เมื่อหมวกกันน็อกทั่วไปทำให้ "ผมเสียทรง" สองสาวสวีเดนจึงสร้าง "หมวกล่องหน" ขึ้นมา

     สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com มีใครที่ปั่นจักรยานไปไหนมาไหนเป็นหลักบ้างมั้ยคะ แล้วน้องๆ ได้สวมหมวกกันน็อกสำหรับจักรยานกันด้วยรึเปล่า หมวกกันน็อกเป็นอุปกรณ์สำคัญมากๆ เลยนะคะ มันช่วยปกป้องเราได้ แต่สองสาวดีไซเนอร์ชาวสวีเดนสังเกตว่าคนสวมหมวกน้อยมากๆ เลย ทั้งคู่จึงออกหาคำตอบในเรื่องนี้ จนเป็นที่มาของ "หมวกกันน็อกล่องหน" ค่ะ



สาวๆ กำลังสวมหมวกกันน็อกล่องหนอยู่
Credit: hovding.se


ที่มาที่ไป

     ช่วงยี่สิบปีมานี้การปั่นจักรยานได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วทั่วทวีปยุโรปค่ะ หลายประเทศก็ออกมารณรงค์ให้คนปั่นจักรยานกันเพื่อช่วยลดการใช้รถและการปล่อยก๊าซ นอกจากนี้ยังเหมือนเป็นการออกกำลังกายไปในตัวด้วย

     แล้วในปี 2005 ประเทศสวีเดนก็ออกกฎหมายบังคับให้เยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปีทุกคนต้องสวมหมวกกันน็อกเวลาปั่นจักรยานค่ะ ผู้ใหญ่หลายคนเลยรู้สึกว่า "อ้าว? แล้วผู้ใหญ่ไม่ต้องสวมหมวกกันน็อกหรอ ผู้ใหญ่ก็ตายได้นะ" ในขณะที่ผู้ใหญ่อีกฝั่งมองว่า "ดีแล้วที่ไม่มีกฎหมายบังคับของผู้ใหญ่ เพราะใส่หมวกกันน็อกแล้วผมเสียทรง แถมหมวกยังดูเฉิ่มอีกด้วย" ผู้คนในสวีเดนก็แสดงความเห็นในเรื่องนี้กันใหญ่เลยค่ะ

     ตอนนั้น แอนนา เฮาต์ (Anna Haupt) และ เทรีส อัลสติน (Terese Alstin) นักศึกษาปริญญาโทสาขา Industrial Design จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยลุนด์ รู้สึกสนใจจะแก้ปัญหานี้ ทั้งคู่จึงทำธีสิสเพื่อหาหมวกกันน็อกที่ทุกคนน่าจะยินดีเลือกใส่ ไม่ว่าจะมีกฎหมายมาบังคับหรือไม่ก็ตาม จึงเป็นที่มาของ "หมวกกันน็อกล่องหน" ค่ะ


แอนนาและเทรีส ผู้ออกแบบ
Credit: www.epo.org


ความตอบโจทย์ของผู้บริโภค

     หมวกกันน็อกล่องหนถือว่าตอบโจทย์ของผู้ใช้จักรยานได้ดีมากเลย เพราะรูปร่างตอนปกติของมันก็เหมือนผ้าพันคอหนาๆ ผืนหนึ่งเท่านั้นเองค่ะ นุ่มสบายไม่ระคายคอ แถมช่วยกันหนาวได้อีก ไม่ดูขัดหูขัดตากับเสื้อผ้าด้วย ที่สำคัญคือ มันไม่ทำให้ผมเสียทรงค่ะ

     แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เซนเซอร์ในตัวก็จะส่งสัญญาณให้ถุงลมนิรภัยทำงาน เด้งออกมาเป็นหมวกกันน็อกอย่างดีที่ครอบคลุมศีรษาได้มากกว่าหมวกกันน็อกรุ่นปกติสำหรับจักรยานซะอีก หลักการจะคล้ายกับถุงลมนิรภัยในรถยนต์ค่ะ

     สองสาวตั้งชื่อสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ว่า "Hövding" (แปลว่าผู้นำ) และจากผลงานสำหรับวิทยานิพนธ์ก็กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่วางขายจริง พร้อมเปิดบริษัทแนวสตาร์ทอัพขึ้นมาเองโดยเฉพาะ ในตอนแรกมีพนักงานไม่ถึง 20 คนด้วยซ้ำค่ะ

Clip

การทำงานของหมวก



แล้วมันปกป้องได้จริงหรอ

     สองสาวดีไซเนอร์สืบค้นข้อมูลและทำวิจัยมากมายตั้งแต่ตอนเป็นงานวิทยานิพนธ์เลยค่ะ เพราะจะสร้างหมวกกันน็อกขึ้นมาก็ต้องให้มันใช้งานได้จริงๆ ด้วยใช่มั้ยคะ จะสวยอย่างเดียวไม่ได้

     ตอนนั้นสองสาวเลยใส่ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ที่ผู้ใช้จักรยานจริงๆ เจอลงไปในโปรแกรมค่ะ โปรแกรมก็จะคำนวณค่าความเป็นไปได้ต่างๆ ในการเกิดอุบัติเหตุเก็บไว้ ถ้าเมื่อไหร่เซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่ได้ว่ามันตรงกับแพทเทิร์นเวลาเกิดอุบัติเหตุ หมวกก็จะทำงานอัตโนมัติทันที

     ตัวหมวกยังมี "กล่องดำ" ติดตั้งมาในตัวด้วยนะคะ ซึ่งจะบันทึกข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่ 10 วินาทีก่อนที่ตัวหมวกเด้งออกมา หลังเกิดเหตุแล้วก็สามารถดึงข้อมูลจากกล่องดำนี้ออกมาใช้เป็นหลักฐานได้ด้วยค่ะ

     แต่ถ้ายังไม่มั่นใจละก็ มาดูการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ กันทางนี้เลยค่ะ


ภาพสกรีนช็อตแสดงการทำงานของ Hövding เมื่อผู้ใช้จักรยานโดนรถชน
Credit: hovding.se


การทดลองและการรับรองจากหน่วยงานอื่น

     Hövding ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม CE ของยุโรปค่ะ เครื่องหมายนี้จะมอบให้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยตามเกณฑ์ผลิตภัณฑ์ของเขตเศรษฐกิจยุโรป

     อย่างหมวกกันน็อกสำหรับจักรยาน จะวางขายในยุโรปได้ก็ต้องได้รับตรา CE ก่อนเท่านั้น นอกจากนี้ยังต้องผ่านเกณฑ์อุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปด้วย ซึ่ง Hövding ก็ผ่านเกณฑ์นี้ด้วยเช่นกัน

     ในปี 2012 บริษัทประกันภัยในประเทศสวีเดนที่ชื่อ Folksam ได้ทดสอบหมวกกันน็อคสำหรับจักรยานจำนวน 13 ยี่ห้อค่ะ โดยใช้กระบวนการทดสอบทุกอย่างเหมือนกันของ CE เลย แถมยังเพิ่มความเร็วตอนปะทะจาก 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงตามมาตรฐาน CE เป็น 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแทนด้วย

     จากผลการทดสอบพบว่าหมวกกันน็อกจักรยานมาตรฐานจะมีแรงจีอยู่ที่ 196 - 294 จี ยิ่งมีค่าแรงจีน้อยเท่าไหร่ ยิ่งแปลว่าหมวกใบนั้นสามารถปกป้องศีรษะของนักปั่นได้ดีขึ้นเวลาเกิดอุบัติเหตุ แต่ Hövding ทำได้ 65 จีค่ะ ถือว่าดีกว่าหมวกปกติเยอะ แถมยังซึมซับแรงกระแทกได้ดีกว่าหมวกเดิมๆ ถึง 3 เท่า

     อีกหนึ่งการทดลองที่ดังมากๆ เลยคือการทดลองโดยทีมวิศวกรจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อปี 2016 ค่ะ ทีมวิศวกรทดสอบการตกหลายๆ แบบ และพบว่า Hövding ลดโอกาสการเกิดศีรษะกระทบกระเทือนได้มากกว่าหมวกกันน็อกจักรยานทั่วไปถึง 8 เท่า ทั้งความหนา และความแข็งที่ไม่แข็งจนเกินไป ทำให้ Hövding ป้องกันการกระทบกระเทือนที่ศีรษะได้ดีมากๆ เลยค่ะ แต่ก็ใช่ว่าจะดีกว่าหมวกจักรยานทั่วไปไปซะหมดทุกด้านนะคะ มีบางจุดที่ Hövding สู้หมวกทั่วไปไม่ได้เหมือนกันค่ะ ฉะนั้นอาจจะต้องพิจารณาดีๆ ก่อนซื้อ

Clip

สาธิตการทำงานเมื่อเกิดเหตุ

คลิปด้านบนนี้สาธิตการทำงานจริง ว่าเซ็นเซอร์แยกการปั่นจักรยานบนพื้นผิวไม่เรียบกับการเกิดอุบัติเหตุได้


รางวัลที่ได้รับ

     แอนนา เฮาต์ และ เทรีส อัลสติน ได้รับรางวัลดีไซเนอร์ทรงคุณค่าสูงสุดของโลก จากเวที Index:Award ในปี 2011 ค่ะ เวทีนี้เปรียบเหมือนเป็นเวทีออสการ์สำหรับวงการนักออกแบบโดยเฉพาะเลยค่ะ

     ในปี 2012 ทั้งคู่ก็ได้รับรางวัลจากเวที D&AD ค่ะ งานนี้เป็นงานแจกรางวัลด้านดีไซน์จากสหราชอาณาจักร แต่ก็ถือเป็นอีกเวทีใหญ่ของโลกในวงการดีไซน์เช่นกัน


Credit: hovding.se


ปัจจุบันของ Hövding

     ตอนนี้ Hövding ออกรุ่น 2.0 มาแล้วค่ะ เป็นรุ่นพัฒนาจากเวอร์ชันแรกโดยนำฟีดแบ็กของลูกค้าเวอร์ชันแรกมาใช้ ก็จะเปลี่ยนตำแหน่งพวกอุปกรณ์แข็งๆ อย่างช่องเสียบสาย USB ไปไว้อีกฝั่งที่ทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบายเวลาใช้งานมากขึ้น อัปเกรดโปรแกรมใน Hövding รวมถึงเพิ่มข้อมูลในฐานข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุค่ะ แต่ฟังก์ชันส่วนมากก็ยังเหมือนเดิม

     Hövding ตอนนี้ราคาชิ้นละ 299 ยูโร (ประมาณ 12,500 บาท) ค่ะ นอกจากนี้ก็มีอุปกรณ์เสริมเป็นผ้าสีสันต่างๆ สำหรับตกแต่ง Hövding ให้ดูเป็นแฟชั่นเข้ากับเสื้อผ้ามากขึ้น ผ้าตกแต่งมีหลายราคาตั้งแต่ 15 - 40 ยูโรค่ะ (ประมาณ 580 - 1,550 บาท)

     แม้ราคาจะแพงกว่าหมวกกันน็อกจักรยานธรรมดาหลายเท่า แต่ Hövding ก็ยังได้รับความสนใจมากอยู่จากทั่วยุโรปค่ะ ปีที่แล้วก็เพิ่งไปเจาะตลาดที่สหรัฐอเมริกา ก็ได้กระแสตอบรับที่ดีในระดับหนึ่งอยู่ค่ะ

     แต่ที่น่าเสียดายก็คือผู้ก่อตั้งทั้งสอง ทั้งแอนนาและเทรีสได้ลาออกจากบริษัท Hövding Sverige AB ของตัวเองตอนต้นปี 2015 ค่ะ เนื่องจากความคิดเห็นไม่ตรงกับ CEO ใหม่ของบริษัท



Credit: hovding.se


สิ่งที่น่าเรียนรู้จาก Hövding

     ใครจะไปคิดว่าโปรเจ็คต์ที่ทำเพื่อวิทยานิพนธ์จบปริญญาโทจะกลายเป็นสินค้าเทคโนโลยีใหม่ที่ทั้งโลกทึ่งได้ขนาดนี้

     ตัวแอนนาและเทรีสเองก็ไม่คาดคิดเช่นกันค่ะ เพราะตอนนั้นที่เริ่มมีไอเดียแก้ปัญหาด้วยการสร้าง "หมวกกันน็อกล่องหน" ที่ทำงานเหมือนแอร์แบ็ก ก็มีแต่คนพูดว่า "จะทำได้ยังไง" "จะออกแบบถุงลมเป็นแบบนั้นได้หรอ" "จะแยกลักษณะการปั่นจักรยานท่าทางต่างๆ กับเวลาเจออุบัติเหตุจริงๆ ได้อย่างไร" หรือแม้แต่ "ถึงทำมาก็ไม่มีใครยอมรับหรือให้ผ่านมาตรฐานสากลแน่ๆ"

     แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็มุ่งมั่นทำจนสำเร็จ มีชิ้นงานจริง ผ่านมาตรฐานจริง ขายได้จริง แถมจากบริษัทเล็กๆ ยังได้กลายมาเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ อีกด้วย


     จากคำถามที่ว่า "จะสร้างหมวกกันน็อกยังไง ที่ใส่แล้วผมไม่เสียทรง" ก็มาได้ไกลถึงขนาดนี้ น้องๆ คนไหนที่มีวิธีแก้ปัญหานอกกรอบแบบนี้ บางทีวิธีนั้นอาจจะเวิร์กก็ได้นะคะ ลงมือทำแล้วลองพัฒนามันต่อไปเรื่อยๆ วันนึงมันก็จะต้องสำเร็จแน่นอนค่ะ
พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

เกริด้า(๐-*-๐)v Member 20 ธ.ค. 60 15:24 น. 1

เยี่ยมเลยค่ะ เจ๋งจริงๆ แต่คงเอาใช้กับมอเตอร์ไซค์บ้านเราไม่ได้ กฎหมายยังไม่รองรับด้วยมั้งเนี่ย แต่น่าซื้อมาใช้กับจักรยานบ้านเราอยู่นะ อิอิ

1
PiZZaPeaCH Member 20 ธ.ค. 60 16:26 น. 1-1

ยังใช้กับมอเตอร์ไซค์ไม่ได้นะคะ เพราะการทดลองแบบเทียบกับหมวกกันน็อกของมอเตอร์ไซค์ Hovding ยังสู้ไม่ได้อยู่ค่ะ

0
กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

เกริด้า(๐-*-๐)v Member 20 ธ.ค. 60 15:24 น. 1

เยี่ยมเลยค่ะ เจ๋งจริงๆ แต่คงเอาใช้กับมอเตอร์ไซค์บ้านเราไม่ได้ กฎหมายยังไม่รองรับด้วยมั้งเนี่ย แต่น่าซื้อมาใช้กับจักรยานบ้านเราอยู่นะ อิอิ

1
PiZZaPeaCH Member 20 ธ.ค. 60 16:26 น. 1-1

ยังใช้กับมอเตอร์ไซค์ไม่ได้นะคะ เพราะการทดลองแบบเทียบกับหมวกกันน็อกของมอเตอร์ไซค์ Hovding ยังสู้ไม่ได้อยู่ค่ะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด