10 ข้อกับ ‘หมอตั๋ง-ตนุภัทร’ จบแพทย์ในไทย คว้าทุนฟุลไบรท์ไปต่อโทที่ Pittsburgh สาขา Biomedical Informatics

สวัสดีค่าชาว Dek-D เอาใจคนที่มีความฝันอยากขอทุนดังไปเรียนต่ออเมริกากันบ้างค่ะ! วันก่อนเราได้เชิญ “คุณหมอตั๋ง – ตนุภัทร บุญเฉลิมวิเชียร” ศิษย์เก่า MWIT จบ ป.ตรี คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ และยังเป็นนักเรียนทุน Fulbright TGS เรียนต่อปริญญาโท Department of Biomedical Informatics ที่ University of Pittsburgh (Pitt) ตั้งอยู่ในรัฐ Pennsylvania ของสหรัฐอเมริกาด้วย 

บทสัมภาษณ์นี้จะพาไปเปิดสตอรี่การค้นพบความชอบในแต่ละช่วงชีวิต การเข้าไปสำรวจเส้นทางใหม่โดยไม่มีคำว่าสายเกินไป และการค้นพบสาขาน่าสนใจที่รวมความสนใจไว้อย่างลงตัว ที่สำคัญคือเรื่องทุนและประสบการณ์เรียนมหาวิทยาลัยระดับโลกด้วย ตามไปรับข้อมูลและแรงบันดาลใจดีๆ กันเลยค่ะ! 

Note:

  • จริงๆ แล้ว Fulbright มีถึง 8 ประเภทที่คนไทยสมัครได้ ซึ่งทุน Fulbright TGS คือทุนระดับปริญญาที่ดังที่สุด แนะนำให้ติดตามข่าวสารการรับสมัครและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทาง  FB Fanpage: FulbrightThailand (ขอขอบคุณมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน ที่แนะนำนักเรียนทุนให้ได้ชวนมาแชร์ข้อมูล ณ​ ที่นี้ด้วยค่ะ)
     
  • “พี่หมอตั๋ง” ยังให้เกียรติตอบรับคำเชิญจาก Dek-D มาประจำบูธรุ่นพี่ปรึกษาแบบ 1:1 ภายในงาน Dek-D’s Study Abroad Fair รอบเมษายน 2024 ด้วยนะคะ ใครสนใจสามารถมาปรึกษาได้ในวันอาทิตย์ที่ 28 เม.ย. 2024 (ตั้งแต่ 13.00-17.00 น.) เช็กตารางรุ่นพี่และไฮไลต์งานแฟร์เรียนต่อนอกทั้งหมดที่นี่ได้เลย! https://www.dek-d.com/studyabroadfair/
University of Pittsburgh
University of Pittsburgh 

1. เรื่องมันยาว เหตุเกิดจากหนังสือหลายเล่ม

ถ้าย้อนไปตอนเด็กผมชอบวิชาวิทย์ และส่วนมากความคิดจะถูกหล่อหลอมจากหนังสือหลายเล่ม เช่น ตอนนั้นไปเจอ “A Fish Caught in Time: The Search for the Coelacanth” เกี่ยวกับปลาดึกดำบรรพ์ “ซีลาแคนท์” (Coelacanth) ซึ่งจัดเป็น Living Fossil ที่มีการค้นพบตัวเป็นๆ หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเริ่มสนใจ “ทฤษฎีวิวัฒนาการ” ครับ

กับอีกเล่มคือหนังสือ Pop-Science ที่ชื่อ “Your inner fish, Endless Forms Most Beautiful: The New Science of Evo Devo” หรือเวอร์ชันภาษาไทยคือ  “ในคนมีปลา ในขามีครีบ” เล่มนี้ทำให้ผมสนใจเรื่อง “พันธุศาสตร์” (Genetics) เพราะทำให้เห็นพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และทำให้ความฝันของผมในตอนนั้นคืออยากเป็นนักชีวะและทำวิจัยครับ

ช่วงเรียนหมอจุฬาฯ ปี 5-6 ผมก็ไปเจอหนังสืออีก 3 เล่มที่ทำให้ตัดสินใจไปลง “ระบาดวิทยาภาคสนาม” หรือ "Field Epidemiology Training Program” (FETP) หลังจากเรียนจบแล้วใช้ทุนครบครับ ซึ่ง 3 เล่มนั้นคือ

  • Deadly Outbreaks: How Medical Detectives Save Lives Threatened by Killer Pandemics, Exotic Viruses, and Drug-Resistant Parasites
  • The Hot Zone: The Terrifying True Story of the Origins of the Ebola Virus
  • Spillover: Animal Infections and the Next Human Pandemic

2. ฝึกเขียนโปรแกรมหลังจบหมอ 8 ปี

ถ้าเริ่มไล่เรียงแต่แรกคือผมเรียนแพทย์ 6 ปี จากนั้นทำงานใช้ทุน 1 ปี และต่อด้วย Field Epidemiology แล้วหลังจบหมอประมาณ 8 ปี ผมถึงเริ่มฝึกเขียนโปรแกรม R กับ Python เพราะชอบวิจัยและสนใจสาย Public Health และ Computational Biology ทำวิจัย 1 ปีกับอาจารย์ ก่อนจะได้ทุน Fulbright TGS 

สำหรับใครที่คิดว่าตัวเองจะทำได้ไหม “ได้สิ” แต่ผมว่าถ้าเรียนแล้วยากเกินจะท้อแท้ ไม่สนุก ลองเริ่มที่ความยากแบบพอดีๆ และไม่ง่ายเกินไป จะทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเองและอยากเรียนต่อไปเรื่อยๆ 

ตอนผมเริ่มเขียนโปรแกรมจากศูนย์ มีอาจารย์แนะนำให้เข้าไปเรียนใน MIT OpenCourseWare https://ocw.mit.edu  ครับ ถ้าเกิดใครมีพื้นฐานหมอ ชีวะ เภสัช พยาบาล ฯลฯ แล้วจะมาทางเขียนโปรแกรมด้วย แนะนำเป็น 2 คอร์สนี้ (ส่วนคณิต ลองหาคอร์สของ Prof. Gilbert Strang ก็ได้นะ)

6.0001 Introduction to Computer Science and Programming in Python
6.0001 Introduction to Computer Science and Programming in Python
6.0002 Introduction to Computational Thinking and Data Science
6.0002 Introduction to Computational Thinking and Data Science

3. แชร์วิธีคิดตอนสมัครทุน ฉบับคนไม่ใช่เด็กกิจกรรม

อยากให้กำลังใจชาว Nerd ชาว Geek ว่าสมัครได้นะ เพราะที่ผ่านมาผมก็ไม่ใช่เด็กกิจกรรมเลย สำคัญที่เรื่องแพสชันและความต้องการที่ชัดเจน คิดก่อนว่าเราจะเรียนอะไร เพื่ออะไร สามารถทำด้านไหนได้บ้าง ก็ทำด้านนั้นเป็นจุดเด่น แล้วหาต่อว่าถ้าสนใจเรื่องนี้ควรจะฝึกทำกับอาจารย์คนไหน/แล็บไหน

  • ผมใช้เวลา 2-3 เดือนกับการปรึกษาเรื่องการเขียน CV, Biography, Statement of Purpose (SoP) และขอจดหมาย Recommendation Letter จากคนที่เคยทำงานร่วมกันและเป็นที่สุดของฟิลด์นั้นๆ
     
  • Statement of Purpose (SoP) ผมว่าคนที่คิดอยู่ตลอดเวลาต้องเป็นคนมีของอยู่แล้ว พอตั้งเป้าหมายไว้แล้วพยายามหาทำตลอด ดังนั้นเขียนสิ่งที่คิดออกมาเลย  เล่าสิ่งที่อยากเรียน วัตถุประสงค์ เหตุผลที่ต้องเลือกสาขา มหาวิทยาลัย และในอเมริกาคืออะไร ฯลฯ เขียนให้สัมพันธ์กันว่าอดีตส่งผลอย่างไรถึงปัจจุบัน แล้วจะทำอะไรต่อในอนาคต มีอะไรที่ต้องเติมอะไรบ้าง เหมือนกับลากเส้นต่อจุดมาเรื่อยๆ 
     
  • Personal Statement เป็น Essay ความยาว 1 หน้า อธิบายคุณลักษณะ สิ่งที่เคยทำสำเร็จ และสิ่งที่อยากทำในอนาคต

Q: ถ้าน้องๆ ม.ปลาย/ป.ตรี ที่คิดว่าจะเรียนยังไงดีเพื่อให้เป็นแต้มต่อในอนาคต?

พี่หมอตั๋ง: ผมว่าตอนนี้เรียนให้สนุกและเข้าใจมันให้มากที่สุดดีกว่าครับ อาจรู้สึกกดดันน้อยกว่าการคิดว่าจะเรียนเพื่อไปสมัครทุนหรือมหาวิทยาลัยไหนในอีกหลายปีข้างหน้า อย่างผมชอบชีวะและชอบทำอะไรใหม่ๆ ก็ทำเต็มที่ แต่ถ้าใครยังหาไม่เจอเลยว่าชอบอะไร ผมอยากให้ลองเริ่มจาก “การเล่น” ถ้าคิดอะไรออกมาแล้วอยากลองทำ ทำเลย เดี๋ยวก็จะรู้เองว่าชอบหรือไม่ชอบ
 

ช่องทางสอบถามและติดตามข่าวสารทุนฟุลไบรท์

 4. ฝึกภาษาก็เหมือนออกกำลังกาย (+แนะนำแอป)

ตอนสมัครทุนผมยื่นคะแนน TOEFL 109 ส่วนหนึ่งเพราะตอนเรียน MWIT (โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์) มีอาจารย์ต่างชาติสอนภาษาอังกฤษ เรียนคลาสเล็ก และอ่านหนังสือนอกเวลาเยอะมากด้วย

จริงๆ แล้วเรื่องภาษาอังกฤษบางคนฝึกง่าย บางคนฝึกยาก ตอนนั้นภาษาอังกฤษผมก็ไม่ได้ดี แต่ต้องเตรียมสอบ TOEFL ซึ่งตอนนั้นปัญหาใหญ่สุดของผมคือ “Speaking” ลิ้นแข็ง (แก้ยังไงดี?) มันก็เหมือนการออกกำลังกายอะครับ ต้องฝึกเยอะๆ สม่ำเสมอ ยิ่งยุคนี้ยิ่งดีเลย นอกจากหนังสือก็ยังมี App ในมือถือช่วยเราได้


Q: มีแอปที่ใช้แล้วได้ผลแล้วอยากแนะนำต่อน้องๆ มั้ยคะ

พี่หมอตั๋ง: ส่วนตัวหรอครับ No spon นะอันนี้ ไม่ฟรี ผมใช้ Itaiki ใครมีปัญหาลิ้นแข็ง จองไปเลย 7 วัน ผมว่าใช้ 2-3 สัปดาห์คล่องแน่ ได้เรื่องสำเนียงด้วย เริ่มจากศูนย์ก็ได้ จ่ายต่ำสุด $5 *เทียบค่าเงินเมื่อ ก.พ. 2024 ตกประมาณ 178 บาทไทย (ค่าเงินเมื่อ 18 ก.พ. 2024) 
 

5. ตอนสัมภาษณ์ทุน ไม่เจอหลายชั้นเท่าสัมภาษณ์นางงาม

ผมเองก็เคยนั่งดูสัมภาษณ์นางงามนะ คำถามเขาจะเป็น 2 ชั้น “สมมติว่าถ้าเราเป็น Role Model ในการทำเรื่องนี้ คุณจะเป็นใคร? เพราะอะไร?” แต่สัมภาษณ์ทุน Fulbright ชั้นเดียว เพียงแต่เราต้องสะท้อนความเป็นตัวเราออกมา เล่าที่มาที่ไป เหตุผลและแพสชันที่เลือกเรียนสายนี้ เป้าหมายการทำงานในอนาคต (เวลาตัดสินใจอะไรเรามีเหตุผลอยู่แล้ว) 

การรู้จักตัวเองสำคัญที่สุด ก่อนสัมภาษณ์ประมาณ 2-3 วีคผมลิสต์คำถามไว้เยอะมากกก นั่งคิดว่ากรรมการน่าจะถามอะไรต่อ ซ้อมไว้หมด พยายามดักทุกทางเพื่อเรียบเรียงประโยคที่สามารถอธิบายสิ่งที่เราคิดได้ดี

6. ลากเส้นต่อจุดทุกความชอบ เป็นคณะ Biomedical Informatics

ผมพยายามคุยกับหลายๆ คน และได้รู้จักรุ่นพี่ Health Informatics ที่อยู่วงการนี้ กับปรึกษา “อ.ดร.สิระ ศรีสวัสดิ์”  ทำให้รู้ว่าสาขานี้มีที่อเมริกาด้วย แต่อาจมีชื่อต่างกัน เช่น Health Data Science, Health Informatics *ใครสนใจพวก Genomics หรือ Proteomics ผมแนะนำอาจารย์ท่านนี้เลยครับ

“Biomedical Informatics” อยู่ในคณะแพทยศาสตร์ (Medicine) ของ University of Pittsburgh (หลังจากนี้ขอเรียก Pitt นะครับ) คณะนี้เพิ่งเกิดใหม่ประมาณ 20 ปีให้หลังนี้เอง เป็นสาขาที่รวมหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน ได้แก่ Computational Biology, Clinical Informatics, Public Health Informatics, Imaging Informatics 

คนที่จบสายนี้จะทำหน้าที่เป็นคนเก็บรวบรวมและจัดการข้อมูล เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาและนำมาประกอบการพัฒนาระบบการรักษาพยาบาล เช่น จัดการด้านนโยบาย, วิเคราะห์ข้อมูลว่าจะใช้เครื่องมืออะไรมาซัปพอร์ตให้การรักษาถูกต้อง แม่นยำ และปลอดภัย สาขานี้กว้างมากกกแต่เกี่ยวกับข้อมูล เราจะได้เลือกเรียนลงลึก 1-2 ด้าน

สำหรับผมเอง เลือกมหาวิทยาลัยจาก อาจารย์ แล็บ และ ความเก๋าแก่ของมหาวิทยาลัยนั้นในด้านที่เราสมัคร อย่าง Pitt เป็นผู้บุกเบิกการเอาบอทมาใช้กับการแพทย์ ทำ Expert Systems Applications ตัวแรกๆ ของโลก แล้วมีนวัตกรรมการแพทย์หลายอย่าง อาจารย์ก็เป็นถึงระดับลูกศิษย์ของผู้ค้นพบศาสตร์ และคนเขียนหนังสือ Classical Studies Textbooks

ผมสมัครทุนประมาณต้นปี รู้ผลว่าติดทุนประมาณกลางปี สมัครเรียนปลายปี แล้วกว่าจะได้เริ่มเรียนก็ประมาณสิงหาคมปีหน้าเลยครับ ก็ใช้โอกาสช่วงนั้นไปทำวิจัยกับ ดร.นพ.ชัยภัทร ชุณหรัศมิ์ แพทย์ด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลจุฬาฯ ที่สนใจเรื่อง Computational Cognitive ดูในมุมพฤติกรรม (Behavior) เช่น ความทรงจำ อารมณ์ มีใช้การเขียนโปรแกรมให้คอมพ์คำนวณด้วย 

เว็บไซต์สาขา DMBIรายละเอียดการสมัครเรียน

Link ข้อมูลการสมัครเรียน 

https://www.dbmi.pitt.edu/application-process-and-requirements 

7. รีวิวเรียนและทำวิจัยสาขา DBMI ในรั้ว University of Pittsburgh

โดยรวมผมเนื้อหาไม่ได้หนัก แต่มีการบ้านกับรายงานที่ต้องทำเยอะ ซึ่งการบ้านก็มีหลายแบบ อาจเป็นเขียนโปรแกรม ทำโปรเจ็กต์ ตอบคำถามเฉยๆ ฯลฯ เขาดีไซน์หลักสูตรแบบผ่านการคิดมาแล้วว่า การบ้านแต่ละตัวต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ได้อะไรจากการบ้านนี้ มีให้ค้นคว้าและเรียนด้วยตัวเอง แน่นอนว่าบางโจทย์ใช้เวลาหลายวัน และการเขียนโปรแกรมก็ซับซ้อน ต้องเขียนจากพื้นฐาน อัลกอริทึ่ม โครงสร้างบางอย่าง ถ้ามันติดๆ คิดไม่ออกก็ต้องใช้เวลาแงะหน่อยครับ

และตลอดการเรียน ป.โท ที่ Pitt ผมทำไปทั้งหมด 2 โปรเจ็กต์ใหญ่ เกี่ยวกับ NLP (Natural Language Processing) กับ Healthcare Knowledge Graph (HKG) กับโปรเจ็กต์เล็กๆ อีกหนึ่ง

 8. เพื่อนร่วมคลาสที่ไม่ธรรมดา

ในคลาสมีหลากหลาย background มากครับ บางคนเป็น Biologist เคยศึกษาพฤติกรรมของผึ้ง, คนเรียนจบ Public Health, Computer Science, นักคณิตศาสตร์ ฯลฯ และครึ่งนึงเป็น Engineer ผมว่าดีมาก ทำให้เห็นความคิดและมุมมองที่แตกต่างจากสายงานของพวกเขา

 9. มุมมองต่อเรื่องระบบสุขภาพของอเมริกา

ระบบสุขภาพของอเมริกา จุดแข็งคือเขาลงทุนมากกับเรื่อง Health Information Infrastructure เขามอง Data ว่าเป็นรากฐานของการสร้างนวัตกรรมทุกอย่าง ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาล และการเข้าถึงการรักษา ในขณะเดียวกัน ระบบสุขภาพก็อาจจะแพงครับ

และอเมริกามีงบ R&D (Research and Development) สูงมาก ดึงดูดคนที่มีศักยภาพเข้ามาทำวิจัยในประเทศ ขับเคลื่อนระบบการศึกษาให้มีความหลากหลายและไม่แบ่งแยก ทำให้สภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ดีตั้งแต่ระบบกฎหมาย เช่น Title IX หรือ พระราชบัญญัติการศึกษา ค.ศ.1972 (Education Amendments of 1972) สาระสำคัญคือการต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเพศ พลเมืองในอเมริกาสามารถเข้าถึงการศึกษาและกิจกรรมต่างๆ ที่รัฐบาลกลางสนับสนุนความช่วยเหลือทางการเงินได้อย่างเท่าเทียม เป็นต้น 

10. งานปัจจุบัน

ตอนนี้ผมทำงานที่โรงพยาบาลจุฬาฯ หลักๆ คือสร้างระบบที่เอา Data มาใช้ประโยชน์ในงานวิจัย ตอบโจทย์เรื่อง Management & Service ให้กับโรงพยาบาล และทำวิจัยเกี่ยวกับทุนหลายที่ ระบบ Audit and Feedback) เพื่อวัด Performance ของแพทย์ครับ

. . . . . . . .  

You’re Invited!
อยากปรึกษา 1:1 กับพี่หมอตั๋งตัวจริง
พบกันที่ไบเทคบางนา 28 เม.ย. 2024

รอบนี้พิเศษมากก!! Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูธใหญ่ของพวกเรา เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครองในงานสามารถ Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์และออสเตรเลียก็มาด้วยนะ!

"พี่หมอตั๋ง" จะสแตนด์บายที่บูธปรึกษากับน้องๆ แบบ 1:1 ในวันที่ 28 เมษายน 2024 ตั้งแต่ 13.00-17.00 น.  และห้ามพลาดไฮไลต์อีกมากมายในงานนี้ค่ะ

เว็บไซต์งานแฟร์ต่อนอก
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น