'Toxic Positivity' คิดบวกเกินไปอาจกลายเป็นลบ

'Toxic Positivity' คิดบวกเกินไปอาจกลายเป็นลบ

 

พี่ลีน่าเชื่อว่าในวันแย่ ๆ หรือช่วงเวลาที่เราประสบปัญหาในชีวิต หลายๆ คนต้องเคยได้ยินวลี “คิดบวกเข้าไว้” หรือ “มองโลกในแง่ดีเข้าไว้” ไม่ว่าจะจากคนรอบข้างที่หวังดี หรือจากตัวเราที่บอกกับตัวเอง  ถึงแม้ว่าประโยคเหล่านี้จะมีความหมายที่ดี ช่วยให้เรารู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น และช่วยลดความตึงเครียดลงได้ แต่การคิดบวกมาเกินไป อาจนำไปสู่ 'Toxic Positivity' หรือ ภาวะคิดบวกเป็นพิษ 

'Toxic Positivity' หรือ 'ภาวะคิดบวกเป็นพิษ' อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือการที่เราเชื่อว่า ไม่ว่าตนเองจะกำลังเผชิญสถานการณ์ที่แย่หรือยากลำบากแค่ไหนก็ตาม เราต้องมองหาแต่ด้านดี ๆ ของสิ่งนั้น และมองโลกในแง่บวกเข้าไว้ วิธีคิดแบบนี้เป็นการให้ค่ากับอารมณ์เชิงบวก แต่ปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์เชิงลบ โดยการพยายาม 'ซ่อน' อารมณ์และความรู้สึก เช่น อารมณ์โกรธ เศร้า เสียใจ หรือผิดหวัง  เรียกว่าเป็นการฝืนตัวเองให้คิดบวก จนทำลายทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตนั่นเอง

6 สัญญาณเตือนว่าเราอาจจะกำลังตกอยู่ในภาวะ 'Toxic Positivity' ได้แก่

  • ซ่อนอารมณ์ ความรู้สึก หรือความเจ็บปวดไว้กับตัวเอง
  • รู้สึกผิดที่จะโกรธ เสียใจ หรือผิดหวัง และไม่พอใจเวลาคนอื่นแสดงความรู้สึกด้านลบออกมา
  • เลือกที่จะ “ทน ๆ ไปก่อน” เวลาเจอสถานการณ์ที่น่าอึดอัดหรือไม่สบายใจ
  • เสพติดคำคมหรือโควทที่สอนให้คิดบวก
  • เลือกที่จะหนีปัญหาแทนที่จะเผชิญหน้า
  • หากต้องเป็นคนให้คำปรึกษา ก็มักจะลดทอนความรู้สึกของคนอื่น ด้วยคำพูดในทำนองว่า “ลองมองด้านดี ๆ ดูสิ มันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้นนะ” “หยุดคิดลบได้แล้ว มีความสุขเข้าไว้” “ยังมีคนที่แย่กว่านี้อีกนะ” โดยไม่สนใจว่าปัญหาที่คน ๆ นั้นกำลังเผชิญหนักหนามากน้อยแค่ไหน
Freepik
Freepik

แล้วแบบนี้เราจะรับมือกับ 'Toxic Positivity' ยังไงดีล่ะ?

1.หมั่นพูดคุยกับตัวเอง 

ถามตัวเองว่ากำลังรู้สึกอะไร โดยซื่อสัตย์และยอมรับทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกด้านบวกหรือด้านลบ 

2.ไม่ไหวอย่าฝืน 

หากเรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือเจอประสบการณ์แย่ ๆ มันเป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกเครียด เสียใจ วิตกกังวล โกรธ หรือกลัว เราไม่จำเป็นต้องฝืนร่าเริงหรือปิดกั้นอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง

3.ทำความเข้าใจว่าคนเราสามารถรู้สึกหลาย ๆ อย่างพร้อมกันได้ 

ในบางสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงที่เรากำลังสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราอาจจะเกิดความรู้สึกกังวล กลัว และในขณะเดียวกันก็รู้สึกมีหวังกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ไปพร้อม ๆ กันได้ ความรู้สึกของมนุษย์มีความซับซ้อน เราไม่จำเป็นต้องโอบรับเพียงความรู้สึกใดความรู้สึกหนึ่ง และปัดความรู้สึกอื่น ๆ ทิ้ง 

4.ระบายความรู้สึกผ่านคำพูดหรือตัวอักษร 

งานวิจัยพบว่า การระบายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดหรือตัวอักษร สามารถช่วยลดความรุนแรงของอารมณ์ด้านลบได้ เช่น อารมณ์โกรธ หงุดหงิด หรือเสียใจ โดยเราสามารถพูดคุยกับใครสักคนที่พร้อมรับฟัง คนที่เรารู้สึกสบายใจที่จะเล่า หรือจะเลือกเขียนระบายลงในไดอารี่ก็ได้เช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องสนใจรูปประโยค ไวยยากรณ์ หรือระดับภาษา แต่ให้เขียนสิ่งที่เรารู้สึกจริง ๆ ลงไป ให้ไดอารี่เป็นเหมือนพื้นที่ส่วนตัว ที่ปราศจากการตัดสินจากคนภายนอกหรือจากตัวเราเอง วิธีเหล่านี้จะช่วยให้เราได้ปลดปล่อย และพะวงกับเรื่องนั้น ๆ น้อยลง 

ถ้าต้องเป็นคนให้คำปรึกษาหรือให้คำแนะนำผู้อื่นล่ะ?

ใครที่เจอสถานการณ์ที่ต้องรับบทเป็นผู้ให้คำปรึกษาหรือให้คำแนะนำผู้อื่น สิ่งที่ควรตระหนักและระวังให้มากขึ้นคือการเลือกใช้คำพูด เพราะในบางครั้งความหวังดีของเราที่อยากให้เขาโฟกัสแต่ด้านบวก ไม่จมอยู่กับปัญหาและมีความสุขกับชีวิต อาจกลายเป็นการหยิบยื่น 'Toxic Positivity' ให้กับผู้อื่น 

ตัวอย่างประโยคที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น 

“มองโลกในแง่ดีหน่อยสิ มันไม่ได้แย่ขนาดนั้นสักหน่อย”

“อย่าคิดมากเลย ทุกคนก็เคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว”

“เอาน่า อย่างน้อย…”

“คิดบวกเข้าไว้”

“เดี๋ยวทุกอย่างมันก็ดีขึ้นเอง”

ท้ายที่สุดแล้ว การช่วยเหลือและการให้กำลังใจที่ดี คือการที่เรารับฟังคู่สนทนาอย่างตั้งใจ เป็นผู้ฟังที่ดีและไม่ตัดสินคนอื่น เราควรแสดงความเข้าอกเข้าใจ ช่วยยืนยันว่าความรู้สึกด้านลบที่คน ๆ หนึ่งกำลังเผชิญเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องผิดหรือเลวร้ายแต่อย่างใด เพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงความรู้เหล่านั้นออกมา แทนที่จะซ่อนมันไว้และฉาบด้วยรอยยิ้มหรือพลังบวกที่ฝืนสร้างขึ้น

 

พี่ลีน่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น