เมื่อตำรวจ 'ทรมาน-อุ้มฆ่า-ลักพาตัว' จนเกิดการประท้วง #EndSARS ที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไนจีเรีย!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ตอนนี้กระแสการเมืองทั่วโลกเรียกได้ว่าเข้มข้นมากจริงๆ ค่ะ ถ้าน้องๆ ติดตามข่าวทางโซเชียลมีเดียอยู่ก็น่าจะได้เห็นว่ามีการประท้วงเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ บางแห่งนั้นรุนแรงมากๆ จนน่าหดหู่ ซึ่งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานี้ไนจีเรียเองก็มีการประท้วงเกิดขึ้นจนแฮชแท็ก #EndSARS กลายเป็นไวรัลขึ้นมาเช่นกัน เป็นเรื่องตำรวจหน่วยนึงของไนจีเรียที่ใช้ความรุนแรงกับประชาชนค่ะ บอกตามตรงว่าเรื่องนี้น่าติดตามมากๆ วันนี้พี่เลยมาสรุปให้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ไนจีเรียบ้าง ไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ

“ไนจีเรีย” หรือชื่อเต็มๆ ว่า สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย เป็นประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตกที่มีประชากรมากที่สุดในทวีป ก่อนหน้านี้ไนจีเรียปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารเป็นระยะเวลาเกือบ 40 ปี ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อปี 1999 ซึ่งอย่างที่เรารู้กันว่าทวีปแอฟริกานั้นอันตรายพอสมควรเลย มีอัตราอาชญากรรมสูงเนื่องด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทำให้เมื่อปี 1992 ไนจีเรียได้ตั้งหน่วยตำรวจพิเศษต่อต้านโจรกรรม (Special Anti-Robbery Squad) หรือเรียกสั้นๆ ว่าหน่วย "SARS" เพื่อปราบปรามอาชญากรรมในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขโมยของ ลักรถ ลักพาตัว ฯลฯ

ในตอนแรกหน่วยนี้ถือว่าประสบความสำเร็จในการลดอาชญากรรมลงทีเดียวค่ะ แต่หลังจากนั้นกลับกลายเป็นว่าหน่วย SARS กลับก่ออาชญากรรมและคุกคามประชาชนเสียเอง ทั้งลักพาตัว บุกปล้น ทรมานร่างกาย ข่มขืนทั้งชายและหญิง แบล็กเมล์ ค้าอวัยวะ ไปจนถึงบังคับให้สูญหาย ซึ่งเบื้องหลังนั้นก็มีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน  หลายต่อหลายครั้งเลยที่ตำรวจมีการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนจนถึงชีวิต  แต่ก็ไม่สามารถเอาผิดได้แต่อย่างใด

ในปี 2017 จึงเริ่มมีแคมเปญ #EndSARS เกิดขึ้นในทวิตเตอร์ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลยุบหน่วยนี้ลงค่ะ ชาวไนจีเรียต่างพากันติดแท็กเล่าประสบการณ์ที่ตัวเองได้เจอ มีการประท้วงอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่เป็นผลเท่าไหร่นัก ซึ่งองค์การแอมเนสตี้ที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนก็รายงานว่า ช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2017 จนถึงพฤษภาคม 2020 มีชาวไนจีเรียอย่างน้อย 82 รายที่ถูกทรมานและฆาตกรรมโดยตำรวจหน่วย SARS 

แต่สิ่งที่ทำให้ชาวไนจีเรียลุกฮือขึ้นมาจนเป็นการประท้วงใหญ่ก็คือเมื่อต้นเดือนตุลาคมมีการเผยแพร่คลิปที่ตำรวจจากหน่วย SARS ยิงปืนใส่ชายหนุ่มคนหนึ่งจนเสียชีวิต คลิปนี้กลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็วเลยค่ะ แต่ตำรวจก็ออกมาปฏิเสธว่าคลิปนั้นไม่ใช่ของจริงและจับตัวคนถ่ายไป ทำให้ประชาชนโกรธยิ่งกว่าเดิม งานนี้มี Influencer ชาวไนจีเรียในทวิตเตอร์หลายคนที่ออกมาเป็นกระบอกเสียง ตามมาด้วยคนดังอีกจำนวนมากที่เรียกร้องให้มีการยุบหน่วย SARS และปฏิรูปตำรวจ เช่น Don Jazzy โปรดิวเซอร์เพลง, นักร้องอย่าง Runtown, Falz, Wizkid, และ Davido  เมื่อเหล่าคนมีชื่อเสียงออกมาพูดจึงทำให้การประท้วงมีน้ำหนักมากกว่าเดิม รวมถึงมีคนเข้าร่วมเยอะขึ้นด้วย

ผู้ประท้วงเข้าชุมนุมอย่างสันติที่กรุงอาบูจา เมืองหลวงของประเทศ แต่อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง สื่อต่างชาติอย่าง BBC และ Al-Jazeera รายงานว่ามีการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนจริง และปืนใหญ่ฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม จนเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม Jimoh Isiaq ที่เข้าร่วมประท้วงด้วยถูกยิงจนเสียชีวิต ทำให้ประชาชนยิ่งโกรธมากขึ้นไปอีก มีการบุกเข้าทำลายสถานีตำรวจในเมือง Ijebu-Ode เพื่อแสดงออกถึงความโกรธด้วย

จนในที่สุดในวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมารัฐบาลก็มีคำสั่งให้ยุบหน่วย SARS ลง แต่ว่านี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมดค่ะ ชาวไนจีเรียบอกว่าการยุบหน่วย SARS เป็นเพียงแค่ขั้นตอนแรกของการปฏิรูประบบเท่านั้น สิ่งที่พวกเค้าต้องการคือให้ตำรวจหยุดคุกคามและทำร้ายประชาชน ต้องมีอำนาจไว้เพื่อปกป้องและช่วยเหลือประชาชนจริงๆ ซึ่งหลังจากประกาศยุบหน่วย SARS ไป ก็มีการประกาศจัดตั้งหน่วย SWAT ขึ้นมาแทนอีกต่างหาก

แน่นอนว่าผู้ประท้วงไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นค่ะ เพราะเค้ามองว่ามันเหมือนการเปลี่ยนชื่อองค์กรเท่านั้น แต่ต้นตอของปัญหาจริงๆ ยังเหมือนเดิม ชาวไนจีเรียจึงยังทำการประท้วงบนถนนผสมไปกับเผยแพร่ข่าวทางโซเชียลมีเดีย การประท้วงเกิดขึ้นในหลายเมืองโดยไม่ได้มีแกนนำ ผู้ประท้วงใช้วิธีตั้งกลุ่มใน WhatsApp เพื่อทำการนัดหมาย เปิดรับโดเนตจากประชาชน รวมถึงจัดหาอาหารและยา โดยเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามคำเรียกร้อง คือให้ปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับตัวไป ให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อที่เสียชีวิตไปแล้ว รวมถึงชดใช้เงินให้แก่ครอบครัวเหยื่ออย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบรายงานความประพฤติโดยมิชอบของตำรวจด้วย โดยให้ประเมินจิตวิทยาและเทรนตำรวจหน่วย SARS ที่ถูกยุบใหม่ทั้งหมดก่อนที่จะรับเข้าทำงานใหม่ รวมถึงเรียกร้องให้มีการเพิ่มเงินเดือนให้แก่ตำรวจ เพื่อที่จะได้มีเงินเดือนพอเพียงสำหรับการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่รับสินบนหรือเส้นสายนั่นเองค่ะ

อย่างไรก็ตามการประท้วงที่เริ่มต้นจากจุดประสงค์ในการปฏิรูปตำรวจไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ชาวไนจีเรียจำนวนมากต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในประเทศ เพราะว่าปัจจุบันไนจีเรียมีประชากรกว่า 200 ล้านคน กว่า 60% นั้นเป็นเยาวชนที่ยังมีอายุไม่เกิน 24 ปี หมายความว่าคนกลุ่มนี้คือกำลังของประเทศในอนาคต แต่ว่ากลับมีคนจำนวนน้อยมากที่ได้รับการศึกษา และหนุ่มสาวก็มีอัตราว่างงานสูงด้วยเช่นกัน แถมเมื่อต้นปีก็มีสถิติของรัฐบาลที่ระบุว่า 40% ของประชากรอยู่อย่างยากจนมากๆ ด้วยค่ะ

แม้ส่วนหนึ่งของผู้ประท้วงจะกระทำการอย่างสงบ แต่ว่าก็มีการสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตอีกหลายคน และผู้เข้าชุมนุมบางส่วนที่ใช้โอกาสนี้ในการเข้าทำลายร้านค้า บุกโกดัง หรือจู่โจมธุรกิจของนักการเมืองด้วยเช่นกัน มีการบุกค้นเจอโกดังเก็บอาหารแห้งที่ควรแจกจ่ายให้กับประชาชนช่วง Covid-19 ในเมืองลากอสด้วย 

แม้การต่อสู้ของชาวไนจีเรียยังไม่จบลง แต่อย่างไรก็ตามการประท้วงในครั้งนี้ก็ถือเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศเลยค่ะ เพราะประชาชนตระหนักได้ถึงพลังของเยาวชนซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ และมีความหวังว่าเค้ามีพลังที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้เมื่อมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน

ถือว่าเข้มข้นมากจริงๆ ค่ะกับการเมืองในไนจีเรีย ใครที่อยากติดตามสถานการณ์ก็สามารถเข้าไปดูได้ในแท็ก #EndSARS ในทวิตเตอร์ได้เลยค่ะ (ระวังเจอภาพ trigger ด้วยนะ T _ T) เพิ่งรู้เหมือนกันว่าทางฝั่งนู้นเค้ามีปัญหาหนักขนาดนี้เหมือนกันนะคะเนี่ย  โหดร้ายมาก

 

Sources & Photo credit:https://www.bbc.com/news/world-africa-54662986https://www.aljazeera.com/news/2020/10/22/timeline-on-nigeria-unresthttps://www.aljazeera.com/news/2020/10/21/endsars-protests-why-are-nigerians-protesting https://businessday.ng/exclusives/article/nigeria-faces-a-debilitating-8-gdp-slump-say-economists/https://www.loveworldplus.tv/protests-continue-as-disbanded-sars-teams-quit-states/https://www.bbc.com/news/topics/cezwd6k5k6vt/endsars-protestshttps://www.bbc.com/news/world-africa-54508781 https://en.wikipedia.org/wiki/Special_Anti-Robbery_Squad
พี่เยลลี่
พี่เยลลี่ - Columnist อักษรศาสตร์ เอกมโน โทติ่ง หิวชานมตลอดเวลาและเป็นทาสลูกน้องแมว

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น