จำและนำไปใช้! 12 คำศัพท์เรียกคะแนนพาร์ท Speaking ข้อสอบ IELTS (พูดแนะนำตัวเองและครอบครัว)

     สวัสดีครับน้องๆ ชาว Dek-D.com วันนี้ พี่วุฒิ และ English Issues ได้รวบรวมคำศัพท์ที่เป็นประโยชน์สำหรับการสอบ IELTS ในส่วนของพาร์ท Speaking เกี่ยวกับการพูดแนะนำตัวเองและครอบครัวมาฝากน้องๆ ให้ได้เอาไปใช้กันครับ มาดูกันเลยว่ามีคำไหนบ้าง... 


 
     IELTS TEST (International English Language Testing System) เป็นการสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาอังกฤษ คะแนนนี้จะสำคัญมากสำหรับผู้ที่มีความประสงค์ที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ โดยในข้อสอบนั้นจะสอบครบทั้ง 4 ทักษะ นั่นก็คือ ฟัง (Listening), พูด (Speaking), อ่าน (Reading), เขียน (Writing) โดยแต่ละพาร์ทจะมีคะแนนจากน้อยไปมากตั้งแต่ 1 -9 แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงการสอบพาร์ทพูด (Speaking) ซึ่งในพาร์ทนี้ก็จะแบ่งย่อยออกเป็นอีก 3 ส่วน ดังนี้
 
     ส่วนที่ 1 ผู้คุมสอบจะถามเกี่ยวตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องงานดิเรก ชอบกินอะไร ถามเรื่องบ้านเกิด ครอบครัว การเรียน พาร์ทนี้จะคุยง่ายๆ สบายๆ ครับ ซึ่งเป็นพาร์ทเก็บคะแนนที่ไม่ควรพลาด โดยมีเวลาในการพูด 4-5 นาที
     ส่วนที่ 2 กรรมการคุมสอบจะให้เราเลือกบัตรคำถามมาแล้วเราจะต้องพูดเกี่ยวกับเรื่องที่เราจับได้ โดยมีเวลาเตรียมตัวเพียงแค่ 1 นาทีก่อนพูด โดยส่วนใหญ่เวลาพูดจริงจะให้เวลา 2 นาทีครับ และอาจมีการถามคำถามเพิ่มเติมอีกด้วย 
     ส่วนที่ 3 มาถึงพาร์ทนี้ หลายคนบอกว่ายากสุดๆ เพราะว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกรรมการผู้คุมสอบเกี่ยวกับประเด็นที่เราพูด โดยประเด็นที่พูดอาจจะยกมาจากบัตรคำถามที่เราจับได้ในส่วนที่ 2 ครับ โดยปกติใช้เวลาประมาณ 4-5 นาที

 
     มาถึงตรงนี้น้องๆ ก็พอจะรู้จักข้อสอบ IELTS พาร์ท Speaking กันไปพอสมควรแล้ว และในการสอบแต่ละครั้ง สิ่งที่สำคัญที่น้องๆ ควรเตรียมตัวให้ดีเลยนั่นก็คือ "คลังศัพท์" พยายามสะสมวงศัพท์ให้หลากหลาย เวลาเลือกใช้จะได้นำไปใช้ได้ถูกบริบท ซึ่งในบางครั้งการเลือกใช้คำศัพท์ก็จะเป็นการเรียกคะแนนให้กับเราได้ด้วย วันนี้พี่เลยรวบรวมคำศัพท์มา 12 คำ มาให้น้องนำไปใช้ในการสอบพาร์ทแรกที่จะพูดถึงเกี่ยวกับตัวเรามาให้น้องๆ จำไปใช้กันครับ   

 
1. Chilhood (N.) วัยเด็ก
(the period of life when you are a child)
 
     ปกติหลายคนอาจจะพูดว่า ‘When I was a kid’ แล้วก็ตามด้วยประโยคที่ต้องการจะพูด แต่ถ้าเราต้องการคำที่สั้น กระชับ ไม่ต้องเวิ่นเว้อ ก็ใช้คำว่า “chilhood” ได้เลยครับ 
ตัวอย่างการใช้  
My childhood was happy and carefree. I used to chase butterflies all day.
วัยเด็กของผมนั้นมีความสุขและไร้ซึ่งความกังวล ผมเคยวิ่งเล่นไล่ผีเสื้อทั้งวัน

 
2. Adolescence (N.) ช่วงวัยรุ่น
(teenage years)
 
     มีช่วงเด็กแล้วก็ต้องมีช่วงวัยรุ่น เชื่อว่าหลายคนอาจจะนึกถึงคำว่า ‘teenage time’ หรือ ‘youth’ ซึ่งถ้าจะเลือกใช้คำว่าเหล่านี้ก็ไม่ผิดครับ แต่สำหรับคำว่า “adolescence”  มันจะให้ความรู้สึกสุภาพขึ้นและดูดีขึ้นเวลาใช้ครับ 
ตัวอย่างการใช้
A large part of my adolescence was spent with studying.
ช่วงเวลาส่วนใหญ่ตอนฉันเป็นวัยรุ่นนั้นใช้ไปกับการเรียน
 



 
3. To play truant (Idiom.) โดดเรียน
(to be absent from school without permission) 
 
     วลีนี้เป็นวลีที่ควรจำครับ บางคนอาจคุ้นชินกับคำว่า ‘skip a class’ หรือแย่หน่อยก็ ‘jump a class’ (อย่าเอาไปใช้นะ!) ให้จำคำว่า “play truant” ซึ่งมีความหมายเฉพาะเลยว่า ‘โดดเรียน’ นั่นเองครับ
ตัวอย่างการใช้  
I use to play truant and spend the whole time with my friends in Siam Paragon.
ฉันเคยโดดเรียนและใช้เวลาทั้งหมดกับเพื่อนๆ ของฉันที่ห้างสยามพารากอน (อ่ะจ้ะ ไฮโซไปอี๊ก!)

 
4. Juvenile delinquency (N.) การกระทำผิดของเด็กและเยาวชน
(antisocial behaviour demonstrated by adolescents, usually breaking the law)
 
     ยอมรับเลยคำว่าตอนเห็นคำนี้ครั้งแรกก็อึ้งไปหลายนาที แต่พอเปิดพจนานุกรมแล้วก็ร้องอ๋อเลยครับ คำว่า “Juvenile delinquency” เรามักจะพบในแวดวงข่าวกฎหมาย แต่ฝรั่งส่วนใหญ่ก็ใช้คำนี้เป็นปกติอยู่แล้ว ดังน้นเราเองก็ต้องจำเอาไว้ใช้ เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ เลย
ตัวอย่างการใช้
Juvenile delinquency rates are usually higher in urban areas.
อัตราการกระทำความผิดของเยาวชนนั้นเพิ่มมากขึ้นในเขตปริมณฑล

 
5. Neglected (Adj./V.) กำพร้า, ถูกทอดทิ้ง
(not looked after, not getting any attention)
 
     คำนี้เป็นอีกคำที่พบได้บ่อยในหลายบริบท แต่ถ้าจะเราจะพูดในบริบทเล่าถึงครอบครัวว่าเป็นเด็กกำพร้าหรือถูกทอดทิ้ง เราก็สามารถนำคำว่า 'neglected' มาใช้ได้เช่นกันครับ
ตัวอย่างการใช้
These children are neglected by their parents.
เด็กพวกนี้ถูกทอดทิ้งโดยพ่อแม่ของพวกเขา

 
6. Nuclear Family (N.) ครอบครัวเดี่ยว/ ครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อแม่ลูก
(the smallest family unit: mother, father and children)
 
     พออ่านปุ๊บ ถ้าใครยังไม่รู้อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า nuclear family คือ ครอบครัวผลิตระเบิดนิวเคลียร์นะครับ ฮ่าๆ... คำว่า “Nuclear Family” นั้นก็หมายถึงครอบครัวหน่วยกลาง หรือครอบครัวที่มีแค่พ่อ แม่ ลูก เพียงแค่นั้น ไม่ใช่ครอบครัวใหญ่นั่นเอง ซึ่งเชื่อว่าหลายครอบครัวก็น่าจะเป็น nuclear family เช่นกัน ดังนั้นเวลากรรมการผู้คุมสอบให้พูดเล่าเกี่ยวกับครอบครัว ก็จำคำนี้ไปใช้เรียกคะแนนเก๋ๆ ได้เลยครับ
ตัวอย่างการใช้
Nowadays most people live in nuclear families.
ในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในครอบครัวเดี่ยวที่มีแค่พ่อแม่ลูก
 
7. Red-letter day - วันสำคัญที่ดีหรือวันแห่งความทรงจำ
(any day that’s significant and memorable to you for a reason) 
 
     เวลาสอบ speaking ในพาร์ทแรก กรรมการมักให้เล่าถึงความทรงจำที่สำคัญๆ หรือวันดีๆ ที่เราประทับใจและจดจำอยู่ในใจ แทนที่เราจะใช้คำว่า ‘important day’ หรือ ‘memorable day’ เราก็อาจเลือกใช้คำว่า "red-letter day" แทน ซึ่งคำนี้เป็นอีกวลีที่ควรจดจำนำไปใช้เรียกคะแนนได้มากเลยล่ะ และทำให้ประโยคของเราดูไม่ธรรมดาแต่ยังดูเป็นธรรมชาติอีกด้วย
ตัวอย่างการใช้ 
The day I graduated from university was a red-letter day for me and my parents.
วันที่ฉันเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเป็นวันที่สำคัญมากๆ วันหนึ่งสำหรับฉันและพ่อแม่ของฉัน

 
8. Stepparent, Stepmother, Stepfather (N.) พ่อเลี้ยง, แม่เลี้ยง
(new wives or husbands of your biological parents)
 
     พูดถึงเรื่องครอบครัวแล้ว คำนี้ก็เป็นอีกคำที่มีประโยชน์และสามารถนำไปใช้เล่าถึงเกี่ยวกับครอบครัวเราได้เช่นกัน โดยเฉพาะใครที่มีพ่อเลี้ยงคนหรือแม่เลี้ยง ก็จำไปใช้กันได้เลยครับ
ตัวอย่างการใช้ 
Cinderella used to live with a wicked stepmother and two stepsisters.
ซินเดอเรลล่าเคยอาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงใจร้ายและ 2 พี่น้องใจดำ

 
9. Stepfamily (N.) ครอบครัวที่สามีหรือภรรยามีลูกมาก่อน/ ครอบครัวผสม
(a family where either one or both parents have children from previous relationships)
 
     บางครอบครัวอาจจะเคยอย่าร้างมาก่อนและมีลูกติดแถมมาด้วย น้องๆ อาจจะเคยชินกับคำว่า ‘blended family’ มาก่อน แต่ถ้าอยากเรียกคะแนนสอบโดยการเลือกใช้คำศัพท์ให้ดูธรรมชาติเหมือนฝรั่งพูด น้องๆ ก็สามารถเลือกคำว่า “stepfamily” เพื่อพูดถึงครอบครัวที่ใครคนใดคนหนึ่งเคยผ่านการแต่งงานมาแล้ว
ตัวอย่างการใช้
Living in a stepfamily never really bothered me. I could visit my father as often as I wanted.
การอยู่ในครอบครัวผสมไม่เคยทำให้ผมรู้สึกกังวลใจเลย ผมสามารถเข้าไปเยี่ยมหาคุณพ่อบ่อยแค่ไหนก็ได้ตามที่ผมต้องการ

 

Via Pixabay.com

 
10. Quality time (N.) ช่วงเวลาดีๆ ที่ใช้ไปกับใครบางคน
(time when you dedicate yourself to only one person or activity)
 
     เวลาเล่าถึงกิจกรรมหรือช่วงเวลาดีๆ ที่เราเคยได้ใช้กับใครบางคน แทนที่เราจะใช้คำว่า ‘good time’ เราก็สามารถเลือกใช้คำว่า “quality time” จะให้ความรู้สึกว่าช่วงเวลานั้นมันมีคุณค่ามากจริงๆ ไม่ใช่แค่เป็นช่วงเวลาดีๆ แต่มันมากกว่านั้นคือมันมีความหมาย 
ตัวอย่างการใช้
I didn’t spend enough quality time with my family because I always had to work.
ฉันไม่ได้ใช้เวลามากพอกับครอบครัวของฉันสักเท่าไหร่ เพราะมัวแต่ทำงานอยู่เสมอ

 
11. To take after somebody (PHRV.) เหมือนใครสักคน
(to be/resemble someone in appearance or character)
 
     เวลาเราจะบอกว่าเราหน้าเหมือนใคร หรือมีลักษณะเหมือนใครสักคน แทนที่จะใช้คำว่า ‘be like’ ในบริบทที่พูดถึงบุคลิกภาพ เราสามารถใช้คำว่า “to take after” เพื่ออธิบายเรื่องนี้ได้ครับ
ตัวอย่างการใช้
I take after my mother. I have the same brown eyes.
ฉันเหมือนแม่ ฉันมีดวงตาสีน้ำตาลเหมือนเธอ

 
12. Foster family (N.) ครอบครัวอุปถัมภ์
(children living with guardians who are neither their natural nor their adoptive parents)
 
     จะว่าไปแล้ว ครอบครัวนั้นก็มีหลายรูปแบบ เพียงแค่จะใช้คำว่า ‘family’ มันก็อาจจะไม่ได้ครอบคลุมมากพอในความหมายของบางครอบครัว ถ้าในกรณีที่เราถูกรับอุปการะโดยครอบครัวอุปถัมภ์ เราสามารถใช้คำว่า “foster family” เพื่อบอกถึงลักษณะของครอบครัวเราที่อาจจะเป็นครอบครัวที่อุปถัมภ์ได้ครับ 
ตัวอย่างการใช้
Foster families can change a child’s life for the better.
ครอบครัวอุปถัมภ์สามารถเปลี่ยนชีวิตของเด็กคนหนึ่งให้ดีขึ้นได้
 



 
     ความจริงแล้วยังมีคำศัพท์อีกมากมายเลยครับที่ควรจำเก็บไว้ในคลังคำศัพท์เพื่อเตรียมตัวก่อนไปลงสนามสอบจริง แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราจะจำคำศัพท์ได้มากมายแค่ไหนก็เถอะ แต่ถ้านำไปใช้ไม่ถูกบริบท หรือใช้คำยากๆ แต่ใช้ไม่ถูกความหมาย คะแนนที่อาจจะได้ ก็อาจจะหายไปพริบตาเลยครับ ดังนั้นก่อนไปสอบ ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทใดก็ตาม ก็ควรที่จะฝึกฝนเยอะๆ นะครับ


 
พี่วุฒิ
พี่วุฒิ - Columnist มนุษย์ 4 มิติผู้หลงใหลในเพลงเกาหลี ชาเนสที และหมูกระทะ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Greedy 19 มี.ค. 61 20:40 น. 2

ช่วยแก้ด้วย ค่ะ ตรงคำว่า play truant.น่ะค่ะ คำแรกคุณเขียน play traunt ค่ะ ตอนแรกอ่านเจอก็ งง เดี่ยวมีคนจำไปเขียนผิดนะคะ

1
กำลังโหลด
กำลังโหลด