อันยองครับชาว Dek-D ช่วงเดือนพฤษภาคมแบบนี้ น้องๆ ที่เรียนมหาวิทยาลัยในไทยหลายคนอาจจะกำลังใช้เวลาพักผ่อนในช่วงปิดเทอมกันอยู่ แต่ถ้าหากตัดภาพไปที่แทฮักแซง (대학생) หรือนักศึกษามหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ หลายคนกำลังเช็กอินอยู่ในงาน ‘5월 대학 축제’ หรือเทศกาลเฉลิมฉลองประจำปีของมหาวิทยาลัยซึ่งจัดในช่วงเดือน 5 ของทุกปีนั่นเอง
ซึ่งไฮไลต์ของอิเวนต์นี้ที่นักศึกษาหลายคนจับตามองก็คือ Line-up รายชื่อของศิลปินที่จะขึ้นบนเวทีคอนเสิร์ตในแต่ละมหาวิทยาลัยว่าจะจึ้งและทำถึงแค่ไหน ยิ่งถ้าใครเป็นแฟนคลับไอดอล K-POP ก็อาจจะคาดหวังว่าศิลปินที่ตัวเองชอบนั้นจะได้ขึ้นเวทีงานมหาวิทยาลัยไหนบ้าง? ว่าแต่น้องๆ สงสัยครับมั้ยว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงของงานเฉลิมฉลองนี้จัดขึ้นเพื่ออะไรกันแน่ และทำไมแต่ละมหาวิทยาลัยถึงให้ความสำคัญกับงานนี้มากๆ ว่าแล้วก็เลื่อนมาอ่านกันต่อด้านล่างเลย~
งานเฉลิมฉลองของมหาวิทยาลัยนี้ ในเกาหลีเดิมทีจะเรียกกันว่า 대동제 (อ่านว่า แทดงแจ) ซึ่งหมายถึงเทศกาลที่รวบรวมผู้คนมากมายเพื่อพบปะสังสรรค์และสื่อถึงจิตวิญญาณที่ซ่อนอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และยังว่ากันว่าที่มาของชื่อนี้ถูกใช้แพร่หลายในช่วงปี 1980 เนื่องจากการรวมตัวของนักศึกษาเพื่อจัดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลฯ
นอกจากนี้เราอาจจะเห็นสื่อและคนทั่วไปเรียกอิเวนต์นี้ว่า 5월 대학 축제 (โอวอล แทฮัก ชุกเจ) ซึ่งหมายถึง เทศกาลเฉลิมฉลองมหาวิทยาลัยในเดือนพฤษภาคมก็ได้เช่นกัน โดยจุดประสงค์ในการจัดงานนี้ก็เพื่อให้เหล่านักศึกษาที่เพิ่งผ่านการสอบมิดเทอมได้มาผ่อนคลายและปลดปล่อยหลังจากตึงเครียดกันมานาน ซึ่งภายในงานก็จะมีการจัดบูทกิจกรรมจากนักศึกษา ชมรมต่างๆ ร้านอาหาร เครื่องดื่ม และสปอนเซอร์มากมายที่มาแจมด้วย และที่ขาดไม่ได้ก็คือเวทีกลางที่จะเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาได้ออกมาโชว์ความสามารถ ไม่ว่าจะร้อง เล่น เต้น ทำการแสดง ใครมีของดีของเด็ดก็งัดมาโชว์กันเต็มกันที่ได้เลย!
และอย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่าไฮไลต์สำคัญที่นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยต่างตั้งตารอคอยก็คือ ศิลปิน นักร้อง และไอดอล K-POP ที่จะมาร่วมแจมบนเวทีคอนเสิร์ตในแต่ละปีว่าจะมีใครบ้าง เพราะยิ่งมหาวิทยาลัยไหนมี Line-up แบบจึ้งๆ มีศิลปินที่มีชื่อเสียงมากๆ มาร่วมเวที ก็ยิ่งสื่อถึงความประสบความสำเร็จในการจัดงานของทีมสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยนั้นๆ เพราะว่าอีกนัยหนึ่งของการจัดงานก็เพื่อโปรโมตมหาวิทยาลัยไปในตัวนั่นเองครับ
ดังนั้นในทุกๆ ปี แต่ละมหาวิทยาลัยจึงต่างแย่งชิงการจองคิวศิลปินที่มีชื่อเสียง วงที่กำลังเป็นกระแสและเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุด เพื่อทำให้งานออกมาปังและเป็นที่สนใจมากที่สุด จึงทำให้รายชื่อศิลปินที่เข้าร่วมเทศกาลในแต่ละมหาวิทยาลัยกลายเป็นประเด็นร้อนทุกครั้งที่เปิดเผยออกมาในช่วงปลายเดือนเมษายนหรือก่อนเริ่มงาน เรียกว่าถ้าเปิดรายชื่อมาแล้วจึ้งก็ยิ่งได้รับคอมเมนต์เชิงบวก แต่ถ้า Line-up ไม่ปังก็อาจจะโดนทัวร์ลงจากนักศึกษาก็เป็นได้
ในขณะเดียวกันบางมหาวิทยาลัยอย่าง Yonsei University ที่เรียกงานนี้ว่า ‘AKARAKA (아카라카)’ และ Korea University กับงาน ‘IPSELENTI (입실렌티 )’ จะไม่เปิดเผยรายชื่อของศิลปินทั้งหมดที่จะเข้าร่วมงาน ให้ผู้ชมมาลุ้นเซอร์ไพรส์หน้างานกันอีกที จึงทำให้งานของ 2 มหาวิทยาลัยนี้ถูกจับตามองมากที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยในเกาหลีทุกปีเลยก็ว่าได้ เพราะว่าพี่เค้าทำถึงตลอด เรียกว่ามีแต่ศิลปินระดับท็อปๆ เท่านั้นที่จะได้ขึ้นเวทีทำการแสดง (แถมบัตรก็ซื้อยากมากด้วย บางคนเอามาอัปขายราคาแพงหลายเท่าตัวเลยก็มี)
ซึ่งในมุมของศิลปินเองก็มีความฝันที่จะได้ขึ้นแสดงที่นี่เช่นกัน เพราะขึ้นชื่อว่ามหาวิทยาลัยระดับท็อปของประเทศในเครือ SKY (Seoul National University, Korea University, Yonsei University) ว่าเป็นงานที่มีคนเข้าชมเยอะมากกก มีเสียงร้องเชียร์จากนักศึกษาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังสุดๆ และถ้าหากได้ขึ้นแสดงสักครั้งก็ยิ่งเหมือนเป็นการการันตีถึงความประสบความสำเร็จในอาชีพของตัวเองเลยก็ว่าได้
ชมภาพบรรยากาศงาน AKARAKAรีวิวเด็ก Korea University
“입실렌티 (IPSELENTI) หรืองานประจำปีของ Korea University คือเอาชมรมแต่ละชมรมมาขึ้นแสดงเวทีด้วยกัน ถ้าได้เลือกขึ้นก็คือปัง ชมรมเต้นของเราก็ได้ขึ้นเหมือนกันค่ะ นอกจากนี้ยังมีการร้องเพลงเชียร์ของมหา’ลัย ภายในงานต้องซื้อบัตรเข้า แล้วมาลุ้นกันว่าศิลปินไอดอลที่จะมาร่วมงาน Concert ช่วงกลางคืนปีนี้จะเป็นใครบ้าง อย่างสมัยเราก็มี AKMU, SHINee, Highlight, PSY แล้วก็ TWICE ค่ะ”
- แบม ‘HYEBAM’ นักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลี ปี 2015 คณะ Media & Communication, Korea University (고려대학교) อ่านบทสัมภาษณ์ได้ที่ www.dek-d.com/studyabroad/58139/
รีวิวเด็ก Yonsei University
“ส่วนที่เลือก ม.ยอนเซเพราะจากที่ได้เรียนภาษามา เราเห็นว่าเค้าจัดสภาพแวดล้อมสำหรับนักศึกษาดีมาก เน้นทั้งเรื่องเรียน+ชีวิตมหาวิทยาลัย มีครบทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก ชมรม กิจกรรม แล้วยังมีงานแข่งขันกีฬาครั้งใหญ่ระหว่าง ม.ยอนเซ กับ ม.โคเรีย (연고전) แล้วยังมีเทศกาล Akaraka (아카라카) ที่จะมีนักร้องไอดอลต่างๆ มากันเยอะมาก”
- ขิม ณัฐมนต์ นักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลี ปี 2021 คณะ Business Administration, Yonsei University อ่านบทสัมภาษณ์ได้ที่ www.dek-d.com/studyabroad/58578/
รีวิวเด็ก Seoul National University
“ม.โซลเรียนกันหนักมาก งานเฉลิมฉลองของเราก็คือเงียบเลยเมื่อเทียบกับที่อื่น อย่างมหาวิทยาลัยทั่วไปจะมีเป็น Line-up ศิลปินว่ามีใครบ้าง แต่ว่าม.โซลมีแค่หนึ่งวง หลังๆ มี NewJeans มาก็ถือว่าดีแล้ว แก้มเคยไปหอสมุดในวันที่เค้ามีอิเวนต์ ก็คือคนเต็มห้องสมุดเลยค่ะ แต่ว่าอิเวนต์มีคนอยู่ครึ่งสนาม ทั้งๆ ที่เราคาดหวังว่ามันน่าจะเต็ม ซึ่งคนที่ไปส่วนใหญ่ก็เป็นเด็กแลกเปลี่ยน แต่เด็กม.โซลก็คือนั่งอ่านหนังสือในห้องสมุด เราก็โอเค เรียนก็เรียน เรียนก็ได้ 5555”
- แก้ม พัชรพร นักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลี ปี 2016 สาขา Chemical and Biological Engineering, Seoul National University อ่านบทสัมภาษณ์ได้ที่ www.dek-d.com/studyabroad/62085/
และแน่นอนว่าการจัดงานนี้ในแต่ละครั้งใช้งบสูงมากกกกก ว่ากันว่ามหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในกรุงโซลนั้นใช้งบสูงถึง 200 ล้านวอนเลยทีเดียว (ประมาณ 5 ล้านกว่าบาท) ซึ่งในจำนวนนี้ถูกใช้สำหรับค่าตัวศิลปินไปแล้ว 60-70% และส่วนที่เหลือจะถูกใช้สำหรับการจัดบูท ค่าสต๊าฟ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ
น้องๆ สงสัยเหมือนกันมั้ยว่ามหาวิทยาลัยเค้าเอาเงินมาจากไหนในการจัดงานแต่ละครั้ง? คำตอบก็คือมาจากค่าเทอมของนักศึกษา งบประมาณของสภานักเรียน และการบริจาคจากศิษย์เก่าและบริษัทต่างๆ นั่นเองครับ
“เทศกาลนี้เป็นงานที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงมากที่สุดที่สโมสรนักศึกษาจัดขึ้น และนักศึกษาเองมักจะเปรียบเทียบกับงานครั้งก่อนๆ หรืองานในมหาวิทยาลัยใกล้เคียง ดังนั้นความสำเร็จของการจัดงานจึงเป็นสิ่งสำคัญในการประเมินโดยรวมของสโมสรนักศึกษา”
- คิม คยองจิน ประธานสโมสรนักศึกษาของ Seoul National University ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Korea JoongAng Daily
ดังนั้นทีมผู้จัดงานจึงต้องพึ่งพาสปอนเซอร์จากบริษัทและร้านค้าใกล้มหาวิทยาลัยเพื่อเป็นเงินทุนสำหรับเทศกาลนี้ ส่วนใหญ่จะได้รับเงินสนับสนุนประมาณ 1 - 1.5 ล้านวอนจากบริษัทต่างๆ โดยแลกเปลี่ยนกับการอนุญาตให้ตั้งบูทหรือการแจกของรางวัลจากสปอนเซอร์ภายในงาน อย่างไรก็ตามก็ใช้ว่าทุกมหาวิทยาลัยจะมีงบเพียงพอในการจัดงาน และการขอสปอนเซอร์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป
“เราส่งอีเมลถึงบริษัทมากกว่า 200 แห่ง ตั้งแต่บริษัทขนส่งมือถือไปจนถึงผู้ผลิตขนม แต่มีเพียง 3 หรือ 4 บริษัทเท่านั้นที่ตอบกลับ พวกเราสิ้นหวังมาก”
- เจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงโซลที่ดูแลงานเทศกาลเมื่อปีที่แล้ว กล่าว
บางมหาวิทยาลัยมีเงินทุนไม่เพียงพอ หนำซ้ำทุกหั่นงบประมาณในการทำงานไปอีก และยิ่งถ้าเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ต่างจังหวัดก็อาจจะต้องใช้งบในการจ้างศิลปินที่สูงมากกว่า 2-3 เท่าตัว เพราะบริษัทต้นสังกัดมักจะบวกค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายๆ อื่นที่ใช้มากกว่างานอื่นๆ ที่จัดในโซล ดังนั้นจึงทำให้หลายมหาวิทยาลัยเลือกที่จะไม่จัดงานนี้ และนำงบไปจัดกิจกรรมอื่นทดแทนให้กับนักศึกษา อย่างของปีนี้ Kookmin University ก็ได้ประกาศยกเลิกการจัดงานไปเพราะว่ามีงบและทีมงานไม่พอครับ
ต้องบอกว่างานนี้เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยในเกาหลีเลยก็ว่าได้ มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่มีความฝันอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยดังๆ เพื่ออยากเป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมฉลองแห่งเดือนพฤษภาคม แม้ว่ายุคหลังหลายม.ได้เปิดขายบัตรให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมชมคอนเสิร์ตได้ แต่ว่าบางที่ก็ยังสงวนสิทธิ์ให้เฉพาะกับนักศึกษาเท่านั้น (ถ้าอยากจะสัมผัสประสบการณ์แบบนี้ ก็ต้องสอบเข้าให้ได้นะ!)
...........
Source:https://koreajoongangdaily.joins.com/news/2024-04-22/national/socialAffairs/University-festivals-struggle-amid-rising-artist-costs/2030936?detailWord= https://www.yonsei.ac.kr/en_sc/yonsei_news.jsp?article_no=220396&mode=viewhttps://kcampus.kr/news/jandi-s-news-debriefing-13-students-love-festivals-but-universities-are-lacking-funds-3747
0 ความคิดเห็น