บุกถิ่นรอมแพง: สำรวจเอก "ประวัติศาสตร์ศิลปะ" แห่ง ม.ศิลปากร ที่ได้เดินชมงานศิลป์เป็นนิจ!

         สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าพูดถึงคณะโบราณคดีในไทย “มหาวิทยาลัยศิลปากร” ก็ยังคงเป็นแห่งเดียวที่เปิดสอนคณะนี้ค่ะ เมื่อวันก่อนเราได้พาไปขุดค้นชีวิตเด็กเอกโบราณคดี ม.ศิลปากรกันแล้ว (อ่านได้ที่นี่) วันนี้เราเลยขอพาไปสำรวจชีวิตของนักศึกษาเอกประวัติศาสตร์ศิลปะกันบ้าง ซึ่งถือเป็นการบุกถิ่น “รอมแพง” ผู้แต่งนิยายเรื่องบุพเพสันนิวาส กันถึงที่เลยค่ะ! ถ้าใครที่ติดตามละครเรื่องนี้ อาจได้สังเกตว่าสาระเกี่ยวกับศิลปะมาเต็มมาก จนหลายคนหลงใหลเสน่ห์ของช่วงเวลาในอดีตจนคิดอยากลงเรียนไปศึกษาให้ลึกด้วยตัวเองดูบ้าง ถ้าใครมีอาการแบบนี้...เชิญมาส่องดูเถิดว่าที่นี่คือเอกในฝันของออเจ้าหรือไม่!
 


         จำนวนนักศึกษา: โดยปกติรับประมาณ 40 คน

         ที่ตั้งคณะปัจจุบัน: ศูนย์สันสกฤตศึกษา (เป็นที่ทำการชั่วคราว เนื่องจากวิทยาเขตวังท่าพระกำลังปิดปรับปรุง)
 
         เอกประวัติศาสตร์ศิลปะ คือการศึกษาอดีตของมนุษย์ผ่านงานศิลปกรรม ครอบคลุมตั้งแต่ศิลปะก่อนประวัติศาสตร์จนถึงร่วมสมัย ทั้งศิลปกรรมตะวันตกและตะวันออก โดยนักศึกษาทุกคนจะได้เรียนพื้นฐานทางด้านศิลปะตะวันตกและตะวันออกก่อน เมื่อค้นพบแล้วว่าเขาสนใจศิลปะด้านไหน ก็สามารถ “เลือก” เรียนเจาะลึกตามเนื้อหาที่เราสนใจได้


เรียนให้ "กว้าง" แล้วเจาะเรื่องที่สนใจให้ "ลึก"
 

         หนึ่งในนักศึกษาเอกนี้เล่าเรื่องเนื้อหาที่เรียนตอนปี 1 ให้ฟังว่า “เขาจะปูพื้นประวัติศาสตร์ศิลปะทั้งหมดเพื่อไปใช้เรียนศิลปะที่สูงขึ้นครับ ช่วงปี 1-2 จะมี 3 วิชาที่ช่วยวางพื้นฐานให้ เราต้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะศิลปะไทยสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านด้วย ส่วนปี 2 เรียนประวัติศาสตร์ศิลปะในเอเชียตะวันออก แล้วหลักสูตรใหม่ก็มีประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกเพิ่มเข้ามาด้วย สรุปแล้วคือเรียนอย่างครอบคลุมเพื่อให้เห็นภาพกว้างๆ ก่อนจะไปเลือกเรียนเจาะลึกศิลปะที่เราสนใจครับ” 
 
         พูดง่ายๆ ว่าการเรียนให้ครอบคลุมคือ “วิชาบังคับ” ส่วนที่เราเลือกเรียนเจาะลึกตามความสนใจ คือ “วิชาเลือก” นั่นเองค่ะ ประกอบด้วย ศิลปะไทย ศิลปะโซนเอเชียใต้ (อินเดีย ศรีลังกา) ศิลปะโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (พม่า ลาว เขมร ฯลฯ) ศิลปะโซนเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) และศิลปะโซนตะวันตก (อีิยิปต์ กรีก โรมัน ไบแซนไทน์ โรมาเนสก์ โกธิค เรอเนสซองส์ บาโรก โรโกโก้ จนถึงศิลปะตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19-20)



 
         หนึ่งในอาจารย์เอกนี้เล่าให้ฟังว่า เคยมีนักศึกษาที่อยากเรียนจิตรกรรม แต่กลัวการสอบวิชาเฉพาะทาง เพราะเขาวาดรูปไม่เก่ง พอเห็นเอกนี้แล้วก็เข้าใจผิดว่าเรียนคล้ายกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วสองเอกนี้ไปกันคนละแนวเลยค่ะ ถ้าให้พูดกว้างๆ คือ จิตรกรรมเน้นภาคปฏิบัติฝึกฝนเพื่อสร้างผลงานศิลปะ ประวัติศาสตร์ศิลป์จะเน้นทฤษฎีหรือเชิงวิชาการ จะมีใช้ฝีไม้ลายมือทางศิลปะบ้างก็ตอนเรียนวิชาภาคสนาม และตอนออกสำรวจเก็บข้อมูลงานศิลปกรรมในภาคสนามค่ะ

         และเนื่องจากข้อมูลในอดีตบางเรื่องไม่มีในหนังสือใหม่ นักศึกษาจึงจำเป็นต้องค้นคว้าศึกษาเอกสารทั้งปัจจุบันและอดีต อาจเก่าไปถึงขั้นต้องนั่งอ่านจารึก หรือบางทีก็ได้อ่านหนังสือพิมพ์ปี 2400 ปลายๆ เพราะข้อมูลจะมีอยู่ในช่วงนั้นเยอะมาก 


 
         อีกความพิเศษนึงคือ เด็กเอกนี้ต้องนำความรู้ที่ได้จากในห้องเรียนมาวิเคราะห์ประเด็นปัญหาทางด้านศิลปะด้วย โดยนักศึกษาคนหนึ่งเล่าเกี่ยวกับวิชา "ศิลปวิจารณ์" ให้ฟังว่า "ผมคิดว่าวิชานี้น่าสนใจมาก ก่อนหน้านี้เราได้เรียนพื้นฐานทั้งหมดมาแล้ว พอขึ้นปี 2 ต้องเริ่มใช้ความคิดเพื่อไปวิจารณ์ศิลปะเหล่านั้น เพื่อให้รู้วิธีการทำงาน รู้ว่าหลักฐานนั้นได้มายังไง ตีความหลักฐานนั้นยังไง เหมือนได้ก้าวเข้าไปอีกขั้น เปลี่ยนวิธีคิดจากเด็กที่จำไปสอบอย่างเดียว มาเป็นเด็กที่เริ่มต้องคิดมากขึ้น แล้วที่สำคัญคือเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แต่ต้องสมเหตุสมผลนะ เราต้องแจกแจงให้ได้ว่าทำไมถึงคิดแบบนั้น”



 

ภารกิจออกฟิลด์ ในเวอร์ชัน "เดินเที่ยวชมงานศิลป์"
 

         สบายใจได้เลยค่ะว่าเด็กเอกนี้จะไม่ได้แค่นั่งจดทฤษฎี นั่งมองภาพในชีทเรียน แล้วนั่งจินตนาการภาพในหัวอย่างเดียว เพราะประวัติศาสตร์ศิลป์คือหนึ่งในเอกที่ได้ออกฟิลด์บ่อยมากกก พวกเขาจะได้ลงพื้นที่ในลักษณะ “ฟิลด์ย่อย” ตามรายวิชา เช่น ศิลปะอยุธยา ศิลปะทวารวดี ฯลฯ
 
         การออกฟิลด์แต่ละครั้งจะใช้เวลาสั้นๆ บางครั้งไปเช้าเย็นกลับ 2-3 วัน หรือนานสุดก็สัก 1 สัปดาห์ ถือเป็นโอกาสทำความเข้าใจกับงานศิลปกรรมที่เราอาจได้ดูในห้องเรียนอย่างแท้จริง รวมถึงอาจทำให้เกิดประเด็นปัญหาใหม่ๆเพื่อค้นหาคำตอบ โดยอาจารย์จะคอยแนะนำเราทั้งในเรื่องการเก็บข้อมูลศิลปกรรม รวมถึงการเก็บข้อมูลสัมภาษณ์ผู้คนในชุมชนที่พบงานศิลปกรรมนั้นด้วย

Photo Credit: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร


Photo Credit: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
 
         ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ เรียนเอกนี้ต้องมีเวลาให้! เพราะมีนักศึกษาเล่าให้ฟังว่า มีเดือนนึงที่เขาไม่ได้หยุดพักเสาร์-อาทิตย์เลย เพราะติดลงพื้นที่รัวๆ (ลงพื้นที่กันในวันหยุด) แต่เขาก็เล่าว่าการลงพื้นที่่ช่วยให้เข้าใจจากทฤษฎีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคทฤษฎีหรือภาคปฏิบัติก็สำคัญเท่าๆ กัน
 
         พวกเขายังเล่าให้ฟังอีกว่า “ปกติเราจะมีเชิญวิทยากรมาตามความเหมาะสมครับ แต่อย่างเอกของเราเนี่ย ข้อดีคือมีการเรียนศิลปะร่วมสมัย เราจะได้ไปออกภาคสนามตามแกลเลอรี่ หอศิลป์ ฯลฯ พอไปถึงจะได้เจอศิลปินผู้รู้ในสาขาอื่นๆ ด้


Photo Credit: ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

คำถามยอดฮิต...เรียนจบเอกนี้แล้วไปทำอะไรได้?
 

         เมื่อเรียนจบเอกนี้แล้ว สามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้หลากหลาย ทั้งนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ภัณฑารักษ์ มัคคุเทศก์ นักจัดการวัฒนธรรม หรือจะเป็นนักเขียนแบบ “รอมแพง” ก็ได้ 

         นอกจากนี้เอกประวัติศาสตร์ศิลปะยังสอนให้ทำเป็นทุกอย่างและปรับตัวได้กับทุกสภาวะ นักศึกษาที่จบไปจึงทำงานอย่างอื่นได้ด้วย เช่น ครู-อาจารย์ แอร์โฮสเตส นักเดินเรือ โบรกเกอร์ ฯลฯ แล้วแต่ความถนัดของคนๆ นั้น เพราะอย่าลืมนะคะว่าบรรยากาศการเรียนในคณะนี้บังคับให้เราได้ฝึกพูดฝึกแสดงทัศนะอยู่เสมอ ทักษะการสื่อสารจะทำให้โอกาสเรื่องหน้าที่การงานขยายไปอีกไกลเลยทีเดียวค่ะ ^^


         ถ้าใครลุ่มหลงมนต์เสน่ห์ของศิลปะจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นซีกตะวันออกหรือตะวันตก น้องๆ อาจปักหมุดภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ไว้ในใจก็ได้นะคะ พี่เชื่อว่าหากน้องๆ ได้เรียนแล้ว จะสามารถเสพงานศิลป์ได้อินขึ้น เวลาที่ได้มองงานศิลปะชิ้นใดก็ตาม สายตาอาจไม่ได้โฟกัสแค่ความสวยงามอีกต่อไป แต่จะได้รู้สึกราวกับมันมีชีวิต มีเรื่องราวและแนวคิดของผู้สร้างอยู่ในนั้นด้วย พี่คิดว่ามันดีต่อใจมากเลยล่ะ!
สายสืบเด็กดี

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

ศรินยา ปาทา 13 เม.ย. 61 18:14 น. 1

ภัณฑารักษ์ กับ คิวเรเตอร์ ก็ความหมายเดียวกันนะคะ ไม่จำเป็นต้องคิวเรเตอร์(แกลอรี่) ก็ภัณฑารักษ์เหมือนกัน เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ต่างกันในเนื้อหางานในสถานที่ อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ส่วนในแกลอรี่ อาจะมีทั้งภาพเขียนเก่า หรือร่วมสมัย

0
กำลังโหลด
ศรินยา ปาทา 13 เม.ย. 61 18:18 น. 2

หัวเรื่อง คุณพูดถึง "เอกประวัติศาสตร์ศิลปะ" คณะโบราณคดี แต่พอย่อหน้ารองสุดท้าย กลับเป็นกล่าวถึง "เอกโบราณคดี" ข้อความนี้น่ะค่ะ "....นอกจากนี้เอกโบราณยังสอนให้ทำเป็นทุกอย่างและปรับตัวได้กับทุกสภาวะ นักศึกษาที่จบไปจึงทำงานอย่างอื่นได้ด้วย เช่น ครู-อาจารย์ แอร์โฮสเตส นักเดินเรือ โบรกเกอร์ ฯลฯ แล้วแต่ความถนัดของคนๆ นั้น เพราะอย่าลืมนะคะว่าบรรยากาศการเรียนในคณะนี้บังคับให้เราได้ฝึกพูดฝึกแสดงทัศนะอยู่เสมอ ทักษะการสื่อสารจะทำให้โอกาสเรื่องหน้าที่การงานขยายไปอีกไกลเลยทีเดียวค่ะ ^^....." คือ มันไม่ตรงกับหัวเรื่อง อยากให้ตรวจสอบก่อนโพส เพราะเพจของคุณมีคนรับชม อ่าน และให้ความสนใจมากมาย อยากให้ตรวจสอบให้ถูกต้อง คนอ่านจะได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชมเพจนี้มากค่ะ ถือเป็นคำแนะนำนะคะ ^^


0
กำลังโหลด
กำลังโหลด