เช็กตัวเอง! 5 หลักจิตวิทยาว่าด้วย ‘การโกหก’ ที่เราว่าเขา แต่เราก็(อาจ)เป็น

     ขึ้นชื่อว่า ‘การโกหก’ แน่นอนว่าถ้าใครมาทำกับเราแบบนี้ มันก็คงรู้สึกไม่ดีสักเท่าไหร่ และถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากถูกใครโกหก … แต่ในบางครั้งเราเองก็อาจเคยโกหกคนอื่นเหมือนกัน และคงจะมีเหตุผลที่ต้องเลือกไม่พูดความจริง บ้างก็อาจบอกว่าเพื่อความสบายใจของคนอื่น หรือบางทีเราก็แกล้งโกหกเพื่อเอาตัวรอด แม้ว่าเราจะไม่ชอบมัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเองก็ทำ
 
      ที่ผ่านมีนักจิตวิทยาหลายท่านได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการโกหกของมนุษย์ และได้พบมิติหลากหลายเกี่ยวกับการโกหกซึ่งน่าสนใจมากๆ วันนี้ พี่วุฒิ เลยรวบรวมมาให้น้องๆ ชาว Dek-D ได้อ่านกัน และลองเช็กตัวเองว่าเราเข้าข่ายประเภทไหนบ้าง ตามมาเลยครับ


 


 
      มาเริ่มที่คนแรกเลยดีกว่ากับ ‘คุณพอล เอ็คแมน (Paul Ekman)’ ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านจิตวิทยาแห่ง University of California ประเทศสหรัฐอเมริกา และยังเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Telling Lies’ ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับการโกหกเอาไว้ และจากการวิจัยของเขาพบว่า มีรูปแบบการโกหกที่น่าสนใจและมักพบได้ในสังคมปัจจุบันอยู่ 2 แบบ คือ

 

Compulsive Liar 
 

     เริ่มกันที่รูปแบบแรกคือ ‘Compulsive Liar’ หรือ ‘การโกหกจนเป็นนิสัย’ สำหรับคนประเภทนี้จะชอบโกหกมากกก เรียกว่าโกหกจนชิน ทำจนเป็นเรื่องปกติ และถึงแม้ว่าจะรู้ตัวเองว่ากำลังโกหกอยู่ เค้าก็ไม่สามารถหยุดการกระทำแบบนี้ได้ ซึ่งเรื่องที่มักเอาไปลวงหลอกคนอื่นก็อาจจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไรหรอกนะครับ และก็ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเอาเปรียบหรือทำร้ายใคร แต่เค้าแค่เป็นคนชอบโกหกเฉยๆ อารมณ์ประมาณว่า เคยโกหกไปแล้ว ต่อไปก็ต้องโกหกไปอีกเรื่อยๆ ก็มันหยุดไม่ได้นี่นา 
 
     เอาจริงคนที่อยู่ในประเภท Compulsive Liar พวกเค้ายังรู้สึกผิดชอบชั่วดีอยู่นะครับ เพราะอย่างน้อยก็ยังรู้ตัวเองว่าที่ทำอยู่น่ะ มันผิด! บางคนก็เลือกโกหกเพื่อเอาตัวรอดในบางสถานการณ์ หรือบางคนก็แค่ทำเพื่อให้ตัวเองรู้สึกสบายใจที่จะไม่ต้องพูดความจริง แต่ก็อย่างที่บอกว่า พอพวกเค้าทำจนเป็นนิสัย มันก็ยากที่จะหยุดการกระทำแบบนี้ และถึงแม้จะมีเหตุผลที่ทำลงไป แต่สุดท้าย ‘โกหกก็คือโกหก’ อยู่ดี 

 

รูปประกอบจาก Gone Girl

 

Pathological Liar
 

       เมื่อมีโกหกคนอื่นไปแล้ว อีกประเภทที่ต้องมาคู่กันเลยก็คือ ‘Pathological Liar’ หรือ ‘การโกหกตัวเอง’ ถ้าจะบอกว่านี่คืออาการของโรคชนิดหนึ่งได้ มันก็คงจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่าเมื่อเป็นไปแล้ว มันก็เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ยากมากกกก แน่นอนว่าบางคนอาจจะแกล้งโกหกตัวเองในบางโอกาสเพื่อให้เกิดความสบายใจ แต่ก็คงไม่ใช่ทุกครั้งเหมือนกับคนที่ตกอยู่ในอาการนี้ เพราะว่าพวกเค้าเลือกโกหกตัวเองจนคิดว่า นี่อ่ะ คือเรื่องจริง!

      คนประเภทนี้จะเชื่อแค่สิ่งที่ตัวเองแต่งเรื่องขึ้นมาเท่านั้น เรียกว่าใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ตัวเองมโนขึ้นมาก็ว่าได้ ต่อให้เราไปซักถามเพื่อชักหาข้อเท็จจริง หรือจับเค้ามานั่งตรวจกับเครื่องจับเท็จ เราก็คงจะดูไม่ออก ไม่ได้คำตอบว่าอะไรคือความจริง เพราะเค้าเชื่อในสิ่งที่เค้ากำลังโกหกนั่นเอง หลายคนพอได้พูดคุยกับคนเหล่านี้ก็จะเกิดอาการมึนหัว และเกิดความสงสัยในทุกคำพูดที่พรั่งพรูออกมา เพราะมันช่างย้อนแย้งกันซะเหลือเกิน และมักจะเกิดคำถามว่า ‘อ้าว! รอบที่แล้วไม่ได้พูดแบบนี้นี่?’
 
     เชื่อว่าถ้าเลือกได้บางคนเค้าก็คงไม่อยากเป็น Pathological Liar หรอก และต้องเข้าใจว่าก่อนจะเป็นแบบนี้มันมีที่มาที่ไป เพราะทุกการกระทำที่คอยหล่อหลอมให้เค้าทำแบบนี้ แต่ละคนล้วนมีที่มาที่แตกต่างกัน บ้างอาจจะมีปมที่ติดอยู่ในใจตั้งแต่วัยเด็ก บางคนก็สร้างเรื่องโกหกตัวเองขึ้นมาเพื่อหนีจากสภาพความจริงที่เป็นอยู่ ซึ่งเค้าเองอาจจะไม่มีความสุขเลย หรือไม่ก็แค่ต้องการการรับการยอมรับจากคนอื่น เลยต้องสร้างตัวตนใหม่ๆ ในแบบที่ตัวเองต้องการจะเป็น  

 

รูปประกอบจาก Gone Girl

 
      และอย่างที่บอกไปข้างต้นว่ามีนักวิจัยหลายท่านได้ทำการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับเรื่องรูปแบบการโกหกของมนุษย์ เช่นเดียวกันกับ ‘แชนนอน โบเวน (Shannon Bowen)’ อาจารย์สอนวิชาเกี่ยวกับจิตวิทยาที่ University of South Carolina ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้สรุปรูปแบบของการโกหกมา 3 แบบ แต่ละประเภทน่าสนใจยังไงบ้าง มาดูกันเลยครับ 

 

Narcissistic Liar
 

        หลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตากับ ‘โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder)’ กันมาบ้าง ซึ่งอาการของคนเหล่านี้ พวกเค้ามักจะชอบยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง โนสนโนแคร์ผู้คนรอบข้าง และชอบหมกมุ่นกับการยกยอตนเองให้ผู้อื่นสนใจ และดูเหมือนว่าโรคนี้ก็อาจจะเหมือนกับคนที่เป็น ‘Narcissistic Liar’ หรือ ‘การโกหกของคนหลงตัวเอง’ เรียกว่าถอดมากันเหมือนราวกับแกะเลยก็ว่าได้ เพราะว่าพวกเค้านั้นชอบโกหกตัวเองว่าดีเลิศประเสริฐกว่าใคร ย้ำตัวเองเสมอว่าชั้นอยู่เหนือทุกคน และชอบทำอะไรที่ไม่ได้สนใจความรู้สึกผู้อื่น ถ้าได้กดคนอื่นให้ต่ำลงและยกตัวเองให้สูงขึ้น ก็เหมือนจะเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองได้ 
 
       คนที่เป็น Narcissistic Liar จะมีความนับถือตัวเองต่ำ พวกเค้าไม่สามารถอดทนฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่นได้สักเท่าไหร่ และมักโกหกเข้าข้างตัวเองว่า ‘มันไม่ใช่เรื่องจริง ชั้นน่ะดีที่สุดแล้ว!’ แน่นอนว่า ถ้าใครได้ร่วมงานกับคนเหล่านี้ ก็คงจะอึดอัดใจน่าดู (พี่รู้ว่าน้องก็อาจจะเคยเจอคนแบบนี้มาก่อน 5555) และทำให้เกิดปัญหาในการทำงานอยู่หลายครั้ง ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามงานไม่สำเร็จตามที่หวัง เค้าก็อาจจะโทษคนอื่น แต่ถ้างานปังและได้รับคำชม เค้าก็จะยกเครดิตแค่ตัวเอง โดยไม่ได้สนเพื่อนร่วมงานสักเท่าไหร่ (ปวดหัวเลยนะ เจอคนแบบบนี้อะ)

 

รูปประกอบจาก Gone Girl

 

Sociopathic Liar
 

     มาถึงการโกหกแบบ ‘Sociopathic Liar’ หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย ก็คงจะเป็นพวกที่ชอบโกหกจนเข้าข่ายจิตผิดปกติ และดูเหมือนว่าจะแย่ที่สุดในบรรดาการโกหกทั้งหมดซะด้วย เพราะพวกเค้ามักจะเสพติดการโกหกเป็นชีวิตจิตใจ และไม่ได้แปลว่าการโกหกในแต่ละครั้งจะต้องมีเหตุผลเสมอไป ชั้นอยากโกหก ใครจะทำไมเหรอ? ไม่เห็นจะต้องแคร์เลย ไม่สนหรอกว่าใครจะได้รับผลการกระทบจากกระทำนี้บ้าง ชั้นรู้สึกแค่ว่า ตอนนี้สนุกมากที่ได้เห็นคนอื่นปั่นป่วน วุ่นวาย หรือแค่โกหกเพื่อให้คนรู้สึกผิดหวัง ก็เป็นเรื่องที่สนุกดี (น่ากลัว)
 
       บางทีคนประเภท Sociopathic Liar เค้าก็ไม่ได้แสดงการโกหกแบบโจ่งแจ้งให้เราได้รับรู้หรอกนะครับ กับบางคนโดยเฉพาะคนที่เชื่อคนง่าย บอกเลยว่าต้องระวังให้ดีๆ เพราะเค้าจะใช้คำพูดหว่านล้อมให้เราปักใจเชื่อ และอาจใช้เราเป็นเครื่องมือในการโกหก แน่นอนว่าที่ทำไปก็คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ เราเองก็อาจจะโดนหางเลขจากเรื่องนี้ไปด้วยก็ได้ หรือไม่แน่เค้าอาจจะโยนความผิดกับเราแค่ฝ่ายเดียว โดยตัวเองไม่ได้สนอะไรเลย (เหตุการณ์คุ้นๆ นะครับ แหะๆ) ทางที่ดีในการจัดการคนประเภทนี้ เราต้องอาศัยหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเดียวเลยครับ ถึงจะจับโป๊ะได้อยู่หมัด ไม่งั้นเค้าก็แถไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้นแน่นอน  

 

White Lie
 

     ปิดท้ายด้วยการโกหกประเภทสุดท้ายที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี (หรือบางคนอาจจะทำอยู่) กับการโกหกแบบ ‘White Lie’ หรือ ‘โกหกบริสุทธิ์’ และที่บอกว่าเป็นประเภทที่ใช้บ่อยสุดแต่บางคนกลับไม่รู้ตัว เพราะการโกหกแบบนี้เป็นการกระทำเพื่อเอาตัวรอดกับบางสถานการณ์ที่น่าอึดอัด เช่น เราต้องยอมไม่พูดความจริง หรือพูดไม่ตรงกับสิ่งที่คิดเพื่อรักษาน้ำใจคนอื่น สมมติว่าเพื่อนถามว่า 'เสื้อฉันสวยมั้ย?' เราเองก็ไม่อยากทำร้ายน้ำใจแม้เราจะคิดอีกอย่าง ก็เลยบอกว่า ‘สวยดีนะ!’ หรือในบางสถานการณ์ที่เรารู้สึกว่า ถ้าพูดไปมันจะทำร้ายความรู้สึกคนอื่นแน่ๆ เราก็แกล้งบอกไปว่า ‘ไม่รู้เหมือนกัน’ แม้เราจะรู้อยู่เต็มอก แต่บางเรื่องไม่พูดออกไปจะดีกว่า เป็นต้น (ใครทำบ่อยยกมือเลยครับ 5555)


 
รูปประกอบจาก Gone Girl

 
       อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว บางคนอาจจะเกิดคำถามว่า การโกหกมันจำเป็นต้องแยกประเภทขนาดนี้เลยเหรอ? เพราะสุดท้ายแล้ว ‘การโกหกก็คือโกหก’ อยู่ดี… นั่นสิ มันก็จริงอยู่ แต่ก็อย่างที่บอกแหละครับว่า การโกหกมันก็มีมิติของมัน ขึ้นอยู่กับว่าเราโกหกเพื่ออะไร ทำร้ายใครหรือเปล่า หรือเราแค่เอาตัวรอด แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนจะโกหกทุกครั้ง ก็ลองตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าที่ทำอยู่นั้น ‘เราทำเพื่อตัวเอง หรือ ทำร้ายตัวเองกันแน่’….


 
Source:
https://www.prweek.com/article/1454441/3-types-liars-spot-deal-ruin-team
http://www.compulsivelyingdisorder.com/5-different-types-of-liars/
https://www.everydayhealth.com/emotional-health/truth-behind-pathological-compulsive-liars/
https://www.psychologytoday.com/us/blog/communication-success/201608/8-common-narcissist-lies
พี่วุฒิ
พี่วุฒิ - Columnist มนุษย์ 4 มิติผู้หลงใหลในเพลงเกาหลี ชาเนสที และหมูกระทะ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
นางสาวเครียดโว้ยยยย 9 ก.ย. 61 07:29 น. 2
Narcissistic Liar

นี้เพื่อนเราเลย เรารู้ความจริงทุกอย่างน่ะแต่ไม่พูด

แถมเวลาทำงานก็ไม่ช่วยพองานเสร็จเรากับเพื่อนที่ทำนี้หมาเลย555

ถ้างานไหนเพื่อนในกลุ่มเถียงได้ว่านางไม่ได้ทำ นางจะบอกว่างานเน่างานเละสู้คุณเธอทำไม่ได้หรอก

นี้คบกันมา 3 ปีล่ะ รู้หมดแต่ไม่อยากพูดทำร้ายเพื่อน

นี้ก็ยังหาวิธีแก้อยู่เลย กลัววันไหนพลาดไปโกหกคำโตเข้า มันดูโกหกเหมือนเป็นนิสัย555

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด