Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

แนะนำเกล็ดสำหรับการออกแบบโลกนิยาย - จักรวรรดิยุคกลาง กรณีศึกษา Holy Roman Empire - Part 2/2

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

สำหรับการเขียนนิยายที่มี Setting เป็นยุคกลางหรือแฟนตาซี ส่วนใหญ่เราจะได้เห็นฉากหลังเป็นยุโรปตะวันตก หรือดินแดนคล้ายกับยุโรป เราจะได้เห็นอาณาจักรที่อยู่ใต้การปกครองของคิงหรือควีน อาณาจักรนั้นมีเจ้าชาย เจ้าหญิง ขุนนาง อัศวินชาวบ้าน ประมาณนี้ใช่ไหมครับ ... นั่นคือ Setting ทั่วไป ... วันนี้ผมจะมาแนะนำรูปแบบที่ Advance กว่านั้นอีก ซึ่งผมอยากจะบอกว่า ถ้าท่านเข้าใจมัน ท่านจะมี Material ไปเล่นมากมายเลยตอนออกแบบโลกนิยายของท่าน

Setting นั้นคือจักรวรรดิในสมัยยุคกลางของยุโรปตะวันตก ซึ่งเรามีกรณีศึกษาชัดเจนที่สุดคือ Holy Roman Empire – จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ... จักรวรรดิที่บางครั้งก็สร้างความงงให้ผู้อ่าน ทั้งชื่อและโครงสร้างของมัน ... แต่อย่างไรซะ มันก็แสดงความเป็นตัวตนแบบเยอรมัน ซึ่งครั้งหนึ่ง มันก็อาจทำให้เราต้องแอบสงสัยว่า...

ทำไมนิทานหรือเทพนิยายเยอรมัน เจ้าชายเจ้าหญิงมันเยอะจังวะ? :v

ปล. บทความนี้เป็นการอธิบายแบบพยายาม Simple ที่สุด เพราะข้อมูลจริงๆ มันโคตรซับซ้อนเลย ถ้าท่านต้องการแบบเจาะลึก ท่านสามารถถามผู้เขียนได้เลย :v

ปล. 2 . เนื่องจากบทความนี้มันใหญ่มาก ผมจึงไม่อาจยัดใส่กระทู้เด็กดีได้หมด ดังนั้น ขอลงแบบ 2 Part นะครับ ถ้าท่านต้องการอ่าน Part 1 กดได้เลย   https://www.dek-d.com/board/view/4084876



--

จักรวรรดิ (Empire - Imperium)

หากเรากล่าวถึงจักรวรรดิ โดยเฉพาะจักรวรรดิโรมัน เราจะนึกถึงรัฐที่มีหน้าตาคล้ายมหาอำนาจ มีการรวมศูนย์ รวมอำนาจ มีกองทัพแข็งแกร่ง อะไรประมาณนี้ ... แต่กรณีนี้ มันใช้ไม่ค่อยได้กับ Holy Roman Empire :v เพราะมันสวนทางกันหมดเลย

ถ้าเป็นในสมัยแรกๆ โดยเฉพาะสมัยพระเจ้าอ็อตโตมหาราช จักรวรรดินี้มันก็ยังทำตัวสมกับเป็นจักรวรรดิหน่อย คือมีอำนาจมหาศาล ทั้งอำนาจที่แผ่ออกไปภายนอกจนหลายดินแดนยอมซูฮก อำนาจส่วนกลางที่ทำให้ขุนนางทั้งหลายยอมก้มหัวให้ อำนาจมากล้นนี้สามารถคุ้มกันพระสันตะปาปาได้จริงๆ คุ้มกันแบบว่าสามารถครอบงำได้ด้วยซ้ำ ด้วยประกาศ Diploma Ottonianum ที่รับรองดินแดนพระสันตะปาปา การคุ้มครองต่างๆ แต่รับรองอำนาจจักรพรรดิในเรื่องการรับรองการเลือกตั้งพระสันตะปาปา แต่ปัญหาคือ จักรวรรดินี้อิงระบบฟิวดัลและมีพื้นเพความเป็นเยอรมันอย่างเข้มข้น ความเป็นเยอรมันในที่นี้ิคือการมีขุนนางที่เข้มแข็งเกือบจะพอๆ กับราชา และจักรพรรดิก็ไม่สามารถกดขุนนา่งลงได้จริงจัง กลายเป็นว่า ขุนนางเนี่ยแหละมากดจักรพรรดิเสียเอง ไม่ว่าจะสงครามกลางเมือง ข้อเรียกร้องต่างๆ เล่นเอาอำนาจส่วนกลางอ่อนแอลงไปมาก ทำให้จักรวรรดิโดยรวมดูอ่อนแอไปด้วย แต่ในเมื่อจักรพรรดิอ่อนแอขนาดนี้ ทำไมขุนนางถึงไม่ประกาศเอกราช แยกตัวกันเลยล่ะ? ... เหตุผลมันก็ประมาณว่า พวกเขาพอใจกับสถานการณ์แบบนี้อยู่แล้ว จักรพรรดิอ่อนแอแบบนี้ ทำให้พวกเขามีอิสระในระดับนึง แต่พวกเขาก็ไม่อยากให้จักรพรรดิอ่อนแอจนไม่เหลือเขี้ยวเล็บ เพราะจักรพรรดิคือขั้วอำนาจที่สามารถคุ้มครองพวกเขา ทั้งจากขุนนางคนอื่น หรือจากอาณาจักรที่ใหญ่กว่า พูดง่ายๆ ก็คือ พวกเขาไม่อยากให้จักรพรรดิเข้มแข็งเกินไป เพราะจักรพรรดิที่เข้มแข็งจะมาริดรอนเสรีภาพของขุนนาง แต่ก็ไม่อยากให้จักรพรรดิอ่อนแอเกินไป เพราะจะไม่เหลือใครมาคุ้มกะลาหัว และพวกเขาอาจโดนกวาดหายไปเลยก็ได้ มันเลยเกิดสถานการณ์ที่ดูย้อนแย้งในระดับนึงแบบนี้

ระบบเลือกตั้งราชา – ระบบตกค้างจากสมัยชนเผ่า

การขึ้นมาเป็นราชาและจักรพรรดิของ HRE ถือว่าค่อนข้างแปลกสำหรับยุโรปในยุคกลาง ... เอาตามจริง ถ้าเป็นยุคต้นๆ มันก็ไม่แปลกหรอก แต่พอเวลาผ่านไป มันยิ่งแปลกขึ้นเพราะมันต่างจากเพื่อนบ้านทางตะวันตกนี่แหละ ... ระบบสืบทอดอำนาจของ HRE มันค่อนข้างซับซ้อน คือเบื้องตัน มันใช้ระบบเลือกตั้งราชา พอได้ผลเลือกตั้งแล้ว ก็ทำพิธีตั้งราชา และให้ราชาเดินทางไปกรุงโรม เพื่อทำพิธีสวมมงกุฎจักรพรรดิ


 

ระบบเลือกตั้ง มันเป็นระบบที่ตกค้างมาจากขนบชนเผ่าเยอรมัน ซึ่งพอมีการผลัดแผ่นดิน ที่ประชุมประชาชนและขุนนางจะลงคะแนนรับรองรัชทายาทหรือไม่ก็เลือกตั้งราชาจากเจ้าอีกองค์แทน โดยมีหลายปัจจัยเช่น ความพึงพอใจต่อราชาองค์ก่อนที่แต่งตั้งทายาท หรือไม่ก็ความพึงพอใจต่อทายาทและ Candidate ต่างๆ ไม่ว่าจะมาจากบุคลิก ผลงาน บารมี ออร่าบางอย่างหรืออะไรพวกนี้ ... จริงอยู่ที่ราชาองค์ก่อนมีทายาทในใจอยู่แล้ว แต่พอมีการสืบทอดอำนาจ ก็ต้องฟังเสียงประชาชนและขุนนางอยู่ดี ... โดยระบบนี้ มันเคยอยู่ในอาณาจักรต่างๆ ที่มีพื้นเพชนเผ่าเยอรมัน เช่นอังกฤษ เดนมาร์ก นอร์เวย์ แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาณาจักรรอบๆ เยอรมนีกลับทิ้งวิธีการเลือกตั้ง และหันไปใช้พิธีสืบทอดอำนาจแบบฝรั่งเศสที่ตั้งทายาทโดยตรงเลย ... แต่ Holy Roman Empire กลับยังติดแหงกอยู่ในระบบเลือกตั้ง เพราะปัจจัยต่างๆ ทั้งขุนนางที่ยังมีอำนาจสูง และพระสันตะปาปาที่ทำพิธีรับรองจักรพรรดิอีกที ซึ่งแต่ละฝ่าย แม้จะมีความหลากหลาย แต่พวกเขามีแนวคิดเดียวกันคือ เราไม่อยากได้จักรพรรดิที่โคตร Strong :v

อันที่จริงนะ เคยมีจักรพรรดิองค์หนึ่งพยายามเสนอให้เอาระบบสืบทอดรัชทายาทมาแทนระบบเลือกตั้งเนี่ยแหละ ผลคือขุนนางแตกเป็นสองเสียง ขุนนางเล็กๆ ให้การสนับสนุน แต่ขุนนางใหญ่ๆ ส่ายหน้าเป็นแถบๆ ส่วนพระสันตะปาปาคัดค้านหัวชนฝา สุดท้าย จึงเอาแค่ให้สภาจักรวรรดิยอมเลือกลูกชายเป็นทายาท จากนั้นก็หันไปเน้นทำครูเสดต่อ และป่วยตายไปเสียก่อน :v

หลักการเลือกตั้งราชาของ HRE จะเป็นแบบนี้ ... เมื่อราชาองค์เก่ากำลังจะสิ้นหรืออยากจะวางแผนอนาคต พระองค์จะแต่งตั้งรัชทายาท โดยจะเรียกขุนนางมาประชุมกัน เพื่อประกาศและขอลงคะแนนเสียงว่าจะรับรองรัชทายาทให้เป็นราชาองค์ต่อไปหรือไม่ ... มันจะมีผลสองแบบ ... แบบแรกคือราบรื่น องค์รัชทายาทได้รับการรับรองให้เป็นราชาองค์ต่อไป ... หรือไม่ก็ ไม่ได้ถูกเลือก เพราะพวกขุนนางเลือกเจ้าองค์ใหม่ขึ้นมาแทน เช่นเลือกน้องชายของราชา หรือญาติ หรือเจ้าอีกองค์ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับราชาเลย ... ถ้าเป็นแบบที่สอง หากราชาองค์เก่ายังมีเวลา พระองค์ก็สามารถเจรจาและซื้อใจขุนนาง และขอเรียกประชุมและลงคะแนนอีกรอบได้ หรือไม่ก็ไปลุ้นกันตอนเลือกตั้งเมื่อผลัดแผ่นดิน ... โดยการซื้อใจนั้น ตอนแรกมันก็เป็นคำสัญญาปากเปล่า ว่าจะมอบอะไรให้บ้าง เช่นเงินหรือตำแหน่ง หรืออภิสิทธิ์ต่างๆ แต่พอเวลาผ่านไป มันก็กลายเป็นระบบ ชนิดที่ว่ามีการทำสัญญาเป็นรายลักษณ์อักษรเลย

การเลือกตั้ง บางครั้งมันก็ราบรื่น ได้ราชาและมีการรับรองผลอย่างราบรื่น ... แต่ถ้าเป็นสมัยต้นๆ จักรวรรดิ เห็นได้ชัดคือสมัยก่อนพระเจ้าอ็อตโตหรือสมัยต้นพระเจ้าอ็อตโต บางครั้ง ผลการเลือกตั้งก็ได้ราชาสององค์ อีกฝ่ายอาจไม่ยอมรับผลเลือกตั้งและประกาศตนเป็นราชาเสียเอง ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองหลังเลือกตั้ง ใครชนะก็ได้เป็นราชา โดยพอได้ราชาแล้ว จะมีการทำพิธีสวมมงกุฎราชาที่มหาวิหาร โดยมีอาร์คบิช็อปสวมมงกุฎให้ ... ตอนนี้ Candidate จะได้เป็น ราชาเยอรมัน หรือ ราชาโรมัน ก่อน .... ยังไม่เป็นจักรพรรดิ เพราะต้องไปที่กรุงโรม เพื่อให้พระสันตะปาปาทำพิธีสวมมงกุฎให้ (แต่หลังจากปี 1506 จะมีการขอผ่อนผันให้การเลือกตั้งราชา = การเลือกตั้งจักรพรรดิโดยปริยาย)

แล้วใครบ้างล่ะ? ที่มีสิทธิ์เลือกราชา ... คำตอบคือ เจ้าผู้คัดเลือก (Prince Elector) ซึ่งก็คือเจ้าฝ่ายสงฆ์และเจ้าฆราวาสจำนวนหนึ่งที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกราชา ... เราไม่ทราบว่า แนวคิดเจ้าผู้คัดเลือกทั้ง 7 เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนไหน แต่ที่แน่นอนที่สุดคือ เจ้าผู้คัดเลือกทั้ง 7 มีใครบ้าง อันนี้ถูกบัญญัติชัดเจนในประกาศตราสารทองคำปี 1356 (Golden Bull of 1356) สมัยจักรพรรดิคาร์ลที่สี่ ... และเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ตำแหน่งนี้ก็มีสับเปลี่ยนบ้าง เช่นแคว้นโดนยึด เลยต้องให้สิทธิ์กับแคว้นอื่นมาแทน หรือการเพิ่มจำนวนผู้เลือกตั้งเพื่อตอบแทนความช่วยเหลือ หรือการรวมตำแหน่งสองที่มาเป็นสิทธิ์เดียว เพราะบางช่วง มีเจ้าหนึ่งองค์คุมสองตำแหน่ง และ-สองตำแหน่งนี้มีสิทธิ์การใช้เสียงเลือกตั้งพ่วงมาด้วย ถ้าไม่ทำอะไร มันก็กลายเป็นเวลาเจ้าองค์นั้นถือไว้แล้วสองเสียง ซึ่งมันจะมีอำนาจเยอะไป

ถ้าท่านเขียนนิยาย ท่านลองเอาระบบนี้ไปใช้ได้นะครับ มันเป็นระบบการสืบทอดบัลลังก์ที่แหวกและมีความบันเทิงในระดับนึง :v
เจ้านายเยอรมัน
ถ้าท่านเคยอ่านเทพนิยายหรือนิทานเยอรมัน เราอาจจะได้เห็นตัวละคร โดยเฉพาะพระเอก เป็นเจ้าชายจากแคว้นใดแคว้นนึง ซึ่งบางครั้ง เราก็อาจจะคิดว่า ... เจ้าชายมันดูเยอะจนเป็นเรื่องธรรมดาจัง? … ไม่แปลกครับ ... เพราะดินแดนเยอรมันหรือ HRE มันคือดินแดนที่มีเจ้าเยอะมาก

ใครคือเจ้านาย? … คือต้องเท้าความไปก่อนว่าระบบเจ้ามันมาจากระบบฟิวดัล คือเจ้าเหนือหัวจะมอบดินแดนและหน้าที่ให้กับขุนนาง และขุนนางก็จะมอบดินแดนและหน้าที่ให้ลูกน้อง เป็นทอดๆ ไป ... ในระบบ HRE …. ถ้าจักรพรรดิมอบศักดินาให้ใคร คนที่ได้รับศักดินานั้น ไม่ว่าจะเป็นขุนนางใหญ่ ขุนนางเล็ก อัศวิน หรือผู้ใหญ่บ้าน คนนั้นจะถือว่ามีสถานะขึ้นตรงกับจักรพรรดิ และก็นั่นล่ะครับ คือเจ้านายของ HRE

แต่เดิม พวกเจ้านายที่ขึ้นตรงกับจักรพรรดิจะต้องรับคำสั่งโดยตรงจากจักรพรรดิ ... ก็นะ ขึ้นตรง ก็ต้องรับคำสั่งโดยตรง ... แต่ยังจำได้ไหมครับ เมื่อจักรวรรดิเกิดความขัดแย้ง ทั้งเรื่องการเมืองท้องถิ่นหรือเรื่องศาสนา นำมาซึ่งสงครามกลางเมืองครั้งต่างๆ ปรากฏว่าอำนาจจักรพรรดิมันลดลงไปมาก จนในท้ายที่สุด จักรพรรดิไม่ได้สั่งการอะไรโดยตรง และหันไปปกครองดินแดนที่พระองค์ควบคุมโดยตรง ผลคือ เจ้านายที่ขึ้นตรงกับจักรพรรดิ กลายเป็นเจ้านายที่มีอิสรภาพอย่างจำกัด ... เป็นอิสระ เพราะจักรพรรดิไม่ได้สั่งพวกเขาแล้ว ... แต่ก็ไม่ได้อิสระโดยสมบูรณ์ เพราะพวกเขาสั่งแบ่งแยกดินแดนไม่ได้ ไม่งั้นโดนกระทืบแน่นอน ทั้งจากจักรพรรดิหรือเจ้านายคนอื่นๆ ที่รอเสียบอยู่ ... เจ้าพวกนี้จะมีอำนาจในการปกครองตัวเอง เสมือนเป็นประเทศหนึ่ง มีศักดิ์คล้ายกับราชวงศ์อื่นๆ ในยุโรป (บางทีก็ส่งออกพระราชวงศ์ให้ดินแดนอื่นได้ เช่น อังกฤษ แต่พอเจ้านายได้ปกครองดินแดนต่างชาติด้วย ดินแดนภายนอกกับดินแดนภายในจักรวรรดิจะถือว่าเป็นคนละส่วน แยกรัฐบาลกัน มีกฎหมายและระบบภาษีต่างกัน) พวกเขาไม่สามารถก้าวก่ายดินแดนของเจ้าองค์อื่นได้ จักรพรรดิก็ลงไปก้าวก่ายไม่ได้ด้วย พวกเขาสามารถทำสัญญาพันธมิตรกันได้เหมือนประเทศหนึ่ง สามารถทำสงครามได้ด้วย ทั้งทำกันระหว่างรัฐสมาชิกในจักรวรรดิหรือจะทำกับรัฐนอกจักรวรรดิก็ยังได้ โดยนโยบายการต่างประเทศพวกนี้ จะต้องไม่เป็นปฏิปักษ์กับจักรพรรดิ ... แต่บางครั้ง ก็เป็นปฏิปักษ์กันได้นะ แค่ได้ตีกันเอง :v

 

พวกที่ขึ้นตรงกับจักรพรรดิมีหลายแบบ ... ตั้งแต่ดยุคที่โคตรใหญ่ คิงที่ครองแคว้นใหญ่และมีสิทธิ์เลือกตั้ง (โบฮีเมีย) ตลอดจนเคานต์ (กราฟ) หรือบารอน (ไฟรแฮร์ - ขุนนางอิสระ) ตลอดจนอัศวินที่มีที่ดินไม่กี่ไร่ หรือเจ้าอาวาส ผู้ใหญ่บ้าน หรือนครรัฐ ถ้าหากท่านขึ้นตรงกับจักรพรรดิ ท่านก็มีอิสระในการปกครองตัวเองระดับหนึ่ง ไม่ต้องขึ้นกับขุนนางใหญ่ๆ ในท้องถิ่นนั้น (แต่บางทีในสภาวะความเป็นจริง พวกที่เล็กมากๆ ก็ยอมซูฮกขุนนางท้องถิ่น เพียงแค่ว่าขุนนางไม่ได้เข้าไปปกครองโดยตรง เพราะจักรพรรดิยังคุ้มครองดินแดนเล็กๆ ตรงนั้นไว้)

การที่สถานะขึ้นตรงต่อจักรพรรดิทำให้เจ้านายมีความเป็นอิสระคล้ายประเทศ มันเลยส่งผลให้จักรวรรดิกลายเป็นสมาพันธรัฐที่ประกอบไปด้วยแคว้นใหญ่มากระดับอาณาจักร ตลอดจนแคว้นเล็กระดับหมู่บ้าน ก็มี ... ถ้าจะถามว่า HRE มีรัฐกี่รัฐ ผมว่าไม่มีใครตอบได้ รู้แค่ว่ามันมีประมาณหลักร้อย-หลักพัน

และถ้าเราพูดถึงเจ้านายและรัฐสมาชิก HRE เราก็ต้องพูดถึงสภา ... ถ้าเราพูดถึงสภา เราจะนึกถึงระบบนิติบัญญัติ คือการเสนอร่างกฎหมาย ... แต่สภาไรช์ชทากของ HRE มันมีความพิเศษกว่านั้น คือมันเสนอกฎหมายได้ก็จริง แต่มันมี Function อื่นอีก คือทำหน้าที่คล้ายที่ประชุมนานาชาติ เมื่อทูตของแคว้นหรือเจ้าแคว้นต่างๆ มารวมตัวกันเพื่อเจรจาผลประโยชน์ต่างๆ ทำให้เกิดความสัมพันธ์โยงใยกันมากมาย ... และสภานี้จะมีการผูกโยงกับสถานะรัฐสมาชิกของจักรวรรดิ เพราะการจะเป็นรัฐสมาชิกได้จริงๆ ต้องเป็นสมาชิกสภา สามารถลงคะแนนเสียงในประเด็นต่างๆ ของที่ประชุมได้ ... และการเป็นสมาชิกก็อิงจากการจ่ายเงิน ซึ่งเจ้าคนนั้นต้องมีปัญญารวบรวมเงินในการจ่ายภาษี ดังนั้น พวกที่ขึ้นตรงกับจักรพรรดิ บางคนก็ไม่มีปัญญาจ่ายเงิน เพราะตนไม่มีที่ดินมากมาย เห็นได้ชัดคือพวกอัศวินและผู้ใหญ่บ้าน ดังนั้น พวกนี้จะไม่มีสิทธิ์ในการออกเสียงนโยบายต่างๆ

ถ้าหากท่านเบื่อโครงสร้างศักดินาแบบเดิมๆ แบบว่า คิง - ขุนนาง - อัศวิน - ชาวบ้าน และอยากหาอะไรแปลกใหม่ ท่านก็ลองเอาระบบนี้ไปใช้ได้นะครับ แบบว่า อัศวินที่ขึ้นตรงกับจักรพรรดิ ไม่ต้องฟังขุนนาง หรือผู้ใหญ่บ้านที่ต่อสายหาจักรพรรดิได้ แบบนี้ก็น่าสนใจอยู่นะครับ ... หรือใครอยากจะได้ Setting แบบว่า มีดินแดนหนึ่ง มีจักรวรรดิปกครอง แต่ข้างในจักรวรรดิประกอบด้วยแว่นแคว้นที่ชอบทำตัวอิสระ ไม่เกรงใจจักรพรรดิ อันนี้ใช้ได้ดีเลยครับ :v

--

แล้วในนิยายหรือเรื่องแต่ง มีจักรวรรดิไหนบ้างที่อิงแบบ HRE?

 

เท่าที่ผมนึกออก ... จักรวรรดิ Imperium ในจักรวาล Dune ก็มีความคล้าย HRE ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องการใช้ศักดินาถือดินแดน อำนาจขุนนางและระบบสภาที่ทำหน้าที่คล้าย UN ต่างกันก็แค่จักรพรรดิที่มาจากระบบสืบสายโลหิตปกติ

 

อีกตัวอย่างที่เอา HRE มาแบบตรงๆ เลยคือ Empire ของ Warhammer Fantasy อันนี้ตรงมาก ทั้งระบบเลือกตั้ง ระบบการเมืองแคว้น ตลอดจน Aesthetic และชื่อแบบเยอรมัน

-

จากประเด็นเหล่านี้ เราจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมประเทศอย่างเยอรมนีหรือออสเตรียจึงมีความเป็นสหพันธรัฐสูงมาก เพราะพวกนี้เป็นระบบสหพันธ์มาตั้งแต่ยุคกลาง สมัยเป็นจักรวรรดิแล้ว ... และพอมีการรวมชาติ พวกเขาก็ยังใช้ขนบจักรวรรดิแบบสหพันธ์ เห็นได้ชัดสุดคือ จักรวรรดิเยอรมันที่มีรัฐธรรมนูญกำกับไว้ว่า จักรวรรดิ = Bund คือสมาพันธรัฐ-สหพันธ์-พันธมิตร ... เรื่องพวกนี้ บางทีมันก็ซับซ้อนและเข้าใจยาก ... ใช่ครับ พอมันเป็นเรื่องของคนเยอรมัน มันก็เข้าใจยากแบบนี้แหละครับ :v

เอาล่ะครับ คิดว่าน่าจะปล่อยของมาเยอะแล้ว หากท่านต้องการจะศึกษาต่อ ผมขอแนะนำหนังสือพวกนี้
Evans, R.J.W.; Wilson, Peter H., eds. The Holy Roman Empire 1495-1806. Palgrave Macmillan, 2012.
Wilson, Peter H. Heart of Europe: A History of the Holy Roman Empire. Belknap Press, 2016.
Whaley, Joachim. Germany and the Holy Roman Empire, Volume I: Maximilian I to the Peace of Westphalia, 1493–1648. Vol. I.: Oxford University Press, 2012.
Whaley, Joachim. Germany and the Holy Roman Empire: Volume II: The Peace of Westphalia to the Dissolution of the Reich, 1648–1806. Oxford University Press, 2012.

ผมรู้ว่า HRE มันมีหลายประเด็นอีกยิบย่อย ซึ่งในนี้ผมอาจจะเขียนสรุปเกินไป หรือไม่ได้เขียนเลย ดังนั้น ท่านสามารถสอบถามได้ ผมจะพยายามอธิบายทีละประเด็นให้ อย่างรวบรัดและเข้าใจง่ายที่สุด … พอเขียนถึงเรื่องเยอรมันทีไร มันแทบจะไม่ Simple เลย :v

ที่อธิบายมา บางทีก็ขาดตกบกพร่องไปก็ขออภัยด้วย เพราะเรื่อง HRE มันโคตรเยอะเลยครับ :v ถ้ามีคำถามอะไรเพิ่มเติม ก็สอบถามมาได้เลยนะครับ

สุดท้ายขอฝากหน่อยแล้วกันนะครับ

 

 

แสดงความคิดเห็น

>