"Tense ไม่ได้มี 12 แบบ" อ้าวเฮ้ย! ไม่เหมือนที่ท่องกันมานี่หว่า

        น้องๆ เด็กดีหลายคนตอนเรียนมัธยมน่าจะเคยผ่านประสบการณ์ ท่อง "Tense ทั้ง 12 แบบ" ให้คุณครูฟังมาแล้ว ซึ่งหลายคนก็จำติดตัวมาตลอดว่า Tense มี 12 แบบจริงๆ รวมทั้งยังโอดครวญถึงความจำยากของมัน แค่จำก็ว่ายากแล้ว แต่ละตัวใช้ยังไงบ้างก็ไม่เข้าใจ
        แต่รู้มั้ยคะว่าที่จริงแล้วเราจำผิดมาตลอด และการจำผิดแบบนี้เลยทำให้เราไม่เคยเข้าใจหลักการทำงานของมันสักที
        บทความนี้
"พี่น้อง" จะเคลียร์กันไปเลยว่าจริงๆ แล้ว Tense คืออะไร ทำไมมันถึงออกมาเป็น 12 รูปแบบให้เราได้จำกัน
 

Tense หมายถึงการเปลี่ยนรูปกริยา

        Tense (เทนส์) จริงๆ แล้วหมายถึงการเปลี่ยนรูปกริยา ซึ่งในภาษาอังกฤษมีแค่ 2 แบบเองค่ะ นั่นคือ Present Tense (รูปปัจจุบัน) กับ Past Tense (รูปอดีต)
        ยกตัวอย่างง่ายๆ จากประโยค I am a student.
        สังเกตกริยา am กับ was ที่แปลว่าเป็นทั้งคู่แต่ดันหน้าตาไม่เหมือนกัน นั่นคือการเปลี่ยน Tense จากปัจจุบันไปเป็นอดีตค่ะ คนฟังจะได้รู้ว่าสิ่งที่เราพูดถึงนั้นยังเกิดอยู่ หรือไม่ได้เกิดแล้ว
        อีกตัวอย่าง
        กริยา lives กับ lived หน้าตาไม่เหมือนกัน lives เป็น Present Tense ส่วน lived เป็น Past Tense ค่ะ
 

แล้ว Future Tense ของหนูล่ะคะ???

        ถ้ามีถามว่ารูปอนาคตของ live คืออะไร มีใครตอบได้บ้าง?
        อ่ะ บางคนบอกว่า will live กับ be going to live ไงพี่น้อง
        แต่เราเห็นใช่มั้ยว่า live มันไม่ได้เปลี่ยนรูปเลย หน้าตามันเหมือนรูป Present Tense เป๊ะ
        เพราะเวลาเราพูดถึงอนาคต เราเอากริยาตัวอื่นมาช่วย อย่าง will กับ be going to มันไม่ได้เป็นการเปลี่ยนรูป นักวิชาการฝั่งหนึ่งก็เลยบอกว่า "ไม่อ่ะ เราไม่นับว่า Future เป็น Tense กุ้ดบัยยยย"
        อันนี้เป็นความหมายที่แท้จริงของคำว่า Tense ที่นักวิชาการด้านภาษาเขายึดตามกันเนอะ จริงๆ มันมีเรื่อง Time อีก แต่กลัวจะงงกัน พี่น้องขอหลับหูหลับตาแกล้งนับ Future เป็น Tense ไปก่อนละกัน จะได้อธิบายได้ง่ายหน่อย
        หัวข้อต่อไปพี่น้องจะเข้าเรื่องแล้วว่า เจ้า 12 รูปที่เราท่องๆ กันมามันคืออะไร มันมาจากอะไร เกี่ยวข้องกับ Tense มั้ย
        อ่ะ...Let's go!
 

กริยาในภาษาอังกฤษต้องใส่เสื้อผ้า

        หลักการแต่งประโยคภาษาอังกฤษ คือ กริยาทุกตัวต้องมีเสื้อผ้าค่ะ นึกภาพว่าเราเดินออกจากบ้าน เราไม่ใส่เสื้อผ้าโดนตำรวจจับมั้ยคะ?
        ไม่โดนค่ะ เพราะจะโดนแม่เขวี้ยงตะหลิวใส่หน้าก่อน (ตึ่งโป๊ะ!)
        กริยาก็เหมือนกันค่ะ มันเอามาวางในประโยคไม่ได้ถ้าเราไม่ใส่เสื้อผ้าให้มัน เสื้อผ้าที่พี่น้องพูดถึงประกอบด้วย 2 ส่วนค่ะ คือ เสื้อ กับ กางเกง
        อุ่ย ศัพท์ยากมาละ
        ถ้า Tense คือ Present, Past, Future (เอาอนาคตมาด้วยเนาะ เดี๋ยวมันน้อยใจ) Aspect (แอสเป็ก) ก็คือ Simple, Simple Continuous, Perfect, Perfect Continuous
        อ่ะ บางคนเริ่มเห็นความสัมพันธ์ของเจ้า 2 ตัวนี้ละ
        Tense คอยบอกว่าเหตุการณ์นี้ หรือสิ่งที่เราเล่ามาเป็นประโยคมันเกิดขึ้น "เมื่อไร" (อดีต ปัจจุบัน อนาคต) แต่ Aspect จะเป็นตัวบอกว่าเหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้น "อย่างไร" ค่ะ

Aspect แต่ละตัวคืออะไรบ้าง?

        เรื่อง Aspect นี่อธิบายกันยาวนิดหนึ่งค่ะ พี่น้องจะขอย่อสั้นๆ ในบทความนี้แล้วกันนะ
SIMPLE ASPECT
        Simple Aspect เทียบกับคนก็คือเป็นคนชิลๆ ชิคๆ ชอบพูดถึงเหตุการณ์ที่ "เกิดเป็นประจำ ทำเป็นนิสัย" หรือ "บอกสภาพที่ติดตัวเรา ไม่หลุดออกไปง่ายๆ"
        โครงสร้างของมันก็ง่ายตามชื่อค่ะ คือมีกริยาหลักตัวเดียว
        สภาพที่ติดตัวเราก็เช่น อาชีพ, สัญชาติ, อารมณ์, อายุ, สิ่งที่มีในครอบครอง ฯลฯ มักเป็นกริยากลุ่ม verb to be (is, am, are, was, were) have, has, feel
        อ้าว พี่น้อง ถ้าหนูจะพูดถึงสิ่งที่หนูกำลังทำอยู่ ใช้ Simple ไม่ได้เหรอคะ
        ไม่ได้ค่ะ กำลังกระทำ เราใช้ Simple Continuous ต่างหาก
 
SIMPLE CONTINUOUS ASPECT
        Continuous แปลว่า "ต่อเนื่อง" ค่ะ Simple Continuous Aspect ถ้าเปรียบเป็นคนก็คงเป็นคนที่ active ตลอดเวลา เพราะมันใช้บอกการกระทำที่ "เกิดขึ้นอยู่ ณ ตอนนั้น" หรือ "เกิดมาอย่างต่อเนื่อง"
        โครงสร้างของมันจะไม่ค่อย simple (ง่าย) แล้วค่ะ เพราะเราต้องมี be มาไว้หน้ากริยาหลักด้วย แถมกริยาหลักยังต้องเปลี่ยนไปเติม -ing อีก! กลัวคนไม่รู้ไงว่านี่ "กำลังทำอยู่นะ"
        ดังนั้นเราจึงใช้ Simple Continuous กับประโยคที่บอก "สภาพติดตัว" ไม่ได้ เช่น ฉันกำลังอายุ 16 ปี, พี่ชายกำลังเป็นนักเรียน, น้องกำลังหัวเราะ เพราะสภาพพวกนี้มันไม่ได้หยุดทำได้ง่ายๆ เหมือนหยุดเล่นเกมนั่นเองค่ะ
 
PERFECT ASPECT
        ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า "สมบูรณ์แบบ" เพราะ Perfect Aspect ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน อนาคต (ถ้าไม่มีอะไรมาหยุด) แปลว่าการกระทำนั้นต้องทำมาระยะเวลาหนึ่ง (จะมาทำเดี๋ยวนั้นไม่ได้) ตอนที่พูดเนี่ยก็อาจจะทำอยู่ เผลอๆ จะทำไปถึงวันข้างหน้าด้วย
        หรืออาจใช้พูดถึง "ประสบการณ์" ว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่พูดเนี่ย ฉัน "เคย" ทำอันนี้มาแล้วนะจ๊ะ
        โครงสร้างของ Perfect Aspect จะวางกริยาหลักเปล่าๆ เดี๋ยวจะไปซ้ำกับ Simple จะวาง verb to be ช่วย ก็เดี๋ยวจะไปซ้ำกับ Simple Continuous อีก งั้นเอา verb to have มาช่วยละกัน
 
        สังเกตว่าบางประโยคที่เป็นรูป Perfect จะมีคำว่า since หรือ for มาด้วย เพราะมันเป็นการกระทำที่เกิดมาเป็นเวลาหนึ่งแล้ว เราอาจบอกจุดเริ่มต้นของการกระทำว่า ทำมาตั้งแต่เมื่อไร (since) หรือ ทำมาเป็นเวลาเท่าไร (for)
        น้องๆ อาจจะสงสัยว่า ทำไมตัวอย่างที่พี่น้องยกมามีแต่การกระทำที่ใช้เวลานาน ถ้าทำกริยานั้นแค่ 30 นาที จะใช้รูปนี้ได้มั้ย ได้ค่ะ แต่ถ้าเป็นการกระทำแบบ action จริงจัง เช่น ทำการบ้าน หัวเราะ ร้องเพลง ฯลฯ ควรข้ามไปใช้ Perfect Continuous ดีกว่า
 
PERFECT CONTINUOUS ASPECT
        รูปนี้จริงๆ แล้วความหมายไม่ต่างจาก Perfect ธรรมดาเลยค่ะ เป็นตัวเลือกของเราเวลาเราอยากพูดถึงการกระทำแบบ action จริงจัง เน้นๆ เลยว่าฉันทำมาแล้วอย่าง "ต่อเนื่อง" จริงๆ นะ
        โครงสร้างของมันก็จะเป็นลูกครึ่งผสมระหว่าง Perfect กับ Continuous กลายเป็น
       เพราะเป็นรูป Continuous ทำให้เราใช้รูปนี้กับกริยาที่บอก "สภาพ" ไม่ได้ จำได้มั้ยคะ? เพราะสภาพพวกนั้นมันลุกขึ้นมาทำต่อเนื่องให้เราเห็นจะๆ ไม่ได้
        จริงๆ ยังมีรายละเอียดอีกเยอะเลย แต่เดี๋ยวบทความนี้จะยาวจนทำเป็นหนังสือได้ เรามาเริ่มสวมเสื้อและกางเกงให้กริยากันดีกว่า
 

Tense กับ Aspect ก็เหมือน Apple กับ Pen

        อ่ะ ใครยังไม่ได้ดู MV PPAP ของนักร้องชาวญี่ปุ่นที่กลายเป็นกระแสในอินเทอร์เน็ตอยู่พักหนึ่ง ขอให้รีบไปเปิดดูแล้วร้องตามให้ได้เลยนะ เพราะหัวข้อนี้ เราจะมาเริ่มรวมร่าง Tense กับ Aspect กันแล้ว
        เรารู้แล้วว่า Tense บอก "เวลาที่เกิดกริยานั้น" ส่วน Aspect บอก "ลักษณะที่เกิดเหตุการณ์นั้น"
 อย่างที่พี่น้องบอกว่ากริยาทุกตัวต้องมีทั้งเสื้อ (Tense) และกางเกง (Aspect) โดยวิธีการใส่ ให้เราใส่กางเกงก่อนค่ะ
        ถามตัวเองว่าประโยคที่เราจะแต่งนั้น การกระทำเกิดขึ้นอย่างไร? ต่อเนื่องมั้ย? หรือแค่เป็นกิจวัตร? ใช้เวลานานหรือเปล่า? แล้วเราก็เลือก Aspect ให้กริยาตัวนั้นค่ะ
        เช่น พี่น้องจะแต่งประโยคว่า "จีจี้ไม่สบาย" อาการป่วย เป็นสภาพที่ติดตัวจีจี้ ไม่ใช่ว่าอยากหายก็หายได้เลย ก็เลยเลือกเป็น Simple Aspect พอ
        คำว่าป่วย ภาษาอังกฤษใช้ be sick (sick เป็น adjective ไม่ใช่กริยานะ) โครงสร้าง Simple มีแค่กริยาหลักตัวเดียว เราวางกริยาหลักไว้รอค่ะ
        แต่ประโยคนี้ยังไม่สมบูรณ์ มันมีแค่กางเกง ขาดเสื้อ พี่น้องจะเล่าว่า วันนี้ ตอนนี้ เวลานี้ จีจี้ป่วยอยู่นะ เป็นปัจจุบัน พี่เลยเลือก Present Tense
        เมื่อเราเลือก Tense ได้แล้ว วิธีการคือให้เปลี่ยนแค่ "กริยาตัวแรก" เป็นช่อง 1 (Present Tense) หรือช่อง 2 (Past Tense) หรือรูปอนาคต ตาม Tense ที่เราเลือกค่ะ
        แค่นี้ได้ละ 1 ประโยคสมบูรณ์
        ไหนลองเปลี่ยนเป็น จีจี้ไม่สบายเช่นเดิม เพิ่มเติมคือเป็นเมื่อวาน วันนี้หายแล้วจ้า เราก็ยังใช้ Simple Aspect อยู่ เพราะการป่วยเป็นสภาพ แต่เราแค่เปลี่ยน Tense จากปัจจุบันเป็นอดีต
        ง่ายมั้ย? แล้วถ้าพี่น้องอยากจะบอกว่า "จีจี้เนี่ยป่วยมาเป็นสัปดาห์แล้วนะ" พี่น้องจะใช้รูป Simple Aspect เหมือนเดิมไม่ได้ละ เพราะพี่ต้องการสื่อว่าอาการป่วยของจีจี้เนี่ยกินเวลาจากอดีตจนถึงตอนที่พูดก็ยังป่วยอยู่เลยนะ
        พี่น้องก็เลยเปลี่ยนไปใช้รูป Perfect Aspect (เราใช้ Perfect Continuous ไม่ได้เพราะมันเป็นสภาพเนอะ) อ่ะ เริ่มจากวางโครง Perfect ก่อน
        หลังจากนั้นก็มาดูว่าเราจะใช้ Tense อะไร ตรงนี้จะซับซ้อนนิดหนึ่งค่ะ เพราะพี่น้องต้องการบอกว่าอาการป่วยของจีจี้จนตอนที่พี่น้องพูดเนี่ยก็ยังไม่หายเลยนะ เลยใช้รูป Present Tense เพราะมันยังมีผลมาถึงปัจจุบัน เราก็เปลี่ยน have ให้เป็นรูปปัจจุบัน
        แล้วถ้า ณ ตอนที่พี่น้องพูดประโยคนี้ จีจี้หายป่วยแล้วล่ะ เหมือนจีจี้มาโรงเรียนแล้วเพื่อนๆ ก็แซวว่า "แก ป่วยเป็นอาทิตย์เชียว"
        เรายังคงใช้ Aspect เดิมสำหรับประโยคนี้ค่ะ (ก็บอกสภาพที่เกิดขึ้นและกินระยะเวลาเนอะ) แต่คราวนี้เราจะเปลี่ยน Tense เป็นอดีตเพราะอาการป่วยของจีจี้มันหายไปแล้วนี่
        จำไว้ว่าเวลาเปลี่ยน Tense เปลี่ยนเฉพาะกริยาตัวแรกของประโยคเท่านั้น! ย้ำว่าตัวแรกเท่านั้นนะ!
        พอเข้าใจหลักการทำงานของ Tense กับ Aspect แล้วใช่มั้ยคะ ทีนี้ ที่พี่น้องบอกว่าให้ไปดูคลิป PPAP เพราะเราจะมาซ้อมร้องเพลงกันค่ะ เอ้า เพลงมา!


 
        หลักการทำงานมันประมาณนี้แหละค่ะ อาจจะมีซับซ้อนขึ้นไปอีกบ้างถ้าเราจะพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตหรืออนาคต แต่เราจำอันนี้เป็นพื้นฐานก่อนนะ จำให้แม่น พี่น้องมั่นใจว่าวิธีการจำแบบนี้จะช่วยให้เราเข้าใจการทำงานของ Tense กับ Aspect มากขึ้นกว่านั่งท่อง Tense 12 แบบแน่นอน!
        ติดตามบทความ
English Issues เก๋ๆ แบบนี้ได้ที่เว็บไซต์ Dek-D.com กับพี่น้องและพี่พิซซ่านะจ๊ะ ใครมีคำถามอะไร หรืออยากให้สอนเรื่องไหนเป็นพิเศษ คอมเมนต์ไว้ด้านล่างได้เลย!!
พี่น้อง
พี่น้อง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด