Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

แนะนำเกล็ดสำหรับการออกแบบโลกนิยาย - จักรวรรดิยุคกลาง กรณีศึกษา Holy Roman Empire - Part 1/2

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

สำหรับการเขียนนิยายที่มี Setting เป็นยุคกลางหรือแฟนตาซี ส่วนใหญ่เราจะได้เห็นฉากหลังเป็นยุโรปตะวันตก หรือดินแดนคล้ายกับยุโรป เราจะได้เห็นอาณาจักรที่อยู่ใต้การปกครองของคิงหรือควีน อาณาจักรนั้นมีเจ้าชาย เจ้าหญิง ขุนนาง อัศวินชาวบ้าน ประมาณนี้ใช่ไหมครับ ... นั่นคือ Setting ทั่วไป ... วันนี้ผมจะมาแนะนำรูปแบบที่ Advance กว่านั้นอีก ซึ่งผมอยากจะบอกว่า ถ้าท่านเข้าใจมัน ท่านจะมี Material ไปเล่นมากมายเลยตอนออกแบบโลกนิยายของท่าน

Setting นั้นคือจักรวรรดิในสมัยยุคกลางของยุโรปตะวันตก ซึ่งเรามีกรณีศึกษาชัดเจนที่สุดคือ Holy Roman Empire – จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ... จักรวรรดิที่บางครั้งก็สร้างความงงให้ผู้อ่าน ทั้งชื่อและโครงสร้างของมัน ... แต่อย่างไรซะ มันก็แสดงความเป็นตัวตนแบบเยอรมัน ซึ่งครั้งหนึ่ง มันก็อาจทำให้เราต้องแอบสงสัยว่า...

ทำไมนิทานหรือเทพนิยายเยอรมัน เจ้าชายเจ้าหญิงมันเยอะจังวะ? :v

ปล. บทความนี้เป็นการอธิบายแบบพยายาม Simple ที่สุด เพราะข้อมูลจริงๆ มันโคตรซับซ้อนเลย ถ้าท่านต้องการแบบเจาะลึก ท่านสามารถถามผู้เขียนได้เลย :v

ปล. 2 . เนื่องจากบทความนี้มันใหญ่มาก ผมจึงไม่อาจยัดใส่กระทู้เด็กดีได้หมด ดังนั้น ขอลงแบบ 2 Part นะครับ



--

วอลแตร์เคยกล่าวไว้....

ในปี 1756 วอลแตร์ได้เขียนเรียงความฉบับนึงคือ “Essai sur l'histoire générale et sur les mœurs et l'esprit des nations” – เรียงความเรียงความว่าด้วยประวัติศาสตร์สากล คุณลักษณะและจิตวิญญาณของชนชาติ - มันเป็นการอธิบายเรื่องประวัติศาสตร์ยุโรปตั้งแต่สมัยพระเจ้าชาร์เลอมาญถึงสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ... ในบทที่ 70 ที่เกี่ยวกับจักรพรรดิคาร์ลที่สี่และศาสนจักรอาวีญง มันปรากฏวลีเด็ดหนึ่งคือ 


“Ce corps qui s’appelait et qui s’appelle encore le saint empire romain n’était en aucune manière ni saint, ni romain, ni empire.”

“กายา (โครงสร้างรัฐ) นี้ที่เรียกตัวเอง และยังคงเรียกตัวเองต่อไปว่า จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีทางศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีความเป็นโรมัน มิได้เป็นจักรวรรดิ”




อันนี้เป็นวลีที่สะท้อนความเป็นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ได้ดีในยุคสมัยของแกและยุค ค.ศ. 1356 ที่มันกล่าวถึง ... จักรวรรดิที่ไม่เหลือความศักดิ์สิทธิ์เพราะที่ผ่านมา มันใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทะเลาะกับพระสันตะปาปา ตัวมันจะเป็นโรมันได้ไงในเมื่อแก่นแท้ของมันเป็นเยอรมัน และจะเป็นจักรวรรดิได้ไงในเมื่อจักรพรรดิแทบไม่มีอำนาจจริงๆ เลย

มันคือสภาวะของ HRE ที่คนส่วนใหญ่รู้จัก แต่มันเป็นแบบนั้นตลอดเลยหรือ? คำตอบคือไม่ เพราะว่าในสมัยหนึ่ง โดยเฉพาะยุคต้นของมัน ตัวมันยังทำตัวได้สมชื่อจักรวรรดิของมันเอง

มันคือพลวัตรหนึ่งที่น่าสนใจ มันไม่ได้เป็นการผงาดและล่มสลายแบบจักรวรรดิโรมันหรือจักรวรรดิทั่วไปที่เรารู้จัก ... Holy Roman Empire มีระยะเวลาการดำรงอยู่ยาวมาก ไม่ว่าจะนับจากปี 800 สมัยพระเจ้าชาร์เลอมาญ หรือปี 962 สมัยพระเจ้าอ็อตโต ตลอดจนปี 1806 ซึ่งเป็นปีล่มสลาย จักรวรรดินี้ถือว่าดำรงอยู่ยาวนานมาก ยาวนานเกินกว่าจักรวรรดิโรมันตะวันตกเสียอีก ดังนั้น การผงาด ความเสื่อมโทรมและการล่มสลายของมันจึงเป็นกรณีที่น่าสนใจ เพราะประเด็นต่างๆ ที่ปรากฎขึ้น ผมคิดว่ามันเป็น Inspiration ในการแต่งนิยายมากพอสมควรเลย

เราจะมาดูในแต่ละส่วนของมันแล้วกัน

--

อันศักดิ์สิทธิ์ (Holy - Sacrum)

ส่วนนี้ แต่เดิมไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชื่อของจักรวรรดิ (ตามปกติ เขาจะเรียก HRE กันว่า จักรวรรดิโรมัน หรือไม่ก็ จักรวรรดิ โดดๆ เลย) มันเป็นส่วนที่เพิ่มมาทีหลัง เห็นได้ชัดสุดคือสมัยจักรพรรดิบาร์บารอสซ่า (Friedrich Barbarossa, 1122-1190) ที่เริ่มมีการใช้คำว่า Sacrum Imperium หรือจักรวรรดิศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเน้นย้ำว่า จักรวรรดินี้มีอำนาจเหนือศาสนจักร และต่อมาในศตวรรษที่ 12 คำว่า Sacrum ก็ถูกเติมเข้าไป ทำให้กลายเป็น Sacrum Imperium Romanum หรือจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

ความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชังระหว่างพระสันตะปาปาและจักรพรรดิ

มันมีคำอธิบายสองสายหลักๆ ว่า HRE เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนไหน ... สายเก่าๆ จะนับตั้งแต่สมัยพระเจ้าชาร์เลอมาญในปี 800 จากพิธีสวมมงกุฎจักรพรรดิ ส่วนสายใหม่ๆ จะนับปี 962 สมัยพระเจ้าอ็อตโตมหาราช เพราะมันเป็นการตั้งจักรวรรดิโดยมีแกนหลักที่ดินแดนเยอรมันและจะต่อเนื่องกันจนกระทั่งล่มสลายในปี 1806 ... แต่สองอย่างนี้มีความเหมือนกันคือ มันนับการตั้งจักรวรรดิจากพิธีสวมมงกุฎจักรพรรดิทั้งนั้นเลย


(พิธีสวมมงกุฎพระเจ้าชาร์เลอมาญ)

(พิธีสวมมงกุฎพระเจ้าอ็อตโต มหาราช)


หลักการศักดิ์สิทธิ์ของจักรวรรดินี้ มันมาจากหลักการสำคัญในการแต่งตั้งจักรพรรดิ ... คือการจะเป็นจักรพรรดิได้ จะต้องให้พระสันตะปาปาทำพิธีสวมมงกุฎให้ ซึ่งมันเป็นหลักการตั้งแต่ครั้งพระสันตะปาปาลีโอที่สามได้ทำพิธีสวมมงกุฎให้พระเจ้าชาร์เลอมาญและประกาศให้พระองค์เป็น Imperator Romanum - จักรพรรดิโรมัน ... ตั้งแต่จักรวรรดิโรมันรับศาสนาคริสต์เข้ามาเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิ ฝ่ายศาสนาก็เป็นอีกฝ่ายที่สามารถรับรองจักรพรรดิได้ และมันก็มีคำอธิบายฝั่งศาสนาที่บอกว่า จักรพรรดิคืออุปราชที่ปกครองโลกในนามของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น การที่พระสันตะปาปาทำพิธีสวมมงกุฎก็คือการแทนความหมายที่ว่า เป็นการถ่ายทอดอำนาจของพระเจ้าลงมาที่เจ้าผู้ปกครองบนโลก

พิธีนี้ยังทำให้เกิดความสัมพันธ์หนึ่ง ซึ่งเป็นอีกหลักสำคัญของยุคกลางในยุโรปตะวันตก ... ความสัมพันธ์ระหว่างสองอำนาจที่เกื้อหนุนกัน ... อำนาจทางโลกและอำนาจฝ่ายสงฆ์ ... อำนาจทางโลกจะให้การคุ้มครองต่อฝ่ายสงฆ์ ส่วนอำนาจฝ่ายสงฆ์จะมอบความชอบธรรมให้กับเจ้าทางโลก

หลักการนี้เป็นหลักสำคัญมากๆ และปรากฏชัดเจนในจักรวรรดิโรมันศักดิ์สิทธิ์ สมัยราชวงศ์อ็อตโต (ประกาศ Diploma Ottonianum) และสมัยราชวงศ์ซาเลียน คือการที่จักรวรรดิจะใช้อำนาจทางทหารคุ้มครองพระสันตะปาปา ส่วนพระสันตะปาปาและพวกพระจะให้แรงสนับสนุนและมอบความชอบธรรมกับจักรพรรดิ แต่ทม่า จักรวรรดิในสมัยพระเจ้าอ็อตโตมีความแข็งแกร็งมาก ในขณะที่พระสันตะปาปายังอ่อนแอ มันเลยกลายเป็นว่า จักรพรรดิมีสถานะเด่นกว่า เพราะพระองค์คือผู้คุ้มกะลาหัวของพระสันตะปาปา จักรพรรดิสามารถแต่งตั้งพระในตำแหน่งเจ้าอาวาสต่างๆ ได้ เพราะวัดภายในจักรวรรดิมันก็คือที่ดินจักรพรรดิ และตำแหน่งพระ มันก็คือตำแหน่งทางการอย่างหนึ่งที่จักรพรรดิสามารถแต่งตั้งได้ภายในจักรวรรดิของพระองค์ และอำนาจสำคัญของจักรพรรดิในสมัยราชวงศ์อ็อตโตคือ จักรพรรดิคือผู้ให้ความเห็นชอบผลการเลือกตั้งพระสันตะปาปา พูดง่ายๆ ก็คือ พระองค์สามารถแต่งตั้งพระสันตะปาปาได้

แต่ทว่า ปัญหามีอยู่ว่า พระสันตะปาปาและจักรพรรดิ ต่างก็เป็นอำนาจสูงสุดของสองขั้ว ... พระสันตะปาปาเองก็ถืออำนาจทางโลกอย่างหนึ่ง ผ่านดินแดนที่พระองค์ปกครองในอิตาลีตอนกลาง ซึ่งจักรพรรดิก็รับรองอำนาจในส่วนนี้ด้วย และพอเวลาผ่านไป ภายใต้การคุ้มครองของจักรพรรดิ อำนาจพระสันตะปาปามันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มทัดเทียมกับจักรพรรดิ



เมื่อเวลาผ่านไป พระสันตะปาปาก็ไม่ค่อยชอบสถานะของจักรพรรดิที่มีอำนาจต่างๆ เหนือตน เช่นการต้องรอให้จักรพรรดิรับรองการเลือกตั้งและสามารถแทรกแซงได้ (อันนี้ แก้ได้เพราะมีช่วงผลัดแผ่นดินและได้จักรพรรดิเด็ก) ต่อมามันก็มีประเด็นอื่นๆ เช่นการปฏิรูปสงฆ์ที่พยายามให้พระเน้นปฏิบัติทางธรรมและออกห่างจากหน้าที่ราชการทางโลก ตลอดจนประเด็นการแต่งตั้งพระที่เกิดคำถามว่า ใครเป็นคนแต่งตั้ง? ระหว่างพระสันตะปาปาที่เป็นประมุขสูงสุดของคริสตจักรตะวันตก หรือว่าเจ้านายฆราวาสที่เป็นผู้ปกครองอาณาจักรต่างๆ ซึ่งมีโบสถ์หรืออารามตั้งอยู่

ประเด็นเหล่านี้ทำให้พระสันตะปาปากับจักรพรรดิทะเลาะกันหนักมากจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองภายในจักรวรรดิ จักรพรรดิประกาศตั้งพระสันตะปาปาองค์ใหม่ ส่วนพระสันตะปาปาคู่อริก็ประกาศไล่จักรพรรดิออกจากศาสนา สงครามนี้มันไม่ใช่แค่ประเด็นทางศาสนา แต่มันลามมาถึงการเมือง เมื่อขุนนางบางส่วนฉวยโอกาสต่อต้านจักรพรรดิด้วยการไปถือข้างพระสันตะปาปา ทำให้จักรวรรดิสูญเสียความเป็นปึกแผ่น ส่วนกลางสูญเสียอำนาจยิ่งขึ้น และในท้ายที่สุด จักรพรรดิกับพระสันตะปาปาก็ตกลงกันได้คือ พระสันตะปาปาคือผู้มีอำนาจแต่งตั้งพระในทุกดินแดน รวมถึงในจักรวรรดิ แต่พระที่ถูกแต่งตั้งจะต้องปฏิญาณความจงรักภักดีต่อจักรพรรดิในฐานะเจ้าเหนือดินแดนที่โบสถ์ตั้งอยู่ และจักรพรรดิก็สามารถทักท้วงบางประการได้

นี่คือความขัดแย้งแรกสุดระหว่างพระสันตะปาปาและจักรพรรดิ จากประเด็นการแต่งตั้งพระและขอบข่ายอำนาจทั้งหลาย มันจะลามมาถึงการเมืองท้องถิ่นในดินแดนต่างๆ โดยเฉพาะดินแดนอิตาลีเหนือ ซึ่งพวกขุนนางทำการแบ่งค่ายกันจริงๆ จังๆ กลายเป็นฝ่ายหนุนจักรพรรดิและฝ่ายหนุนพระสันตะปาปา โดยมันไม่ได้เป็นการแบ่งฝ่ายจากแรงศรัทธาเลย แต่มาจากการเมืองมากกว่า ... ฝ่ายนิยมจักรพรรดิส่วนใหญ่เป็นพวกขุนนางจากแคว้นที่มองว่าพระสันตะปาปาเป็นภัยกับตน ส่วนพวกนิยมพระสันตะปาปาคือแคว้นที่ร่ำรวยและไม่อยากจ่ายภาษีจักรพรรดิ ... การแบ่งฝ่ายนี้ไม่ได้ตายตัวและมันปรับเปลี่ยนไปมาตลอด ตามสถานการณ์และการชิงอำนาจภายใน
พูดง่ายๆ ก็คือความขัดแย้งระหว่างพระสันตะปาปาและจักรพรรดิ ว่าใครควรมีอำนาจยืนหนึ่ง ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งเชิงการเมืองในจักรวรรดิ เมื่อขุนนางแบ่งฝ่ายกันตามสองขั้วอำนาจ เพื่อต่อสู้และเสริมอำนาจของตน
แต่อย่างไรก็ตาม สองฝ่ายนี้ก็ไม่ได้ทะเลาะกันตลอดเวลา เพราะมันก็ยังมีหลายช่วงที่สองฝ่ายเกื้อกูลกัน ... พระสันตะปาปาต้องอาศัยอำนาจการทหารของจักรพรรดิในการคุ้มครองตัวเอง ส่วนจักรพรรดิก็ต้องอาศัยอำนาจฝ่ายสงฆ์ในการสร้างความชอบธรรมของตัวเอง มันก็เลยเป็นการเกื้อกูลกันต่อไป เรียกได้ว่า เป็นความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชัง

ถ้าท่านเขียนนิยาย ไม่ว่าจะอิงประวัติศาสตร์จากช่วงนี้หรือดินแดนนี้ ท่านสามารถเอา Dynamic ความสัมพันธ์นี้ไปใช้ได้นะครับ ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายศาสนากับฝ่ายเจ้านาย อำนาจศักดิ์สิทธิ์จากสวรรค์และอำนาจที่จับได้จริง มันเป็นกลไกที่น่าสนใจและเล่นได้เยอะพอสมควรครับ

การปฏิรูปศาสนา – ความขัดแย้งที่แบ่งภาคและตัวตนของดินแดนเยอรมันจริงๆ


 

ความขัดแย้งระหว่างพระสันตะปาปาและจักรพรรดิยังถือว่าเด็กมากนัก เมื่อเทียบกับความขัดแย้งนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นความขัดแย้งในยุคสมัยใหม่ หลังจากการปฏิรูปทางศาสนาที่ทำให้เกิดนิกายโปรเตสแตนท์ (ซึ่งมันเป็นการเรียกรวมๆ ในนั้นยังมีนิกายเฉพาะอีก ซึ่งแบบว่า เยอะมาก) ซึ่งความเชื่อแบบตีความใหม่ (คือการย้อนกลับไปอิงหลักคัมภีร์ฉบับเก่าสุดในภาษากรีก แทนที่จะอิงตามหลักศาสนจักร) เสริมด้วยเทคโนโลยี (โดยเฉพาะการตีพิมพ์) และความเอื้อผลประโยชน์ให้เจ้าผู้ปกครอง (การรับอำนาจจากพระเจ้า ไม่จำเป็นต้องผ่านพระสันตะปาปา) มันเลยทำให้ศาสนานี้แพร่กระจายเป็นวงกว้างในจักรวรรดิ และที่มันน่ากลัวสุดก็คือ มีเจ้านายเยอรมันน้อมรับศาสนานี้ไปนับถือด้วย ทั้งที่ศรัทธาจริงหรืออิงการเมือง (ด้วยศาสนาใหม่ ตนสามารถไฝว้กับจักรพรรดิได้ โดยไม่ต้องรอให้พระสันตะปาปาแตกคอกับจักรพรรดิ)

ความขัดแย้งนี้มันรุนแรงมาก บางเมืองที่เป็นนครรัฐขึ้นตรงกับจักรพรรดิ มีการทำสงครามกลางเมือง (แบบ ซัดกันกลางเมืองเลย) จนจักรพรรดิต้องขอให้แคว้นข้างๆ นำทหารไปช่วยปราบ ... บางแคว้นเปลี่ยนศาสนาแล้วก็ไปตีกับแคว้นข้างๆ ด้วยเหตุผลทางศาสนาหรือไม่ก็แอบแฝงนัยการเมือง (เช่น มรดกดินแดน) บางทีแคว้นโปรเตสแตนท์ก็จับมือตั้งพันธมิตรตีกับกลุ่มแคว้นคาทอลิก ทำให้มันกลายเป็นสงครามกลางเมืองระดับจักรวรรดิก็มี ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้ แม้แต่จักรพรรดิก็ยังเอาไม่อยู่ อย่างมากก็แค่กำหนดหลักการประนีประนอมแค่ว่า เจ้านับถือศาสนาอะไรก็ให้แคว้นนั้นนับถือตามเจ้า ซึ่งมันก็ช่วยกำหนดขอบเขตได้ แต่ไม่มากนัก เพราะยิ่งเวลาผ่านไป เจ้าก็เปลี่ยนการนับถือ ทำให้อาณาเขตศาสนารวนไปหมด ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่ไว้วางใจสถานการณ์กัน ชนิดที่ว่าเกิดสงครามใหม่อีกครั้ง อย่างสงครามสามสิบปี (1618-1648) ที่หนักหน่วงที่สุดในยุโรปขณะนั้น และแนวรบที่น่วมที่สุดคือจักรวรรดิ ที่เกิดสงครามขึ้น แค่เริ่มจากการที่พวกขุนนางเช็กโยนข้าหลวงฮับสบวร์กออกนอกหน้าต่าง จากนั้นก็บานปลายเป็นการทำสงครามระหว่างแคว้นต่างๆ

ความขัดแย้งระหว่างสองนิกายมันเปลี่ยนหน้าตาดินแดนเยอรมันไปตลอดกาล ถ้าเป็นสมัยยุคกลาง จริงอยู่ที่พระสันตะปาปากับจักรพรรดิทะเลาะกัน แต่อย่างน้อย จักรวรรดิทั้งหมดก็ยังเป็นคาทอลิก มันยังพอหาจุดยืนร่วมกันได้ แต่พอมันแตกเป็นคาทอลิกกับโปรเตสแตนท์ ถึงแม้ว่าจักรวรรดิยังอยู่ แต่มันก็เกิดรอยร้าวที่ประสานได้ยากไปแล้ว มันทำให้เกิดความคิดที่ว่า เยอรมันเหนือเป็นโปรเตสแตนท์ เยอรมันใต้เป็นคาทอลิก เป็นความแตกต่างสองขั้วซึ่งปรากฏยันปัจจุบัน

ถ้าท่านเขียนนิยาย ท่านสามารถเอาความขัดแย้งแบบนี้ไปใช้ได้ เช่นการตีความศาสนาที่ต่างกัน ความขัดแย้งด้านคำสอน การแบ่งดินแดนและแบ่งคนตามศาสนา ซึ่งบางครั้งก็ฝังรากยาวนานถึงปัจจุบัน
-

โรมัน (Romanum)

ความเป็นโรมันของจักรวรรดินี้ มันผูกโยงกับตำแหน่งจักรพรรดิที่พระสันตะปาปาแต่งตั้งให้ เพราะพระองค์แต่งตั้งจักรพรรดิโรมัน ไม่ใช่จักรพรรดิปกติ ... และในโลกทัศน์ของคนยุโรปยุคกลาง ยุโรปมีแค่จักรวรรดิเดียวคือจักรวรรดิโรมัน และมีจักรพรรดิแค่องค์เดียวเท่านั้น

แต่ในความเป็นจริง จักรพรรดิโรมันที่พระสันตะปาปาแต่งตั้งให้ ไม่ได้เป็นจักรพรรดิเพียงหนึ่งเดียว เพราะทางตะวันออกก็มีจักรพรรดิอีกองค์ที่เป็นจักรพรรดิโรมันและกำลังปกครองจักรวรรดิที่มีความแข็งแกร่งพอสมควร
ในช่วงที่พระสันตะปาปากำลังตั้งชาร์เลอมาญเป็นจักรพรรดิ ในปี 798 มันเกิดเรื่องในจักรวรรดิตะวันออกซึ่งพระสันตะปาปาใช้มันเป็นเหตุผลในการแต่งตั้งชาร์เลอมาญ ... พระนางไอรีน พระมารดาของจักรพรรดิคอนสแตนตินที่หก ได้รัฐประหารล้มลูกชายตัวเอง จับลูกชายไปจองจำและทรมานจนตาบอด จากนั้นก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ ... ใช่ ... จักรพรรดิ ที่หมายถึงผู้ปกครองสูงสุด ไม่ใช่จักรพรรดินีที่แปลว่าเมียของจักรพรรดิ ... เหตุการณ์นี้ทำให้พระสันตะปาปาช็อกมาก โดยคิดแบบว่า จักรวรรดิตะวันออกมันตกต่ำขนาดนี้เลยหรือวะ? แม่ขังลูกตัวเองและควักลูกตาลูกตัวเอง? แล้วจักรวรรดิตะวันออกยอมรับผู้หญิงเป็นผู้นำได้ไงวะ? (คือ ต้องเข้าใจก่อนว่า มันเป็นทัศนคติสมัยยุคกลางที่มองว่า ผู้หญิงที่ยึดอำนาจขึ้นเป็นผู้ปกครองเสียเองถือว่าเป็นเรื่องแปลก แต่ผู้หญิงที่อยู่เป็นอำนาจเบื้องหลังบัลลังก์ อันนี้มีให้เห็นบ่อยอยู่ :v ) ดังนั้น พระสันตะปาปาเลยใช้เหตุการณ์นี้เป็นเหตุผลประกาศว่า บัลลังก์จักรพรรดิโรมันกำลังว่างอยู่ และตั้งชาร์เลอมาญขึ้นเป็นจักรพรรดิเอง โดยทำพิธีสวมมงกุฎในวันคริสต์มาสปี 800

อันที่จริง มันก็มีเหตุผลอื่นๆ ที่ทำให้พระสันตะปาปาไม่ค่อยชอบขี้หน้าจักรพรรดิตะวันออกเท่าไหร่นัก ... ตอนที่จักรพรรดิตะวันออกยังมีอำนาจเหนืออิตาลี พระองค์ก็แต่งตั้งพระสันตะปาปาและใช้อำนาจมากมาย ซึ่งฝั่งโรมที่เคยเป็นอิสระพักหนึ่งก็ไม่ค่อยพอใจนัก แบบว่า เอ็งมันเผด็จการจังวะ ... และรูปแบบศาสนาของฝั่งตะวันออกก็ต่างจากตะวันตกมาก โดยเฉพาะครั้งหนึ่งที่มีกระแสลัทธิทำลายรูปเคารพ (Iconoclasm - อิงจากความเชื่อเดิมที่ศาสนาคริสต์ยังไม่มีรูปเคารพ) ซึ่งกระแสนี้ พระสันตะปาปาขยาดมาก ... พอเวลาผ่านไป เมื่อจักรวรรดิเจอศึกหนักเช่นศึกอาหรับด้านตะวันออก จักรพรรดิก็เน้นป้องกันตะวันออก ในขณะที่เผ่าลอมบาร์ดบุกเข้าอิตาลี ทำให้พระสันตะปาปาต้องหาทางเอาตัวรอดเอง ซึ่งรอบแรกก็ดีหน่อยที่คุยกับพวกลอมบาร์ดรู้เรื่อง แต่รอบหลังต้องหามหาอำนาจอื่น ซึ่งไปได้พวกแฟรงก์มาช่วย ตั้งแต่สมัยเปแปงที่เป็นพ่อของชาร์เลอมาญ ที่นำกองทัพเข้ามาตีอาณาจักรลอมบาร์ดและยกดินแดนให้พระสันตะปาปา ส่วนชาร์เลอมาญก็เข้ามาคุ้มครองด้วยการตีอาณาจักรลอมบาร์ดแตก ไม่ให้พวกลอมบาร์ดคุกคามพระสันตะปาปาได้ และพอเกิดเหตุจลาจล พระองค์ก็นำกองทัพเข้าโรม ฟื้นความสงบ ซึ่งต่อมาก็ได้รับการสวมมงกุฎเป็นจักรพรรดิอย่างที่เห็น

พูดง่ายๆ ก็คือ พระสันตะปาปาไม่ชอบจักรวรรดิตะวันออกมานานแล้ว ... จักรพรรดิตะวันออกไม่ได้ทำหน้าที่สมเป็นจักรพรรดิเลย แทนที่จะคุ้มครองศาสนาก็ดันไปถือลัทธิเถื่อน แทนที่จะคุ้มครองดินแดนพระสันตะปาปา ก็ดันเอากองทัพไปปกป้องดินแดนอื่น ปล่อยให้อิตาลีซวยไป และตอนนี้ ผู้หญิงก็ยึดบัลลังก์ลูกตัวเองและกลายเป็นจักรพรรดิตะวันออกเสียเองเนี่ยนะ? มันเป็นส่วนผสมที่ลงตัวเลย ที่พระสันตะปาปาจะหาเรื่องเอาตัวออกห่าง

ประเด็นนี้ทำให้เกิดจักรพรรดิโรมันสององค์ที่เป็นคู่อริกัน ฝั่งตะวันตกและตะวันออก ซึ่งจะชอบดราม่ากันว่า ใครควรจะเป็นจักรพรรดิมากกว่ากัน? โดยฝั่งตะวันออกจะชอบท้วงติงฝ่ายตะวันตกว่า ไม่ควรเรียกตัวเองว่าเป็นจักรพรรดิโรมันนะ เรามีความเป็นโรมันมากกว่า (แม้ว่าตัวมันจะเป็นกรีกก็เหอะ :v ) ซึ่งฝ่ายตะวันตกก็มีท่าทีต่างกัน อย่างชาร์เลอมาญมีท่าทีประนีประนอมกว่า คือเรียกตัวเองแค่ จักรพรรดิ ไม่ใช่จักรพรรดิโรมัน (และเคยส่งจดหมายไปขอแต่งงานพระนางไอรีน เพื่อรวมจักรวรรดิด้วย แต่ไม่สำเร็จเพราะพระนางก็โดนรัฐประหารร่วงไปก่อน :v ) ถ้าเป็นจักรพรรดิอ็อตโต อันนี้คือหนักข้อเลย เพราะพระองค์แสดงตนจัดเต็มกว่า มีประเด็นพิพาทเรื่องอิตาลีใต้ และอยากได้เจ้าหญิงไบแซนไทน์มาเป็นลูกสะใภ้ด้วย ชนิดที่ว่า จักรพรรดิบาซิลโกรธจัด ถึงขนาดกล่าวไว้ประมาณว่า แกไม่รอดแน่ คนเยอรมัน :v (อันที่จริงกล่าวยาวกว่านี้ แบบว่า ข้าจะรวมกองทัพและชาติต่างๆ มารุมกระทืบเอ็ง ข้าจะตามไปกระทืบเอ็งถึงเยอรมนีด้วย เอ็งเละเป็นเศษหม้อแน่ :v ) แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะจักรพรรดิบาซิลโดนรัฐประหารก่อน และจักรพรรดิที่มาแทนก็มีท่าทีประนีประนอมกว่า โดยยอมรับจักรพรรดิอ็อตโต แค่เป็นจักรพรรดิเท่านั้น และยอมส่งหลานสาวให้ไปแต่งงานกับเจ้าชาย (และพระนางก็ได้เป็นขั้วอำนาจในสมัยที่ลูกชายนางเป็นจักรพรรดิ) ... บางรอบ ตอนที่จักรพรรดิ HRE มีเรื่องกับพระสันตะปาปา จักรพรรดิตะวันออกก็พยายามเข้ามาสนับสนุนพระสันตะปาปาด้วย โดยหวังว่า พระสันตะปาปาน่าจะหันมายอมรับ ให้ตนเป็นจักรพรรดิโรมัน ซึ่งมันก็ไม่สำเร็จ เพราะพระสันตะปาปาโดนปราบก่อน

ความขัดแย้งนี้จะปรากฏในมุมมองศาสนาด้วย ... ถ้าหากจะให้ถามว่าใครคือจักรพรรดิตัวจริง พวกคาทอลิกจะตอบว่า จักรพรรดิ HRE คือจักรพรรดิตัวจริง เพราะพระองค์ผ่านการรับรองจากพระสันตะปาปา ส่วนพวกกรีกออร์โธด็อกซ์จะบอกว่า จักรพรรดิตะวันออกคือจักรพรรดิตัวจริง เพราะพระองค์ได้รับการรับรองจากอัครบิดร สภาซีเนทแห่งคอนสแตนติโนเปิล กองทัพและประชาชน ... ในช่วงเวลานี้ แม้แต่คำเรียกในเอกสารก็ต่างออกไป ที่ชัดสุดคือ หลังจากที่ชาร์เลอมาญได้เป็นจักรพรรดิ พวกเอกสารตะวันตกก็ไม่เรียกว่าตะวันออกว่าเป็นโรมันอีกต่อไป แต่หันไปเรียกว่า “กรีก” แทน ในขณะที่พวกตะวันออกยังเรียกตัวเองว่า “Rhomaion - โรเมโอน” แปลว่า คนโรมัน

ตอนแรก ยุโรปตะวันตกมันก็ยังอินอยู่นะว่า HRE คือจักรพรรดิโรมันตัวจริง แต่พอเวลาผ่านไป สถานะนี้มันก็เหมือนแค่พี่ใหญ่ตามพิธีการ เป็นแค่จักรพรรดิ Exclusive ที่เรียกตัวเองว่าจักรพรรดิจริงๆ เพียงหนึ่งเดียวในตะวันตก แต่มันก็แค่นั้น ส่วนคนในจักรวรรดิก็ไม่ได้อินว่าตนเป็นโรมันมาแต่ไหนแต่ไร พอเข้ายุคสมัยใหม่ พวกเขาก็มองว่าตัวเองเป็นเยอรมันด้วยซ้ำ จนบางครั้งมีการเรียกชื่อจักรวรรดิว่า Holy Roman Empire of German Nation หรือ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แห่งชนชาติเยอรมันด้วยซ้ำ โดยมีไม่กี่คนที่ยึดมั่นความเป็นโรมันอย่างในนามอย่างแรงกล้า คือตัวจักรพรรดิเอง

ประเด็นนี้ ท่านสามารถเอาไปใช้ในนิยายได้ เกี่ยวกับมุมมองของคนในแต่ละสถานที่ ที่มันว่าใครเป็นใคร ... ใครคือเจ้าตัวจริง และใครคือเจ้าเก๊ และการแข่งขันกันเคลมอำนาจกัน หรือการยึดติดกับมรดกโบราณอะไรบางอย่างที่มันล่วงเลยมานานแล้ว

-

จบไปแล้วกับ Part  1 ท่านสามารถอ่านต่อใน Part 2 ได้เลยนะครับ
https://www.dek-d.com/board/view/4084880

ที่อธิบายมา บางทีก็ขาดตกบกพร่องไปก็ขออภัยด้วย เพราะเรื่อง HRE มันโคตรเยอะเลยครับ :v ถ้ามีคำถามอะไรเพิ่มเติม ก็สอบถามมาได้เลยนะครับ

สุดท้ายขอฝากหน่อยแล้วกันนะครับ

แสดงความคิดเห็น

>