Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

อารมณ์ 5 ขั้นที่คนเป็นนักเขียนนิยายเท่านั้นจะเข้าใจ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่


สวัสดีน้องๆ ชาวบอร์ดนักเขียนทุกคนนะคะ สำหรับเนื้อหาที่พี่หยิบมานำเสนอน้องๆ ทุกคนในวันนี้ ต้องขอบอกเลยว่าเป็นอะไรที่ค่อนข้างตรงกับความเป็นนักเขียนมากๆ เลย เพราะเราจะมาว่ากันด้วยเรื่องของ ‘อารมณ์’  5 ขั้น ที่คนเป็นนักเขียนเท่านั้นจะเข้าใจ ส่วนจะเป็นอารมณ์ไหน อะไร ยังไง พี่ว่าเราไปติดตามอ่านพร้อมๆ กันได้เลยค่า…


1. อารมณ์เหงา


การเป็นนักเขียน ความจริงมันก็เป็นสิ่งที่ดี
แต่ทว่ามันต้องแลกมาด้วยการนั่งทำงานคนเดียว
และคนที่เป็นนักเขียนที่ดีเขาก็พร้อมที่จะเสียสละ
เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์
 




เชื่อว่า ‘อารมณ์เหงา’ เป็นอารมณ์ที่คนเป็นนักเขียนส่วนใหญ่มักจะต้องเผชิญกันอยู่แล้ว เพราะคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักเขียน เราก็มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเขียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้สมาธิและความเงียบเป็นอย่างมาก หรือคนที่เป็นนักเขียนหน้าใหม่ที่ทำยังไง๊ ยังไงก็เขียนไม่ได้สักที บางทีสาเหตุมันอาจจะมาจากสภาพแวดล้อมรอบข้างที่ไม่พร้อม หรือตัวของนักเขียนไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ซะเอง จนบางครั้งถ้าเราต้องการใช้สมาธิจดจ่อกับการเขียนอย่างจริงๆ จังๆ มันอาจจะถึงขั้นปฏิเสธโลกภายนอก ไม่ไปพบเพื่อนฝูง ไม่ยอมออกไปไหน เพราะมัวแต่ก้มหน้าก้มตาเขียนนิยาย จนอาจทำให้เกิดอารมณ์เหงาขึ้นมาได้



2.อารมณ์โกรธ


 
“มันไม่มีอะไรที่ทรมานมากไปกว่าการแบกเรื่องราวที่คุณอยากเล่าเอาไว้ในใจ”
มายา แองเจโล
 




‘อยากเล่า แต่ไม่ได้เล่า’ พี่เชื่อว่าคนเป็นนักเขียนนั้นล้วนรู้จักความรู้สึกนี้กันดี เพราะมันเป็นความรู้สึกที่ ‘ดีนะ แต่ก็ยังดีไม่พอ’ มันเลยทำให้เราเกิดความรู้สึกหงุดหงิด คิดแต่ว่า เมื่อไหร่จะดีพอที่จะเอามาเขียนได้ล่ะ ซึ่งถ้านักเขียนคนนั้นเอาแต่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องนี้ อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้ และที่สำคัญอารมณ์ขั้นนี้เป็นอารมณ์ขั้นที่มีผลต่อการไปต่อ หรือหันหลังกลับของนักเขียนมากๆ อีกด้วย!



3. อารมณ์ต่อรอง


 
“ฆ่าคนเป็นที่รักของคุณ ฆ่ามัน ถึงแม้ว่ามันจะทำลายหัวใจของคุณเองก็ตาม”
สตีเฟ่น คิง




 

เชื่อว่าคนเป็นนักเขียนจะต้องมีความรู้สึกว่า เรารักตัวละครตัวนี้มากเลย แต่เราไม่อยากให้เขาตาย ถึงแม้ว่าเนื้อหาภายในเรื่องที่เราเขียนมาทั้งหมดควรจะจบที่จุดจบของตัวละครตัวนี้ก็ตาม นักเขียนต้องตัดสินใจและทำการต่อรองกับตัวเอง ถ้าเราไม่อยากให้ตัวละครตัวนี้ต้องตาย เราจะต้องแต่งเรื่องใหม่ทั้งหมด หรือปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้ฟังดูสมเหตุสมผล หรือถ้าเราไม่อยากแต่งเรื่องใหม่ทั้งหมด เราก็ต้องทำใจให้ได้กับการทำลายตัวละครตัวนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องเด็ดขาด และเขียนนิยายด้วยความมั่นใจ เพราะความไม่มั่นใจจะตามมาด้วยการแก้ไขเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ไปตลอดทั้งเรื่อง จนอาจทำให้เราเสียเวลา ‘มากเกินไป’ แทนที่จะเอาเวลาไปสร้างสรรค์เรื่องราวอื่นๆ ที่ดูจะมีความก้าวหน้ามากกว่าการขลุกอยู่กับที่เดิมๆ ไม่ไปไหน



4. อารมณ์ผิดหวัง


“คำปฏิเสธ หรือคำพูดที่ติดตาตรึงใจของใครบางคน
นั้นไม่ต่างอะไรจากปีศาจที่ทำร้ายตัวของเราเอง”
ไอแซค อสิมอฟ




 

อารมณ์ในขั้นที่ 4 นี้ว่าด้วยเรื่องของการถูกปฏิเสธ รวมไปถึงถ้อยคำพูดจาดูถูก หรืออะไรก็ตามที่ส่งผลต่อคนเป็นนักเขียนในแง่ลบ จะเห็นได้ว่านอกจากความเหงาที่นักเขียนต้องเผชิญแล้ว พวกเขาเหล่านั้นยังต้องเผชิญกับความผิดหวังอีกหลายอย่างตามมามากมาย แต่อย่างไรก็ตามสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่สัญญาณของจุดจบหรืออะไรหรอกจ้ะ มันก็แค่ความท้าทายอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะสิ่งสำคัญที่สุดที่คนเป็นนักเขียนต้องมีให้มากๆ นั่นก็คือ ‘ความตั้งใจและพลังในด้านบวก’ จ้า



5. อารมณ์ยอมรับ


“ไม่มีอะไรที่น่าสงสารมากไปกว่ากองงานเขียนที่ไม่ได้ตีพิมพ์แล้วแหละ”
ซิลเวีย แพลท




 

ความเศร้าของอารมณ์ขั้นนี้ก็คือ ไม่ใช่ว่าผลงานของนักเขียนทุกคนจะได้รับการตีพิมพ์ เพราะทางสำนักพิมพ์เขาก็มีข้อกำหนด มีกรอบของการคัดเลือกผลงานเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นผลงานเก่าๆ ที่ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ก็ปล่อยมันทิ้งไปซะ เพราะคนเป็นนักเขียนอย่างเราต้องเดินหน้าต่อไป อะไรที่ไม่ดี อะไรที่บั่นทอนจิตใจก็ปล่อยทิ้งซะ หรือถ้าเราไม่รู้จะทำอะไร หรือว่างๆ จากการเขียนพอดี ก็ลองหยิบเอาเรื่องเก่าๆ เหล่านั้นมาอ่านทบทวนดูอีกครั้ง เผื่อแก้ไขแล้วจะดีขึ้น เป็นกำลังใจให้นักเขียนทุกคนนะจ๊ะ
 

-------------------------------------------------------------------------------------
 

ไหนมีนักเขียนคนไหนเคยสัมผัสกับอารมณ์ทั้ง 5 ขั้นนี้ ขอเสียงกันหน่อยเร็วว..  ยังไงพี่ก็ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคน ในการสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ออกมาให้ได้อ่านกันต่อไปนะจ๊ะ สู้ต่อไป ห้ามถอยเด้อ!!


ขอบคุณแหล่งที่มาที่น่าสนใจจาก
https://bookstr.com/index.php/5-stages-writing-novel 


 

แสดงความคิดเห็น