Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

แนะนำเกล็ดการออกแบบโลก ITL

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

เนื่องในโอกาสที่นิยาย Into the Light ของข้าพเจ้าได้รับการแนะนำจาก Webmaster เด็กดี ข้าพเจ้าก็เลยคิดว่า มันน่าจะถึงเวลาแล้ว ที่จะมาแบ่งปันเกล็ดการออกแบบโลกของข้าพเจ้า เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่าน

----
โลก ITL มีสันฐานการออกแบบอิงจากโลกของพวกเรา คือการมีทวีปใหญ่ทางตะวันออกและตะวันตก โดยเหตุผลมาจาก ความเคยชินเรื่องเวลาและภูมิอากาศ และอิงจากความเคยชินของโลกของพวกเรากับโลกสมมุติ ซึ่งน่าจะทำให้ผู้อ่านสามารถเชื่อมโลกสองใบเข้าด้วยกันได้ จากความคุ้นเคยบางอย่าง และสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ต้องอิงจากโลกจริงคือ ระบบเวลา 24 ชั่วโมง นี่แหละครับ

สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และหน้าตาแผนที่ของโลกนั้นจะคล้ายโลกจริงในช่วงทศวรรษที่ 1940 หรือยุคสงครามโลกครั้งที่สอง แต่มันมีความแตกต่างกันหลายอย่าง

ความขัดแย้งในตะวันตก เป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างวาร์เรีย-ตะวันตก ซึ่งอิงมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและตะวันตก โดยอิงจากความตึงเครียดในสมัยศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะตอนสงครามไครเมียเป็นหลัก ผสมกับสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์คล้ายยุคปัจจุบัน คือการมีอยู่ของ NATO ในตะวันตก แต่ในโลกนี้ พันธมิตรตะวันตกจะคล้ายกับ NATO ที่ไม่มีสหรัฐอเมริกา หากแต่ประกอบด้วยประเทศมหาอำนาจในตะวันตก ที่ยังอุ้มชูแนวคิดจักรวรรดินิยมในระดับหนึ่ง ขณะที่วาร์เรีย มีความคล้ายรัสเซีย โดยเฉพาะสมัยพระเจ้าซาร์ ซึ่งมีความแข็งกร้าวพอสมควรในสมัยศตวรรษที่ 19 หลังสงครามนโปเลียน โดยตะวันออกและตะวันตกได้รบกันแล้วสองครั้ง ... ครั้งแรกคือมหาสงคราม (อิงจากสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ในโลก ITL หน้าตาจะออกแนวตะวันออก vs ตะวันตก เหมือน NATO ภาคยุโรปรบกับรัสเซีย) และครั้งที่สอง ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นฉากหลังประกอบโลกในนิยาย (อันนี้อิงแนวรบตะวันออกของสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่มีสาเหตุสงครามในโลก ITL คล้ายสงครามไครเมียในโลกจริง คือความขัดแย้งในตะวันออกใกล้)


(สงครามไครเมีย - หนึ่งในตัวอย่างประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาเป็นกรณีศึกษาสำหรับการออกแบบโลก ITL)

(รัสเซียและยุโรป - ความสัมพันธ์ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 - ปัจจุบัน เป็นอีกตัวอย่างในการออกแบบความสัมพันธ์และความขัดแย้งของโลก ITL)

ความขัดแย้งด้านตะวันออกไกล เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากภาวะสุญญากาศ เมื่อจักรวรรดิเสินโจว (อิงจากจีนแบบเป็นมหาอำนาจแล้ว) ได้ตกต่ำลงหลังจากสงครามกลางเมือง ทำให้มหาอำนาจใหม่ขึ้นมาแทนที่ ได้แก่ยาชิม่า (อิงจากญี่ปุ่น) มหาอำนาจใหม่ที่ได้สถานะมาไม่นาน หลังจากชนะมหาสงคราม (สำหรับตะวันออกไกล มันคือการผสมผสานสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง และสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ในสงครามเดียวกัน) และจักรวรรดิเอลีเซีย (ที่ตั้งเหมือนอเมริกา แต่เป็นจักรวรรดิคล้ายกรีกสมัยอเล็กซานเดอร์มหาราช และกรีกสมัยไบแซนไทน์) ซึ่งสองมหาอำนาจได้ขยายอำนาจเข้ามาในภูมิภาคเดียวกัน ทำให้เกิดความขัดแย้ง นำไปสู่สงครามปลายบูรพาทิศที่เอลีเซียเปิดฉากก่อน


(สงครามแปซิฟิก หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา แนวรบด้านตะวันออกไกลของสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือว่าเป็นกรณีศึกษาหลักสำหรับการเขียน ITL)

(สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น - อีกกรณีศึกษาที่นำมาใช้ในการเขียนโครงสร้างสงครามในเนื้อเรื่อง ITL)

ประเด็นความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์เหล่านี้ ถือว่าเป็นการผสมผสานกันระหว่างศตวรรษที่ 19 และยุคปัจจุบัน เพื่อให้มันเกิดสถานการณ์ผสมผสาน ให้มันดูแปลกใหม่สำหรับโลกที่ดูคล้ายยุคสงครามโลก ... ก็นะ ... นี่คือโลก ITL สงครามในโลกนั้นไม่ใช่สงครามระหว่างฟาสซิสต์กับประชาธิปไตย แต่เป็นสงครามระหว่างจักรวรรดิต่างๆ ที่พยายามสร้างอำนาจในภูมิภาคต่างๆ


(The Great Game - เกมการเมืองมหาอำนาจระหว่างรัสเซียและอังกฤษ ในเอเชียกลาง)

สำหรับบรรยากาศการเมือง แม้ว่าโลกนี้จะมีหน้าตาคล้ายยุคสงครามโลก แต่การเมืองและสังคมมันผสมผสานกับความเป็นยุค Victorian อย่างมาก ถือว่าช้าไปโลกจริงไปขั้นหนึ่ง โดยเหตุผลมาจากการมีอยู่ของเวทมนตร์ พลังลี้ลับที่เป็นตัวเสริมแนวคิดจารีตต่างๆ ทำให้พัฒนาการทางการเมืองช้ากว่าโลกจริง โดยในโลก ITL เราจะยังเห็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สาธารณรัฐขุนนาง หรือหน่วยการเมืองที่ดูเก่าอยู่หลายแห่ง เพราะว่าเวทมนตร์และอำนาจลี้ลับของโลกแฟนตาซี มันยังช่วยรักษาอำนาจเก่าไว้ แต่ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ควบคู่กันไป มันก็ทำให้การเมืองพัฒนาไปในทิศทางคล้ายโลกของเรา พูดง่ายๆ ก็คือ กระแสการเมืองใหม่คล้ายโลกจริง มันยังมีอยู่ในโลก ITL เพียงแต่ว่ามันผงาดได้ช้ากว่าโลกจริง เพราะมีปัจจัยอย่างเวทมนตร์เนี่ยแหละครับ


(ยุควิกตอเรียน ยุคสมัยที่ถูกนำมาเป็นกรณีศึกษาในการออกแบบโลก ITL)

สงครามโลกครั้งที่สองในโลกจริง เป็นสงครามระหว่างรัฐที่ขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะฟาสซิสต์ คอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตย ... แต่อย่างที่กล่าวไปว่า แนวคิดการเมืองของโลก ITL มันช้ากว่าโลกจริง เพราะปัจจัยเวทมนตร์ ดังนั้น อุดมการณ์การเมืองใน ITL ในช่วงเวลาที่นิยายกำลังดำเนินอยู่ มันจึงไม่เข้มข้นเท่าสมัยสงครามโลกในโลกจริงของเรา ... ด้วยความที่โลกนี้มีหลายเผ่าพันธุ์ แนวคิดชาตินิยมจึงอิงจากฐานเผ่าพันธุ์แบบโลกจริงไม่ได้ มันเลยเหลือแต่ชาตินิยมเรื่องบ้านเกิดและภาษาร่วมกัน หรือสถานะพลเมือง ... แนวคิดเรื่องเสรีนิยม-สังคมนิยมเริ่มปรากฎแล้วจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรม แต่มันก็ยังไม่แพร่หลายเท่าโลกจริง ... ดังนั้น การเมืองในโลก ITL ในช่วงที่นิยายกำลังดำเนิน มันจึงออกมาในหน้าตา การเมืองของรัฐ การเมืองจักรวรรดินิยมซะมากกว่า ... แต่การเมืองเรื่องเสรีนิยม-สังคมนิยมและชาตินิยมสุดโต่งจะโผล่มาได้ไหม? คำตอบคือเป็นไปได้ แต่กว่าจะมีหน้าตาเหมือนโลกจริงของเรา เกรงว่าจะต้องใช้เวลานานกว่า แบบว่า 20 ปีหลังนิยายจบ อาจจะเกิดขึ้นได้

พูดง่ายๆ ก็คือ ปัจจัยเรื่องเวทมนตร์ ทำให้การเมืองและสังคมในโลก ITL ก้าวช้ากว่าโลกจริงประมาณ 1-2 ก้าว ทำให้มุมมองและเป้าหมายของรัฐต่างๆ ไม่เหมือนยุคสงครามโลกในโลกจริง แต่เหมือนยุค Victoria ที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น

เทคโนโลยีในจักรวาล ITL จะเป็นการผสมผสานระหว่างอุตสาหกรรมกับเวทมนตร์ ทำให้เกิดเทคโนโลยีที่แง่หนึ่ง มีความทันสมัย แต่ในอีกแง่ มันก็ดูเก่า โดยที่เห็นชัดสุดคือชุดเกราะลงอาคม ซึ่งมีหน้าตาคล้ายชุดเกราะสมัยศตวรรษที่ 17-18 เป็นชุดเกราะที่มีพลังเวทเคลือบ สามารถกันกระสุนได้ เหมือนมีสนามพลังบางอย่าง ... โดยนอกจากมันจะเท่แล้ว มันมีเหตุผลทางเนื้อเรื่องก็คือ มันเป็นอุปกรณ์เอาไว้ช่วยยื้อชีวิต ไม่ให้ตัวเองโดนยิงตายภายในนัดสองนัด ในสงครามที่ใช้ปืนกันเป็นหลักแล้ว อีกทั้งยังเป็นปัจจัยที่ทำให้การต่อสู้แบบเก่ายังเหลืออยู่ เช่นการสู้รบประชิดด้วยดาบหรือง้าว ทั้งที่มันมีปืนอยู่แล้ว ... บางวิทยาการในโลก ITL พอผสมผสานกับเวทมนตร์ มันก็ก่อให้เกิดเทคโนโลยีคล้ายยุคอนาคตเช่น Hologram, AI หรือระบบสื่อสารทางไกลเป็นต้น ... เรียกได้ว่า ในเชิงเทคโนโลยี พอผสมกับเวทมนตร์ มันยังรักษาของเก่าบางอย่าง และทำให้เกิดของใหม่ที่ดูล้ำยุคในเวลาเดียวกัน


(ทหารม้า Cuirassier กรมทหาร Papenheim - ศตวรรษที่ 17 ... รูปแบบเกราะศตวรรษที่ 17 ถือว่าเป็นกรณีศึกษาในการออกแบบชุดเกราะใน ITL)

ถ้าท่านสนใจโลกนี้ ท่านสามารถอ่านต่อได้ในนี้เลยนะครับ

แสดงความคิดเห็น

>

1 ความคิดเห็น

Wild Pig 19 ก.ย. 66 เวลา 17:24 น. 1

คุณรู้ไหม ผมชื่นชมงานเขียนของคุณมาตลอด แต่ไม่เคยติดตาม เพราะบอกตรงๆผมไม่อยากอ่าน และรู้สึกว่าภาพปกดึงผมทำให้นึกภาพทุกอย่างเป็นเมะมากไปซึ่งผมไม่ชอบเป็นจริตงี่เง่าส่วนตัวที่ควรแก้ไข แต่ผมชื่นชมการบรรยายและความเพียรของคุณ จนมาวันนี้ผมตัดสินใจมองข้ามเรื่องงี่เง่านั้นและล่องลอยไปกับภาษา การบรรยายและเรื่องราวที่คุณถ่ายทอดออกมา ยอดเยี่ยมครับ แต่เพียงมีข้อติบ้าง


ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเปิดเรื่องด้วยวิธีนี้เพราะนักอ่านปัจจุบันส่สวนใหญ่เช่นผมสมาธิสั้น และมักข้ามไปเลย มีเพียงไม่กี่คนที่จะอ่านจนถึงจุดแห่งการเล่าเรื่อง


ปกรณัมโทลคีนปัจจุบันก็พบปัญหาเดียวกัน ในเรื่องของการเปิดเรื่องด้วย 'ว่าด้วยเรื่องของฮอบบิต' นักอ่านรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะข้ามไปเลย


ยังไงก็ตาม ตอนนี้ผมได้ติดตามและเสพงานบรรยายของคุณแล้ว ผมชอบทีเดียวถึงยังจะติดๆในบางจุดแต่ทำได้ดีมาก เห็นเลยว่าทำการบ้านมา และศึกษางานเขียนของใครอีกหลายคน


ถ้า lore แน่นๆผมว่าลองทำแบบลุง Gorge RR martin ที่ทำหนังสือ the world of ice and fire ก็น่าสนใจนะครับ

2
CometSighted 20 ก.ย. 66 เวลา 00:29 น. 1-1

ขอบคุณครับ

ผมเห็นด้วยกับข้อติของคุณนะ ด้วยความที่เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่เขียนจริงจังและยังไม่เคยอยู่ในแวดวงสนธนาของพวกนักเขียน ผมเลยยังไม่รู้ Step หนักเบาของจำนวนเนื้อหา (โดยเฉพาะความยาวต่อ Paragraph) หรือความยาวต่อตอน (ซึ่ง 1 ตอนใน ITL มันควรซอยได้ 3 ตอนด้วยซ้ำ) มันเลยดูหนักหน่วงไปหน่อย โดยเฉพาะบทนำซึ่งมันดูยาวไปหน่อย ... ส่วนนึงน่าจะเป็นเพราะผมได้อิทธิพล Leo Tolstoy มาเยอะนิดนึง ซึ่งมันเก่าไปด้วยซ้ำ

เดี๋ยวผมจะนำไปแก้ไขในภาคต่อครับผม https://www0.dek-d.com/assets/article/images/sticker/bb-01.png

0
Wild Pig 20 ก.ย. 66 เวลา 09:34 น. 1-2

เอาจริงๆผมว่าถ้าถามผมการที่ตอนนึงเยอะน่าจะเหมาะแล้วครับ เพราะงานเขียนของคุณเหมาะทำเป็นหนังสือเล่ม ถ้าหากเน้นการขายตอนย้อยทำเงินก็ซอยตอนอย่างที่คุณกล่าวไปนั่นแหละ แต่ถ้าหากอยากยึดนักเขียนเป็นสูญเอาแบบให้สาแก่ใจ ผมคิดว่าทำตอนยาวๆจะได้อารมณ์กว่าครับ แต่อย่ายาวไป


หายากนะครับนักเขียนออนไลน์่ที่จะรู้จักกับ ลีโอ ตอลสตอย ส่วนตัวผมเองไม่เคยอ่านงานของลุงแต่เคยอ่านผ่านๆตา ผมไม่ค่อยชอบอ่านงานยุคเก่าเพราะบางครั้งมันช้า เป็นข้อเสียผมเลย แต่ผมชื่นชมผลงานหลายๆอย่างที่มีกลิ่นอายเก่าๆ แต่ไม่ได้เก่าแบบนั้น ส่นใหญ่ผมชื่นชมเรื่องการบรรยาย ส่วนเรื่องพล็อตหรือเรื่องราวผมมองว่างานเขียนส่วนใหญ่ยังไงก็จะมีรูปแบบคล้ายๆกัน เลยไม่ได้คาดหวังเป็นทุนเดิม แต่ยังไงก็ยังน่าติดตามและน่าสนใจ หากทำให้นักอ่านตั้งคำถามได้ว่า 'มันจะจบยังไง'


ยามแผ่นดินสิ้นกษัตรย์ มีสำนวนที่ผมค่อนข้างชอบ หรือเรื่อง วันหนึ่งในชีวิตของ อีวาน เดนิโซวิช ผมว่าการบรรยายถือว่าใช้ได้เลย เป็นเอกลักษณ์มาก


BTW ผมเข้าดิสคอร์ดของคุณแล้วครับ ขอบคุณมากสำหรับผลงานเรื่องนี้ครับ

0