ตอนนั้นที่จีนก็(เกือบ)ดีนะ: แลกเปลี่ยนที่ ‘ม.เสฉวน’ ทั้งทีแต่เรียนออนไลน์ไป 5 เดือนเต็ม!

你好! ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ ช่วงก่อนหน้านี้กระแสของทุนเรียนที่ประเทศจีนก็คือมาแรงมากก และถ้าพูดถึงเมืองที่สภาพแวดล้อมดี เหมาะแก่การเรียนรู้อีกหนึ่งแห่งก็คงเป็น ‘เมืองเฉิงตู’ ณ มณฑลเสฉวน ที่เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจและการศึกษาที่สำคัญของจีน แถมผู้คนเป็นมิตรกับชาวต่างชาติอีกด้วยค่ะ

และวันนี้เราก็มีรีวิวจาก ‘ปิ่น’ วริศรา จันทรา เด็กศิลปศาสตร์เอกจีน ม.สงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่ได้ไปแลกเปลี่ยนที่ ‘มหาวิทยาลัยเสฉวน’ (四川大学, Sichuan University, SCU) ในนี้จะเล่าถึงตั้งแต่วันแรกที่ได้สัมผัสประเทศจีน บรรยากาศในคลาส ไปจนถึงความประทับใจที่เจ้าตัวบอกเลยว่า “แม้ตอนนี้ตัวจะอยู่ไทย แต่ใจยังคิดถึงชีวิตที่เมืองเฉิงตูอยู่ตลอดเวลา” จะมีเรื่องอะไรพีคๆ บ้าง ตามมาย้อนเหตุการณ์กันเลยค่ะ

อยากท้าทายตัวเอง
เปิดประสบการณ์ที่ประเทศจีน

ย้อนไปตั้งแต่สมัย ม.ปลาย ปิ่นเลือกเรียนศิลป์-ภาษาจีนที่โรงเรียนสุราษฎร์ธานี ตอนนั้นได้ภาษาจีนแบบพื้นๆ เพิ่งจะนับเลข 1-10 ได้ตอน ม.4 และสื่อสารได้แบบงูๆ ปลาๆ เลยค่ะ แต่พอถึงช่วงที่ต้องเลือกคณะ เราคิดว่าไหนๆ ก็เริ่มต้นด้วยภาษานี้แล้ว ก็อยากไปต่อให้สุดโดยการเลือกเรียนเอกภาษาจีนที่ มอ.ค่ะ 

พอเข้ามาเรียนเอกภาษาจีน เราก็ยังอยากหาโอกาสพัฒนาสกิลให้ดีกว่านี้ พอดีตอนนั้นทางคณะมีโครงการ 3+1 ที่ให้เด็กเอกจีนบินไปเรียนประเทศจีนเป็นเวลา 1 ปีในช่วงปี 2 // เป็นจังหวะเหมาะมากกกที่จะเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนไปเจอวิชาที่สนใจตอนปี 3 เพราะจะเริ่มมีความยากและเฉพาะทางขึ้น แถมเราเองก็ยังอยากไปจีนสักครั้งในชีวิต เลยตัดสินใจสมัครโครงการนี้ค่ะ 

เล่าถึงโครงการ 3+1 

โครงการนี้มีเฉพาะคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาจีนเท่านั้นค่ะ โดยนักศึกษาจะได้เรียนที่ประเทศไทยเป็นเวลา 3 ปี และประเทศจีนอีก 1 ปี (เป็นความสมัครใจ ไม่ได้บังคับ) ในตอนนั้นมีเรากับเพื่อนในคณะเดียวกันไปรวมกัน 9 คน แล้ว ณ ตอนนั้นมีตัวเลือกมหาวิทยาลัยให้ 3 แห่งด้วยกันดังนี้ค่ะ

  • มหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (复旦大学) เมืองเซี่ยงไฮ้ 
  • มหาวิทยาลัยเสฉวน (四川大学) เมืองเฉิงตู 
  • มหาวิทยาลัยครูกว่างซี (广西师范大学) เมืองกุ้ยหลิน

ปิ่นเลือกมหาวิทยาลัยเสฉวน เมืองเฉิงตู เพราะเป็น ม.ดังที่ตั้งอยู่ในเมืองเอกของมณฑลเสฉวน คิดว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้เราเก่งขึ้น แล้วยังเป็น ม.ที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับ ม.สงขลานครินทร์มานานแล้ว มีอาจารย์หลายท่านก็เรียนจบจากที่นี่ ถ้าเกิดปัญหาอะไร รับรองว่ามีคนคอยช่วยเหลือแน่นอน เราเลยรู้สึกว่ามหา’ลัยนี้ตอบโจทย์เราที่สุดค่ะ

โครงการซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายไหม?

อย่างที่บอกไปว่าเป็นการสมัครใจ ดังนั้นเราต้องออกค่าใช้จ่ายเองทุกอย่าง ทั้งค่าเล่าเรียน ค่าเดินทาง และค่าครองชีพ แต่เราก็มีโอกาสได้ชิงทุนเส้นทางสายไหม (OBOR) ของรัฐบาลจีน ที่มอบให้นักศึกษาต่างชาติโดยเฉพาะ มูลค่าทุนที่เราได้คือ 10,000 หยวน หรือประมาณ 51,200 บาทค่ะ

แนะนำทริคการเขียน Study Plan
ชิงทุนเส้นทางสายไหม

เราคิดว่า ‘Study Plan’ เป็นตัวตัดสินเลยค่ะ สิ่งที่เขาอยากรู้ที่สุดคือ เราจะนำเงินก้อนนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างไรในอนาคต เริ่มจากเขียนแนะนำตัวก่อนว่าเราคือใคร ทำไมถึงไปเรียนที่ประเทศจีน จุดเริ่มต้นหรือพื้นฐานภาษาจีนของเราเป็นยังไงบ้าง และอาจเสริมว่าจะนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดในประเทศไทยในแนวทางไหนด้วยก็ได้ค่ะ

ชวนเล่าชีวิตใน ม.เสฉวน

เรียนภาษาจีนกับเด็กต่างชาติล้วน

ปิ่นไปเรียนที่ ‘School of Overseas Education’ คณะนี้เปิดสอนภาษาจีนให้ชาวต่างชาติโดยเฉพาะ (สอนโดยเหล่าซือคนจีน) ดังนั้นจะมีนักศึกษาจากหลากหลายประเทศ รวมถึงเด็กเอกจีนจาก มอ.ก็จะถูกส่งมาเรียนที่คณะนี้เท่านั้นเลยค่ะ

ก่อนเปิดเทอมจะมีปฐมนิเทศและสอบวัดระดับภาษาจีน แบ่งเป็นระดับเริ่มต้น (Level 1-3), ระดับกลาง (Level 1-2) และระดับสูง (Level 1-2) ปิ่นถูกจัดเป็นระดับกลาง Level 1 ค่ะ ศัพท์ที่เรียนจะประมาณ HSK 5 // ในช่วงสัปดาห์แรกถ้ารู้สึกเนื้อหาง่ายไปก็สามารถขอเลื่อนไประดับที่สูงขึ้นได้ หรือถ้าเรียนไม่ไหวก็ขอเลื่อนลงได้เช่นกันค่ะ

เพื่อนๆ ในคลาสเรียน
เพื่อนๆ ในคลาสเรียน

เมื่อวิธีเรียนทำให้ต้องปรับตัวครั้งใหญ่!

ที่นี่จะสอนเน้นอธิบายให้เข้าใจ ถ้าติดตรงไหนยกมือถามได้ตลอด ช่วงแรกๆ เรายังขี้อาย ไม่กล้าถามเหล่าซือ แต่มีจุดที่คิดขึ้นได้ว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปจะขาดทุนนะ ก็เลยฝึกยกมือถามมากขึ้น (ติดนิสัยจนได้ใช้ตอนกลับมาเรียนที่ไทยเลยค่ะ)

นอกจากนี้จะมีกิจกรรมให้ได้ฝึกพูดเยอะมากกก จากที่เรียนมาทั้งหมดเราชอบ “วิชาการฟังและการพูด” มากที่สุด เหล่าซือจะมีหัวข้อให้เราโต้วาทีกัน ซึ่งในคลาสมีเพื่อนที่มาจากฝรั่งเศส อังกฤษ ไทย ญี่ปุ่น อเมริกา และสโลวาเกีย ดังนั้นการดิสคัสจะบันเทิงและทำให้เห็นมุมมองทางวัฒนธรรมที่ต่างจากเด็กไทยอย่างเราด้วย

เพื่อนร่วมคณะจาก มอ.  ที่ไปแลกเปลี่ยนด้วยกัน
เพื่อนร่วมคณะจาก มอ.  ที่ไปแลกเปลี่ยนด้วยกัน

ถ้าให้เทียบกับรูปแบบการสอนของไทย เรามองว่าไทยจะเน้นทฤษฎี ไวยากรณ์และการคัดตัวอักษร นักศึกษาจะต้องเขียนให้สวยและถูกต้องตามหลัก แต่จีนจะเน้นเชิงปฏิบัติให้เราสามารถใช้ได้จริงในแต่ละวันมากกว่า 

และต้องบอกว่าปัจจัยที่ทำให้ภาษาจีนพัฒนา ครึ่งนึงมาจากการเรียนในห้อง แต่อีกครึ่งนึงคือการใช้ชีวิตประจำวัน ที่เรียกว่าก้าวขาออกจากห้องพักก็ได้ใช้ภาษาจีนทันที อย่างเช่นได้เรียนรู้ศัพท์ตอนสั่งอาหารจากคุณลุงคุณป้าร้านขายข้าว จนรู้สึกเหมือนเขาเป็นเหล่าซือไปแล้ว

คนจีนปีนเขาเก่งมากกก!

ถ้าในวันหยุดสุดสัปดาห์คนไทยนิยมไปคาเฟ่หรือทะเลกัน แต่สำหรับคนจีนจะฮิต​ “ปีนเขา” ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงรุ่นคุณตาคุณยายเลยค่ะ  

นอกจากปีนเขาจะเป็นหนึ่งในกิจกรรมทัศนศึกษาตอนแลกเปลี่ยนแล้ว เรายังได้ไปเดินเที่ยวตลาดโบราณของจีน (洛带古镇, Luodai Ancient Town)  กับพิพิธภัณฑ์ในเมืองเฉิงตูด้วยค่ะ

ตลาด Luodai Ancient Town
ตลาด Luodai Ancient Town

และแล้ว “โควิด” ก็ทำให้ต้องกลับประเทศ

ตอนนั้นเป็นช่วงปิดเทอมพอดี เราได้ยินข่าวเรื่องโควิดมาบ้างเลยพยายามระวังตัวให้มากที่สุด พอครอบครัวกับเพื่อนๆ ทักมาหาก็เริ่มกังวลหนักขึ้น แต่จุดที่ทำให้เราตัดสินใจกลับคือตอนเพื่อนที่มาด้วยกันเขาเริ่มทยอยกลับประเทศค่ะ เราบอกตัวเองว่า “ไม่เป็นไร กลับแค่ 3 อาทิตย์เอง เดี๋ยวก็ได้กลับมาใหม่” 

จำได้เลยว่าจังหวะที่เราถึงไทยวันที่ 31 ม.ค. 2563 สถานการณ์ทั่วโลกก็รุนแรงเลยค่ะ ทั้งยอดผู้ติดเชื้อเพิ่ม หลายประเทศประกาศล็อกดาวน์ จากตอนแรกที่มีหวังว่าจะได้กลับจีนอีก กลายเป็นถูกเลื่อนมาเรื่อยๆ สุดท้ายทางมหาวิทยาลัยก็ประกาศให้เรียนออนไลน์ ช่วง 5 เดือนที่เหลือเราเลยได้เรียนผ่านจอคอมพ์ตลอดเทอม เสียดายโอกาสมากๆ TT ส่วนข้าวของในหอพัก ม.เสฉวน ส่งกลับมาให้ทั้งหมดค่ะ

#รีวิวเฉิงตู 
แชร์ชีวิตแต่ละวันในฉบับเด็กไทย

เจอปัญหาตั้งแต่วันแรกที่ไปถึง

นี่คือการไปเรียนต่างประเทศครั้งแรกของปิ่น เด็กไทยอย่างเราจะคุ้นชินกับอากาศร้อน(กับร้อนมาก) พอไปเจอฤดูใบไม้ร่วงของจีนที่อุณหภูมิประมาณ 10 องศา ร่างกายเราปรับตัวไม่ไหว ป่วยหนักจนบ่นอยากกลับบ้านไป 3 วันเลยค่ะ 

อีกปัญหาที่เจอกับตัวเองคือเรื่องภาษาค่ะ มีวันนึงเดินไปเข้าร้านอาหารไปคนเดียวเพื่อกินข้าวเที่ยง  แต่คุณป้าเจ้าของร้านพูดภาษาถิ่นมาเพราะไม่รู้ว่าเราเป็นต่างชาติ เราก็สู้ตายค่ะ งัดสกิลจีนกลางไปคุยด้วย แต่คุณป้าก็ใช้ภาษาเสฉวนตอบกลับมาอีก เลยถึงเวลาของไม้ตายสุดท้ายซึ่งก็คือภาษามือ ชี้ว่าจะกินเมนูนี้ แล้วก็รอดมาได้ค่ะ 555

พอพูดถึงเรื่องอาหาร จริงๆ เรามีกังวลเหมือนกัน ก่อนมาจีนเคยอ่านในเน็ตมาบ้างว่าอาหารเสฉวนถูกปากคนไทย แต่พอลองมากินครั้งแรกจริงๆ สำหรับเราคือกินไม่ไหวเลย เพราะมีรสมัน เค็ม และเผ็ดจนชาลิ้น ตอนนั้นคิดในใจว่าจะอยู่ได้มั้ยเนี่ย พอผ่านไปเดือนนึงคงเริ่มชินมั้ง กินอะไรก็อร่อยไปหมดเลย~

ได้มาพิสูจน์ว่าจีนไม่ใช่แบบที่เราได้ยินมา

“จริงไหมที่สภาพแวดล้อมไม่ค่อยโอเค” คือคำถามที่เราเจอบ่อยสุดตอนไปแลกเปลี่ยน ปิ่นเองก็เคยมีภาพจำแบบนั้น แต่พอมาแล้วถึงรู้ว่ามันขึ้นอยู่กับสถานที่ ไม่สามารถเหมารวมได้ว่าทั้งประเทศสกปรก อย่างเช่นเมืองที่ปิ่นไปคือสะอาดมาก ไม่มีสายไฟระเกะระกะ ปิ่นเลยเข้าใจว่าเราควรเปิดใจ อย่าเพิ่งยึดติดกับคำพูดที่ได้ยินมา

นอกจากนี้เทคโนโลยีบ้านเขายังไปไกลมาก และระบบคมนาคมยังดีด้วยค่ะ บนถนนจะมีแยกเลนระหว่างคนเดินถนนกับจักรยานชัดเจน หรือถ้าช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เยอะ รัฐบาลก็มีออกนโยบายให้ประชาชนนั่งรถสาธารณะฟรี เพื่อให้คนใช้รถยนต์น้อยลง ทำให้มลพิษบนท้องถนนลดตามไปด้วย 

TOP 3 เรื่องประทับใจในเมืองเฉิงตู

1. แสงแดด: เรื่องที่ดูธรรมดามาตลอด พอมาที่นี่กลับพิเศษเพราะเราเห็นแสงแดดได้น้อยมาก ท้องฟ้าที่เฉิงตูไม่ได้สดใสเหมือนบ้านเรา เพราะจะถูกปกคลุมด้วยกลุ่มเมฆเกือบตลอด อาทิตย์นึงมีแดดออกแค่ 1-2 วัน แล้วถ้าวันไหนมีแดด คนจะพากันออกมาเดินเล่นเต็มถนนเลยค่ะ!

2. ฤดูใบไม้ร่วง: เป็นช่วงที่ถนนทั้งสายเต็มไปด้วยสีเหลืองของใบแปะก๊วย เราจะเห็นผู้คนออกมาถ่ายรูป หรือคู่รักเดินจูงมือกัน เป็นอะไรที่โรแมนติกมาก~ แถมอากาศก็เป็นใจสุดๆ ไม่หนาวเกินไปด้วย กำลังดีเลยค่ะ

3. วิถีชีวิต: เรารู้สึกว่าคนที่นี่ใช้ชีวิตแบบมีความสุขมากๆ หนุ่มสาวไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ คนมีอายุหน่อยก็นั่งดื่มชา เล่นไพ่นกกระจอกด้วยกัน  เป็นภาพที่เห็นแล้วมีความสุขตาม จนไม่แปลกใจว่าทำไมเฉิงตูได้รับการขนานนามว่า เมืองที่มาแล้วไม่อยากจะจากไป (成都,一座来了就不想离开的城市)

แต่เหตุผลที่ว่าทำไมพวกเขาถึงใช้ชีวิตแบบนี้ อาจารย์เคยเล่าว่าเพราะเมืองเฉิงตูเกิดแผ่นดินไหวบ่อยมาก ผู้คนเลยถือคติ ‘ใช้ชีวิตทุกวันให้มีความสุขที่สุด’ นั่นเองค่ะ​ :)

ฝากถึงน้องๆ ที่อยากมาเรียนภาษาที่จีน

นอกจากเรื่องความตั้งใจแล้ว เราคิดว่าสภาพแวดล้อมมีผลต่อการเรียนภาษามาก (ไม่ว่าจะภาษาใดก็ตาม) อย่างปิ่นเองเรียนภาษาจีนมานานแต่ไม่มีโอกาสใช้ในชีวิตจริง พอไปอยู่เฉิงตูก็ได้เริ่มซึมซับและพัฒนาภาษาจากทุกก้าวในชีวิตเลย แล้วยังมีผลพลอยได้อีกอย่างคือเราเก่งเรื่องการเอาตัวรอดขึ้น เพราะต้องเผชิญวัฒนธรรมและภาษาที่ต่างกับเราตลอดเวลา ถึงจะไปกับเพื่อนก็ยังคงเน้นพึ่งตัวเอง เพื่อให้รบกวนคนอื่นน้อยที่สุดค่ะ 

แม้จะได้ไปแลกเปลี่ยนที่เฉิงตูแค่ช่วงสั้นๆ แต่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิตเราเลย  ทั้งกล้ายกมือถามเหล่าซือและแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ถ้ามีโอกาสก็อยากจะกลับไปอีกครั้ง อยากไปพูดคุยกับคุณลุงคุณป้าร้านข้าวว่าตอนนี้เราเก่งขึ้นแล้วนะ พูดคล่องกว่าเดิมเยอะเลย

และช่วงนี้ปิ่นก็ทำโปรเจกต์จบเป็นแชนเนลยูทูบเพื่อแชร์ประสบการณ์ในเมืองเฉิงตูร่วมกับเพื่อนๆ ด้วย (มีเมืองอื่นๆ ด้วยนะ!) ถ้าน้องๆ คนไหนสนใจก็สามารถไปติดตามกันได้นะคะ

.......

มีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนทั้งที สุดท้ายก็ต้องกลับมาเรียนที่ไทย (รู้สึกเสียดายแทนมากๆ TT) เชื่อว่าเด็กเอกจีนและหลายๆ คนยังรอวันที่จะได้กลับไปเรียนที่จีนอีกครั้ง พวกเรามารอลุ้นกันค่ะว่าจีนจะเปิดประเทศเมื่อไหร่ และพี่ก็ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนอีกแรงนะคะ ^^

พี่บีมบัน
พี่บีมบัน - Columnist สาวใต้ผู้หลงรักเครื่องเขียน ศิลปะ และติดซีรีส์จนไม่ยอมนอน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น