Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

หนุมาญเผชิญภัย - วรรณคดี แอนิเมชั่น และ คอมมิวนิสต์!

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
  
 
หนุมานเผชิญภัย - วรรณคดี แอนิเมชั่น และคอมมิวนิสต์!
โดย ยูคาริ ณ มอสโคว

 
      สมัยเราอยู่ ม.2 ในคาบวิชาภาษาไทย ครูเข้ามาในห้องและสอนเรื่อง 'บทละคร รามเกียรติ์ ตอน นารายณ์ปราบนนทก'
หลังสอนจบ ครูให้นักเรียนไปทำชิ้นงานเนื่องในหัวข้อ 'วาดภาพประกอบบทละคร' 

 
  พอถึงเวลาส่งงาน นักเรียนหลายคนทยอยเอางานไปส่ง มีผลงานของเพื่อนเราเป็นที่ฮือฮามาก เพราะงานของเขาโคตรจะอินดี้ ในกระดาษที่ส่งคือภาพวาดของยักษ์นนทกกำลังใช้นิ้วเพชรชี้ใส่เทวดา ทุกอย่างเกือบจะเหมือนในเรื่อง เพียงแต่ นนทกตนนี้ไม่ได้แต่งชุดแบบโขน เจ้ายักษ์ใส่ชุดสูทและแว่นตาดำเหมือนพวกมือปืนนักฆ่า แถมกำลังคาบบุหรี่อยู่ที่ปากแบบจิ๊กโก๋อีก
ส่วนตัวเราชอบไอเดียนี้นะ เพราะนอกจากมันจะเป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่แปลกใหม่แล้ว ในเชิงสัญลักษณ์ ทั้งนนทกและมือปืน ต่างฆ่าคนโดยการ 'กระดิกนิ้ว' เหมือนกัน

 
  ทว่าครูผู้สอนดูจะไม่ชอบนนทกใส่แว่นตาดำเท่าไหร่ ครูหักคะแนนเพื่อนคนนี้ เนื่องในข้อหา 'เล่นหิ้ง' 
ครูบอกว่า "รามเกียรติ์เป็นของสูง ไม่สมควรเอามาเล่นอย่างนี้"
เราเข้าใจนะว่ารามเกียรติ์เป็นวรรณคดีไทยคลาสสิกระดับขึ้นหิ้ง แต่เอามาปรับนิดๆหน่อยๆอย่างนี้ ไม่เห็นจะต้องหักคะแนนกันเลยนี่นา อันที่จริง ควรจะบวกคะแนนความ Creative ให้เสียด้วยซ้ำ!
หาก 'รามเกียรติ์' เป็นวรรณกรรมขึ้นหิ้งระดับที่แตะต้องไม่ได้จริง แอนิเมชั่นเรื่อง "หนุมานเผชิญภัย" คงไม่ได้เกิด

 
"หนุมานเผชิญภัย" เป็นหนังการ์ตูนแอนิเมชั่นวาดมือ สร้างในปี พ.ศ.2500  โดย อาจารย์ ปยุต เงากระจ่าง ปรมจารย์แอนิเมเตอร์แห่งเมืองไทย 

 

            
 
อ.ปยุต เงากระจ่าง

 
   ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นแอนิเมชั่นสัญชาติไทย แต่อาจารย์ปยุตกลับไม่ได้รับทุนสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาล ตอนนั้นบ้างเมืองยังไม่ให้ความสำคัญกับแอนิเมชั่นเสียเท่าไหร่ อันที่จริง อย่าว่าแต่คำว่า 'แอนิเมชั่น' เลย สมัยนั้น แค่พูดว่า 'การ์ตูน' ชาวบ้านก็เกาหัวแกร็กๆแล้ว
 
  ผู้ให้ทุนในการสร้างจริงๆคือ ยูเสด (USAID - United States Agency for International Development ) สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา 
 
   ยูเสดไม่ได้ให้ทุนอาจารย์ปยุตเพียงเพราะต้องการดูหนังการ์ตูนฝีมือคนไทยหรอก คงต้องบอกก่อนว่าสมัยนั้นเป็นช่วงสงครามเย็น โลกแบ่งเป็นสองขั้วอำนาจ คือ ฝ่ายเสรีนิยม กับ ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ว่ากันว่าอเมริกากลัวคอมมิวนิสต์ยิ่งกว่าแวมไพร์กลัวกระเทียม พวกเขาเชื่อในทฤษฎีโดมิโนที่ว่า ถ้าเกิดประเทศใดมี'เพื่อนบ้าน'เป็นคอมมิวนิสต์ อีกไม่นานประเทศนั้นก็ต้องเป็นคอมมิวนิสต์ตาม (หนึ่งในประเทศที่ว่า ก็คือพี่ไทยเรานี่แหละ)
 
   เพื่อป้องกันคอมมิวนิสต์ระบาด อเมริกาจึงจัดตั้งยูเสดขึ้นมาเพื่อเข้าไปช่วยบล็อกทางคอมมิวนิสต์ในประเทศกลุ่มเสี่ยง ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่เมืองไทยในช่วงสงครามเย็น นอกจากจะมีทหารฝรั่งเดินเกลื่อนเมืองจนหกหูรกตาแล้ว ประเทศเรายังได้รับการสนับสนุนจากอเมริกาในเรื่องไฟฟ้า สาธารณูปโภค ถนนตัดใหม่ และ ทุนสำหรับทำหนังการ์ตูนแฝงโฆษณาชวนเชื่อ
 
   "หนุมานเผชิญภัย" เป็นการ์ตูนที่มีเค้าโครงมาจากรามเกียรติ์ แต่ถูกดัดแปลงปรับปรุงใหม่เสียจนไม่เหมือนในวรรณคดี เพราะมีเงื่อนไขว่า จำเป็นจะต้องแฝงด้วยโฆษณาชวนเชื่อในคอนเซ็ปต์ 'ต่อต้านคอมมิวนิสต์' ตามที่สหรัฐฯต้องการ
ดังนั้น หนุมานเผชิญภัย จึงไม่ใช่วรรณคดีที่เรารู้จัก ทุกอย่างถูกนำไปดัดแปลงใหม่หมด


 
หนุมาน รับบท ตัวเอกฝ่ายเสรีนิยม
ส่วนทศกัณฐ์ รับบท ผู้นำฝ่ายคอมมิวนิสต์!

 
   หากจะดูเรื่องนี้ กรุณาลืมภาพหนุมานตามตำนานที่หาวเป็นดาวเป็นเดือน และฉากรบราฆ่าฟันด้วยอาวุธโบราณได้เลย เพราะเรื่องนี้ใช้มีแต่ยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ ตั้งแต่ ปืนกลหนัก, grenade launcher จรดยันเครื่องบินรบ!
ฉากในเรื่องก็ไม่ได้เป็นนครลิงโบราณตามวรรณคดี แต่เป็นเมืองลิงสมัยใหม่ ที่มีตึกราบ้านช่องสไตล์ยุโรป เหล่าลิงในเมืองใส่สูทผูกไทด์ มีรถยนต์ขับ  และที่สำคัญ มีลิงบางตัวที่ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์!



 
   "หนุมานเผชิญภัย" มีความยาว 20 นาที (เท่าอนิเมะญี่ปุ่น 1 ตอน) เนื้อเรื่องสนุก งานภาพดีพอควร และตรงตามคอนเซ็ปต์ของผู้ให้ทุน 
หลังทำการ์ตูนเสร็จ ตอนแรกตกลงว่าจะนำไปออกฉายในโรงภาพยนต์ แต่เอาเข้าจริง ภาครัฐกลับไม่อนุมัติเนื่องด้วยเหตุผลบางประการ
ว่ากันว่า ที่รัฐบาลสั่งแบนเรื่องนี้ในโรง ไม่ใช่เพราะกระทรวงวัฒนธรรมไม่พอใจที่เห็นหัวนมหนุมาน หรือรับไม่ได้ที่เห็นตัวละครในวรรณคดีขี่เครื่องบินรบไล่ยิงคอมมิวนิสต์ แต่เป็นเพราะ  จอมพลสฤษดิ์ นายกฯสมัยนั้น ไม่ปลื้มหนังเรื่องนี้เท่าไหร่
 
บางแหล่งข่าวบอกว่า เป็นเพราะท่านเกิดปีวอก จึงสั่งห้ามฉายในโรงหนัง ...ไม่รู้จริงรึเปล่า
 
   หลังจากจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตในปี พ.ศ.2506 ยูเสดก็นำหนังการ์ตูนเรื่องนี้ไปฉายเป็นหนังกลางแปลงตามต่างจังหวัด การ์ตูนหนุมานขับเครื่องบินรบจึงเป็นที่รู้จักของเด็กๆในยุคนั้น ซึ่งเดี๋ยวนี้น่าจะเป็นคุณลุงคุณป้าเลี้ยงหลานอยู่บ้านกันหมดแล้ว
 
   ปัจจุบัน "หนุมานเผชิญภัย" มีให้ดูใน youtube  ทั้งม้วนฟิลม์ต้นฉบับ และแบบฉบับบันทึกเสียงใหม่  ถ้าใครต้องการเสพงานการ์ตูนวาดมือเก่าๆโดยปรมาจารย์การ์ตูนไทย หรืออยากจะดูการ์ตูนที่มีองค์ประกอบของคอมมิวนิสต์ (คอมมิวนิสต์จริงๆ ไม่ใช่แบบทีม Pravda ใน Girls und Panzer) เราของแนะนำให้ค้นชื่อเรื่องใน youtube ดูเลย
เรื่องนี้ทั้งคลาสสิก ครีเอทีฟ ทรงคุณค่า ใช้ตัวละครในวรรณคดีเล่นประเด็นการเมือง และแฝงไปด้วยกลิ่นอายความไม่ลงรอยแห่งยุคสงครามเย็น 

 


หนุมานเผชิญภัย ฉบับ บันทึกเสียงใหม่



 
  ส่วนตัวแล้ว เรารู้สึก'ว้าว'กับเรื่องนี้มาก เพราะปกติเราชอบงานการ์ตูนแอนิเมชี่นวาดมือเก่าๆที่แฝงด้วยโฆษณาชวนเชื่ออยู่แล้ว วิ่งเป็นฝีมือแอนิเมเตอร์ไทยชั้นบรมครู ยิ่งชอบใหญ่!
 
ของโคตรดีย์!
 
  ในเรื่องของงานภาพ  โดยส่วนตัวเรา ว่าการเคลื่อนไหวของตัวละครในเรื่องนี้ทำออกมาได้ลื่นไหลเป็นธรรมชาติมาก เผลอๆอาจจะพริ้วกว่าในการ์ตูนเรื่อง 'สุดสาคร' ที่อาจารย์ปยุตทำในภายหลัง (พ.ศ.2519-2521) เสียอีก (อาจเป็นเพราะเรื่องนี้ได้ทุนนอกช่วย อาจารย์ปยุตจึงสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างงาม)


 
ย้อนกลับมาที่คาบเรียนภาษาไทย ม.2
เพื่อนของเรามีสีหน้าเซ็งเล็กน้อย หลังรู้ว่าภาพวาดมือปืนนนทกที่อุสาห์สร้างขึ้นมากลับทำให้ถูกตัดคะแนน
น่าเสียดายที่ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักการ์ตูนเรื่องนี้  ไม่งั้นเราคงสะกิดเพื่อนคนนั้นให้บอกครูว่า 



 
"ขนาดหนุมานยังขับเครื่องบินรบปราบคอมมิวนิสต์ยังมีมาแล้ว นับประสาอะไรกะอีแค่ยักษ์ล้างตีนใส่เสื้อสูท!"


 
ด้วยไมตรีจิต     
-ยูคาริ ณ มอสโคว
(20 พ.ค. 2019)  


 

แสดงความคิดเห็น

>