เจาะลึก! เรียน "เอกอังกฤษ" ต้องเทพอังกฤษระดับไหน และเขาเรียนอะไรกันบ้าง?

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com วันนี้ พี่พิซซ่า จะมาดูสาขาการเรียนที่เป็นสาขาในฝันของคนสนใจภาษาอังกฤษ อย่างเอกภาษาอังกฤษหรือเอกอิ๊งค์ (Eng) ที่เรียกกันโดยทั่วไปนั่นเอง หลายคนคิดว่าจะเข้าเอกอังกฤษได้คือต้องเป็นเทพภาษาอังกฤษที่พูดอังกฤษได้ประหนึ่งภาษาแม่ หรือต้องเคยไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศมาตอนมัธยม หรือไม่ก็จบนานาชาติเท่านั้นถึงจะเข้าได้ มาทำความรู้จักสาขานี้ให้ลึกซึ้งกันดีกว่าค่ะว่ามันเหมือนที่เขาว่ากันว่ามาจริงมั้ย



 
หมายเหตุ: บทความนี้จะเน้นไปที่เอกภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหลัก
เพราะผู้เขียนบทความจบมาโดยตรง เอกอังกฤษของมหาวิทยาลัยอื่นอาจมีหลักสูตรที่แตกต่างออกไป


ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการเรียนเอกภาษาอังกฤษ

1. เป็นหลักสูตรนานาชาติที่เรียนทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษ X

     จริงๆ แล้วเอกภาษาอังกฤษเป็นหลักสูตรภาคปกติไม่ใช่หลักสูตรนานาชาติค่ะ เรายังต้องเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไปเหมือนเอกอื่นๆ ตัวอย่างวิชาพื้นฐานคณะอักษรศาสตร์ก็เช่น วรรณคดีไทย, การเขียนภาษาไทยเพื่อวิชาชีพ, อารยธรรมตะวันออก, อารยธรรมตะวันตก, ปรัชญาทั่วไป, ปริทัศน์ศิลปการละคร หรือภาษาทัศนา ซึ่งวิชาเหล่านี้เรียนเป็นภาษาไทยค่ะ แต่พอขึ้นปี 2 ที่เลือกเอกกันแล้ว เอกอังกฤษก็จะเรียนวิชาของเอกเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดไม่ว่าอาจารย์จะเป็นอาจารย์ชาวไทยหรือชาวต่างชาติก็ตาม เวลาสอนอาจารย์จะแทบไม่พูดภาษาไทยเลย ยกเว้นก็วิชาการแปลที่จะใช้ภาษาไทยเยอะเป็นพิเศษทั้งแปลอังกฤษ-ไทยและแปลไทย-อังกฤษ เพราะการใช้ภาษาไทยให้ถูกก็เป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน ส่วนหนังสือเรียนก็ภาษาอังกฤษล้วนเลยค่ะ

2. คนที่เข้าเอกอังกฤษได้เคยไปอยู่เมืองนอกกันมาแล้วทั้งนั้น X

     ข้อนี้ก็ไม่ใช่ความจริงนะคะ จริงอยู่ว่าหลายคนในเอกเคยไปแลกเปลี่ยนสมัยมัธยม แต่ก็ไม่ใช่แค่เอกอังกฤษค่ะ เอกอื่นๆ ในคณะก็มีคนไปแลกเปลี่ยนมาแล้วเช่นกัน แต่ประชากรส่วนมากในคณะก็เป็นนักเรียนที่ไม่เคยไปแลกเปลี่ยนมาก่อนนะคะ หลายคนไม่เคยไปต่างประเทศเลยด้วย และก็ไม่จำเป็นว่าต้องจบจากโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนคริสต์ หรือโรงเรียนระบบไบลิงกวลเท่านั้นที่ระดับภาษาเก่งพอจะเข้าเอกได้ เด็กโรงเรียนรัฐบาลไทยทั่วไปจากทั่วประเทศก็สามารถเข้าเอกอังกฤษได้ทั้งนั้นค่ะ


3. คนที่เข้าเอกอังกฤษได้ต้องพูดอังกฤษปร๋อมาก่อนแล้ว X

     นี่ก็ไม่ใช่เรื่องจริงเช่นกันค่ะ อย่างรุ่นที่พี่เรียนมีเอกอังกฤษประมาณ 80 คน คนที่พูดอังกฤษเก่งมาก่อนในระดับเป็นภาษาแม่มีประมาณ 5 คนเอง ซึ่งพี่ก็ไม่ใช่หนึ่งในนั้นด้วย 555 ส่วนมากตอนที่อยู่ปี 2 ก็ไม่ได้เก่งกันแบบฟังพูดอ่านเขียนระดับสูงเลยนะคะ ส่วนใหญ่จะอยู่ระดับกลางๆ กัน และหลายคนไม่ได้เก่งครบทุกทักษะด้วย อย่างพี่ตอนนั้นได้แค่ฟัง ส่วนพูดอ่านเขียนนี่ระดับกลางๆ เอง แต่พอได้เข้าเอกอังกฤษแล้วก็ได้เรียนวิชาโน้นวิชานี้ จนได้พัฒนาหลายๆ ทักษะไปพร้อมๆ กัน และไปไกลกว่าตอนเป็นเฟรชชี่เยอะเลยค่ะ

4. คนที่เข้าเอกอังกฤษได้ ต้องได้เกรดรวมสูงๆ ในปี 1  X

     ถ้าหมายถึงเกรดเฉลี่ยรวมก็บอกได้เลยว่าไม่ใช่ค่ะ เพราะวิชาเรียนในปี 1 เป็นวิชาพื้นฐานคณะอักษรศาสตร์ ที่นอกจากสายภาษาแล้วก็มีทั้ง ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สารนิเทศ ปรัชญา และศิลปการละคร ดังนั้นจะเอาเกรดจากวิชาเหล่านี้มาเป็นตัวตัดสินว่าเข้าเอกอังกฤษได้มั้ยก็คงไม่แฟร์แน่ๆ ฉะนั้นเกรดที่เอามาตัดสินว่าจะได้เข้าเอกอังกฤษรึเปล่าคือเกรดวิชาภาษาอังกฤษ 2 (English II) และ แปลอังกฤษขั้นต้น (Introduction to Translation) ที่เป็นวิชาบังคับคณะตอนปี 1 เทอม 2 ค่ะ น้องต้องทำให้ได้อย่างน้อยเกรด B ทั้ง 2 ตัวถึงจะเข้าเอกอังกฤษได้
     ถามว่ายากมั้ย ก็ขึ้นกับตัวบุคคลนะคะ แต่น้องจะได้เรียนวิชาภาษาอังกฤษ 1 (English I) ในเทอมแรกของปี 1 วิชานี้เป็นเหมือนวิชาที่แนะนำให้น้องได้รู้จักกับการเรียนภาษาอังกฤษของอักษรศาสตร์ ซึ่งไม่เหมือนวิชาบังคับภาษาอังกฤษที่คณะอื่นเรียนกัน หลายคนได้เกรดวิชานี้ไม่ค่อยดีเพราะเพิ่งเข้ามาเลยยังปรับตัวไม่ได้ ทางภาควิชาจึงไม่เอาเกรดวิชาแรกนี้มาพิจารณาค่ะ ให้โอกาสน้องได้ปรับตัวและจับทางให้ได้ก่อน แม้วิชาในเทอม 2 จะยากกว่าแต่พอปรับตัวกับการเรียนมหาวิทยาลัยได้แล้ว หลายคนก็ทำเกรด 2 วิชานี้ได้ดีกว่าเกรดของอังกฤษ 1 อีก เลยทำให้ได้เกรดสูงพอที่จะเลือกเข้าเอกอังกฤษได้ ฉะนั้นถ้าใครเห็นเกรดอังกฤษ 1 แล้วช็อกก็ไม่เป็นไรนะคะ เทอม 2 อาจดีขึ้นก็ได้ การเข้าเอกอังกฤษไม่ได้ยากขนาดนั้นค่ะ

แนะนำหลักสูตรมัธยมที่

5. จะเข้าเอกอังกฤษได้ ต้องอ่านวรรณกรรมภาษาอังกฤษเยอะๆ

     ถ้ายิ่งอ่านเยอะก็ยิ่งทำให้มีโอกาสเข้าได้สูง แถมยังทำให้การเรียนวิชาบังคับสายวรรณคดีของเอกเป็นเรื่องง่ายขึ้นด้วย แต่ถึงไม่เคยอ่านพวกเชคสเปียร์หรือหนังสือคลาสสิกที่ได้รางวัลมากมายมาก่อน ก็ยังมีโอกาสเข้าเอกอังกฤษได้อยู่ดีค่ะ อย่างที่บอกไปว่าปี 1 เทอม 1 จะได้เรียนวิชาภาษาอังกฤษ 1 (English I) ซึ่งในวิชานี้ก็จะได้อ่านอะไรเยอะเลยค่ะ มีหนังสือนอกเวลาที่อ่านทั้งตอนเปิดเทอมและปิดเทอมด้วย ถ้าก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเราต้องอยู่กับหลายวิชาเพื่อทำให้ได้คะแนนสูงๆ จนไม่ได้อยู่กับภาษาอังกฤษเป็นพิเศษมาก่อน ช่วงปี 1 เทอมแรกและช่วงปิดเทอมเล็กนี่แหละที่เราต้องพัฒนาตัวเองค่ะ และหลายคนก็ใช้ช่วงเวลาแค่นี้พัฒนาตัวเองได้เยอะเลยด้วย

6. จบเอกอังกฤษแล้วพูดภาษาอังกฤษได้เหมือนฝรั่ง

     ก่อนอื่นต้องตีความก่อนว่า "พูดได้เหมือนฝรั่ง" หมายความว่าอะไร จะแปลว่าได้สำเนียงแบบฝรั่งเป๊ะ หรือพูดได้น้ำไหลไฟดับเหมือนเจ้าของภาษา จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าทุกคนที่จบเอกอังกฤษมาจะพูดสำเนียงบริติชหรืออเมริกันได้เป๊ะๆ นะคะ คนที่ได้เป๊ะจริงก็มี แต่อีกหลายคนก็ยังติดสำเนียงไทยบ้าง และก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะพูดได้คล่องเท่ากันค่ะ
     เรื่องแบบนี้ขึ้นกับตัวบุคคลด้วย เนื่องจากในคณะมีวิชาเรียนให้เลือกมากมาย ถ้าใครชอบด้านวรรณคดีและลงวิชาวรรณคดีเยอะๆ ส่วนวิชาที่เน้นทักษะพูดลงเรียนแค่ตัวที่เป็นวิชาบังคับเท่านั้นไม่ลงตัวอื่นเพิ่ม คนนี้ก็อาจจะพูดได้ไม่คล่องมาก แต่เขาอาจจะมีทักษะการเขียนที่เลิศเลอมากเลยก็ได้ นอกจากนี้การมีโอกาสพูดบ่อยๆ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้บางคนพูดคล่องเป็นพิเศษ เช่นอาจจะไปปรึกษาพูดคุยกับอาจารย์ต่างชาติบ่อย หรือมีเพื่อนต่างชาติไว้พูดคุยด้วย ก็ทำให้มีความคล่องมากขึ้นได้ค่ะ

7. จบเอกอังกฤษต้องแปลออกหมดทุกคำ  X

     นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่เข้าใจผิดกันไปใหญ่ จบเอกอังกฤษไม่ได้แปลว่าจะแปลศัพท์อังกฤษทุกคำออกหมดเหมือนกินพจนานุกรมเข้าไปนะคะ ทุกวันนี้เราก็ยังใช้พจนานุกรมกันอยู่ค่ะ แต่คนนอกมักคิดว่าเราแปลได้ทุกอย่างบนโลก อย่างพี่ที่ไม่เคยท่องศัพท์เลยก็ไม่รู้ศัพท์เยอะอยู่เหมือนกันค่ะ อ่านข่าวต่างประเทศบางทีก็เจอคำที่ต้องไปเสิร์ชหาอยู่ตลอด ศัพท์บางตัวที่เจอ 10 ทีแล้วยังจำคำแปลไม่ได้ก็มี แต่ส่วนมากทักษะที่เราเก่งกันคือการเดาความหมายจากบริบทรอบข้าง บางทีแปลคำนั้นตรงๆ ไม่ได้ แต่อ่านทั้งย่อหน้าแล้วก็ทำให้เดาได้ว่าคำนั้นน่าจะสื่อความประมาณไหน และมีความหมายแง่บวกหรือลบหรือยังไง เท่านี้ก็ทำให้อ่านรู้เรื่องโดยที่ไม่ต้องแปลออกครบทุกตัว

     ส่วนเรื่องคำแนะนำเตรียมสอบเข้าอักษรฯ อย่างตอนรุ่นพี่ใช้ O-NET กับ A-NET (ไม่น่าจะรู้จักแล้วเนอะ) แถมพี่เรียนวิทย์-คณิตมาเลยยื่นคะแนนวิทย์เข้ามา ดังนั้นเรื่องการแอดมิชชั่นและรับตรงเข้าอักษรฯ ต้องไปติดตามกันต่อที่คอลัมน์แอดมิชชั่นค่ะ (คลิก www.dek-d.com/admission/) ส่วนตอนนี้มาดูกันดีกว่าว่าเอกอังกฤษเรียนอะไรบ้าง หลายคนมักนึกภาพไม่ออกและคิดว่าคงต้องลงแกรมมาร์ลึกๆ กับอ่านนิยายเยอะๆ แน่ๆ จะใช่หรือไม่นั้นต้องไปดูกันแล้วแหละ


เอกอังกฤษเขาเรียนอะไรกัน


     แน่นอนว่าการเรียนเอกภาษาอังกฤษในประเทศที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่กับประเทศที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาแม่ย่อมต่างกัน พี่พิซซ่าเลยเลือกตัวแทนหลักสูตรเอกภาษาอังกฤษมาเทียบกันจาก 4 ประเทศค่ะ คือ
 
      ประเทศไทยที่ใช้หลักสูตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นตัวแทน
      เกาหลีใต้ที่ใช้หลักสูตรของ Seoul National University เป็นตัวแทน
      สหรัฐอเมริกาที่ใช้หลักสูตรของ University of California, Los Angeles เป็นตัวแทน
      และสหราชอาณาจักรที่ใช้หลักสูตรของ University of Cambridge เป็นตัวแทน

     สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิชาเอกภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอกแบบเอก-โท แปลว่าเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษ 51 หน่วยกิต และต้องไปเรียนโทสาขาอื่นหรือคณะอื่นอีก 21 หน่วยกิต ซึ่งวิชาในเอกภาษาอังกฤษก็แบ่งเป็นวิชาบังคับ 24 หน่วยกิตหรือ 8 วิชา และวิชาเลือก 27 หน่วยกิตหรือ 9 วิชา แล้ววิชาเลือกในเอก 9 วิชานี้เนี่ย บังคับเป็นสายภาษา 3 วิชา สายวรรณคดี 3 วิชา และจะเลือกจากสายภาษาและ/หรือวรรณคดีก็ได้อีก 3 วิชาค่ะ จะเห็นว่าคนเรียนเอกอังกฤษเหมือนกันก็อาจถนัดและชอบไม่เหมือนกันก็ได้ อย่างพี่ที่ไม่ชอบอ่านวรรณกรรมเยอะๆ ตรงวิชาเลือกที่ให้เลือกฝั่งไหนก็ได้พี่ก็ลงสายภาษา เรียนการพูดกับการเขียนเพิ่มไปค่ะ

     สำหรับวิชาบังคับเอก 8 วิชานั้นมีทั้งสายภาษาและสายทักษะเท่าๆ กันอย่างละ 4 วิชา ได้แก่ ทักษะการพูดภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ, เรียงความอังกฤษ 1, ทักษะการอ่านอังกฤษ, ระบบเสียงและโครงสร้างภาษาอังกฤษขั้นต้น, การศึกษาวรรณกรรมอังกฤษเบื้องต้น, การอ่านวิเคราะห์เพื่อการศึกษาวรรณกรรมอังกฤษ, ภูมิหลังของวรรณคดีอังกฤษ, และภูมิหลังของวรรณคดีอเมริกัน ถ้าถามว่าแล้วเรียนแกรมมาร์ตรงไหน แกรมมาร์สอดแทรกอยู่ในภาษาอังกฤษ 1 และ 2 ที่เป็นวิชาบังคับปี 1 ไปเรียบร้อยแล้วค่ะ
     เมื่อเข้าเอกแล้วก็เหมือนอย่างที่บอกไปว่า มีวิชาทั้งสายภาษาและวรรณคดีให้เลือกเรียนมากมาย ซึ่งหลายคนก็อยากเรียนเยอะเกินหน่วยกิตที่ต้องเรียนอีก ตัวอย่างวิชาสายภาษาก็เช่น English Business Writing, Translation: Thai - English I, Phonetics for English Pronunciation, และ Creative Writing ส่วนสายวรณคดีก็มีวิชาที่น่าเรียนมากมายเช่นกัน อาทิ Mythological and Biblical Background to English Literature, Drama from the Twentieth Century to the Present,  Literature and Film, หรือ Shakespeare สายวรรณคดีก็มีให้เลือกอีกว่าชอบเรียนร้อยแก้วหรือร้อยกรอง หรือชอบสไตล์งานยุคไหน หรือชอบทางอังกฤษหรืออเมริกันอีก ใครชอบอ่านนิยายน่าจะเลือกยาก


     ทีนี้ลองมาดูเอกอังกฤษของมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลกันบ้าง ที่นี่ก็เลือกเอกอังกฤษกันทีหลังเหมือนกันค่ะ แต่ของเขาจะดูทั้งเกรดเฉลี่ยรวม เกรดเฉลี่ยเฉพาะวิชาที่ต้องใช้เข้าเอก ผลสอบวัดระดับภาษาอังกฤษและข้อสอบสรุปความและแปลความระหว่างภาษาเกาหลีและอังกฤษ รวมไปถึงยังต้องเขียน study plan เพื่อเข้าเอกด้วย โดยวิชาเฉพาะที่ใช้เข้าเอกจะมี 3 ตัวคือ Introduction to English Linguistics, Introduction to English Literature และ The World of English Masterpieces มีทั้งตัวสายภาษาและสายวรรณคดีเหมือนของไทยเลย
     เมื่อเข้าเอกได้แล้วก็มีวิชาเอกให้เลือกเรียนทั้งสายภาษาและสายวรรณคดีไม่ต่างกัน เช่น English Grammar, English Composition, Structure of English, Applied English Linguistics และ History of English Language สำหรับสายภาษา หรือ 18th and 19th-Century English Novel, English Poetry 1, English Drama, หรือ English and American Literary Criticism สำหรับสายวรรณคดี

     จะเห็นว่าของไทยกับของเกาหลีมีลักษณะคล้ายกัน อาจจะเพราะเป็นหลักสูตรปกติในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเหมือนกันด้วยก็ได้ โดยจะวัดความสามารถก่อนให้เข้าเอกเหมือนกัน และวิชาพื้นฐานที่ใช้เป็นคะแนนเข้าเอกก็จะเป็นวิชาวัดทักษะพื้นฐานทางภาษารวมถึงแกรมมาร์ด้วยค่ะ


     เอาล่ะ! มาดูของประเทศเจ้าของภาษากันบ้าง เริ่มจากของอเมริกาก่อนละกันนะคะ เพราะปริญญาตรีเรียน 4 ปีเหมือนบ้านเราค่ะ จะได้เห็นภาพง่ายๆ ส่วนปริญญาตรีของอังกฤษเรียน 3 ปี

     หลักสูตรเอกภาษาอังกฤษของ UCLA มีวิชาเตรียมก่อนเข้าเอกดังนี้
   - วิชา English Composition 3: English Composition, Rhetoric, and Language วิชาทักษะการเขียนขั้นสูงที่หากใครมีผลสอบ AP วิชาการเขียนมาแล้วก็ใช้แทนเกรดวิชานี้ได้
   - วิชา English 4W/4HW/4WS: Critical Reading and Writing วิชาที่เน้นทักษะการเขียนและการอ่านเชิงวิเคราะห์
   - กลุ่มวิชา English 10 (English 10A: Literatures in English to 1700; English 10B: Literatures in English, 1700-1850; English 10C: Literatures in English, 1850-Present) ทั้ง 3 วิชานี้ต้องเรียนทั้งปี เพื่อวัดความรู้ด้านวรรณคดี การอ่านและวิเคราะห์วรรณคดี และทักษะที่เกี่ยวข้อง
   
     นอกจากนี้ด้วยความที่ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักของประเทศอยู่แล้ว ทำให้มีข้อบังคับเพิ่มด้วยว่าเด็กเอกนี้ต้องได้ภาษาต่างประเทศอื่นๆ อีกอย่างน้อย 1 ภาษาในระดับ 5 (สูง) หรืออย่างน้อย 2 ภาษาในระดับ 3 (กลาง)
     เรามาดูกันต่อว่าพอเข้าเอกแล้ว เรียนอะไรกันอีกบ้าง? หลักสูตรของ UCLA จะบังคับให้เรียนวรรณคดีตามยุคสมัยอีก 4 วิชา วิชาละยุค และเรียนวรรณคดีตามธีมอีก 3 ตัว เช่น ธีมการศึกษาด้านเพศ ชาติพันธุ์ และความพิการ หรือธีมยุคหลังยุคล่าอาณานิคม นอกจากนี้ก็มีวิชาเลือกอีก 2 ตัว และมีวิชาสัมมนาทางวิชาการในชั้นปีสุดท้ายอีกตัวนึงค่ะ


     ส่วนเอกภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์นั้น จะแบ่งสไตล์การเรียนระหว่างปี 1-2 และปี 3 ที่เป็นปีสุดท้ายไว้ต่างกันค่ะ ช่วงปี 1-2 จะเน้นเรียนกว้างๆ แบบยังไม่ลงลึกมาก แต่เรียนด้านวรรณคดีล้วนๆ เลย โดยวิชาบังคับ 2 ตัวได้แก่ English Literature and its Contexts 1300-1550 และ Shakespeare จากนั้นก็มีวิชาบังคับเลือกอีก 4 จาก 5 ตัว ซึ่งก็คือยุคต่างๆ ของวรรณคดี นอกจากนี้ก็ต้องทำสารนิพนธ์อีก 2 ฉบับในธีมต่างๆ ที่สนใจเกี่ยวกับภาษาอังกฤษค่ะ
     ของปี 3 นั้นจะเรียนและทำรายงานวิชาบังคับ 2 ตัวคือ Practical Criticism และ Tragedy นอกจากนี้ก็ต้องทำวิทยานิพนธ์ 6,000-7,500 คำ 2 ฉบับ หรือจะเลือกทำวิทยานิพนธ์ 1 ฉบับ และทำสารนิพนธ์ที่บางกว่าอีก 2 ฉบับแทนก็ได้ ซึ่งธีมที่จะให้เลือกทำจะเปลี่ยนไปทุกปีการศึกษาค่ะ อย่างปีการศึกษานี้มีให้เลือก 14 หัวข้อ เช่น Shakespeare in Performance, Literature and Visual Culture และ Contemporary Writing in English

     จะเห็นว่าถ้าเป็นหลักสูตรเอกภาษาอังกฤษของประเทศเจ้าของภาษา จะไม่สอนเรื่องแกรมมาร์หรือทักษะฟังพูดอ่านเขียนระดับพื้นฐานอีก เริ่มต้นกันก็ที่การอ่านและเขียนในเชิงวิเคราะห์ระดับสูงเลย จากนั้นก็เน้นด้านวรรณคดีกันล้วนๆ ยิ่งถ้าเป็นของประเทศอังกฤษก็เน้นทำวิทยานิพนธ์กันตั้งแต่ปริญญาตรีเลยค่ะ เห็นแบบนี้แล้วนับถือนักศึกษาเคมบริดจ์เลยว่ามั้ย


     วกกลับมาที่เรื่องการเข้าเอกภาษาอังกฤษในไทยของเรากันต่อ อย่างที่บอกไปค่ะว่ามันไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะเข้า และการจบออกมาก็ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ด้วยเช่นกัน ส่วนหลักสูตรเอกภาษาอังกฤษของไทยก็ออกแบบมาให้เหมาะกับคนไทยและการนำไปต่อยอดแล้ว ใครอยากเรียนเพื่อทำงานเกี่ยวกับภาษาก็มีวิชาสายภาษาให้เลือก แต่ถ้าใครอยากไปเรียนต่อด้านวรรณคดีโดยเฉพาะก็มีวิชาด้านวรรณคดีให้เลือกมากมายเช่นกัน บทความนี้ก็น่าจะคลายข้อสงสัยต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนเอกภาษาอังกฤษได้ไม่มากก็น้อยนะคะ

 

ข้อมูลมหาวิทยาลัยต่างประเทศจาก
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

เบลล์์ 11 ต.ค. 59 23:27 น. 6
ปีแรกยังเบสิกๆ พอปีสอง สามไป เรียนอิ้งเหมือนผ่านสนามรบเลยค่า ปล. อนึ่ง...เรียนเอกอิ้ง มิใช่พจนานุกรมเคลื่อนที่แต่อย่างใด หากไม่เข้าใจศัพท์ใด กรุณาแง้มพจนานุกรมนะคะ
0
กำลังโหลด
แง้ววววว 12 ต.ค. 59 13:39 น. 7
อยากให้คนอื่นเข้าใจเหมือนกันว่าเรียนเอกนี้แล้วเราจะกลายเป็นคนที่เก่งใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา ในเอกอังกฤษมันก็มีหลายแขนงแคกไปอีก นี่คนเอางานมาให้แปลเยอะมากแล้วพอบอกว่าแปลไม่ได้ เขาก็ทำหน้าแปลกๆ อยากบอกเธอนะว่าเหมือนเธอเรียนวิศวะแล้วตกกลศาสตร์พื้นฐาน เราก็ไม่เข้าใจทุกศาสตร์เหมือนเธอนั่นแหละ
0
กำลังโหลด

9 ความคิดเห็น

Tan Supanat Member 8 ต.ค. 59 13:32 น. 1
ตอนนี้ก้อเรียนเอกอิ้ง แต่ไม่ใช่ที่อักษร 55555 ตั้งตารอคอยจะได้เรียนปีสองสามเพราะมีแต่วิชาแอดวานซ์ขึ้นไป ไม่แปลกใจเลยครับ ทำไมอักษรถึงเทพ วิชาการเรียนดีมาก
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
blue_99 Member 9 ต.ค. 59 02:03 น. 3

มีคนถามว่าเรียนเอกอะไร ตอบเอกอังกฤษ

เฮ้ยจริงดิ ต้องเก่งแน่เลย แล้วคำนี้แปลว่าอะไร

ไม่รู้ 

อ้าว เรียนมาประสาอะไรไม่รู้ โง่จัง 

เอกอังกฤษคนไทยไม่เคยเจอมั้ง บอกเลยน้อยมาก ที่จะไม่เจอคำพูดแบบนี้

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
เบลล์์ 11 ต.ค. 59 23:27 น. 6
ปีแรกยังเบสิกๆ พอปีสอง สามไป เรียนอิ้งเหมือนผ่านสนามรบเลยค่า ปล. อนึ่ง...เรียนเอกอิ้ง มิใช่พจนานุกรมเคลื่อนที่แต่อย่างใด หากไม่เข้าใจศัพท์ใด กรุณาแง้มพจนานุกรมนะคะ
0
กำลังโหลด
แง้ววววว 12 ต.ค. 59 13:39 น. 7
อยากให้คนอื่นเข้าใจเหมือนกันว่าเรียนเอกนี้แล้วเราจะกลายเป็นคนที่เก่งใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา ในเอกอังกฤษมันก็มีหลายแขนงแคกไปอีก นี่คนเอางานมาให้แปลเยอะมากแล้วพอบอกว่าแปลไม่ได้ เขาก็ทำหน้าแปลกๆ อยากบอกเธอนะว่าเหมือนเธอเรียนวิศวะแล้วตกกลศาสตร์พื้นฐาน เราก็ไม่เข้าใจทุกศาสตร์เหมือนเธอนั่นแหละ
0
กำลังโหลด
พี่มอคค่า 13 ต.ค. 59 15:02 น. 8
การเรียนเอกภาษาว่ากันตามจริง ในห้องเรียนให้ได้แค่หลักในการใช้ภาษาเท่านั้น แต่การฝึกฝนให้เก่งและชำนาญจริงๆ เป็นเรื่องที่ต้องขวนขวายเองนอกห้องนะครับ จะเก่งหรือไม่เก่งก็วัดกันตรงนี้จริงๆ แล้วต้องมองตัวเองให้ออกว่า จบแล้วต้องการจะใช้ภาษาไปใช้ในอาชีพอะไร เพราะถ้าคิดจะไปฝึกตอนทำงานนั้นนอกจากจะไม่ค่อยมีเวลามากแล้ว ยังต้องตามมาด้วยภาระและความกดดันในที่ทำงานอีกมหาศาล ยกตัวอย่างหากเอาแค่เป็นติวเตอร์สอนภาษาหรือครู อันนี้จะเบาหน่อยเพราะแค่ทบทวนเบสิคภาษาพร้อมกับหาความรู้เพิ่มเติมบ้างก็น่าจะพอ แต่หากจะไปรับงานเขียนพวก copywriter หรือ งานแปล อันนี้จะหนักหน่อยเพราะต้องหัดอ่านงานเขียนในสาขาต่างๆให้มากทั้ง บทความ นวนิยาย นิตยสารประเภทต่างๆทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง บางครั้งต้องลองข้ามสายไปอ่านพวก Textbooks ของคณะวิศวะ วิทยาศาสตร์ ( ไม่จำเป็นต้องอ่านให้เข้าใจทั้งหมดนะครับ เอาแค่เข้าใจ main ideas พอ หรือหากอยากจะไปทำพรีเซนต์ด้าน marketing หรือเป็นนักบรรยาย พรีเซนต์งานในระดับอินเตอร์ รวมไปถึงเป็นอาจารย์ english program ทั้งในระดับมัธยมหรือมหาวิทยาลัย ก็ต้องฝึกฟังการบรรยายพวก Google talks ,Ted talk ,Coursera หรือเข้าไปฟังเลคเชอร์มหาวิทยาลัยต่างประเทศทั้งใน US และ UK ใน Youtube ซึ่งพี่บอกได้เลยว่านี่คือสิ่งที่เด็กเอกภาษาในสมัยก่อนขาดมากๆ คือทักษะการฟังและการพูดระดับวิชาการ เพราะสมัยก่อนไม่มีสื่อออนไลน์เหมือนปัจจุบัน และที่สำคัญน้องต้องฝึกพูดสำเนียงอังกฤษหรืออเมริกันให้คล่อง พี่แนะนำว่า American accent ฝึกได้ง่ายกว่าเพราะสื่อฝึก US มีมากกว่า รวมถึงอเมริกันชนนั่นออกเสียงได้ชัดและมีพลังกว่าฝั่ง British เพราะการเป็นนักบรรยายภาษาอังกฤษระดับโปรนั้น แม้จะพูดคล่องแต่สำเนียงไทยจะทำให้การพูดขาดเสน่ห์เอามากๆ อย่าว่าแต่ไทยเลยครับขนาดสำเนียง Singlish แบบสิงคโปร์หรือสำเนียงแขก ก็ยังฟังไม่รื่นหูเอาซะเลย ยิ่งหากเป็นการบรรยายในคลาสแบบครึ่งชั่วโมงขึ้นไปแล้ว แทบจะต้องเข้าโหมดทนฟังกันเลยทีเดียว " Shoot for the moon. Even if you miss, you will land among the stars " Norman Vincent Peale
1
กำลังโหลด
เอกอิ้งครัช 28 ต.ค. 61 11:28 น. 9
พอเข้ามาเรียนจะรู้เลยว่าแกรมม่าเป็นเรื่อยงที่จิ๊บจ๊อยไปเลย ไม่ได้เรียนเอกอิ้งที่อักษร แต่เราเรียนศิลปศาสตร์เอกอังกฤษ หนักไม่แพ้กันครับ เขียนเยอะ ควิซเยอะ อ่านเยอะ พวกสกิลยังพอเอาตัวรอดได้ แต่พวกคอนเทนต์สายลิงกวิสติค วรรณคดี การแปลนี่สิ โหดของจริง เขียนตอบไม่เคยต่ำกว่าสามหน้า ยิ่งช่วงสอบนี่นรกมาก ส่วนตัวไม่ค่อยชอบวรรณคดีเท่าไร55555 เลยเลือกเรียนสายแปลกับภาษาศาสตร์มากกว่า ค่อนข้างโหดเหมือนกัน น้องๆคนไหนอยากเรียนก็ปูพื้นฐานตัวเองมาให้ดีๆนะครับ เพราะเข้ามาแล้ว ต้องอ่านเขียนภาษาอังกฤษประหนึ่งภาษาแม่!!!!
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด