'เอ็มม่า หยาง' สาวน้อยวัย 13 ปีที่ทำแอพเพื่อผู้ป่วยอัลไซเมอร์แอพแรกของโลก

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com อาการเด่นของผู้ป่วยอัลไซเมอร์คือการลืม สาวน้อยคนนี้อาจจะยังไม่ได้ค้นพบความลับเกี่ยวกับสมองของผู้ป่วยก็จริง แต่เธอก็ลงมือทำในสิ่งที่เธอทำได้ค่ะ นั่นคือการสร้างแอพพลิเคชั่นในมือถือ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นค่ะ


"Emma Yang" เจ้าของแอพพลิเคชั่นเพื่อผู้ป่วยอัลไซเมอร์แอพแรกของโลก*


     เอ็มม่าเป็นชาวฮ่องกง และอยู่ที่นั่นตั้งแต่เกิดจนอายุ 10 ขวบก่อนที่จะย้ายมานิวยอร์กค่ะ ปัจจุบันเธอเป็นนักเรียน ม.ต้นที่โรงเรียน Brearley School ในมลรัฐนิวยอร์ก เธอสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว และเมื่อรู้ว่าคุณย่าของเธอเริ่มมีอาการความจำเสื่อม เธอก็คิดที่จะทำแอพขึ้นมาเพื่อช่วยให้เธอกับคุณย่าคุยกันได้ง่ายขึ้นค่ะ


เอ็มม่ากับคุณย่า
Credit: seniorplanet.org/the-first-app-for-alzheimers-patients-created-by-a-12-year-old/

     เอ็มม่าบอกว่าการทำแอพของเธอเริ่มต้นจากแนวคิดง่ายๆ ว่า ต้องการทำแอพที่จะช่วยให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จดจำใบหน้าและชื่อ รวมถึงข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับคนใกล้ชิดได้ง่ายๆ นอกจากนี้ก็ต้องสามารถเพิ่มผู้คนใหม่ๆ เข้าไปในแอพได้ด้วย เธอจึงทำแอพพลิเคชั่นชื่อว่า Timeless ออกมา

     เอ็มม่าเล่าว่าความที่คุณย่าอยู่ฮ่องกง แต่เธอและคุณพ่อคุณแม่อยู่นิวยอร์กก็ทำให้มีปัญหาในการติดต่อกันเป็นประจำอยู่แล้ว วันหนึ่งคุณย่ากลับลืมวันเกิดของเธอและคุณพ่อเพราะเริ่มมีอาการหลงลืมรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การพูดคุยกันก็ยิ่งยากเข้าไปอีก การจดจำผู้คนเริ่มแย่ลง การใช้ชีวิตของคุณย่าก็ยิ่งลำบากขึ้น คุณย่าจำไม่ได้ว่าพูดอะไรไปแล้วบ้าง จำเบอร์โทรที่เคยจำได้ไม่ได้แล้ว ทำให้นอกจากคุยกับครอบครัวลำบาก ยังคุยกับเพื่อนๆ คุณย่าลำบากด้วย

Clip

สาธิตการใช้แอพ Timeless



     ตัวแอพ Timeless จึงทำมาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นค่ะ Timeless มีฟังก์ชันแจ้งเตือนการโทรออกซ้ำๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยอัลไซเมอร์หลายราย หากผู้ป่วยจะกดโทรหาเบอร์เดิมซ้ำอีกภายใน 5 นาที แอพจะแจ้งเตือนและถามว่าต้องการโทรจริงหรือไม่ นอกจากนี้ก็มีระบบจดจำใบหน้า ที่เมื่อหันกล้องไปหาใคร ไม่ว่าจะเป็นคนจริงๆ หรือภาพถ่าย ก็จะขึ้นชื่อ ข้อมูลส่วนตัว รวมถึงความสัมพันธ์ของบุคคลผู้นั้นกับผู้ป่วยด้วย ฟังก์ชันที่น่าสนใจอีกอย่างคือปุ่มกดที่ถามว่าตัวเองเป็นใครค่ะ ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยลืมชื่อตัวเองไป เมื่อกดปุ่มนี้ก็จะมีชื่อและข้อมูลส่วนตัวของตัวผู้ป่วยขึ้นมา

     การทำให้ผู้ป่วยจดจำชื่อของบุคคลอื่นได้ นอกจากจะทำให้ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นด้วย เพราะหลายครั้งผู้ป่วยจะเสียใจและโทษตัวเองอย่างหนักที่จำคนอื่นไม่ได้ แอพนี้จึงเข้ามาช่วยให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระคนอื่น


ตัวอย่างหน้าตาของแอพ Timeless
Credit: www.timeless.care

     สาวน้อยคนนี้ไม่เคยทำแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือมาก่อนด้วย เธอบอกว่าเคยเรียนพื้นฐานการเขียนโปรแกรมขั้นต้นมาบ้าง แต่ไม่เคยลงมือทำแอพเองเต็มๆ ตั้งแต่ต้นมาก่อน ยิ่งเป็นแอพใน iOs ยิ่งไม่เคยทำเลย ฉะนั้นเธอจึงต้องขวนขวายหาความรู้มากมาย และลองผิดลองถูกไปเยอะ กว่าจะออกมาเป็น Timeless ที่สมบูรณ์ได้

     นอกจากความยากในการเขียนโปรแกรม การค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็ใช้เวลานานเช่นกัน เธอต้องอ่านหนังสือมากมาย รวมถึงงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับโรคนี้ นอกจากนี้ก็ต้องสังเกตผู้ป่วยจริงด้วย เพื่อที่จะสร้างฟังก์ชันที่ช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากที่สุดเท่าที่เธอจะทำได้

     แต่ไม่ต้องกังวลนะคะว่าข้อมูลที่ได้มาจะเชื่อถือได้หรือไม่ เพราะเอ็มม่าไปขอคำปรึกษาจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเกี่ยวกับความทรงจำเสื่อมถอยของศูนย์การแพทย์ New York-Presbyterian Weill Cornell Medical Center ทุกครั้งก่อนเพิ่มฟังก์ชันอะไรใหม่ๆ ค่ะ แถมยังได้ความช่วยเหลือจากบริษัทด้านเทคโนโลยีช่วยดูแลให้แอพเสถียรมากขึ้นด้วย จริงจังมั้ยล่ะ


ขณะสอนการใช้แอพ
Credit: www.youtube.com/watch?v=JdSJeGwg8Pw

     มาดูความสำเร็จส่วนหนึ่งของเอ็มม่ากันบ้างค่ะ ในปี 2015 เอ็มม่าได้รับเลือกให้ติด 1 ใน 10 อันดับนักประดิษย์อายุต่ำกว่า 20 ที่น่าจับตาในนิวยอร์ก (10 Under 20 Young Innovators to Watch) แถมยังได้ทุนสำหรับพัฒนาแอพจากทุน Michael Perelstein Discover Your Passion Scholarship อีกด้วย

     เมื่อเดือนกันยายน 2017 ที่ผ่านมา เอ็มม่าก็เพิ่งได้รับเลือกเป็น 1 ใน MIT Solver จากงานแข่งขันการสร้างโครงการเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในโลกของเรา งานนี้จัดโดยมหาวิทยาลัย MIT และ Solve Community จากภาพจะเห็นว่าเอ็มม่าเป็นผู้ชนะคนเดียวที่ยังเป็นเด็กอยู่ ในขณะที่ผู้ชนะท่านอื่นๆ เป็นผู้ใหญ่ทั้งนั้น คิดดูว่าต้องเก่งขนาดไหนถึงไปพิตช์โครงการแล้วเอาชนะผู้ใหญ่อีกหลายๆ คนได้


เอ็มม่าแล้วผู้ได้รับเลือกเป็น MIT Solver ทั้งหมด
Credit: www.facebook.com/app.Timeless

     แม้ตอนนี้แอพพลิเคชั่น Timeless จะเสร็จจนดาวน์โหลดได้แล้ว แต่เอ็มม่าก็ตั้งใจจะพัฒนาไปเรื่อยๆ และเพิ่มฟังก์ชันใหม่ๆ เข้าไปเมื่อเธอทำได้ เพื่อพัฒนาให้ตอบโจทย์สำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์มากที่สุด

     ส่วนในเวลาว่าง เอ็มม่าฝึกฝนภาษาฝรั่งเศสและละตินเพิ่มเติมอยู่ (เธอพูดได้อยู่แล้ว 3 ภาษาคืออังกฤษ จีนกลาง และจีนกวางตุ้ง) เธอยังเล่นเชลโลและเปียโนได้เก่งมากๆ อีกด้วย และถ้าเวลาโรงเรียนมีกิจกรรมเธอก็จัดเวิร์คช็อปสอนการโค้ดให้กับเพื่อนๆ ที่โรงเรียนด้วยเช่นกัน เป็นสาวน้อยที่เก่งและยังขยันมากๆ จริงๆ เลยค่ะ


เอ็มม่าขึ้นพูดใน TEDxFoggyBottom
Credit: www.youtube.com/watch?v=ghqSw40pC5s

     *ก่อนหน้านี้มีแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์มากมาย แต่ส่วนมากจะเป็นแอพเกมฝึกสมองเพื่อชะลอโอกาสเกิดอัลไซเมอร์ และแอพสำหรับผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ว่าต้องดูแลอะไรอย่างไรบ้าง แต่แอพของเอ็มม่าถือเป็นแอพแรกของโลกที่ออกแบบให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์เป็นผู้ใช้งานแอพเอง


     เห็นความพยายามและความตั้งใจจริงของน้องเอ็มม่าแล้วต้องยกนิ้วโป้งให้เลยค่ะ ทั้งเก่ง ทั้งขยัน แถมยังมุ่งมั่นช่วยเหลือผู้อื่นด้วย ใครจะยึดน้องเอ็มม่าเป็นแบบอย่างก็ได้นะคะ ลองเข้าไปฟังน้องพูดใน TEDXFoggyBottom ก็ได้ค่ะ สร้างแรงบันดาลใจได้ดีเลย


ที่มา
www.quietrev.com/author/emma-yang/
www.crainsnewyork.com/section/20under20/2016/3430761/emma-yang
www.longevitynetwork.org/exclusive/entrepreneur-of-the-week-emma-yang-timeless/
https://solve.mit.edu/users/emma-yang
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

Mad Scientist Member 6 ธ.ค. 60 02:02 น. 1

ขณะเดียวกัน นักศึกษาcomsciวัย22คนนี้ยังแก้ออเร่อในแอปตัวเองสร้างขึ้นแบบง่ายๆ ไม่ได้เลย เก่งจริง

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด