Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

[Tip] หลักการตั้งชื่อตัวละครจีนโบราณ ตามแบบฉบับของ KEISEI : ตอนที่ 1

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
** คำเตือน **
กระทู้นี้จะยาวมาก
ใครสายยาวไปไม่อ่าน โปรดรอกระทู้จบ จะลงวันละ 1 กระทู้
เวลาแล้วแต่สะดวก


คุยกันก่อน...

บทความที่คุณจะได้อ่านต่อจากนี้ เป็นเพียงความรู้ความเข้าใจพื้นๆ ที่เคย์เซย์อ่านและจดจำมาจากนิยายเป็นส่วนใหญ่ บางส่วนฟังผู้รู้เล่ามาอีกต่อ ไม่ใช่ความรู้ในเชิงวิชาการแต่อย่างใด อีกทั้งเคย์เซย์ยังมิใช่ผู้เชี่ยวชาญในการหาข้อมูลเหมือนกับนักเขียนและนักแปลหลายๆ ท่านที่คลุกคลีอยู่ในวงการนิยาย/บทความ/วิชาความรู้/คติความเชื่อของจีนโบราณเท่าที่มีการเผยแพร่และเราค้นคว้ามา  แถมไม่ได้อ่านละเอียดลึกซึ้งอย่างเช่นคนที่เขียนอิง ปวศ.ด้วย 

ดังนั้นหากข้อความใดผิดพลาดประการใด สามารถทักท้วงและให้ข้อมูลเพิ่มเติมทิ้งไว้ในกระทู้/คอมเมนต์ได้เลย เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องให้กับผู้ที่เข้ามาเก็บข้อมูลต่อไป

จุดประสงค์ของบทความ...

แน่นอนว่าเมื่อมันไม่ใช่ความรู้เชิงวิชาการ แต่เป็นความรู้จากความเข้าใจส่วนตัว บทความนี้จึงประสงค์เพียง 

“เป็นแนวทางในการตั้งชื่อให้นักเขียนมือใหม่ ได้มีแนวทางยืนพื้นในการอ้างอิงและนำไปต่อยอดในการสร้างโลกจีนโบราณในแบบของตัวเอง และนำไปศึกษาหาความรู้ที่แท้จริงและใช้งานอย่างถูกต้องต่อไปในอนาคต”

เกริ่นมาเกือบหนึ่งหน้า..พอเถอะ เข้าเรื่องเลยดีกว่า

ในส่วนของเนื้อหานั้นจะแบ่งออกเป็น 7 หัวข้อด้วยกัน (แปะไม่พร้อมกัน) 

ประกอบด้วย...

1.การตั้งชื่อสำหรับราชวงศ์

2.การตั้งชื่อราชทินนาม

3.การตั้งชื่อบรรดาศักดิ์

4.การตั้งชื่อของสกุลมีการศึกษา

5.การตั้งชื่อของชาวบ้านทั่วไป

6.การตั้งชื่อของข้าราชบริพารและบ่าวไพร่

7.ข้อควรจดจำของการตั้งชื่อ   

อารัมภบท…

ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาหลักของบทความนี้ เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับแซ่ของจีนเล็กน้อย 

เป็นอย่างที่ทราบกันดี (หรือหากใครยังไม่ทราบขอให้จดเรื่องนี้เอาไว้ด้วย) ว่าแซ่ของชาวจีนนั้นมีหลายแบบมาก มองไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับนามสกุลของชาติอื่นนัก โดยทั่วไปแซ่ที่มีคำเดียวมักเป็นของชาวฮั่น นอกจากแซ่คำเดียวก็จะมีแซ่แบบ 2 คำ 3 คำ และ 4 คำ (หรืออาจจะมากกว่านั้น) ซึ่งชื่อสามสี่ห้าพยางค์ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ที่มิใช่ชาวฮั่น และไม่ได้มีการเปลี่ยนมาใช้แซ่อย่างชาวฮั่นที่เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศจีน 

ชื่อคำเดียว หรือพยางค์เดี่ยวก็เช่น เย่/เยี่ย, ถู, ซ่ง, จ้าว, หลี่, หลี่, หลี่ว์ (หรือหลฺวี่ แล้วแต่จะเขียน), ฉู่, มู่, จ้าว (หรือเจ้า), โจว, เซี่ย ฯลฯ ซึ่งแซ่พยางค์เดี่ยวนี้พบได้มากที่สุด  

ชื่อ 2 พยางค์ เช่น ซือหมา, ซั่งกวน, อวี้เหวิน, โอวหยาง (โอว เฉยๆ ก็มี), กงซุน, ต้วนมู่ (อักษร ต้วน และ มู่ ก็มีแซ่เดี่ยวเช่นกัน ต้องระมัดระวังในการตั้ง) 

ยกตัวอย่างดารา/นักแสดง/ตัวละครที่แซ่ 2 พยาง เช่น โอวหยางน่าน่า ชื่อของเธอแยกเป็น แซ่โอวหยาง ชื่อ น่าน่า ไม่ใช่แซ่โอว ชื่อ หยางน่าน่า นะ 

หรือตัวละครจากนิยายเรื่องเทพเซียนกลอลี่ อวี้เหวินโจว แยกเป็น แซ่ อวี้เหวิน ชื่อคำเดียวคือ โจว แต่หลายคนเข้าใจผิดว่าเขา แซ่อวี้ ชื่อเหวินโจว 

หรือยกตัวอย่างบุคคลในประวัติศาสตร์ก็ สุมาอี้ หรือซือหม่าอี แซ่ ซือหมา ชื่อ อี 

อีกสักคน “ซั่งกวนหว่านเอ๋อร์” ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของจีน  คิดว่าน่าจะแยกออกแล้วว่าแซ่ของเธอคือ ซั่งกวน  

ชื่อ 3 พยางค์ หนิ่วฮูลู เป็นต้น (ถ้าใครเคยดูซีรีส์เรื่อง เจินหวน น่าจะจำกันได้)  

ส่วนแซ่ 4 พยางค์ที่เราคุ้นเคยกันดีก็หนีไม่พ้น “อ้ายซินเจวี่ยหลัว” ยังมี “เย่เหอนารา”, “อูล่านารา” เป็นต้น 

มาว่ากันด้วยต้นกำเนิดของแซ่กันเล็กน้อย...

อันว่าแซ่หรือนามสกุลนั้น ไม่ว่าจะเป็นของประเทศไหนๆ ตะวันออกหรือตะวันตก ล้วนไม่ได้เกิดขึ้นมาเองโดยไม่มีที่มาที่ไป จีนโบราณก็เช่นเดียวกัน ตลอดช่วงประวัติศาสตร์กว่า 5,000 ปีของประเทศจีน มีแซ่ถือกำเนิดขึ้นมากมายนับพันนับหมื่นแซ่ ซึ่งที่มาของแต่ละแซ่ก็แตกต่างกันไป 

ในช่วงแรกๆ ที่มีแซ่ถือกำเนิดขึ้นนั้น สังคมยังเป็นลักษณะของสตรีเป็นใหญ่ แซ่ที่ใช้ก็จะใช้อักษรหนี่ว์ (女) เป็นส่วนประกอบ เช่น เหยา (姚) หรือ จี (姬) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีแซ่ที่กำเนิดมาจากที่อื่นอีก เช่น 

- ชื่อแคว้น/ราชวงศ์ในยุคโบราณ เช่น ฉู่, เว่ย, จ้าว, เซี่ย, ฉิน, ซ่ง, ฮั่น ฯลฯ

- ชื่อเมือง/เขตแดนที่ปกครอง เช่น จ้าว (จากเมืองจ้าวฟู่) เป็นต้น

ในกรณีนี้ยังหมายรวมถึงชื่อหมู่บ้านที่ชาวบ้านทั่วไปอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยประชาชนในแต่ละหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็จะใช้แซ่เดียวกันหมด อย่างเช่น หมู่บ้านจางเจิน (真 ตัวหลังแปลว่า หมู่บ้าน) คนในหมู่บ้านก็ใช้แซ่จาง หรือหมู่บ้านหม่าเจิน คนในหมู่บ้านก็จะใช้แซ่หม่า เป็นต้น 

หมู่บ้านพวกนี้ยังสามารถพบได้ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ตามชนบท คนในหมู่บ้านมักจะสนิทสนมกลมเกลียวกัน เพราะถือว่าแซ่เดียวกัน มาจากครอบครัวเดียวกัน อะไรทำนองนี้ ในยุคจีนโบราณจะมีประชากรที่ใช้แซ่อื่นในหมู่บ้านแบบนี้น้อยมาก ส่วนมากหากไม่ใช่สะใภ้แต่งเข้าเรือนก็จะเป็นเขยแต่งเข้าอะไรทำนองนี้

แต่มันก็มีกรณีที่เป็นคนต่างถิ่นย้ายเข้ามาอาศัยในหมู่บ้าน ซึ่งคนเหล่านี้จะใช้แซ่ต่างจากคนในหมู่บ้านก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด 

การระบุตัวบุคคลในกรณีของหมู่บ้านแซ่เดียวกันหมด มักจะต้องระบุถึงเจ้าของเรือนที่คนคนนั้นอาศัย/เป็นลูกหลาน อะไรทำนองนี้ 

- มาจากชื่อยศ/ตำแหน่ง/บรรดาศักดิ์ เช่น ซั่งกวน, ซือหม่า, ซือคง ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งลูกหลานที่จะใช้ได้ส่วนใหญ่จะต้องมีบรรพบุรุษเคยเป็นขุนนางมาก่อน (แต่บางครั้งก็ไม่เสมอไป อาจจะได้รับอนุญาตให้ใช้โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แล้วก็สืบทอดต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน)  

ยังมีที่มาอื่นๆ อีกเยอะแยะ เช่น อาชีพของเจ้าของแซ่ เอามาจากชื่อบรรพบุรุษ ลำดับกานจื่อหรือเรียกอีกอย่างคือ ลำดับอาวุโส ฯลฯ มันเยอะแบบ...เยอะมากแม่ บอกไม่หมดเพราะคนเผยแพร่บทความก็หามาได้ไม่หมดเหมือนกันจ้ะแม่จ๋าพ่อจ๋า 

และด้วยความที่มันเยอะแยะตาแป๊ะขายไข่แบบนี้ ในการตั้งชื่อ หรือจดจำชื่อมาจากนิยายเอย ซีรีส์เอย เกมเอย หนังสือ ปวศ.เอย  ต้องดูให้ชัดเจนว่าแซ่ที่เราเห็นๆ กันอยู่นั้น มันเป็นแซ่คำเดียวหรือ 2 คำขึ้นไป เพราะคนไทยเวลาเจอแซ่หลายคำที่ดูไม่ใช่ของกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะเข้าใจผิดเหมือนกันหมดว่า คำแรก = แซ่ คำที่เหลือ = ชื่อของคนคนนั้น ซึ่งมันไม่ใช่เลยจย้า 

วิธีสังเกตคือ เวลาอ่านตามหนังสือ/ดูซีรีส์ โปรดสังเกตวงศ์ตระกูล/สมาชิกในครอบครัวของเขาให้ดีๆ ว่าทุกคนในบ้านนั้น นักเขียนตั้งชื่อในลักษณะไหน ญาติพี่น้องสายเลือดเดียวกันทั้งหลายเหล่านั้น ใช้ชื่อสกุลอย่างไร มันเป็นไปไม่ได้ที่ลูกหลานจะใช้อักษรรุ่น/เสียงอักษรรุ่นที่เหมือนกับรุ่นพ่อรุ่นปู่ทุกประการ จีนค่อนข้างถือเรื่องนี้และให้ความสำคัญกับสายรุ่นมาก 

แน่นอนว่ามีกรณียกเว้น แต่เดี๋ยวค่อยว่ากันตอนเขียนหลักการตั้งในแต่ละหลัก

นอกจากนี้ ยังต้องสืบค้นให้ดีๆ ด้วยว่า ชื่อแซ่ที่เราจำมาใช้นั้น ในยุคสมัยที่เราเขียน (กรณีอิง ปวศ.) แซ่ได้ล้มหายตายจากไปหรือยัง

คำว่า “แซ่ตาย” ในที่นี้หมายถึง แซ่ได้หายสาบสูญไปแล้ว ไม่ได้มีการใช้ง่ายอีกในยุคสมัยนั้นๆ หรือไม่มีอีกแล้วในปัจจุบัน ถ้าเราเขียนโดยสร้างโลกเอง ไม่ได้อ้างอิง ปวศ.หรือไม่ได้เขียนนิยายโลกปัจจุบัน จะใช้แซ่ที่ล้มหายตายจากไปแล้วก็ไม่ว่าอะไรหรอก แต่ถ้าเขียนอิง ปวศ./โลกปัจจุบันต้องระวังเรื่องนี้ด้วย แซ่ที่รับทราบมาว่าไม่มีการใช้เป็นแซ่แล้วคือ แซ่หรง แบบ ‘หรง’ เฉยๆ ด้วนๆ ได้ตายไปนับพันปีแล้ว คงเหลือไว้เพียง “มู่หรง” เท่านั้น

และอีกอย่างที่ต้องระวังในการใช้คำ แซ่เกิดใหม่ 

เมื่อมีแซ่ที่ตายจากไปแล้วก็ต้องมีแซ่เกิดใหม่ ตลอดช่วงประวัติศาสตร์จีนก็มีแซ่เกิดใหม่ขึ้นมามากมาย ส่วนมากเป็นคำเดี่ยว หรือไม่ก็เอาแซ่/ชื่อของบรรพบุรุษมารวมกันกลายเป็นชื่อใหม่ เช่น หลี่หวัง เป็นต้น ส่วนมากพบได้ในยุคสมัยหลังๆ มีทั้งแบบที่ตั้งอย่างไม่มีอะไรอ้างอิง เช่น แซ่อี ( อี ที่หมายถึงเลข 1) ถ้าจะเขียนแบบสร้างโลกเองก็ตามสบาย แต่ถ้าอิงโลกจริงต้องค้นดีๆ นะจ๊ะ 

จบเรื่องแซ่...จริงๆ มีเยอะกว่านี้ แต่...ขี้เกียจเขียนแล้ว(ยอมรับซึ่งหน้าจะเอาอะไรมาปาหัวเรามะ 555555) อยากรู้ไปสืบค้นเอง มีคนเขียนไว้เยอะแล้ว! 

 และสรุปตรงนี้อีกรอบ ในการจดจำ “แซ่” ของที่อื่นมาใช้ ต้องแยกแยะให้ดีๆ ว่านั่นเป็น แซ่เดี่ยว แซ่คู่ หรือแซ่หลายพยางค์ อย่าหลงมัวเมาเข้าใจว่าชื่อสองสามพยางค์ มีคำหน้าเป็นแซ่แค่คำเดียวนะจ๊ะ ระวังพวกแซ่ตายกับแซ่เกิดใหม่ด้วยจ้า 

ที่นี้มาดูกันด้วยเรื่องชื่อสำหรับคนจีนกันบ้าง (ในที่สุดก็ยอมเข้าเรื่องกันเสียที ฮ่าๆๆๆ) 

จากการสืบค้นหลายๆ เว็บไซต์และจากการอ่านนิยาย สรุปได้ว่า คนจีนแบ่งชื่อออกเป็น 3 ส่วนคล้ายกับชนชาติอื่นๆ อีกหลายชนชาติคือ 

1.ชื่อตัว หรือเรียกตามจีนคือ หมิง (名) 

ชื่อนี้จะเป็นชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้ตั้งแต่เกิด หรือบางครั้งก็เป็นชื่อเล่นที่พ่อแม่ใช้เรียกในช่วงเวลาหนึ่งก่อนจะมีชื่อตัวอย่างเป็นทางการ โดยมากมักตั้งให้ในช่วงอายุครบเดือนไปจนถึงหกขวบปี (อาจเร็วหรือล่าช้ากว่านี้ก็ได้) แต่ต้องมีนะ ชื่อตัวเนี่ย ไม่มีคืออนาถเวทนาเด็กมากๆ

ชื่อตัวนี้มักเป็นผู้อาวุโส/บุพการีใช้เรียกกัน หรือจะเรียกชื่อทางการก็แล้วแต่ครอบครัว สหายก็แล้วแต่ความสนิทสนม ถ้าสนิทมากก็เรียกชื่อตัวได้ ภรรยา/สามีจะเป็นอีกสองบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เรียกชื่อตัว  

2.ชื่อรอง และ/หรือ ชื่อทางการ หรือเรียกภาษาจีนว่า จื้อ (字)  เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นใหม่เมื่อเด็กผู้ชาย/เด็กผู้หญิงผ่านพิธีบรรลุนิติภาวะแล้ว  หรือจะตั้งเมื่อถึงช่วงวัยที่กำหนดไว้โดยวงศ์ตระกูล ส่วนเด็กผู้หญิงมักตั้งให้เมื่อผ่านพิธีปักปิ่น (ซึ่งบางครั้งอาจปักตั้งแต่อายุยังน้อยกว่า 15 ปี  ตรงนี้ธรรมเนียม/กฎหมายการแต่งงานแต่ละยุคสมัยไม่เหมือนกัน) พ่อแม่/ครูบาอาจารย์จะเป็นผู้ตั้งให้ 

โดยมากชื่อรองมักเกี่ยวโยงไปถึงชื่อตัว เช่น นำเอาคำในชื่อ/อักษรประกอบชื่อตัวมาตั้งเป็นชื่อรอง หรือบางครั้งอาจจะฉีกออกไปเลยโดยอ้างอิงอุปนิสัย ความสามารถ ความคาดหวัง ความปรารถนาดี บทกลอน กวี ฯลฯ 

ในชื่อทางการ/ชื่อรองนี้ ยังหมายรวมถึงการเรียกกันด้วยชื่อตำแหน่ง ชื่อบรรดาศักดิ์ ชื่อที่แสดงถึงความเป็นพี่เป็นน้อง เช่น เหล่าซาน, ต้าหยาง, เสี่ยวสวี ฯลฯ เป็นต้นด้วยนะ มันขึ้นอยู่กับความสนิทสนมของแต่ละคน ซึ่งการเรียกเหล่านี้ล้วนเป็นการเรียกในเชิงยกย่อง (หรือเอ็นดู และบางครั้งยังเป็นการประชดด่าทอได้อีกด้วย XD) 

ชื่อทางการเหล่านี้จะเป็นชื่อที่ใช้ในการสมาคมกับคนภายนอก คบหาสหาย พบปะกับบุคคลอื่นนอกเหนือจากครอบครัวอะไรทำนองนั้น 

ยกตัวอย่างสักหน่อย ตัวละคร/บุคคลในประวัติศาสตร์ที่พวกเรารู้จักกันดีอย่าง จูกัดเหลียงข่งเบ้ง หรือในสำเนียงจีนกลางคือ จูเก่อเหลียงข่งหมิง มีใครแยกออกบ้างหรือไม่ว่าคำไหนชื่อจริง คำไหนชื่อรอง 

ถ้าแยกไม่ออกก็ดูข้างล่าง

ชื่อของอภิมหานักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของประเทศจีนคนนี้ แบ่งออกเป็น

แซ่ = จูเก๋อ 

ชื่อจริง = เหลียง (สั้นๆ คำเดียวเลยเจ้าค่าเอ๊ยยย!) 

ชื่อรอง = ข่งหมิง 

ใครจะยืมไปใช้ก็ได้นะ แยกออกมาเป็นส่วนๆ แบบนี้สามารถช่วยให้เรามองเห็นภาพของชื่อตัวละครได้ชัดเจนขึ้น ไม่หวงสูตร เพราะปกติก็มั่วเอา ผ่ามผาม!!  

3.ฉายานาม/สมญานาม หรือเรียกภาษาจีนว่า เฮ่า (号) 

ชื่อในลักษณะนี้มักพบในหมู่คนท่องยุทธภพ ศิลปิน จิตรกร เมธีนักปราชญ์ นามปากกาของนักประพันธ์ทั้งหลาย ที่พวกเรารู้จักกันดีก็ “ตงฟางปุ๊ป้าย (หรือ ตงฟางปู๋ป้าย) บูรพามิพ่าย” นั่นเอง หรือย้อนกลับไปข้อตะกี้ สมญานามของข่งหมิงก็คือ ว่อหลง/ฝูหลง หรือแปลไทยคือ “มังกรหลับ” 

เอ้า! ใกล้มาหน่อย เหล่าสาวกลัทธิปรมารจารย์ฯ น่าจะทราบเจ้าของฉายานามสองคนนี้กันดีคือ หานกวงจิน กับ อี้หลิงเหลาจู (ส่วนคนอื่นที่ไม่รู้ เชิญจิ้มหาจากอากู๋ต่อเรยฮะ) 

 ฉายานามเหล่านี้ บางครั้งก็เป็นชื่อที่อาจารย์ตั้งใจ หรืออาจจะเป็นฉายาพระราชทาน/ประทาน/ได้รับมอบจากผู้เป็นใหญ่ ส่วนในกรณีของฉายานาม/นามปากกาของศิลปิน/จิตรกร/นักประพันธ์ คิดว่าไม่ต้องอธิบายมากก็น่าจะทราบกันดีว่าเกิดมาได้อย่างไร 

ส่วนฉายานามที่ถูกตั้งขึ้นด้วยความเคารพยกย่องหรือคร้ามเกรงนั้น มักเกิดจากการที่คนคนนั้นเก่ง/ชำนาญด้านในด้านหนึ่ง หรือสวยมาก/หล่อมาก จนเป็นที่ยกย่องหรือสร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่จนเป็นที่โจษขาน (ทั้งในด้านดีและเลว) ผู้คนจึงขนานนามให้ (หรือจะตั้งเองก็แล้วแต่เลย 5555)

อะไหนๆ ก็ไหนๆ ทำเป็นตารางแยกไว้แล้วกัน เอาไปใช้ได้นะจุ๊

แซ่

ชื่อตัว

ชื่อรอง

(ชื่อเล่น/ชื่อเรียกขาน)

ฉายานาม

จูเก๋อ

เหลียง

ข่งหมิง

ว่อหลง/ฝูหลง

ทั้งนี้นะจ๊ะ ทั้งนี้ ในนิยายของเราไม่จำเป็นต้องมีครบทั้ง “แซ่+ชื่อตัว+ชื่อรอง+ฉายานาม” เสมอไปนะจ๊ะ จะใช้แค่ “แซ่+ชื่อตัว” ก็ได้ แบบว่าขี้เกียจตั้งเยอะให้ตัวเองสับสนเองไรงี้ ไม่ผิดกติกานะ นิยายจีนแท้หลายๆ เรื่องก็ไม่ได้ออกสื่อครบซะขนาดนั้น ส่วนชื่อเล่น/ชื่อเรียกขาน จะตัดคำใดคำหนึ่งจากชื่อตัวมาใช้แล้วใส่คำสร้อยอย่าง “เอ๋อร์”, “เกอเอ๋อร์”, “เจี่ยเอ๋อร์, เหล่า, เสี่ยว, ต้า ฯลฯ เข้าไปก็ได้ 

จบ...ครบเรื่องชื่อในภาพรวม...ที่เหลือไปหาต่อกันเอง (มีเยอะอยู่นะ หลายเว็บ/หลายเพจเขียนเยอะมาก) 

หากผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใด ทางเราต้องขออภัยด้วย พวกคุณสามารถคอมเมนต์แจ้งจุดผิดพลาดหรือให้ความรู้เพิ่มเติมได้นะครัช นักเขียนที่เข้ามาเสพจะได้เก็บเกี่ยวความรู้กันต่อไป 

อย่างที่บอก เราไม่ใช่สายธีสิส ไม่เชี่ยวชาญด้านการหาข้อมูลเลย ไม่ใช่เซียนกูรูทางจีนแท้ๆ ด้วยซ้ำ จับนั่นจับนี่มาปั่นแล้วทำความเข้าใจเอาเองทั้งนั้นเลย 


มาดูกันเลยว่าหลักในการตั้งชื่อต่างๆ ของเคย์เซย์นั้นใช้หลักแบบไหนและอย่างไรบ้าง

>>>> (มีต่อในคอมเมนต์)

แสดงความคิดเห็น

>

3 ความคิดเห็น

เคย์เซย์ 28 พ.ค. 66 เวลา 14:37 น. 1

อย่างที่เรียนแจ้งไว้แต่ต้น เมื่อเคย์เซย์ไม่ใช่นักเขียนสายธีสิส ไม่เชี่ยวด้านการหาข้อมูล โลกจีนโบราณที่เราเขียนถึงจึงเป็นโลกที่สร้างขึ้นเอง โดยการหยิบสิ่งนั้นผสมสิ่งนี้กลายเป็นโลกจีนโบราณที่มิได้เหมือนความจริงทั้งหมด เพียงแต่อาศัยข้อมูลที่รวบรวมมาเป็นพื้นฐานของการสร้างโลก


ฉะนั้นหลักการที่เรากำลังจะเขียนจึงเป็นหลักการที่เราทำความเข้าใจเองทั้งหมด ผิดถูกแย้งได้ตามที่บอกตั้งแต่ต้น คนที่เข้ามาจะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลศึกษาต่อไป


ปะ...ไม่ต้องอารัมภบทซ้ำแซะเยอะความอีก


1.การตั้งชื่อสำหรับราชวงศ์


การตั้งชื่อของราชวงศ์นั้นมีความซับซ้อนมากที่สุด เมื่อเทียบกับอีก 5 ข้อที่เหลือ ด้วยความที่เป็นชนชั้นปกครองซึ่งมีทั้งสิทธิและอำนาจมากกว่าประชาชน ได้รับการเคารพจากชนชั้นที่อยู่ต่ำกว่าทุกชนชั้น (อย่างน้อยก็เบื้องหน้า) ดังนั้นชื่อของพวกเขาจึงผ่านการคิดและเลือกเฟ้นมาเป็นอย่างดีแล้ว ทว่าเมื่อมองให้ลึกลงไปแล้วแก่นแท้ของมันไม่ได้ต่างจากคนอื่นมากนัก นั่นคือ


“ความหมายดี เป็นมงคล เคารพยกย่องเชิดชู และให้เกียรติแก่ผู้รับ”


ซึ่งภายใต้แก่นเพียงไม่กี่ประโยคด้านบนนั้นอาจมาจากความปรารถนาดี/ ความคาดหวัง/ ความเคารพยกย่อง ฯลฯ ของผู้ตั้ง สรุปคือมาจากมุมมองของคนตั้งนั่นเอง


หากจะถามว่าชื่อของเหล่าเชื้อพระวงศ์ใครเป็นคนตั้งก็ต้องบอกแบบนี้...


กรณีเป็นสมาชิกครอบครัวในทางตรงของฮ่องเต้ (ไทเฮา ฮองเฮา พระสนม โอรสธิดา แต่ไม่นับรวมสกุลเดิมของไทเฮา ฮองเฮา พระสนม) ผู้ตั้งย่อมเป็นฮ่องเต้ แต่รุ่นลูกหลาน ไทเฮาอาจจะเป็นคนตั้งให้ก็ได้เช่นกัน มันก็มีการดิ้นได้ในหลายๆ กรณีน่ะนะ ยืนพื้นไว้ว่าฮ่องเต้ตั้งไว้ก่อน


กรณีเป็นสมาชิกในครอบครัวของตัวเชื้อพระวงศ์เอง หัวหน้าครอบครัว (คือบิดา) ย่อมเป็นคนตั้ง หรือบางครั้งอาจให้ญาติผู้ใหญ่ท่านอื่นในครอบครัวช่วยตั้งให้ก็ได้ ให้พระตั้งให้ก็ได้ ขอพระราชทานจากฮ่องเต้/ไทเฮา/ฮองเฮาก็ได้ แล้วแต่ความสนิทสนม (บางทีแล้วแต่ด้วยนะว่าอยู่ใกล้หรือไกลจากเมืองหลวงด้วยอีกนะ)


แต่สิ่งที่ทำให้ซับซ้อนมากขึ้นคือ คนในข้อนี้จะไม่ได้มีแค่ชื่อเดียว แต่มี 2 ชื่อ นั่นคือ ชื่อตัวกับราชทินนาม


แน่นอนว่าบางคนอาจจะมีชื่อรองอย่างอื่น หรือสมญานามอย่างอื่นได้อีก แต่จะไม่กล่าวถึงในส่วนนี้ การตั้งชื่อราชทินนามเองก็จะยกไปไว้ในหัวข้อบรรดาศักดิ์นะ


โดยทั่วไปคำที่จะนำมาตั้งชื่อตัวนั้น มักจะผ่านการคิดวิเคราะห์มาเรียบร้อยแล้ว โดยอ้างอิงจากดวงแปดอักษร ช่วงเวลาที่เกิด ความปรารถนา/ความสำคัญที่คนตั้งมีให้กับลูกหลานคนนั้นๆ ความหมายต้องดีอย่างที่บอกไปด้านบน ส่วนหลักการอย่างอื่นดูได้จากด้านล่างเลย


หลักการตั้งชื่อตัวของคนในราชวงศ์ตามความเข้าใจของเรา สามารถแบ่งแยกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้...


1.กรณีเป็นโอรสธิดาของฮ่องเต้ มักจะแบ่งแยกอักษรรุ่นระหว่างชายกับหญิง


**นั่นหมายความว่า องค์หญิงและองค์ชาย จะมีอักษรรุ่นไม่เหมือนกัน**


อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าจีนในยุคโบราณ (ขอเรียกว่ายุคมีการบันทึก ปวศ.ก็แล้วกัน) จะให้ความสำคัญระหว่างเพศชายและเพศหญิงไม่เท่ากัน ดังนั้นในนิยาย/ซีรีส์ หรือแม้แต่ราชสำนักจีนจริงๆ บางยุคสมัยจึงมักจะใช้อักษรรุ่นระหว่างชายกับหญิงแตกต่างกัน เช่น เพศชายใช้อักษรหมิง เพศหญิงใช้อักษรหนิง เป็นต้น


โดยอักษรรุ่นนี้จะนำไปประกอบกับคำมงคล หรือคำที่มีความหมายดีอื่นๆ แล้วนำมาตั้งชื่อให้กับโอรสและธิดาต่อไป ยกตัวอย่างเช่น หย่งเจิ้ง หย่งเหยียน ฯลฯ หรือ จิ่นเซ่อ จิ่นเหยียน ฯลฯ ซึ่งคนที่มีสิทธิ์เรียกชื่อขององค์หญิงองค์ชายเหล่านี้มีเพียง พระมารดาที่เลี้ยงดู (กรณียกลูกให้กับพระภรรยาเจ้าคนอื่นเลี้ยงแทน) ฮ่องเต้ ฮองเฮา ไทเฮา และสามี/ภรรยาของตัวเอง (ส่วนใหญ่เรียกเป็นการส่วนตัวนะ ไม่ใช่ต่อหน้าคนอื่น ซึ่งแล้วแต่ว่าตัวคู่สมรสของคนคนนั้นจะโอเคหรือไม่ด้วย) คนอื่นๆ เรียกได้เพียงพระยศ/บรรดาศักดิ์เท่านั้น


2.จากข้อ 1. เมื่ออักษรรุ่นของชายหญิงแตกต่างกัน อักษรรุ่นแต่ละราชวงศ์ก็ “ควร” จะต้องแตกต่างกันด้วย จะเล่นซ้ำเดิมกันไม่ได้ เพื่อความสะดวกในการแยกแยะเด็กแต่ละรุ่นออกจากกัน


อย่างที่บอกไปแล้วว่า คนจีนให้ความสำคัญกับสายสกุลอย่างมาก ราชวงศ์หนึ่งๆ ก็เปรียบเสมือนครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง ดังนั้นหากทำได้ เขาก็จะหลีกเลี่ยงการใช้อักษรรุ่นที่เหมือนกัน ในส่วนของอักษรรุ่น ประเดี๋ยวเราจะงอกหัวข้อใหม่อีกทีหนึ่ง เพราะมันค่อนข้างละเอียดอยู่สักหน่อย


ที่นี้ถามว่าถ้าหากในนิยายของเราผลัดเปลี่ยนแผ่นดินแล้ว จะสามารถใช้อักษรรุ่นเหมือนกันได้ไหม


เราก็ย่อมตอบว่า “ได้”  Up To You เลยฮะ มันนิยายของคุณนี่นา~ แต่เมื่อต้องการเท้าความถึงองค์ชาย/องค์หญิงที่อักษรรุ่นเหมือนกัน คุณก็ต้องระบุราชวงศ์ให้ชัดเจนก็เท่านั้น


3.คำที่เลือกใช้ต้องเป็นคำที่ดี มีความหมายมงคล (เน้นย้ำบ่อยมาก) หรือหยิบยกมาจากบทกวีที่มีความหมายงดงาม หรือสุภาษิต หรือพระธรรม (ได้หมดเลยนะ อะไรที่มันมงคลทั้งหลายแหล่) ต่อให้ไม่ใช่ลูกที่รักและเอ็นดูเท่าไหร่ เลือกคำแบบลวกๆ ง่ายๆ พบได้ดาษดื่นก็ต้องเป็นคำที่ดีประมาณหนึ่ง ไม่ใช่ไม่ชอบโอรส/ธิดาคนนี้ก็เอาคำไม่ค่อยดีมาให้ มันไม่ค่อยโอเค เพราะทุกอย่างในวังล้วนสะท้อนไปถึงการเสริมส่งอำนาจบารมีและน้ำพระทัยฮ่องเต้ด้วย


4.ต้องหลีกเลี่ยงการตั้งชื่อซ้ำกับชื่อจริงของเครือญาติผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่


ในเมื่ออักษรรุ่นของแต่ละรุ่นแตกต่างกันแล้ว เราก็ต้องหลีกเลี่ยงการตั้งชื่อตัวละครรุ่นลูกหลานซ้ำกับญาติผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่เช่นเดียวกัน ญาติผู้ใหญ่ที่ว่าก็เช่น เช่น ไทเฮา ฮองเฮา ไท่ซั่งฮวง (ถ้ามี) เป็นต้น ชื่อจริงของพระสนม/พระภรรยาเจ้าของฮ่องเต้ก็ควรเลี่ยงด้วยเช่นเดียวกัน


เหตุที่ต้องเลี่ยงก็เพราะค่านิยมของคนจีนตั้งแต่ยุคโบราณที่ยึดถือความกตัญญูมาเป็นอันดับหนึ่ง การตั้งชื่อลูกหลาน (หรือบ่าวไพร่ซ้ำกัน) = อกตัญญู ไม่ให้เคารพญาติและไม่ให้เกียรติญาติผู้ใหญ่/เจ้านาย ถ้าซ้ำฝ่ายลูกหลานต้องเปลี่ยนนะจ๊ะ


การซ้ำในที่นี้ยังหมายรวมถึง การหลีกเลี่ยงคำที่มีเสียงเหมือนหรือใกล้เคียงกันด้วยนะคะ เช่น จิ่ง กับ จิน หรือ เย่ กับ เย่ (อักษรต่างแต่เสียงเหมือน) แต่ถ้าผู้ใหญ่โอเค เห็นว่าแค่เสียงคล้าย แต่อักษรไม่เหมือน อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ก็ไม่มีปัญหาจ้า


ทั้งนี้ หากผู้ตั้งอยากให้ใช้คำในชื่อของตัวเองมาตั้งแก่ลูกหลานก็สามารถทำได้เช่นกัน และนับเป็นเกียรติแก่ลูกหลานที่ได้รับชื่อนี้ด้วย แต่เท่าที่เคยได้ยินมา จะไม่นิยมใช้เป็นอักษรรุ่น (แน่ล่ะ ซ้ำกับชื่อตัวของเขานี่นา) จะวิธีผสมกับอักษรรุ่นที่มีอยู่แล้ว เช่น นิยายเรื่องหนึ่ง ภิกษุชั้นสูงรูปหนึ่งคิดการใหญ่ รับคำขอจากฮ่องเต้ให้ตั้งชื่อพระโอรส ภิกษุชั้นสูงรูปเอาคำในชื่อทางธรรมของตนไปตั้งให้กับโอรสองค์นั้น โดยผสมกับอักษรรุ่นของโอรสผู้นี้ เป็นต้น


4.กรณีอยากหาคำจีนมาใช้ ควรเลือกคำให้ดีๆ เพราะคำจีนบางคำความหมายไม่ค่อยดีเมื่อใช้กับเพศชายหรือเพศหญิง ถ้าทำได้ควรเลือกคำกลางๆ หรือคำมงคลที่ใช้ได้ทั้งสองเพศ


4 ข้อคร่าวๆ ที่คิดว่าสำคัญ และเคย์เซย์เองก็ใช่บ่อยๆ ในการคิดชื่อตัวละครที่เป็นเจ้า



>>>> (มีต่ออีก 1 คอมเมนต์)

0
เคย์เซย์ 28 พ.ค. 66 เวลา 14:41 น. 2

2.การตั้งราชทินนาม (เฉพาะเชื้อพระวงศ์)


ในความเป็นจริงแล้ว ราชทินนามสมควรจะไปอยู่ในหัวข้อเดียวกับชื่อบรรดาศักดิ์ เพราะชื่อบรรดาศักดิ์ก็นับเป็นราชทินนามอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ด้วยเหตุที่ราชทินนามของเชื้อพระวงศ์นั้นค่อนข้างละเอียดกว่า เราจึงแยกออกมาเป็นหัวข้อเฉพาะเสียเลย ซึ่งในหัวข้อนี้จะแยกย่อยออกเป็น


2.1 ราชทินนามของโอรสธิดาและพระญาติ

2.2 ราชทินนามของพระสนม


มาเริ่มกันเลยกับหัวข้อแรก


2.1 ราชทินนามของโอรสธิดาและพระญาติ


** ทำความเข้าใจก่อนนะ พระญาติของเราในที่นี้จะหมายถึง พี่น้องชายหญิงที่เกิดจากฮ่องเต้เหมือนกัน รวมถึงไทเฮา ฮองเฮา ลุงป้าอาที่เป็นสายเลือดของอดีตฮ่องเต้ และเหล่าลูกหลานที่ถือกำเนิดจากโอรส/ธิดาของฮ่องเต้ นอกเหนือจากนี้...ไม่เกี่ยว **


มาว่ากันด้วยภาพรวมก่อน


อันว่าราชทินนามนั้น ย่อมหมายความว่าเป็นนามพระราชทาน คนให้ก็คือฮ่องเต้ แต่บางครั้งไทฮองไทเฮา, ไทเฮา และฮองเฮาก็สามารถออกพระราชเสาวนีย์ตั้งให้ได้เช่นกัน ส่วนใหญ่คนที่ได้รับจะเป็นสตรี ซึ่งส่วนนี้ต้องผ่านการปรึกษาหารือกับฮ่องเต้ก่อนเสมอ (ออกโดยไม่บอกแสดงว่า คสพ.แม่ลูกไม่ค่อยดี ถ้าฮองเฮาทำโดยไม่บอกอาจโดนเข้าใจว่าไม่เคารพสามีได้ เอิ๊กกกก) หรือจะกำหนดอย่างไรก็แล้วแต่ความตั้งใจของคุณนักเขียนทั้งหลายเลยจ้า


ดังนั้นชื่อพวกนี้มักจะมีความหมายดี เป็นมงคล (อีกแล้ว) หรือไม่ก็แสดงถึงลักษณะเฉพาะ/ความสามารถพิเศษของคนที่ตั้งให้ แต่หลายๆ ครั้งมันเป็นชื่อของเมือง แคว้น พื้นที่ปกครอง เมืองเอกของมณฑล หรือแม้แต่ชื่อของชนเผ่าที่เชื้อพระวงศ์/ขุนนางคนนั้นๆ ไปปราบปราม


ชื่อเมืองก็เช่น ไท่หยวน เกาหยาง ลั่วหยาง ฉางอัน เปียนจิง ฯลฯ ทั้งนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นชื่อเมืองเอกเสมอไป ในกรณีที่องค์หญิงองค์ชาย/พระญาติมีที่ดินศักดินาในเมืองไหนก็สามารถนำชื่อเมืองนั้นมาตั้งเป็นราชทินนามได้


ชื่อแคว้นก็เช่น ฉิน ฉู่ จ้าว เว่ย ซ่ง ฮั่น (หรือหาน) ฯลฯ


คำมงคลก็เช่น หนิง โซ่ว เสิ่น ฝู คัง เจี้ยน ฯลฯ


ตั้งขึ้นใหม่เพื่อยกย่องเชิดชูแก่เชื้อพระวงศ์ผู้มีความสามารถ และ/หรือมีความสำคัญในพระทัยของฮ่องเต้โดยเฉพาะ เช่น เถี่ยเม่าจื่อหวาง (อ๋องหมวกเล็ก) เป็นต้น


เรียกได้ว่าเยอะมากๆ และเพราะมันเป็นการตั้งตามแต่พระวินิจฉัยของผู้ตั้งอย่างฮ่องเต้ ไทเฮา ฮองเฮา ฯลฯ นั่นเอง


สำหรับหลักการตั้งชื่อราชทินนามของโอรสธิดา/พระญาตินั้น สามารถแบ่งออกเป็นข้อๆ ได้ ดังนี้


1.ราชทินนามจะสามารถตั้งขึ้นได้ก็ต่อเมื่อโอรสธิดา/พระญาติบรรลุนิติภาวะแล้ว โดยจะเป็นการบรรลุนิติภาวะทางวัยวุฒิหรือการแต่งงานก็ได้ทั้งสิ้น หรือมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน โอรส/ธิดาผู้เป็นพี่น้องร่วมบิดาของฮ่องเต้จะได้รับการแต่งตั้ง/เลื่อนพระยศเป็นชินอ๋องกับจ่างกงจู่ ฮ่องเต้จะพระราชทานราชทินนามให้แก่พี่น้องชายหญิงเหล่านั้น


2.การตั้งราชทินนามของฝ่ายชาย (และฝ่ายหญิง) นิยมตั้งให้แตกต่างกัน


อย่างที่บอกไว้ว่าในสังคมจีนโบราณ ชายหญิงค่อนข้างแตกต่างกัน ในการตั้งชื่อราชทินนามของชายหญิงก็ไม่เหมือนกันด้วย


สำหรับผู้ชายจะตั้งให้ไม่เหมือนกันเลย เพื่อป้องกันการสับสน ประกอบกับโอรสเมื่อได้สถาปนาเป็นชินอ๋องหลายๆ คนจะมีที่ดินศักดินาเป็นของตนเอง บางคนต้องออกไปปกครองดินแดนใต้อาณัติโดยไม่มีวันกลับเมืองหลวงอีก บางคนมีตำแหน่งหน้าที่ในกองทัพ ชื่อราชทินนามจึงแตกต่างกันไป


ในส่วนของผู้หญิงนั้น จะมีรูปแบบค่อนข้างหลากหลาย แตกต่างกันไปตามแต่ลำดับพระยศและความสำคัญในสายตาของคนตั้ง ในนิยายหลายๆ เรื่อง องค์หญิงมิได้มีราชทินนามเพริศหรู แต่กลับหยิบชื่อรอง/ชื่อทางการ หรือแม้กระทั่งชื่อตัวมาตั้งเป็นชื่อตำแหน่ง ดังนั้นในนิยายบางเรื่องเราจะพบว่า ฮ่องเต้ที่มีธิดาหลายๆ คน ชื่อของพวกนางมักมีคำหน้าหรือคำหลังชื่อเหมือนกัน เช่น หนิงโซ่ว หนิงเสวียน หนิงเจียน ฯลฯ อะไรแบบนี้


แต่หากองค์หญิงผู้เป็นธิดา/เสด็จป้าเสด็จอาเป็นที่รักหรือเป็นที่เคารพของฮ่องเต้ก็สามารถตั้งราชทินนามให้ต่างจากพี่น้อง/ญาติของตนเองได้เช่นกัน


3.ในการตั้งราชทินนามแต่ละชื่อ ควรยึดมุมมองของผู้ตั้งเป็นที่ตั้งว่า ลูกหลาน/พระญาติที่ได้รับราชทินนามนั้น มีความสำคัญต่อคนตั้งแค่ไหน โปรดปรานมากน้อยเพียงใด สนิทชิดเชื้อกันมากน้อยแค่ไหน มองเห็นความดีอะไรในคนคนนั้น บุญคุณความแค้นที่มีต่อกัน ฯลฯ เพื่อใช้เป็นตัวตั้งใจการเลือกราชทินนามที่นำมาใช้


อย่างที่บอกไว้ในย่อหน้าสุดท้ายของข้อ 2. ลูกหลาน/พระญาติที่ได้รับความโปรดปรานหรือความเคารพยกย่องจากฮ่องเต้มักจะมีราชทินนามที่ดีกว่าคนอื่นๆ แม้ว่าสิ่งที่ทำนั้นอาจจะเป็นเพียงการแสดงละครตบตาเพื่อแผนการบางอย่างของคนตั้งเองก็ได้ ยิ่งการนำคำที่มีความสำคัญมาก อย่างชื่อเมืองชื่อแคว้นมาตั้ง หรือราชทินนามประกอบด้วยคำยกย่องเชิดชูมากๆ นั่นแสดงว่าลูกหลาน/พระญาติคนนั้นมีความสำคัญมาก


ถ้าจะให้ไล่ลำดับความสำคัญของราชทินนามจากมากไปหาน้อยแต่ละระดับ “ตามความเข้าใจของเคย์เซย์” มันจะเป็นลักษณะนี้


ชื่อแคว้น >> ชื่อเมือง >> ชื่อเฉพาะ (เพื่อยกย่องเชิดชูความดีความชอบ)/ชื่อเมืองศักดินา >> คำมงคลที่พบได้ทั่วไป


พระยศเท่ากัน แต่คำที่เลือกใช้เป็นราชทินนามต่างกัน ความนัยที่แสดงถึงความสำคัญในสายตาของผู้นั้นย่อมแตกต่างกันออกไป


ทว่า...ทุกอย่างย่อมเป็นไปได้ทั้งนั้น ชื่อธรรมดาๆ สามัญก็อาจจะเป็นที่รักของคนตั้งได้ มันแล้วแต่คุณจะกำหนดให้กับนิยายของคุณ


4.ใน 1 รัชสมัยใหม่ ราชทินนามต้องไม่ซ้ำกัน


คำว่า “ไม่ซ้ำกัน” ในที่นี้ ใช้หลักการเดียวกับการตั้งชื่อตัวได้เลย แก่นเหมือนกันเป๊ะ! นั่นคือ ต้องไม่ซ้ำกันญาติผู้ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่ หากต้องการนำราชทินนามที่ตั้งให้กับญาติผู้ใหญ่ไปแล้วมาตั้งให้กับลูกหลานคนไหน จะต้องเปลี่ยนทางฝั่งผู้ใหญ่ให้ดีกว่า (หรือจะด้อยกว่าก็ได้ หากไม่ถูกกัน แต่เพื่อรักษาหน้าตาภาพลักษณ์ ไม่มีฮ่องเต้คนไหนทำกันหรอกนะ) แล้วจึงค่อยนำชื่อนั้นมาตั้งต่อไป


ยกตัวอย่างเช่น รัชสมัยจักรพรรดิเซี่ย (นามสมมติ) มีอาหญิงนามว่า ลั่วหยางจ่างกงจู่ ต่อมาอยากนำชื่อเมืองนี้ไปตั้งให้พระธิดาที่เกิดใหม่ จึงอวยพระยศอาหญิงให้สูงขึ้นอีกนิด พร้อมกับเปลี่ยนราชทินนามเป็น ฉู่กั๋วจ่างกงจู่ แล้วก็มอบชื่อ “ลั่วหยาง” ให้กับพระธิดาต่อไป เป็นต้น


กรณีขององค์ชาย หลักการก็จะคล้ายๆ กัน แต่โดยทั่วไปแล้ว เมื่อผลัดเปลี่ยนรัชสมัย โอรสซึ่งเป็นพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกับฮ่องเต้ที่เหลืออยู่ก็จะออกไปปกครองที่ดินศักดินาของตนเอง พระยศเปลี่ยนแปลงไป ส่วนราชทินนามก็แล้วแต่พระประสงค์ของฮ่องเต้ว่าจะเปลี่ยนแปลงก่อนออกไปไหม เพราะเมื่อออกจากเมืองหลวงไปแล้วจะไม่ค่อยเปลี่ยนอีก


ใดๆ ก็ตามในบางราชวงศ์ก็จะมีชื่อเฉพาะของอ๋องแต่ละคนกำหนดไว้อยู่แล้ว ตรงนี้พวกคุณต้องไปสืบหาต่อกันเอง หรือจะตั้งขึ้นมาเฉพาะนิยายตัวเองก็แล้วแต่เลย


5.ใน 1 ราชวงศ์สามารถมีราชทินนามซ้ำกันได้


เมื่อ 1 รัชสมัยไม่ควรมีลูกหลานใช้ราชทินนามซ้ำกับญาติผู้ใหญ่ ย่อมต้องมี 1 ราชวงศ์ที่มีราชทินนามที่ใช้ซ้ำกัน


ด้วยความที่ราชทินนามเป็นของพระราชทานจากฮ่องเต้ ซึ่งหลายๆ ครั้งก็นำมาจากชื่อแคว้น/ชื่อเมือง/ชื่อเฉพาะ เมื่อเป็นอย่างนี้ย่อมมีโอกาสที่ลูกหลานในบางรุ่นจะใช้ราชทินนามซ้ำกับบรรพบุรุษ

นั่นหมายความว่า ใน 1 ราชวงศ์ เราสามารถกำหนดให้มี ฮั่นอ๋อง 3 คน ฉินอ๋อง 2 คน ลั่วหยางกงจู่ 2 คน หรือเกาหยางกงจู่ 2 คนก็ได้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่าจะต้องอยู่คนละรัชสมัยกัน และต้องไม่ใช้การซ้ำขณะที่คนใดคนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่ (สงสัยกลับไปอ่านข้อ 4. กับหลักการตั้งชื่อตัวซ้ำอีกรอบ)


และในกรณีที่มีการเอ่ยอ้างถึง จะต้องมีการเติมชื่อตัวเข้าไปเพื่อแบ่งแยกให้ชัดเจน เช่น ลั่วหยางจ่างกงจู่หมิงหยาง กับ ลั่วหยางกงจู่จิ่นเหยียน เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่พระยศขณะมีชีวิตมักแตกต่างกับพระยศหลังความตายเสมอ ตาม ปวศ.จริงจึงมักไม่ค่อยพบเจอเชื้อพระวงศ์ที่มีพระยศซ้ำกันบันทึกไว้มากนึก ในทางนิยายเองก็สามารถนำเรื่องนี้ไปใช้เช่นเดียวกัน


6. ** ราชทินนาม (และ/หรือพระนามเรียกขาน) ของฮ่องเต้ ≠ รัชศก **


เอาล่ะสิ งงแล้วใช่มั้ยล่า ทำไมมันไม่เหมือนกัน ใน ปวศ.ก็เรียก จักรพรรดิคังซี จักรพรรดิเจี่ยชิง จักรพรรดิเต้ากวง ฯลฯ ไม่ใช่เหรอ มันก็น่าจะเหมือนกันซิ!!!


แฮ่ม...แอบใช้มุมมองคนไม่รู้มาใส่เล็กน้อย ขออภัย พิมพ์ตอนง่วงๆ ต้องเติมมุกให้ตัวเองนิดหนึ่ง~

ใครไม่รู้ เรามารู้กันวันนี้


สิ่งที่เราพบเห็นกันในหนังสือ ปวศ. ซีรีส์ นิยาย บทความบางบทความ ฯลฯ การเรียกชื่อจักรพรรดิในแต่ละรัชสมัยที่ปรากฏตั้งแต่ยุคราชวงศ์หมิงเป็นต้นมาเหล่านั้นคือ...รัชศกนั่นเอง (ยุคก่อนหน้าคือเปลี่ยนชื่อรัชศกทุกปี)


ยกตัวอย่างเช่น


ชื่อทั้งหมด จูหยวนจาง ผู้สถาปนาราชวงศ์หมิง เมื่อแยกร่างเป็นตารางจะเป็นดังภาพ


เมื่อเป็นอย่างนี้ ในการกำหนดพระนามของฮ่องเต้ คุณจะต้องกำหนดมาให้ชัดเจนว่า จะให้ปรากฏแต่ชื่อรัชศกหรือปรากฏทั้งสองอย่าง คือ ชื่อแต่งตั้งกับชื่อรัชศก การใช้ก็ต้องแยกแยะให้ดีๆ อย่าสับสัน


ส่วนเหตุผลว่าทำไมถึงนำชื่อรัชศกมาเรียกแทนพระนามเรียกขานกับราชทินนามนั้น...เฮาบ่ฮู้ ไม่ขอคาดเดาด้วย เพราะคิดว่าน่าจะมีเหตุผลในหลักวิชาการ (หรือหลัก ปวศ. หรือธรรมเนียมนิยมอะไรก็แล้วแต่) เป็นแน่แท้ อันนี้รอผู้รู้มาไขข้อข้องใจกันอีกทีนะ (หรือใครไปหามาตอบก็จะยินดีมาก)


7.ราชทินนาม พระนามเรียกขาน พระนามแต่งตั้ง ของฮ่องเต้/ไทเฮา/ฮองเฮา จะต้องไม่ซ้ำกันโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นในราชวงศ์เดียวกัน หรือต่างราชวงศ์ก็ตาม


ยกเว้น...ไทเฮา/ฮองเฮาคนนั้นจะไม่ได้รับราชทินนาม (และ/หรือใช้การบรรยายแบบ) ใช้เพียงแซ่เดิมนำหน้าชื่อตำแหน่งเท่านั้น เช่น เสิ่นฮองเฮา หยางฮองเฮา เย่เหอนาราไท่หวงไทเฮา เป็นต้น (ตัวอย่างชักจะมั่วขึ้นตามระดับความง่วงและชื่อที่เด้งมาในสมอง ซึ่งตัวอย่างพวกนี้ไม่มีบันทึกจริงนะ ถึงจะเอาแซ่จริงมาก็เถิด...) อาจปรากฏเป็นชื่อซ้ำกันได้


8.ราชทินนามของเหล่าพระญาติมักจะมีความหมายเป็นเชิงบวก จะเป็นเชิงลบได้ก็ต่อเมื่อเป็นบุคคลต้องโทษหรือมีความผิด ได้รับโทษทัณฑ์บางอย่าง แต่ไม่ได้ถูกลดขั้นไปเป็นสามัญชน ฮ่องเต้รู้สึกชิงชังมากก็อาจจะใช้คำเชิงลบมาตั้งให้ได้เช่นกัน (ปรากฏในนิยายหลายเรื่องอยู่)


แหงนหน้ามอง ทั้งหมด 8 ข้อก็น่าจะหมดแล้วสำหรับหลักการตั้งราชทินนามลูกหลาน/พระญาติ แถมของฮ่องเต้กับไทเฮา/ฮองเฮาไปด้วยเลย อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยออกไปอีก แต่โดยทั่วไปแล้วไม่ค่อยหลุดจากนี้มากนัก


ต่อมาเป็นหัวข้อของการตั้งราชทินนามของพระสนมบ้าง


แต่ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาของหลักการตั้งราชทินนาม เราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า พระสนมในวังหลวงแต่ละยุคสมัยนั้น มีชื่อตำแหน่งที่แน่นอนอยู่แล้ว รวมถึงมีการกำหนดจำนวนคนเอาไว้แล้วด้วย ตรงนี้ต้องไปศึกษากันต่อเองว่าแต่ละยุคสมัยนั้นมีอะไรมาก แล้วค่อยนำมาปรับใช้ในโลกนิยายของตัวเองต่อไป (เว้นแต่เขียนอิง ปวศ.จริง อันนี้ต้องตามยุคสมัย)


เมื่อในวังหลวงมีตำแหน่งพระสนมเป็นที่แน่นอนแล้ว หญิงสาวซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เข้าวังและได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสนมในตำแหน่งต่างๆ ก็จะเหมือนต้องทิ้งนามเดิมของตนเองไป คงไว้เพียงแซ่ที่จะวางอยู่ตรงหน้าหรือท้ายชื่อตำแหน่งของตนเองเท่านั้น เช่น สวีกุ้ยเฟย หยางเต๋อเฟย กวนไฉเหริน จางเจาอวี๋ เป็นต้น บางคนถึงกับไม่ได้รับบันทึกเอาไว้ใน ปวศ.ด้วยซ้ำ


ด้วยเหตุนี้เอง ราชทินนามซึ่งได้รับพระราชทานจากฮ่องเต้จึงถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพระสนมนางหนึ่ง


หลักการตั้งราชทินนาม (และ/หรือชื่อเรียก) ของพระสนมของเรา แยกออกเป็นข้อๆ ดังนี้


1.ต้องตั้งโดยคำนึงถึงความโปรดปราน ความสนิทเสน่หา ความดีความชอบ ทั้งนี้อาจจะหมายรวมถึง ชาติตระกูล/สกุลเดิมของฝ่ายหญิงด้วยว่าใหญ่มากน้อยแค่ไหน เพราะการตั้งราชทินนามแสดงถึงความสัมพันธ์ใกล้ไกลระหว่างฮ่องเต้กับพระสนมที่จะเกี่ยวโยงไปถึงกลุ่มก้อนอำนาจในทางการเมืองด้วย


นอกจากนี้คำที่เลือกใช้ก็จะต้องแสดงถึงเอกลักษณ์ของพระสนมแต่ละคนด้วย ซึ่งเอกลักษณ์ในที่นี้อาจเป็นเรื่องของรูปโฉม ความสามารถ ความถนัด ความสนใจ หรืออาจจะตั้งตามตำแหน่งที่พัก (กึ่งถาวร) ของพระสนม


ในการตั้งอาจจะมีการใช้คำในเชิงเปรียบเปรย ซึ่งคำเปรียบเปรยที่ว่านั้นอาจจะเป็นชื่อนก ชื่อดอกไม้ แต่จะไม่ค่อยนิยมใช้ชื่อสัตว์อย่างอื่นมากนัก โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่นิสัยดุร้าย หรือจะใช้ถ้อยคำในบทกวีมาตั้งก็ไม่ผิดแต่อย่างใด เป็นต้น


2.ต้องเลือกใช้คำที่ไม่ชนกับชื่อตำแหน่งของพระสนมชั้นสูง นอกจากป้องกันการสับสนแล้ว พระสนมที่มีฐานะต่ำต้อยกว่าจะต้องให้เกียรติคนใหญ่กว่า ซึ่งการเลือกราชทินนามก็ต้องหลีกเลี่ยงตรงนี้ด้วย ยกเว้นแต่ ตลค.ในเรื่องคุณจะเป็นทรราช อยากหักหน้าเมียรองด้วยการใช้เมียเล็กๆ ตบหน้าก็เอาเลย


3.นอกจากหลีกเลี่ยงข้อ 2. แล้วยังต้องระวังไม่ให้อักษรหรือเสียงที่ใช้คล้ายกับราชทินนามของไทเฮา/ฮองเฮาด้วย ยกเว้นจะเรียกกันด้วยแซ่เดิมของแต่ละคน


4.ในกรณีที่มีพระสนมใช้แซ่เดียวกัน ไม่ว่าจะเหมือนกันโดยบังเอิญหรือเพราะมาจากสกุลเดียวกัน ฮ่องเต้อาจพิจารณาตั้งราชทินนามแด่คนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองคนก็ได้


ในทางกลับกันกัน หากฮ่องเต้ไม่ได้คิดจะตั้งราชทินนามแก่สองคนนี้เลย นักเขียนก็สามารถกำหนดชื่อเรียกขึ้นมาเพื่อแยกแยะทั้งสองคนออกจากกันได้เช่นกัน


5.หากพระสนมที่ได้รับราชทินนนามแล้ว เมื่อถูกเลื่อยพระยศขึ้น จะมีการเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนราชทินนามนั้นก็ได้ สุดแต่การตัดสินใจของฮ่องเต้


6.ราชทินนามของพระสนมในยามมีชีวิตอยู่กับหลังเสียชีวิตไปแล้ว สามารถตั้งให้แตกต่างกันได้ ซึ่งก็ต้องดูด้วยว่าฮ่องเต้ในนิยายของคุณอวยพระยศขึ้นสูงหรือต่ำลง ใน ปวศ.เองก็มีฮองเฮาทั้งที่ได้รับการยกย่องมาก เมื่อตายแล้วก็ได้รับการเฉลิมราชทินนามใหม่เพื่อเป็นเกียรติ และฮองเฮาที่ถูกปลดโดยพฤตินัยจนเหลือเพียงชื่อเรียกก็มี (แต่ในบันทึกยังต้องบันทึกด้วยแซ่เช่นเดิม)


7.หากพระสนมใดให้กำเนิดโอรส ภายหลังโอรสได้ขึ้นเป็นฮ่องเต้ ผู้เป็นโอรสสามารถอวยพระยศของพระมารดาขึ้นเป็นฮองเฮาและ/หรือไทเฮา แล้วตั้งราชทินนามภายหลังได้


เป็นอันจบในส่วนของพระสนม ค่อนข้างเรียบง่ายและไม่ซับซ้อนมากนัก เนื่องจากมีสถานะที่เรียกโดยทั่วไปว่า เมียน้อย จะมีหน้ามีตาได้หรือไม่ล้วนพึ่งพาพระสวามี/ลูกชาย/ตระกูลที่คอยหนุนหลังเป็นหลัก พูดไปแล้วสำหรับพระสนมเมื่อเข้าวังก็เหมือนต้องละทิ้งนามเดิมและครอบครัวเดิม ราชทินนามอาจเป็นแค่เพียงเครื่องหมายเพียงหนึ่งเดียวที่ยืนยันการมีชีวิตอยู่ของพวกนางก็ได้


*************


วันนี้พอเท่านี้ก่อน

บทความนี้ ผู้อ่านสามารถแชร์ลิงก์ต่อได้ แต่ไม่อนุญาตให้นำไปลงเว็บไซต์/แพลตฟอร์มอื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี อยากนำไปลงต่อมาคุยกันก่อนจ้ะ

0