Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

แนะนำเกล็ดสำหรับการออกแบบโลกนิยาย – ยุคขุนศึกของจีน

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

ห่างหายไปนาน ในที่สุดก็กลับมาเขียนสักที โดยเหตุผลที่มาเขียนเรื่องนี้ก็คือ ผมไปเจอกระทู้ถามความเห็นเรื่องระบอบการเมืองในนิยายจอมยุทธ และคำอธิบายในกระทู้นั้นมันทำให้ผมนึกถึงยุคนี้เลย และมันก็เป็นยุคที่ผมเคยศึกษาเป็นหลัก เพราะมันคาบเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเป็นต้นแบบสำหรับ Setting ดินแดนจีนในนิยายผม

ผมเชื่อว่าในที่นี้ต้องมีคนชอบอ่านหรือชอบเขียนนิยายที่มี Setting ในจีน หรือในดินแดนที่คล้ายจีน ไม่ว่าจะเป็นแนวย้อนยุค แนวยุทธภพ หรือแนวไหนก็ตาม ... เราเห็น Setting ต่างๆ ไม่ว่าจะจีนโบราณ โลกยุทธภพ และก็อื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นยุคโบราณ ไม่ว่าจะสมัยราชวงศ์ต่างๆ
แต่วันนี้ ผมอยากจะแนะนำ Setting ยุคหนึ่งของจีน ที่ผมเชื่อว่าน่าจะยังถูกนำมาใช้น้อยอยู่ แต่มันก็เป็น Setting ที่แบบสามารถเอาไปเล่นได้หลายแบบเลย ทั้งแนวการเมือง การผจญภัย ยุทธภพ ดราม่า และต่างๆ ... มีตัวละครหลายแนวให้เล่นมากมาย สามารถเล่นได้หลายระดับตั้งแต่ระดับเมืองเล็กๆ หมู่บ้านในที่หนึ่ง ตลอดจนระดับใหญ่ขึ้นมาอย่างมณฑลหรือประเทศ...

Setting ที่ผมกำลังจะแนะนำนี้ ไม่ได้ห่างจากปัจจุบันมากเท่าไหร่นัก ... แค่ร้อยกว่าปีเอง ... มันคือยุคขุนศึก

***

ทำไมถึงเกิดยุคขุนศึก?

จีนสมัยปลายราชวงศ์ชิงถือว่าเป็นดินแดนที่วุ่นวายมากๆ ไม่ว่าจะสงครามกับต่างชาติที่มักจะพ่ายแพ้ ภัยพิบัติ หรือการกบฎต่างๆ ... ในช่วงปี 1850-1864 มันเกิดการกบฏครั้งใหญ่คือ กบฏไท่ผิง ซึ่งรุนแรงมาก ทำให้มีคนตายเป็นล้าน ซึ่งบางทียอดความสูญเสียอาจเยอะกว่าสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีก ... ในระหว่างการกบฏไท่ผิงนี้ ฝ่ายราชวงศ์ชิงทำการปราบกบฎด้วยกองกำลังต่างๆ โดยไม่ได้มีแค่กองทัพหลวงเท่านั้น ... มาตรการหนึ่งที่ราชวงศ์ใช้คือ การให้รัฐบาลมณฑลต่างๆ จัดตั้ง ระดมพลและติดอาวุธกองทัพท้องถิ่นกันเอง 

กองทัพแบบนี้จะเน้นความผูกพันระหว่างนายทหาร กองทหาร มีความสัมพันธ์โยงใยระหว่างครอบครัวและตัวทหาร ... นายทหารในกองทัพมณฑลจะไม่เคยถูกโอนย้าย การแต่งตั้งจะมาจากการตัดสินใจของแม่ทัพ ทำให้นายทหารและกองทหารมีความผูกพันกันเหนียวแน่นกันมาก
ถึงแม้กบฏจะถูกปราบลงได้ กองทัพมณฑลพวกนี้มันไม่ได้ถูกยุบลงไปนี่สิ และมันก็ยังคงอยู่เรื่อยมา ... ผลก็คือ ราชวงศ์ชิงไม่ได้มีการปฏิรูปกองทัพให้เป็นระบบกองทัพแห่งชาติจริงๆ จังๆ แต่กลับได้กองทัพท้องถิ่นที่ขึ้นกับมณฑลต่างๆ แทน ... กองทัพเหล่านี้ไม่มีมาตรฐานเป็นแบบเดียวกัน เพราะอิงจากแหล่งเงินทุนและการเข้าถึงอาวุธที่แต่ละมณฑลไม่ได้มีอย่างเท่ากัน ส่วนทหารและนายทหารก็เกาะกลุ่มรวมตัวกันอิงจากภูมิลำเนา มีความภักดีต่อนายตัวเองและภูมิลำเนาตัวเอง ไม่ได้มีความภักดีต่อรัฐบาลกลางหรือจีนโดยรวม
นี่คือจุดเริ่มต้นของแนวโน้มการเมืองและการทหารของจีน จริงอยู่ที่พวกข้าหลวงมณฑลสมัยกบฏไท่ผิงจะไม่ได้เป็นต้นแบบของขุนศึกจีนในยุคขุนศึกต่อมา แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของแนวโน้มอำนาจยุคขุนศึก คือการผสมผสานอำนาจฝ่ายพลเมืองและฝ่ายทหารเข้าด้วยกัน และการเพิ่มอำนาจบริหารให้ข้าหลวงมณฑล ขณะที่อำนาจส่วนกลางลดลง ทำให้อำนาจส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
การปฏิรูปช่วงปลายราชวงศ์ชิงเองก็ทำให้ระบบการเมืองต่างๆ มีความเป็นทหารมากขึ้น โดยข้าราชการในยุคนี้ แม้แต่ในหน่วยงานพลเมือง คนที่ถูกแต่งตั้งให้มารับตำแหน่งส่วนใหญ่มีภูมิหลังเป็นทหาร ไม่ได้เป็นปัญญาชนแบบในยุคก่อนๆ โดยการปฏิรูปนี้ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอื่นๆ ในยุคเดียวกัน เช่นจักรวรรดิเยอรมันหรือญี่ปุ่น สองประเทศที่มีกระแสทหารนิยมอย่างเข้มข้น
และแล้ว ในปี 1911 เกิดการปฏิวัติซินไห่ ซึ่งมีพยายามล้มล้างราชวงศ์ชิงและก่อตั้งระบอบสาธารณรัฐในจีน

การปฏิวัตินี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราจะได้เห็นแนวโน้มการเมืองแบบขุนศึก เช่นกองกำลังที่เริ่มปฏิวัติ ก็คือกองทัพประจำมณฑลภาคใต้ของจีน และกองทัพหลักที่ราชวงศ์ชิงใช้ตอบโต้ ก็คือกองทัพเป่ยหยางภายใต้แม่ทัพหยวนซือข่าย ซึ่งมันก็เป็นกองทัพภูมิภาค (กองทัพมณฑลภาคเหนือ) และมันก็เป็นกองทัพที่ทันสมัยสุด ได้รับการฝึกฝนดีที่สุด โดยอยู่ใต้การควบคุมของหยวนซือข่ายเป็นหลัก ... ฝ่ายปฏิวัติต้องรับศึกทัพเป่ยหยางอย่างหนัก จนนายแพทย์ซุนยัตเซนเสนอให้มีการยกตำแหน่งประธานาธิบดีให้หยวนซือข่าย เพื่อให้เจ้าตัวไปโน้มน้าวให้ฮ่องเต้สละราชสมบัติ ซึ่งเขาก็ทำได้จริงๆ จีนจึงเข้าสู่สมัยสาธารณรัฐ โดยมีผู้นำคือหยวนซือข่าย ซึ่งแกก็ยังมีกองทัพเป่ยหยางอยู่ในการควบคุม ซึ่งเขาก็ปกครองประเทศด้วยความเป็นเผด็จการ ยังคงศูนย์กลางรัฐบาลอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ไม่ย้ายไปนานกิงตามที่ซุนยัตเซนเสนอ และใช้อำนาจต่างๆ ในการปราบปรามศัตรูทางการเมือง

(กองทัพเป่ยหยาง - กองทัพที่ทันสมัยที่สุดในจีนช่วงทศวรรษที่ 1910)
แต่ระบอบเผด็จการของหยวนซือข่ายก็ไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ... ในปี 1913 มณฑลภาคใต้เปิดฉากก่อกบฎต่อต้านหยวนซือข่ายอีกครั้ง แต่ก็โดนปราบลงได้ ทำให้พวกผู้ว่ามณฑลที่เป็นพลเรือนต่างโดนแทนที่ด้วยผู้ว่าที่เป็นทหาร ซึ่งพวกนี้แหละคือต้นแบบของขุนศึกในยุคต่อมา ... ผ่านไปไม่นานนักในช่วงปลายปี 1915 หยวนซือข่ายก็ประกาศตั้งตนเป็นฮ่องเต้ ผลคือพวกมณฑลทางใต้ต่างก็ก่อกบฏอีกรอบ และคราวนี้ แม้แต่พวกแม่ทัพในรัฐบาลของหยวนซือข่ายก็ยังตีตัวออกห่าง ทำให้หยวนซือข่ายต้องยกเลิกแผนการขึ้นเป็นฮ่องเต้ ฟื้นฟูสาธารณรัฐ และตายในปี 1916
เมื่อหยวนซือข่ายตายในมิถุนายน 1916 ... กองทัพเป่ยหยางของหยวนซือข่ายที่ครองอำนาจในภาคเหนือก็แตกเป็นก๊กต่างๆ ขณะที่มณฑลทางใต้อยู่ใต้การควบคุมจากก๊กต่างๆ ที่ไม่ค่อยชอบรัฐบาลที่ปักกิ่งอยู่แล้ว ทำให้จีนอยู่ในสภาวะแตกแยกทางการเมือง ทั้งแตกแบบเหนือใต้ และแตกแยกกันเอง แบบว่ากลายเป็น Battle Royale กันเลย
ด้วยเหตุนี้ ยุคขุนศึกจึงถูกนับว่าเริ่มในปี 1916 และจะอยู่ยาวนานถึงปี 1928 เมื่อพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊กภาคใต้ เริ่มปฏิบัติการเคลื่อนทัพขึ้นเหนือ และรวมประเทศกลับมาเป็นหนึ่งแบบหลวมๆ เข้าสู่สมัยทศวรรษนานกิง 

***

ระบบการเมืองและสงครามแบบขุนศึก


(จีนและก๊กต่างๆ ในปี 1925 ... สีน้ำเงิน - ก๊กที่เป็นก๊กมินตั๋ง - สีแดง - ก๊กอื่นๆ)

จีนเป็นรัฐที่มีระบบการปกครองแบบพลเมือง แบบเน้นศูนย์กลางมานาน ... แต่ความอิงศูนย์กลางนี้มันถดถอยมานานตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์ชิงแล้ว และพอหยวนซือข่ายขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี เขาก็ปกครองแบบเผด็จการ ทำให้ระบบการปกครองแบบพลเมืองเสื่อมถอยลงและถูกแทนที่ด้วยระบบผู้นำทหาร เห็นได้ชัดจากการแทนที่ผู้ว่ามณฑลจากพลเรือนด้วยทหาร ทำให้ระบบรัฐบาลพลเรือนในท้องถิ่น ถูกแทนที่ด้วยระบบทหาร ถือว่าเป็นการวางรากฐานการเมืองแบบขุนศึกที่จะเริ่มในปี 1916
แนวทางของขุนศึกและก๊กต่างๆ ในยุคนี้ ส่วนใหญ่จะออกแนว “ความคงที่” หมายถึงพยายามรักษาอำนาจของตนในดินแดนที่ตนกำลังปกครองอยู่ มีน้อยครั้งนักที่จะทำการขยายอำนาจ ... การขยายอำนาจ มาจากเหตุผลต่างๆ เช่นการปราบก๊กคู่อริที่ดันมีอำนาจในมณฑลเดียวกัน การเข้าควบคุมรัฐบาลกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นได้จากก๊กทางเหนือที่มักต่อสู้กันเพื่อควบคุมกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งรัฐบาลกลาง รัฐบาลเดียวที่ต่างชาติยอมติดต่อด้วย หรือการรวมประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายของก๊กที่พยายามตั้งตนเป็นรัฐบาล เช่นพวกก๊กมินตั๋ง
ภายในก๊กขุนศึก บรรยากาศมันจะเป็นแบบนี้ ... การเน้นความจงรักภักดีระหว่างกัน และความสงสัย หวาดระแวงต่อกัน การอุทิศตนให้กับเป้าหมายระยะสั้นและไม่ค่อยมีอุดมการณ์ชัดเจน ... เนื่องจากว่านายทหารและทหารของก๊กต่างๆ ถูกระดมและแต่งตั้งด้วยความผูกพันของภูมิลำเนาและความจงรักภักดีต่อนายเป็นหลัก มันจึงมีความสงสัยและระแวงกันว่า สักวันหนึ่ง ตนจะโดนลูกน้องหักหลังหรือเปล่า กองทหารพวกนี้จะย้ายฝั่งไปหาศัตรูไหม ด้วยเหตุนี้ พวกแม่ทัพผู้นำก๊กจึงเล่นการเมืองแบบว่า การสร้างเครือข่ายต่างๆ ร่วมกัน ... เครือข่ายเครือญาติ การเกี่ยวดองทางครอบครัว ความสัมพันธ์แบบภูมิลำเนา-คนบ้านเดียวกัน ความสัมพันธ์แบบศิษย์พี่-ศิษย์น้อง-อาจารย์ เพื่อสร้างพันธมิตร และพยายามลดความเสี่ยงเรื่องการทรยศหักหลัง ซึ่งมันก็ยังเกิดอยู่ดี
การเมืองอีกแนวทางที่เห็นได้จากยุคนี้คือ การเมืองแบบถ่วงดุลอำนาจกัน ... ถ้าหากมีก๊กไหนเข้มแข็งมากๆ ก๊กที่เคยเป็นพันธมิตรก็อาจจะเอาตัวออกห่าง และอาจมีการรวมหัวกันรุมก๊กนั้น เพื่อไม่ให้มีคนเข้มแข็งเกินไป ... ก๊กต่างๆ จะทำสัญญาพันธมิตรกันโดยว่าใครเป็นศัตรูของใคร ทำพันธมิตรทางไกลเพื่อตีใกล้ และแบ่งปันทรัพยากรเพื่อตีศัตรูร่วมกัน
ในยุคขุนศึกนี้ รัฐบาลกลางของจีนยังมีอยู่ เรียกว่ารัฐบาลเป่ยหยาง มีที่ตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ... ตำแหน่งรัฐบาลกลางนี้มีผลประโยชน์คือ เป็นรัฐบาลเดียวที่ต่างชาติให้การรับรอง เป็นรัฐบาลเดียวที่สามารถดำเนินการทูตได้ ... รัฐบาลกลางนี้คือเป้าหมายที่บรรดาก๊กฝ่ายภาคเหนือที่เป็นพวกกองทัพเป่ยหยางเก่าพยายามต่อสู้เพื่อแย่งชิงตำแหน่งภายในรัฐบาลกลาง และแย่งชิงการควบคุมกรุงปักกิ่ง ... พูดง่ายๆ คือ ใครก็ตามที่คุมกรุงปักกิ่งได้ ก็จะได้เป็นรัฐบาล ... รัฐบาลเดียวที่คุยกับมหาอำนาจต่างชาติได้ ทำให้ตนขอแรงสนับสนุนจากต่างประเทศได้
ส่วนบรรดาประเทศอื่นๆ นอกจากพวกเขาไม่ได้แค่ติดต่อกับรัฐบาลเป่ยหยางเท่านั้น พวกเขาก็ยังแอบสนับสนุนก๊กต่างๆ เพื่อสร้างอิทธิพลในเขตนั้นๆ เช่นญี่ปุ่นในการสนับสนุนก๊กเฟิ่งเทียนของแม่ทัพจางจั๋วหลิน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในแมนจูเรีย เขตอิทธิพลของญี่ปุ่น ทำให้บางครั้ง ขุนศึกบางก๊กก็ตกเป็นเป้าโจมตี ว่าเป็นหุ่นเชิดมหาอำนาจ
วิธีการทำสงครามของก๊กขุนศึกนั้นมีหลากหลาย ทั้งสงครามกองโจรและสงครามเต็มกำลัง ... โดยสงครามแบบเต็มกำลังส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นตามแนวทางรถไฟ ระบบคมนาคมหลักของประเทศที่ยังกระจายไปไม่ทั่วประเทศ ... พอกองทัพเคลื่อนพล พวกเขาก็จะเคลื่อนพลด้วยรถไฟ พอเข้าปะทะ ก็ยิงกันตามเส้นทางรถไฟ ดังนั้น รถไฟหุ้มเกราะจึงเป็นสุดยอดอาวุธ เหมือนเป็นเรือรบบก ... การรบส่วนใหญ่ในยุคนี้จะไม่ยืดเยื้อ โดยถ้าหากกองทัพไหนแพ้ ก๊กนั้นก็อาจจะจบเห่ในไม่กี่วัน เพราะกองทัพอื่นๆ จะแตกทัพหรือไม่ก็หักหลังเข้ากับอีกฝ่าย
กองทัพขุนศึกมีหน้าตายังไงบ้าง? มีหลายแบบเลย ทั้งกองทัพโจร กองทหารที่ตั้งตามมณฑล ตลอดจนกองทัพสมัยใหม่ ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ และนโยบายระเบียบวินัย นโยบายหลักนิยมต่างๆ ... เราจะเห็นได้ทั้งกองทัพที่ยังใช้ดาบผสมกับปืน ตลอดจนกองทัพที่มีปืนยาว ปืนใหญ่และปืนกล มีรถถังกับเครื่องบิน

***

ขุนศึกพวกนี้ มีพื้นเพแบบไหนบ้าง?

อันนี้ ใช้เป็นไอเดียสำหรับออกแบบตัวละครได้เลย ... ขุนศึกจีนในยุคนี้ มีพื้นเพหลายแบบมาก

(จางจั๋วหลิน ขุนศึกแมนจูเรีย หัวหน้าก๊กเฟิ่งเทียน กับ อู่เพ่ยฟู แม่ทัพนักปราชญ์ หัวหน้าก๊กจื้อลี่ - สองรัฐบุรุษที่เข้มแข็งที่สุดในจีนช่วงทศวรรษที่ 1920)
ขุนศึกบางคนเคยเป็นโจรมาก่อน โดยตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือจางจั๋วหลิน (Zhang Zuolin) ขุนศึกแมนจูเรีย ซึ่งเคยเป็นขุนโจรในแมนจูเรีย และพันธมิตรของญี่ปุ่นในสมัยสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น 1904-1905 ... กองทัพของขุนศึกแบบนี้ จะมีพื้นฐานเดิมคือเคยเป็นชุมโจรเก่า ... บางก๊กถูกยกระดับให้กลายเป็นกองทัพจริงๆ สามารถสละความเป็นโจรและน้อมรับความเป็นมืออาชีพได้ เพราะตนมีเป้าหมายขึ้นเป็นรัฐบาลจริงๆ บางก๊กอาจจะยังคงเป็นโจรวันยันค่ำ แบบว่าพอทหารยึดเมืองได้ ก็เล่นปล้นฆ่า ฉุดคร่าผู้หญิงไปทั่ว
ขุนศึกบางคนเคยเป็นข้าราชการเก่า มีหลายแบบ
เช่นข้าราชการทหารอย่าง เหยียนซีซาน (Yan Xishan) ขุนศึกมณฑลชานซีที่เอาระบบต่างๆ ทั้งประชาธิปไตย ทหารนิยม ทุนนิยม สังคมนิยม และอื่นๆ มาผสมผสานกันเป็นระบบเฉพาะตัว และพัฒนามณฑลชานซีให้เป็นมณฑลตัวอย่าง ทำให้ที่นั่นดูเจริญและสงบที่สุด ต่างจากมณฑลอื่นๆ ที่ดูวุ่นวาย รวมถึงมีลูกไม้เจ้าเล่ห์ คือสั่งให้ทางรถไฟชานซีมีขนาดรางต่างจากมณฑลอื่น ทำให้ก๊กอื่นขนทหารบุกเข้ามาไม่ได้ง่ายๆ
หรือข้าราชการพลเรือนเก่า อย่าง อู่เพ่ยฟู (Wu Peifu) อดีตข้าราชการที่ผ่านการสอบจอหงวน เป็นขุนศึกที่พยายามชูว่าตัวเองเป็นคนที่ยึดมั่นหลักขงจื้อ พยายามสร้างภาพว่าตัวเองเป็นปราชญ์มากกว่าทหาร สร้างภาพสุดๆ เช่นการแขวนภาพจอร์จ วอชิงตันไว้ในห้องทำงาน เพื่อบอกเป็นนัยว่า ตนสนับสนุนประชาธิปไตย เหมือนอเมริกานะ ทั้งที่การกระทำจริงๆ ไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย
ขุนศึกบางพวกก็ชูอุดมการณ์เป็นเป้าหมายหลัก เช่นพวกก๊กมินตั๋งที่ชูหลักไตรราษฎร์ของซุนยัตเซน หรือพรรคคอมมิวนิสต์ในยุคแรกเริ่ม ซึ่งก๊กแบบนี้จะมีเป้าหมายการรวมแผ่นดินเพื่อขึ้นเป็นรัฐบาล และใช้อุดมการณ์ขับเคลื่อนกองทัพตัวเอง ต่างจากก๊กอื่นๆ ที่พยายามรักษาอำนาจในมณฑลตัวเองเป็นหลัก และไม่มีเป้าหมายไกลถึงระดับประเทศ
อันที่จริง มันยังมีขุนศึกอีกหลายแบบ อีกหลายพื้นเพ แต่อยากจะบอกเลยว่า มันมีเยอะเหลือเกิน เล่าได้ไม่หมด :v
***

นิยายแนวไหน พล็อตไหนบ้างที่เหมาะกับ Setting นี้?

นิยายแนวไหนบ้าง? เบื้องต้นเลยคือ Setting ที่เอาจีนเป็นพื้นหลัง สามารถเอายุคนี้ไปเป็น Setting หรือเป็นแนวทางได้ ... Setting แบบว่า รัฐบาลกลางอ่อนแอ ท้องถิ่นแข็งแกร่ง ... สวรรค์สูงลิ่ว ฮ่องเต้อยู่ห่างไกล อะไรพวกนี้
พล็อตก็ได้หลายแนวเลย ... แนวจอมยุทธผดุงความยุติธรรมก็ได้ เช่นจอมยุทธผดุงความยุติธรรม สู้กับขุนศึกที่ฉ้อฉล ซึ่งเป็นขุนศึกโจรหรือขุนศึกที่โหดร้ายทารุณ
พล็อตแนวล้างแค้นก็ได้ ... ในโลกจริงมันมีแบบนี้จริงนะ :v … ขุนศึกนานกิง ซุนฉวนฟาง (Sun Chuanfang) เคยไปฆ่าขุนศึกคู่อริแบบทารุณ ต่อมาเขาก็แพ้สงคราม เขาก็เลยไปลี้ภัยในเขตนานาชาติที่เทียนจิน และเกษียณตัวด้วยการบวชพระ ต่อมาในปี 1935 ระหว่างที่เขากำลังทำพิธีสวดมนต์ เขาก็โดนหญิงสาวคนหนึ่งเอาปืนยิงหัว โดยหญิงสาวคนนั้นประกาศว่า ตนได้ล้างแค้นให้พ่อได้แล้ว ... นางคือชือเจียนเชียว (Shi Jianqiao) ลูกสาวของแม่ทัพชือที่โดนซุนฉวนฟางฆ่าตายในช่วงสงคราม
พล็อตแนวสร้างเมืองก็ทำได้ ... ขุนศึกทุกคนมีอาณาเขตในปกครอง และหลายคนก็ถือตำแหน่งผู้ว่ามณฑลหรือเขตด้วย ... ตัวอย่างที่ชัดสุดก็เหยียนซีซาน ที่เป็นผู้ว่ามณฑลชานซี ซึ่งผสมแนวคิดต่างๆ และพัฒนาบ้านเกิดตัวเองอย่างสุดความสามารถ ทำให้มณฑลชานซีซึ่งเคยเป็นดินแดนที่ยากจนที่สุด ให้กลายเป็นดินแดนที่เจริญและสงบที่สุดก็ได้
พล็อตแนวการเมือง แบบ Game of Thrones อันนี้ยิ่งเหมาะเลยครับ ... เล่นการเมืองกับขุนศึกด้วยกัน และเล่นการเมืองกับต่างชาติไปด้วย การแข่งกันระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง สันติสุขสลับกับสงคราม เล่นได้เยอะอยู่ครับ
พล็อตแนวดราม่าก็ได้ เพราะยุคนี้มันคือยุคหนึ่งที่ชาวจีน Suffer มากๆ ... ยุคที่เกิดสงครามทุกหย่อมหญ้า ซ้ำด้วยภัยพิบัติต่างๆ มันเรียกอารมณ์ได้มากเลย
พล็อตแนวรักก็ได้ ... เปลี่ยนจากมาเฟียเป็นขุนศึกก็น่าสนใจอยู่นะ :v
พล็อตแนวเจ้าพ่อก็ได้ ... เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ มันก็อยู่ในยุคนี้แหละ :v
อันที่จริง มันก็ได้หลายแนวแหละครับ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะปรับมันยังไง

***

ถ้าท่านอยากศึกษายุคขุนศึกต่อเอง ศึกษาได้จากแหล่งไหนบ้าง?

ถ้าท่านอยากอ่านภาษาไทย ก็อ่านได้จากหนังสือประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ แต่ถ้าอยากได้หนังสือที่เจาะยุคนี้ตรงๆ ขอแนะนำ “สงครามกลางเมืองจีน” โดยกรกิจ ดิษฐาน สำนักพิมพ์ยิปซี ซึ่งมีเนื้อหาตั้งแต่ปฏิวัติซินไห่ 1911 ถึงตอนที่พรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นครองอำนาจในปี 1949
ถ้าอ่านภาษาอังกฤษได้ ก็ยังมีหลายแหล่งอยู่ แต่ต้องทำใจหน่อย เพราะยุคนี้ถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับยุคอื่นๆ ของจีน ... หนึ่งในหนังสือที่จะแนะนำคือ Warlord Politics โดย Lucian W. Pye ... อันนี้จัดเต็มเรื่องการเมืองมากๆ

***

ถ้ามีคำถามหรือข้อเสนอแนะ เชิญท่านคอมเม้นได้เลยนะครับ :v

ท้ายที่สุดนี้ ผมขอฝากนิยายของผมหน่อยนะครับ จริงอยู่ที่มันเป็นนิยายแฟนตาซี แต่มันจะมี Setting ดินแดนหนึ่งที่คล้ายจีน และอิงการเมืองในยุคขุนศึกนี้แหละ ขอฝากด้วยนะครับ

แสดงความคิดเห็น

>