Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

ความรู้เรื่องรำวงมาตรฐาน..น่ารู้

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
  รำวงมาตรฐาน ในปัจจุบันนี้เป็นศิลปะแห่งการรำวงที่งดงาม ซึ่งในสมัยก่อนยังมิได้มีคำว่า “มาตรฐาน” จะเรียกกันเพียงว่า “รำวง” เท่านั้น การรำวงนี้เป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวไทย ที่บ่งบอกถึงความสนุกสนาน จะเล่นกันในบางท้องถิ่นและบางเทศกาลของแต่ละจังหวัดเท่านั้น รำวงนั้นสืบเนื่องมาจากการรำโทนหรืออาจพูดได้ว่า “รำวง” เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “รำโทน” ซึ่งในสมัยก่อนเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการรำโทนก็มี ฉิ่ง ฉาบ และโทน ใช้ตีประกอบจังหวะ โดยการฟ้อนรำจะมีเสียงโทนเป็นเสียงหลักตีตามจังหวะหน้าทับ จึงเรียกการฟ้อนรำชนิดนี้ว่า “รำโทน” ในด้านของบทร้องจะเป็นบทร้องที่มีภาษาเรียบง่าย ไม่พิถีพิถันในเรื่องถ้อยคำและสัมผัสวรรคตอนแต่อย่างใด เนื้อหาของเพลงจะออกมาในลักษณะกระเซ้าเย้าแหย่ การหยอกล้อของหนุ่มสาว เชิญชวน ตลอดจนการชมโฉมความงามของหญิงสาว เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อความสนุกสนานในการเล่น ในเรื่องของการแต่งกายก็เน้นเพียงความสะดวกสบายของชาวบ้านเอง ไม่ได้ประณีตแต่อย่างใด
      
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2483 ชาวบ้านนิยมเล่นรำโทนอย่างแพร่หลาย ศิลปะชนิดนี้จึงมีอยู่ตามท้องถิ่นและพบเห็นได้ตามเทศกาลต่างๆ มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากนี้เอง จึงได้มีผู้คิดแต่งบทร้องและทำนองเพลงขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ก็ยังคงจังหวะหน้าทับของโทนไว้เช่นเดิม บทร้องและทำนองแปลกๆ ที่มีเกิดขึ้นมาใหม่โดยปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้จึงเป็นบทเพลงที่ขาดการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ไม่ปรากฏว่า ใครเป็นผู้แต่งบทร้องและทำนอง
      
ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2484 – 2488 เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นที่ ตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เพื่อเจรจาขอตั้งกองทัพในประเทศไทย โดยใช้เส้นทางต่างๆ ในแผ่นดินไทยลำเลียงเสบียงอาหาร อาวุธและกำลังพล เพื่อใช้ในการต่อสู้กับประเทศสัมพันธมิตร อังกฤษ อเมริกา ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยมี จอมพล ป. (แปลก) พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจยอมให้ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพราะเกรงว่าหากปฏิเสธคงจะถูกปราบปรามแน่ ด้วยเหตุนี้เองประเทศไทยจึงได้รับผลกระทบจากการรุกรานของฝ่ายพันธมิตร ที่ส่งกองทัพเข้ามาโจมตีฐานทัพญี่ปุ่นทางอากาศ โดยเฉพาะในยามที่เป็นคืนเดือนหงาย จะมองเห็นจุดยุทธศาสตร์ได้ง่าย ข้าศึกมักจะเข้ามาโจมตีอย่างหนักด้วยการทิ้งระเบิด ซึ่งสร้างความเสียหายทำลายชีวิตและทรัพย์สินบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่ใกล้กับฐานทัพญี่ปุ่น
      
เมื่อช่วงคืนเดือนหงายผ่านไป คืนเดือนมืดเข้ามา ข้าศึกจะมองเห็นจุดยุทะศาสตร์ไม่ชัดเจนจึงพักการรุกราน ประชาชนชาวไทยได้รับความเดือดร้อน ต่างอยู่ในสถานการณ์ที่หวาดกลัวเป็นอย่างมาก จึงได้หาวิธีผ่อนคลายความตึงเครียด ความหวาดผวา ด้วยการนำศิลปะพื้นบ้านที่ซบเซาไป กลับมาร้องรำทำเพลง นั่นก็คือ “การำโทน” คำร้อง ทำนอง และการแต่งกาย ก็ยังคงเรียบง่าย สนุกสนานเช่นเดิม เพลงที่นิยมได้แก่เพลง ใกล้เข้าไปอีกนิด ช่อมาลี ตามองตา ยวนยาเหล เป็นต้น ต่อมา จอมพล ป. (แปลก) พิบูลสงคราม ได้เล็งเห็นศิลปะอันสวยงามของไทยที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย หากชาวต่างชาติมาพบเห็นจะตำหนิได้ว่า ศิลปะการฟ้อนรำของไทยนี้มิได้มีความสวยงามประณีตแต่อย่างใด รวมถึงไม่มีศิลปะที่แสดงออกว่าเป็นชาติที่มีวัฒนธรรม ท่านจึงได้มอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงและพัฒนาการรำ “รำโทน” ขึ้นใหม่ ให้มีระเบียบแบบแผน ให้มีความประณีตงดงามมากขึ้น ทั้งทางด้านเนื้อร้อง ทำนอง ตลอดจนเรื่องการแต่งกาย
      
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2487 กรมศิลปากรได้ประพันธ์บทร้องขึ้นใหม่ 4 เพลง คือ งามแสงเดือน ชาวไทย รำซิมารำ คืนเดือนหงาย และได้กำหนดวิธีการเล่น ตลอดจนท่ารำและการแต่งกายให้มีความเรียบร้อยสวยงามอย่างศิลปะของไทย วิธีการเล่นนั้นจะเล่นรวมกันเป็นวง และเคลื่อนย้ายเวียนกันไปเป็นวงทวนเข็มนาฬิกา และด้วยเหตุนี้เองจึงเปลี่ยนชื่อ “รำโทน” เสียใหม่มาเป็น “รำวง” ต่อมาท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นมาใหม่อีก 6 เพลง คือ ดวงจันทร์วันเพ็ญ ดอกไม้ของชาติ หญิงไทยใจงาม ดวงจันทร์ขวัญฟ้า ยอดชายใจหาญ บูชานักรบ ในด้านทำนองนั้นรับผิดชอบโดยกรมศิลปากรและกรมประชาสัมพันธ์ ส่วนท่ารำรับผิดชอบโดยกรมศิลปากร
      
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ชาวไทยก็ยังคงให้ความนิยมการเล่นรำวง สืบมาจนถึงปัจจุบัน และชาวต่างชาติก็นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในงานเต้นรำต่างๆ จนกระทั่งมีนักประพันธ์ผู้หนึ่งเป็นชาวอเมริกัน ที่ชื่อว่า Foubion Bowers ที่ได้มาพบเห็นศิลปะการรำวงของไทย และนำไปกล่าวไว้ในหนังสือ Theatre in the East ซึ่งมีสำเนียงการเรียก “รำวง” เพี้ยนไปบ้างเล็กน้อยเป็น “รำบอง”
      
แต่อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ของกรมศิลปากร ในการปรับปรุงศิลปะการรำวงทั้งหมด 10 เพลงนี้เพื่อเป็นศิลปะการรำวงที่มีระเบียบแบบแผน ทั้งคำร้อง ทำนอง ท่ารำ ตลอดจนการแต่งกาย ให้เป็นแบบฉบับมาตรฐาน สะดวกในการเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมของไทยและสืบสานต่อไป ด้วยเหตุผลนี้ เราจึงเรียก รำวงที่มีศิลปะเป็นแบบฉบับมาตรฐาน ว่า “รำวงมาตรฐาน” สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้

เพลง

1.รำซิมารำ

2.ชาวไทย

3.งามแสงเดือน

4.คืนเดือนหงาย

ฯลฯ

เอาเป็นว่า ที่เล่ามานี้นั้น อยากให้ทุกๆคนหันมาสนใจ นาฏศิลป์ไทยกัน

ให้เยอะๆนะค่ะ

ลงชื่อ พิสชา ม.2/4 เลขที่6 ^0^

แสดงความคิดเห็น

>

8 ความคิดเห็น

ตุ๊กตาบลายธ์ 16 ก.พ. 57 เวลา 20:45 น. 4

ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้เยอะมากเลย อ้อ ไม่ต้องสนใจคนอื่นนะคะที่บอกว่าแย่มาก เพราะ ที่เขาพูดอย่างนี้ไม่รู้ว่าแย่จริงหรือเปล่า แต่ได้ความรู้เยอะขึ้นค่ะ มีหลายอย่างนะคะที่เว็บอื่นไม่มี ขอบคุณค่ะ




ปล.คหสต ไม่ได้ว่าใครนะคะ อย่าร้อนตัว




เชอะ

0