สวนสาธารณะ

ความเป็นมาของสวนสาธารณะ


       สวนสาธารณะในความหมายปัจจุบันเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกในประเทศอังกฤษในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมระหว่างกลางสมัยกรุงธนบุรีถึงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ การพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้แรงงานมากมายจากชนบทอพยพมาทำงานและอยู่ในเมืองกันอย่างแออัดในบริเวณ “สลัม” ที่ขาดสุขลักษณะ กรรมกรเหล่านี้จึงบุกรุกไปใช้ที่ว่างเปล่าเพื่อพักผ่อนและเล่นกีฬาและบางครั้งลุกล้ำเข้าไปใช้ “อุทยานหรือ Park” ส่วนตัวของขุนนางและกษัตริย์จนถูกลงโทษอยู่เนืองๆ จนลุกลามเป็นจลาจลรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเกิดการเรียกร้องที่กลายเป็น “ขบวนการอุทยานเพื่อประชาชน” (People’s Parks Movement) ที่เริ่มจากการยอมให้ประชาชนเข้าไปใช้อุทยานอย่างมีเงื่อนไข ไปจนถึงช่วงที่มีการบุกพังรั้วเข้าไปใช้อุทยานไฮด์หรือไฮด์ปาร์ก (Hyde Park) เพื่อทำกิจกรรมการพักผ่อนตามความพอใจ

       ตั้งแต่นั้นมา อุทยานต่างๆ ที่ยอมเปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้จะถูกเรียกว่า “อุทยานประชาชน” People’s parks เพื่อให้แตกต่างอุทยานของขุนนางและกษัตริย์และได้กลายเป็น อุทยานหรือสวนสาธารณะ (public parks) ในปัจจุบัน

       สวนสาธารณะเบอร์เก็นเฮด (Birkenhead Park) ใกล้เมืองลิเวอร์พูลในในประเทศอังกฤษถือเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของโลกที่สร้างด้วยเงินภาษีของประชาชน เปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. 2390 จากนั้นมา แนวคิดการจัดทำสวนสาธารณะได้แพร่หลายไปตามเมืองใหญ๋ๆ ทั่วโลก รวมทั้ง “เซ็นทรัลปาร์ก” ในนครนิวยอร์ก (ออกแบบโดยเฟรเดริก ลอว์ ออล์มสเตด พ.ศ. 2401 ใช้เวลาสร้างมากกว่า 10 ปี) ปัจจุบัน สวนสาธารณะได้กลายเป็นมาตรฐานในการวางแผนและพัฒนาเมือง

สวนสาธารณะในประเทศไทย


       ประเทศไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมมาแต่โบราณ แม้ในเมืองก็ยังมีที่โล่งว่างไม่แออัดมาก จึงไม่มีความต้องการสวนสาธารณะดังความหมายปัจจุบัน อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานที่ดิน 360 ไร่ ณ ทุ่งศาลาแดงสำหรับสร้างสยามรัฐพิพิธภัณฑ์และจัดให้เป็น “วนสาธารณะ” ให้ประชาชนใช้พักผ่อนอย่างต่างประเทศ จึงถือกันว่าสวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย แม้ก่อนหน้านั้นจะมีการสร้างอุทยานหรือสวนหลายแห่งมาก่อน เช่น สวนดุสิต สวนสุนันทาหรืออุทยานสราญรมย์เป็นต้น แต่ไม่ถือเป็นสวนสาธารณะ สมัยรัชกาลที่ 7-8 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและมีสงครามโลกครั้งที่สองจึงไม่มีการสร้างสวนสาธารณะหรืออุทยานเกิดขึ้นอีก

       สวนลุมพินีก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 7 ดูแลโดยกรมนคราทร (กรมโยธาธิการและผังเมืองปัจจุบัน) ต่อมาได้โอนให้เทศบาลนครกรุงเทพฯ ในสมัยนั้น การใช้สวนลุมพินีในช่วงแรกๆ มีการใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์กันมาก เช่น ใช้เป็นที่จัดงานต่างๆ รวมทั้งใช้เป็นที่สร้างโรงไฟฟ้า โรงเรียน ทั้งไทยและจีน ให้เช่าทำภัตตาคารทั้งบนบกและในน้ำ ผู้ใช้ที่ใช้สวนเพื่อพักผ่อนออกกำลังกายจริงๆ จังๆ มักเป็นชาวต่างประเทศ คนไทยจำนวนน้อยที่ใช้ มักเป็นคนยากจนใช้เป็นที่พักผ่อนและหารายได้จากการขายของ ส่วนคนไทยมีอันจะกินมักเข้าไปใช้ภัตตาคาร การใช้ในทางที่ผิดทำให้สวนลุมพินีทรุดโทรม ไม่ปลอดภัย ไม่เหมาะกับการเป็นสวนสาธารณะตามความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

       ประมาณปี พ.ศ. 2514 เทศบาลนครหลวงได้ตั้งกรรมการปรับปรุงสวนลุมพินีขึ้น เนื่องจากการมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนและองค์กรเอกชน ต่อมา เทศบาลฯ จึงเริ่มให้ความสำคัญในการจัดเพิ่มสวนสาธารณะ เช่น การปรับปรุงสถานเพาะชำฝั่งธนบุรีให้เป็นสวนธนบุรีรมย์ ปรับปรุงอุทยานสราญรมย์ที่ถูกใช้เป็นที่ทำการของคณะราษฎร์และที่จัดงานวชิราวุธ รวมทั้งสวนสาธารณะพระนครที่ลาดกระบังเดิมที่มีสภาพทรุดโทรมให้มีสภาพใช้งานได้ แต่งานส่วนใหญ่เน้นการสร้างอย่าง “สวนหย่อม” ซึ่งไม่ถือเป็นสวนสาธารณะ สำหรับในต่างจังหวัด เทศบาลต่างๆ เริ่มตื่นตัวสร้างสวนสาธารณะมากขึ้น เช่น การปรับปรุงพรุบาโกยจังหวัดยะลาและการสร้างและปรับปรุงที่ว่างให้เป็นสวนสาธารณะในจังหวัดอื่นๆ หลายแห่ง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการสร้างสวนสาธารณะเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศ


:: ( S O U R C E : สารานุกรมเสรี วิกิพีเดีย )* ::

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด