สวัสดีค่ะ ถ้าพูดถึงวิชาที่เด็กมัธยมฯ เทใจให้สุดๆ หนึ่งในนั้นต้องมี แนะแนว ติดอยู่ในโผแน่นอน ถ้าพี่เมก้านึกถึงคาบแนะแนวในความทรงจำ ภาพห้องแอร์ฉ่ำๆ มีแบบทดสอบสนุกๆ ให้เล่น หรือบางครั้งครูแนะแนวก็เชิญเกสต์น่ารักๆ มาแนะแนวการเรียนต่อให้เด็กๆ ฟังก็วาบขึ้นมาในหัว Dek-D’s TCAS School Tour หรือรุ่นพี่เมก้ายังเป็นเด็กดีแอดมิชชั่นออนทัวร์ ก็เคยมาที่โรงเรียนพี่นะคะ หอบทั้งความสนุก ประสบการณ์เตรียมสอบ และแรงบันดาลใจดีๆ กลับบ้านไปมากมาย แนะแนวยังมีอะไรให้ค้นหาอีกเยอะ ตามไปดูสิทธิพิเศษที่ได้รับจากวิชานี้กันค่ะ


 
เข็มทิศชี้ตัวตน...ฉันคือใคร?
          ไม่ใช่ว่าทุกคนจะรู้จักตัวเองดีนะคะ บางคนให้เขียนนิสัย จุดแข็ง จุดอ่อนของตัวเองยังนึกนานเลย ต้องให้เพื่อนช่วยบอก งงไหม? ตัวเราเองแท้ๆ ยังให้คนอื่นมาบอกอีกที แต่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นค่ะ พูดถึงความสนุกในคาบแนะแนว วิชานี้เหมือนเป็นกระจกวิเศษที่ส่องตัวตนของเราเลยล่ะค่ะ ครูมักจะมีเกมมาให้เล่น เช่น

          ออกมาแนะนำตัวเองให้เพื่อนรู้จัก พร้อมบอกสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จใน 3 หรือ 6 ปีข้างหน้า ใครยังไม่เคยคุยกับตัวเองก็ต้องเริ่มคิดละ เราคือใครน้า? วางเป้าหมายระยะสั้น - ระยะยาวไว้ยังไง
          เขียนข้อดี - ข้อเสียของเพื่อนแต่ละคน แล้วนำไปใส่ที่ซองจดหมายประจำตัวของคนคนนั้น เราและเพื่อนก็จะได้รู้จักตัวเองแล้วว่าในสายตาเพื่อนเราเป็นคนแบบไหน? จริงอย่างงั้นไหม?
          ทำแบบทดสอบจิตวิทยา แบบทดสอบค้นหาตัวเองแบ่งทั้ง ม.ต้น ม.ปลาย ว่าเรามีความสามารถ ความถนัดทางด้านไหน แบบประเมินความฉลาดทางอารมณ์และสติปัญญา ฯลฯ
 

บุคลิกดี ใครๆ ก็เอ็นดู
          นอกจากวิชาแนะแนวจะช่วยเราค้นหาตัวตนแล้ว ยังมีบทเรียนที่สอนให้เราเติบโตมาเป็นวัยรุ่นที่มีคุณภาพด้วย โดยเฉพาะเรื่องของทฤษฎีพัฒนาบุคลิกภาพ การจัดการอารมณ์และความคิด การสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อน ฯลฯ แล้วก็ไม่ได้อยู่ในรูปแบบบรรยายปากเปล่า มีให้ลงมือทำแบบทดสอบบุคลิกภาพ จำลองสถานการณ์สมมติ ดูวิธีปรับตัวและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของน้องๆ ด้วย รับประกันว่านำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน

ครีเอตแผนการเรียนในอนาคต
          ตอน ม.ต้น วิชาแนะแนวสอนให้เราค้นหาความชอบ ประเมินความถนัดทางการเรียนด้านต่างๆ เพื่อจะได้เลือกแผนการเรียน ม.ปลาย ได้ตรงกับความต้องการ และความสามารถ บาง รร. อาจารย์จะเริ่มให้เด็กๆ วาดภาพกว้างๆ ก่อน เช่น มหาวิทยาลัยอยากเข้าคณะอะไร โตขึ้นอยากทำงานด้านอะไร ถ้าใจรักด้านนี้เราเหมาะกับแผนการเรียนไหน ถ้าวางแผนเร็ว มาถูกทาง สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์กับเราในอนาคตค่ะ
          ส่วน ม.ปลาย โดยเฉพาะพี่ ม.6 ที่เริ่มเข้าสู่สังเวียนสนามสอบเข้ามหา'ลัยแล้ว ถ้าใครยังสองจิตสองใจ เลือกคณะไม่ได้ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วิชาแนะแนวจะช่วยเราได้มากในเรื่องของการตัดสินใจเลือกแนวทางการศึกษาต่อ ทั้งการเคาะคณะที่ใช่ มหา'ลัยที่ชอบ เทคนิคเตรียมสอบ ตลอดจนการคำนวณคะแนนต่างๆ แนะแนวมีบริการติดตามและประเมินผลเด็กๆ ด้วยนะคะ ว่าหลังจากสอบติดจนเข้าเรียนมหา'ลัยแล้ว นักเรียนของเรามีความสุขกับทางที่เลือกหรือเปล่า 

นำทางส่องอาชีพในฝัน
          นอกจากจะช่วยวางแผนการเรียนแล้ว ในคาบแนะแนวครูมักจะชวนเรามาตามติดชีวิตการทำงานของอาชีพต่างๆ ค่ะ เจาะลึกเบื้องหลังแล้วนำมาเปรียบเทียบกันเลย “สิ่งที่คิด VS สิ่งที่ได้” บางคนปิดสวิตซ์ใส่อาชีพในฝันไปเลยค่ะ ฮ่าๆๆ มันพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ แต่บางคนยิ่งรู้จักยิ่งรักเธอก็มี แนะแนวทำให้เราได้เห็นความสำคัญ และความพิเศษของอาชีพต่างๆ ที่มีคุณค่าไม่แพ้กัน หรือบางทีถ้าเรายังนึกภาพไม่ออก แบบสอบถามความสนใจในอาชีพก็อาจจะช่วยให้คำตอบเราได้ค่ะ
          

ที่ปรึกษา Everything          
          ครูแนะแนวหลายๆ ท่านจบสาขาจิตวิทยาการปรึกษาและแนะแนวโดยตรงนะคะ รู้วิธีปฏิบัติตนและดูแลเด็กวัยเรียนเป็นอย่างดี ไม่ว่าน้องๆ จะมีคำถามหรือมีปัญหา 108 อะไร “ทะเลาะกับเพื่อน อยากสวยก่อนเข้ามหา’ลัย ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม เลือกคณะไม่ถูกเพราะอยากเรียนเยอะเกิน สอบตกตลอด กลัวตัวเองซึมเศร้า ฯลฯ” เชื่อเถอะว่าครูแนะแนวมีทางออก และพร้อมมอบคำตอบที่ดีให้เสมอ ขอแค่เด็กๆ กล้าพูด กล้าเดินเข้ามาปรึกษาเถอะ ไม่ต้องกลัวว่าความลับจะหลุดลอด มีแค่เราและครูแนะแนวเท่านั้นที่รู้ค่ะ  


เรื่องของนักเรียน...คือเรื่องของครู
          ไม่ใช่ว่าจะเป็นเพื่อนคู่คิดให้เด็กๆ ที่เดินเข้ามาปรึกษาปัญหาอย่างเดียว กระบวนการในการดูแลนักเรียนแต่ละคนทีมแนะแนวก็เตรียมพร้อมเสมอนะคะ อย่างน้อยๆ ฐานข้อมูลประวัตินักเรียน สภาพความเป็นอยู่ทางบ้าน ข้อมูลบุคคลที่เกี่ยวข้อง พฤติกรรมและอารมณ์ของนักเรียน รวมถึงความสนใจด้านต่างๆ ก็ต้องมีระบุไว้ชัดเจน เพื่อนำไปใช้ยามเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ ในวันข้างหน้า ดังนั้น เราอย่าปกปิดข้อมูลส่วนตัวอะไรค่ะ ทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ต่อตัวเราเองทั้งนั้น
          ครูแนะแนวบางโรงเรียนก็คอยประสานงานระหว่างโรงเรียน โรงพยาบาล และศูนย์อนามัยชุมชนด้วยนะคะ หากน้องๆ มีปัญหาทางการเรียน การเข้าสังคม หรือได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอะไร ทางครูแนะแนวก็สามารถดำเนินเรื่องไปทางหน่วยงานนั้นๆ เพื่อรับนักเรียนไปดูแลต่อด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพขึ้นด้วยค่ะ

แจ้งเกิดตามไอดอลรุ่นพี่!
          คิดดูว่าเด็กแต่ละรุ่นที่จบไปมีเท่าไหร่ รุ่นพี่ที่โรงเรียนเราหลายๆ คน ก็ไปได้ดีในการเรียนและการทำงานของตนทั้งนั้น บางคนจบแล้วก็ไม่ได้หนีหายไปจากโรงเรียนนะคะ ยังแวะเวียนมาหาน้องๆ มาคุยกับคุณครูอยู่เสมอๆ วิชาแนะแนวก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เปิดโอกาสให้พี่ๆ ได้มาแบ่งปันประสบการณ์การเรียนและการทำงานของตนให้น้องๆ ฟังค่ะ หลายคนพอฟังเรื่องสนุกๆ จากรุ่นพี่แล้วก็จุดประกาย อยากเรียนแบบนี้บ้าง อยากทำงานแบบพี่เขาจังเลย ไม่ต้องนั่งมโนเองแล้วว่าคณะนี้เรียนยากจริงไหม? จบไปหางานยากยิ่งกว่าจริงเหรอ? ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าเหนื่อยรึเปล่า? พี่จะเล่าให้น้องๆ เห็นภาพเอง  

PR แจ้งข่าวสำคัญให้นักเรียน
          ถ้าโดดคาบแนะแนวไปครั้งหนึ่งแล้วไม่ถามเพื่อนว่าวันนั้นเรียนอะไร น้องๆ อาจจะพลาดข่าวเด็ดไปเลยก็ได้ ส่วนใหญ่ครูมักจะมีข่าวทุนการศึกษา ค่าย เปิดบ้าน ทัศนศึกษา หรือการแข่งขันต่างๆ มาฝาก ถ้าเป็นเด็ก ม.6 ก็คงไม่พลาดข่าวการสมัครสอบกลาง ข่าว TCAS รอบต่างๆ แม้กระทั่งย้ำให้ไปสอบนะลูก อย่าขาดสอบ! เราจะได้ไม่พลาดช่วงเวลาสำคัญของชีวิตค่ะ อีกอย่างบอร์ดห้องแนะแนวหลายๆ โรงเรียน เป็นอะไรที่สุดยอดมาก! ถ้าเป็นไปได้พยายามอ่านทุกแผ่น โรงเรียนพี่เมก้าครูชอบเอาระเบียบการโควตา - รับตรงต่างๆ มาปักหมุดหนาเป็นปึกๆ เลยค่ะ ถ้าเจอคณะที่เราเล็งไว้ ก็กระโดดเข้าใส่เลย!  

นักเรียนลงสนาม...ครูลงด้วย!
          ไม่ใช่แค่คุณครูพารุ่นพี่มาพูดคุยกันในคาบแนะแนว หรือเชิญเกสต์พิเศษอย่างกิจกรรม Dek-D’s TCAS School Tour มาบรรยายแนะแนวการศึกษาต่อเท่านั้นนะคะ เวลามี Open House มีการแข่งขัน หรือไปทัศนศึกษาดูงานนอกโรงเรียนต่างๆ ส่วนใหญ่ครูแนะแนวก็จะคอยเป็นไกด์นำทางให้กับเด็กๆ ตลอด ทำให้เรากลายเป็นเด็กมีผลงาน ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ และรู้ว่าตัวเองมีความชอบ ความสนใจในด้านไหน เรียกว่าทุกครั้งที่ออกไปดูงานข้างนอก โลกทัศน์ก็กว้างขึ้นด้วยค่ะ ดังนั้น ครูชวนไปไหน ห้ามปฏิเสธ แล้วก็เกาะกลุ่มกันไว้ให้อุ่นใจเล้ย!

          ไม่รู้ว่าสิทธิพิเศษเหล่านี้น้องๆ ใช้กันคุ้มรึยัง บางคนแอบกระซิบว่าแค่เข้าไปนอนกับแอบลอกการบ้านเพื่อนก็คุ้มเกินคุ้มแล้วค่า หืม? เอาเป็นว่าขอให้น้องๆ เปิดใจกว้างๆ ให้กับวิชาแนะแนว แล้วก็นำสิ่งต่างๆ ที่เรียนมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเองได้มากที่สุดละกันนะคะ :)
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

์Noomkung 22 มี.ค. 63 12:04 น. 1

เหตุผลสำคัญที่วิชาแนะแนวในบ้านเราล้มเหลวไม่มีประสิทธิภาพและเพิ่มเวลาคาบเรียนจนทำให้เด็กไทยมีเวลาเรียนเยอะกว่าเขาแต่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะแยกวิชาแนะแนวมาเข้าคลาสอาทิตย์ละครั้งนี่แหละครับ เพราะครูแนะแนว1คนกับเด็กทุกคลาสเรียนดูแลยังไงก็ไม่ทั่วถึง ความสัมพันธ์ยังไม่มากพอที่จะดูแลปัญหาได้หมด แถมบางรายยังต้องทำทั้งงานสอน งานวิชาการ เผลอๆต้องทำธุรการไปด้วยอีก จริงๆแล้วคาบโฮมรูมกับวิชาแนะแนวควรผนวกเข้าด้วยกัน ครูประจำชั้นเจอเด็กบ่อยกว่า สามารถสังเกตปัญหาของเด็กได้ง่ายกว่า เข้าไปแก้ปัญหาเด็กเชิงลึกได้ง่ายกว่า ส่วนการแนะแนววิชาการก็ให้ครูหัวหน้าแนะแนวคอยกระจายการสื่อสารแนะแนววิชาการให้ครูประจำชั้นเป็นระยะตามกำหนดการณ์ตรารางการศึกษาจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

1
กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

์Noomkung 22 มี.ค. 63 12:04 น. 1

เหตุผลสำคัญที่วิชาแนะแนวในบ้านเราล้มเหลวไม่มีประสิทธิภาพและเพิ่มเวลาคาบเรียนจนทำให้เด็กไทยมีเวลาเรียนเยอะกว่าเขาแต่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะแยกวิชาแนะแนวมาเข้าคลาสอาทิตย์ละครั้งนี่แหละครับ เพราะครูแนะแนว1คนกับเด็กทุกคลาสเรียนดูแลยังไงก็ไม่ทั่วถึง ความสัมพันธ์ยังไม่มากพอที่จะดูแลปัญหาได้หมด แถมบางรายยังต้องทำทั้งงานสอน งานวิชาการ เผลอๆต้องทำธุรการไปด้วยอีก จริงๆแล้วคาบโฮมรูมกับวิชาแนะแนวควรผนวกเข้าด้วยกัน ครูประจำชั้นเจอเด็กบ่อยกว่า สามารถสังเกตปัญหาของเด็กได้ง่ายกว่า เข้าไปแก้ปัญหาเด็กเชิงลึกได้ง่ายกว่า ส่วนการแนะแนววิชาการก็ให้ครูหัวหน้าแนะแนวคอยกระจายการสื่อสารแนะแนววิชาการให้ครูประจำชั้นเป็นระยะตามกำหนดการณ์ตรารางการศึกษาจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

1
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด