รวม 10 คำถาม! เปิดมุมเรียนต่อนอกของ ‘ทิม พิธา’ ดีกรีเด็กทุน Harvard และ MIT

สวัสดีค่าาาาชาว Dek-D ทุกคน ถือว่าเป็นกระแสฮอตปรอทแตกทุกแพลตฟอร์มกับผลการ #เลือกตั้ง66 ที่ได้แกนนำพรรคจัดตั้งรัฐบาลอย่าง ‘ก้าวไกล’ นำโดยแคนดิเดตนายกฯ อย่าง “คุณทิม - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ที่ทั้งสื่อไทยและเทศกำลังจับตามองอย่างสุดๆ 

ครั้งก่อนพี่พีชก็ได้พาไปส่องโพรไฟล์เหล่าแคนดิเดตนายกฯ ดีกรีเด็กนอกกันมาบ้างแล้ว และอย่างที่เราทราบกันดีนะคะว่าคุณพิธานั้นเป็นถึงเด็กทุนที่ John. F Kennedy School of Government จาก Harvard University ว่าแต่น้องๆ รู้กันหรือเปล่าคะว่าคุณพิธายังนับว่าเป็นนักเรียนไทยคนแรกที่ได้รับทุนการศึกษา International Student ของที่นี่อีกด้วย และความปังยังไม่หมดเพราะคุณพิธายังเรียนควบปริญญาโทใบที่ 2 ที่ MIT มหาวิทยาลัยชั้นนำอันดับหนึ่งของโลกอีกเช่นกัน วันนี้เราเลยจะอาสาพาทุกคนไปล้วงลึกเคล็ดลับการเรียนและการสมัครทุนในแบบฉบับของคุณพิธากันค่ะ  // Let’s go!!

Note: บทความนี้อ้างอิงบทสัมภาษณ์จากงาน TIECA Study Abroad Expo 2018 และ Q&A Instagram: tim_pita (ปี 2018)

……………………………

Photo Credit:
Photo Credit: tim_pita on instagram 

Q: จุดเริ่มต้นการไปเรียนที่นิวซีแลนด์? (ตั้งแต่ อายุ 11-17 ปี)

Pita: ตอนเด็กชีวิตผมค่อนข้างสุขสบาย พ่อเลยส่งไปฝึกนิสัยที่ต่างประเทศ อยู่กับ Host family ที่เมืองฮามิลตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ช่วงแรกผมร้องไห้อยู่ 3 เดือน พอปรับตัวได้ก็เริ่มสนิทกับเพื่อน  มีไปเล่นกีฬารักบี้หรือคร็อกเก็ตด้วยกันบ้าง เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราพูดภาษาอังกฤษได้ดีขึ้นเพราะได้ใช้จริง คราวนี้เราก็เริ่มสนุกแล้วและมีไปลงเรียนวิชาที่อยากเรียนบ้าง ถึงเป็นภาษาอังกฤษก็เถอะ พอคุณแม่ตามกลับเมืองไทยผมนี่ไม่ยอมกลับเลย 555+

Q: รู้สึกว่าตัวเองมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างที่เห็นได้ชัด?

Pita: นิสัยเปลี่ยนไป เริ่มเข้าใจคุณค่าของเงินและความเท่าเทียมมากขึ้นเพราะเราไม่มีพี่เลี้ยงมาคอยตามใจ (โดนเลี้ยงดูแบบฝรั่งเลย) อีกอย่างหนึ่งคือคิดถึงความเป็นไทยและพระพุทธศาสนามากขึ้น เพราะที่โน่นทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษหมดและเรียนที่โรงเรียนคาทอลิก St. John's College แล้วเราก็เป็นคนไทยคนเดียวด้วย บางทีก็มีเอาหนังสือภาษาไทยไปอ่าน เอาอาหารไทยไปกินบ้าง แต่พออยู่ไปนานๆ เราก็เริ่มไม่ค่อยพูดภาษาไทย คุณพ่อเลยพากลับมาอยู่ที่ไทยและมาเรียนที่ ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อให้เราได้เห็นมุมมองทั้งตะวันตกและตะวันออก 

Photo Credit:
Photo Credit: tim_pita on instagram

Q: คุณทิมเรียนจบป.ตรีที่ ม.ธรรมศาสตร์ใช่ไหมคะ?

Pita: เรียนที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีอยู่ 2 ปีครับ แล้วก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่ The University of Texas at Austin ในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ 3 เทอม แล้วกลับมาเรียนจบที่ม.ธรรมศาสตร์ ก็เลยได้ใบปริญญามา 2 ใบ

Q: เรียนจบป.ตรีแล้วทำงานเลยหรือเรียนต่อ ป.โท ดี?

Pita: ผมแนะนำว่าให้ทำงานก่อนซัก 2-3 ปีดีกว่าครับ เพื่อให้เราได้เรียน ป.โท อย่างมีความสุข เพราะที่ต่างประเทศนักเรียนในคอร์สส่วนใหญ่จะทำงานกันมาก่อน ซึ่งการเรียนกับการทำงานมันต่างกันมาก เวลาเรียนเราไม่เคยเจอเจ้านายแย่ๆ ไม่เคยเจอเพื่อนที่เอาเปรียบเราซักเท่าไร แต่พอทำงานเนี่ยเราได้รู้สังคมและรู้ว่าระบบการทำงานมันเป็นอย่างไร พอไปเรียนต่อ ป.โท มันก็จะง่ายขึ้นและเรียนมีความสุขมากขึ้น เพราะส่วนใหญ่เค้าไม่มานั่งสอบข้อเขียนกันแล้ว เน้นดิสคัสกันมากกว่า ถ้าเราไม่เคยฝึกพูดอภิปรายหรือนำเสนอการประชุมมาก่อนก็อาจจะทุกข์ได้ 

Q: แล้วไปเรียนต่อ Harvard และ MIT ได้อย่างไร? 

Pita: เริ่มทำงานก่อนตั้ง 8 ปีนะครับ แล้วก็มีผู้ใหญ่ที่ทำงานด้วยกันหลายท่านเป็นศิษย์เก่า Harvard แนะนำให้ไปเรียนต่อ ซึ่งผมก็อยากไปเพราะมันน่าสนุกดี แต่พอผมไปเรียนต่อ คุณพ่อก็เสียชีวิต เลยต้องกลับมาดูแลกิจการต่อประมาณ 2 ปี แล้วกลับเรียนต่อที่อเมริกา 3 ปี โดยจะเรียนควบกันครับ ตอนเช้าเรียนที่ Harvard ส่วนตอนกลางวันก็ไปที่ MIT แล้วก็ดูแลกิจการที่บ้านด้วย

#เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย

Photo Credit:
Photo Credit: tim_pita on instagram

Pita: 

1. ใช้ประโยชน์จาก Time Zone เพราะที่ไทยกับอเมริกาเวลาต่างกัน ผมจะดูราคาตลาดต่างๆ จากอเมริกาเสร็จแล้วก็ส่งข้อมูลกลับไทยให้น้องชายคุมต่อ 

 

2. เรื่องการเรียนแนะนำให้ปรึกษาอาจารย์ ไม่ต้องเขินอายครับ บอกไปเลยว่าเราเรียนไม่ทัน อาจารย์เขาก็จะแนะนำให้อ่านตรงส่วนที่สำคัญ ให้เราสามารถมาดิสคัสกับเพื่อนๆ ต่อในชั้นเรียนได้รู้เรื่อง แล้วเราก็ควรลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ให้ดีด้วย

#แชร์ทริกการเรียนต่อนอก

Photo Credit:
Photo Credit: tim_pita on instagram

Pita: ตอบรวมๆ ทุกเรื่องเกี่ยวกับการเรียนเลยนะครับ ไม่ใช่แค่เรื่องสอบชิงทุน

คือเราต้องถามตัวเอง “3 ทำไม”

  1. ทำไมถึงอยากเรียน
  2. ทำไมถึงเลือกที่นี่ (ประเทศหรือมหาวิทยาลัยนี้)
  3. ทำไมต้องเลือกไปปีนี้และทุนนี้

เวลาเขียนเป็น essay ก็เขียนเป็น 3 ย่อหน้าตามเหตุผลเราเลยครับ อดีตเราคืออะไร ในอนาคตเราฝันอยากเป็นอะไร แล้วการศึกษาที่สถาบันนี้หรือทุนนี้จะเป็นสะพานให้เราไปสู่อนาคตของเราได้อย่างไรและเราจะสร้างคุณค่าให้สังคมอย่างไร

Q: การเรียนป.โท ที่ต่างประเทศ การเรียนการสอนเป็นอย่างไรบ้าง?

Pita: เน้นเรียนนอกห้องครับ ส่วนพาร์ตในห้องก็เรียนหนังสือเล่มเดียวกับที่เรียน ป.ตรี ที่ธรรมศาสตร์เลย แต่เรียนง่ายกว่ามากเพราะเค้าไม่ค่อยแคร์เรื่องเรียนในห้องกันเท่าไร อย่างถ้ามีข่าว Warren Buffett หรือ Bill Gates จะมาที่ ม. แล้วถ้าคุณสนใจไปสัมภาษณ์เขามากกว่า วันนั้นก็ไม่ต้องเข้าเรียนก็ได้ สามารถเขียนจดหมายไปบอกเหตุผลอาจารย์ได้ ตรงนี้มันก็เหมือนเป็นการสอนให้เราใช้ชีวิตเป็นและสามารถเลือกได้ว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญกับชีวิตเรา ซึ่งคนที่โน่นเขาก็เคารพตรงจุดนี้ 

#มุมมองต่อการเรียนแบบไทย

Photo Credit:
Photo Credit: tim_pita on instagram

Pita: ผมก็เป็นกำลังใจให้ครูไทยหรือระบบการศึกษาไทยนะครับ เพราะเราไม่ได้เป็นครู เราไม่รู้หรอก ครูหนึ่งคนต้องดูแลนักเรียนกว่า 40 คน ส่วนที่ต่างประเทศห้องนึงมีนักเรียน 12 คน และเงินเดือนครูที่โน่นก็พอๆ กับเงินเดือนผมเลยนะครับ เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่าระบบการศึกษาของเค้าหรือของเราดีกว่ากัน แต่ก็ควรดูบริบทด้วยเพราะปัญหามันมีอยู่ เช่น ครูที่โน่นเขามีศักยภาพในการสอน ไม่ต้องมานั่งกังวลเรื่องหนี้สินเพราะเงินเดือนเขาสูง ส่วนด้านพ่อแม่ก็มีหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูกเท่าเทียมกัน ไม่มานั่งรอแต่ให้โรงเรียนอบรมเด็ก แต่พ่อแม่ก็ช่วยในเรื่องการเรียนการสอนของลูกด้วย

Q: แล้วในโลก 4.0 ยุคดิจิทัลแบบนี้ คิดว่าเราควรฝึกทักษะอะไร?

Pita: ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการทำน้ำมันรำข้าวที่เน้นเรื่องมูลค่าและได้มาทำงานด้านเทคโนโลยีด้วย ผมพูดได้เลยว่านิยามโลกยุค 4.0 สำหรับผมคือ ‘High tech & High touch’ 

High tech ก็คือมีความรู้เรื่องเทคโนโลยี สินค้าต้องมีนวัตกรรม ส่วน High touch คือเสน่ห์และสตอรี่ในสินค้าของเรา ให้มันมีความเป็นชุดสูทของอิตาลี มีความเป็นสาเกของญี่ปุ่น พูดง่ายๆ ก็คือหาความเป็นตัวเองที่ใครก็มาแทนที่เราไม่ได้

……………………………

เป็นยังไงก็บ้างคะกับประสบการณ์เรียนต่อต่างประเทศของ “คุณพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์” ว่าที่นายกคนที่ 30 ของประเทศไทย (ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด) สำหรับใครที่อยากดูสัมภาษณ์เต็มๆ ของคุณพิธาในงาน TIECA Study Abroad Expo 2018 สามารถดูต่อได้ที่คลิปด้านล่างได้เลยค่า // หวังว่าบทความนี้จะช่วยสร้าง inspiration ให้น้องๆ ที่อยากเรียนต่อนอกกันนะคะ ^^

Sources:https://youtu.be/ARr3OqwusMs https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=1039854302860658&id=100005082937933&sfnsn=mo Photo Credit: https://www.instagram.com/p/CT9F3SlP1CU/?igshid=MzRlODBiNWFlZA==https://www.instagram.com/p/Cc-f5hzPrXs/?igshid=MzRlODBiNWFlZA== https://www.instagram.com/p/Cg6cEDkvp92/?igshid=MzRlODBiNWFlZA== https://www.instagram.com/p/CS4WQROFniH/?igshid=MzRlODBiNWFlZA== 
พี่พีชชี่
พี่พีชชี่ - Columnist เด็กลิทหนอน(หนัง)สือ หัวใจ เด็กสมบัติ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด