร่โรคในหลายประเทศเริ่มขยายวงกว้างขวางขึ้นทุกที ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนถึงผลงานของเหล่ามดงานนิรนาม พวกเขาช่วยชะลอการแพร่ระบาดในประเทศออกไปได้สำเร็จ ติดตามเบื้องหลังของ “มดงานนิรนาม” คณะทำงานกลุ่มภารกิจตระหนักรู้ด้านสถานการณ์สาธารณสุข (Situation Awareness Team: SAT) “มดงานนิรนาม” บุคคลเบื้องหลังที่คุณอาจไม่เคยเห็น แต่ยังมีบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่คอยเป็นกำลังเสริม เป็นหน่วยข่าวกรอง หรือฝ่ายสอดแนมให้กับทัพหน้าเพื่อพิชิตภารกิจในครั้งนี้ให้ลุล่วงไป

มาทำความรู้จักกับ นายธนพล ฉายประทีป ศิษย์เก่าวิชาเอกอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (รุ่นที่ 4) อาชีพปัจจุบัน: นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ (ข้าราชการ) กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
.
อีกหนึ่งบทบาทของผลผลิตศิษย์เก่าคณะสาธารณสุขศาสตร์ มธ. และเขามีบทบาทอย่างไรในสังคม และมีบทบาทอย่างไรในการจัดการปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 
ติดตามบทสัมภาษณ์เรื่องราวและประสบการณ์การทำงานของพี่ๆศิษย์เก่า และเหล่ามดงานนิรนามท่านอื่นๆได้ที่นี


Q : บทบาทที่ได้รับในการแก้ไขปัญหากับวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีพันธกิจอะไรบ้าง
A : ปฏิบัติหน้าที่ในคณะทำงานกลุ่มภารกิจตระหนักรู้ด้านสถานการณ์สาธารณสุข (Situation Awareness Team: SAT) ตามคำสั่งกรมควบคุมโรค ที่ 312/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (Emergency Operations Center) กรณีโรคปอดอักเสบรุนแรงจากเชื้อไวรัส (Viral Pneumonia) (เพิ่มเติม ครั้งที่ 11) โดยปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่ง Incharge 1 ซึ่งมีหน้าที่รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และจัดทำรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับผู้บริหาร และรายงานสถานการณ์โรคฯ ฉบับสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทุกวัน รวมถึงการติดตามข่าวสารและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 ที่น่าสนใจทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งคณะทำงานที่ว่านี้จะแบ่งเป็นเวร โดยจะอยู่เวรครั้งละ 1 สัปดาห์ เว้น 2 สัปดาห์ วนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ หลายคนอาจสงสัยว่าสังกัดกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่ทำไมได้ปฏิบัติภารกิจตรงนี้ด้วย เนื่องจากว่ากรมควบคุมโรคต้องการนักวิชาการสาธารณสุขจำนวนมากเพื่อปฏิบัติภารกิจตรงนี้ จึงได้มีการขอรายชื่อนักวิชาการสาธารณสุขจากหน่วยงานต่าง ๆ ในระดับกองเพื่อให้มาร่วมปฏิบัติหน้าที่ในคณะทำงานเนื่องจากบทบาทหลักของนักวิชาการสาธารณสุขจะเหมือนกันทั้งหมดคือการปฏิบัติงานเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรค ตลอดจนรวบรวมข้อมูลด้านวิชาการต่าง ๆ


Q : คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีส่วนสำคัญอย่างไรในการทำงานในปัจจุบัน
A : คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดความรู้และทักษะต่าง ๆ ในวิชาชีพสาธารณสุข ทำให้ผมได้ใช้ความรู้ในหลากหลายวิชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาระบาดวิทยาและชีวสถิติ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกอบการจัดทำรายงานสถานการณ์โรคฯ ฉบับผู้บริหารและฉบับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งจะนำขึ้นหน้าเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรคเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ทุกคนได้ทราบว่าสถานการณ์ทั้งในไทยและต่างประเทศเป็นอย่างไรบ้าง มีมาตรการหรือแนวทางใดบ้างที่ใช้ในการป้องกันควบคุมโรคทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการกำหนดแนวทางการป้องกันควบคุมโรคในเชิงนโยบายต่อไป นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชนอีกด้วยถึงแนวทางการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)


Q : ความคาดหวังจากการรับภารกิจในครั้งนี้คืออะไร
A : คาดหวังว่าความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกคนที่ใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ครั้งนี้ ทั้งคนที่ปฏิบัติงานด่านหน้าและคนที่ปฏิบัติงานอยู่เบื้องหลังในฐานะ “มดงานนิรนาม” รวมถึงความร่วมมือร่วมใจจากภาคประชาชน จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวข้ามผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยดี

คนค้นฅน : มดงานนิรนาม สู้วิกฤตโควิด l FULL ( 12 เมษายน 2563)

แสดงความคิดเห็น

>