สวิตช์จากโหมดทำงาน สู่เส้นทางเด็กทุน ก.พ. ต่อโทที่เนเธอร์แลนด์ @ ISS Erasmus อันดับ 2 สายสังคมฯ ของประเทศ!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D  สำหรับใครที่เรียนจบ ทำงาน แต่หัวใจยังบอกว่ามีด้านที่อยากเรียนต่ออยู่นะ! อย่าเพิ่งหมดกำลังใจหรือคิดว่าจะสายเกินไปค่ะ วันนี้เราจะมีรีวิวจาก  “พี่ปราง – ชมปรางค์ วงศ์รัศมีเดือน” รุ่นพี่บัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ ม.ธรรมศาสตร์​ ที่เดินตามแพสชันสมัครทุนรัฐบาลไทย (ก.พ.) ไปเรียนต่อ ป.โท Economics of Development ที่ ISS Erasmus University Rotterdam  ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้าน Social Sciences & Management อันดับ 2 ของเนเธอร์แลนด์ และอันดับ 48 ของโลก *อ้างอิง QS by Subjects 2024 

ก่อนไปเรียน พี่ปรางมีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว โดยเป็นรุ่นที่เค้าเริ่มทดลองใช้ระบบที่นักเรียนทุน ก.พ.จะต้องเข้าไปทำงานราชการในสังกัดนั้นๆ ก่อน 1 ปีก่อนเรียน ปัจจุบันพี่ปรางจบ ป.โท แล้วและกำลังทำงานที่ "สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน" (สตง.) ซึ่งเป็นหน่วยทุนต้นสังกัดค่ะ ใครกำลังหาอ่านรีวิวสมัครทุน ก.พ., เรียนต่อ, ฝึกงาน ไปจนถึงชีวิตการทำงานราชการที่มีทั้งข้อดีและข้อจำกัดบางอย่าง ห้ามพลาดเรื่อวราวต่อไปนี้!

Note: อ่านจบอยากพูดคุยและปรึกษารุ่นพี่ทุนตัวจริง 1:1 ข่าวดีคือ “พี่ปราง" ให้เกียรติตอบรับคำเชิญมาประจำบูธงาน Dek-D’s Study Abroad Fair รอบเมษายน 2024 ด้วยนะคะ (พบพี่ปรางได้ในวันเสาร์ที่ 27 เม.ย. 2024) เช็กตารางรุ่นพี่และไฮไลต์ทั้งหมดที่นี่ >> https://www.dek-d.com/studyabroadfair 

. . . . . . . . .

รีวิวย่อๆ กว่าจะติดทุน ก.พ. 
และเลือกเรียนต่อเนเธอร์แลนด์

เมื่อชีวิตเจอจังหวะตกหลุมรักยุโรป!

จุดเริ่มต้นคือตอนปี 3 เคยไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยในออสเตรีย แล้วได้เที่ยวพ่วงรวมๆ 10 กว่า ประเทศ ชอบมากๆ และตั้งใจไว้ว่าจะกลับมาเรียนที่ยุโรปอีกให้ได้ค่ะ ก็เลยเป็นแรงผลักดันในการสมัครทุน ก.พ. เน้นมองหาโปรแกรมที่สอดคล้องกับ background และตรงความสนใจของเรา

อีกอย่างคือเราหลังจบ ป.ตรี เราสมัครเป็นครูในโครงการ Teach for Thailand ไปสอนในโรงเรียนจริงๆ 2 ปี  แล้วทำให้เราเห็นปัญหาในชุมชนที่ยังรอรับการแก้ไข  เป็นการปลูกฝังความคิดอยากสร้าง impact ให้กับสังคมมากขึ้นไปอีก  แล้วพอดีปีนั้น ทุน ก.พ เปิดรับคนสนใจเรียนต่อสาขา Economic Development แล้วบรรจุเข้าสังกัดสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)  ก็เลยตัดสินใจลองสมัครไปค่ะ 

สำหรับทุน ก.พ. นี้จะครอบคลุมตั้งแต่ค่าใช้จ่ายเตรียมตัวก่อนเดินทาง, ค่าคอมพิวเตอร์, ค่าตั๋วเครื่องบินไป – กลับ, ค่าเทอม/ค่าหนังสือ/อุปกรณ์การเรียน, ค่าใช้จ่ายระหว่างศึกษา ได้แก่ ที่พัก อาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย  

แชร์กระบวนการสมัครทุน ก.พ. และสมัครเรียนคร่าวๆ

เริ่มมาถึงคือต้องเช็กระเบียบการอย่างละเอียด เขาจะประกาศสาขาและประเทศ (ชื่อวิชาต้องตรงหรือใกล้เคียงกัน) และระบุว่าเป็นความต้องการของสังกัดไหน ต้องศึกษาอย่างละเอียดเพราะเป็นทุนที่มีข้อผูกพัน หลังเรียนจบต้องกลับมาบรรจุในหน่วยงานนั้นๆ 2 เท่าจากเวลาที่ไปเรียน 

ตอนนั้นเราสมัครสาขา Development Economics   และอยากเรียนต่อยุโรป เราก็นั่งหาข้อมูลว่าที่ไหนเปิดสอนและมีเก่งด้านนี้บ้าง ยื่นไปหลายที่แล้วได้รับการตอบรับเข้าเรียน 3 แห่ง สุดท้ายเลือกสาขา Development Studieis เมเจอร์  Economic of Development หรือเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ที่ ISS Erasmus University Rotterdam ที่เนเธอร์แลนด์ เพราะโครงสร้างหลักสูตรน่าสนใจ มีชื่อเสียงด้านที่เราจะเรียน และใช้เวลาเรียนแค่ 15 เดือนกำลังดี

[Blog] รีวิวสมัครเรียน ป.โท MA สาขา Economics of Development  แบบละเอียดยิบ by พี่ปรางเอง   https://prangwjourney.wordpress.com

. . . . . . . . .

บินลัดฟ้าสู่สถาบันดังของเนเธอร์แลนด์
@ Erasmus University Rotterdam

 ถ้าพูดชื่อ  "Erasmus University Rotterdam" คนยุโรปรวมถึงคนเนเธอร์แลนด์ต้องรู้จักแน่นอน เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่ดังและใหญ่มากกก เพียงแต่โปรแกรมเราเรียนที่แคมปัสที่กรุงเฮก (The Hague) ไม่ใช่รอตเตอร์ดัม (Rotterdam)  

นักเรียนไทยหนึ่งเดียวในคลาส

ตอนนั้นที่เลือกเรียนต่อ ป.โท ต่างประเทศ เพราะอยากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้เจอคนต่างชาติเยอะๆ จะได้บังคับให้ตัวเองได้พูดภาษาอังกฤษและเรียนรู้วัฒนธรรมอื่นนอกเหนือจากของไทยบ้าง  พอไปถึงคือสมใจเลยค่ะ! 5555 เราเรียนโปรแกรม Erasmus+ ที่รวมคนจากทุกมุมโลก รับประเทศละไม่กี่คนเท่านั้น เพื่อนที่เยอะสุดคือกลุ่มลาตินอเมริกา (พูดสเปน) โคลัมเบีย ชิลี เปรู บราซิล อินโดนีเซีย ฯลฯ พอกระจายประเทศกันก็จะไม่มีการเกาะกลุ่ม ไม่มีใครต้องรู้สึกตัวเองแปลกแยก

เอาจริงๆ รู้สึกเหงาบ้างนิดหน่อย เพราะคนไทยยูนีคมาก ตอนรุ่นเราปรางหาจุดร่วมเรื่องวัฒนธรรม ภาษา หรือศาสนา ฯลฯ กับเพื่อนๆ ในคลาสไม่ได้เลย แต่ถึงยังไงก็คุยกับทุกคนได้ค่ะ

เรียนอะไรบ้าง

 ถ้าแปลตรงตัวก็คือ "เศรษฐศาสตร์แห่งการพัฒนา" คนที่เรียนก็จะมาจากประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งอาจมีประเด็นสังคมในด้านที่ตัวเองสนใจและต้องการผลักดัน เช่น การเกษตร (Agricultrue), ความเป็นธรรมทางสังคม (Social Justice),  การขับเคลื่อนโดยใช้คนเป็นศูนย์กลาง (Human Driven), เศรษฐกิจ (Economics), ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality),  แนวคิดทุนนิยม (Capitalism) เป็นต้น 

เพื่อนมาจากแวดวงสังคมศาสตร์ กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ วารสารศาสตร์  มีคนที่อยากทำ NGO, UN หรืองานสายนโยบายที่ขับเคลื่อนในวงกว้าง กิจการเพื่อสังคมของภาครัฐ นักขับเคลื่อน  หรืออาจารย์ก็มีค่ะ ซึ่งพอเพื่อนในคลาสหลากหลายยิ่งเจ๋ง เพราะเราจะได้เรียนกรณีศึกษา (Case Studies)  จากทั่วโลก ได้ฟังข้อดี-ข้อเสีย เปิดหูเปิดตากับมุมมองที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่เคยมีประสบการณ์ร่วมมาก่อน สมมตินักเรียนไทยอย่างเราไม่ค่อยได้เรียนประวัติศาสตร์ลาตินอเมริกาแบบลงลึก พอมาที่นี่ทั้งได้เรียนและอัปเดตข่าวจากเพื่อนแบบวงใน

และไม่ว่าจะตอนเรียนหรือนอกคลาส หัวข้อการเมืองและข่าวคือสิ่งที่เพื่อนคุยกันเป็นปกติ เขาตามข่าวกันตลอดเวลา และมีแพสชันเรื่องที่สนใจมากๆ หลายครั้งที่เพื่อนจุดประกายให้เราอยากไปอ่านเรื่องนั้นลึกขึ้น เช่น ประเด็นอิสราเอล vs. ปาเลสไตน์ เพื่อนๆ หลายคนเป็น Activist (=นักขับเคลื่อน) ที่เป็นกระบอกเสียงให้คนปาเลสไตน์  ทำให้เรามีโอกาสฟังเรื่องมุมนี้แบบลึกซึ้งขึ้น พอสนใจก็ไปย้อนอ่านประวัติศาสตร์ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมเขาถึงเริ่มขัดแย้งกัน หรือบางคนก็สนใจประเด็น จีน vs. รัสเซีย ก็มาแชร์ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง

ส่วนเราซึ่งเป็นคนไทยคนเดียวก็สบายใจมากๆ ที่จะแชร์และถามมุมมองทางวิชาการจากคนอื่นๆ ตอน Debate ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ถกกันเดือดในคลาส แต่นอกเวลาเรียนทุกคนคือเพื่อนกันเหมือนเดิม ไม่มีผิดใจจากสิ่งที่แชร์ในคลาสค่ะ พี่บอกเพื่อนเลยว่าไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนานะ แต่เป็นทุนนิยม เน้นทำงานหาเงิน แต่ก็อยากสร้างผลกระทบดีๆ ให้กับสังคมประเทศของเรา

ยกตัวอย่างวิชาเรียน

โปรแกรมเศรษฐศาสตร์พัฒนาที่เราเรียน เป็นหลักสูตรปีครึ่ง (15.5 เดือน)  แบ่งเป็น Coursework 40 สัปดาห์ (60 หน่วยกิต) และทำวิจัยอีก 25 สัปดาห์ (28 หน่วยกิต)  และต่างจากเมเจอร์อื่นๆ คือเป็น Lecture-based 

การเรียนไม่ได้เน้นเศรษฐศาสตร์จุลภาค/มหภาค แต่จะประยุกต์ความรู้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) เช่น ทำยังไงให้ประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถเติบโตทันประเทศอื่น,  ความยากจนทางเศรษฐกิจมีกี่แบบ, GDP มีความหมายอะไรอีกภายใต้ตัวเลขนั้น, เรียนเรื่องการประเมิน Theory of Change ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง วัดประเมินผลและกำหนด KPI ยังไงบ้าง  ต่างจากเมเจอร์อื่นตรงที่เรียนเลขเยอะ ตั้งอยู่บนพื้นฐานคณิตศาสตร์ จับต้องได้ 

เพื่อให้เห็นภาพ ตัวอย่างวิชาที่เราลงเรียนไปคือ Econometrics, Development Policies, Project and Program Evaluation, Economic Growth ฯลฯ แล้วเทอมแรก จะมีวิชาบังคับที่เด็กทุกเมเจอร์ MA in Development Studies ต้องลง (ข้อมูลในตารางด้านล่างนี้อัปเดตจาก Academic Calendar 2023/24 ล่าสุดค่ะ)

Economics• Introduction to Economic Theories
• Development Economics
• Regression and Data Analysis
Sociology• Sociology at Work
• Contemporary Social Theory
Political Science• Politics of Modern Development — Decolonizing Power
• Politics, Power and Development

บางวิชาวิธีสอนน่าสนใจมากๆ เลยค่ะ เช่น The Making of Developments เรียนวีคละ 2 ครั้ง เริ่มจากดิสคัสในกลุ่มย่อยเกี่ยวกับประเด็นสังคมที่เกิดขึ้น อย่าง Climate Change ฯลฯ โดยจะมี Facilitator (เป็นกลาง) โดยคนในกลุ่มต้องอ่านเปเปอร์มาล่วงหน้าเพื่อดิสคัส แล้วพอจบเซสชันเล็ก ทุกคนก็ต้องร่วมกันคิดคำถามขึ้นมา (ต้องเป็นสิ่งที่คิดกันมาดีแล้ว)  อีกวันมาอภิปรายกันในห้องใหญ่ที่รวมคนทั้งรุ่นค่ะ Facilities จะรวบรวมคำถามจากทุกกลุ่มมาโชว์บนจอ อาจารย์ก็จะตอบคำถาม ถ้าใครไม่เห็นด้วยสามารถยกมือถามหรือแสดงความคิดเห็นได้

Foodhallen, Rotterdam, Netherlands
Foodhallen, Rotterdam, Netherlands
Photo by Mike van den Bos on Unsplash

เดือดสุดในชีวิต ป.โท คือช่วงไหน

แน่นอนว่าคือตอนทำ Thesis ค่ะ 55555 เราเองเน้นหัวข้อที่สนใจและมั่นใจว่าตัวเองจะสามารถหาข้อมูลได้ สุดท้ายเลือกทำแนวปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณภาครัฐด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานในแต่ละปีค่ะ

Academic Calendar 2023/24

. . . . . . . . .

การฝึกงานที่ไม่ได้บังคับ
แต่ได้ปรับใช้เต็มๆ แบบไม่น่าเชื่อ

โปรแกรมพี่ไม่ได้บังคับฝึกงานถึงจบได้ แต่พี่ไปฝึกเพื่อหาประสบการณ์ อยากเห็นว่าองค์กรด้านนี้ที่ต่างประเทศทำงานยังไงบ้าง ตอนนั้นก็เริ่มจากหาใมน LinkedIn ลองยื่นฝึกหลายที่ แต่สุดท้ายได้ที่ FMO: Dutch Entrepreneurial Development Bank ธนาคารของเนเธอร์แลนด์ที่เน้นลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ  

ตอนฝึกงานเราได้อ่านรายงานความยั่งยืนประจำปี Annual Report ทั้งเล่ม เข้าใจพันธกิจ  วิสัยทัศน์ การกำหนดนโยบาย และเกิดเป็นการดำเนินการรูปแบบไหนบ้าง ได้เห็นพอร์ตการลงทุนว่า ลงทุนที่ไหน ลงทุนอย่างไร ลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร เห็นภาพรวมว่าองค์กรนึงสามารถเติบโตไปพร้อมกับการสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคมได้

เราไปถึงเริ่มเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด ความบังเอิญที่ลงตัวมากคือหลังจากออกมาทำงานที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หรือ  State Audit Office of the Kingdom of Thailand (SAO)  มีงานให้เราทำเรื่อง Sustainablity Report พอดี!! ตอนนี้เป็นประเด็นที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ แล้วหน้าที่ของ สตง. ก็คือการไปตรวจรายงาานประจำปีของหน่วยงานรัฐ และจัดทำรายงานความยั่งยืนขึ้นมาเพื่อเป็น Role Model ส่วนนี้ต้องประยุกต์จากมาตรฐานของภาคเอกชนด้วย

แล้วพอหัวหน้าพี่เห็นว่าเราเคยฝึกงานด้านนี้ ก็เลยส่งเราไปประชุมกับหน่วยงานตรวจเงินแผ่นดินระดับโลก ดีใจที่ได้รับโอกาสนี้ แต่ก็มีความท้าทายอย่างยิ่ง ตอนไปถึงคืออายุน้อยที่สุดในงานนั้นเลยค่ะ 55555

จริงๆ ตั้งแต่กลับจากเรียน เคยไปทำงานมาทั้งที่ โมร็อกโก (Morocco), คาซัคสถาน (Kazakhstan) และฟินแลนด์ แต่ต้องบอกว่าเครียดมากกกไม่ได้เหมือนกับการไปเที่ยว แต่ในขณะเดียวกันคือรู้สึกดีใจที่ได้โอกาสไปทำงานและเปิดโลกแบบที่คาดไม่ถึงมาก่อนค่ะ

. . . . . . . . .

รีวิวชีวิตความเป็นอยู่
ฉบับนักเรียนไทยในเนเธอร์แลนด์ 

1. เนเธอร์แลนด์แดน Freedom

เนเธอร์แลนด์มีอิสระในการแสดงความคิดเห็น เกิดการประท้วงขึ้นบ่อย ที่พีคคือสมมติเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับประเทศของใคร เพื่อนก็มีช่วยกันทำป้ายไปร่วมยืนประท้วงหน้าสถานทูตด้วย  เหตุผลเพราะเขามองในมุมใหญ่ว่ามันเกี่ยวกับ "หลักการ" มากกว่า "ประเทศ" ไม่ว่าผู้ที่ทำผิดหลักการจะเป็นประเทศตัวเองหรือไม่ เขาก็อยากมามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

การประท้วงที่นี่ไม่อันตราย ประเทศเขาสนับสนุนให้คนแสดงออกอยู่แล้ว มีจัดพื้นที่ให้คนประท้วงโดยเฉพาะอย่างที่ "จัตุรัสดัมสแควร์" (Dam Square) เมืองอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) สมมติมีประเด็นปัญหาเกิดขึ้น เช่น Climate Change จะมีประกาศและให้คนรู้ว่าถ้าจะเข้าร่วมต้องไปที่ไหน และมีกำหนดโซนว่าห้ามออกจากพื้นที่ตรงนี้   ต้องเคารพกฎอย่างเคร่งครัดค่ะ 

ทั้งนี้ทั้งนั้น การประท้วงที่เนเธอร์แลนด์ไม่ได้สูญเปล่า เพราะผูัที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้รับทราบปัญหาและ take action  ไม่ได้ถูกเพิกเฉยนะคะ

2. ปรับตัวเรื่องสภาพอากาศ

ส่วนตัวชอบหนาวมากกว่าร้อน ก็เลยชอบอากาศที่เนเธอร์แลนด์มากกว่า แต่ช่วงแรกต้องปรับตัวกับสภาพอากาศ โดยรวมทะมึนๆ ไม่ค่อยมีแสงแดด (ยิ่งช่วงหน้าหนาวอาจมืดตั้งแต่ 4:00PM) จะมีบางช่วงแปรปรวนมาก เดี๋ยวครึ้ม  เดี๋ยวฝนตก อาจเจอตก 5 นาทีหยุด เก็บร่มปุ๊บตกใหม่อีกรอบค่ะ  // คนเนเธอร์แลนด์สามารถขี่จักรยานได้ทุกสภาพอากาศ แต่แนะนำให้เช็กอากาศก่อนออกจากบ้านนะคะ

 3. ภูมิประเทศเอื้อให้เรา enjoy กับธรรมชาติ 

มีความหลากหลายและช่วยให้ก้าวผ่านช่วงชีวิตที่เหนื่อยและเครียดได้อย่างแท้จริง ใกล้ป่า ใกล้ชายหาด เครียดเมื่อไหร่เดินเข้าป่าหรือชวนเพื่อนไปปิกนิกได้ แถมเข้าป่ายังมีบึงและมีทะเลสาบอยู่ตรงกลางด้วย  

ด้วยความที่เป็นประเทศเล็ก ทุกอย่างเลยเชื่อมต่อกันหมด คนเชื่อมต่อกับธรรมชาติ ธรรมชาติเชื่อมกับเมือง และเชื่อมกับวัฒนธรรม เราอยู่หอนักศึกษาที่เดิน 10 นาทีถึงใจกลางเมือง  พวกแกลเลอรีหรือพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทุกอย่างก็จะกระจุกตัวอยู่ที่นี่ สมมติวันเสาร์-อาทิตย์เราอยากไปเมืองใกล้ๆ ก็นั่งรถไฟไปได้ หรือ นั่งรถไฟแค่ 10 นาทีก็ถึงเมืองข้างๆ ไม่ต้องเสียเวลากับเรื่องรถติดบนถนน

Rotterdam Centraal Station, Rotterdam, Netherlands
Rotterdam Centraal Station, Rotterdam, Netherlands
Photo by Jurriaan on Unsplash

. . . . . . . . .

ห้ามพลาด!! 
รีวิวเรื่องน่าสนใจรออยู่อีกเยอะมาก

ตอนแรกพี่ก็เริ่มดูก่อนว่ามีแพลตฟอร์มไหนฮิตบ้าง อยากแชร์เรื่องราวเป็นวิทยาทานเผื่อมีคนกำลังหาอ่านอยู่ค่ะ ตอนแรกทำบล็อก  https://prangwjourney.wordpress.com/ แล้วย้ายมาที่ Lemon8 รู้สึกว่าโพสต์ได้ง่าย ก็เลยรีวิวที่ที่เคยไปบ้าง ทุกเรื่องผ่านการคัดสรรมาแล้วว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีค่ะ  ใครสนใจลองขอเชิญ prangwong  ได้นะคะ ยินดีต้อนรับบบ <3

เข้าชม Lemon8 พี่ปรางที่นี่

ข้อมูลประกอบ

บทสัมภาษณ์พี่ปรางบน Dek-D

. . . . . . . . .

You’re Invited!
อยากปรึกษา 1:1 กับพี่ปรางตัวจริง
พบกันที่ไบเทคบางนา 27 เม.ย. 2024

รอบนี้พิเศษมากก!! Dek-D’s Study Abroad Fair ได้รับเกียรติจากรุ่นพี่นักเรียนทุนและจบนอกจากประเทศยอดนิยมตอบรับคำเชิญมาประจำบูธใหญ่ของพวกเรา เพื่อให้น้องๆ และผู้ปกครองในงานสามารถ Walk-in ปรึกษาได้ตัวต่อตัว ไม่ว่าจะเป็น รุ่นพี่ทุน Erasmus+ (ยุโรปและอเมริกา), Fulbright (อเมริกา), Chevening (สหราชอาณาจักร), DAAD (เยอรมนี), Franco-Thai (ฝรั่งเศส), ทุนรัฐบาลอิตาลี, จีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน (ICDF), ทุนรัฐบาลไทย (ก.พ./UiS) รวมถึงรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยในสกอตแลนด์และออสเตรเลียก็มาด้วยนะ!

"พี่ปราง" จะสแตนด์บายที่บูธปรึกษากับน้องๆ แบบ 1:1 ในวันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2024 และห้ามพลาดไฮไลต์อีกมากมายในงานนี้ค่ะ

เว็บไซต์งานแฟร์ต่อนอก

 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น