รู้จักกับ “Death Awareness” เมื่อเทรนด์คนรุ่นใหม่มองความตายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น!

น้องๆ เคยสงสัยไหมคะว่าถ้าเราตายแล้วจะเกิดอะไรขึ้น? อย่าเพิ่งรีบตอบว่าไปสวรรค์นะคะ พี่พันตาไม่ได้พูดถึงโลกหลังความตาย แต่หมายถึงสิ่งต่างๆ ที่เราหลงเหลือเอาไว้หลังจากที่เราจากไปแล้วต่างหากล่ะ (อย่างพี่ก็ชอบคิดว่าถ้าพี่ตายไป แมวพี่จะอยู่ยังไง T_T) ความสงสัยที่อาจผุดขึ้นมาในหัวเรานั้นไม่ใช่เรื่องแปลกเลยค่ะ ความคิดพวกนี้อยู่กับมนุษย์มาแสนนาน แต่ใช่ว่าทุกคนจะนำไปคิดต่อและจัดเตรียมทุกอย่างเพื่อรองรับเหตุการณ์หลังความตายได้

ว่ากันว่าเทรนด์คนรุ่นใหม่นั้นมีแนวโน้มที่จะมี ‘Death Awareness’ หรือการตระหนักเรื่องความตายกันมากขึ้น คนส่วนใหญ่มีมุมมองยังไงบ้าง มาติดตามกันต่อได้เลยค่ะ~

 

…………..

‘Death Awareness’ คืออะไร?

ภาพโดย S. Hermann & F. Richter จาก Pixabay
ภาพโดย S. Hermann & F. Richter จาก Pixabay 

Death Awareness หรือ ‘การตระหนักเรื่องความตาย’ หมายถึงการตระหนักว่าวันหนึ่งเราจะต้องตาย และมองว่าความตายนั้นอยู่ทุกที่และไม่ได้ไกลเกินเอื้อม สามารถเกิดขึ้นตลอดเวลา ณ ที่ไหนสักแห่งบนโลก ซึ่งผลจากการตระหนักถึงความตายก็คือเราจะอยู่กับปัจจุบันมากขึ้นและพยายามใช้ชีวิตทุกวันอย่างเต็มที่ สิ่งนี้แตกต่างจากการ ‘รู้’ ว่าเราต้องตายนะคะ เพราะถ้ารู้แต่ไม่ใส่ใจก็เรียกว่า ‘ตระหนัก’ ไม่ได้ค่ะ

ความจริงเรื่องนี้ก็ไม่ได้ใหม่ซะทีเดียว เพราะ Death Awareness นั้นสามารถเจอได้ในคำสอนต่างๆ เช่น

  • ในศาสนาพุทธมี ‘มรณสติ’ ซึ่งเชื่อว่าการตระหนักถึงความตายจะช่วยพัฒนาจิตใจให้สงบสุขได้ เพราะโดยทั่วไปแล้วเมื่อเราพูดถึงความตาย อารมณ์ของมนุษย์มักจะไม่สมดุล เช่น เสียใจหรือหวาดกลัวจนเกินไป แต่เมื่อมีมรณสติ อารมณ์ของเราจะคงที่มากขึ้น พุทธศาสนิกชนบางคนจึงเลือกฝึกมรณสติด้วยวิธีต่างๆ เช่น การเพ่งและพิจารณาศพ เป็นต้น
  • คนภูฏานเชื่อว่าถ้าอยากมีความสุขให้คิดว่า ‘เราจะต้องตาย’ ทุกวัน วันละ 5 ครั้ง ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับงานวิจัยในปี 2007 ที่แบ่งกลุ่มคนออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้นึกถึงเรื่องการไปหาหมอฟัน และกลุ่มที่สองให้นึกถึงเรื่องความตาย ผลปรากฏว่าเมื่อทดสอบเติมคำ กลุ่มที่สองนึกถึงกลุ่มคำที่เกี่ยวข้องกับความสุขมากกว่ากลุ่มแรกอย่างเห็นได้ชัด คล้ายว่าระบบความคิดเริ่มมองหาความสุขโดยอัตโนมัติ

แต่การมีอยู่มานานก็ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับได้ค่ะ เพราะโดยทั่วไปความตายเป็นเรื่องที่มาพร้อมกับการจากลาและโศกเศร้า คนส่วนใหญ่จึงยังไม่ได้คิดเรื่องความตายขนาดนั้น

ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงตระหนักเรื่องความตาย?

ภาพโดย Suhyeon Choi จาก Unsplash
ภาพโดย Suhyeon Choi จาก Unsplash

แนวโน้มการตระหนักเรื่องความตายค่อยๆ เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนยุคใหม่ ซึ่งเติบโตมาท่ามกลางการตั้งคำถามและท้าทายความเชื่อสมัยเก่า เช่น เราเรียนรู้ว่าการไม่พูดเรื่องเงินอาจนำไปสู่ภาวะยากลำบากทางการเงินได้ (เหมือนในยุควิกฤตเศรษฐกิจหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา) ถ้าอย่างนั้นเราก็ควรจะพูดเรื่องเงินไม่ดีกว่าเหรอ? ดังนั้นแทนที่จะมองความตายเป็นเรื่องต้องห้าม คนยุคนี้ก็เริ่มกล้าแสดงความคิดเห็นถึงสิ่งนี้มากขึ้น

เมื่อคนยุคใหม่มองความตายเป็นเรื่องปกติและอยากให้โลกรวมถึงคนรอบข้างเข้าใจตัวตน จึงนำไปสู่การจัดเตรียมแผนรองรับกรณีที่ความตายของตนมาถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการศพ การบริจาคร่างกาย มรดก พิธีกรรม ฯลฯ มากกว่าให้ผู้อื่นจัดการแบบเบ็ดเสร็จ

ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกค่ะ ปัจจุบันนี้โลกของเราเต็มไปด้วยการแข่งขัน และคนยุคใหม่ก็ถือคติว่า “ถ้าอยากประสบความสำเร็จในโลกนี้เราจะต้องมีแรงจูงใจ (passion) และกระตือรือร้นที่จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ (productive) อยู่ตลอดเวลา” (อันที่จริงแนวคิดนี้ก็มีทั้งผลดีและผลเสียนะคะ) การที่คนรุ่นใหม่พยายามผลักดันตัวเองจึงสอดคล้องกับการตระหนักถึงความตาย เพราะจะยิ่งทำให้พยายามใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าในทุกๆ วัน

การผลักดันและบริการที่เกิดจากการตระหนักถึงความตาย

วิดีโอ “Mortician Answers Dead Body Questions From Twitter” จาก WIRED
มียอดรับชมมากกว่า 20 ล้านครั้ง สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่สงสัยและตื่นตัวเรื่องการจัดการศพ

 

คนรุ่นใหม่คือกำลังสำคัญของประเทศ พวกเขาเริ่มพยายามผลักดันโดยหวังว่า คนเราจะสามารถพูดคุยเรื่องความตายได้ปกติและเป็นธรรมชาติในสักวันหนึ่ง เราลองมาดูตัวอย่างดีกว่าค่ะว่าเดี๋ยวนี้เค้ามีการรณรงค์และบริการเกี่ยวกับความตายแบบไหนกันบ้าง

“WeCroak” แอปพลิเคชันที่เตือนทุกวันว่า ‘เรากำลังจะตาย’

ภาพจาก  WeCroak  ผ่าน Google Play
ภาพจาก  WeCroak  ผ่าน Google Play

แอปนี้พัฒนาโดย KKIT Creations ซึ่งจะมีระบบแจ้งเตือนทุกวัน วันละ 5 ครั้งว่าเรากำลังจะตาย เป็นการนำแนวคิดของชาวภูฏาน (อย่างที่อธิบายไปข้างต้น) มาผลักดันให้เราใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ภายในแอปยังมีโควตสร้างแรงบันดาลใจดีๆ ให้อ่านในแต่ละวันด้วยค่ะ

จะดีกว่าไหม? ถ้าเราตายไปแล้วเป็นปุ๋ยหมัก!

ภาพโดย Yves Bernardi จาก  Pixabay
ภาพโดย Yves Bernardi จาก  Pixabay

ในอเมริกาเริ่มมีบริการรับจัดการศพโดยใช้จุลินทรีย์ย่อยสลาย เพราะการฝังอาจทำให้สิ้นเปลืองพื้นที่ได้ และการเผาก็สร้างมลภาวะทางอากาศ วิธีการจัดการศพรูปแบบใหม่นี้เพิ่มทางเลือกให้กับคนยุคใหม่ได้ใช้การตายของตนทำประโยชน์ให้โลกยิ่งขึ้น

สำหรับประเทศไทยนั้นเรายังไม่มีการจัดการศพแบบนี้ค่ะ คนส่วนใหญ่ก็เลยนิยมบริจาคร่างกายให้โรงพยาบาลแทน นอกจากจะช่วยต่อชีวิตให้ผู้ป่วยได้แล้ว บางคนยังอนุญาตให้นำร่างกายของตัวเองไปศึกษาในฐานะ ‘อาจารย์ใหญ่’ แก่นิสิตนักศึกษาแพทย์อีกด้วย

วิชา “การตายอย่างมีคุณภาพ” เปิดให้เรียนออนไลน์ผ่าน Chula MOOC

ภาพจาก Chulalongkorn University
ภาพจาก Chulalongkorn University

ที่จริงแล้ววิชานี้เปิดสอนตั้งแต่ปี 2552 โดยคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื้อหาจะว่าด้วยเรื่องการค้นหาตัวเองและคำตอบของการมีชีวิตอยู่ // ถึงแม้ว่าผู้สอนจะไม่ใช่เด็กรุ่นใหม่ แต่แค่ชื่อของวิชาก็ถูกคนยุคปัจจุบันขนานนามว่า “น่าเรียนสุดๆ” เกิดเป็นการเล่าปากต่อปากไปเรื่อยๆ จนในที่สุดทางมหาวิทยาลัยตัดสินใจเปิดสอนออนไลน์ให้ประชาชนทั่วไปสามารถลงทะเบียนเรียนได้แบบฟรีๆ เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมานี่เองค่ะ 

นอกจากของจุฬาฯ แล้ว ยังมีของมหา’ลัยอื่นๆ ในต่างประเทศ เปิดสอนเช่นกันนะ

ตามไปดูกันได้ที่ 6 คอร์สฟรีออนไลน์น่าเรียน ที่เกี่ยวกับ "ความตาย" 

“Kid Mai Death Awareness Cafe” สะท้อนประสบการณ์เกิด แก่ เจ็บ ตาย

ภาพจาก  Kid Mai Death  Awareness Cafe
ภาพจาก  Kid Mai Death  Awareness Cafe

น้องๆ รู้มั้ยว่าในไทยของเรามีคาเฟ่ที่ชื่อว่า ‘Kid Mai Death Awareness Cafe’ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยของคุณวีรณัฐ โรจนประภา ที่ต้องการนำหลักการ ‘มรณสติ’ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยภายในมีนิทรรศการที่บอกถึงวัฏจักรของมนุษย์ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย รวมไปถึงคาเฟ่และกิจกรรมอื่นๆ เช่น Escape Room ถือว่าเป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยมในระดับหนึ่งเลยทีเดียว (ทีมงาน Dek-D เคยไปรีวิวด้วยนะ เข้าไปดูได้เลย คลิกที่นี่)

ใครสนใจลองเข้าไปดูที่เพจ Kid Mai Death Awareness Cafe 

…….…….

เห็นไหมคะว่าถึงความตายจะฟังดูน่ากลัว แต่หากมองอีกมุมนี่ก็คือเรื่องที่ธรรมชาติมากๆ และการตระหนักถึงความตายอาจเป็นแรงผลักดันให้บางคนอยากใช้ชีวิตให้เต็มที่และอนุญาตให้ตัวเองมีความสุขเหมือนเป็นวันสุดท้าย // ว่าแต่เพื่อนๆ น้องๆ มองความตายกันในแง่มุมไหนบ้าง อยากชวนแวะมาแชร์กันหน่อยนะคะ :) 

***********

sources:https://www.vox.com/the-highlight/2020/1/15/21059189/death-millennials-funeral-planning-cremation-green-positivehttps://www.documentjournal.com/2021/06/normalize-dying-a-new-wave-of-millennial-morticians-are-overturning-societys-death-taboo/https://www.chula.ac.th/highlight/48092/https://deathawarenesscafe.com/https://tricycle.org/magazine/death-awareness/https://acourseindying.com/https://www.bbc.com/travel/article/20150408-bhutans-dark-secret-to-happiness/ 
พี่พันตา
พี่พันตา - Columnist คนที่ไม่ได้มีพันตาแต่อยากทะลุมิติไปพันล้านพหุจักรวาล

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

Analockman Member 22 ส.ค. 65 20:08 น. 1

การตระหนักรู้ถึงความตายเป็นเรื่องธรรมดามากในสังคมโบราณ เช่น มรณานุสติในศาสนาพุทธ และ Memento Mori สุภาษิตลาติน . ศาสนาทุกศาสนาล้วนมีแก่นอยู่ที่ความตายและความไม่เป็นอมตะของมนุษย์ ผมกลับคิดตรงกันข้ามนะว่าคนรุ่นใหม่ คิดถึงความตายน้อยมาก ถ้าเทียบกับคนสมัยก่อน หรือผมตามกระแสความคิด"คนรุ่นใหม่"ไม่ทันก็ไม่รู้ แต่ผมไม่คิดว่าพวกเขาจะเข้าใจความตายว่าเป็นเรื่องปกติเท่ากับคนโบราณ อาชีพของคนรุ่นใหม่แทบทั้งหมดถูกกระตุ้นสู่การมีชีวิตที่สนุกสนานและสะดวกสบายไม่ใช่การเตรียมตัวตาย สองสิ่งนี้แทบจะเข้ากันไม่ได้เลยด้วยซ้ำ แต่ความคิดเรื่งความตายที่มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าพิจารณาจาก อัตราการฆ่าตัวตายและโรคซึมเศร้าที่สูงขึ้น ก็เป็นไปได้ว่า เพราะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้มันเป็นไปแบบนั้น https://image.dek-d.com/27/0920/0271/133042059

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด