นอกจากฮิลลารี-ทรัมป์ มีใครสมัครชิง "ตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกา" บ้าง?

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐใกล้เข้ามาแล้ว แต่ตอนนี้ฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตกำลังมีข่าวเรื่องที่เธอยัดเงินสื่อและมีผลประโยชน์กับประเทศแถบตะวันออกกลางออกมาอยู่ ส่วนโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกันก็ดีเบตไม่ได้เรื่องซักเท่าไหร่ หลายคนจึงเริ่มสงสัยว่ามีแค่ 2 ตัวเลือกนี้ให้เลือกเท่านั้นหรอ แต่จริงๆ แล้วยังมีผู้สมัครรายอื่นเหลืออยู่อีกนะคะ



     ก่อนจะพูดถึงผู้สมัครรายอื่นๆ พี่พิซซ่าขออธิบายระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกาแบบคร่าวๆ ให้ฟังก่อนค่ะ

     ผู้ที่จะลงสมัครเป็นประธานาธิบดีได้ ต้องเป็นพลเมืองอเมริกันโดยกำเนิด อายุ 35 ปีขึ้นไป และเป็นผู้อยู่อาศัยในสหรัฐอเมริกามาอย่างต่ำ 14 ปี ฉะนั้นทางทฤษฎีแล้วคนทั่วไปที่ผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อนี้ก็สามารถสมัครเป็นประธานาธิบดีได้โดยไม่จำเป็นต้องจบการศึกษาด้านการปกครองหรือว่าเคยเป็นนักการเมืองมาก่อน

     อีกเรื่องที่ควรทราบคือสหรัฐอเมริกามีพรรคใหญ่ๆ อยู่ 2 พรรคที่เป็นพรรคที่มีอิทธิพลมากกกกกก นั่นคือพรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน ประธานาธิบดีคนก่อนๆ ก็มักจะมาจากพรรคใดพรรคหนึ่งระหว่าง 2 พรรคนี้ แต่จริงๆ แล้วอเมริกายังมีพรรคเล็กพรรคน้อยอีกมากมาย นอกจากนี้ผู้ที่ไม่สังกัดพรรคใดๆ ก็สามารถสมัครเป็นประธานาธิบดีได้เช่นกัน แต่ทางเทคนิคแล้วผู้สมัครจากพรรคเล็กหรือผู้สมัครอิสระจะมีฐานเสียงไม่มากพอที่จะได้เป็นประธานาธิบดี

     ทีนี้มาดูขั้นตอนการเลือกตั้งของอเมริกากัน ถ้าใครตามข่าวผู้สมัครประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2015 จะรู้สึกว่าก่อนหน้านี้มีชื่อผู้สมัครมากมายเลยไม่ใช่หรอ ไหนจะเบอร์นี แซนเดอร์ส หรือเท็ด ครูซ แล้วตอนนี้พวกเขาหายไปไหนหมด ทำไมคนอเมริกาเหลือตัวเลือกแค่ฮิลลารี คลินตัน กับโดนัลด์ ทรัมป์ (เกิดความรู้สึกเดียวกับการถามว่าจะเลือกใครครอง Iron Throne ระหว่างจอฟฟรีย์หรือแรมซีย์)


เลือกไม่ถูกเลยจริงๆ

     เรามาพูดถึงเฉพาะ 2 พรรคใหญ่อย่างเดโมแครตและรีพับลิกันก่อนนะคะ ด้วยความที่แทบจะการันตีได้เลยว่าถ้าได้เป็นตัวแทนของ 2 พรรคนี้ก็มีโอกาสได้เป็นประธานาธิบดีสูง ฉะนั้นก็มีผู้สมัครมากมายที่มาขอลงสมัครเป็นประธานาธิบดีภายใต้พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันค่ะ

ผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อลงสมัครประธานาธิบดี ได้แก่
               ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ
               เบอร์นี แซนเดอร์ส วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์มอนต์
               มาร์ติน โอมัลลีย์ ผู้ว่าการรัฐแมรีแลนด์
               ลอว์เรนซ์ เลสสิก อาจารย์กฎหมายที่ฮาร์วาร์ด
               ลินคอล์น ชาฟี ผู้ว่าการรัฐโร้ดไอแลนด์
               จิม เว็บบ์ วุฒิสมาชิกจากรัฐเวอร์จิเนีย


ผู้สมัครภายใต้พรรคเดโมแครตและคะแนนเสียงที่ได้รับในการเลือกตั้งขั้นต้น


ผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันเพื่อลงสมัครประธานาธิบดีมีหลายคนมาก ขอยกตัวอย่างแค่ผู้ที่ได้คะแนนนิยมสูงๆ เช่น
               โดนัลด์ ทรัมป์ นักธุรกิจ
               เท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกจากรัฐเท็กซัส
               จอห์น คาซิค ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ
               มาร์โค รูบิโอ วุฒิสมาชิกจากรัฐฟลอริดา
               เบ็น คาร์สัน อดีตผู้อำนวยการแผนกประสาทศัลยแพทย์ โรงพยาบาลจอห์นฮ็อปกินส์
               เจ้บ บุช อดีตผู้ว่าการรัฐฟลอริดา และน้องชายของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช


ผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต 6 คนที่ได้คะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งขั้นต้น

     เมื่อมีผู้สนใจอยากเป็นตัวแทนของพรรคเยอะแบบนี้ พรรคใหญ่ 2 พรรคนี้จึงมีการเลือกตั้งขั้นต้นก่อน โดยให้ประชาชนไปลงทะเบียนว่าจะสนับสนุนพรรคไหนระหว่างเดโมแครต รีพับลิกัน หรือไม่สนับสนุนทั้ง 2 พรรคนี้ ถ้าใครลงทะเบียนว่าจะสนับสนุนพรรคไหนก็จะได้สิทธิเลือกตัวแทนพรรค เป็นการเลือกตั้งที่ให้อารมณ์ซาวเสียงว่าอยากให้ใครได้เป็นตัวแทนของพรรคไปแข่งรอบไฟนอลนั่นเอง

     พอเห็นผลการเลือกตั้งขั้นต้นแต่ละรอบๆ แล้วรู้ว่าตัวเองได้คะแนนนิยมน้อยกว่าคนอื่น ผู้ลงสมัครที่ได้คะแนนน้อยก็ค่อยๆ ถอนตัวไปทีละคนๆ บางคนไม่ถอนตัวแบบเป็นทางการแต่หยุดการหาเสียงไปเฉยๆ ก็มี ส่วนบางคนที่เห็นว่าไม่ง้อพรรคใหญ่ก็ได้ ก็ไปสมัครเป็นตัวแทนพรรคเล็กหรือกลายเป็นผู้สมัครอิสระเลยก็มีเช่นกันค่ะ

     ส่วนพรรคอื่นๆ จะไม่ค่อยมีปัญหานี้ จึงมักประกาศแต่ต้นเลยว่าตัวแทนพรรคที่ลงสมัครเป็นประธานาธิบดีคือใคร หรือใช้เวลาไม่นานก็เลือกตั้งขั้นต้นของพรรคเสร็จแล้ว แต่ปัญหาที่พรรคเล็กๆ ต้องกังวลคือเรื่อง ballot access ค่ะ

     ballot access คือการมีชื่อตัวเองอยู่ในบัตรเลือกตั้งของแต่ละรัฐค่ะ แต่ละรัฐมีกฎเป็นของตัวเองว่าจะให้ใครมีชื่อปรากฏในบัตรเลือกตั้งของรัฐตัวเองได้บ้าง ตัวแทนจากเดโมแครตและรีพับลิกันไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องนี้ เพราะเข้าถึงทุกรัฐหมด แต่พรรคเล็กพรรคน้อยรวมถึงผู้สมัครอิสระต้องห่วงเรื่องนี้ค่ะ บางรัฐกำหนดว่าจะอนุญาตให้เฉพาะพรรคที่ได้คะแนนถึงอย่างน้อย 3% ในการเลือกตั้งคราวก่อนได้มีชื่อปรากฏบนบัตรเลือกตั้ง บางรัฐบอกว่าพรรคใหม่ที่อยากมีชื่อในบัตรต้องไปล่ารายชื่อผู้สนับสนุนจากทุกหน่วยเลือกตั้งในรัฐให้ได้ก่อน บางรัฐบอกว่าต้องมีผู้สนับสนุนพรรคนั้นหรือคนนั้นอย่างน้อย 20,000 คนขึ้นไปภายในรัฐ นอกจากนี้ก็มีเงื่อนไขอื่นๆ มากมายอีกในแต่ละรัฐ ดังนั้นผู้สมัครจากพรรคเล็กๆ หรือผู้สมัครอิสระอาจมีชื่อตัวเองอยู่บนบัตรเลือกตั้งแค่ไม่กี่รัฐก็ได้ โอกาสที่ผู้สมัครจากพรรคเล็กๆ หรือผู้สมัครอิสระจะชนะได้จึงมีน้อยมากกกกก

     ทีนี้กลับมาดูกระบวนการเลือกตั้งกันต่อค่ะ หลังแต่ละพรรคได้ตัวแทนแล้ว และมีการหาเสียงรวมถึงปราศรัยหลายๆ ต่อหลายครั้ง ก็มาถึงวันลงคะแนนจริงค่ะ ประชาชนชาวอเมริกันที่มีสิทธิเลือกตั้งก็จะไปลงคะแนนเลือกผู้สมัครที่ตัวเองอยากให้เป็นประธานาธิบดี แต่ผลคะแนนนี้เป็นเพียง popular vote เท่านั้นค่ะ (เหมือนประกวดนางงามเลย) ต่อให้ได้คะแนนเสียงจากชาวอเมริกันชนะคู่แข่ง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะได้เป็นประธานาธิบดี เพราะการลงคะแนนของจริงคือหลังจากนั้น

     ผู้ที่มีสิทธิเลือกประธานาธิบดีจริงๆ เรียกว่า elector เป็นเหมือนตัวแทนประชาชนในแต่ละรัฐที่จะลงคะแนนว่ารัฐนั้นเลือกใคร แต่ละรัฐจะมีจำนวน elector ไม่เท่ากัน ขึ้นกับจำนวนส.ส.และส.ว.ในสภาตามรัฐนั้นๆ ปัจจุบันมีส.ส. 435 คนและส.ว. 100 คนในสภา ดังนั้น elector ทั้งประเทศจะมีจำนวน 538 คน 538 คะแนนตามจำนวนส.ส.และส.ว.ในปีนั้น ส่วนใหญ่รัฐที่มีจำนวนประชากรเยอะ มักมีจำนวนส.ส.เยอะ ทำให้มีจำนวน elector ในรัฐนั้นๆ เยอะตามค่ะ เช่นแคลิฟอร์เนียมี elector 55 คน เท็กซัสมี 38 คน ในขณะที่อลาสก้ามีเพียง 3 คน


คะแนนแบบ electoral ของแต่ละรัฐ รวมทั้งหมด 538 คะแนน ต้องได้ 270 ขึ้นไปจึงจะชนะ

     elector ส่วนมากจะสัญญาว่าจะเลือกผู้ที่ได้ popular vote ของรัฐนั้นให้ เช่นถ้ามิคกี้ เมาส์ ได้คะแนน popular vote สูงสุดในรัฐแคลิฟอร์เนีย elector 55 คนของแคลิฟอร์เนียก็จะไปลงคะแนนให้มิคกี้ เมาส์ ตามที่ประชาชนในรัฐบอกมา ทำให้มิคกี้ เมาส์ ได้ไปแล้ว 55 คะแนนจาก 538 คะแนน ซึ่งคะแนนที่จะทำให้มิคกี้ เมาส์ เป็นผู้ชนะคือ 270 คะแนนจาก electoral vote

     แต่ไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับใดๆ นะว่า elector ต้องเลือกตาม popular vote ในรัฐ (มีไม่กี่รัฐที่บังคับเรื่องนี้เป็นกฎหมาย) นี่เป็นเพียงคำสัญญาเฉยๆ แต่โดยทั่วไป elector ก็เลือกตาม popular vote นั่นแหละ มีบ้างบางครั้งที่ elector บางคนทรยศกับ popular vote ในรัฐตัวเอง ก็ดราม่ากันไปเป็นรัฐๆ

     ในเมื่อผล popular vote ของคนทั้งประเทศไม่ได้คอนเฟิร์มว่าคุณจะได้เป็นประธานาธิบดีแน่นอน ดังนั้นก็ต้องวางแผนเล่นเกมกันค่ะ เนื่องจากแต่ละรัฐมีคะแนนเสียงที่ไม่เท่ากัน ผู้สมัครส่วนใหญ่จึงพยายามกับรัฐใหญ่มากกว่ารัฐเล็ก บางคนมองว่าลงทุนหาเสียงกับรัฐเล็กๆ ที่มี 3 คะแนนไป 10 รัฐ ก็ยังไม่เท่าคว้ารัฐใหญ่รัฐเดียวแล้วได้ไปเลย 30 กว่าคะแนน

     ในอดีตก็มีกรณีที่ผู้ได้ popular vote แต่ไม่ได้เป็นประธานาธิบดีมาแล้วนะคะ กรณีล่าสุดคือการเลือกตั้งปี 2000 ค่ะ อัล กอร์ ได้ popular vote สูงกว่า แต่คนที่ได้เป็นประธานาธิบดีคือจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ชนะด้วย electoral vote บุชได้ไป 271 คะแนน (จาก 30 รัฐ) ในขณะที่กอร์ได้ไป 266 คะแนน (จาก 20 รัฐและวอชิงตันดีซี)


อัล กอร์ ได้คะแนนจากประชาชนไป 50,999,897 เสียง ในขณะที่บุชได้ไป 50,456,002 เสียง
แต่เพราะ electoral vote ทำให้บุชกลายเป็นผู้ชนะ

     อีกกรณีที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธี "การเลือกตั้งทางอ้อม" ของอเมริกาคือผลการเลือกตั้งปี 2012 ระหว่างบารัก โอบามา และมิตต์ รอมนีย์ ค่ะ จริงอยู่ที่โอบามาชนะทั้ง popular vote และ electoral vote แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าจำนวนรัฐที่ชนะต่างกันไม่กี่รัฐเอง แต่ผลคะแนน electoral vote ห่างกันมากในระดับ 332 คะแนนต่อ 206 คะแนน การวางแผนเพื่อให้ชนะในรัฐที่มีคะแนน electoral vote สูงเป็นเรื่องสำคัญมากจริงๆ


คะแนน popular vote และจำนวนรัฐที่ชนะสูสีกันมาก แต่คะแนน electoral vote ทิ้งห่างกันเยอะ

     กลับมาที่การเลือกตั้งปี 2016 กันต่อค่ะ ตอนนี้เข้าใจเรื่อง ballot access กับ electoral vote แล้วเนอะ ฉะนั้นผู้สมัครจากพรรคเล็กๆ หรือผู้สมัครอิสระที่ไม่มีชื่อในบัตรเลือกตั้งบางรัฐ ก็จะไม่ได้คะแนน electoral vote จากรัฐนั้นๆ ไป เช่นโดนัลด์ ดั๊ก เป็นผู้สมัครอิสระที่มีชื่อในบัตรเลือกตั้งเพียงแค่รัฐแคลิฟอร์เนียเท่านั้น ต่อให้คนแคลิฟอร์เนียทุกคนเลือกโดนัลด์ ดั๊ก แต่คะแนนรอบ electoral vote จะทำให้โดนัลด์ ดั๊ก มี 55 คะแนนเท่านั้น ไม่มีทางได้เป็นประธานาธิบดีแน่นอน

     ผู้สมัครที่มีกรณีคล้ายโดนัลด์ ดั๊ก มีเยอะมากเลยค่ะ ส่วนมากจะมีชื่อในบัตรเลือกตั้งกันไม่ถึง 10 รัฐ ฉะนั้นเราก็ตัดออกจากการแข่งขันได้เยอะเลย แต่ที่ยังมีเหลืออยู่ และมีโอกาสได้คะแนน electoral vote เกิน 270 คะแนนได้แก่

 

     แกรี่ จอห์นสัน อดีตผู้ว่าการรัฐนิวเม็กซิโก ผู้สมัครจากพรรคลิเบอร์ทาเรียน พรรคนี้มีชื่อในบัตรเลือกตั้งครบทุกรัฐเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ลงสมัครมา (สามารถได้ electoral vote สูงสุด 538 คะแนน)
     พรรคลิเบอร์ทาเรียนเป็นพรรคที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจาก 2 พรรคยักษ์ นโยบายของพรรคเน้นดึงจุดขายของความเสรีนิยมของเดโมแครตและความอนุรักษ์นิยมของรีพับลิกัน เช่นจะลดภาษี ลดหนี้ของประเทศ และยกเลิกสวัสดิการหลายอย่างสำหรับคนที่ไม่ควรได้ แต่ก็สนับสนุนการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน และจะทำให้ยาเสพติดบางอย่างถูกกฎหมาย

     แพทย์หญิงจิล สไตน์ แพทย์และอดีตอาจารย์แพทย์ที่ฮาร์วาร์ด ผู้สมัครจากพรรคกรีน รัฐที่ไม่สามารถมีชื่อในบัตรเลือกตั้งและประชาชนไม่มีสิทธิเขียนชื่อให้มีเพียงรัฐเนวาด้า และเซาธ์ดาโกต้า (สามารถได้ electoral vote สูงสุด 522 คะแนน)
     พรรคกรีนเป็นพรรคที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิ LGBT แอนตี้สงคราม แอนตี้การใช้ความรุนแรง และจะปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมของประเทศ


     สรุปว่าตอนนี้ยังมีผู้สมัครที่สามารถมีสิทธิได้เป็นประธานาธิบดีอีกถึง 2 คนนะคะ คือแกรี่ จอห์นสัน และจิล สไตน์ แถมทั้งคู่ก็เคยเป็นผู้สมัครในปี 2012 มาก่อนแล้วด้วย ถ้าชาวอเมริกันเบื่อ 2 พรรคเดิมๆ ล่ะก็ พวกเขาก็ยังมีตัวเลือกอื่นอยู่ จริงๆ จะเลือกผู้สมัครอื่นที่มีอีกกว่า 30 คนก็ได้ แต่ส่วนมากเป็นผู้สมัครอิสระที่มีชื่อในบัตรเลือกตั้งแค่รัฐของตัวเองเท่านั้น โอกาสชนะจึงแทบไม่มีเลยค่ะ ฉะนั้นที่แข่งกันอยู่จริงๆ ตอนนี้ก็คือ 4 คนนี้เท่านั้นเอง


ข้อมูล
www.usa.gov/election
www.cnn.com
www.nbcnews.com
ข้อมูลรายบุคคลและภาพประกอบมาจากเว็บไซต์แคมเปญเลือกตั้งของผู้สมัครแต่ละคน
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

5 ความคิดเห็น

Megan Ignacia Member 3 พ.ย. 59 19:03 น. 1
สงสารคนอเมริกันเนอะ ตอนนี้มีแค่ฮิลลารี่และทรัมป์ พอกันเลย ดูบ้าๆบวมๆ (ไม่ได้ว่านะ แต่ที่เขาแสดงออกมันเป็นอย่างนี้จริงๆ) เหมือนที่ฝรั่งล้อแหละ อารมณ์เดียวกับให้เลือกระหว่างแรมซี่กับจอฟฟรีย์ (ใครดู Game of thrones จะเก็ตเลย) ยอมตายดีกว่า 555
1
ฮิลลารี่ ทรัมป์ 5 พ.ย. 59 00:21 น. 1-1
ตามนั้นเลยค่ะ ทั้งฮิลลารี่กับ ทรัมป์ ถ้าสองคนนี้ใครได้มาเป็นนี่เมกาก็ได้ลงตำแหน่งมหาอำนาจพอๆกันทั้งคู่ค่ะ จะเสียท่าให้จีนก็ทีนี้แหละค่ะ เย้
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
momoko 9 พ.ย. 59 20:42 น. 5
ตอนนี้โดนัล ทรัมพ์ ได้คะเเนนpopular voteไปเเล้วเหลือรอบelectoralอีกผู้สมัครคนอื่น(นอกจากฮิลลารี)สามารถได้คะเเนนจากตรงนี้มั้ยคะ? หรือว่ายังไง?
1
PiZZaPeaCH Member 11 พ.ย. 59 10:13 น. 5-1
ปกติผู้สมัครคนอื่นจะไม่ได้คะแนนค่ะ เพราะคนที่ได้รับเลือกมาเป็นตัวแทนเลือกรอบ electoral จะมีสัญญาว่าต้องลงคะแนนให้คนที่ชนะการเลือกตั้งในรัฐนั้นๆ ฉะนั้นยังไงก็ลงให้ทรัมป์หรือไม่ก็ฮิลลารี่ ที่ชนะในรัฐของตัวเองค่ะ ไม่มีรัฐไหนที่ผู้สมัครคนอื่นชนะเลย ดังนั้นก็จะไม่ได้คะแนนค่ะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด