Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

(รก) เมื่อตัวละครไม่ได้มีแค่สีผมกับสีตา และนักเขียนไม่ต้องบรรยายใบไม้ทุกใบในฉาก

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

สวัสดีครับ Wordwrite ครับ

เท้าความสักนิดว่าผมตั้งกระทู้รับอ่านนิยาย 20 เรื่อง ไว้ (เพิ่งอ่านได้สิบกว่าเรื่อง)
และเห็นหลายอย่างที่นักเขียนเด็กดีมักจะทำกัน แยกเป็นข้อให้อ่านง่ายนะ
:

 

1. จดจ่ออยู่กับสีผมและสีตา: อย่าตกใจ ไม่ใช่เรื่องใหม่ กรณีนี้มีตั้งแต่เด็กดีเริ่มให้ลงนิยายได้นั่นแหละ ถามว่ามันผิดไหม ไม่ผิดถ้าไม่มากเกิน แต่ถ้านักเขียนไม่ระบุรายละเอียดอื่นของตัวละครเลยนอกจากสองอย่างนั้น คนอ่านจะพาลคิดว่าตัวละครมีแค่เส้นผมกับลูกกะตาเอานะเออ

    วิธีแก้: ง่ายออกครับ เราก็บรรยายอย่างอื่นเพิ่มสิ เช่น เสื้อผ้าที่สวมใส่
อากัปกิริยา ตำแหน่งที่ตัวละครอยู่ อวัยวะส่วนอื่น จะแขน ขา ไส้ติ่ง ตูด
อย่าง
“คนบนเก้าอี้พูดว่า...” “ร่างในเสื้อคลุมส่ายหน้า” หรือ

 

 

จาก "หนุ่มหน่ายคัมภีร์" โดยสุจิตต์ วงศ์เทศ
 

2. บรรยายละเอียด: อะไรที่มากเกินไปก็ไม่ดีทั้งนั้น เคยมีใครสับหมูจนเละเหลวเป๋วไหมล่ะครับ นั่นแหละ บางทีอะไรที่ไม่จำเป็น ไม่สำคัญจะข้ามไปก็ได้ คนอ่านไม่ได้อยากรู้สภาพผิวดินหรือระบบนิเวศน์นักหนาหรอกครับ

    วิธีแก้: มองง่าย ๆ ครับ อะไรที่ไม่มีความข้องเกี่ยวกับตัวละครหลัก (ในฉากนั้น) ก็ข้ามมันไป หรืออะไรที่ไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรเลยต่อเนื้อเรื่อง ก็ไม่ต้องเขียน เอาแค่คร่าว ๆ พอให้รู้ว่าคืออะไรก็โอเคแล้ว หรือ เลี่ยงไม่ได้ก็ให้แทรกมุกตลกหรือการเรียกร้องความสนใจคั่นไว้เป็นระยะ อย่าง

“เธอนั่งมองครูสอนอยู่ในห้องเรียน” กับ “เธอนั่งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม เพดานสูงสามเมตรติดพัดลมตั้งแต่สมัยสงครามโลก ในห้องมีโต๊ะเรียนที่เก่าไม่แพ้กันอีกห้าสิบตัว หน้าต่างไม้เก่าคร่ำครึเปิดเอาไว้ มันไม่ต่างจากรอยยับย่นบนใบหน้าครูที่ยืนหันหน้าเข้ากระดานดำจดอะไรไม่รู้ด้วยชอล์กขาวเท่าไรนัก” อันไหนน่าเบื่อน้อยกว่ากันก็น่าจะดูออกเนาะ

หรือ... โลกถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน แผ่นดินผืนเดียวทางตอนเหนือถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็งขาวซีด ทางตอนใต้กลับถูกมหาสมุทรแยกมันออกเป็นหลายสิบเกาะน้อยใหญ่

ตอนกลางหรือ?

สมรภูมิสีเลือดยังไงล่ะ

 

3. การใช้คำฟุ่มเฟือย: การใช้คำสละสลวยเป็นเรื่องดี แต่ต้องมีความรู้ด้านภาษาประกอบด้วย ไม่อย่างนั้นสำนวนการเขียนจะมีแต่น้ำ หลายครั้งนักเขียนจะใช้คำที่มีความหมายเดิมซ้ำ ๆ เช่น โหดเหี้ยมอำมหิตไร้ความปราณีฆ่าได้ไม่เว้นแม้เด็กหรือผู้หญิง” “ดาบเหล็กดำขลับฟาดใส่โล่ไม้จนมันแตกสะบั้นออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไม่มีชิ้นดี” “ไม้ใหญ่ยืนต้นสูงตระหง่านฟ้าประหนึ่งกระบองหนาหนักของยักษ์ปักหลั่น” จนทำให้คนอ่านรู้สึกยืด เนือย เอื่อย เบื่อ

     วิธีแก้: อาจฟังดูยุ่งยาก แต่อยากให้อ่านทวนและลองตัดบางคำออกจากตัวประโยคดูครับ ถ้าตัดคำไหนออกแล้วไม่ทำให้ความหมายเปลี่ยนก็นั่นแหละคำฟุ่มเฟือย
 

อารมณ์นี้แหละ รูปเต็มเผื่อใครอยากอ่าน


ครับ ที่เขียนทั้งหมดด้านบนก็ไม่ใช่ว่าผมเลิศเลอเพอร์เฟ็ค
แต่ถือซะว่าเป็นมุมมองเล็ก ๆ ของนักอ่านคนหนึ่งก็แล้วกันครับ

 

แสดงความคิดเห็น

>

15 ความคิดเห็น

❦ Travelers of the Mist 23 ม.ค. 60 เวลา 12:50 น. 1

แหม คุณ จขกท คะ บางทีที่ใส่ไปก็เพื่ออรรถรสนา ดูสิ คำฟุ่มเฟือยที่ จขกท ว่ามา พอใส่ในเนื้อเรื่องก็ทำให้อ่านลื่นไหล ได้บรรยากาศ ได้ฟีล เห็นภาพชัดขึ้นด้วยนะ

ส่วนเรื่องสีผมสีตา มันก็ค่อนข้างลำบากเวลาตัวละครเยอะๆ นะคะ อย่างเข้าฉากกันห้าคน ให้บรรยายว่า คนที่นั่งหัวโต๊ะเชิญให้ผู้มาใหม่ทั้งสี่คนนั่ง จากนั้นชายปากแหว่งทางขวามือของเขาจึงกล่าวขึ้น บลาๆ แต่คำพูดนั้นช่างสะกิดใจชายจมูกแบนทางซ้ายยิ่งนักจึงพูดโพล่งออกไป บลาๆ แล้วนายขาเป๋ที่นั่งถัดไปอีกสามที่ก็พยักหน้าสนุบสนุน...

//ย่องหลบไปจากกระทู้

1
จันทร์ ธันวา 23 ม.ค. 60 เวลา 13:48 น. 2

เราว่าที่เจ้าของกระทู้ยกตัวอย่างมาก็ไม่ได้บรรยายละเอียดนะคะ มันทำให้คนอ่านนึกภาพตามได้ อย่างห้องเรียนนี่นึกภาพตามเลยว่าเป็นห้องเรียนสภาพเสื่อมโทรม ของใช้ก็เก่า ครูก็แก่ เราอ่านแล้วเห็นฉากงอกออกมาเลยค่ะ

ส่วนที่ฟุ่มเฟือย เราว่ามันก็ลื่นไหลดีนะ เพราะมันให้อารมณ์ว่าโหดจริง สะบั้นจริง คือมันขยายความรู้สึกได้  แต่เราเห็นด้วยกับ จขกท ว่าเมื่อมาอยู่ในการ์ตูนแล้วมันดูเยอะ เพราะมีภาพบรรยายอยู่แล้ว แต่ถ้าที่กล่าวมาอยู่ในนิยายที่ไม่มีภาพ เราเห็นว่ามันโอเคนะ

1
DiaYa.DiaRy 24 ม.ค. 60 เวลา 18:03 น. 2-1

เห็นด้วยทั้ง 2 หัวข้อค่ะ เราเป็นคนนึงที่ชอบการบรรยายที่นึกภาพตามได้แบบผู้เขียนคงตั้งใจที่จะให้ผู้อ่านคิดภาพตามที่ผู้เขียนคิดไว้ ไม่อยากให้บิดเบือนไปจากจินตนาการของตัวเอง
ส่วนคำฟุ่มเฟือย เราก็เห็นว่ามันลื่นมาก ราวกับอ่านสำนวนคำซ้ำที่สอดคล้องได้อย่างลงตัว
รักเลย

0
SilverPlus 23 ม.ค. 60 เวลา 14:35 น. 3

ผมมีความคิดเห็นอย่างนี้ครับ

เรื่องบรรยายละเอียด....

ฉากที่ราบเรียบ ไม่มีเหตุการณ์เร่งร้อนอะไร สามารถบรรยายได้ยืดยาวได้เลยครับ แต่ให้เน้นเฉพาะสิ่งที่ตาเห็นนะครับ 

ส่วนฉากที่เร่งร้อน ไคลแม็ก ต่อสู้ เน้นการบรรยายที่รวดเร็วเป็นหลัง การบรรยายจะน้อยลงจากปกติ (ปกติของเราไม่เท่ากันด้วยนะต้องระวัง) 

เรื่องคำฟุ้มเฟือย

ผมนั่งคิดมานานแล้ว

บางครั้ง คำฟุ่มเฟือย เมื่อใส่เข้าไปในประโยค จะทำให้ปรโยคนั้นอ่านลื่นไหล และสามารถเชื่อมกับประโยคใกล้เคียงได้อย่างลงตัว และยังทำให้มันดูมีพลังอีกด้วย แม้จะต้องแลกกับความเรียบง่ายที่หายไปก็ตาม

เรื่องสีตาสีผม....

อันนี้สำคัญครับ ผมคิดว่าคนอ่านจดจำตัวละครที่สีตา สีผม ได้ดีกว่า อย่างน้อยก็เห็นภาพง่ายมาก

ส่วนนักเขียน เขียนง่ายกว่ารูปร่างใบหน้า และเส้นผมเยอะเลยครับ ถ้าจะสร้างคาแล็กเตอร์อะไรแบบเร่งรีบ เขียนถึง สีผม สีตา เอาไว้ก่อนจะดีที่สุด

ไม่ได้จะขัดความคิดของเจ้าของกระทู้นะ แค่อยากจะบอกว่า ใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องพยายามจำกัดตัวเองว่าใช้นั้นมากไป นี้น้อยไป พยายามยึดหลัง "สนุก" เข้าไว้เป็นพอ  

0
อัจฉราโสภิต 23 ม.ค. 60 เวลา 15:33 น. 4

ส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยชอบการอ้างถึงด้วยอากัปกิริยาเท่าไหร่ครับ อย่าง "คนบนเก้าอี้พูดว่า..." "คนที่กำลังยิ้มพูดว่า..." ถ้าใช้นานๆครั้งก็พอโอเค แต่บางคนเล่นใช้แต่แบบนี้โดยไม่อ้างถึงชื่อตัวละครหรือลักษณะที่จำหรือนึกภาพออกได้ง่ายกว่าของตัวละครเลย แล้วก็นึกว่านั่นเป็นภาษาที่สละสลวย ส่วนตัวผมว่ามันไม่ค่อยจะใช่ครับ (รวมทั้งพวก "เจ้าของดวงตาสี... (ในเรื่องมีตัวละครเพียบแถมสีแปลกทุกตัว)" "ร่างสูง" "ร่างบาง" ด้วย

ส่วนสีตา สีผม มันง่ายสุดและสั้นสุดครับ และอีกอย่าง ถ้าใช้หลักที่คุณว่ามาว่า "บรรยายไม่ต้องเยอะ บรรยายที่ตาเห็นหรือที่มีผลกับเนื้อเรื่องก็พอ" สีตาและสีผมนี่ตาเห็นเป็นอย่างแรกๆเลยครับ ยกเว้นในประเทศที่สีผมสีตาเหมือนๆกันไปหมดอย่างเอเชียทั้งหลาย ในทางกลับกัน การไปบรรยายเสื้อผ้าอาจจะยาวและน้ำเยอะกว่าด้วยซ้ำ

แต่ผมก็ไม่เห็นด้วย (เลย) กับพวกตาสีที่ไม่รู้ว่าเป็นสีอะไร อย่างสีอเมทิสต์ สีบุษราคัม สีเทอคอยซ์ สีไพลินน้ำเอก สีเชสต์นัต สีปลิงทะเลบาฮามาส คือ.... ผมไม่ใช่ผู้สันทัดกรณีด้านอัญมณี หรือพืช หรือสัตว์ต่างถิ่น ถ้าจะเปรียบเทียบแบบนี้ช่วยเขียนสีพื้นฐานกำกับไว้ด้วย เช่นแดงเชสต์นัต ฟ้าอ่อนเหมือนอความารีน จะเข้าใจยากน้อยลงครับ

1
Maritian 23 ม.ค. 60 เวลา 21:45 น. 4-1

เห็นด้วยกับย่อหน้าแรกมากค่ะ "เจ้าของดวงตาสี" "เจ้าของเรือนผมสี" อะไรเนี่ยเป็นสิ่งที่เรารับไม่ค่อยได้ ไม่มีเหตุผลอะไร นอกจากไม่ชอบเป็นการส่วนตัวเอามากๆ ร่างสูงร่างบางก็ไม่ชอบ มันดูเหมือนว่าคนเขียนยึดติดกับภาพลักษณ์ตัวละครมากไปและคาดหวังให้คนอ่านจำภาพลักษณ์ตัวละครได้ด้วย

แต่อย่างอื่นพอจะเข้าใจได้อยู่นะ มันเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้คำซ้ำน่ะค่ะ เราว่าภาษาไทยเสียเปรียบภาษาอื่นๆ ในแง่นี้อยู่หน่อย เพราะคำมันจะซ้ำกันเยอะ อย่างเช่น เขาที่เป็นประธานประโยค เขาที่เป็นกรรมของประโยค ก็ซ้ำกับของเขาที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของ ส่วนภาษาอังกฤษจะใช้ he him his มันไม่ซ้ำ ภาษาเราก็เขาๆๆ ต่อไป

0
โซดา 23 ม.ค. 60 เวลา 15:45 น. 5

ขอเสนอมุมมองนักอ่านอีกคนค่ะ อันนี้ตอบในฐานะผู้อ่านนะคะ -คำฟุ่มเฟือยที่ว่ามา มันทำให้เนื้อเรื่องดูมีอะไรมากกว่าเดิม มันเป็นคำเปรียบเปรยแบบสละสลวยขอแค่เว้นวรรคให้ถูกและไม่ยาวมากเกินไปก็จะไม่น่ารำคาญค่ะ

ตัวอย่างนะคะ

รอยยิ้มหวานนุ่มนวล กับ รอยยิ้มหวานนุ่มนวลดุจบุปผาในวสันตฤดู

ในฐานะผู้อ่าน ชอบ รอยยิ้มหวานนุ่มนวลดุจบุปผาในวสันตฤดูมากกว่าค่ะ มันทำให้เห็นภาพชัดขึ้นกับการเปรียบเทียบ ถึงแม้บางทีจะไม่รู้ว่า-คำนั้นแปลว่าอะไรก็เถิด ขอแค่สำนวนคำสละสลวยมันก็ชวนให้น่าอ่านแล้วค่ะ แต่ไม่ใช่ว่าใช้คำซึ่งหาความหมายไม่ได้มาเต็มเรื่อง อันนั้นจะเบื่อและไม่อยากอ่านของจริง

อย่างที่ยกตัวอย่างมาน่ะ “โหดเหี้ยมอำมหิตไร้ความปราณีฆ่าได้ไม่เว้นแม้เด็กหรือผู้หญิง” แปลไทยเป็นไทยนะคะ ทำให้เรารู้ได้ว่า -นี่น่ะโหดของจริง โหดไม่เลือกวิธีการไม่เลือกเพศวัย เอาง่าย ๆ คือชี้ชัดเลยว่าชั่วของแท้ไม่มีความดีเจือปน ปล. ปรานี คือคำที่ถูก

“ดาบเหล็กดำขลับฟาดใส่โล่ไม้จนมันแตกสะบั้นออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไม่มีชิ้นดี” ทำให้รู้ว่าดาบนั้นอะมีสีดำ แบบดำสนิท และมีอานุภาพร้ายกาจร้ายแรง ถึงได้ฟาดโล่ไม้จนแตกละเอียด โดยใช้คำย้ำที่ว่าเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไม่มีชิ้นดี คือทำให้คนอ่านเห็นได้ว่า ดาบอันนี้อะมันสุดยอดจริง ๆ

“ไม้ใหญ่ยืนต้นสูงตระหง่านฟ้าประหนึ่งกระบองหนาหนักของยักษ์ปักหลั่น” อันนี้ทำให้มองเห็นได้ว่า ต้นไม้ต้นนี้สูงใหญ่มาก ๆ ไม่ใช่สูงใหญ่ธรรมดา ใหญ่แบบแข็งแรงทนทานแบบที่เปรียบเอาไว้ ต่อให้ถูกขวานจามใส่ก็ไม่โค่นล้มลงมาง่าย ๆ

“เธอนั่งมองครูสอนอยู่ในห้องเรียน” กับ “เธอนั่งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม เพดานสูงสามเมตรติดพัดลมตั้งแต่สมัยสงครามโลก ในห้องมีโต๊ะเรียนที่เก่าไม่แพ้กันอีกห้าสิบตัว หน้าต่างไม้เก่าคร่ำครึเปิดเอาไว้ มันไม่ต่างจากรอยยับย่นบนใบหน้าครูที่ยืนหันหน้าเข้ากระดานดำจดอะไรไม่รู้ด้วยชอล์กขาวเท่าไรนัก” อันไหนน่าเบื่อน้อยกว่ากันก็น่าจะดูออกเนาะ

ชอบอันหลังมากกว่าบอกเลย ทำให้มองเห็นรายละเอียดของห้องอย่างชัดเจนว่าในนั้นมีอะไรบ้าง ประโยคแรกมันห้วนไป ถ้าชอบดำเนินเรื่องไว อ่านแล้วไม่ประทับใจก็เลือกแบบแรกไปนั่นแหละถูกแล้ว เพราะมันไม่น่าจดจำเลย เป็นคำบรรยายธรรมดาที่เห็นได้ทั่วไป ไม่แตกต่างจากของคนอื่นเท่าไร

เหมือนบอกว่า ฉันกินข้าว ไม่จำเป็นต้องบรรยายเหรอว่า มีกับข้าวอะไรบ้าง หรือ โต๊ะเป็นแบบไหน นั่งกินกับใคร หรือนั่งคนเดียว เอาพอเป็นพิธีอะ ไม่ต้องละเอียดยิบว่าในกับข้าวใส่หมูใส่พริกกี่ชิ้นหรืออะไร แค่บอกชื่อกับข้าวบ้างเล็กน้อย หรือผ้าปูโต๊ะสีอะไร ให้มันดูมีองค์ประกอบรอบด้านพอมองเห็นภาพ



3
อัจฉราโสภิต 23 ม.ค. 60 เวลา 19:05 น. 5-1

ผมเห็นด้วยกับทั้งสองฝ่ายนะครับ

จะบรรยายห้วนสั้นแบบไม่มีน้ำเลย มันก็ดูแข็งไป ไม่เห็นบรรยากาศไม่เห็นรายละเอียดอย่างที่บอกมา แต่ผมก็เห็นด้วยกับเจ้าของกระทู้บางส่วน ว่าอะไรที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยมากๆ และไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง ไม่ได้มีความสำคัญอะไรมาก ก็หลีกเลี่ยงการบรรยายจะดีกว่า

ส่วนการใช้คำซ้ำคำซ้อน บรรยายยาวๆ นี่ ผมว่าแล้วแต่คนชอบเลยครับ อย่างผม ผมชอบบรรยายพอประมาณ แต่คนที่อ่านนิยายผมบางคน (ซึ่งผมคิดว่าผมบรรยายพอสมควรแต่ไม่ได้เยอะ) ก็บอกว่าอืดอาดยืดยาดจะลากยาวไปไหนน่าเบื่อเรือหาย (เท่าที่ดูจากคอมเม้นต์ด้านอื่น คนที่พูดน่าจะอ่านไลท์โนเวลเป็นประจำ) ในทางกลับกัน ผมคิดว่าถ้าคนที่อ่านตัวอย่างของเจ้าของกระทู้แล้วชอบอย่างคุณไปอ่านนิยายผม ก็อาจจะบอกว่าบรรยายบรรยากาศน้อยไปเหมือนกัน

เอาจริงๆผมว่าคนส่วนใหญ่ในตอนนี้น่าจะชอบบรรยายสั้นหน่อยมากกว่า เพราะคุ้นชินกับการ์ตูนและไลท์โนเวลญี่ปุ่นซึ่งเน้นบรรยายกระชับ หรือบางทีแทบไม่บรรยายเลย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขียนบรรยายแบบไหนจะผิด ตราบใดที่มันไม่ได้อืดอาดจนไม่เหมาะกับฉาก หรือสั้นเกินจนไม่รู้เรื่องครับ

0
Mckinley 23 ม.ค. 60 เวลา 22:38 น. 5-2

อย่างลุงก็เขียนแนวภาษาเก่า นิยายแนวเก่า
ไม่ได้กระชับรวบรัดแบบนิยายใหม่ๆ ที่กลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กเพิ่งรุ่นๆ
ไม่ได้เอาระดับไลท์โนเวลมาเป็นบรรทัดฐาน
เพราะลุงตั้งใจให้เกิดความละเมียดอีกระดับมากกว่ากลุ่ม วรรณกรรมเยาวชน หรือ ไลท์โนเวล

บางครั้งงานที่ลุงเขียน คำฟุ่มเฟือยจึงจำเป็น ในจังหวะที่ต้องเน้นอารมณ์
หรือต้องการสะกดใจคนอ่านให้จมอยู่กับฉากนั้นให้นาน

ลุงจำคำพูดบางคำของนักอ่านที่ว่า เว้นที่ว่างส่วนหนึ่งให้เป็นที่จินตนาการของนักอ่าน
ลุงยึดหลักนี้มาตลอด ลุงเลยยึดทางสายกลาง เลือกที่จะเก็บรายละเอียดให้เห็นภาพ
แต่เป็นภาพที่มีเนื้อที่จินตนาการเสริมจากคนอ่านได้ด้วย

0
tenยอริต้า 25 ม.ค. 60 เวลา 11:59 น. 5-3

เห็นด้วยกับคุณ Mckinley ค่ะ ชอบความเห็นมาตั้งแต่ข้อความก่อนหน้านี้แล้ว แต่ที่ไม่เห็นด้วยนิสสสเดียวคือคำกำจัดความของคำว่า "คำฟุ่มเฟือย" ความละเมียดละมัยทางภาษาไม่ใช่คำฟุ่มเฟือยนะคะ คำว่าฟุ่มเฟือยแปลว่ามากเกินพอดีค่ะ ไม่ว่าจะหมายถึงการใช้เงินหรือการใช้ภาษา ถ้าใช้คำว่าฟุ่มเฟือยก็แบบว่าเกินพอดี
ดังนั้นถ้าต้องการความละเมียดละมัน และข้อความนั้นยังสวยงามลื่นไหล จะเรียกว่าคำฟุ่มเฟือยไม่น่าจะถูกนะคะ
ขอยกตัวอย่างคำว่าคำฟุ่มเฟือยนะคะ เช่นคำว่า "เขาไม่เข้าใจหล่อนแม้แต่เพียงแค่นิดเดียว" อันนี้ฟุ่มเฟือยแน่นอน เพราะสามารถเขียนใหม่ได้ว่า เขาไม่เข้าใจหล่อนแม้แต่เพียงนิดเดียว หรือ เขาไม่เข้าใจหล่อนแม้เพียงนิดเดียว หรือถ้าจะเอาให้กระชับเข้าไปอีกก็ เขาไม่เข้าใจหล่อนสักนิด ขึ้นอยู่กว่าผู้เขียนจะเลือกใช้สำนวนไหน
มาแชร์ความคิดเห็นค่ะ....

0
ผ่านมา 23 ม.ค. 60 เวลา 18:54 น. 6

เราว่าตรงข้อที่บอกว่าตรงไหนน่าเบื่อกว่ากัน จขกท คงพยายามบอกว่าถ้าไม่รู้จะบรรยายว่ายังไงให้ใช้มุกตลกแทรกเข้าไปแบบอย่างหลังแทนก็ได้นะคะ เราอ่านแล้วเข้าใจอย่างนั้นนะ

0
นางฟ้า.천사 23 ม.ค. 60 เวลา 19:10 น. 7

บทบรรยายน้อย บทพูดเยอะ หรืออะไรที่สั้นกระชับเกินก็น่าเบื่อไม่แพ้กันนะคะ สำนวนดีก็ว่าไปอย่าง

เรื่องแบบนี้มันแล้วแต่คนชอบแหละค่ะ -ในฐานะนักอ่านอีกคนนึง

1
ppapapa 27 ม.ค. 60 เวลา 21:15 น. 7-1

ของเราชอบโดนว่าบรรยายเยอะไป แต่บางตอนมันก็ไม่รู้จะใส่ให้คุยกันตรงไหนดีจริงๆ เราก็ดันเป็นจำพวกชอบเขียนความคิดในหัวมากกว่าให้พูดกันซะด้วย คงด้วยส่วนตัวเราชอบอ่านความคิดของตัวละครมากกว่าจะฟังตัวละครคุยกัน พอจะเขียนให้คุยกันทีนี่ยากจริงๆ ค่ะ T^T

0
Octory 23 ม.ค. 60 เวลา 19:25 น. 8

เห็นด้วยกับเจ้าของกระทู้ แต่ไม่เห็นด้วยกับตัวอย่างที่ยกมาครับ ผมว่าเจ้าของกระทู้ตึงไป

0
knight night 23 ม.ค. 60 เวลา 19:26 น. 9
ข้อ 1
"คืนนี้ขอนะที่รัก?" ชายหนุ่มเจ้าของแก้มก้นที่โค้งมนได้รูปมองคู่สนทนาด้วยความคาดหวัง
"...บ้า" รอยยิ้มอันอ่อนโยนปรากฏบนใบหน้าของชายหนุ่มที่นอนเจ็บไส้ติ่งอยู่บนเตียงฉุกเฉิน
...OK ดูดีมีราคะ
เพิ่มเติมว่าสิ่งที่นำมาใช้กล่าวถึงตัวละครต้องสามารถระบุตัวได้ชัดเจน ประมาณว่ามีตัวละครจับกลุ่มอยู่ห้าคนใส่เสื้อสีเดียวกัน 3 คนเราก็คงไม่เจาะจงตัวละครด้วยการระบุสีเสื้อ ว่ากันตรง ๆ มันก็เป็นสัญชาตญาณที่นักเขียนทุกคนมีติดตัวกันอยู่แล้ว อย่างตัวอย่างข้างต้นอาจจะมีการเดินเรื่องมาก่อนแล้วว่ามีแค่คนเดียวในเรื่องที่แก้มก้นโค้งมนได้รูป และมีคนเดียวในฉากนั้นที่ไส้ติ่งกำลังมีปัญหา
ข้อ 2
ถ้ามีการบรรยายสภาพแวดล้อมมาก่อนแล้วผมเลือก “เธอนั่งมองครูสอนอยู่ในห้องเรียน” 
แต่ถ้าไม่ผมจะเลือก “เธอนั่งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม เพดานสูงสามเมตรติดพัดลมตั้งแต่สมัยสงครามโลก ในห้องมีโต๊ะเรียนที่เก่าไม่แพ้กันอีกห้าสิบตัว หน้าต่างไม้เก่าคร่ำครึเปิดเอาไว้ มันไม่ต่างจากรอยยับย่นบนใบหน้าครูที่ยืนหันหน้าเข้ากระดานดำจดอะไรไม่รู้ด้วยชอล์กขาวเท่าไรนัก” แต่อาจจะมีการปรับให้ดูน่าสนใจนิดหน่อย (เท่าที่ทำได้)
ข้อ 3
คิดว่าบางทีจะเป็นคำฟุ่มเฟือยหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับมุมมองแต่ละคนด้วย
“ไม้ใหญ่ยืนต้นสูงตระหง่านฟ้าประหนึ่งกระบองหนาหนักของยักษ์ปักหลั่น”
มาลองตัดคำที่น่าจะเป็นคำฟุ่มเฟือยดู 
“ไม้ใหญ่ยืนต้นสูงตระหง่านฟ้า" ผมเห็นเป็นภาพของไม้ใหญ่ที่สูงทะลุเมฆ (จากระดับน้ำทะเล)
แต่ถ้าเพิ่ม "ประหนึ่งกระบองหนาหนักของยักษ์ปักหลั่น” ถ้ารู้มาก่อนว่ากระบองของยักษ์ปักหลั่นในเรื่องมีความสูงไม่ถึงฟ้า ภาพไม้ใหญ่ที่เห็นก็ไม่ถึงฟ้าเช่นกัน
ตัดหรือไม่ตัดความหมายอาจไม่ต่างกัน แต่ภาพในหัวอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้

อย่างไรก็ตาม
ผมคิดว่าทั้ง 
3 ข้อที่ จขกท. แนะนำมาเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจระมัดระวังตลอดเวลาที่เขียน
0
เรลัล 23 ม.ค. 60 เวลา 20:16 น. 10

ขอขอบคุณเจ้าของกระทู้ที่มีน้ำใจแบ่งปัน จะเก็บส่วนดีๆไปใช้ปรับปรุงงานเขียนต่อไป

0
แพนโดร่า ~fay102~ 23 ม.ค. 60 เวลา 20:29 น. 11
เห็นความเห็นอื่นๆ แล้วแอบเห็นใจ จขกท. ขึ้นมาเบาๆ ค่ะ 55
ก่อนอื่นขอบคุณสำหรับการวิจารณ์ที่เป็นประโยชน์นะคะ เราเป็นทุกข้อเลย แต่บางเรื่องก็ปรับปรุงตามที่คนอ่านบอกค่ะ ส่วนตัวเราไม่ชอบบรรยายละเอียดมาก แต่คนอ่านเข้าอยากให้บรรยายให้เห็นภาพหน่อยค่ะ

ส่วนตัวอย่างที่ยกมานั้น จขกท. บอกบางอันบรรยายเยอะเกินไป แต่บางความคิดเห็นบอกเท่านั้นถือว่าพอดีแล้ว นั่นเพราะมาตรฐานของแต่ละคนไม่เท่ากันค่ะ
ครูคนนึงเคยบอกเราว่า น้ำลึกนั้นลึกแค่ไหน...บางคนบอกเดินลงไปแล้วน้ำสูงท่วมหัวนั่นก็ถือว่าลึกแล้ว แต่บางคนบอกความลึกระดับที่สามารถเดินเรือดำน้ำได้ต่างหากที่เรียกว่าลึก
(ตอนนั้นเถียงกันเรื่องหินปูนเกิดในน้ำทะเลลึกค่ะ ฮ่าๆ)

แต่ระดับน้ำมันมีหน่วยวัดตายตัว ส่วนจำนวนคำที่ใช้ในการบรรยายมันไม่ได้กำหนดตายตัวค่ะ ขึ้นอยู่กับความรู้สึกล้วนๆ เพราะงั้นอยากบรรยายแบบไหนก็ทำไปเหอะ เอาที่สบายใจ อ่านแล้วสนุกอ่ะ


0
Mckinley 23 ม.ค. 60 เวลา 22:25 น. 12
คำฟุ่มเฟือย บางทีวัดยาก
อยู่ที่ประเภทนิยาย วัยกลุ่มเป้าหมาย ด้วย

อย่างนิยาย (สนพ.) ที่ลุงอ่านเจอ การใช้คำฟุ่มเฟือย มีประปาย
เพราะเป็นนิยายแนวผู้ใหญ่

เช่น

เขียวชอุ่มพุ่มพฤกษ์ (เอาแค่คำว่า เขียว หรือ ชะอุ่ม หรือ พุ่มพฤกษ์ ก็พอ) แต่เขาก็ลากยาวมาจัดเต็ม

อยู่ยั้งยืนยง (อยู่ยั้ง หรือ ยืนยง อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ แต่เขาก็ใส่มาเต็มยศ)

ไพรสณฑ์ต้นไม้ (ไพรสณฑ์ หรือ ต้นไม้ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้)

สังเกตว่า คำฟุ่มเฟือย มันมีชั้นเชิงของมันอยู่
มันเป็นศิลปะที่ต้องหัด ต้องสังเกต ว่าจะใช้ในระดับใด น้อย หรือมากเพียงใด

ถ้าใส่ในจุดที่เหมาะ มันจะเพิ่มอรรถรส เพิ่มความจรรโลงใจ เพิ่มการเน้นอารมณ์ให้ลึก
โดยเฉพาะฉากที่เศร้าขีดสุด ระทึกขีดสุด โกรธขีดสุด หรือฉากที่สำคัญมากๆ
คุณจะพบคำฟุ่มเฟือยในรูปเล่มตีพิมพ์ประปรายแน่นอน

ถ้าใส่ผิดจังหวะ ก็จะเป็นยืดยาว เยิ่นย้อ
หรือถ้าตัดในที่ไม่ควรตัด อรรถรสจะหายไป นิยายจะกลายเป็นสำนวนวิชาการ แข็งทื่อ
ขาดชั้นเชิง ขาดลีลา ขาดรสชาติ

มันขึ้นกับประสบการณ์ผู้เขียนล้วนๆ




ขอเพิ่มเติมเรื่อง 

5 คำ ทำลายอรรถรส

5 คำได้แก่ ที่(เฉพาะใช้เป็นคำเชื่อม), ซึ่ง, อัน, การ, ความ

จริงๆ อาจมีอีก แต่ลุงจับหลักๆ ตลอดประสบการณ์อ่านและเขียนว่า
บทความไหนมี 5 คำนี้ อรรถรส หรือลีลา หรือชั้นเชิงการเขียนจะแข็งทื่อ
หรือออกมาก้ำกึ่งระหว่างตำราวิชาการกับนิยายจรรโลงใจ
กลินอายวิชาการมันยังปนๆ ให้เราสะดุด

ใช้ให้น้อยที่สุดเป็นดี อย่างที่ลุงยกตัวอย่าง เช่น


"การได้มาซึ่งเพชรเม็ดโตนั้น ไม่ง่ายเลยที่เนะโกะจะขุดออกไปได้"
ลุงจะแก้ใหม่เป็น
"มันไม่ง่ายนักหากเนะโกะจะขุดเพชรเม็ดโตออกไป"

ป.ล. อันนี้เป็นหลัก "ส่วนตัว" ของลุงใช้เขียน ไม่ได้จะให้ยึดเป็นบรรทัดฐาน เพราะเป็นความรู้สึกล้วนๆ เลย





8
เรลัล 24 ม.ค. 60 เวลา 08:26 น. 12-1

เห็นด้วยทุกประการครับ เป็นความรู้สำหรับทุกคนที่ดีมาก ขอแสดงความนับถือ

0
Mckinley 24 ม.ค. 60 เวลา 23:00 น. 12-3

ไม่ได้เรียกว่าวิจารณ์หรอก ลุงเขียนเพียงใส่ความเห็นลุงลงไปเท่านั้นจากประสบการณ์ที่ผ่านตามา ถึงกระนั้น เรื่องคำฟุ่มเฟือย จะว่าไปมันเป็นไปตามยุคนะ ยุคใหม่ คนใหม่ๆ ต้องการความรวดเร็ว อยากรู้เร็ว อยากผ่านเร็วๆ ก็เลยเอาหลักคำกระชับมาใช้ ต้องขอย้ำว่า กระชับคำ ตัดคำในประโยคให้สั้น ให้ห้วนขึ้น ไม่ผิดหรอก ถ้ามันเป็นแนวหรือบริบทที่สมควรจะตัด

ลุงเลยบอกที่ประโยคแรกเลยว่า คำฟุ่มเฟือย มันวัดเป็นหน่วยยาก
ความรู้สึกแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน

เช่นเดียวกับความเห็นหลายๆ คนก่อนหน้า บางคนมองว่า ฟุ่มเฟือยบ้าง มีการเล่นคำบ้าง ตัดออกจนห้วนได้ใจความแต่ไม่ได้จรรโลง มันก็เป็นความเห็นต่างแปลกกันไป ลุงว่า... อยู่ที่เนื้อหาและแนวนิยาย กลุ่มคนอ่าน สไตล์เก่า/ใหม่ และรวมถึงเอกลักษณ์เฉพาะ หรือ signature ของแต่ละคนมากกว่า

จำได้ไหมที่มีคนบอกว่า

นักเขียนที่เขียนเก่ง จะมีเอกลักษณ์ของตนเองเสมอ

ลุงไม่ใช่นักเขียนเก่งอะไร เป็นนักลองผิดลองถูกตลอดชีวิตแล้วกัน แต่ทุกครั้งที่ลองผิด จะมีคำว่า ลองถูกติดมาด้วยเสมอ ประมาณว่า ลองไปครั้งนึงเต็มสิบหน่วย ผิดสักหกหน่วยแต่ได้ถูกตรงใจสี่หน่วย ประมาณนั้น

0
เรลัล 25 ม.ค. 60 เวลา 00:25 น. 12-4

ขอบคุณที่แบ่งปันครับ

ถึงไม่รู้จักคุ้นเคยกันแต่คงบอกได้เต็มปากเลยว่า ลุงเป็นคนรักการเขียนมากและมากกว่าที่จะกลัวการเขียนผิดถูก

สิ่งดีกรองไว้และสิ่งไม่ดีปล่อยไป

ขอบคุณเจ้าของกระทู้และลุงที่แบ่งปัน อาจไม่ได้นำคำแนะนำไปใช้ทุกอย่าง ขอรับไว้เท่าที่เหมาะกับตัวเอง ขอบคุณสำหรับน้ำใจและหลายๆอย่างที่มีประโยชน์

วันนี้วันเดียวได้เรียนรู้เยอะมากครับ

0
VP.รัตติกาล 25 ม.ค. 60 เวลา 00:42 น. 12-5

ขอบคุณมากครับ

แล้วถ้าตัวละครเยอะมาก เราควรจะเขียนยังไงให้คนอ่านจำได้แม่นๆ ควรจะอธิบายยังไงดีไม่ให้เกร่อ หรือดูรกหูรกตาน่ารำคาญครับ

บางทีก็อดไม่ได้ที่จะบอกรูปร่างหน้าตาของตัวละคร แต่พอมีตัวละครเยอะๆ ก็ไม่รู้ว่าควรจะอธิบายยังไงดี

ผมพอจะรู้มาบ้างว่าตัวละครควรจะมีเอกลักษณ์หรือลักษณะนิสัยเป็นของตัวเอง แต่บางทีก็หลุดคาแรคเตอร์เหมือนกัน

พอจะมีวิธีจัดการไหมครับ

ปล.อันนี้ขอถามนะครับ ไม่แน่ใจว่าจะสอดคล้องกับกระทู้หรือเปล่า ขอโทษและขอบคุณล่วงหน้าครับ

0
Mckinley 25 ม.ค. 60 เวลา 02:34 น. 12-6

เรื่องตัวละครเข้าฉากทีละหลายคน ที่ลุงจะเขียนต่อจากนี้ ไม่ใช่บรรทัดฐานทั่วไปนะ
เป็นแค่วิธีลองผิดลองถูกของลุงเหมือนกัน

มองความเป็นจริงก่อน เราพบหน้าเพื่อนใหม่ ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า มาให้เห็นคราวเดียว 8 คน 10 คน ความสามารถเราจำคนได้มากน้อยแค่ไหน แต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน

เป็นลุง ลุงจำได้แค่ 2 คนอย่างมาก ส่วนการจะจำคนใดนั้น ในกลุ่ม 8 หรือ 10 คน จำนวน 2 คนที่ลุงจำได้ต้องมีอะไรสักอย่างสะดุดตา สะดุดใจ ประทับใจ ประหลาดใจ บลาๆ

ตอนเขียนนิยาย เขียนฉากคนมากๆ

ส่วนใหญ่ที่ลุงสังเกต การจำที่ง่ายที่สุด ไม่ใช่หน้าตา สีผม รูปร่าง แต่เป็น ชื่อ.......
ชื่อตัวละครน่ะแหล่ะที่ทำให้คนอ่านจำมากที่สุด
เพราะคนอ่านมีจินตนาการทะลุขีดที่คนเขียนมองไม่ถึง คนอ่านจินตนาการล้ำลึกกว่าคนเขียนเสมอ
การเขียนจึงให้เน้นหนักที่ชื่อ ดีกว่าเน้นที่รูปกายภาพภายนอก
ส่วนสิ่งที่จำได้ดีรองจากชื่อ คือนิสัย นามธรรมประจำตัวละคร
เช่น ช่างพูด หน้าบึ้ง ขวานผ่าซาก ทะลึ่ง ยิ้มไม่หุบ พวกนี้หยิบมาเป็นเอกลักษณ์เรียกแทนชื่อในหลายคราวได้เลย
เพราะจะเรียกแต่ชื่อบ่อยๆ ก็จะจำเจได้
อีกอย่างที่มักใช้ พวกตำแหน่งประจำบทของตัวละคร นำมาเรียกแทนได้เลย
เช่น มือปราบขี้โม้ (เอาตำแหน่ง+นิสัยมารวมกัน)

ส่วน 2 คนที่ลุงบอกว่าจำได้แม่นกว่าคนที่เหลือในกลุ่ม 8 หรือ 10 คน
ในการเขียน มองฉากนั้นมีกี่คน
แล้วหยิบมาแค่ 2 หรือ 3 คนพอที่เน้นๆ เน้นไปเลย
และต้องเป็นคนที่มีผลอย่างมากต่อฉากหรือตอนในเรื่องที่ดำเนินอยู่
ส่วนคนที่เหลือ ปล่อยให้เป็นดอกไม้ประดับข้างๆ ฉากให้มีสีสันบ้างพอ
ใช้แต่ชื่อก็พอ

เมื่อเปลี่ยนฉาก ตัวละครตัวอื่นโดดกว่าอีกตัวที่เคยเด่น ก็เปลี่ยนไปเน้นคนนั้นแทน
หยิบเอาลักษณะนามธรรม นิสัย ความคิดมาใช้ให้มาก กายภาพภายนอกไม่ต้องบอกมาก
ยกเว้น มีลักษณะเด่นจริงๆ ที่ไม่เหมือนคนอื่นๆ เลย จึงเอามาใช้
ถ้าเหมือนคนอื่นๆ หรือแค่ต่างแต่ไม่ได้โดดเด่น ก็กล่าวนานๆ ครั้งพอ
ส่วนใหญ่อะไรไม่เด่นคนมักไม่ค่อยจำ

เช่น ผมสีทอง ตาสีฟ้า คิ้วหนา มีลักยิ้ม พวกนี้ เป็นลักษณะปกติ
คนไม่ค่อยจำ เพราะไม่ค่อยมีอะไรเด่น
แต่ถ้า...
อย่างลุง ตัวละครหนึ่ง ไว้ผมยาวถึงข้อเท้า (นางเอก) นั่นแหล่ะคือความเด่น
เพราะมีสักกี่คนที่ไว้ผมขนาดนั้น

เรื่องแต่งที่ลุงเขียน ตัวละครแค่ภาคแรก นับแล้ว 30 กว่าชีวิต
หากรวมกับภาคอื่นๆ ที่เขียนอยู่ ไม่อาจคณาได้
แต่ละตัวละคร ตำแหน่ง วัย นิสัย เผ่า ก็ต่างกันไป
มีน้อยมากที่ลุงเอาลักษณะกายภาพมาอธิบาย

คงไม่ดีแน่ถ้าจะอธิบายหน้าตาให้ทุกๆ คนอย่างละเอียด
ตัวไหนเข้าฉากแรก บอกแค่สังเขปแล้วก็โยนสาระทิ้งไปไม่ต้องเก็บมาใช้อีก

ก็คงมีเฉพาะตัวเอกหลัก ตัวเอกรองที่จะเน้นเอาลักษณะภายนอกมาใช้
ผสมกับ อุปนิสัย ความคิด ฐานะ ที่ใช้สลับกันไป
เพราะเป็นตัวละครสำคัญต้องให้คนอ่านรู้เชิงลึกของคนๆ นั้นให้มาก

อย่างตัวเอก ไว้ผมยาวระเท้า สวมชุดจีน (ตัวละครอื่นชุดญี่ปุ่นหมด)
ผิวผุดผาด นิสัยก็เจ้าน้ำตา ไม่เคยยิ้ม ไม่เคยหัวเราะ
(เพราะบทบังคับให้เป็นเทพเจ้า) การเรียกก็ต้องหยิบเอาความเด่นที่เราใส่ให้เจ้าตัว
เอาออกมาใช้ เช่น สาวจีนเจ้าน้ำตา โฉมสะคราญไร้แย้ม
สลับกับการกล่าวด้วยชื่อตรงๆ ถ้าถึงประโยคไหนมันยาวกลัวเยิ่นเย้อก็จะหยิบแต่ชื่อมาใช้

เรื่องเสื้อผ้า

ถ้าจะเอามาเป็นลักษณะเด่นอธิบาย ลุงให้ข้อสังเกตนิดนึงว่า....

ถ้านิยายที่เขียน เหมือนกับการ์ตูนส่วนใหญ่ คือ ทุกฉากใส่เสื้อผ้าตัวเดิมมันทั้งชีวิตไม่เคยซัก
ถ้าคิดว่าชุดมันเตะตากระแทกใจพอก็หยิบมาเป็นจุดเด่นของตัวละครตัวนั้นได้
ย้ำว่าต้องเด่นด้วย เช่น เด็กหนุ่มเสื้อยืดเขียว อันนี้ใครๆ เขาก็ใส่ได้ ไม่เด่นอะไร
แต่ถ้าเป็น เด็กหนุ่มเสื้อลายมังกรแดง อันนี้เข้าท่ากว่า เพราะมังกรแดงที่มันใส่ทั้งชีวิต
คงมีความสำคัญอะไรกับมันแน่ๆ

ส่วนอีกแบบ อย่างลุง ยึดความเป็นจริง ตัวละครมีเปลี่ยนเสื้อผ้าเสมือนชีวิตคนจริงๆ
เสื้อผ้าอาภรณ์ไม่อาจเป็นหลักจำของตัวละครเท่าใดนัก อาจพอใช้ได้บ้างถ้าฉากต่อฉาก
มันต่อเนื่องไม่ข้ามกระโดดวัน
ยกเว้นตัวละครหลักที่บางครั้งเป็นชุดฐานะสำคัญ หรือชุดที่ทำหลายชุดเหมือนๆ กันใส่เป็นยูนิฟอร์ม

0
VP.รัตติกาล 25 ม.ค. 60 เวลา 09:34 น. 12-7

ขอบคุณครับ ได้ความรู้มากเลย จะลองไปปรับใช้ดู ให้เข้ากับแนวนิยายตัวเอง ^^

0
พิมพ์ศรี - พิมพ์ใจรัก 25 ม.ค. 60 เวลา 12:53 น. 13

บางทีประหยดคำมากเกินไปก็ทำให้เสียอรรถรสในการอ่านค่ะ จากที่สมควรลื่นไหลก็แข็งเป็นหินซะงั้น 
เราเขียนนิยายรักจะค่อยข้างอธิบายและใช้คำเพื่ออรรถรสค่ะ(ไม่วิ่นเว้อออกทะเลนะ) คนอ่านชอบคนเขียนก็แฮปปี้

0
Wa11flower 25 ม.ค. 60 เวลา 15:53 น. 14

สำหรับเรา ถ้านิยายแฟนตาซี คำฟุ่มเฟือยก็ยังรับได้นะคะ

แต่ถ้าอยู่ในนิยายรักมันดูเลี่ยนๆเวิ่นเว้ออ่ะ ไม่ชอบเป็นการส่วนตัว ฮ่าๆๆ

คิดว่าน่าจะขึ้นอยู่กับลักษณะนิยาย และสไตล์ของนักเขียนด้วย

0