“ป.เอกจะสักแค่ไหนเชียว?" เด็กทุนญี่ปุ่นรีวิวตารางชีวิตสุดแน่น แถมเจอเครื่องมือขั้นสูงที่ไม่รู้จักมาก่อน!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D หลังจบ ป.ตรี เรียนต่อเลยดีไหม สาขาไหนดี รูปแบบการเรียนเป็นยังไง บรรยากาศต่างกันหรือเปล่า ฯลฯ คำถามเหล่านี้ต้องอาศัยการคิดอย่างรอบด้าน และตั้งเป้าหมายให้แน่นอน เพื่อเตรียมรับกับความท้าทายบทใหม่ที่รสชาติต่างไปจากเดิมค่ะ

และวันนี้เราจะไปอ่านประสบการณ์น่าสนใจจาก “พี่นัตตี้” เด็กสายวิทย์ที่ชื่นชอบวิชาเคมีและคณิต จึงตัดสินใจเรียนต่อภาคเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ต่อด้วย ป.โท สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพอลิเมอร์ (Polymer Science and Technology) โดยทั้ง 2 ระดับพี่นัตตี้เรียนจบจาก “ม.มหิดล” ที่เป็นตัวตึงสายวิทย์และการวิจัยของประเทศไทย

“แล้ว ป.เอก จะแค่ไหนกันเชียว?” 

 

คำถามในใจบวกกับแพสชัน พี่นัตตี้ตัดสินใจท้าทายตัวเองอีก 2 ก๊อกด้วยการไปเรียนต่อ ป.เอก ที่ ภาควิชา Chemistry and Biochemistry ภายใต้คณะวิศวกรรมศาสตร์ของ Kyushu University ในประเทศญี่ปุ่น ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นคือประเทศที่ทุ่มเทและส่งเสริมการศึกษาวิจัยอย่างสุดตัว โดยครั้งนี้พี่นัตตี้ก็ไปในฐานะนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น MEXT หรือทุนมงบุโชฯ​ (Monbukagakusho) เธอจะเล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้น การสมัครทุน ความยาก-ความสนุก ตารางชีวิตสุดแน่นของเด็ก ป.เอก รวมถึงการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ด้วย // ตามมาเก็บตัวอย่างกันเลยค่ะ!

. . . . . . . . .

วิชานี้ใช่ เคมีมันตรง!
เล่าเหตุผลทำไมถึงเลือกเรียนสายนี้?

“ตอน ม.ปลาย พี่ไม่ค่อยถูกกับฟิสิกส์กับชีวะ แต่ชอบคณิตกับเคมี แล้วพอ ม.6 มีโอกาสฝึกทำแล็บเพื่อสอบเคมีของค่าย สอวน. ทำให้ยิ่งมั่นใจว่าทางนี้ใช่จริงๆ พี่ก็เลยสมัครสอบตรงเข้า ป.ตรี คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล พอเข้ามาถึงก็ได้เจอทั้งการเรียนการสอนที่เข้มข้น (ยากโคตร!) และสังคมที่น่ารักอบอุ่นทั้งเพื่อนและรุ่นพี่รุ่นน้องเลย จากนั้นตอน ป.โท ก็ได้เรียนต่อในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพอลิเมอร์ ที่คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล”

“สำหรับพี่มองว่าเคมีเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจ ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างรอบตัวเราล้วนต้องผ่านการวิจัยมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ของบริษัท QA (Quality Assurance) หรือ QC (Quality Control) หรือการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา ปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามที่บรีฟของบริษัทหรือลูกค้า” 

"หลังจากจบ ป.โท พี่ไปต่อ ป.เอก ภาควิชา Chemistry and Biochemistry ที่ Kyushu University ไปด้วยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (MEXT) ครอบคลุมค่าเทอม ค่าใช้จ่ายแบบเต็มจำนวน และค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ"

Kyushu University
Kyushu University

. . . . . . . . .

การสมัครทุน MEXT ระดับ ป.เอก 
สามารถทำได้ 2 แบบ

  1. ยื่นสมัครผ่านสถานทูต (Embassy Recommendation) สอบข้อเขียนกับทางสถานทูตฯ และทางสถานทูตฯ จะจัดเราไปเรียนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ
  2. สมัครตรงผ่านมหาวิทยาลัย (University Recommendation) **พี่สมัครผ่านวิธีนี้ค่ะ เราต้องหาข้อมูลก่อนว่าอาจารย์ในสาขาและมหาวิทยาลัยไหนในประเทศญี่ปุ่น ที่ทำวิจัยหัวข้อที่สอดคล้องกับความสนใจของเรา จากนั้นส่งอีเมลไปหาอาจารย์เพื่อแนะนำตัว ตกลงกันเรื่องหัวข้อวิจัย ถ้าลงตัวอาจารย์ก็จะเขียนขอทุน MEXT กับทางมหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยจะได้ทุนจากรัฐบาลอีกทีนึง)

“อาจารย์ที่ปรึกษาของพี่ตอนเรียน ป.โทที่มหิดลซึ่งเรียนจบจากญี่ปุ่นได้แนะนำให้รู้จักกับ Prof. Atsushi Takahara ตอนไปเจอกันที่งานประชุมวิชาการงานหนึ่ง ซึ่งอาจารย์มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Field of Specialization) ในด้าน Polymer Science หลังจากนั้นพี่ก็ได้ติดต่อหาอาจารย์เพื่อแนะนำตัวว่าสนใจอยากเรียนต่อ ป.เอก ในแล็บอาจารย์ โดยการส่ง CV ไป หลังจากอาจารย์ติดต่อกลับมาก็ได้มีการดิสคัสกันเกี่ยวกับหัวข้อที่เราสนใจที่จะทำในป.เอก (มีแนบเปเปอร์ของอาจารย์ไปประกอบด้วย)”

“ในที่สุดอาจารย์ก็ตอบรับและได้ไปเรียนที่ ม.คิวชูค่ะ~ หัวข้อ ป.เอกที่พี่ทำจะเกี่ยวกับการศึกษาโครงสร้างของ Thermoplastic Elastomer เพื่อปรับปรุงให้วัสดุมีความแข็งแรงขึ้น โดย Prof.Atstushi Takahara เป็น Advisor”

. . . . . . . . .

ตีแผ่ชีวิตการเรียนสุดท้าทาย
ต่างจาก ป.โทมั้ย? เรียนอะไรบ้าง?

“ที่ญี่ปุ่น สาขาวิชาที่เกี่ยวกับพอลิเมอร์จัดอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่พี่เรียนเป็นหลักสูตรอินเตอร์ 3 ปี ตอนสมัครยื่นคะแนน TOEIC 820 เพราะเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ หลักสูตรจะเน้นทำวิจัย มี Coursework แค่ 3 วิชา เพราะเค้าถือว่าเราเรียนพื้นฐานมาเยอะแล้วทั้งในระดับ ป.ตรี และ ป.โท สำหรับวิชา Coursework ใน ป.เอก คือการแชร์ความรู้กันระหว่างอาจารย์และนักศึกษา ด้วยความที่มหิดลสอนมาแบบเข้มข้นมากจนพื้นฐานแข็ง ตอนมาเรียน ป.เอก เลยไม่รู้สึกยากในแง่เนื้อหา แต่อาจท้าทายเรื่องการทำวิจัยมากกว่า”

“สำหรับภาษาญี่ปุ่น พี่เรียนจากที่ไทยไปแค่พื้นฐาน พอไปถึงที่นู่นก็มีไปลงคอร์สภาษาญี่ปุ่นเพิ่มนิดหน่อย ที่ได้ฝึกจริงๆ ก็คือตอนได้พูดกับเด็กในแล็บกับตอนออกไปใช้ชีวิตประจำวัน”

A Day in Life 
ชีวิตแต่ละวันประมาณไหน?

  • ตื่นเช้าเดินทางมาแล็บ ทำแล็บ
  • อ่านเปเปอร์ อ่านหนังสือ
  • ได้ผลแล็บ
  • วิเคราะห์ผลแล็บ
  • อ่านเปเปอร์ อ่านหนังสือ
  • ทำแล็บ
  • กลับบ้าน

“ระหว่างนี้ต้องบริหารเวลาดีๆ เพราะเรายังมีภารกิจอื่นนอกจากทำวิจัยอยู่ในมหาวิทยาลัยคือ เตรียมตัวอย่างไปทำแล็บที่ศูนย์วิจัยนอกมหาวิทยาลัย และ เตรียมข้อมูลไปนำเสนอผลงานทางวิชาการ (Conference) ด้วย” 

ต้องใช้เครื่องมือขั้นสูงที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน

“หัวข้อวิจัยของพี่ต้องศึกษาโครงสร้างของพอลิเมอร์โดยใช้เครื่องมือขั้นสูงที่ชื่อ “ซิงโครตรอน” (Synchrotron) และได้ไปศูนย์ซิงโครตรอนที่ใหญ่อันดับโลกของประเทศญี่ปุ่น ชื่อว่า SPring-8"

“ความยากคือเราไม่เคยรู้จักเครื่องนี้มาก่อน ต้องเริ่มจากการอ่านหนังสือ อ่านเปเปอร์ ปรึกษาอาจารย์ และถามเพื่อนมหิดลที่เคยใช้เครื่องนี้ แล้วที่ยากกว่าคือหลังจากได้ผลกลับมา เราต้องนำผลมาวิเคราะห์ให้ได้ว่าสิ่งที่ได้มาคืออะไร ผลนี้บอกอะไรกับเรา”

“ก่อนไปใช้เครื่องมือที่ SPring-8 ทุกครั้งต้องจอง Beamtime (คล้ายๆ จองที่นั่งในห้องสมุด เพราะมีคนอื่นใช้ด้วย) จากนั้นวางแผนว่าต้องเตรียมตัวอย่างไปเท่าไหร่ เสร็จวันไหน ฯลฯ เตรียมให้ทันก่อนถึงกำหนด อย่างตอนนั้นพี่ไปเดือนละ 1-2 ครั้ง จองครั้งละ 3-4 วันติดต่อกัน กิน-นอน-ทำแล็บที่นั่นเลยค่ะ”

เข้าร่วม Conference แบบชีพจรลงเท้า

“อาจารย์พี่จะชอบให้เด็กในแล็บไปเข้าร่วมประชุมทางวิชาการ (Conference) ช่วง ป.เอกเรียนหลักสูตร 3 ปี พี่เริ่มไป Conference ตั้งแต่ปี 1 เทอม 2 จนเรียนจบรวมๆ ไปมาทั้งหมด 18 ครั้ง นำเสนอผลที่เราวิเคราะห์ได้จากการทำแล็บ (เป็นส่วนหนึ่งของธีสิสเล่มสมบูรณ์)”

การนำเสนอมี 2 แบบคือโปสเตอร์ (Poster Presentation) ตรงตัวเลยคือเรายืนประจำที่โปสเตอร์ แล้วคนที่สนใจจะเดินเข้ามาคุยหรือดิสคัสกับเรา กับอีกแบบคือนำเสนอปากเปล่า (Oral Presentation) ออกไปพูด 1 คนหน้าห้องต่อหน้าคนเยอะๆ มีช่วงถาม-ตอบประมาณ 1-2 นาที ส่วนตัวพี่ชอบแบบ Poster เพราะมีโอกาสพูดคุยถามตอบกันมากกว่า ได้คำแนะนำเยอะ ไ้ด้เจอ Prof. ใหญ่ๆจากที่ต่างๆ เป็นการได้คอนเน็กชันแบบนึง”

. . . . . . . . .

เล่าสู่กันฟังจากประสบการณ์ส่วนตัว
รีวิวผู้คน เมือง อาหาร สถานที่เที่ยวในญี่ปุ่น

  • มหาวิทยาลัยที่พี่เรียนจะอยู่ในจังหวัดฟุกุโอกะ (Fukuoka; 福岡) บนเกาะคิวชู อาหารขึ้นชื่อคือ “ทงคตซึราเมน” จังหวัดนี้ยังเป็นเมืองต้นกำเนิดของร้านราเมนข้อสอบ หรือ “อิจิรันราเมง” (Ichiran Ramen) และ “อิปปุโดะ” (Ippudo) ทั้งคู่ Originated from Fukuoka เลยค่ะ สำหรับคนญี่ปุ่นเองจะนิยมไปตามร้าน local ต่างๆ เพราะราคาเป็นมิตรกว่าและอร่อย
     
  • ที่เที่ยวที่ชอบสุดในญี่ปุ่นคือ Kamikochi ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Japan Alpe ภูเขาและลำธารน้ำใสๆ ตั้งอยู่ทางตะวันออกของจังหวัดนากาโน (Nagano) บรรยากาศเริ่ดมากกกคล้ายประเทศสวิตเซอร์แลนด์
Photo by katsuma tanaka on Unsplash
Photo by katsuma tanaka on Unsplash
Photo by Claire Chang on Unsplash
Photo by Claire Chang on Unsplash
Photo by Tiplada M on Unsplash
Photo by Tiplada M on Unsplash 
  • คนญี่ปุ่นเคร่งเรื่องเวลา ซึ่งมารยาทที่ดีคือควรมาถึงก่อนเวลานัด ถึงจะเท่ากับ “ไม่สาย” สมมตินัดเวลา 10:00AM แล้วมา 10:00AM พอดี แบบนี้จะถือว่าสายค่ะ
     
  • คนญี่ปุ่นเคร่งวินัยและรู้หน้าที่ตัวเอง อย่างเช่น ที่แล็บจะไม่มีแม่บ้าน ทุกวันศุกร์ตอน 4 โมงเย็นตรงเป๊ะ เข็มวินาทีชี้เลข 12 ทุกคนจะวิ่งไปหยิบไม้กวาด จัดการขยะ เก็บและเอาทิ้งเอง ฯลฯ ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมทั้งอาจารย์ นักเรียน และเจ้าหน้าที่ โดยมีการแบ่งหน้าที่แบบละเอียดชัดเจน เช่น น้อง A กวาดพื้นในห้องออฟฟิศ น้อง B เก็บขยะในออฟฟิศ น้อง C กวาดพื้นห้องแล็บ 1

    ตอนเรียนพี่เจออาจารย์ที่ตรวจงานละเอียดและเข้มงวดมาก ไม่มีปล่อยผ่านง่ายๆ ซึ่งเป็นข้อดีที่จะช่วยหล่อหลอมให้เราคอบคอบ ระมัดระวัง วางแผนชัดเจนและเป็นระบบ **ระวังเรื่องการพิมพ์ผิด สำหรับที่ญี่ปุ่นถือเป็นความผิดร้ายแรงมากเลย

(เก็บตกภาพเที่ยวญี่ปุ่นเบาๆ~)

. . . . . . . . .

คำตอบสุดท้าย
หาให้ได้ก่อนตัดสินใจเรียนต่อ

“หนึ่งในเหตุผลที่พี่เรียน ป.เอก ก็คือความคิดว่า ป.เอก จะแค่ไหนกันเชียว! พอได้ไปเรียนก็พบว่ามันหนักกว่าที่คิดมากๆ แต่ก็ได้เจอกับประสบการณ์ใหม่ๆ รวมถึงใช้ชีวิตแบบที่ไม่เคยใช้มาก่อนด้วย”

“สุดท้ายนี้ สำหรับใครที่ลังเลกับการตัดสินใจเรียน ป.ตรี -> ป.โท ถ้าเกิดยังชอบเรียนก็ลุยต่อได้เลย สำหรับ ป.โท -> ป.เอก ถามตัวเองก่อนว่าทำไมถึงอยากเรียน เพราะ ป.เอก คือช่วงที่ต้องใช้เวลาและทุ่มพลังกายพลังใจมากถึงมากที่สุด อดทนกับการหาความรู้ รับมือกับความกดดัน และจัดการทุกด้านในชีวิตให้สมดุล ถ้าชั่งน้ำหนักแล้วรู้สึกคุ้มค่าและตอบโจทย์เป้าหมายของเราก็ลุยได้เลยค่ะ”

ชวนอ่านต่อ

#รีวิวญี่ปุ่น ส่องชีวิตเด็กคณะเกษตรฯ 'ม.คิวชู' เที่ยวฟาร์ม นอนป่า ตามหาใบไม้ เรียนสนุกแถมธรรมชาติดีเวอร์!

https://www.dek-d.com/studyabroad/57593

 

สุโก้ยเดส!รีวิวชีวิตเด็กทุนมงฉบับบ้านนอกญี่ปุ่น เรียน FoodSci + จบไปทำงานในญี่ปุ่นต่อทันที

https://www.dek-d.com/studyabroad/60311/

 

รีวิว 17 ข้อจากรุ่นพี่ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ตั้งแต่เตรียมขอทุน ปรับภาษา(ปี0) จนจบวิศวะที่ Osaka University! [ป.ตรี]

https://www.dek-d.com/studyabroad/61026/

 

เรียนจริงทำจริง! แชร์ประสบการณ์เรียนสายอาชีพที่ญี่ปุ่นฉบับ 'เด็กทุนมง' (หลักสูตรธุรกิจล่ามภาษาญี่ปุ่น)

https://www.dek-d.com/studyabroad/60998/ 

 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น