สรรพสิ่งบนโลกมีอยู่จริงไหม? ร่วมหาคำตอบกับ ‘Nihilism’ แนวคิดชีวิตว่างเปล่าไร้จุดหมาย

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ทุกคน มีใครเคยรู้สึกสับสนและตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวกันบ้างไหมคะ? ถ้ามีวันนี้ พี่ปุณ ก็อยากจะมาแชร์เกี่ยวกับ ‘แนวคิดสูญนิยม (Nihilism)’ ซึ่งเป็นปรัชญาที่มองว่าทุกสรรพสิ่งบนโลกไม่มีอยู่จริงแต่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาอย่างมีจุดประสงค์เท่านั้น

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มสงสัยว่าแล้วร่างกายที่เราเป็นเจ้าของ สิ่งรอบตัวที่เรามองเห็นและสัมผัสได้ รวมไปถึงความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กนั้นคืออะไร? ถ้าอยากรู้ก็อย่ารอช้า ตามพี่ไปหาคำตอบเกี่ยวกับแนวคิดนี้กันได้เลย!

Photo credit: Unsplash.com
Photo credit: Unsplash.com

Nihilism คืออะไร?

แนวคิดสูญนิยม (Nihilism) คือปรัชญาที่ปฏิเสธคุณค่าและการมีอยู่ของทุกสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ วัฒนธรรม ความรู้ หรือแม้กระทั่งความเชื่อ โดยมองว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดและประกอบสร้างไว้เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์หนึ่งเท่านั้น

แนวคิดนี้เริ่มต้นขึ้นในยุโรปตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 - 20 เป็นต้นมา และในปัจจุบันหลายคนก็ยังคงศึกษาและให้ความสนใจกับปรัชญาแห่งความว่างเปล่านี้ ซึ่ง ‘Nihilism’ ก็มีที่มาจากคำว่า ‘Nihil’ ในภาษาละตินที่แปลว่า “การไม่มีค่า, ไร้ความหมาย” นั่นเอง

Photo credit: Unsplash.com
Photo credit: Unsplash.com

5 มุมมองที่สอดคล้องกับแนวคิด Nihilism

ผู้ที่เชื่อในหลักปรัชญาสูญนิยมมักถูกเรียกรวมกันว่า ‘Nihilist’ และถึงแม้ว่าแนวคิดของพวกเขาจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ลึกๆ แล้วแต่ละคนก็จะมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถแบ่งได้เป็น 5 รูปแบบหลัก ดังนี้

1. Epistemological nihilism - แนวคิดที่มองว่า “ไม่มีความรู้ที่แท้จริงอยู่ในโลกใบนี้” แต่ถ้าจะมีก็มีอยู่ในจักรวาลที่เราไม่สามารถรับรู้และสัมผัสได้ ความรู้ที่เราคิดว่าเป็นจริงในวันนี้ มันอาจไม่ได้จีรังยั่งยืนเสมอไป เพราะสิ่งต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงและถูกลบล้างได้ตามนิยามที่สร้างขึ้น

2. Ethical nihilism - พูดถึงเรื่องศาสนาว่า “หลักศีลธรรมจรรยาและความเชื่อเรื่องบุญบาปไม่มีอยู่จริง” เราไม่จำเป็นต้องยึดถือหรือปฏิบัติตาม เพราะแม้แต่คำสอนของแต่ละศาสนายังมีความขัดแย้งต่อกัน แล้วจะมีอะไรยืนยันได้ว่าบรรทัดฐานเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างแท้จริง

Photo credit: Unsplash.com
Photo credit: Unsplash.com

3. Existential nihilism - มองว่า “ชีวิตไม่ได้มีความหมายหรือมีเป้าหมายอะไร” เพราะไม่ว่าเราจะเป็นใคร อยู่ที่ไหนในจักรวาล เราทุกคนก็ล้วนเป็นเพียงสสารที่ถูกประกอบสร้างและนิยามว่ามีชีวิตอยู่เท่านั้นเอง

4. Passive nihilism -  “ปรัชญาสูญนิยมมีจุดจบในตัวเอง” ดังนั้นมันจึงไม่มีเหตุผลใดที่เราต้องแสวงหาคุณค่าที่สูงกว่าต่อไปอีก

5. Political nihilism - แนวคิดที่มองว่า “ระบบการเมืองการปกครองและกฎหมายไม่มีอยู่จริง” มันจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องรื้อถอนโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและหน่วยสังคมที่ชนชั้นปกครองกำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมคนในชนชั้นต่ำกว่า

Photo credit: Unsplash.com
Photo credit: Unsplash.com

5 บุคคลสำคัญที่มีความสัมพันธ์ต่อแนวคิด Nihilism

ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาแนวคิด Nihilism ถูกตีความและมองในหลายแง่มุม แต่จุดที่เชื่อมโยงเหล่านักปรัชญาและนักคิดเข้าหากันก็คือ “การหาคำตอบเกี่ยวกับเงื่อนไขการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์” เช่นเดียวกับบุคคลสำคัญจากศตวรรษที่ 19 ทั้ง 5 ท่านนี้

Friedrich Jacobi (1743 - 1819) 

Photo credit: SuperGreeks
Photo credit: SuperGreeks

หลายคนที่นับถือศาสนาพุทธและเชื่อในแนวคิดของโสกราตีสอาจคุ้นหูคุ้นตากับ Nihilism เป็นอย่างดี แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ‘Friedrich Jacobi’ เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นมา โดยระหว่างการศึกษา จาโคบีได้พยายามเปรียบเทียบและมองหาความเป็นไปได้ที่แนวคิดเหตุผลนิยม (Rationalism) จะกลายมาเป็นแนวคิดสูญนิยม ซึ่งในขณะเดียวกันเขาก็ได้ค้นพบอีกว่าแนวคิดเหล่านี้มีความขัดแย้งกับความเชื่อเรื่องพระเจ้าโดยสิ้นเชิงเลย

...........................

Soron Kierkegaard (1813 - 1855) 

Photo credit: ABC Religion & Ethics
Photo credit: ABC Religion & Ethics

‘Soren Kierkegaard’ เป็นนักเทววิทยาชาวเดนมาร์กในศตวรรษที่ 19 ผู้สนใจในปรัชญาด้าน Existentialism ซึ่งเป็นปรัชญาตรงข้ามที่มองว่าทุกสิ่งเกิดมาล้วนมีความหมายและคุณค่าในตัวเอง และนั่นทำให้เขาไม่ค่อยชอบใจในแนวคิดที่ตีค่าทุกสรรพสิ่งเป็นศูนย์อย่าง Nihilism เพราะนอกจากจะทำให้บุคคลใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมายแล้ว แนวคิดนี้ยังล้มล้างความเป็นปัจเจกไปอีกด้วย

...........................

Ivan Turgenev (1818 - 1883)

Photo credit: The Famous People
Photo credit: The Famous People

การเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมมีอิทธิพลและส่งผลให้ปรัชญาสูญนิยมในรัสเซียเกิดการเปลี่ยนแปลง ‘Political nihilism’ ได้กลายมาเป็นแนวคิดหลักที่ผู้คนให้ความสนใจ โดยแนวคิดนี้มองว่าหน่วยทางสังคม ระบบการปกครอง และกฎหมายไม่มีอยู่จริง แต่เป็นเพียงสิ่งที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้นเพื่อควบคุมบุคคลอื่นๆ ในสังคมเท่านั้น 

และในปี 1862 ‘Ivan Turgenev’ นักเขียนชาวรัสเซียก็ได้พูดถึงแนวคิด Nihilism และการละทิ้งบรรทัดฐานทางสังคมผ่านตัวละครหลักในนวนิยายเรื่องหนึ่งของเขาที่มีชื่อว่า ‘Fathers and Sons’ และนั่นก็เปรียบเสมือนแรงบันดาลใจที่ขับเคลื่อนให้เหล่า Nihilists ออกมาแสดงความคิดเห็นและจุดยืนเกี่ยวกับแนวคิดนี้มากขึ้นไปอีก

...........................

Friedrich Nietzsche (1844 - 1900)

Photo credit: All Update Here
Photo credit: All Update Here

ใครเป็นสายปรัชญาคงต้องเคยได้ยินชื่อเสียงของ ‘Friedrich Nietzsche’ กันมาบ้าง! เพราะชายผู้นี้เป็นทั้งนักนิรุกติศาสตร์ นักกวี และนักปรัชญาชาวเยอรมันที่สร้างผลงานทรงอิทธิพลต่อปรัชญาตะวันตกและองค์ปัญญายุคใหม่ไว้อย่างล้นหลาม 

ในช่วงศตวรรษที่ 19 เขาได้พยายามเชื่อมโยงแนวคิดสูญนิยมเข้ากับวัฒนธรรมตะวันตก จนได้พบว่าแนวคิดนี้พรากเอาความหมายโดยเนื้อแท้ของการเป็นมนุษย์ไป นอกจากนี้เขายังศึกษาหลักศาสนาคริสต์และปัญหาเกี่ยวกับ ‘Moral nihilism’ หรือแนวคิดที่เชื่อว่าความถูกผิดและบุญบาปไม่มีอยู่จริงด้วย

...........................

Albert Camus (1913 - 1960)

Photo credit: PORT Magazine
Photo credit: PORT Magazine

ถ้าใครเคยศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดไร้เหตุผลนิยม (Absurdism) ก็อาจสังเกตเห็นว่าแนวคิดนี้มีความคล้ายคลึงกับ Nihilism อยู่ไม่มากก็น้อย ซึ่ง ‘Albert Camus’ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่เคยหนีออกจากปารีสไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้มองเห็นถึงความสอดคล้องของสองปรัชญานี้เช่นกัน โดยครั้งหนึ่งเขาเคยได้ลองตั้งคำถามเกี่ยวกับ “ชีวิตและความตาย” และพบว่าคนที่เชื่อในแนวคิดสูญนิยมและแนวคิดไร้เหตุผลนิยมสามารถตอบเขาได้ในทำนองเดียวกัน

Photo credit: Unsplash.com
Photo credit: Unsplash.com

ในโลกนี้ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ยากเกินกว่าจะทำความเข้าใจ แม้เราทุกคนจะรู้ดีว่าเมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องตายไปในสักวันหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังไม่สามารถนิยามหรือบอกความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ได้อย่างแท้จริง ยิ่งหาคำตอบเท่าไหร่ก็ยิ่งเจอแต่ความว่างเปล่า บอกเลยว่าปรัชญา Nihilism นี้มีความซับซ้อนขั้นสุด ใครชื่นชอบหรือสนใจก็ลองไปศึกษาเพิ่มเติมกันได้เลย!

Sources:https://iep.utm.edu/nihilism/ https://www.youtube.com/watch?v=ZOvyn72x6kQ https://www.masterclass.com/articles/what-is-nihilism#what-is-nihilism 
พี่ปุณ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด