รวม 5 Fun Facts ชวนรู้จัก ‘Imperial College London’ ยูท็อปมาแรงจากอังกฤษ ตัวตึงสายวิทย์ ดีกรีเบอร์ 2 ของโลก!

ในที่สุดผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกอย่างเป็นทางการของ QS World University Rankings 2025 ก็ได้ประกาศออกมาแล้ว ซึ่งครั้งนี้ก็มีสถาบันม้ามืดได้ไต่อันดับแซงทางโค้งขึ้นสู่อันดับที่ 2 นั่นก็คือ “อิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน” (Imperial College London, ICL) เรียกว่าเซอร์ไพรส์ไม่น้อยเลยนะครับ เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก้าวขึ้นแท่นอันดับ 1 ของประเทศอังกฤษ เฉือนชนะ Oxbridge ได้ในที่สุด!

แน่นอนว่ากว่าจะถึงจุดนี้ ทาง ICL ก็ได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนและงานวิจัยให้มีคุณภาพสูงอย่างต่อเนื่อง จนติดลิสต์มหาวิทยาลัยในฝันที่คนทั่วโลกอยากเรียนต่อ วันนี้ พี่ธัน เลยอยากพาชาว Dek-D ทุกคนไปเปิดมุมอินไซต์กับ 5 เรื่องสนุกๆ ของ Imperial College London ที่หลายคนอาจไม่รู้มาก่อน จะมีอะไรบ้าง  ไปติดตามกันนน~

 

Credit: Imperial College London’s Facebook page
Credit: Imperial College London’s Facebook page

เปิดรั้วทำความรู้จัก Imperial College London

  • อิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน เป็นสถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1907 
  • ปัจจุบันมีนักศึกษามากกว่า 23,000 คน (2022-2023) ซึ่งทุกปีมีผู้จบการศึกษามากกว่า 9,500 คน แบ่งเป็นระดับ ป.ตรี ประมาณ ⅓ และบัณฑิตศึกษาประมาณ ⅔
  • สภาพแวดล้อมมีความนานาชาติสูง นักศึกษาต่างชาติจาก 145 ประเทศเดินทางมาเรียนที่นี่ สร้างโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดจากผู้คนทั่วโลก
  • เน้นการเรียนการสอน 4 สาขาหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ และ ธุรกิจ

พอกันก่อนกับข้อมูลทั่วไป มาเริ่มกันเลยดีกว่าว่า “อิมพีเรียลคอลเลจ” เขามีเรื่องว้าวๆ อะไรบ้าง

Credit: Imperial News
Credit: Imperial News

5 Fun Facts about ICL

1. 3 วิทยาลัย + 1 สถาบัน = Imperial College London

ย้อนไปเมื่อปี 1851 กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้เป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการ ‘The Great Exhibition’ ซึ่งหลายประเทศจากทั่วทุกมุมโลกที่ร่วมส่งนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์มาจัดแสดงด้วย ปรากฏว่างานครั้งนั้นสำเร็จอย่างสวยงามครับ ทำให้เจ้าชายอัลเบิร์ตและสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียตัดสินใจสร้าง ‘Albertopolis’ ที่เป็นเหมือนจักรวาลแห่งใหม่ของแวดวงวิทยาศาสตร์และศิลปะขึ้นมา ตั้งอยู่บนถนน Exhibition Road เขต South Kensington ครอบคลุมถึงสถานที่สำคัญๆ อย่าง The Natural History Museum, The Science Museum, The Victoria and Albert Museum และ The Royal Albert Hall

นอกจากนี้ “สถาบันอิมพีเรียล” (Imperial Institute) และวิทยาลัยอีก 3 แห่ง ได้แก่ The Royal College of Science, The Royal School of Mines และ The City & Guilds College ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนานี้ ก่อนจะควบรวมเป็น Imperial College London มาจนถึงปัจจุบัน // ความแกรนด์คือสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงวางศิลาฤกษ์และเป็นเปิดสถาบันอิมพีเรียลเองด้วยนะ!

Credit: The Royal Parks
Credit: The Royal Parks
Credit: Imperial College London’s Facebook page
Credit: Imperial College London’s Facebook page

2. ธนาคารสมองที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร

รู้หรือไม่ว่าภายใน Imperial College London มีธนาคารเนื้อเยื่อ MS และพาร์กินสันตั้งอยู่ด้วย ที่แห่งนี้เป็นเสมือนคลังเก็บ “ตัวอย่างเนื้อเยื่อระบบประสาทส่วนกลาง” ที่บริจาคโดยผู้ป่วยโรคระบบประสาทเสื่อม โรคพาร์กินสัน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมแล้วมีตัวอย่างมากกว่า 1,650 ชิ้นถูกเก็บรักษาอย่างดีในอุณหภูมิ -80ºC นับเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารสมองที่ใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร

ตัวอย่างเนื้อเยื่อนี้สำคัญอย่างไร? อธิบายสั้นๆ คือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยทั่วโลกมากกว่า 100 แห่งเลยล่ะครับ

Credit: Imperial News
Credit: Imperial News

3. จุดเริ่มต้นของ ‘Queen’ วงดนตรีร็อก ตำนานระดับโลก

ในปี 1968 สองหนุ่ม ‘Brian May’ และ ‘Tim Staffel’ ตั้งวงดนตรีชื่อ ‘Smile’ ขึ้น (ชื่อเดิมของวง ‘Queen’) ต่อมาหนึ่งในสมาชิกก็คือ May ได้ประกาศรับสมัคร “มือกลอง” ผ่านบอร์ดประชาสัมพันธ์ของสมาพันธ์นักศึกษาอิมพีเรียล และได้ ‘Roger Taylor’ ที่บังเอิญผ่านมาเห็น สมัครเข้ามาเป็นเมมเบอร์คนใหม่แทน Staffel ที่ออกจากวงไป

วง Smile เปิดตัวความปังต่อสาธารณชนครั้งแรกที่สมาพันธ์นักศึกษาอิมพีเรียลครับ ในครั้งนั้นได้ ‘Farrokh Bulsara’ (ตำแหน่งนักร้องนำ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Freddie Mercury) และ ‘John Deacon’ หนึ่งในแฟนคลับกลุ่มแรกๆ มาเข้าวงด้วย 

จากนั้น Smile ก็เปลี่ยนชื่อเป็น ‘Queen’ วงดนตรีชื่อดังตลอดกาล เจ้าของหลายบทเพลงสุดคลาสสิก เช่น Bohemian Rhapsody, We Will Rock You และ Somebody to Love เป็นต้น

Credit: Spotify
Credit: Spotify

4. สถานที่ค้นพบยาสองตัว ที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล ‍

หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องราวของ ‘Sir Alexander Fleming’ ซึ่งเป็นผู้ค้นพบยาปฏิชีวนะเพนิซิลลิน (Penicillin) โดยบังเอิญ ซึ่งเพนิซิลลินก็คือกลุ่มยาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้นั่นเองครับ การค้นพบครั้งนี้นับเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในวงการแพทย์ ช่วยเหลือมวลมนุษยชาติได้มหาศาล รู้หรือไม่ว่าสถานที่ค้นพบก็คือห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล St.Mary's ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ Imperial College Healthcare Trust นั่นเอง

และอีกตัวยานึงที่สั่นสะเทือนโลกไม่แพ้กันคือ “เฮโรอีน” (Heroin) จุดเริ่มต้นมาจากโรงพยาบาลเดียวกันเลยครับ แต่ผู้ค้นพบคือ ‘C. R. Alder Wright’ ที่บังเอิญเจอสาร Diacetylmorphine ขณะกำลังทดลองกับส่วนผสมของมอร์ฟีนและกรด

ซ้าย: Sir Alexander Fleming / ขวา: C. R. Alder Wright (Credit: Wikipedia)
ซ้าย: Sir Alexander Fleming / ขวา: C. R. Alder Wright (Credit: Wikipedia)

5. ทำเลที่ตั้งสุดปังใจกลางกรุงลอนดอน ️️

Imperial College London ตั้งอยู่ใจกลางกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตามชื่อมหาวิทยาลัยเลยครับ ความไม่ธรรมดาของเมืองนี้คือกิจกรรมเยอะและหลายแนวจัดๆ อย่างถ้าใครเป็นสายประวัติศาสตร์ ที่นี่มีพิพิธภัณฑ์​ (Musuem) และห้องจัดแสดงงานศิลปะ (Art Gallery) นับร้อยแห่งให้เข้าชมได้ เช่น The National History Museum, The Victoria and Albert Museum และ The National Gallery เป็นต้น (หลายแห่งเข้าชมฟรี) หรือถ้าอยากเดินชมสถาปัตยกรรมสวยๆ มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ แต่ละที่มีกิมมิกรอให้นักท่องเที่ยวไปออกสำรวจด้วยตัวเอง

สำหรับคนสายบันเทิง ในแต่ละปีกรุงลอนดอนมีงานคอนเสิร์ตไม่ต่ำกว่า 22,000 ครั้ง ซึ่งถือว่าเยอะมากๆ และสถานที่จัดงานระดับโลกหลายแห่งก็ตั้งอยู่ที่นี่ เช่น The O2 Arena หรือ Wembley Stadium เชื่อว่าศิลปินคนโปรด(หรือวงโปรด)ของใครหลายคน ก็เคยไปแสดงที่กรุงลอนดอนแห่งนี้มาแล้ว หรือถ้าเป็นคอลูกหนัง หลายทีมอย่าง Arsenal และ Chelsea ก็มีสนามของตัวเองอยู่ในกรุงลอนดอน 

ปิดท้ายข้อนี้ด้วยสายชอปปิง เมืองนี้เป็นที่ตั้งของ ‘Oxford Street’ หรือห้างสุดหรูหราอย่าง ‘Harrods’ ซึ่งการจะเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ก็สะดวกมาก! ขึ้นรถไฟใต้ดิน (London Underground) วนไปเลยครับ

Credit: Photo by Marcin Nowak on Unsplash / Photo by Anthony DELANOIX on Unsplash
Credit: Photo by Marcin Nowak on Unsplash / Photo by Anthony DELANOIX on Unsplash

ทุนการศึกษา 

หลายคนอาจถอดใจหลังจากลองคำนวณค่าใช้จ่ายตลอดระยะเวลาเรียนที่เมืองหลวงของประเทศอังกฤษ แต่ข่าวดีคือมีทุนการศึกษาทั้งจากรัฐบาลและมหาวิทยาลัยรอให้สมัคร ตั้งแต่ระดับ ป.ตรี-โท-เอก เซฟงบได้มากน้อยขึ้นอยู่กับประเภททุน แนะนำให้ลองเข้าไปอัปเดตข้อมูลทางเว็บไซต์ Imperial College London และเข้าไปที่ [Search our scholarships] 

ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องทุน พี่ธันสรุปรายละเอียดมาแชร์ให้น้องๆ เก็บข้อมูลกันครับ!

1. Dean’s PhD Scholarship

  • ระดับการศึกษา: ปริญญาเอก
  • ทุนการศึกษามูลค่ารวม 75,000 ปอนด์ มอบต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปีครึ่ง (และค่าบำรุงรักษาสำหรับนักศึกษาท้องถิ่น)
  • สำหรับผู้สมัครในสาขา
    1. Chemistry
    2. Mathematics
    3. Life Sciences
    4. Physics
  • จำนวนทุน: 4
  • ค่าธรรมเนียมการศึกษา
    • ท้องถิ่น หรือ
    • ต่างชาติ
  • รูปแบบการเรียน: เต็มเวลา
  • ปิดรับสมัคร: 15 ก.ย. 2024
  • ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ fonsedusupport@imperial.ac.uk

2. Women’s Scholarship (Marjorie McDermott)

  • ระดับการศึกษา: ปริญญาตรี โท และเอก
  • ทุนการศึกษา
    • 1,000 ปอนด์ ในปีที่ 1 และ 2 ของระดับปริญญาตรี
    • 7,500 ปอนด์ ในระดับปริญญาโท
  • สำหรับผู้สมัครในสาขา Mathematics
  • จำนวนทุน: 2
  • ค่าธรรมเนียมการศึกษา
    • ท้องถิ่น หรือ
    • ต่างชาติ
  • รูปแบบการเรียน: เต็มเวลา
  • ปิดรับสมัคร: 18 พ.ย. 2024
  • ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Scholarship page หรือ c.kestner@imperial.ac.uk

3. Chevening Scholarship

  • ทุนรัฐบาลสหราชอาณาจักร มอบแบบเต็มจำนวนเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อใช้เรียนต่อในระดับปริญญาโท แบบไม่จำกัดสาขาวิชาและจะเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยไหนก็ได้ใน UK
  • ติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครได้ที่

4. New Global Health Fellowship

  • ทุนด้านสุขภาพสําหรับนักวิจัยชาวไทยเพื่อศึกษาต่อในด้านสาธารณสุขเป็นเวลา 1 ปี

5. ASEAN - UK SAGE: Women in STEM Scholarships

  • ระดับการศึกษา: ปริญญาโทวิจัย
  • ทุนการศึกษาเต็มจำนวน (ครอบคลุมค่าครองชีพและตั๋วเครื่องบินไป-กลับ)
  • สำหรับผู้สมัครในสาขา:
    1. Bioengineering
    2. Centre for Environmental Engineering
    3. Civil and Environmental Engineering
    4. Earth Science and Engineering
    5. Life Sciences
    6. Mechanical Engineering
    7. Business School
    8. Chemistry
    9. Computing
    10. Electrical
    11. Electronic Engineering
    12. Materials
  • จำนวนทุน: 6
  • ค่าธรรมเนียมการศึกษา: ต่างชาติ
  • รูปแบบการเรียน: เต็มเวลา
  • ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Scholarship page หรือ student.funding@imperial.ac.uk

หลายๆ ทุนอาจจะยังไม่เปิดรับสมัครในตอนนี้ แนะนำให้ผู้ที่สนใจเข้าไปติดตามอัปเดตข่าวสารทุนการศึกษาต่างๆ หรือว่าอาจรอฟังเรื่องเล่าของศิษย์เก่าชาวไทยบางท่าน (ซึ่งปัจจุบันรวมแล้วมีมากกว่า 1,300 คน) ผ่านทาง Study Abroad by Dek-D ได้เลยครับ

Credit: Imperial News
Credit: Imperial News
เยี่ยมชมเว็บไซต์มหาวิทยาลัยได้ที่นี่!

ป้ายยาส่งท้ายกับพอดแคสต์ฟังฟรีจาก
Imperial College London 

  • เข้าฟังฟรี จัดเต็มกับความรู้ในมหา’ลัย & สถานการณ์รอบโลก เช่น ประเด็นสังคม, เทคโนโลยี, การศึกษา, สุขภาพ, วิศวกรรมศาสตร์,ธุรกิจ และมีหัวข้ออื่นๆ ให้เลือกฟังอีกเยอะมาก!
  • แต่ละตอนมี scripts (คำบรรยายภาษาอังกฤษ) ให้อ่านประกอบด้วย
  • บนเว็บไซต์จะมีไฟล์เสียงให้ #ดาวน์โหลดฟรี เก็บไว้ฟังออฟไลน์ได้เลย!
  • มีความรู้ & พอดแคสต์ให้เลือกฟังตั้งแต่ปี 2007 - 2024 (ของปีนี้ก็กำลังอัปเดตอยู่นะ)
  • ช่วยพัฒนาทักษะการฟัง (Listening) & การอ่าน (Reading) จาก Native Speakers โดยตรง!
  • เข้าฟังได้ทั้งเว็บไซต์, Apple Podcast, Spotify และ YouTube
รายละเอียดพอดแคสต์
 Sourceshttps://www.imperial.ac.uk/about/introducing-imperial/facts-and-figureshttps://theculturetrip.com/europe/united-kingdom/england/london/articles/5-things-you-didnt-know-about-imperial-college-londonhttps://www-d7.imperialcollegeunion.org/news/nine-amazing-facts-about-imperialhttps://www.london.gov.uk/programmes-strategies/arts-and-culture/vision-and-strategy/20-facts-about-london%E2%80%99s-culturehttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88 
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น