Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

แนะนำเกล็ดสำหรับการออกแบบโลกนิยาย - อะไรคือจักรวรรดิ?

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

จักรวรรดิ ... คำนี้ ไม่ว่าจะเป็นในโลกนิยายหรือโลกจริง มันก็เป็นคำที่ทำให้ผู้อ่านหรือผู้พบเห็นมีความรู้สึกบางอย่าง

บางคนรู้สึกขนลุก
บางคนรู้สึกได้ถึงความยิ่งใหญ่เจิดจรัส
บางคนรู้สึกหวาดหวั่น
บางคนรู้สึกว่า -นี่มันตัวร้ายชัดๆ
ในความเป็นจริงแล้ว ... จักรวรรดิ มันก็คือหน่วยการเมือง มันก็คือประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่มันเองก็สร้างความรู้สึกหลายอย่างให้กับคนที่เคยรู้จักมัน เคยอาศัยอยู่กับมัน ไม่ว่าจะยุคใดก็ตาม
ในโลกนิยายเอง จักรวรรดิก็ถูกนำไปใช้หลายแบบ ทั้งในฐานะ Setting หรือในฐานะตัวละครหนึ่งที่ไม่ได้เป็นคน (ซึ่งส่วนใหญ่ไปในทางฝ่ายตัวร้ายมากกว่าล่ะนะ :v ) และจักรวรรดิ มันก็เป็นองค์ประกอบนิยายหนึ่งที่ผมเองก็ชอบใช้ ดังนั้น ผมก็เลยอยากจะเอามาแบ่งปัน ว่าจักรวรรดิมีหน้าตายังไงบ้าง และท่านสามารถเล่นกับมันได้ไงบ้าง ถ้าจะเอามาลงนิยาย
--

นิยามของคำว่า จักรวรรดิ


จักรวรรดิ หรือถ้าในภาษาอังกฤษคือ “Empire” มันหมายถึงหน่วยการเมือง รัฐหรือประเทศ ซึ่งมีอาณาเขตและอำนาจครอบคลุมหลายดินแดนและหลายกลุ่มชน โดยทีดินแดนเมืองแม่ (Metropole) ที่กำหนดนโยบายและควบคุมดินแดนชายขอบ (Periphery) พูดง่ายๆ ก็คือเป็นรัฐที่ใหญ่มากกว่าประเทศปกติแหละ
แต่ถ้าจะให้อธิบายแบบเจาะลึกอีก มันก็ยังมีหลายอย่างที่ต้องคำนึง ... จักรวรรดิมันมีหลายแบบ ... บางพวกก็เป็นจักรวรรดิที่รวบอำนาจเข้าศูนย์กลางจ๋าๆ เลย ... บางพวกก็เป็นจักรวรรดิที่ประกอบไปด้วยแคว้นต่างๆ ที่อยู่ด้วยกันอย่างหลวมๆ ... บางพวกมีอาณาเขตกว้างใหญ่คล้ายจักรวรรดิ แต่ไม่เรียกตัวเองว่าจักรวรรดิ ไม่ได้เป็นราชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ใต้องค์จักรพรรดิ ... บางพวกประกาศเรียกตัวเองว่าจักรวรรดิ แต่นานาชาติก็ไม่ยอมรับว่ามันเป็นจักรวรรดิ ก็มี
เราจะมาดูกันว่า จักรวรรดิมี Aspect อะไรให้เล่นบ้าง

--


แนวทางต่างๆ ที่ท่านเอาไปใช้ได้

แนวคิดสำคัญอย่างหนึ่ง – แนวคิดเจ้าผู้ปกครองจักรวาล (เหมาะสำหรับยุคโบราณ ยุคกลาง แฟนตาซีอิงยุคโบราณหรือลิเกอวกาศ :v )


แนวคิดหนึ่งที่หลายจักรวรรดิในยุคโบราณถึงยุคกลางบังเอิญมีความคล้ายคลึงกันเลยก็คือ สถานะของจักรวรรดิในฐานะรัฐที่ปกครองทั้งจักรวาล โดยมีจักรพรรดิเป็นเจ้าองค์เดียวที่ปกครองทั้งจักรวาล ... จักรวาลในที่นี้มันแปลได้หลายแบบ ... จักรวาลที่หมายถึง Galaxy ก็ได้ ... จักรวาลที่หมายถึงโลกทั้งใบก็ได้ (และนี่แหละคือแนวคิดที่คนยุคโบราณพูดกัน) ... หลักการนี้เรียกว่า Universal Monarchy – ราชาธิปไตยสากลจักรวาล
เราเห็นความเป็น Universal Monarchy ในหลายจักรวรรดิที่ปรากฏบนโลก
ฟาโรห์อียิปต์ถือว่าเป็น “แม่ทัพของดินแดนทั้งหมดที่รวมเป็นหนึ่ง” (รามเสสที่สอง) อียิปต์ไม่ยอมรับการมีราชามากกว่าองค์เดียว
พวกเมโสโปเตเมียขนานนามกษัตริย์ของตน ว่าเป็น ราชาแห่งสี่มุมของโลก หรือไม่ก็ ราชาแห่งโลกที่มีคนอยู่อาศัย
จักรวรรดิเปอร์เซีย อยู่ใต้การปกครองของ ชาห์อันชาห์ ... ราชาแห่งราชัน เจ้าแห่งเอรานชาห์ร (Eranshahr) จักรวรรดิของผู้มีอารยธรรม
จักรพรรดิโรมันคือผู้ปกครองจักรวาล เป็นเทพเจ้า เป็นตัวตนอันศักดิ์สิทธิ์ของรัฐ ... ต่อมา หลังจากที่โรมันรับศาสนาคริสต์มา สถานะความศักดิ์สิทธิ์ของจักรพรรดิก็ถูกลดลง จากเทพเจ้า เหลือแค่อุปราช ผู้ปกครองโลกในนามของพระผู้เป็นเจ้า
ในเอเชียตะวันออก ... จีนมีฮ่องเต้ที่เป็น “โอรสแห่งสวรรค์” ผู้ปกครองดินแดนจงกั๋ว ดินแดนแกนกลางของโลก
แม้แต่ในดินแดนโลกใหม่ พวกอินคาก็เรียกดินแดนของตนว่า “อาณาจักรสี่มุมโลก”
หรือแม้แต่คำว่า “จักรพรรดิ” เราก็เอามาจาก จักรวารติน (Chakravartin) ซึ่งเป็นแนวคิดจากอินเดีย หมายถึงพระเจ้าจักรพรรดิ เจ้าแห่งกงล้อผู้ครอบครองดินแดนกว้างไกลตั้งแต่ระดับประเทศ ทวีป หรือจักรวาล อีกทั้งยังครอบครองทรัพย์สินพิเศษต่างๆ เช่น ม้าแก้ว ขุนพลแก้ว อะไรทำนองนั้น
ดังนั้น เราพอเห็นละ ... หลักการสำคัญอย่างหนึ่งของจักรวรรดิ ก็คือการเป็นผู้ปกครองโลก
แต่ในทางความเป็นจริง เรายังไม่เคยเห็นจักรวรรดิใดสามารถยึดครองโลกทั้งใบได้เลย จักรวรรดิผงาดและล่มสลาย แต่ไม่มีใครปกครองโลกทั้งใบได้จริงๆ อย่างเก่งสุดก็อังกฤษที่เคยปกครองประชากร 1/3 ของโลก ก่อนจะเสื่อมสภาพลงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ถ้าหากจักรวรรดิไม่เคยครองโลกได้จริงๆ และหลักการผู้ปกครองของจักรวรรดิมันจะออกมาในหน้าตาไหนล่ะ?
คำตอบคือ ความเป็นอำนาจนำครับ ... จริงอยู่ที่จักรวรรดิไม่เคยครองโลกได้จริงๆ แต่จักรวรรดิจะถือว่าตนเป็นที่หนึ่งของโลก ผู้ปกครองของจักรวรรดินั้นคือผู้ปกครองหมายเลขหนึ่งของโลก เป็นจักรพรรดิองค์เดียวของโลก ดังนั้น จักรวรรดิจะปฏิบัติกับเพื่อนบ้านในฐานะรัฐผู้น้อย หรือรัฐที่อยู่ต่ำกว่า มีหน้าที่คือต้องแสดงความนอบน้อมและยอมรับอำนาจ ว่านี่คือจักรวรรดิเดียวบนโลก เราเป็นแค่น้องเล็กเท่านั้น เราแทบจะไม่เห็นจักรวรรดิไหนปฏิบัติกับอีกฝ่ายในฐานะรัฐที่เท่าเทียมกัน ยกเว้นแต่เป็นรัฐที่ยิ่งใหญ่พอๆ กัน ซึ่งขอบอกเลยว่า ในประวัติศาสตร์ยุคโบราณหรือยุคกลาง มันหายากพอสมควร ... รัฐไหนก็ตามที่มีอำนาจใกล้เคียง โดยเฉพาะรัฐที่ประกาศว่าตนคือจักรวรรดิ ส่วนมากก็กลายเป็นศัตรูกันก่อน

ด้วยความคิดแบบนี้ เราจึงเห็นความสัมพันธ์สองแบบ
ความสัมพันธ์ระหว่างจักรวรรดิและรัฐอื่นที่มีขนาดเล็กกว่า - รัฐเล็กจะยอมอ่อนน้อม ยอมรับอำนาจ ส่วนจักรวรรดิก็จะมอบความคุ้มครองและให้การยอมรับ มอบความชอบธรรมให้รัฐเล็กนั้น ตัวอย่างที่ชัดสุดคือ การที่รัฐเล็กๆ ในเอเชียส่งจิ้มก้องให้จีน โดยจีนจะมอบสิ่งตอบแทนกลับมาเพื่อแสดงอำนาจ โดยเฉพาะการมอบตราตั้งให้กษัตริย์ของรัฐที่ส่งจิ้มก้องให้ เพื่อบอกว่า จีนยอมรับว่านี่คือกษัตริย์ตัวจริงของดินแดนนั้น
ความเป็นคู่อริระหว่างจักรวรรดิ – บนโลกนี้มีจักรพรรดิได้แค่องค์เดียว เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ กลายเป็นคู่อริ ทำสงครามเย็นและสงครามร้อน เพื่อแย่งบริวารหรือแย่งดินแดนของอีกฝ่าย ตัวอย่างก็เช่น จักรวรรดิโรมันและจักรวรรดิเปอร์เซีย ราชวงศ์ซาสซานิด
แนวคิดเรื่องความเท่าเทียมระหว่างประเทศ เป็นแนวคิดที่มาตอนยุคสมัยใหม่มากๆ ดังนั้น ถ้าเขียนยุคสมัยใหม่ แนวคิดนี้แทบใช้ไม่ได้แล้วครับ มันล้าหลังแล้ว และเผลอๆ จะไม่มีใครคบเอา แต่ถ้าใครจะเขียนยุคโบราณ ก็เอาแนวคิดเรื่อง ผู้ปกครองจักรวาลไปเล่นเลยครับ :v

-

จักรพรรดิ = ผู้นำฝ่ายทหาร


แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่มาจากฝั่งโรมันเป็นหลัก โดยเราต้องเท้าความนิยามของคำว่าจักรวรรดิและการผงาดขึ้นมาของจักรวรรดิโรมันก่อน
คำว่า จักรวรรดิ ถ้าเทียบกับภาษาอังกฤษ มันคือคำว่า Empire ซึ่งมันเองก็มาจากคำในภาษาละตินคือ Imperium … - Imperium เนี่ย รากเหง้าของมันเป็นศัพท์เกี่ยวกับอำนาจ ... Imperium แปลว่า อำนาจอาญาสิทธิ์ อำนาจสั่งการ อำนาจที่เจ้าหน้าที่รัฐโรมันครอบครองและใช้งานได้ ... มันเป็นแนวคิดที่ปรากฏตั้งแต่สมัยสาธารณรัฐแล้ว ... Imperium คืออำนาจการควบคุมกองทัพ อำนาจการบริหารดินแดน เป็นขอบข่ายอำนาจที่บุคคลในตำแหน่งต่างๆ พึงมี
ตำแหน่งจักรพรรดิหรือ Emperor ก็มาจากคำละตินคือ Imperator (ผู้ถืออำนาจ Imperium) ซึ่งความหมายแรกเริ่มแปลว่า ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือแม่ทัพ ซึ่งใช้กันมานานมาก
จักรวรรดิโรมัน ถือกำเนิดมาได้ไง? อันนี้ ถ้าจะให้อธิบายแบบสั้นๆ นะ ... มันมาจากความเปลี่ยนแปลงทางพลวัตรการเมืองในสาธารณรัฐโรมัน ซึ่งอำนาจการเมืองค่อยๆ เปลี่ยนมือจากพลเมือง สภาและขุนนาง ไปอยู่ในมือของแม่ทัพ นายทหาร หรือรัฐบุรุษที่มาจากฝ่ายทหาร สืบเนื่องจากการปฏิรูปการทหารของไกอุส มาเรียส (Marian Reform) ซึ่งเปลี่ยนแปลงระบบทหาร โดยเฉพาะการออกทุนจัดตั้งกองทัพ ... ในยุคก่อน ทหารโรมันต้องออกเงินซื้ออาวุธเอง อะไรเองหมด ... แต่มาเรียสเปลี่ยนใหม่ ให้แม่ทัพเป็นคนออกเงินติดอาวุธให้ทหารในกองทัพ พอรบชนะก็ให้การตอบแทนเป็นเงินหรือดินแดน ... ผลก็คือ กองทัพโรมันมีความเป็นกองทัพประจำการมากขึ้น เริ่มมีมาตรฐานแบบเดียวกัน ทำให้กองทัพโรมันมีความแข็งแกร่ง สามารถขยายอำนาจให้โรมได้ ... แต่ผลข้างเคียงก็คือ ทหารเริ่มเลื่อมใสและภักดีกับแม่ทัพของตนเป็นหลัก แม่ทัพพวกนี้เลยสามารถใช้กองทัพของตนสร้างอำนาจการเมืองได้ เราจึงเห็นรัฐบุรุษสายทหารขึ้นมาในยุคปลายสาธารณรัฐ ที่ดังที่สุดก็จูเลียส ซีซาร์ ที่กลายเป็นผู้เผด็จการตลอดชีพ (ยังไม่ใช่จักรพรรดินะ) ... พวกที่ขึ้นมาเป็นจักรพรรดิในยุคหลังซีซาร์ ไม่ว่าจะออกุสตุส ทราจัน เวสปาเซี่ยนหรือใครก็ตาม ... พวกเขาจะมีลักษณะคล้ายๆ กัน คือการมีพื้นเพเป็นนายทหารหรือแม่ทัพมาก่อน นี่แหละคือ Aspect หนึ่งที่เราเห็นได้จากพวกโรมัน คือการผูกโยงจักรวรรดิ จักรพรรดิเข้ากับความเป็นทหาร โดยตอนแรกจะเน้นไปที่ภาพพจน์ความเป็นทหารก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ เน้นบารมีความเป็นเจ้าในยุคหลัง

-


การสืบบัลลังก์จักรพรรดิ – การแต่งตั้ง การรับรอง การเลือกตั้ง


โดยทั่วไป การสืบบัลลังก์ที่เราเห็น มักจะเป็นการแต่งตั้งรัชทายาท พอมีการผลัดแผ่นดิน ก็จะให้รัชทายาทขึ้นมาปกครองต่อ มีการทำพิธีโน่นนี่นั่น บางทีก็แซ่บๆ หน่อย คือมีการชิงบัลลังก์
แต่อยากได้อะไรที่มันแซ่บกว่านี้ไหม? … เดี๋ยวผมจะเล่าให้ :v
การสืบบัลลังก์จักรพรรดิ บางทีมันก็ Simple อย่างที่กล่าวไป ... บางทีก็ขรุขระ มีการชิงบัลลังก์หรืออะไรพวกนี้ ... แต่ในความขรุขระนั้น มันก็มีความซับซ้อนอีก

เรามาดูกรณีศึกษาของจักรวรรดิโรมัน ... จักรวรรดิโรมัน โดยเฉพาะไบแซนไทน์ มันคือจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่และดังที่สุดพวกนึงบนโลก แต่อนิจจา ... จักรวรรดินี้ดันไม่มีการเขียนกฎการสืบบัลลังก์ไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ... จริงอยู่ที่มันมีกฎหมายมรดก แต่การสืบทอดตำแหน่งจักรพรรดิ ... อันนี้อิรุงตุงนังครับ .... ในตอนที่จักรพรรดิมีพระชนม์ชีพ จักรพรรดิสามารถแต่งตั้งทายาทได้ โดยวิธียอดนิยมที่เห็นประจำคือการตั้ง จักรพรรดิร่วม (Co-Emperor) แต่พอสิ้นจักรพรรดิ และองค์ใหม่จะขึ้นต่อ มันต้องมีการรับรอง (Acclaim) กันก่อน
ใครบ้างล่ะที่รับรองจักรพรรดิโรมันได้? … คำตอบคือเยอะครับ .... สภาซีเนท ... กองทัพ ... ประชาชน (หมายถึงมวลชน) ... ประมุขศาสนา (พระสันตะปาปา หรือ อัครบิดร ในสมัยจักรพรรดิชาวคริสต์) ... จักรพรรดิไม่จำเป็นต้องผ่านการรับรองจากทุกฝ่าย ได้การรับรองจากฝ่ายใดฝ่ายนึงก็อ้างสิทธิ์ได้แล้วครับ ผลก็คือ พอผลัดแผ่นดินโรมันทีไร ถ้าหากทายาทอ่อนแอ ไม่ได้รับความนิยม ผลก็คือจักรวรรดิแทบแตกครับ โดยเฉพาะในเมืองหลวง ใครก็ตามที่คุมฝ่ายทหาร (โดยเฉพาะกองทหารรักษาพระองค์) ได้คือโคตรได้เปรียบ

เรามาดูกรณีศึกษาของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ... พวกเยอรมันที่เรียกจักรวรรดิตัวเองว่าโรมันบ้าง ... พวกนี้ยังคงขนบธรรมเนียมการสืบทอดอำนาจไว้ ... ธรรมเนียมนั้นคือ ระบบการเลือกตั้งองค์ราชา ... ราชาเผ่าเยอรมันสามารถแต่งตั้งรัชทายาทได้ก็จริง แต่รัชทายาทนั้นก็ต้องได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะประชาชนหรือขุนนาง (โดยเฉพาะขุนนาง อันนี้สำคัญสุด) โดยเมื่อมีการแต่งตั้งรัชทายาท (กรณี Holy Roman Empire) จักรพรรดิจะเรียกประชุมสภาเพื่อขอให้พวกขุนนางที่ถือศักดิ์ “เจ้าผู้คัดเลือก” (Prince-Elector) ลงคะแนนเสียง ว่าจะรับรองทายาทองค์นี้หรือไม่? หรือว่าจะเสนอคนอื่นขึ้นมาแทน ดังนั้น ถ้าหากขุนนางยังนิยมทายาท มันก็ยังมีโอกาสที่จะสืบทอดได้ตามปกติ แต่ถ้าหากทายาทไม่ได้รับความนิยมแต่ยังอยากเป็นจักรพรรดิต่อจากพ่อ ทายาทจะต้องพยายามซื้อใจพวกขุนนางพวกนี้ เพื่อให้ตนได้ถูกเลือกเป็นจักรพรรดิ บางทีก็สัญญาเป็นรายลักษณ์อักษรเลยว่า ถ้าตนได้เป็นจักรพรรดิ ตนจะมอบอะไรบ้าง เช่นเงินหรือตำแหน่ง หรือดินแดน .... บางที (กรณีนี้เกิดบ่อยในยุคกลางตอนต้น) มันก็เกิดกรณีที่การเลือกตั้งเกิดเสียงแตก ทำให้มี Candidate สองคนที่ได้รับเสียงสนับสนุนเท่ากัน ... สถานการณ์นี้ มีโอกาสเกิดสงครามกลางเมืองได้ และมันเกิดบ่อยด้วยในยุคกลางตอนต้น เพราะ Candidate และขุนนางอีกฝ่ายสามารถประกาศไม่รับรองผลการเลือกตั้งได้ ... และพอเลือกตั้งเสร็จแล้ว คนที่ถูกเลือกจะยังไม่ได้เป็นจักรพรรดิทันทีนะ ... เขายังเป็นแค่ ราชาแห่งชาวโรมัน หรือ ราชาเยอรมันก่อน เขาต้องเดินทางไปที่กรุงโรมเพื่อให้พระสันตะปาปาสวมมงกุฎ ถึงได้เป็นจักรพรรดิจริงๆ ... แต่ระบบนี้ถูกผ่อนผันลงในสมัยจักรพรรดิมักซิมิเลี่ยนที่ 1 เพราะพระองค์ไม่สามารถเดินทางลงไปที่กรุงโรมได้ (โดนพวกเวนิซปิดทาง) พระองค์เลยขอตำแหน่ง “จักรพรรดิผู้ถูกเลือก” ซึ่งพระสันตะปาปาก็ยอมเห็นชอบ ดังนั้น นับตั้งแต่ปี 1508 จะถือว่า การได้รับเลือกตั้ง = ได้เป็นจักรพรรดิไปโดยปริยาย จะทำพิธีสวมมงกุฎทีหลังก็ได้
ถ้าท่านจะเอาไปเขียนในนิยาย ท่านสามารถเอาพวกนี้ไปปรับได้นะครับ รับรองว่าแซ่บ :v

-

รูปแบบโครงสร้างจักรวรรดิ – จักรวรรดิแบบเน้นรวมศูนย์


จักรวรรดิส่วนใหญ่ที่เราเห็น มักจะเป็นจักรวรรดิที่เน้นการรวมศูนย์ คือการรวมอำนาจการปกครองมาไว้ในพื้นที่เดียว เมื่อมีการกำหนดนโยบาย มันจะมาจากส่วนกลางเป็นหลัก
ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ : จักรวรรดิโรมัน (แบบคลาสสิกและไบแซนไทน์) จักรวรรดิจีน สเปน (โดยเฉพาะสมัยบูรบองเป็นต้นมา) จักรวรรดิรัสเซีย
ตัวอย่างในเรื่องแต่ง : จักรวรรดิบริทานเนีย (Code Geass)

-

รูปแบบโครงสร้างจักรวรรดิ – จักรวรรดิแบบกระจายอำนาจ


บางจักรวรรดิอาจเป็นการรวมตัวกันของแคว้นต่างๆ ที่มีสถานะคล้ายรัฐสมาชิก โดยจักรวรรดิในลักษณะนี้ จักรพรรดิมีอำนาจจำกัด บางครั้งก็ไม่อาจสั่งการรัฐสมาชิกภายในจักรวรรดิในบางเรื่องได้ ทำให้เกิดสองขั้วอำนาจคือส่วนกลางกับท้องถิ่น ... ระบบของจักรวรรดิในลักษณะนี้จะเป็นแบบ สมาพันธรัฐหรือสหพันธ์
ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ : จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จักรวรรดิเยอรมัน (รัฐธรรมนูญ 1871 ระบุว่า จักรวรรดิเยอรมัน = Bund คือสมาพันธรัฐ/สหพันธ์/พันธมิตร)
ตัวอย่างในเรื่องแต่ง : Empire (Warhammer Fantasy) Imperium (Dune)

-

รูปแบบโครงสร้างจักรวรรดิ - จักรวรรดิแบบรัฐร่วมประมุข


บางครั้ง จักรวรรดิก็คือรัฐที่ประกอบไปด้วยประเทศ อาณาจักรหรือต่างๆ ที่มีผู้ปกครองคนเดียวกัน โดยไม่ต้องไปสนหรอกว่า แคว้นพวกนั้นมีระบบการเมืองการปกครองยังไง แค่มีเจ้าคนเดียวกันก็พอ แต่เรื่องการกำหนดนโยบาย บางครั้ง แต่ละแคว้นแต่ละเขตในจักรวรรดิอาจมีนโยบายไม่เหมือนกันเพราะมีรัฐบาลแยกกัน
ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ - จักรวรรดิของพระเจ้าคาร์ลที่ห้า (Holy Roman Empire + อาณาจักรต่างๆ ในสเปน + แคว้นมิลาน + ราชอาณาจักรเนเปิล + แคว้นต่างๆ ในเนเธอร์แลนด์ + อื่นๆ ตามฉายา ราชาร้อยตำแหน่ง) จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี่ (รวมกันระหว่าง จักรวรรดิออสเตรีย + ราชอาณาจักรฮังการี่) จักรวรรดิบริติช/เครือจักรภพ (อังกฤษ + ประเทศเครือจักรภพ ที่มีเจ้าองค์เดียวกัน)
ตัวอย่างในเรื่องแต่ง – เจ็ดอาณาจักร (Game of Thrones - จริงอยู่ที่มันเรียกตัวเองแค่ Kingdom แต่ลองไปดู Title ของราชาบัลลังก์เหล็ก เดี๋ยวก็เก็ตเอง :v )

-

รูปแบบโครงสร้างจักรวรรดิ – จักรวรรดิแบบผสมผสาน


บางครั้ง จักรวรรดินึงก็ผสมผสานการปกครองสองแบบ คือมีการรวบอำนาจเข้าศูนย์กลาง แต่บางครั้งก็ยอมมอบอำนาจให้ท้องถิ่นด้วย ทำให้อธิบายยากพอสมควร ว่าสรุปแล้ว มันจะรวบหรือจะกระจายอำนาจกันแน่?
ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ – อังกฤษ (ตัวอังกฤษเองเป็นรัฐรวบอำนาจเข้าศูนย์กลาง แต่พวกอาณานิคมส่วนหนึ่ง จะได้รับการกระจายอำนาจให้ปกครองตัวเอง ที่ต่อมาก็กลายเป็น Dominion หรือประเทศเครือจักรภพ) จักรวรรดิเปอร์เซีย/อิหร่านสมัยโบราณหรือยุคกลาง (จักรวรรดิเปอร์เซียเป็นจักรวรรดิที่มีการรวบอำนาจมากพอสมควร เห็นได้ชัดสุดคือการตั้งข้าหลวง Satrap … แต่ Satrap ก็มีอำนาจการปกครองท้องถิ่นมากพอสมควร เหมือนเป็นราชาระดับเล็กๆ เลย) จักรวรรดิฝรั่งเศส  (สมัยจักรวรรดิที่หนึ่ง ตัวฝรั่งเศสเป็นรัฐรวมศูนย์ แต่จักรวรรดิของมันยังมีรัฐบริวารโดยรอบ ทั้งรัฐแบบรวมศูนย์ หรือกลุ่มรัฐเยอรมันใต้การคุ้มครองของนโปเลียนอย่างสมาพันธรัฐแม่น้ำไรน์)
ตัวอย่างในเรื่องแต่ง – จักรวรรดิกาแล็กติก (Star Wars – เราจะเห็นทั้งระบบการปกครองรวมศูนย์ และการมอบอำนาจให้ระบบดาวท้องถิ่นพร้อมกัน)

-

จักรวรรดิที่ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นจักรวรรดิ


บางครั้ง บางประเทศมีดินแดนหรืออำนาจเท่าจักรวรรดิ แต่ตัวมันเองก็ไม่ได้เรียกตนว่าเป็นจักรวรรดิ (มีแต่นักประวัติศาสตร์เรียกให้เป็นจักรวรรดิ เพื่อเรียกเป็นยุคสมัย) โดยส่วนใหญ่ เรามักจะเห็นในยุโรป เพราะจักรวรรดิจะสงวนให้จักรพรรดิโรมันเท่านั้น ดังนั้น จักรวรรดิที่คนชอบเรียกกัน จะมีชื่อทางการคือ ราชอาณาจักร
ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ – บริเตนใหญ่ (อังกฤษ - มันมีครั้งหนึ่ง ที่ประเทศนี้ถูกเรียกว่า British Empire แต่มันก็เป็นแค่คำเรียกกลุ่มรัฐและดินแดนที่อยู่ใต้อังกฤษ ไม่เคยเป็นชื่อทางการของประเทศ ... ชื่อทางการมันยังคงเป็น สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ ... ความเป็นจักรวรรดิมีอยู่แค่ ตำแหน่งจักรพรรดิอินเดียที่เป็นตำแหน่งพ่วง และจักรวรรดิอินเดีย หมายถึงเขต บริติชราช ของอังกฤษในอินเดีย) ... สเปน (มันเคยมีคำเรียกว่าจักรวรรดิสเปน แต่มักเป็นคำเรียก ตัวมันเองยังเป็นราชอาณาจักร) ... สวีเดน (จักรวรรดิสวีเดนเป็นชื่อที่นักประวัติศาสตร์เรียก ส่วนคนสวีเดนเรียกช่วงเวลานี้ว่า Stormaktstiden - ยุคมหาอำนาจ)
ตัวอย่างในเรื่องแต่ง – เจ็ดอาณาจักร (Game of Thrones)

-


แนวคิดเทวจักรพรรดิ


บางจักรวรรดิจะมีการยกระดับให้จักรพรรดิกลายเป็นเทพเจ้า หรือตัวแทนของพระเจ้า ทำให้เกิดการผูกโยงศาสนาเข้ากับอุดมการณ์ของรัฐ
ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ – จักรวรรดิโรมัน  (เทพในสมัยก่อนคริสต์ - ตัวแทนพระเจ้าในสมัยคริสต์) จักรวรรดิจีน (โอรสแห่งสวรรค์) ญี่ปุ่น (จักรพรรดิคือทายาทที่สืบเชื้อสายตรงจากเทพเจ้า)
ตัวอย่างในเรื่องแต่ง – Imperium (Dune - สมัยจักรวรรดิอาเทรดีส) Imperium of Man (Warhammer 40k – God Emperor)

-

การสืบทอดจักรวรรดิ


บางครั้ง หลังจากที่จักรวรรดิหนึ่งล่มสลายลง มันจะมีอีกรัฐนึงที่พยายามขยายอำนาจเพื่อตั้งจักรวรรดิใหม่ แต่จักรวรรดินี้ มันจะอ้างว่าตนคือทายาทของจักรวรรดิเก่าที่ล่มไปแล้ว โดยผู้ที่อ้างมีทั้งรัฐที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเก่า หรือไม่ก็ไม่เกี่ยวกันเลย ซึ่งเหตุผลของการกล่าวอ้าง อาจจะมาจากการอิงชื่อเสียงของจักรวรรดิเก่า โดยเฉพาะแนวคิดที่ว่า โลกใบนี้มีจักรวรรดิเดียวเท่านั้น
ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ - จักรวรรดิโรมัน (เรามาดูคนที่พยายามอ้างโรมบ้าง ... Holy Roman Empire, อ้างโรม 1 จากการที่พระสันตะปาปาสวมมงกุฎจักรพรรดิให้ ... จักรวรรดิโรมันตะวันออก/ไบแซนไทน์, ด้วยความที่ตรงนั้นเป็นโรมที่สองมาช้านาน และจักรวรรดิโรมันตะวันออกก็ไม่เคยล่มจริงๆ จนกระทั่งปี 1453 ... จักรวรรดิออตโตมาน, อ้างว่าตนคือผู้สืบทอดโรมที่สอง ... จักรวรรดิรัสเซีย อ้างว่าตนคือโรมที่สาม จากศาสนาออร์โธด็อกซ์และการเกี่ยวดองกับราชวงศ์พาเลโอโลโกสของฝั่งไบแซนไทน์)
ตัวอย่างในเรื่องแต่ง - จักรวรรดิซิธ (Star Wars) รัฐขุนศึกที่ตกค้างมาจา่กจักรวรรดิกาแล็กติก (Star Wars - จักรวาล Legends)


-

เอาล่ะครับ เทประเคนแบบเทกระจาดกันเลยทีเดียว ที่เหลือท่านก็แค่เอาไปต่อยอด หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ
ถ้าท่านต้องการเสนอแนะ สอบถามหรืออะไร ท่านสามารถ Comment ได้เลยนะครับ สอบถาม Reference เอาไปศึกษาเพิ่มเติมก็ได้นะครับ

ที่เหลือก็ ขออนุญาตโปรโมทนิยายหน่อยนะครับ นิยายเรื่องนี้คือเหตุผลที่ผมต้องศึกษาเรื่องจักรวรรดิอย่างจริงๆ จังๆ

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น

~Little Witch~ 30 เม.ย. 66 เวลา 12:40 น. 1

กดติดตามให้แล้วค่า~


อันนี้เราสงสัยได้ไหมคะ เรื่อง Into the Light นี่ มีแพลนจะติดเหรียญหรือเปล่าคะ? คือ ถ้าเราค่อย ๆ อ่าน จะยังอ่านทันอยู่ไหม...

2
CometSighted 30 เม.ย. 66 เวลา 13:14 น. 1-1

ไม่ครับ ฟรี 100% ฟรีตลอดกาลครับ เพราะเขียนตั้งแต่สมัยยังไม่มีเหรียญ เลยให้มันฟรีไปเลยครับ

0