I wanna be an idol! เผยชีวิต 'เด็กฝึกไร้สังกัด' กับเส้นทางไอดอลที่ต้องแลกความฝันด้วยช่วงเวลาวัยเยาว์

              อันยองค่ะชาว Dek-D ทุกคน … วงการ K-pop ในปัจจุบันพูดได้เลยว่ามีอิทธิพลไปทั่วโลกอย่างแท้จริง ไม่เว้นแม้แต่ทวีปอเมริกาใต้หรือประเทศในแถบอาหรับก็มีแฟนๆ K-pop ทั้งนั้น ส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับคือไอดอลเกาหลีนั้นมีจุดแข็งอยู่ที่ทักษะการแสดง ไม่ว่าจะเป็นการร้อง การเต้น หรือเอนเตอร์เทนคนดูล้วนทำได้ดีทั้งสิ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มาจากการฝึกฝนอย่างหนักนั่นเองค่ะ อย่างไรก็ตามการฝึกอย่างหนักนี้ก็พรากเอาชีวิตวัยรุ่นของไอดอลหลายคนไปเช่นกัน จนเริ่มมีคนตั้งคำถามว่าการแลกช่วงชีวิตที่สำคัญอย่างช่วงวัยรุ่นเพื่อการไล่ตามความฝันนั้นคุ้มค่าแล้วหรือเปล่า?

 

 
              บรรดาแฟนคลับไอดอลเกาหลีคงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าอุตสาหกรรม K-pop นั้นมีอิทธิพลอย่างมากในหลายๆ แง่มุม มีไอดอลหลายคนและหลายวงที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในระดับโลก เป็นที่รักและชื่นชอบจากคนจำนวนมาก ซึ่งภาพเบื้องหน้าบนเวทีของไอดอลเหล่านี้ก็กลายเป็นสิ่งที่จุดประกายให้กับเด็กๆ ในรุ่นต่อไป ไม่ใช่แค่ในประเทศเกาหลีเท่านั้น แต่ชาวต่างชาติที่เคยดู K-pop ก็ได้แรงบันดาลใจจนออกตามความฝันมาถึงเกาหลีด้วยเช่นกัน
 
              สำหรับเด็กคนนึงแล้ว การมีความฝันและพยายามไปให้ถึงจุดนั้นถือเป็นเรื่องที่ดีมากค่ะ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะค้นพบสิ่งที่ชื่นชอบตั้งแต่เล็กๆ อย่างไรก็ตามการจะเดบิวต์เป็นไอดอลในเกาหลีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทุกคนล้วนต้องผ่านการเป็น “เทรนนี” หรือเด็กฝึกหัดมาก่อนทั้งสิ้น และการฝึกที่ว่านี้ก็โหดเอามากๆ เรียกว่าใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนในห้องฝึกซ้อมเลยทีเดียว บางคนอาจโชคดีใช้เวลาในการฝึนฝนแค่ช่วงสั้นๆ แต่บางคนก็ต้องอดทนฝึกหลายต่อหลายปี จนเพื่อนรุ่นเดียวกันเดบิวต์และประสบความสำเร็จไปก่อนแล้ว 
 

แทมิน Shinee และ วอนยอง Iz*One 
              แต่ประเด็นสำคัญก็คือเราจะเห็นว่ามีไอดอลเกาหลีที่เดบิวต์ตอนอายุน้อยๆ เยอะมากกก อย่างเช่น ‘แทมิน’ วง Shinee ที่เดบิวต์ตอนอายุ 14 ปี หรือ ‘วอนยอง’ มังเน่จากวง Iz*One ก็เข้าร่วมแข่งขันในรายการ Produce48 ตอนอายุ 14 ปีเท่านั้น ยังไม่นับช่วงเวลาที่เป็นเด็กฝึกในบริษัทอีกปีกว่าๆ เท่ากับว่าน้องเริ่มต้นเส้นทางสายไอดอลตอนอายุประมาณ 13 ปีค่ะ  แต่คนที่พีคกว่านั้นก็คือ 'จีฮโย' ลีดเดอร์คนเก่งของ Twice เธอชนะการประกวดในเวทีหนึ่งและได้ออดิชันเข้า JYP ตั้งแต่ 8 ขวบ! (เด็กมากกก)  และเป็นเด็กฝึกในบริษัทอยู่ร่วม 10 ปี ฝึกมาพร้อมๆ กันกับซูจี Miss A และเมมเบอร์ทั้งวง 2PM และวง Wonder Girls ด้วยซ้ำค่ะ
 

 

จีฮโย (เด็กผู้หญิงตรงกลาง) กับไอดอลในค่าย JYP
 
              นอกจากเทรนนีในบริษัทต่างๆ แล้ว ยังมีเด็กเกาหลีอีกจำนวนมากที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นไอดอลแต่ไม่ได้มีสังกัดอยู่ “คิมชุงอึน” อายุ 16 ปี ก็เป็นหนึ่งในนั้น เค้าเล่าถึงกิจวัตรในแต่ละวันให้ฟังว่าหลังกลับจากโรงเรียนก็จะพักสักครู่นึง แล้วก็ไปโรงเรียนสอนเต้น หลังจากเรียนเต้นเสร็จก็พักอีกแป๊บนึงแล้วก็ฝึกซ้อมด้วยตัวเองต่อ จากนั้นถึงกลับบ้าน เข้านอนเป็นเวลาสั้นๆ แล้วไปโรงเรียนค่ะ ชีวิตวนลูปอยู่แค่นี้เลย 
 

 
              พอถามว่าเค้าเริ่มฝึกเป็นไอดอลตั้งแต่เมื่อไหร่ ชุงอึนก็ตอบว่า “ผมเริ่มฝึกตอนอายุ 14 ครับ ผมเคยต้องทิ้งความฝันหลังจากที่ทะเลาะกับพ่อแม่เรื่องที่ไม่ยอมไปเรียนเลย แต่ว่าสุดท้ายก็กลับมาฝึกต่อ คุณแม่ก็ไม่ได้ห้ามเพราะว่าผมบอกหลังจากที่เข้าร่วมกลุ่มนักเต้นไปแล้ว”
 

 

 
              "ตอนแรกพ่อกับแม่เค้าก็กังวลนะครับที่ฝึกซ้อมทั้งคืน แต่ตอนนี้ผมว่าพวกเค้าน่าจะชินกันแล้ว ผมเคยฝึกอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง เวลาไม่ได้ไปเรียนเต้นก็จะฝึกเองประมาณอาทิตย์ละ 4-5 ครั้ง”
 
              "ปกติผมจะฝึกตอนตี 1 ถึงตี 5 แต่ถ้าวันไหนอยากฝึกมากกว่านั้นก็จะเพิ่มไปอีก 1 ชั่วโมงครับ การเช่าห้องฝึกซ้อมไม่ใช่ถูกๆ ตอนกลางวันราคาจะอยู่ที่ 10-20 ดอลลาร์ (ประมาณ 320-630 บาท) แต่ว่าถ้าเป็นช่วงดึกจนถึงเช้ามืดราคาจะเหลือแค่ 3-5 ดอลลาร์ (ประมาณ 95-160 บาท) ผมเลยมาฝึกช่วงเวลานี้ครับ”
 

 
              เรียกได้ว่าเป็นตารางฝึกที่โหดมากค่ะ T _ T แล้วได้นอนตอนไหนบ้างเนี่ย “ก็นอนตอนกลับถึงบ้านหลังจากฝึกเสร็จครับ พวกเด็กฝึกที่อยู่ในบริษัทจะไม่สามารถไปโรงเรียนได้เพราะฝึกกันหนักมาก เค้าจะมีครูฝึกของตัวเอง แล้วก็มีครูสอนภาษาด้วย จะดูเป็นระบบระเบียบมากกว่าหน่อย แต่ว่าผมไม่ได้มีสังกัด ก็เลยต้องเตรียมตัวและฝึกซ้อมเองหมด”
 

 

 
              นอกจากนี้ชุงอึนเองยังตั้งวอลเปเปอร์มือถือเป็นรูป 'จีมิน' วง BTS ด้วยค่ะ “ตอนแรกผมเต้นเพลง ‘Blood, Sweat, Tears’ ของ BTS ครับ แล้วก็อยากเป็นไอดอลมาตั้งแต่ตอนนั้น สำหรับผมแล้วตอนที่ดูการแสดงเพลงนี้ จีมินโดดเด่นมากที่สุดเลย ก็เลยชอบเค้ามาตั้งแต่นั้นครับ”
 
              แล้วมีเพื่อนที่อยากเป็นไอดอลเหมือนกันบ้างมั้ยคะ? “เท่าที่ผมรู้ ในโรงเรียนไม่มีนะครับ แต่ว่าผมรู้จักนักเต้นบางคนที่เป็นไอดอลไปแล้วหรือว่าอยากเป็นไอดอลเหมือนกัน มีหลากหลายมากครับ”
 



 
              นอกจากไปเรียนเต้นและฝึกซ้อมเองแล้ว ชุงอึนยังเป็นสมาชิกของทีมบัสกิ้งทีมนึงด้วยค่ะ ซึ่งบัสกิ้งนี้คือการแสดงตามที่สาธารณะ ไม่ว่าจะร้อง เต้นคัฟเวอร์ เล่นดนตรี ที่เกาหลีจะมีจุดให้คนมาแสดงความสามารถกันได้ด้วย ดีมากๆ เลย  “ทีมบัสกิ้งของเราชื่อ Praesepe (กระจุกดาวรวงผึ้ง) ครับ เราตั้งทีมเมื่อเดือนมิถุนายน ก็เลยตั้งชื่อเป็นกลุ่มดาวของเดือนมิถุนายน ผมเป็นน้องเล็กของกลุ่ม คนอื่นๆ ก็อายุ 18, 20 ถึง 22 ปี ก็มารวมตัวกันแสดงเพื่อตามความฝันของพวกเรา”
 
              "สำหรับการแสดงบัสกิ้งเราจะเริ่มซ้อมกันตอนดึกๆ ซ้อมกัน 1-2 เพลงต่อวัน วันละเวลา 4-5 ชั่วโมง ก็เลยเริ่มซ้อม 1-2 วัน (ก่อนแสดง) ได้ แต่ส่วนใหญ่จะซ้อมก่อน 1 อาทิตย์”
 

 
              "หลังแสดงบัสกิ้งก็มีคนจำผมได้บ้างแล้ว รู้สึกว่าเข้าใกล้ความฝันขึ้นไปอีกนิดครับ ที่จริงผมว่าทักษะการเต้นผมพัฒนาขึ้นมาก ตอนนี้ผมมองกล้องแล้วก็โพสต์ท่าให้แฟนๆ ตอนเต้นด้วย”
 
              พอถามว่าสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการฝึกซ้อมเพื่อเป็นไอดอลคืออะไร ชุงอึนก็ตอบว่า “ผมยังไม่เคยโชว์อะไรให้พ่อกับแม่ดูเลยครับ ก็เลยยากที่จะให้เค้ารับรู้ ผมรู้ว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะเดบิวต์นะ”
 
               แล้วทำไมถึงยังอยากเป็นไอดอลล่ะ? “เวลาดูการแสดงของเหล่าไอดอล ผมนึกถึงตัวเอง ตอนนี้ผมเต้นอยู่แค่ในโซนบัสกิ้งเท่านั้น แต่ว่าผมจะรู้สึกภูมิใจมากถ้าได้เต้นบนเวทีใหญ่ๆ แบบนั้น นั่นเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ผมพยายามต่อไป ผมอยากมีชื่อเสียง อยากเป็นไอดอลที่มีความสามารถครับ”
 

 
              สุดท้ายนี้ชุงอึนก็ได้ฝากจดหมายถึงตัวเองไว้ด้วยค่ะ “หวัดดีชุงอึน ถ้านายทิ้งความฝันในการเป็นไอดอลแล้ว นายก็ยังคงเก่งอะไรสักอย่างอยู่ดี เพราะฉะนั้นอย่ากังวลไปเลย แล้วก็ทำให้ดีที่สุดแบบนี้แหละ ชั้นก็จะพยายามจนกว่าจะเป็นที่จดจำเหมือนกัน!”
 
              ต้องยอมรับว่าชุงอึนมีความมุ่งมั่นแล้วก็อดทนในการฝึกซ้อมมากๆ เลยค่ะ โดยเฉพาะการที่ต้องขวนขวายทั้งหมดด้วยตัวเองนั้นมันไม่ง่ายเลย แต่พูดกันตามตรงแล้วการฝึกหนักแบบนี้ก็มีข้อเสียอยู่มาก ไม่เพียงแค่ชุงอึนเท่านั้น แต่เด็กฝึกคนอื่นๆ รวมไปถึงไอดอลอีกหลายคนต้องฝึกหนักตั้งแต่อายุน้อยๆ มุ่งเน้นในการฝึกซ้อมเป็นหลัก จนบางคนต้องทิ้งการเรียน รวมถึงโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นๆ เพื่อคว้าโอกาสนี้เอาไว้ก่อน
 
              แม้ความฝันและจุดมุ่งหมายในชีวิตของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันออกไป แต่การศึกษาขั้นพื้นฐานก็สำคัญเช่นกันค่ะ เพราะมันคือพื้นฐานทางความรู้และความคิดหลายๆ อย่าง และการไปโรงเรียนเองก็เป็นการออกไปเจอสังคมและเรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับคนอื่นๆ ด้วย พูดได้ว่าช่วงเวลาวัยรุ่นคือช่วงเวลาที่หลายๆ คนได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์อันสวยงามของชีวิต การที่ต้องแลกช่วงเวลานี้ทั้งหมดกับความฝันจึงเป็นเรื่องเจ็บปวดไม่น้อยเลย
 

 
              ไอดอลที่เดบิวต์ตั้งแต่เด็กๆ หลายคนเองก็รู้สึกเสียดายช่วงเวลาเหล่านั้นเช่นกัน เพราะวัยเด็กที่ผ่านไปแล้วไม่สามารถเรียกคืนได้ เมมเบอร์ของ BTS อย่าง “จองกุก” ก็เคยแต่งเพลงที่ชื่อว่า My time พูดถึงความเจ็บปวดของวัยเด็กที่หายไปด้วยค่ะ เพราะว่าเค้าไม่มีโอกาสใช้ช่วงเวลานั้นกับเพื่อนๆ หรือคนที่รัก และไม่มีโอกาสได้ใช้เวลาในการเติบโตเหมือนเด็กคนอื่นๆ ทั่วไปด้วยเช่นกัน
 
                  "ยูนา" วง ITZY ก็เป็นอีกคนที่เดบิวต์ตั้งแต่อายุเพียง 16 ปี (นับอายุแบบเกาหลี) คอนเซปต์ Teen crush พาวงประสบความสำเร็จดังเปรี้ยงปร้างอย่างรวดเร็ว ซึ่งสำหรับเส้นทางสายนี้แล้วก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากๆ แต่ในขณะเดียวกันเธอก็ต้องแลกมาด้วยอะไรหลายๆ อย่างเช่นกัน ยูนาเคยพูดในรายการ Letter to Midzy ว่า พวกเธอเดบิวต์ตอนอายุยังน้อย บางครั้งเธอก็รู้สึกเครียดมากๆ  แต่การที่จะแสดงออกไปมันก็ยากเพราะเธอรู้สึกว่าคนอื่นๆ ก็ต้องเผชิญหน้ากับมันเหมือนกัน แถมทุกๆ คนก็มองว่าเธอประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ได้อยู่ในบริษัทใหญ่มีชื่อเสียง ทุกอย่างก็กำลังไปด้วยดี แล้วมันจะมีเรื่องแย่ๆ ในชีวิตอีกเหรอ
 

 
                  "มีช่วงเวลาที่ฉันรู้สึกเศร้ากับตัวเองค่ะ ฉันวางกรอบในสิ่งที่ตัวเองต้องรับผิดชอบเอาไว้ และฉันก็ทำทุกอย่างให้อยู่ในกรอบนั้น จนบางทีก็รู้สึกอึดอัด ฉันเองก็อยากจะโชว์ให้ทุกคนได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของฉันนะคะ แต่ 'ตอนฉันทำอันนี้ คนดูเค้าไม่ชอบล่ะ' หรือ 'ถ้าฉันทำนั่น คนดูอาจจะเกลียดเอาได้' ฉันเริ่มคิดอยู่ในกรอบแบบนี้ค่ะ"
 
                  "บางครั้งฉันก็สับสนในสิ่งที่ฉันรู้สึกอยู่ จนฉันต้องอนุญาตให้ตัวเองรู้สึกไปตามความรู้สึกจริงๆ แต่สมองมันก็เอาแต่บอกว่า มันไม่มีอะไรเลย ใครๆ เค้าก็เจอกันทั้งนั้น มันเลยทำให้ฉันสับสนว่าฉันรู้สึกยังไงแน่น่ะค่ะ"
 

 
                  "ฉันยังเด็ก มีหลายอย่างเลยที่ยังไม่เคยทำ แล้วก็มีอีกหลายสิ่งเลยที่ฉันไม่รู้ ใช่มั้ยล่ะคะ? ฉันบอกตัวเองว่าต้องทำทุกอย่างให้เพอร์เฟกต์ ต้องทำให้ดี แต่ว่าฉันเองก็ไม่ได้เตรียมตัวให้ดีพอเลย ถ้าฉันมีประสบการณ์มากกว่านี้ฉันก็คงไม่เครียดขนาดนี้ แต่ว่าเพราะทุกอย่างมันเป็นเรื่องใหม่ มันเลยยากไปหมด" ยูนายังปิดท้ายว่าเธอหวังว่าจะไม่เสียกำลังใจกับความรู้สึกเหล่านี้ค่ะ และย้ำว่าให้เชื่อมั่นในตัวเองด้วย

 
                 ส่วนตัวแล้วพี่คิดว่าการฝึกตั้งแต่เด็กๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีนะคะ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ฝึกฝนตั้งแต่เนิ่น แต่การแลกช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต โดยเฉพาะวัยเด็กและวัยรุ่นทั้งหมดนั้นน่าเจ็บปวดไม่น้อยเลย เพราะพูดกันตามตรงว่าอาชีพนี้ก็คงไม่ได้ยั่งยืนตลอดไป และชีวิตของคนเราก็มีอะไรมากกว่าความฝันเพียงอย่างเดียวด้วย ก็อาจจะเป็นอีกเรื่องที่คนที่เกี่ยวข้องกับวงการเกาหลีควรตั้งคำถามว่ามันคุ้มค่าที่จะแลกจริงๆ มั้ยด้วยค่ะ    ; - ;

 
Source:
พี่เยลลี่
พี่เยลลี่ - Columnist อักษรศาสตร์ เอกมโน โทติ่ง หิวชานมตลอดเวลาและเป็นทาสลูกน้องแมว

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น