เมื่อครั้งหนึ่งไปเป็นลูกเรือ ‘โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์’ ไปฟรี ดีย์ต่อใจ เต็มสิบไม่หัก! (SSEAYP #47)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D เนื่องจากโครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์” (Ship for Southeast Asian and Japanese Youth Program) ครั้งที่ 48 ประจำปี 2567 กำลังเปิดรับสมัครจนถึง 22 เมษายน 2567 ก่อนหน้านี้เรามีโอกาสได้ฟังประสบการณ์ส่งตรงจาก “พี่มอมแมม – ณัฐพร อุณหบัณฑิต” เด็กโครงการเรือเยาวชนอาคเนย์รุ่น 47 ก็เลยรีบมาบอกต่อความดีงามให้น้องๆ รู้ว่า โครงการนี้ทำถึงสุดๆ! แลกเปลี่ยนฟรี ดูแลดีเวอร์

และแม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะทำให้รุ่น 47 ได้ไปประเทศเดียวคือญี่ปุ่น แต่ก็ยังเจอประสบการณ์ที่คุ้มค่าสุดๆ แล้วรุ่น 48 ที่กำลังเปิดรับสมัคร ได้ไปเยือนทั้งญี่ปุ่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย จะมันส์ขนาดไหน? ใครอ่านรีวิวนี้จบแล้วเช็กคุณสมบัติว่าผ่านเกณฑ์ อยากส่งใบสมัครไปพิสูจน์ว่าจะคุ้มค่าจริงมั้ย ตอนนี้ยังทันนะคะ~ 

ถ้าพร้อมแล้วตามมาขึ้นเรือเก็บข้อมูลเตรียมสมัครด้วยกันเลยค่าา

TPY.sseayp [FB]
TPY.sseayp [FB]  

. . . . . . . . .

ก่อนอื่นมาอ่านโพสต์ประกาศรับสมัครของปีนี้กัน //  พี่มอมแมมเป็นผู้จัดทำเนื้อหาและ Artwork บนเพจ TPY ของรุ่นและโปสเตอร์การรับสมัครรุ่น 48 เลย สวยปังมากกก!

. . . . . . .

1
เท้าความประสบการณ์พี่มอมแมม
ช่วงก่อนสมัครโครงการเรือฯ

สวัสดีค่า ชื่อ “พี่มอมแมม” นะคะ เรียนจบ ป.ตรี จากคณะ Modern Trade Business Management ภาคอินเตอร์ของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และได้ทุนรัฐบาลไต้หวัน MOE ไปเรียนจบโทด้าน HR ที่ National Taiwan Normal University หรือ Shīdà 師大 (NTNU) ค่ะ ใครสนใจอยากเรียนต่อไต้หวัน ลองแวะไปอ่านรีวิวพาร์ตแรกได้ค่ะ >> https://www.dek-d.com/studyabroad/62293/  

ก่อนหน้านี้แมมเคยเข้าร่วมหลายกิจกรรม เช่น

  • โครงการ JENESYS ประเทศญี่ปุ่น
  • เป็นตัวแทนประเทศ (Ambassador) เข้าร่วมงาน EXPO 2020 Dubai ประเทศดูไบ
  • Workshop ค่าย Youth Istanbul Project ประเทศตุรกี
  • โครงการ YSEALI Academy: Creative AI and Cultural Influence จากทาง Fulbright University Vietnam กิจกรรม on-site 7 วัน
  • อื่นๆ เช่น เคยเป็นตัวแทนไปเล่าเกี่ยวกับการเรียน Work-based Education ให้กับหน่วยงานการศึกษาด้านอาชีวะที่ประเทศนิวซีแลนด์  หรือการพูดเรื่อง Global Citizen ให้กับมหาวิทยาลัยในเวียดนาม

แนะนำว่าถ้าในอนาคตน้องๆ ตั้งใจจะสมัครทุนหรือโครงการไหน ให้คอยโน้ตว่าโครงการหรือทุนอะไรเปิดช่วงไหนบ้าง -> วางแผน timeline การเตรียมตัว -> บิ๊วพอร์ตให้ตรงกับ Core Value ของโครงการนั้น และทุกครั้งที่ไปเข้าร่วม เรามานั่งตกผลึกว่าอะไรคือสิ่งที่ได้กลับมา เช่น ไปสังเกตวัฒนธรรมการใช้ชีวิต การเรียน ฯลฯ จะช่วยให้เราปรับตัวได้กับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ได้ดีขึ้น

. . . . . . .

2
สมัครแล้ววืด แต่อย่าเพิ่งนอยด์
จังหวะชีวิตสำคัญมาก

แมมรู้จักโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2 สมัครติดสำรอง แต่ความโหดคือถึงจะติดสำรองหรือตัวจริง ก็ต้องเข้าค่าย 10 วันเป็นหนึ่งในกระบวนการคัดเลือก ซึ่งตอนนั้นถ้าเกิดแมมเข้าค่าย จะต้องซ้ำชั้นมหาวิทยาลัยที่กำลังเรียนด้วย ก็เลยฮึบ! โอเค เก็บไว้ใจก่อน รอตอนพร้อมจริงๆ แล้วในที่สุดตอนปี 2023 แมมเรียนจบจากไต้หวันกลับมาทำงานที่ไทย มีเวลาไปโครงการเรือแล้วค่ะ แถมคราวนี้ติดตัวจริงด้วย~

โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ (Ship for Southeast Asian and Japanese Youth Program) ครั้งที่ 47 ประจำปี 2566 ผู้เข้าร่วมจะได้แลกเปลี่ยนระยะสั้นในฐานะทูตเยาวชนเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ พร้อมสร้างเครือข่ายร่วมกับเพื่อนๆ จากภูมิภาคอาเซียนและประเทศญี่ปุ่น

ปกติโครงการนี้จะเป็นการนั่งเรือ 50 วันไป 4 ประเทศในอาเซียน เช่น ไปสิงคโปร์ อยู่ที่นั่น 4 วัน ตามด้วยประเทศอื่น และปิดท้ายที่ประเทศญี่ปุ่นค่ะ แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ปีของแมมเป็นกิจกรรมออนไลน์และไปที่ "ญี่ปุ่น" ประเทศเดียว

. . . . . . .

3
การคัดเลือกจะมี 3 ด่าน
เตรียมตัวยังไงดี?

Note: 

  • รีวิวจากประสบการณ์ส่วนตัว และอ้างอิงจากกระบวนการคัดเลือกของรุ่นแมม ซึ่งรายละเอียดกิจกรรมต่างจากปีนี้พอสมควร ศึกษารายละเอียดปีที่สมัครให้ดี
  • โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์” (Ship for Southeast Asian and Japanese Youth Program) ครั้งที่ 48 ประจำปี 2567 ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.dek-d.com/studyabroad/64291
  • สำหรับโพสต์เฟซบุ๊กด้านล่างนี้คือประกาศรับสมัครของรุ่น 47 ค่ะ

ด่านแรก Essay + VDO

ด่านแรกสุดคือเขียน Essay และทำคลิปวิดีโอนำเสนอความสามารถพิเศษ (ความยาว 3 นาที) ตอนนั้นแมมโชว์ความสามารถในการจดประชุมแบบ Real-time ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับช่วง Discussion  *หากครบ 200 ใบสมัครแล้วโครงการจะปิดทันที ใครสนใจต้องรีบสมัครนะคะ

Tips

  • 1 นาทีแรก แนะนำตัวว่าเราคือใคร *เปิดให้ปัง แต่งกลอน ขับเสภาอะไรได้ก็ทำไปเลย เล่นให้ใหญ่เข้าไว้ค่ะ!! 55555
  • 1 นาทีต่อมา เล่าถึงสตอรี่ความสนใจในตัวโครงการ อะไรทำให้เรามาสมัคร ตั้งใจจะทำอะไรบ้าง คาดหวังอะไรจากโครงการนี้
  • 1 นาทีสุดท้าย โชว์ความสามารถพิเศษ และพ่วงปิดท้ายว่าทำไมเราถึงควรได้รับเลือก

ด่านต่อมาคือเข้าค่าย 2 วัน

โครงการจะคัดเลือกจากรอบแรกเหลือ 40 คน แล้วมาเข้าค่ายด้วยกัน โดยปีของแมมเข้าค่าย 2 วัน ครึ่งเช้าได้รู้จักที่มาที่ไปของโครงการ สิ่งที่รุ่นพี่เคยทำ ฯลฯ ครึ่งบ่ายทำกิจกรรมกลุ่มวน 4 ฐาน และจะมีตัวย่อที่เราต้องรู้เยอะมากกกเพราะต้องเจอจนถึงตอนไปค่าย แมมขออธิบายตัวย่อพร้อมกับรีวิวไปด้วยเลย

ฐานที่ 1 Discussion Group (ตัวย่อคือ “DG”) อภิปรายกลุ่มเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SGDs) แต่ละปีโครงการจะมีลิสต์มาให้ประมาณ 8-10 หัวข้อ แต่ปีของแมมมี 5 หัวข้อคือ

  • การศึกษาที่มีคุณภาพ (Quality Education)
  • ความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมพลังสตรี (Gender Equality and Women's Empowerment)
  • พลังงาน มาตรการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมที่มุ่งเน้นการรีไซเคิล (Energy, Climate Change Measures, Recycling-Oriented Society)
  • การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (Economic Growth and Sustainable Cities and Communities)
  • สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being)

คำถามที่แมมเจอคือเราคิดว่าประเด็นไหนสำคัญที่สุด โดยให้กระดาษเรามาจด 1 นาที และลุกขึ้นพูด 2 นาที แนะนำว่าก่อนไปค่ายให้ทำความเข้าใจเรื่อง SDGs มาอย่างดีมากๆ เก็งมาให้ครบทุกหัวข้อเลย แต่ควรมีอย่างน้อย 1 หัวข้อเป็นไม้ตายที่เราแม่นสุด

SDGs (Sustainable Development Goals) คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาของโลก ที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) กําหนดขึ้น เพื่อให้ประชาคมโลกตกลงร่วมกัน โดยมีเป้าหมาย 17 ข้อ เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เช่น ความยากจน ความไม่เท่าเทียม สภาวะโลกร้อน ความเหลื่อมล้ำ ความสันติสุข เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะทำสำเร็จได้ภายในปี 2030 อ่านต่อได้ที่ https://www.dek-d.com/studyabroad/52771 

ฐานที่ 2 Post Program Activity (ตัวย่อคือ “PPA”) แบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม นำเสนอโครงการเพื่อสังคมที่เราอยากทำหลังจากกลับจากค่ายนี้ สิ่งที่วัดได้จากฐานนี้คือ Soft Skills อย่างทักษะการทำงานเป็นทีม การนำเสนอ การแจกจ่ายงาน วิธีการสื่อสาร ฯลฯ

ฐานที่ 3 คุมสอบโดยรุ่นพี่ที่เป็นนักการทูต เขาจะแจกโจทย์ให้จับคู่ 2 คน ยืนข้างหน้า มีป้ายชี้ข้างบนว่าเราได้หัวข้ออะไร จากนั้นไม่ได้พูดนำเสนอ แต่รับบทเหมือนเป็นพิธีกรชวนคุย สิ่งที่เขาต้องการดูคือเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ และวิธีการพูดของเราว่าดูเป็นมืออาชีพขนาดไหน

ฐานที่ 4 มีเกมให้เล่นเป็นแนวจิตวิทยา ทดสอบความเชื่อใจกันภายในกลุ่มและทักษะการโน้มน้าวใจ แมมแนะนำให้แสดงความคิดเห็นของตัวเองออกไป แต่ต้องไม่ลืมว่าเราอยู่บนพื้นฐานของข้อตกลงร่วมกับผู้อื่นด้วย

หลังจบคัดเลือกจะมีรุ่นพี่ SSEAYP และสะท้อนประสบการณ์ที่ได้รับจากโครงการ แล้วจะมีช่วงนึงที่พี่ข้าราชการมาเล่าให้ฟังว่าประเทศไทยมีการดำเนินการเรื่อง SDGs มากน้อยแค่ไหน อย่างไรบ้าง **เราจะใช้ข้อมูลนี้เพื่อตอบคำถามตอนสัมภาษณ์ช่วงบ่าย ประกอบกับสิ่งที่เราเตรียมทำการบ้านมาก่อนเข้าค่าย

ปิดท้ายด้วยการสัมภาษณ์

ส่วนตัวคิดว่าไม่ยาก แต่ต้องเตรียมตัวมาดีๆ กรรมการที่สัมภาษณ์เรามีหลายคน เช่น รุ่นพี่โครงการเรือรุ่นก่อนๆ ที่เป็น National Leader (ตัวย่อคือ “NL”), หัวหน้าสมาคมเรือ ฯลฯ สิ่งที่เขาต้องการวัดคือเรารู้อะไรเกี่ยวกับอาเซียนและญี่ปุ่นบ้าง, ทำไมถึงอยากไป (โชว์ไฟในนัยน์ตาของเราออกไปค่ะ!) และโชว์ความสามารถพิเศษ ตอนนั้นแมมจัด Rap ไปหนึ่งค่าา 5555

และแล้วก็ถึงเวลาประกาศผล

  • ปีแมมผลออกประมาณ 2 สัปดาห์หลังค่าย โดยจะประกาศทั้งตัวจริงและตัวสำรอง
  • ก่อนเริ่มกิจกรรมประมาณ 1 สัปดาห์ เราจะได้รู้ว่าพักที่ไหน ทำกิจกรรมอะไรช่วงไหนบ้าง + มีข้อมูลจากรุ่นพี่ที่แชร์ต่อมาด้วย ทำให้เตรียมตัวได้ดีขึ้น

. . . . . . .

4
ทุกคนบนเรือ = ตัวแทนประเทศ

สุดท้ายแล้วคนที่ผ่านการคัดเลือกและได้มาอยู่บนเรือ จะมีดังนี้

  • เยาวชนจากประเทศในภูมิภาคอาเซียน จำนวน 90 คน (ประเทศละ 10 คน)
  • เยาวชนจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 20 คน
  • หัวหน้าคณะผู้แทนเยาวชน (NL) จำนวน 10 คน *ประเทศละ 1 คน

เพื่อนในรุ่นแมมมาจาก background หลากหลายมาก มีทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ นักสังคม นักเรียน หลายคนเคยเข้าร่วมโครงการอื่นมาแล้ว เช่น YSEALI หรือ ASEAN Foundation แต่จุดร่วมที่แต่ละคนมี แมมสังเกตว่าเขาจะกล้าพูดกล้าแสดงออกมากๆ 

**เสริมเรื่องตัวย่อต่อมาที่ควรรู้จัก คือ Participant Youth หรือ “PY” ถ้าเป็นคนไทยก็ TPY ส่วนชาติอื่นๆ ก็อาจจะ LPY (ลาว), MAPY (มาเลเซีย), MYPY (เมียนมาร์) เป็นต้นค่ะ

. . . . . . .

5
กิจกรรมออนไลน์ 2 วัน
เจอเพื่อนครั้งแรก & วางตำแหน่งในรุ่น

ก่อนไปญี่ปุ่น รุ่นของแมมจะได้ทำกิจกรรมออนไลน์ร่วมกันวันที่ 12 และ 19 พ.ย. 66 (2 วัน) ช่วงนี้คือการเจอเพื่อนๆ ครั้งแรก แล้วเขาจะแบ่งกลุ่มตามหัวข้อ DG หรือ Discussion Group เช่น แมมอยู่ในกลุ่ม DG “การเติบโตทางเศรษฐกิจและชุมชนยั่งยืน” (Economic Growth and Sustainable Community)

กลุ่ม DG มาจากไหน? โครงการจะมีลิสต์มาให้เราเลือก 3 อันดับ ตั้งแต่ตอนกรอกแบบฟอร์มสมัคร SSEAYP เลย // ก่อนวันค่ายแมมอ่านนโยบายประเทศไปเยอะเป็นความรู้ติดตัว พอถึงเวลาทำกิจกรรม เยาวชนแต่ละประเทศจะมีความรู้มาแชร์กันแบบลึกและกว้าง รวมถึงนำเสนอเรื่องชูโรงของประเทศตัวเองด้วย

Note: ประเด็นด้านเศรษฐกิจค่อนข้างครอบจักรวาล และเชื่อมโยงไปถึง SGDs ข้ออื่นๆ เช่น ข้อ 8 Decent Work and Economic Growth, ข้อ 9 Industry, Innovation and Infrastructure, ข้อ 11, Sustainable Cities and Communities และข้อ 17 Partnerships to achieve the Goal จากที่แมมสืบค้นมาคือประเทศไทยเตรียมพร้อมกับ SDGs ข้อนี้ไว้เยอะเลยค่ะ!

เริ่มแรกคือสมาคมเรือฯ จะเล่าภารกิจที่ต้องทำทั้งหมด จากนั้นเป็นกิจกรรมให้ทั้ง 10 คนสนิทกันมากขึ้น และคัดเลือกคนที่จะมาเป็นตำแหน่งต่อไปนี้ของรุ่น ให้ฟีลครูประจำชั้น ที่มีหัวหน้าห้อง และรองหัวหน้าดูและเพื่อนๆ ในทีม

  •  Youth Leader หรือ YL
  • Assistant Youth Leader หรือ AYL *เพื่อนๆ โหวตให้แมมเป็นตำแหน่งนี้
  • National Leader หรือ NL 
ถ่ายรูปกับ  Youth Leader (YL) ของปีแมมเองค่า
ถ่ายรูปกับ  Youth Leader (YL) ของปีแมมเองค่า

. . . . . . .

6
ช่วงไปญี่ปุ่น แยกกันไปตามจังหวัด
ตาม Solidarity Group (ตัวย่อ “SG”)

ตัวย่อใหม่มาแล้วค่าาา 5555 บางคนอาจจะสังเกตเห็นจากในโปสเตอร์ข้างบนแล้ว กลุ่ม SG ของแมมคือ จังหวัดไอจิ (Achi, 愛知) หมายความว่าช่วงที่ไปประเทศญี่ปุ่น เราก็จะได้ไปจังหวัดนี้ มีโฮสต์ดูแลอย่างดี แบบดีมากๆ!

Host ที่ญี่ปุ่น
Host ที่ญี่ปุ่น
Host ที่ญี่ปุ่น
Host ที่ญี่ปุ่น

หลังจากนั้นจะเข้าสู่ช่วง Discussion Group มี Facilitator เป็นผู้นำการอภิปราย แล้วให้การบ้านไปทำเพื่อให้พอรู้สเกลงานค่ะ ซึ่งด้วยความที่แต่ละคนมาจากหลาย background โครงการนี้จะให้เราไปดูว่าพื้นที่ที่เราไปเขาส่งเสริมด้านนี้ยังไงบ้าง การบ้านคือถ่ายรูปแถวเขต, ตำบล, เมือง ฯลฯ ดูเรื่องการออกแบบผังเมือง (Urban Planning) ว่าตรงไหนที่สามารถปรับหรือพัฒนาได้

Discussion (DG)
Discussion (DG)
Discussion (DG)
Discussion (DG)

ระหว่างทำ DG เราจะได้ไป Company Visit ดูงานที่บริษัทญี่ปุ่นแบบเต็มที่ 1-2 วัน

  • เยี่ยมชมฐานผลิตของ Toyota ที่เมืองนาโกย่า (Nagoya) ในจังหวัดอะจิ (Achi) เมืองนี้จะเด่นเรื่องอุตสาหกรรมการผลิตรถ ตอนนั้นแมมได้เจอผู้ว่าฯ ของเมืองด้วย เพราะเราไปช่วงที่เขากำลังผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเรื่องการสนับสนุนการมีให้คนทำ Startup พอดีเลยค่ะ (ญี่ปุ่นมีพื้นที่เศรษฐกิจ 3 จังหวัด หนึ่งในนั้นคือ อะจิ)
Site Visit (เยี่ยมชมฐานผลิต Totoya)
Site Visit (เยี่ยมชมฐานผลิต Totoya)
Site Visit
Site Visit
Site Visit (Nagoya Castle)
Site Visit (Nagoya Castle)
  • เยี่ยมชมบริษัท HITOTOWA ที่ดูแลด้านผังเมืองโดยตรง
เยี่ยมชมบริษัท HITOTOWA
เยี่ยมชมบริษัท HITOTOWA
  • เยี่ยมชมสถานที่จัดงาน Expo ของประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2015 ปัจจุบันสถานที่นี้ถูกเปลี่ยนมาเป็น Studio Ghibli แล้วค่ะ ซึ่งแมมแฮปปี้มากกกเพราะก่อนหน้านี้เคยไปงาน Expo ที่ประเทศดูไบ
  • จังหวะตกหลุมรักกับซากุระบานในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งปกติจะบานที่ Obara Fureai Park ที่ไอจิเท่านั้น (ยังค่อนข้างเป็น Unseen ของคนไทยอยู่) แมมไปเจอช่วง Rare Sakura ซากุระที่ซ้อนไปกับใบเมเปิลค่ะ สวยมาก TT
  • เข้าร่วม Workshop ทำกระดาษ และเรียนรู้คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น

ได้เจอเจ้าหญิงญี่ปุ่น และนายกของญี่ปุนด้วยค่ะ~
(*เฉพาะ NL YL AYL)

. . . . . . .

7
ภารกิจลุยงานแบบสับ
รับผิดชอบทั้งเบื้องหน้า & เบื้องหลัง

  1. ก่อนมาค่ายเราต้องศึกษาเรื่อง SDGs มาอย่างดี ต้องรู้เกี่ยวกับโครงการ SSEAYP และนโยบายภาครัฐของประเทศตัวเองที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนนี้ด้วย
     
  2. หลังจากเข้ามาเป็น SSEAYP นอกจากภารกิจหลัก ทุกคนจะมีหน้าที่เบื้องหลังเหมือนทำโปรเจ็กต์ใหญ่ เตรียมการแสดง Cultural Performance โชว์ความเป็นประเทศเราว่าปั๊วะปังแค่ไหน สแตนด์เชียร์ต้องเวอร์วัง โดยดูแลเบื้องหลังเองทั้งหมด เช่น
  • ทีม Costume ดูเรื่องเครื่องแต่งกาย (ชุดประจำชาติกับชุดลำลอง)
  • ทีม Performance สายครีเอทีฟ วางแผนการแสดง
  • ทีม Sponsor หาผู้สนับสนุนเรื่องงบในโครงการ
  • ทีม Media ดูแลเรื่องการสื่อ ภาพ ประชาสัมพันธ์ต่างๆ

    **Unity คือความเก๋ เราสามารถทำถึงหรือทำเกิน จัดเต็มให้เวอร์เลยก็ได้ อาจจะตัดชุดแบบใส่ความเป็นตัวเองลงไป ทำโลโก้ ทำเสื้อ มี Pin มีป้ายชื่อของประเทศ

3. คนในรุ่นต้องคุยกันว่าจะนำเสนอ SSEAYP ของรุ่นเราให้ออกมาเป็น way ไหนดี เช่น ปีของแมมตกลงกันว่าจะทำธีม Arun Fiesta คำว่า Arun มาจาก “วัดอรุณ” ถ่ายงานกันที่นั่น ทุกคนจะมีคาแรกเตอร์สนุกสนานและเป็นทางการในเวลาเดียวกัน สีของรุ่นคือ แดง-ทอง นอกจากนี้คือมีประกวดทำโลโก้ของทีม (ตอนนั้นแมมชนะด้วยค่ะ เป็นหนึ่งในเรื่องที่ภูมิใจมากๆ)

4. ระหว่างทำกิจกรรมบนเรือ เราต้องแบ่งเวลามาซ้อมการแสดง และสร้างสัมพันธไมตรีกับเพื่อนๆ ที่ทำงานใน Thailand Contingent ไปด้วย

5. หลังกลับจากโครงการ เริ่มแพลน Post Program Activity ซึ่งของแมมทำเป็นรูปแบบ Workshop เพื่อช่วยสร้างความตระหนักให้น้องๆ กับภัยบนโลกออนไลน์ งานนี้เรามีการทำร่วมกับ OUR เพื่อทำให้งานออกมามีสาระความรู้ที่สนุกและใช้ได้จริง เราจะจัดกันที่จังหวัดมุกดาหาร วันที่ 15-16 มิถุนายน 2567 หากใครอยากสนับสนุนกำลังทรัพย์ สิ่งของ หรืออยากมาร่วมงานกับเราก็บอกได้เลย

ในภาพรวม กิจกรรมในโครงการจะเริ่มประมาณช่วงเช้า 8:00-9:00 และจบลงตอน 21:00 ของทุกวัน ตอนทำกิจกรรมเขาจะ mix กันระหว่าง DG และ SG คละกันประเทศละ 2 คน ทำให้เราได้เจอเพื่อนใหม่ตลอดทั้งคนในอาเซียนและคนญี่ปุ่น อาจจะเครียดช่วงแรกๆ แต่สนุกจนไม่รู้ตัวเลยว่านี่ผ่านมา 10 วันแล้วเหรอคะเนี่ย! ไวมากกก

8
เช็กลิสต์คุณสมบัติและทักษะ
ขาดไม่ได้สำหรับโครงการเรือ

  • การเคารพให้เกียรติผู้อื่น ให้จังหวะคนอื่นพูดแล้วเราเป็นฝ่ายฟังด้วย ตัวแทนทุกคนต้องการโชว์ของประเทศตัวเอง แต่จะโชว์ยังไงถึงดูให้เกียรติและน่ารัก และเมื่อถึงช่วงที่เราพูด ไม่ควรเป็นการพูดลอยๆ ควรจะมีข้อมูล backup เสมอ
     
  • ความรับผิดชอบต้องสูง บริหารเวลาได้ดี และมีสกิลทำสื่อนำเสนอให้น่าสนใจ
     
  • ตอนสมัครโครงการ ไม่ได้กำหนดให้ส่งคะแนนวัดระดับภาษาอังกฤษ แต่แมมแนะนำให้สื่อสารภาษาอังกฤษได้ในระดับ Daily Conversation ถึงภาษาไม่แข็ง ก็ต้อง “กล้าสื่อสาร” เพราะเราต้องมีส่วนร่วมกับบทสนทนาที่เกิดขึ้นตลอดกิจกรรม

. . . . . . .

9
สรุปความประทับใจ
เต็มสิบ ไม่รู้จะหักตรงไหน

แมมผ่านมาหลายโครงการมาก แต่ SSEAYP ก็ยังเป็นประสบการณ์ใหม่ที่น่าตื่นเต้น ประทับใจหลายอย่างจนอยากมาแชร์ให้น้องๆ ที่สนใจลองสมัครไปเจอโอกาสดีๆ แบบนี้

  • การเตรียมงานที่ยิ่งใหญ่อลังการ และกิจกรรมทุกอย่างรันตามตารางที่วางไว้เป๊ะ ไม่มีหลุดสักนิด จนรู้สึกสงสัยเลยว่าทำไมเขาเตรียมการได้ดีและเป็นมืออาชีพขนาดนี้
  • เจ้าหน้าที่และโฮสต์ดูแลดีมากๆ แมมแนะนำให้เตรียมของไปให้โฮสต์ตอนจบ (จัดแบบปังๆ เลยก็ได้ เพื่อให้รู้สึกไม่ติดค้างเกินไป) เราสามารถซื้อของฝากได้ตอนอยู่สนามบินหรือลงพื้นที่นิดหน่อย ถ้าซื้อเยอะก็อาจเตรียมเงินไว้สัก 5,000-10,000฿
  • มีโอกาสได้เที่ยวประเทศญี่ปุ่นแบบ Local จริงๆ และยังมีโอกาสเจอทั้งนายกและเจ้าหญิงของประเทศญี่ปุ่น เห็นได้ชัดว่าเขาให้ความสำคัญกับ Youth มากจริงๆ
  • สนุกกับการได้เจอและร่วม DG กับเพื่อนๆ เปิดโลกกรณีศึกษาจากประเทศต่างๆ ว่าเขาครีเอทีฟกันขนาดไหน รวมไปถึงเกร็ดที่น่าสนใจ เช่น โครงการ “One Tambon One Product” หรือ OTOP ของไทย ต้นแบบมาจาก “One Village One Product” ของประเทศญี่ปุ่น

. . . . . . .

10
The Next Chapter

แมมตั้งใจว่าจะทำโปรเจ็กต์ตัวเอง คือจดสรุปโน้ตเป็นภาพ (Visual Take Note) ทำ Short VDO ใน Supermommam Page ระหว่างที่รอเรียนจบ ป.โท ที่ไต้หวัน ซึ่งตอนนี้ก็เต็มที่กับทุกกิจกรรมจนเราละเลยเรื่องการฝึกภาษาไปบ้าง ถ้าทำได้ ภาษาที่สามจะจีนหรือญี่ปุ่นก็ควรจะฝึกพูดไว้ให้ได้เพื่อเป็นใบเบิกทางสู่การงานอาชีพเราในอนาคตค่ะ

และแวะมาบอกข่าวน้องๆ ที่สนใจว่า ปีหน้าจะมีจัดโครงการ SICA ที่ประเทศไทย 

SICA คือโครงการเรือที่จัดทุกปีแต่เวียนประเทศ เพราะหลังกลับจากญี่ปุ่น อาเซียนก็อยากทำกันเองด้วย (มีค่าใช้จ่าย) บอกเลยว่าความแน่นแฟ้นของโครงการนี้สูงมากกก และเป็นจุดเริ่มต้นความรักของคู่สามี-ภรรยาหลายคู่แล้วนะ

สำหรับใครที่มองหาโอกาสโกอินเตอร์ ตอนนี้มีหลายทุนกำลังเปิดรับสมัคร
ตามไปเช็กกันต่อได้เลยที่ "โปรแกรมค้นหาทุนเรียนต่อนอก by Dek-D"

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น