เปิดเหตุผลที่ทุกคนควรมี ‘Self Awareness’ การตระหนักรู้ในตนเอง กุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในทุกเรื่อง

            สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่า หลายคนคงเคยได้ยินประโยคเด็ดจากนักเขียนชื่อดังอย่าง ‘Daniel Chidiac’ ที่ว่า “Being self-aware is not the absence of mistakes, but the ability to learn and correct them.” การที่เรารู้จักตนเองมันไม่ใช่การมองข้ามความผิด แต่เป็นโอกาสและความสามารถที่เราจะได้เรียนรู้และแก้ไขความผิดนั้นให้มันดีขึ้นต่างหาก 

วันก่อนพี่มีโอกาสได้ดูคลิปจาก TEDxMileHigh คลิปนึงซึ่งเป็นคลิปที่ ‘Dr. Tasha Eurich’ นักจิตวิทยาองค์การได้เล่าถึง ‘การรู้จักตนเอง (Self-Awareness)’ หนึ่งในซอฟท์สกิลหรือคุณลักษณะสำคัญที่จะทำให้เราหันกลับมาใส่ใจตัวเองและปรับการใช้ชีวิตให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ซึ่งทักษะนี้น้องๆ ยังสามารถนำมาปรับใช้กับเรื่องการวางแผนการเรียนในอนาคตได้ด้วยนะ ถ้าใครอยากรู้ว่าการรู้จักตัวเองมันคืออะไร แล้วมันสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือให้ประโยชน์อะไรกับชีวิตของเราได้นั้นก็ตามพี่ปุณไปดูกันเลย!

Dr. Tasha Eurich
Dr. Tasha Eurich
Photo credit: TEDxMileHigh: Increase your self-awareness with one simple fix

 Tasha เปิดทอล์กด้วยข้อความจากนักเขียนบทละครชาวอเมริกัน ‘Tennessee Williams’ ที่ได้กล่าวไว้ว่า “มันจะมีบางครั้งที่เราไปยืนอยู่หน้ากระจก มองเข้าไป แล้วก็นึกขึ้นมาว่านี่หรือคือสิ่งที่เราจะเป็นไปตลอดชีวิต บางคนอาจยอมรับได้ในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ แต่บางคนอาจเปลี่ยนใจไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว หรือไม่ก็อาจจะมีคนที่ทนไม่ไหวรีบเดินออกไปให้พ้นกระจก” 

4 ปีที่ Tasha ได้มองดูผู้คนสำรวจตัวตนผ่านกระจก เธอก็ได้ตัดสินใจหาคำตอบว่าการรู้จักตนเอง (Self-Awareness) คืออะไร เราจะสามารถเข้าถึงมันได้อย่างไร และทำไมมันจึงเป็นสกิลสำคัญที่เราทุกคนควรต้องมี เธอและลูกทีมได้เดินทางออกสำรวจความเห็นของคนนับพัน เพื่อเฟ้นหาผู้ที่มีความสามารถในการรู้จักตัวเองได้อย่างแท้จริง แต่ก่อนที่จะไปถึงวิธีทำความรู้จักตัวเอง เราก็ควรจะรู้ความหมายของมันก่อน

Photo credit: unsplash.com
Photo credit: unsplash.com

‘การรู้จักตัวเอง (Self-Awareness)’ เป็นความสามารถในการมองเห็นและเข้าใจในตัวเองแบบทะลุปรุโปร่ง แต่เท่านั้นยังไม่พอเพราะเราต้องรับรู้ด้วยว่าคนรอบข้างมองเราเป็นแบบไหน และเราจะมีวิธีปรับตัวเพื่อให้อยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างไร การที่เรารู้จักกับตัวเองอย่างดี มันก็เหมือนเรามีพลังบางอย่าง เราอาจจะไม่ได้ชอบทุกสิ่งที่ตัวเราเป็น แต่พลังนี้จะเปรียบได้เหมือนความสบายใจที่ช่วยปลอบประโลมให้เรารู้จักการยอมรับในตัวเอง ซึ่งถ้าใครยังสงสัยว่า ถ้าเรารู้จักตัวเองมากขึ้นแล้ว มันจะช่วยเติมเต็มความสุขในชีวิตได้จริงหรือไม่ งานวิจัยเกี่ยวกับ Self-Awareness ก็ได้ตอบคำถามและคลายข้อสงสัยของเราไว้หมดแล้วค่ะ

 โดยงานวิจัยได้กล่าวไว้ว่า ‘คนที่รู้จักตัวเองจะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้อย่างมั่นคงและยาวนาน จะเป็นคนที่มีความคิดวิจารณญาณและสร้างสรรค์ อีกทั้งยังจะมีความมั่นใจ สื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว และมีโอกาสที่จะพูดปด คดโกงน้อยกว่าคนที่ไม่รู้จักตัวเองเลยด้วย’

Photo credit: unsplash.com
Photo credit: unsplash.com

 จากการสำรวจ โลกของการรู้จักตัวเองมันจะมีคนอยู่ทั้งหมด 2 ประเภท ประเภทแรกคือคนที่คิดว่าตัวเองรู้จักตัวเองดี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 95% กับอีกประเภท คนที่รู้จักตัวเองจริงๆ ซึ่งมีอยู่เพียงแค่ 10 – 15% เท่านั้น จะเห็นได้ว่ามีคนอีกหลายคนที่ไม่ได้รู้จักตัวเองแต่กลับกำลังหลอกตัวเองอยู่ และหน้าที่ของ Tasha ก็คือการมองหาว่าใครคือคนที่รู้จักตัวเองอย่างแท้จริง!

 หลังจากที่ทีมสำรวจของ Tasha ได้สร้างบททดสอบและนำไปใช้กับกลุ่มสำรวจ เธอก็พบว่าผู้ที่มีคุณสมบัติตรงกับคนที่เธอกำลังตามหาส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ ศิลปิน นักศึกษา และกลุ่มผู้ปกครองที่ไม่ได้ออกไปทำงานนอกบ้าน พวกเขามีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของเพศและอายุ แต่พวกเขาก็ทำให้เราเห็นว่าวิธีที่คนทั่วไปมักใช้ในการคิดทบทวนและสำรวจตัวเองนั้นเป็นวิธีที่ผิด

Photo credit: unsplash.com
Photo credit: unsplash.com

เพราะทุกครั้งที่เราเจอปัญหา เรามักจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไม” ทำไมเราต้องโกรธเวลาทะเลาะกับเพื่อน ทำไมเราไม่เชื่อว่าการลงโทษด้วยการประหารชีวิตจะทำให้คนเกรงกลัวจนไม่กล้าทำความผิดได้ ทำไมเมื่อครู่ที่ผ่านมาเราต้องสำลักต่อหน้าคนนับสิบในห้องประชุมด้วย 

เมื่อไหร่ที่เราเริ่มถามตัวเองว่าทำไม? เราก็จะยิ่งอยู่ห่างไกลจากการรู้จักตัวเองออกไปมากขึ้น ดังนั้นคำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “ทำไม” อาจยังไม่ใช่ตัวเลือกคำถามที่ดีเท่าไหร่นัก เพราะไม่ว่าเราจะพยายามมากแค่ไหน เบื้องลึกในจิตใจของเราก็ไม่สามารถตอบคำถามหรือหาเหตุผลให้กับความคิด ความรู้สึก หรือแรงจูงใจที่เราสร้างขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้ตัวได้ ดังนั้นยิ่งเราถามตัวเองด้วยคำถามประเภทมากเท่าไหร่ ภายในของเรามันก็จะยิ่งสร้างคำตอบที่จะแค่มาปลอบโยนให้เราสบายใจ แต่ไม่ได้ตรงกับข้อเท็จจริงใดๆ มากเท่านั้น แถมสมองเราก็ไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่จะสามารถคิดคำนวนข้อมูลได้อย่างแม่นยำและมีเหตุผล ซึ่งนั่นก็ยิ่งทำให้คำตอบที่ได้อาจไม่ใช่คำตอบที่ดี

Photo credit: unsplash.com
Photo credit: unsplash.com

Tasha ได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นที่เมืองแอนอาร์เบอร์ในรัฐมิชิแกนของสหรัฐอเมริกาที่สองนักจิตวิทยา ‘Timothy Wilson และ Richard Nisbett’ ได้ทำการทดลองโดยการตั้งโต๊ะ 1 ตัว วางถุงน่องที่มีลักษณะเหมือนกันไว้ 4 คู่แล้วให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาเลือกคู่ที่ตัวเองชอบที่สุด พวกเขาพบว่าคนส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกถุงน่องคู่ D ที่อยู่ทางขวาสุดของโต๊ะ และเมื่อถามคนเหล่านั้นว่าเขาเลือกจากอะไร พวกเขาก็จะได้คำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เพราะคู่ D เป็นถุงน่องที่ดีที่สุด และต่อให้นักจิตวิทยาทั้งสองจะอธิบายว่ามันเป็นเพราะถุงน่องที่ถูกเลือกมันวางอยู่ทางขวาซึ่งเป็นข้างที่คนส่วนใหญ่ถนัดตามหลักการที่ว่าด้วย ‘The effect of positioning’ ก็ยังไม่มีใครยอมปักใจเชื่ออยู่ดี

Photo credit: unsplash.com
Photo credit: unsplash.com

ทางออกง่ายๆ ของปัญหานี้ก็คือการเปลี่ยนจากคำว่า “ทำไม” ให้เป็น “อะไร” Tasha และทีมสำรวจของเธอได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มคนที่รู้จักตัวเองอย่างแท้จริง ข้อมูลดังกล่าวเผยให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่มักตั้งคำถามเพื่อสำรวจและทำความรู้จักกับตัวเองด้วยคำว่า “อะไร”  ตัวอย่างเช่น ‘Nathan’ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ หนึ่งในผู้สำรวจของเราเคยได้รับคำติชมจากหัวหน้างานว่าเขาเป็นคนที่ performance ไม่ดี ไม่สามารถทำงานในตำแหน่งนี้ร่วมกับผู้อื่นได้ แต่แทนที่เขาจะถามตัวเองว่า ‘ทำไมเราถึงไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้’ Nathan กลับเลือกถามคำถามที่ต่างออกไปอย่าง ‘อะไรที่จะทำให้หัวหน้าเห็นว่าเขามีศักยภาพและเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตำแหน่งนี้’ และทันทีที่เขาได้คำตอบเขาก็พัฒนาตัวเองจากข้อดีที่เขามีจนประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

 หรืออย่าง ‘Sarah’ ที่เพิ่งตรวจพบมะเร็งเต้านมในวัย 40 ปลายๆ ทุกครั้งที่เธอถามตัวเองว่า ‘ทำไมถึงเป็นเธอที่ต้องเจอกับโรคร้ายแบบนี้’ เธอจะรู้สึกเหมือนว่ามันเป็นโทษประหารชีวิตที่เธอถูกจองจำไว้ให้ได้รับ นั่นทำให้เธอเครียดและกังวลตลอดเวลา แต่เมื่อเธอเปลี่ยนวิธีการตั้งคำถามแล้วหาคำตอบว่า ‘อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต’ เธอก็ได้เรียนรู้และพยายามใช้เวลากันมันให้ได้มากที่สุดโดยไม่สนว่าตัวเองจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกนานแค่ไหน

Photo credit: unsplash.com
Photo credit: unsplash.com

และถ้าสองตัวอย่างจาก Nathan และ Sarah ยังทำให้น้องๆ เห็นภาพได้ไม่มากพอ Tasha ก็ขอเล่าถึงประสบการณ์ตรงของตัวเธอเอง ครั้งหนึ่งเธอเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับ ‘การรู้จักตนเอง (Self-Awareness)’ คอนเทนต์ที่เธอค่อนข้างถนัดและให้ความสนใจ หลังจากที่หนังสือเล่มนี้ได้วางขายไป เธอก็ได้ตัดสินใจทำในสิ่งที่นักเขียนคนอื่นเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ นั่นก็คือการอ่านรีวิวหนังสือในเว็บไซต์ Amazon ซึ่งนั่นทำให้เธอรู้สึกแย่และผิดหวังมาก คำถามแรกที่ปรากฏขึ้นมาในหัวคือ ‘ทำไมผู้คนถึงต้องใจร้ายกับเธอขนาดนี้ ทั้งที่เธอใช้เวลากว่าพันชั่วโมงในการค้นคว้าและเรียบเรียงเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีที่จะทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น’ แต่แล้วมันก็ทำให้เธอยิ่งเกลียดตัวเองเข้าไปใหญ่ 

เวลาผ่านไป 2-3 สัปดาห์ Tasha ก็เริ่มคิดได้ว่าเธอควรจะนำวิธีที่เธอแนะนำคนอื่นไปมาลองใช้กับตัวเธอเอง เธอเริ่มมองมุมกลับปรับมุมมองและหันไปสนใจแต่รีวิวจากคนที่บอกว่าหนังสือของเธอสามารถเปลี่ยนชีวิตเขาให้ดีขึ้นได้ และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่ทำให้ Tasha เข้าใจและเรียนรู้ตัวเองได้มากขึ้นค่ะ

Photo credit: unsplash.com
Photo credit: unsplash.com

ไม่ว่าโลกใบนี้จะโหดร้ายกับเรามากขนาดไหน การรู้จักตัวเองจะนำพาความสุขและความสำเร็จมาให้เราจนได้ แค่เพียงเปลี่ยนตัวเลือกคำถามจากคำว่า “ทำไม” มาเป็น “อะไร” คำตอบของมันก็จะช่วยทำให้เรามองเห็นข้อผิดพลาด และก้าวต่อไปในทางที่ถูกต้องได้ เพราะไม่ว่าใครก็สามารถเข้าใจในตัวเอง เข้าใจในสิ่งที่ทำ และเข้าใจในเส้นทางชีวิตที่เราต้องการดำเนินไปได้ทั้งนั้น สิ่งเดียวที่มนุษย์มีเหมือนๆ กันก็คือความเชื่อที่ว่า “การรู้จักตัวเองเป็นคุณลักษณะสำคัญที่เราต้องพัฒนาและพาตัวเองไปสัมผัสกับมันให้ได้” 

 นั่นหมายความว่าทุกคนสามารถรู้จักกับตัวเองได้อย่างแท้จริง เราสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ เติบโต และแก้ไขในข้อผิดพลาดไปได้ตลอดชีวิต และสุดท้ายนี้ Tasha ก็ได้ปิดทอล์กของเธอด้วยข้อความสุดน่าประทับใจจาก ‘Rumi’ กวีเอกของอิหร่านที่ว่า

 "Yesterday I was clever, so I wanted to change the world. 
Today I'm wise, so I am changing myself." 

เมื่อวานฉันรู้สึกว่าฉันเป็นคนเก่งและฉลาด ฉันจึงอยากเปลี่ยนแปลงโลก แต่ในวันนี้ฉันตระหนักเข้าใจในตัวเองแล้ว ฉันจึงเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองแทน

Dr. Tasha Eurich
Dr. Tasha Eurich
Photo credit: TEDxMileHigh: Increase your self-awareness with one simple fix

            และทั้งหมดนี้ก็คือวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้น้องๆ ได้ทำความรู้จักกับตัวเองมากขึ้น เพราะเมื่อไหร่ที่เรารู้ถึงนิสัย ข้อดีข้อเสีย รวมไปถึงความต้องการของตัวเราแล้ว มันก็จะช่วยให้เราสามารถควบคุมตัวเองให้เดินตาม Step ไปยังเป้าหมายที่เราวางไว้ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งมันยังทำให้เราสามารถเข้าใจคนรอบข้างและหลายสิ่งหลายอย่างในโลกได้มากขึ้นด้วย! สำหรับใครที่อยากติดตามและหาแรงบันดาลใจเพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปดูทอล์กนี้ต่อที่ TEDxMileHigh ในหัวข้อ ‘Increase your self-awareness with one simple fix’ ได้เลยค่ะ

 Source:https://www.ted.com/talks/tasha_eurich_increase_your_self_awareness_with_one_simple_fix 
พี่ปุณ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
guesswhatimma 24 พ.ย. 63 00:31 น. 2

เป็นบทความที่ดีมากๆเลยค่ะ ตอนนี้เริ่มอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นแล้วค่า จากนี้ไปจะใช้คำว่า what แทนคำว่า why ยังไงก็ขอบคุณสำหรับบทความดีๆนี้นะค่าา

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด