จดไว้เลย! วิธีบอก ‘ระดับความรู้ภาษาอังกฤษ’ ลงใน ‘เรซูเม่สมัครงาน’ แบบมาตรฐานสากล

     สวัสดีครับน้องๆ ชาว Dek-D … เวลาที่เราเขียน ‘เรซูเม่’ เพื่อสมัครงานหรือสมัครฝึกงาน/สหกิจศึกษา อีกหนึ่งพาร์ตที่ควรระบุลงไปด้วยก็คือ ‘ระดับความรู้ภาษา’ และโดยเฉพาะกับ ‘ภาษาอังกฤษ’ ซึ่งเป็นภาษาพื้นฐานที่หลายๆ บริษัทใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาในการรับสมัครงาน วันนี้ พี่วุฒิ และ English Issues มีทริคเล็กๆ น้อยๆ ในการเขียนบอกความรู้ทางภาษาอังกฤษลงในเรซูเม่ ที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป แต่บอกเลยว่า สำคัญมากๆ!

 


 
      เดี๋ยวนี้เวลาทำเรซูเม่ บางคนอาจจะดาวน์โหลดเทมเพลตสวยๆ จากเว็บไซต์ที่เค้าแจกฟรีมา เพื่อเพิ่มความเก๋และอยากให้เรซูเม่ของตัวเองนั้นดูสะดุดตาบริษัท จนบางทีอาจลืมไปว่า เนื้อหาในเรซูเม่นั้นคือสิ่งที่สำคัญที่ควรจะโฟกัสเช่นกัน และเคสที่ HR จากหลายบริษัทบ่นกันบ่อยมาก ก็คงจะเป็นเรื่องของการระบุระดับความรู้ภาษาลงในเรซูเม่ หลายคนเลือกใช้เทมเพลตที่เป็นกราฟแท่งบอกเลเวลภาษาของตัวเอง แทนที่จะบอกระดับความรู้ภาษาที่ตัวเองไปสอบมา พอดูแล้วมันก็ไม่ได้ต่างไปจากการบอกกล่าวลอยๆ ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่า ที่เราทำเป็นกราฟเลเวลเนี่ย อันนี้คือเรารู้จริงๆ หรือว่ามันเป็นสิ่งที่มโนขึ้นมากันแน่ ควรจะบอกเป็นคะแนนไปเลยจะดีกว่ามั้ย อย่างภาษาอังกฤษ ก็ควรบอกไปเลยว่า คะแนน TOEIC, IELTS, TOEFL ได้เท่าไหร่ แยกไปเลยว่าแต่ละพาร์ตเราได้กี่คะแนน คนที่เปิดอ่านจะได้รู้และพิจารณาถูก  
 
     แต่ถ้าน้องๆ อยากจะบอกระดับความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาแบบมาตรฐานตามฉบับสหภาพยุโรปเลยจริงๆ พี่ก็อยากแนะนำให้ระบุคะแนนแบบ CEFR (Common European Framework of Reference) ซึ่งจะมีการแบ่งเป็น 6 ระดับ บางคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตาระดับ CEFR ตามปกหลังหนังสือภาษาอังกฤษกันมาบ้างแล้ว แต่ถ้าใครยังไม่รู้ว่ามันมีระดับอะไรบ้าง และแต่ละระดับมันสื่อถึงความเชี่ยวชาญทางภาษาขนาดไหน ว่าแล้วก็มาดูกันเลยครับ

 


 

การแบ่งระดับความเชี่ยวชาญทางภาษาตาม CEFR แบ่งเป็น 6 ระดับ ดังนี้
 

1. Basic User (ผู้ใช้ภาษาระดับต้น)
 
A1 (Breakthrough) 
 
     สำหรับ A1 จะเป็นระดับพื้นฐานที่สุดสำหรับผู้เริ่มเรียนภาษาอังกฤษ เนื้อหาระดับความรู้ก็จะเป็นเรื่องเบสิค บทสนทนาทักทายง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน สามารถบอกได้ว่าเราเป็นใครมาจากไหน หรือสามารถถามคนอื่นในเรื่องทั่วไปได้ เช่น ถามชื่อ อายุ ที่อยู่ ข้อมูลส่วนตัวพื้นฐาน จะไม่ค่อยมีความซับซ้อน รูปประโยคง่าย สามารถฟังประโยคสนทนาได้ แต่ต้องเป็นประโยคที่พูดช้าๆ เป็นต้น หลายคนมักจะเรียกระดับ A1 ว่า Beginner, Preliminary หรือ Starter    
 
A2 (Waystage)
 
      เป็นระดับพื้นฐานที่พอจะเข้าใจเนื้อหาได้หลากหลายมากขึ้น สามารถใช้สำนวนทั่วไปในการสนทนาได้ แต่ก็ยังถือว่าเป็นพื้นฐานอยู่ เช่น ถามตอบเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว การช้อปปิ้ง การสมัครงาน หรืออาจจะเป็นเรื่องข้อมูลพื้นฐานอื่นๆ สามารถเล้าประวัติส่วนตัวได้ พูดถึงสภาพแวดล้อมหรือเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมได้บ้าง หลายคนมักเรียกระดับนี้ว่า Elementary  

 


 
2. Independent User (ผู้ใช้ภาษาขั้นอิสระ)
 
B1 (Threshold)
 
     ระดับนี้จะเป็นระดับกลางขั้นต้น จะเข้าใจและสามารถสื่อสารในประเด็นต่างๆ ได้มากขึ้น สามารถรับมือกับการอยู่ในสถานการณ์ที่มีแต่คนพูดแต่ภาษาอังกฤษได้ และยังเชื่อมโยงเนื้อหา อธิบายประสบการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ ได้ เช่น การงาน การเรียน งานอดิเรก พูดถึงเรื่องความหวังหรือความฝันได้ ยกเหตุผลประกอบการอธิบายได้ เสนอความคิดเห็นและวางแผนได้ จึงมักเรียกว่าอยู่ในระดับ Pre-intermediate
 
B2 (Vantage) 
 
     ระดับนี้จะเป็นระดับกลางขั้นปลาย ผู้ใช้จะเข้าใจภาษาอังกฤษที่มีเนื้อหาที่ซับซ้อน หรือหัวข้อที่เป็นนามธรรมได้ดี สามารถใช้ศัพท์เฉพาะทางได้ สื่อสารกับเจ้าของภาษาได้อย่างราบรื่นโดยที่เจ้าของภาษาสามารถพูดได้ตามธรรมชาติของตัวเอง สื่อสารในหัวข้อที่หลากหลายและมีรายละเอียดมาก สามารถถกข้อดีข้อเสียของแต่ละหัวข้อได้ ส่วนใหญ่แล้วจะมักเรียกว่าระดับ Upper-intermediate หรือบางที่อาจเรียกว่า Advanced

 


 
3. Proficient User (ผู้ใช้ภาษาขั้นสูง)
 
C1 (Effective Operational Proficiency)
 
     ผู้ใช้ภาษาอังกฤษในระดับนี้ จะเข้าใจเนื้อหาที่มีความยาก และประโยคที่มีความยาวได้เป็นอย่างดี สามารถตีความประโยคที่มีนัยแฝงได้ จำรายละเอียดเล็กน้อยในเรื่องได้หมด เสนอความคิดได้อย่างคล่องแคล่วและเป็นธรรมชาติ อีกทั้งยังเชี่ยวชาญโดยไม่ค่อยต้องพยายามนึกคำให้ออก มีความยืดหยุ่นทางภาษา สามาารถแยกการใช้ได้ทั้งในระดับสังคม วิชาการ หรือการทำงาน อธิบายอะไรได้ละเอียด มีโครงสร้างการเล่าเรื่องที่ดีเป็นขั้นเป็นตอนและมีความขัดเจน ทำให้คนอื่นเข้าใจได้ ประยุกต์และปรับใช้ภาษาได้เยอะ เรามักจะเรียกผู้ใช้ระดับภาษานขั้นนี้ว่า Advanced หรือ Proficiency
 
C2 (Mastery)
 
     สำหรับระดับ C2 นี่เรียกว่า ผู้ใช้จะมีความเชี่ยวชาญเทียบเท่ากับเจ้าของภาษาเลย จะเข้าใจทุกอย่างที่ได้ยินหรือได้อ่านมาแจ่มแจ้งจนเห็นภาพในหัวเลย เข้าใจสำนวนหรือคำพังเพยต่างๆ สามารถสรุปสาระได้ดี ไม่ว่าจะจากการพูดหรืองานเขียนใดก็ตาม อีกทั้งยังสร้างข้อโต้แย้งได้ นำเสนอได้อย่างมีเอกภาพ แสดงความคิดเห็นได้อย่างชำนาญและถูกต้องแม่นยำ มองเห็นแม้ความต่างของข้อมูลเพียงเล็กน้อยในหัวข้อที่ซับซ้อน ระดับนี้อาจจะถูกเรียกว่าเป็นระดับ Advanced, Mastery, Masters หรือ Proficiency
 
การสอบ A1 A2 B1 B2 C1 C2
IELTS 2.0 3.0 3.5 - 4.5 5.0 - 6.0 6.5 - 7.5 8.0 - 9.0
TOEFL (IBT) - - 42 - 71 72 - 94 95 - 120 -
TOEIC 120 -215 225 -540 550 -775 785 - 935 945 - 990 -
ตารางเปรียบเทียบคะแนน CEFR กับ IELTS, TOEIC, TOEFL 
 
      พอลองเทียบดูจากตาราง จริงๆ แล้วก็อาจจะไม่ได้เทียบเป๊ะๆ มากนะครับ แต่โดยรวมก็จะประมาณนี้ ถ้าสำหรับการสมัครงาน ในหลายบริษัทก็อาจจะใช้คะแนน TOEIC เข้ามาพิจารณา และถ้านำมาเทียบกับ CEFR แล้ว คะแนนในระดับที่สามารถยอมรับได้นั้น จะอยู่ประมาณตรงกลางระหว่าง B2 กับ C1 ครับ แต่ถ้าในการสมัครเรียนต่อต่างประเทศเนี่ย ส่วนใหญ่แล้วทุกๆ มหาวิทยาลัยจะใช้คะแนน IELTS กับ TOEFL ถ้าเป็นในระดับที่ยอมรับได้นั้นจะอยู่ในช่วง C1 กับ C2 ครับ แต่ไม่ว่าจะสมัครอะไรก็ตาม เราสามาถใช้ CEFR ได้เลยครับ เพราะเป็นมาตรฐานใช้ได้ทั่วโลกเลย
 
      และถ้าน้องๆ สงสัยว่า แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าเรามีความรู้ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับไหน? ปัจจุบันมีหลายสำนักที่เปิดสอบเพื่อวัดระดับอยู่ครับ หรืออย่างตอนสมัยที่พี่เรียน ที่มหาวิทยาลัยก็เปิดสอบเพื่อวัดระดับระดับภาษาอังกฤษแบบ CEFR เหมือนกัน และยังใช้เป็นเกณฑ์คะแนนในการเรียนจบด้วย (โปรดอย่าถามว่าได้คะแนนเท่าไหร่ ช้ำใจมากครับ 55555) แต่ถ้าน้องๆ ไม่สะดวกไปสอบ ก็ลองทดสอบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ดูคร่าวๆ ก่อนก็ได้ครับ มีหลายเว็บเลยที่เปิดให้ลองสอบแบบฟรีๆ แต่ก็อาจจะใช้เวลาในการทำข้อสอบนานหน่อย เพราะส่วนมากจะวัดทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน จะไวยากรณ์หรือศัพท์อะไรก็มาหมดเลยครับ เว็บไซต์ที่พี่แนะนำได้แก่ www.examenglish.com, www.languagelevel.com, www.englishtag.com ยังไงก็ลองเปิดเข้าไปทดสอบกันได้นะครับ 

 


 
     จริงๆ แล้ว ต้องบอกไว้เลยว่า CEFR ไม่ได้จัดระดับแค่ของภาษาอังกฤษเท่านั้นนะครับ เพราะว่าภาษาอื่นๆ ในโลกก็มีการจัดระดับเทียบแบบ CEFR เช่นกัน (รวมไปถึงภาษาไทยของเราด้วย) และในการจัดอันดับความรู้ภาษาอังกฤษของแต่ละประเทศทั่วโลกในแต่ละปี เค้าก็ใช้ CEFR เป็นเกณฑ์ในการจัดอันดับเช่นกัน ในส่วนของประเทศไทยนั้น ตอนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ A2 ครับ…  
 
     
 
    และจากบทความนี้ พี่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับน้องๆ ในการเขียนเรซูเม่สมัครงานนะครับ ทั้งนี้ต้องบอกไว้ก่อนว่า บางบริษัทก็อาจจะไม่ได้เคร่งว่าจะต้องมีคะแนน CEFR ลงในเรซูเม่ แต่ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ๆ หรือบริษัทที่มีการทำงานร่วมกับคนต่างชาติ พี่ก็แนะนำว่าควรเขียนบอกระดับคะแนนแบบนี้ไปจะดีกว่า แต่ถ้าบางสายงานที่ไม่ได้เคร่งมาก ไม่ได้ใช้เกณฑ์ภาษาอังกฤษในการพิจารณา ใครอยากจะจัดเต็มโชว์ความครีเอทีฟสุดอลัง ก็จัดไปเลยจ้า แล้วแต่จะพิจารณาเนอะ

 
Source:
พี่วุฒิ
พี่วุฒิ - Columnist มนุษย์ 4 มิติผู้หลงใหลในเพลงเกาหลี ชาเนสที และหมูกระทะ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดการเชื่อมโยงลิงก์ไปยังเว็บไซต์อื่น

กำลังโหลด
กำลังโหลด