2 ปีสุดคุ้มของเด็กทุนฝรั่งเศสที่ ‘Sciences Po’ ตารางหนักและแน่นดุจบอดี้ไวน์ วิชาดึงดูดใจยิ่งกว่าน้ำหอม

สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนค่า สำหรับใครที่กำลังเก็บข้อมูลเรียนต่อ “ประเทศฝรั่งเศส” วันนี้ขอมาเติมแพสชันให้ไฟลุกกับประสบการณ์เรียนต่อ ป.โท ของ “พี่ควีน” ศิษย์เก่า ป.ตรี คณะรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations; IR) ม.ธรรมศาสตร์ ที่คว้าทุนรัฐบาล Franco-Thai ไปเรียน ป.โท หลักสูตรนานาชาติ International Development ที่ ‘Sciences Po’ ซึ่งเป็นสถาบันแนวหน้าของโลกด้านสังคมศาสตร์ รวมถึง Development Studies ก็ครองอันดับ 3 ของฝรั่งเศส อ้างอิง QS World University Rankings by Subject 2023: Development Studies

บอกเลยว่าตารางชีวิตแน่นและเข้มข้นเหมือนสัมผัสของไวน์แบบ Full-bodied  มาพร้อมกับรสชาติที่เลิศรสสมการรอคอยสุดๆ ตามมาเก็บข้อมูลกันเลยค่ะ~

อ่านจบมีข้อสงสัยอยากปรึกษารุ่นพี่ตัวจริง 1:1 หรือขอคำแนะนำเรื่อง SoP ข่าวดีคือ "พี่ควีน" ให้เกียรติตอบรับคำเชิญมาประจำบูธงาน Dek-D’s Study Abroad Fair รอบเมษายน 2024 ด้วยนะคะ (พี่ควีนจะมาวันที่ 28 เม.ย. 2024)  เช็กตารางรุ่นพี่และไฮไลต์ทั้งหมดที่นี่ได้เลย! https://www.dek-d.com/studyabroadfair/ 

Photo by Anthony DELANOIX on Unsplash
Photo by Anthony DELANOIX on Unsplash

. . . . . . . . 

ที่มาที่ไป 
ทำไมถึงเรียนต่อสายรัฐศาสตร์

สวัสดีค่า ชื่อรัฐฐากมล จันทรวราทิตย์ (ควีน) ค่ะ ได้ทุนรัฐบาล Franco-Thai ไปเรียนต่อ ป.โท สาขา International Development ของคณะ Paris School of International Affairs (PSIA) ที่ Sciences Po เรียนเป็นภาคภาษาอังกฤษ 2 ปีที่แคมปัสในกรุงปารีส (Paris) ค่ะ

เล่าก่อนว่าตอน ม.ปลาย เราเรียนสายวิทย์-คณิต แต่รู้ตัวว่าชอบทางสังคมศาสตร์ แล้วมีโอกาสไปประเทศอื่นมาช่วงนึง ทำให้เห็นภาพว่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Affair) เป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจมากกก อาจจะไม่ได้ชอบเชิงข่าวหรือการเมืองจ๋าขนาดนั้น แต่อยากทำงานด้านการทูตหรือเรื่องระหว่างประเทศค่ะ พี่เลยเรียนต่อ ป.ตรี IR ม.ธรรมศาสตร์ หลังจบทำงานสาย Development เกือบปีในองค์กร NGO ก่อนจะตัดสินใจต่อโท

ตอนหาข้อมูลมีเจอหลายโปรแกรมน่าสนใจมาก สุดท้ายเลือก PSIA ของ Sciences Po เพราะตอบโจทย์สุด แล้วยังเป็นสถาบันที่ดังสายสังคมอยู่แล้ว (หนี่งในศิษย์เก่าคนดังของ Sciences Po คือ ‘Emmanuel Macron’ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของฝรั่งเศส) ส่วนโปรแกรมเลือกเป็น International Development เรียนการพัฒนาแบบรอบด้านเพื่อให้ทุกคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ไม่ทุกข์เพราะขาดสิทธิขั้นพื้นฐานด้านต่างๆ

. . . . . . . . 

รีวิวสมัครเรียน & สมัครทุน

*บทสัมภาษณ์นี้อิงจากประสบการณ์ส่วนตัว ระเบียบการทุนและมหาวิทยาลัยอาจมีการเปลี่ยนแปลง  กรุณาศึกษาข้อกำหนดของรอบที่เราจะสมัครอย่างละเอียดนะคะ

แชร์โพรไฟล์ตอนสมัคร

เรายื่นเกรด ป.ตรี 3.59 กับคะแนนภาษา IELTS 7 ผ่านเกณฑ์คณะพอดีเลยค่ะ *เน้นให้ผ่าน มากน้อยไม่มีผลกับการพิจารณา

เกณฑ์คะแนนภาษาขั้นต่ำ (อัปเดตข้อมูลเมื่อ Aug 21, 2023) 
 

TOEFL IBT 100

IELTS Academic* 7

Cambridge C1 

Linguaskill General 180* 

TOEFL Home edition 100

ส่วนเรื่องประสบการณ์ทำงาน พี่คิดว่าค่อนข้างมีผลกับทุน แต่สำหรับ Sciences Po ไม่ซีเรียส ตราบใดที่ผู้สมัครสามารถแสดงให้กรรมการเห็นว่า เราสามารถเข้าไปทำประโยชน์ มีส่วนร่วมขับเคลื่อนการเรียนในคลาสได้ และนำความรู้ไปทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม (ปกตินักเรียนที่ฝรั่งเศสจะต่อ ป.โท หลังจบ ป.ตรีทันที น่าจะเป็นเด็กจบใหม่ 50% ในรุ่น)

หากน้องๆ วางแผนจะสมัคร แนะนำให้พยายามทำกิจกรรมและเข้าชมรมที่เราสนใจ แล้วหยิบมาเขียนเชื่อมโยงกับโปรแกรมที่สมัคร เพราะเขาจะให้น้ำหนักกับส่วนนี้เยอะ // หลังจากเข้ามาแล้วจะพบว่า Sciences Po มีชมรม (Clubs) ให้เลือกเต็มไปหมดตั้งแต่ Harry Potter, Diplomacy (นักการทูต) ฯลฯ โดยจะมีวันนึงที่เขาเปิดโถงให้นักเรียนเดินหาและเข้าไปคุยกับชมรมที่ตัวเองสนใจ อารมณ์เหมือน Job Fair หรืองาน Open House

สมัครตอนไหนดี?

*ถ้ามหาวิทยาลัยตอบรับเข้าเรียนแล้ว จะเป็นโบนัสมากโดยเฉพาะตอนสัมภาษณ์ เพราะเป็นการคอนเฟิร์มได้ระดับนึงว่าถ้าได้ทุน เราจะได้ไปเรียนแน่นอน 

มหาวิทยาลัยจะปิดรับสมัคร 9 Feb ของทุกปี พิจารณาเป็นรอบๆ ดูทุกอย่างประมาณ Mar-Apr /  เริ่มเรียกสอบสัมภาษณ์ May / ประกาศผลปลายเดือน Jun ถึงราวๆ ต้น Jul

ถ้ารู้ตัวเร็ว แนะนำให้เริ่มเตรียมประมาณกกลางปีก่อนถึงปีที่อยากเข้าเรียน เช่น อยากเรียนปีการศึกษา 2024 ควรเริ่มเตรียมตัวประมาณ Jun-Aug ปี 2023 หรืออย่างช้าสุดเดือน Oct-Nov ควรเริ่มสมัคร IELTS และติดต่ออาจารย์เราอยากให้ช่วยเขียนจดหมายแนะนำ (Reference Letters) *ส่วนนี้ทางมหาลัยจะส่ง Link ให้อาจารย์โดยตรง เราจะไม่รู้ทั้งคำถามของกรรมการและคำตอบของอาจารย์

ส่วนตัวให้ความสำคัญกับ Reference Letter มาก เพราะเราต้องให้เกียรติและให้เวลากับอาจารย์ จำได้ว่าติดต่อหาอาจารย์ตั้งแต่เดือน Aug-Sep ขออนุญาตและเข้าพบที่มหาลัยประมาณ 1 ชม. เพื่ออธิบายความตั้งใจที่จะสมัครทุนนี้

เป็นเด็กทุน Franco-Thai ดียังไง?

หลังจากได้ทุน เราจะอยู่ภายใต้การดูแลของสถานทูตฯ พอไปฝรั่งเศส จะดูแลโดย Campus France ส่วนตัวประทับใจหลายเรื่องค่ะ เช่น 

  • มีทริปให้สมัครไปเที่ยวได้ในราคานักศึกษา + เป็นทัวร์มีอาหารพร้อมที่พัก เพราะถ้าเป็นคนทั่วไปอาจจะต้องจองล่วงหน้าข้ามปี
  • ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องต่างๆ เช่น ทำบัตรประกันสุขภาพให้ (นักเรียนต่างชาติต้องทำทุกคน ปกติต้องจ่ายหลายร้อยยูโร) หรือช่วยให้จองคิวต่อวีซ่าง่ายขึ้น โดยสามารถยื่นเรื่องผ่านเจ้าหน้าที่ Campus France ได้เลย
  • ทางทุนจะช่วยจัดหาที่พักให้ วันแรกที่ไปถึงฝรั่งเศส เราต้องไปที่ Campus France (Bienvenue en France) ก่อน ตอนนั้นเขาจะมีตัวเลือกหอพักให้เราค่ะ (ทั้งนี้เราต้องออกค่าที่พักเอง แต่เราจะได้ราคานักเรียนทุน ที่จะถูกกว่ามากค่ะ)  แต่นอกจากนี้ก็จะมีเว็บตามหาหอหรือห้องพัก หายากแต่หาได้แหละ มี FB นักเรียนไทยในปารีสที่มาแชร์ข้อมูลกันด้วย เลยรู้สึกไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรง

Note: เราต้องดูแลตัวเองมากขึ้นโดยเฉพาะตอนไปถึงฝรั่งเศสแล้ว แนะนำให้ศึกษาข้อมูลและติดตามเรื่องเพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์

เว็บไซต์หลักสูตร

. . . . . . . . 

สรุปชีวิต Sciences Po
สถาบันด้านสังคมศาสตร์ Top3 ของโลก

1. ภาษาคือกำแพงด่านแรก

พี่เรียนคณะ Paris School of International Affairs (PSIA) เรียนเป็นภาษาอังกฤษก็จริง  (หลักสูตรฝรั่งเศสของ Sciences Po ส่วนใหญ่จะอยู่นอกคณะ PSIA)แต่ถ้าเกิดเราไปแบบเป็นศูนย์ชีวิตจะค่อนข้างยาก! โดยเฉพาะการติดต่อทำเอกสาร ต่อวีซ่า ทำบัตรนักเรียน มันจะโคตรชาเลนจ์ ซึ่งเตือนว่าก่อนเซ็นเอกสารอะไร ควรจะอ่านอย่างรอบคอบให้เข้าใจ ถ้าเป็นไปได้พาเพื่อนฝรั่งเศสไปด้วยเลยก็จะช่วยมาก

สำหรับนักเรียนทุน Franco-Thai เขาจะบังคับให้เรียนภาษาฝรั่งเศสก่อนเป็น Intensive Course เพื่อให้สื่อสารเอาตัวรอดได้เบื้องต้นค่ะ 

2. ชื่อสาขาในใบปริญญาแต่ละคนแทบไม่ซ้ำกัน

นอกจากวิชาบังคับเทอมละ 2-3 วิชา และนักเรียนคณะ PSIA จะต้องเลือกลง 2 Concentrations (ขอเรียกย่อว่า Conc.) เหมือนกับเราโฟกัสหัวข้อนั้นๆ เป็นพิเศษ ซึ่งมหาลัยแบ่งเป็น Regional และ Thematic มีแยกย่อยให้เลือกเยอะมากๆ

*ในลิสต์นี้อ้างอิงจากหน้าเว็บหลักสูตรปีล่าสุดนะคะ >> https://www.sciencespo.fr/psia/academics/concentrations 

Regional Concentration

Thematic Concentration

  • African Studies
  • The Americas
  • Asian Studies
  • European Studies
  • Middle Eastern Studies
  • Agriculture
  • Diplomacy
  • Environment and Sustainability
  • Gender Studies
  • Global Economy
  • Global Health
  • Global Risks
  • Human Rights
  • Intelligence
  • Media and Writing
  • Methods
  • Migration
  • Project Management

เราสามารถเลือก Regional 1 + Thematic 1 หรือเลือกในกลุ่มเดียวเลยก็ได้ค่ะ จากนั้นเราจะได้ลงเรียนวิชาใน Conc. นั้นๆ เทอมละ 1 วิชา (เท่ากับเรียน +2 จากวิชาบังคับทุกเทอม) พอเรียนจบก็จะมีระบุในใบจบด้วยนะ  ดังนั้นในใบปริญญาแต่ละคนแทบไม่ซ้ำกัน เพราะโอกาสที่คนจะเลือกตรงกันทั้ง 2 Conc. มีน้อยมาก

พอต้องเลือกก็คือเครียดเลยค่ะเพราะสนใจหลายอัน สุดท้ายก็เลือก European Studies (ยุโรปศึกษา) คู่กับ Diplomacy (การทูต) เพราะรู้สึกว่าศาสตร์การทูต เช่น การเจรจาต่อรอง เป็น Soft Skills ที่บิ๊วได้ยาก ถ้าลงเรียนในคลาสนี้น่าจะช่วยให้สกิลนี้ของเราแข็งแรงขึ้น

3. สงครามลงทะเบียนที่เดือดยิ่งกว่ากดบัตรคอนเสิร์ต

ด้วยความที่ตัวเลือกวิชาเรียนมีเยอะ เขาจะ fix ห้องและเวลาไว้ให้ มีตั้งแต่วิชาที่เริ่ม 8:00 ไปจนถึงคลาสที่เลิก 21:15: รูปแบบคลาสก็จะมีทั้ง Lecure-based และ Seminar-based ส่วนมากวิชาบังคับจะเป็นเลกเชอร์ น่าจะลงทันหมด แต่สมมติเป็นวิชาเลือกคลาส Seminar คลาสก็จะเล็ก แข่งกันทั้งโรงเรียนแต่รับ 15 คนไรงี้  

ถ้าลงไม่ทันเราอาจติดสำรอง ก็ต้องส่งอีเมลไปหา Administration Office ว่าเราสนใจนะะะ และขอเป็นตัวเลือกถ้ามีคนดร็อป เพราะปกติทุกคนคลาสจะมีแจก Syllabus ให้นักเรียนดูว่าจะได้เรียนอะไร วัดผลยังไงบ้าง ถ้าลองเรียนแล้วรู้สึกไม่ใช่ จะมีโอกาสดร็อปในช่วง 2 สัปดาห์แแรก (ก็คือเรียนไปแล้ว 4-6 ชม.) ทำให้คนที่ติดสำรองยังมีสิทธิ์ได้เรียน

ดังนั้นก่อนลงทะเบียน แนะนำให้เตรียมไว้สัก 2-3 plans เผื่อลง Plan A ไม่ทันจะได้รีบปรับไป Plan B เพราะถ้าไม่ทันแล้วมานั่งวางแผนตรงนั้น อาจไม่ได้สักวิชาที่อยากเรียนเลยก็ได้

4. ตารางวิชาอัดแน่นทั้งปริมาณและคุณภาพ

ตอนเรียน Sciences Po พี่เจอเทอมละ 7-8 วิชา เรียนตาแตกจริงจังจนแทบไม่เหลือเวลาทำอย่างอื่น 5555 การเรียนที่นี่จะต้องเตรียมใจว่าหนีไม่พ้น workload ถึงไม่มีการบ้านหรือ Paper ก็ต้องเจอ Reading Assignment ที่อ่านเป็น 100+ หน้าในสัปดาห์เดียว เพราะเราต้องทำความเข้าใจทฤษฎีเพื่อเตรียมมาอภิปรายในคลาส

การเรียนที่นี่จะค่อนข้างผลักดันให้นักเรียนกล้าแสดงความคิดเห็น แต่ก็ขึ้นอยู่กับคลาสด้วย ถ้าเเป็น Seminar คะแนนการมีส่วนร่วมอาจมีถึง 20% แต่ถ้าเลกเชอร์อาจมีสัก 10% ก็ได้ (นอกนั้นเป็นเปเปอร์กับสอบกลางภาค) ส่วนตัวพี่ถนัดลงวิชาบรรยายเยอะกว่า แต่ก็มี 1-2 คลาสที่เป็น Seminar รู้สึกสนุกและท้าทายไปอีกแบบ ตื่นเต้นกว่าการรับสารอย่างเดียว

จำได้ว่าช่วงเทอมแรก เรากลัวทำทุกอย่างไม่ทัน ก็เลยจัดตารางแบบเข้มงวดว่าถ้าเรียนเสร็จต้องอ่านหนังสือ นั่งอ่านหนังสือที่ห้องสมุด 20:00-21:00 ทุกวัน ตึงจนตอนหลังสอบกลางภาคเทอมแรกเสร็จก็รู้สึกว่าต้องออกมาใช้ชีวิตบ้างค่ะ 555 

สำหรับบางหลักสูตร/มหาลัยอาจมีจุดขายว่าเรียนแค่ปีเดียวจบ ขึ้นอยู่กับสไตล์และความชอบของแต่ละคน แต่สำหรับพี่ขอเป็น 1 เสียงที่บอกว่าการเรียน 2 ปีมีข้อดีเยอะมากๆ คุ้มค่าจนรู้สึกคิดไม่ผิดเลยที่เลือกเป็นหลักสูตร 2 ปี

5. รีวิววิชาที่ประทับใจจนมงลง vs. วิชาสุดหิน

ชอบสุดคือ Diplomacy and Negotiation หรือศาสตร์การทูตและเจรจาต่อรอง ใช้เวลาเรียน 8-9 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 4.15 ชม. ได้เรียนทั้งกับอาจารย์  2 ท่านจากอเมริกา แล้วยิ่งน่าสนใจอีกเพราะไปเรียนในจังหวะที่การเมืองฝรั่งเศสกำลังเดือดปุดๆ เลยค่า 

วิชานี้ครึ่งแรกเขาจะจัดกิจกรรมให้คนในคลาสเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ เครียดนะ แต่สนุก มันนอกตำรา เช่น สมมติว่าจะทำยังไงให้ขายน้ำมันในราคา 5 ยูโร ทั้งที่เจ้าอื่นขาย 3 ยูโร เรามีดียังไง ฯลฯ  ส่วนครึ่งหลังจะสอนโดยอาจารย์ที่เขียนหนังสือมาเยอะมากๆ เน้นหลักการเยอะ ความท้าทายคือต้องไฟต์ให้ชนะเขา 

แล้วทุกคณะก็จะมีแตะเศรษฐศาสตร์ (Economics) เบาๆ สำหรับเราวิชาพวกนี้ยากหมด ต้องฝึกใช้โปรแกรมสถิติ STATA ทำความเข้าใจและเรียนรู้ Data ต่างๆ กว่าจะผ่านมาได้เสียน้ำตาเป็นสิบล้านรอบบบ พึ่งใบบุญเพื่อนด้วย แต่ในขณะเดียวกันคือถ้าใครใช้โปรแกรมพวกนี้จนคล่อง มีองค์กรต้องการตัวเยอะแน่นอนค่ะ

6. คอนเน็กชันแข็งแกร่ง คุณภาพคับแก้ว

  • คนที่จบจาก Sciences Po มักจะไปทำงานตำแหน่งสูงๆ สถาบันก็จะเชิญศิษย์เก่ามาให้ความรู้ หัวข้อน่าสนใจมาไม่หยุด โดยเราสามารถเลือกลงทะเบียนเพื่อเข้าฟังได้ (แต่ฟังไม่หมดจริงๆ) ตรงนี้เรามีโอกาสได้ฟังภาษาฝรั่งเศส โดยที่เขามีล่ามให้ค่ะ เรายังใช้โอกาสตรงนี้แลกนามบัตรสร้างคอนเน็กชันได้ **อีเมลของ Sciences Po จะไม่มีวันหมดอายุ ถึงเรียนจบก็ยังเข้าใช้งานได้ เริ่ดตรงนี้!
     
  • Sciences Po มีให้เลือกโปรแกรม Dual Degree เรียน 1 ปีที่ Sciences Po และอีก 1 ปีในมหาลัยพาร์ตเนอร์ ซึ่งเป็น ม.ชั้นนำหลายประเทศ เช่น สวีเดน แอังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฯลฯ // ถ้ากรณีได้ทุน Franco-Thai ครอบคลุมให้เฉพาะปีที่เรียนฝรั่งเศสเท่านั้นนะคะ 
     
  • Sciences Po จะมีจัด Career Week ที่เชิญองค์กรแนวหน้าระดับโลกมาที่มหาลัย เราสามารถปรินต์ Resume ไปนำเสนอได้ หรืออาจรับโบรชัวร์มาเพื่อทำความรู้จักกับองค์กรให้มากขึ้น

7. ไม่จำเป็นต้องทำวิทยานิพนธ์ถึงจบได้

เราสามารถเลือกไปฝึกงาน (Internship) หรือแลกเปลี่ยน (Exchange) แทนการทำเล่มจบก็ได้นะคะ เรื่องนี้ตอบโจทย์เต็มๆ เพราะเราไม่ได้มีแผนเรียนต่อ PhD หรือทำงานสายวิชาการ

สำหรับคนที่เลือกฝึกงาน (อย่างเรา) จะได้ฝึกงานตอนเทอม 3 ประมาณ​ 9-12 สัปดาห์ (1 เทอม) แต่เราสามารถยืดเวลาฝึกได้มากกว่านั้น เพราะก่อนหน้าเทอม 3 จะมี Summer Break และตอนหลังมี Winter Break **ตอนนั้นพี่ฝึกงาน 2 ที่คือ

  1. ฝึกงาน 3 เดือนครึ่งที่ International Organization for Migration (IOM) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานของ UN ที่ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในด้านมนุษยชนค่ะ เรารู้สึกว่าสิ่งที่เรียนค่อนข้างเหมาะกับการมาประยุกต์กับบริบทประเทศไทย ณ ขณะนั้น หลังจากพี่จบกลับมาตอนปี 2020 ก็กลับมาทำงานที่นี่จนถึงปัจจุบัน
     
  2. ฝึกงาน 3-4 เดือนที่ UNESCO สำนักงานใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส ลักษณะงานจะเป็นกึ่งอินเตอร์กึ่งราชการ มีเอกสารและการประชุมเยอะมาก เราจะมีโอกาสได้เห็นการประชุมใหญ่ของ UNESCO ที่เป็นสภาใหญ่ๆ ครึ่งวงกลม มีล่ามแปล 6 ภาษา แถมยังได้ฝึกงานจังหวะที่เขามีการประชุมสมัยสามัญของ UNESCO ครั้งที่ 40  (มีทุก 4 ปี) และ the 208th session of Executive Board Conference (มีทุก 2 ปี)
https://www.science-diplomacy.eu/
https://www.science-diplomacy.eu/ 
FB: SciencesPo.En
FB: SciencesPo.En

. . . . . . . . 

ปิดท้ายด้วย #รีวิวฝรั่งเศส
ดินแดนที่ให้คุณค่ากับศิลปะ
และเสียงของประชาชน

พอได้ใช้เวลา 2 ปีที่ฝรั่งเศส จุดเด่นอยากกล่าวถึงไม่น้อยกว่าชีส ไวน์ และน้ำหอม มีอะไรอีกบ้าง?

  • ฝรั่งเศสเป็นดินแดน Freedom of Speech ประชาชนกล้าออกเสียงเรียกร้องเมื่อพวกเขารู้สึกถูกเอาเปรียบ ทำให้มีประท้วงถี่มาก จนเชื่อว่าถ้าใครมาเรียนจะต้องได้เข้าร่วมสักครั้งแน่ๆ **เรื่องนี้เราว่ามันดีมากสำหรับคนมาเรียนสายรัฐศาสตร์แล้วอยากสังเกตการณ์ โดยสิ่งที่ Sciences Po ทำคือหยุดสอน เพื่อให้นักเรียนที่สนใจสามารถไปเข้าร่วมประท้วงได้
     
  • การเดินทางที่ฝรั่งเศสสะดวก มี Metro อาจไม่ได้ตรงเวลาเป๊ะแต่เปิดถึงดึกๆ เลย และนักเรียนยังมีส่วนลด สำหรับขึ้นรถไฟความเร็วสูงที่เรียกว่า “เตเฌเว” (Train à grande vitesse ;TGV) ขึ้นเหนือล่องใต้ได้ทั่วถึงสุดๆ พี่เป็นคนที่อยู่ฝรั่งเศสมา 2 ปีแล้วเน้นเที่ยวในประเทศ ทำให้เห็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละเมือง
     
  • ประเทศที่ให้คุณค่ากับศิลปะและวัฒนธรรม เราสามารถเข้าไปสัมผัสเสน่ห์เหล่านั้นได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Museum, Theater, Cinema ฯลฯ ยิ่งสวัสดิการนักเรียนจะมีส่วนลดและอาจได้เข้าฟรีด้วย
     
  • ส่วนตัวพี่ยังไม่เจอเหตุการณ์รุนแรงหรือถูกเหยียด แต่เพื่อความปลอดภัย ทุกคนควรมีสติตลอดเวลาในทุกที่ ระวังทรัพย์สิน โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว

. . . . . . . .  .

You’re Invited!
อยากปรึกษา 1:1 กับพี่ควีนตัวจริง
พบกันที่ไบเทคบางนา 28 เม.ย. 2024

รอบนี้พิเศษมากก!! Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูธใหญ่ของพวกเรา เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครองในงานสามารถ Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์และออสเตรเลียก็มาด้วยนะ!

"พี่ควีน" จะสแตนด์บายที่บูธปรึกษากับน้องๆ แบบ 1:1 ในวันที่ 28 เมษายน 2024 และห้ามพลาดไฮไลต์อีกมากมายในงานนี้ค่ะ

เข้าสู่เว็บไซต์งานแฟร์ต่อนอก
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น