เปิดสตอรี่ ‘Murakami Flower’ ดอกไม้สีรุ้งยิ้มแฉ่งที่เบื้องหลังแฝงไปด้วยความเศร้า!

     สวัสดีครับน้องๆ ชาว Dek-D ถ้าพูดถึงไอเท็มสุดฮิตของเหล่าวัยรุ่นที่มาแรงสุดๆ ในปีนี้ หนึ่งในนั้นจะต้องมี ‘Murakami Flower’ หรือดอกไม้สีรุ้งยิ้มแฉ่ง ที่หลายคนนำมาติดตกแต่งตามเสื้อผ้า กระเป๋า หรือรองเท้า เพื่อเพิ่มความชิคให้กับตัวเอง แล้วน้องๆ รู้หรือเปล่าครับว่าความหมายที่แท้จริงของดอกไม้นี้คืออะไร แล้วภายใต้รอยยิ้มนั้นแฝงอะไรเอาไว้บ้าง มาทำความรู้จักไปพร้อมๆ กันเลยครับ


 

Cr. IG: takachipom
 
       ก่อนจะไปหาความหมายของดอกไม้หน้าเปื้อนยิ้มนี้ เรามาทำความรู้จักกับคนที่ให้กำเนิดดอกไม้นี้กันก่อน เค้าคนนั้นคือ ‘ทาคาชิ มุราคามิ (Takashi Murakami)’  ศิลปินผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นศาสดาศิลปะแนวป๊อบระดับท็อปของประเทศญี่ปุ่น เขาเกิดในปี ค.ศ. 1962 ณ กรุงโตเกียว เรียนจบปริญญาตรีและโทจาก Tokyo National University of Fine Arts and Music สาขาจิตรกรรรมญี่ปุ่นแนวประเพณี    
 
      ผลงานขึ้นชื่อของมุราคามิคือ ‘Superflat’ เป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความสดใส และลักษณะการ์ตูนจะเป็นลักษณะแบนราบมิติเดียว แต่ยังคงแฝงความเป็นญี่ปุ่นในลายเส้น เป็นการผสมผสานศิลปะตะวันตกกับวัฒนธรรมป๊อบของญี่ปุ่นออกมาได้อย่างลงตัว และผลงานอันโดดเด่นนี้ นำพาเค้าให้ได้ร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นดังๆ ระดับโลกในการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ผสมผสานกับลายเส้นของมุราคามิ ไม่ว่าจะเป็น Louis Vuitton, Supreme, Comme des Garçons, Vans, Issey Miyake, Google, Kaws, Uniqlo และรวมไปถึง Casio G-Shock เป็นต้น นี่แค่น้ำจิ้มนะครับ ยังมีอีกหลายแบรนด์เลยล่ะ  

 

ดอกไม้แห่งความชอบและความเกลียด
 

      เมื่อพูดถึงผลงานของมุราคามิแล้ว เราจะไม่พูดถึง ‘ดอกไม้สีรุ้งยิ้มแฉ่ง’ หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘Murakami Flower’ ไม่ได้เลย เพราะว่านี่เหมือนเป็นซิกเนเจอร์ที่พอเห็นปุ๊บ ก็รู้เลยว่านี่คือผลงานของเค้า ยิ่งในปัจจุบันเรียกว่าเห็นได้เกลื่อนเลย (โดยเฉพาะถ้าไปเดินสยามช่วงนี้) อย่างที่บอกไปว่า มีหลายแบรนด์ดังที่ได้จับมือร่วมกับมุราคามิออกคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีลายดอกไม้ยิ้มแฉ่งนี้ หรือบางคนอาจนำมาประดับตกแต่งกับเครื่องแต่งกาย เพิ่มความเก๋ไก๋ตามแฟชั่น แม้ว่าราคาจะแรงแค่ไหน ก็ขอพกให้อุ่นใจไว้ก่อน แต่ใครบ้างจะรู้ว่าภายใต้รอยยิ้มของดอกไม้นั้น มันแฝงความหมายที่แท้จริงอะไรไว้บ้าง…
 
      ย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของเค้าในการสร้างดอกไม้หน้าเปื้อนยิ้มนี้ ในตอนแรกมุราคามิบอกว่า “ผมไม่ชอบดอกไม้เลย แต่เมื่อได้มาเป็นครูสอนที่โรงเรียน ความรู้สึกของผมกลับเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นของดอกไม้ หรือรูปร่างของดอกไม้ มันทำให้ผมรู้สึกป่วย แต่ในเวลาเดียวกัน ผมกลับพบว่ามันช่างน่ารักอะไรขนาดนี้ แต่ละดอกของมันล้วนให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน และมีคุณลักษณะที่ต่างกัน” อ่านเหตุผลของเค้าดูแล้ว สารภาพว่าพี่เองก็ยังงงๆ อยู่ดี แต่พยายามจะเข้าได้ครับ เพราะเค้าบอกว่า ดอกไม้ยิ้มแฉ่งนี้ เป็นการสะท้อนถึงความลังเลของเค้าที่มีเส้นบางๆ กันอยู่ระหว่าง ‘ความชอบและความเกลียด’ 

 

ดอกไม้หน้าเปื้อนยิ้ม ที่เต็มไปด้วยน้ำตา
 

      พอเห็นรอยยิ้มของดอกไม้มิราคุมิ หลายคนอาจจะคิดว่ามันคือ ‘สัญลักษณ์แห่งความสุข’ จริงๆ ถ้าจะบอกแบบนั้นมันได้อยู่ แต่ถ้าลองสังเกตดีๆ เราจะเห็นว่าในดวงตาของดอกไม้ มีเม็ดน้ำตาอยู่ ซึ่งทางคุณมุราคามิ ได้บอกว่า มันเป็นน้ำตาที่อธิบายถึงความน่ารักของดอกไม้นี้ “น่ารักจนอยากร้องไห้” นี่คือคำจำกัดความที่เค้าได้ให้ไว้ 
 


 
      แต่ความจริงแล้ว นั่นอาจจะเป็นแค่คำนิยามที่เค้าพูดตลกๆ เผื่อกลบเกลื่อนความเศร้าที่แท้จริง เพราะว่า แรงบันดาลใจที่แท้จริงของการ์ตูนมุราคามินั้นมาจาก ‘เหตุการณ์การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ เมื่อปี 1945’ เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้นับว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และสร้างความสะเทือนใจให้กับชาวแดนอาทิตย์อุทัยมาจนถึงวันนี้ และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนัก ถ้าการ์ตูนมังงะของชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะมีการเชื่อมโยงผูกเข้ากับเหตุการณ์การทิ้งระเบิดอะตอมมิคบอมบ์ เฉกเช่นเดียวกับการ์ตูนดอกไม้ของมุราคามิ ที่วาดขึ้นมาเพื่อใช้เป็น ‘สัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่และการมีชีวิตใหม่’   

 

Skulls Rock (2005)
 
      การ์ตูนดอกไม้ของมุราคามินั่นเริ่มมีตั้งแต่ปี 2003 ในยุคแรกๆ ดอกไม้ของเค้าไม่ได้ยิ้มแฉ่งเหมือนในตอนนี้หรอกนะครับ อย่างยุคแรก ถึงแม้ดอกไม้ปากจะยิ้ม แต่ตากลับหลับ หรือบางทีก็แสดงความเบื่อหน่ายผ่านดวงตาก็มี ซึ่งแต่ละคอลเล็กชั่นที่เค้าปล่อยออกมาจะมีความแตกต่างกันออกไป พอเปิดเผยแต่ละทีก็ทำให้บรรดาคนที่เสพผลงานได้ตีความหมายของรูปกันอยู่ทุกครั้ง อย่างตอนปี 2004 - 2005 เค้าได้เปิดเผยผลงานในชื่อ ‘Flower: The Creatures from Planet 66’ และ ‘Skulls Rock’ และนั่นเป็นครั้งแรกที่หลายคนสังเกตได้ว่า ดอกไม้ที่อยู่ในรูปของเค้าร้องไห้ออกมา ทำให้คนพากันตีความกันไปต่างๆ นานาเยอะมากกก แต่สุดท้ายเค้าก็ไม่ได้ออกมาเฉลยว่าต้องการจะสื่อถึงอะไรหรอกครับ ปล่อยให้งงกันต่อไป 55555

 

Flowers and Skulls (2012)
 
       แต่ผลงานที่เรียกว่าเป็นการแสดงถึงเหตุการณ์ระเบิดครั้งนั้นได้ชัดที่สุด ก็คงจะเป็น ‘Flowers and Skulls’ ที่จัดแสดงในปี 2012 โดยเค้าได้ให้คำนิยามถึงภาพนี้ว่า “ไม่เกรงกลัวต่อความสิ้นหวัง” เพราะจากภาพ เราจะเห็นรูปกระโหลกศีรษะมนุษย์ที่เรียงรายเป็นดอกเห็ด แสดงถึงคนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดในครั้งนั้นเป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันกลับมีดอกไม้ผุดออกมาเป็นจำนวนมาก เป็นสัญลักษณ์ของความหวังครั้งใหม่ ถึงแม้จะเสียใจแต่ก็ยิ้มสู้ต่อไปได้ ส่วนตัวพี่คิดว่านี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงถึงลักษณะของคนญี่ปุ่นได้ดีมากๆ อย่างที่รู้กันว่าต่อให้ญี่ปุ่นล้มหรือเจอเหตุการณ์รุนแรงสักกี่ครั้ง เค้าก็กลับมาตั้งหลักและเดินต่อไปได้ ด้วยความเป็นชาติที่ทำงานหนัก และทำอะไรตั้งใจจริง แม้จะผิดหวังแต่ก็ไม่นานก็กลับมายิ่งใหญ่ได้เสมอ  
 
      คุณทาเคชิ มุราคามิ ยังเสริมอีกว่า “พวกเราชาวญี่ปุ่นคือชาติเดียวที่เจอประสบการณ์ความรุนแรงจากระเบิดอะตอมมิคบอมบ์ในครั้งนั้น ทุกอย่างมันพังทลายในพริบตา แต่เราก็ต้องขอบคุณผู้ชายคนนั้นที่สร้างระเบิดที่มีกำลังมหาศาลมากกว่าพระเจ้า และนี่ก็ทำให้เราไม่ได้รู้สึกอะไรกับเหตุการณ์ในอดีตอีกแล้ว และดอกไม้ที่ผมสร้างขึ้นมา แค่จะบอกว่า ‘โอเค! พวกเราแพ้ แล้วไงเหรอ’" (อารมณ์ประมาณว่า แพ้แล้วยังไงล่ะ ชั้นก็กลับมาได้ และตอนนี้ญี่ปุ่นก็ยิ่งใหญ่ด้วย) 
 
      พอได้รู้ถึงความเป็นมาของดอกไม้ยิ้มแฉ่ง ‘Murakami’ เอาจริงไม่คิดว่าจะมีที่มาจากเหตุการณ์เศร้าของญี่ปุ่นในครั้งนั้นเลยครับ เพราะถ้าใครได้เรียนหรือย้อนดูความรุนแรงของระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ จะรู้เลยว่ามันโหดร้ายมากจริงๆ และถึงแม้เหตุการณ์นั้นจะผ่านมาหลายปีแล้ว แต่เชื่อว่าชาวญี่ปุ่นหลายคนยังคงฝังใจและคงลืมไม่ลง ศิลปินหลายคนจึงเลือกถ่ายทอดความรุนแรงในครั้งนั้นผ่านผลงานศิลปะ รวมไปถึงการ์ตูนให้ได้เห็นกัน เช่นเดียวกันกับดอกไม้ของมุราคามิ ที่ได้รับแรงบันดาลใจและเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นใหม่ แสดงให้เห็นถึงความเป็นชาตินักสู้ของชาวญี่ปุ่นได้อย่างดีเลยล่ะ    

 
Source:
พี่วุฒิ
พี่วุฒิ - Columnist มนุษย์ 4 มิติผู้หลงใหลในเพลงเกาหลี ชาเนสที และหมูกระทะ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด