จากรั้วกำเนิดวิทย์ สู่ชีวิตสุดบูมใน「KAIST」ม.สายวิทย์อันดับ 1 ของเกาหลี เรียนฟรี ป.ตรียันโท!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าพูดถึง “เกาหลีใต้” บางคนหลงรัก vibe จากทริปแลกเปลี่ยนหรือท่องเที่ยว บางคนเริ่มเรียนภาษาเพราะหนัง-ซีรีส์ ภาพยนตร์ ศิลปินคนโปรด และคนอีกไม่น้อยเริ่มติดตามจากข่าวเทคโนโลยี ความล้ำหน้า นโยบายการจัดการเมือง ฯลฯ ไม่ว่าเหตุผลใดจะเป็นสารตั้งต้น พอมาประกอบกับการเป็นประเทศที่ให้โอกาสและกล้าลงทุนกับการศึกษาวิจัย ก็ยิ่งทำให้ประเทศเกาหลีน่าดึงดูดสำหรับนักเรียนต่างชาติมากขึ้นไปอีกค่ะ

และล่าสุดเรามีโอกาสได้พูดคุยกับ “พี่บูม-สราวุฒิ สิรโฆษิต” รุ่นพี่โพรไฟล์สุดอลังจากโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) รุ่นที่ 1 ที่ไปเรียน ป.ตรี และ ป.โท สาขา Material Science Engineering ที่ KAIST (Korea Advanced Institute Science and Technology, 한국과학기술원) และทั้งหมดคือเรียนฟรี โดยเป็นทุนจากมหาวิทยาลัยโดยตรง แถมช่วง ป.โท พี่บูมยังรับทุนจาก POSCO Asia Fellowship ที่สนับสนุนโดย POSCO TJ Park ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ของเกาหลีอีกด้วยค่ะ

KAIST คือสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูงของเกาหลี เกิดจากการรวม 2 สถาบันเข้าด้วยกันคือ Korean Advanced Institute of Science และ Korean Institute of Science and Technology อีกทั้งยังตั้งอยู่ในแทจอน (Daejoen) ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย และสาขา Material Science ที่ KAIST ก็ยังครองแชมป์ในเกาหลี อ้างอิงจาก QS World University Rankings by Subject 2023: Materials Sciences ด้วย เราไปเริ่มพาร์ตแรกกันเลยดีกว่าค่ะ⁓

Photo by Jeong Yejune on Unsplash
Photo by Jeong Yejune on Unsplash

Part I.
รีวิวสมัครเรียน & สมัครทุน POSCO

ธีสิส อาจารย์ และโชคชะตา
พามาเจอเป้าหมายที่ใช่

สวัสดีครับ ชื่อ "บูม" นะครับ เรียนจบมัธยมปลายจาก รร.กำเนิดวิทย์ (จ.ระยอง) โรงเรียนนี้จะเน้นวิทย์ๆ ซึ่งผมเน้นฟิสิกส์กับเคมีเพราะชอบเป็นพิเศษ และมีวันนึงไปปรึกษาอาจารย์ว่าพอจะมีคณะที่เรียนผสมกันระหว่าง 2 ฝั่งนี้มั้ย ทำให้ได้รู้จักกับ “Materials Science” เป็นครั้งแรก ถ้าแปลเป็นไทยคือ “วัสดุศาสตร์” ครับ

พอลองไปค้นเพิ่มก็พบว่า Materials Science คือศาสตร์ที่พยายามเข้าใจคุณสมบัติของ “วัสดุ” ทุกอย่างรอบตัวเราต้องมีวัสดุเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว และชื่อสาขานี้มักจะบวกด้วย Engineering ซึ่งเป็นการหาวิธีตัดต่อ-ตัดแต่งเพื่อให้วัสดุมีคุณสมบัติตามที่เราต้องการได้

ผมรู้สึกมันเป็นอะไรที่จับต้องได้และน่าสนใจมากๆ และด้วยความที่ ม.ปลายของ รร.กำเนิดวิทย์ จะมีให้ทำธีสิสก่อนจบ ผมก็เลยคิดค้นสวิตช์ตัดไฟฟ้าขนาดจิ๋วที่ใช้ส่วนประกอบหลักเป็นพลาสติกรีไซเคิล (Recyclable Polymer) โดยใช้หลักการขยาย-หดตัวของตัวพลาสติกและออกแบบวงจรจากหมึกนำไฟฟ้าให้สามารถตัดกระแสไฟฟ้าได้พอเกิดการลัดวงจร และต่อกลับที่ได้ดังเดิมเมื่อหดกลับ โดยหลักการนี้สามารถนำไปปฏิรูปและต่อยอดเป็นอุปกรณ์สำหรับควบคุมทางเดินไฟฟ้าได้แบบอัตโนมัติ

โปรเจ็กต์นี้ต้องใช้หลักการของ Materials Engineering เพื่อรวมวัสดุเป็นอุปกรณ์ (Device) ตัวนึงขึ้นมา ทำให้มั่นใจว่าชอบสายนี้จริงๆ และมองไว้ทั้งมหาวิทยาลัยในประเทศ (จุฬาฯ) สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเกาหลีครับ

สุดท้ายผมเลือกมาเรียนที่ KAIST

บอกก่อนเลยว่าผมไม่เคยไปเกาหลี ไม่ค่อยคุ้นชื่อประเทศนี้ ไม่ได้เริ่มติดตามสื่อบันเทิงของเขาเลยครับ รู้แค่อาหารอร่อย และ KAIST ดังเรื่องวิทย์และเทคโนโลยีอยู่แล้ว รวมถึงในบรรดาตัวเลือกทั้งหมด KAIST เปิดรับสมัครเร็ว และประกาศเป็นที่แรก 

พอติดก็ Bravoooo เหนื่อยมา 3 ปี ได้ที่แรกก็ยืนยันเลยจบ ที่สำคัญคือถ้า KAIST ตอบรับเข้าเรียน = เรียนฟรีทุกคน ทางมหาวิทยาลัยสนับสนุนทั้งหมดเลยครับ!

หลักสูตร Material Science Engineering ของ KAIST สอนเป็นภาษาอังกฤษ ผมสมัครเรียน ป.ตรี ด้วยคะแนน IELTS 6.5 (เข้าไปถึงอาจมีเรียนเพิ่มบางทักษะโดยอิงจากคะแนนของเรา) แต่ส่วนที่ผมว่าเขาให้น้ำหนักเยอะคือ Academic เช่น ประวัติการแข่งโอลิมปิก โครงงานวิชาการที่เคยทำ เกรดเฉลี่ยรวม ม.ปลาย และอื่นๆ ซึ่ง KAIST จะดูลึกไปถึงมาตรฐานการสอนของโรงเรียนที่เราจบมาด้วย

ผมเป็นเด็กกำเนิดวิทย์รุ่นแรก หมายความว่า KAIST ไม่มีประวัติการรับเด็กโรงเรียนนี้เข้าเรียนมาก่อน แต่ข้อดีคือโรงเรียนมีทำ MOU กับ KSA (Korea Science Academy of KAIST) ซึ่งก่อตั้งโดย KAIST ทำให้รู้ความสัมพันธ์ในเครือวิทยาศาสตร์ และโรงเรียนที่ร่วมมือกันก็จะมีแลกเปลี่ยนนักเรียน หรือกำเนิดวิทย์เคยเป็นเจ้าภาพจัดแข่งโครงงานวิชาการ เป็นต้นครับ

แชร์วิธีวางแผนเขียน SoP
ป.ตรี / ป.โท / ทุน POSCO

 

เกริ่นก่อนว่าพาร์ตนี้พี่บูมจะเล่าภาพรวมและข้อแตกต่างของการเขียนเรียงความ หรือ Statement of Purpose ทั้งหมด 3 ฉบับ ครอบคลุมทั้งระดับ ป.ตรี และ ป.โท ดังนี้

 

  • เรียงความสมัคร KAIST ป.ตรี
  • เรียงความสมัคร KAIST ป.โท
  • เรียงความสมัครทุนเต็มจำนวน ป.โท POSCO Asia Fellowship : ต้องสมัครทุนก่อน ในใบสมัครจะมีให้เขียนสาขาและมหาวิทยาลัยสูงสุด 3 อันดับ (เปลี่ยนไม่ได้) หลังจากนั้นก็สมัครมหาวิทยาลัยต่อ เงื่อนไขทุนคือต้องติด 1 ใน 3 อันดับที่เราเลือกไว้เท่านั้น

1. ไม่สำคัญว่าผลงานจะมากน้อย 

ผมว่าคีย์สำคัญของการเขียน SoP คือต้องรู้ว่าจะจับประสบการณ์จุดไหนมาเน้น และหาวิธีเล่าออกมาให้น่าสนใจ unique โดดเด่นไม่ซ้ำใครในสายตากรรมการ เช่น เราเคยทำอะไร ประสบการณ์ครั้งนั้นให้อะไรเราบ้าง หรือถึงจะไม่ได้เป็นผู้ชนะ เราได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมนั้น ทั้งระยะสั้น (short-term) และระยะยาว (long-term) เชื่อมโยงถึงสิ่งที่กำลังทำ ณ ปัจจุบันว่าผลลัพธ์ทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ยังไงบ้างครับ

หนึ่งในกิจกรรมที่ผมยกมาเล่าคือเคยแข่ง International Young Physicists' Tournament (IYPT) ซึ่งเป็นการแข่งโต้วาทีที่ไม่คำตอบปลายเปิด ให้เวลา 1 ปีเพื่อแก้ เพื่อนำเสนอให้น่าเชื่อถือ และแย้งฝ่ายตรงข้าม เราจึงสามารถอธิบายได้ว่ากิจกรรมนี้ต้องใช้ครบทั้ง Academic/Hard Skills และ Soft Skills เช่น การร่วมแก้ปัญหากันเป็นทีม การแสดงความคิดเห็นในงานของเรา รวมถึงการรับคำแนะนำจากฝ่ายทีมตรงข้าม

2. อย่าลืมเป้าหมายของการเขียน SoP แต่ละฉบับ

ตอนที่สมัครเรียน ป.ตรี เรายังเป็นเด็ก ม.ปลาย ที่ยังไม่เคยเข้าไปนั่งเรียนในคลาสของสาขานั้น   กรรมการจะคาดหวังให้เรามองการณ์ไกลไว้ก่อน เช่น เราอยากเรียนสาขาอะไร และสาขานี้จะทำอะไรได้ในอนาคต ฯลฯ เราต้องไปค้นหาข้อมูลหลักสูตรมหาวิทยาลัยเยอะๆ และเชื่อมโยงกับเป้าหมายของเรา

ในขณะที่ตอนสมัคร ป.โท และ ป.เอก เราไม่ได้ยืนจุดเดิม แต่ผ่านการเรียนเอกนั้นมาแล้ว นอกจากเล่าแนวทางการนำองค์ความรู้ต่างๆ ที่เรียนไปใช้ใน short-term และ long-term เราจะต้องส่ง Research Plan ที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นครับ

ส่วนการสมัครทุน POSCO ก็จะต่างจากเรียงความสมัครเรียน ป.ตรี และ ป.โท KAIST ไปอีก ทุนนี้จะเน้น Leadership (ภาวะความเป็นผู้นำ) เริ่มจากตีความก่อนว่าภาวะผู้นำในความหมายของเราคืออะไร เช่น ผมมองว่า “ผู้นำ” ไม่ได้จำกัดแค่ผู้นำประเทศ นักการเมือง หรือนักการทูต แต่เราสามารถเป็นผู้นำนวัตกรรมริเริ่มอะไรสักอย่างที่จะสร้างคุณค่าต่อโลกได้ จากนั้นก็หาตัวอย่างประสบการณ์ที่พิสูจน์ได้ว่าเรากำลังดำเนินการตามแนวทางนั้นอยู่นะ 

3. ใส่ใจ & ใส่ความเป็นตัวเอง

ภาษาที่ใช้ก็จะสัมพันธ์กับเป้าหมายการเขียนเรียงความ ถ้าฉบับที่ใช้สมัคร KAIST จะออกมาเชิง Academic อาจมีการหยิบคำศัพท์เฉพาะมาใช้มากกว่า แต่ถ้าเรียงความสมัครทุน ผมว่าควรเน้นใช้ศัพท์ที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา สื่อสารรู้เรื่องชัดเจน พยายามตรวจทานเรื่อง Error Identification, Punctuation, Typo (เขียนถูกต้อง) อย่างละเอียด เพราะแสดงถึงความใส่ใจ ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมใส่ความเป็นตัวเองให้มากที่สุด (Originality) ด้วย

ส่วนตัวผมจะไม่ค่อยแนะนำให้ไปเปิดดูตัวอย่างหรือดึง template การเขียนจากในเน็ตมาใช้ เพราะอาจทำให้เราอ่านแล้วเผลอจำหรือไปติดแนวการเขียนของคนอื่นมา ทำให้ความเป็นตัวเองลดลง // ลองเริ่มจากร่าง Outline พอเขียนเสร็จแล้วอาจไปปรึกษากับรุ่นพี่หรือให้อาจารย์ช่วยตรวจก็ได้ครับ

คำแนะนำสัมภาษณ์ทุน POSCO

  • ภาษากาย (Body Language) สำคัญมาก ขอทวนคำถามได้ถ้าฟังไม่ทันหรือไม่เข้าใจคำถาม
  • การสัมภาษณ์คือโอกาสเติมเต็ม SoP ตอบด้วยแพสชัน แสดงออกแบบมั่นใจ เพราะเขาต้องการดูว่าเราสามารถถ่ายทอดความคิดออกมาได้มากแค่ไหน เป็นตัวของตัวเองหรือไปดึงคำพูดของใครมาหรือเปล่า
  • จำเหตุผลที่มาสมัครตอนแรกและศึกษารายละเอียดโครงการให้ดี เช่น เป้าหมาย วัตถุประสงค์ ฯลฯ ส่วนใหญ่คนได้ทุนจะเป็นแนวไหน ต้องคิดว่าเขาจะได้อะไรจากเรา มีไป-กลับเหมือนแลกเปลี่ยน ไม่ใช่แค่พูดเรื่องตัวเองมุมเดียว

Part II.
เปิดชีวิตเด็กวิทย์ในรั้ว KAIST
ย่านทันสมัยในประเทศสุดล้ำหน้า

ฉายา Silicon Valley เกาหลีใต้

ขอเล่าเรื่องบรรยากาศก่อนครับ KAIST ตั้งอยู่ที่เมืองแทจอน (Daejeon) เดินทางไปไหนมาไหนง่ายเพราะอยู่ตอนกลางประเทศ มีบรรยากาศความเป็นเมืองผสมผสานกับธรรมชาติ ไม่อึกทึกเกินไปแต่ก็ไม่ล้าหลัง ออกจะทันสมัยมากด้วยซ้ำ เพราะแทจอนเป็นหนึ่งใน Smart City และศูนย์กลางการทำวิจัยของเกาหลี ศูนย์วิจัยเยอะ สิ่งอำนวยความสะดวกครบ เวลามีเทคโนโลยีใหม่ๆ (เช่น รถไฟฟ้าไร้คนขับ) เขาก็จะมาทดลองใช้ในเมืองนี้เป็นที่แรก

Photo by Juwhan Yu on Unsplash
Photo by Juwhan Yu on Unsplash
Photo by Mathew Schwartz on Unsplash
Photo by Mathew Schwartz on Unsplash
Photo by Mathew Schwartz on Unsplash
Photo by Mathew Schwartz on Unsplash

ภาพรวมเนื้อหา ป.ตรี & ป.โท
Materials Science & Engineering

ป.ตรี เราจะเริ่มจากเรียนทฤษฎีพื้นฐานเกี่ยวกับ Material เพื่อให้เราสามารถเข้าใจคุณสมบัติ รู้จุดอ่อน-จุดแข็งของแต่ละ Material ก่อนครับ พอขึ้นปี 3-4 เราจะเรียนลึกถึงวิธีการที่ Materials นั้นๆ ได้มาซึ่งคุณสมบัติต่างๆ เช่น การเข้าใจโมเดลควันตัม เพื่อให้เข้าใจสารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) และอื่นๆ ในช่วงนี้ เราจะได้เรียนการสกัดสร้าง Materials (หรือเรียกว่า Material Synthesis)  และพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย

พอถึงจุดนี้แล้ว เราจะสามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์เพื่อเอา Materials ต่างๆ มาประกอบรวมกันเพื่อสร้างและพัฒนาอุปกรณ์ที่เกิดประโยชน์ต่อคนเราครับ เช่น การพัฒนาโซลาร์เซลล์, แบตเตอรี่ OLED, Sensor Biomedical Devices ต่างๆ ดังนั้นการเรียน Materials Science จะไม่ใช่แค่การเข้าใจเคมีของแข็ง 100% แต่จะคาบเกี่ยวกับฟิสิกส์และเคมีด้วย (และอาจมีชีวะในส่วนของ bio material อีกต่างหาก)

Materials ก็เลยเป็นเบื้องหลังสำคัญของนวัตกรรมความก้าวหน้าต่างๆ ที่เราเห็นในปัจจุบัน เช่น ทำไมรถคันนั้นถึงชนแล้วไม่พังไม่บุบ ทำไมมือถือรุ่นนั้นพับได้ วัสดุคุณสมบัติแบบไหนเหมาะกับใช้ในเครื่องบิน (ถ้าใช้เหล็กหนักบินไม่ได้ ต้องน้ำหนักเบา ลู่ลม คุณสมบัติความทนทานสูง ทนต่อความกดดันและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงฉับพลัน) เป็นต้นครับ

ช่วง ป.ตรี นักเรียนจะมีโอกาสได้เข้าไปศึกษางานในแล็บวิจัยที่สนใจในมหาวิทยาลัย และอาจได้เข้าไปร่วมโปรเจ็กต์กับคนในแล็บนั้นๆ ด้วย ก็เลยจะเป็นมุมมองว่าเราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้แค่ไหน เหมือนไปเป็นผู้ช่วยพี่ ป.โท และ ป.เอก อาจจะยังไม่ใช่คนนำหรือเจ้าของโปรเจ็กต์ แต่พอขึ้น ป.โท เราจะ มีโปรเจ็กต์เป็นของตัวเอง คุมเอง รันเอง ถ้าล้มเหลวต้องแก้เอง ต้องใช้ความเป็นผู้นำที่ตัดสินใจได้เด็ดขาด เช่น จะทำยังไงต่อดี? ผลออกมาแบบนี้ต้องเริ่มใหม่ดีมั้ย? มีหลายด่านมากๆ 

ดังนั้นคนที่จะเรียนต่อ ป.โท หรือ ป.เอก ต้องมีภูมิคุ้มกันต่อแรงกดดัน ถ้าล้มเหลวต้องลุกใหม่และแก้ปัญหาได้ ประสบการณ์จะค่อยๆ หล่อหลอมเราเรื่อยๆ คนที่สมัครต้องรับรู้ว่ามีอยู่จริง เรื่องผลแล็บพลาด งานหนัก ตามสไตล์คนทำงาน ป.โท-เอก เขียนเปเปอร์ ปั่นวิทยานิพนธ์ดึก เวลาพักผ่อนไม่ค่อยปกติเท่าไหร่ครับ

Note: ข้อดีของ KAIST สำหรับ ป.ตรี คือเราสามารถเปลี่ยนคณะได้ตลอด (ทำเรื่องทางออนไลน์) มีเงื่อนไขแค่ว่าตอนจบต้องหน่วยกิตครบ เช่น อยากไปเรียนเอกชีวะ อาจต้องเทกคอร์สชีวะเพิ่ม ถึงจบช้าแต่ก็จะจบในวุฒิชีวะ แต่ถ้ากรณี ป.โท-เอก แล้วจะทำเรื่องย้ายแล็บ ต้องประสานกับอาจารย์ที่ปรึกษาครับ

ข้อมูลหลักสูตร ป.ตรี MSEข้อมูลหลักสูตร ป.โท

โอกาสทองของการเรียนภาษาใหม่

ไม่มีสภาพแวดล้อมไหนเหมาะกับการฝึกภาษาเกาหลีไปมากกว่าประเทศเจ้าของภาษาครับ  ผมเลยใช้เวลากับภาษาเยอะมาก สิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่ใช้ชีวิตนอกคลาสง่ายขึ้น แต่ภาษาพาเราไปเจอเพื่อนใหม่ เปิดโลก เปิดโอกาสหลายอย่าง มีครั้งนึงผมได้เข้าไปฝึกงานในบริษัทเกาหลีที่ปกติไม่ได้รับชาวต่างชาติด้วยนะครับ // ตอนนี้เรียนมา 5 ปี เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตและการทำงานได้แล้ว แต่ก็ยังคงไม่หยุดเรียน 

เรียนภาษาเกาหลียังไงบ้าง?

  • มหาวิทยาลัยมีคอร์สภาษาเกาหลีให้ลงเรียนนับหน่วยกิตเทอมปกติ และมีการจัดค่ายภาษาเกาหลี 1 ครั้งหลังเข้าเรียน ถ้าอยากฝึกมากกว่านั้น เขาจะมีจัดอาสาสมัครสอนภาษาเกาหลีให้ชาวต่างชาติไปเรียนได้
  • พยายามตีสนิทกับอาจารย์ คุยกับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย จนถึงคุณป้าขายผลไม้เจ้าประจำที่สนิทกันมาก // ผมว่าคนเกาหลีไม่ได้ซีเรียสว่าต้องพูดถูกเป๊ะๆ แต่ขอให้สื่อสารได้พอจบ อีกอย่างแค่เราพูดได้นิดหน่อยเขาก็ชมแล้ว ทำให้เรายิ่งมีกำลังใจฝึกต่อ
  • เก็บเงินปั่นจักรยาน 3 กิโลไปเรียนภาษาเกาหลีเพิ่มข้างนอก พอได้ระดับนึงแล้วก็สมัครเป็น TA ช่วยประสานงานให้อาจารย์เกาหลีที่เขาจัดอาสาสมัครสอนภาษาให้นักเรียนต่างชาติ

Note: พระเจ้าเซจงมหาราชได้ประดิษฐ์ตัวอักษรฮันกึลขึ้นมาในปี ค.ศ. 1443 ซึ่งถือเป็นภาษาใหม่ จึงใช้ตรรกะความเป็นเหตุเป็นผลสูง มีโครงสร้างรูปแบบที่ดูแน่นอน (มีข้อยกเว้นบ้างแต่น้อย) และตัวอักษรเกาหลีจะเลียนแบบลักษณะรูปปากของคนเวลาออกเสียง เพื่อให้คนที่ไม่รู้ภาษามาก่อนสามารถอ่านได้ครับ (ใครสนใจอ่านเพิ่มเติมที่นี่ >> https://www.nfm.go.kr/k-box/ui/annyeong/hangeul.do)

Part III.
ทิ้งท้ายถึงน้องๆ ม.ปลายว่า

“ช่วงนี้เหนื่อยหน่อยนะครับ แต่อย่าด้อยค่าตัวเอง”

 

ผมว่ามันต้องมีจังหวะที่เราเผลอท้อบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบ เราไม่ต้องเป็น Top best of the best เพียงแต่ตอนสมัครเรียนสามารถรู้จุดแข็งและความ unique ของตัวเองแล้วดึงมา sync กับมหาวิทยาลัยให้ได้ ช่วงเวลานั้นทุ่มให้เต็มที่เลยครับ สุดท้ายแล้วถ้าไม่เป็นไปตามที่หวัง อย่าโทษตัวเองและคิดว่ามันจะจบตรงนี้ มหาวิทยาลัยไม่ใช่ทุกอย่าง เป็นเพียงทางผ่านให้เราไปเจออย่างอื่นต่อเท่านั้นเอง

ส่วนใครที่กำลังตัดสินใจเลือกที่เรียน “ถ้ามาเรียนที่เกาหลี แต่ไม่ชอบกิมจิ อาจเหมือนตายทั้งเป็นก็ได้~” อันนี้เทียบให้เห็นภาพเพื่อจะบอกว่าอย่าเลือกมหาวิทยาลัยแค่เพราะ Rankings แต่หาสภาพแวดล้อมที่ชอบและจุดที่เหมาะกับเราด้วย

สุดท้ายแล้วอยากให้น้องๆ ทุกคนเลือกเรียนสิ่งที่ชอบ ทำงานสายที่รัก และเติบโตในสายนั้น ถ้าอยากซิ่ว อยากเริ่มต้นใหม่ ทำเลย  อย่าให้สังคมมาตัดสินเรา มันไม่มีการเลือกที่ถูก 100% แต่เราต้องเลือกด้วยความเข้าใจและหนักแน่น พร้อมรับผิดชอบผลที่จะเกิดขึ้น หาทางแก้เมื่อมันไม่ได้เป็นไปตามแผนครับ

ช่องทางหลักของ KAIST

ชวนอ่านต่อ

รีวิวพิชิตสองทุนรวด! ‘จิมมี่’ เด็กทุน POSCO 2021 เรียนฟรีที่เกาหลีและค่าใช้จ่ายส่วนตัว (ติด ม.SKY) + ทุนอังกฤษ U.of East Anglia

https://www.dek-d.com/studyabroad/60719

เด็กกำเนิดวิทย์โพรไฟล์ปัง คว้าทุนมงไปเรียนฟรีที่ญี่ปุ่น 

https://www.dek-d.com/studyabroad/53976

จากเด็กลาดกระบัง สู่การเป็น 'นักเรียนทุนรัฐบาลเกาหลี' เรียนต่อ KAIST ด้านธุรกิจไอที!

https://www.dek-d.com/studyabroad/59386 

 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น