ไขความลับดำมืดจักรวาลผ่าน ‘Cosmic Horror’ เมื่อมนุษย์เป็นแค่จุดเล็กๆ ในกาแล็กซี

สัมผัสความรักแบบ Cosmic Love กับ Red Velvet ไปแล้ว งั้นลองมาสัมผัสความลับแบบ Cosmic Horror ผ่านงานเขียนของ Lovecraft กันบ้าง! 

สวัสดีครับชาว Dek-D ทุกคน มีใครได้ดูเอ็มวี Cosmic เพลงใหม่ของ Red Velvet กันแล้วบ้างครับ? เรียกว่ายังคงสร้างสรรค์ผลงานได้มาตรฐานสูงอยู่เหมือนเดิมกับการคัมแบ็กฉลองครบรอบ 10 ปีในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพด้านงานศิลป์และงานดนตรีที่สุดแสนจะอลังการ หรือแม้กระทั่งคอนเซปต์ต่างๆ ก็ตะโกนคำว่า Cosmic ออกมาดังสุดๆ แถมยังคงแฝงความสยองขวัญเล็กๆ ตามสไตล์ไว้อีกเช่นเคยอีกด้วย 

เมื่อเห็นว่าวงเค้กแดงเอาคอนเซปต์ของจักรวาลกับความสยองขวัญมารวมกัน ทำให้อดไม่ได้จริงๆ ที่จะนึกถึงงานประเภท ‘Cosmic Horror’ หรือ ‘แนวสยองขวัญที่เกี่ยวข้องกับจักรวาล’ ขึ้นมา วันนี้ พี่น้ำพุ เลยเอาความรู้เกี่ยวกับงานแนวนี้มาแบ่งปัน พร้อมกับยกตัวอย่าง 4 นิยายเรื่องสั้นอันน่าขนลุกมาฝากทุกคนกันด้วย  ถ้าพร้อมแล้วตามไปดูกันเลยครับ~

Credit: Red Velvet 레드벨벳 'Cosmic' MV
Credit: Red Velvet 레드벨벳 'Cosmic' MV

‘จักรวาลคืออะไร กว้างใหญ่แค่ไหน 
มนุษย์อย่างเรามีความสำคัญอย่างไร 
และนอกเหนือจากเราแล้วมีสิ่งอื่นอยู่อีกหรือเปล่า?’

Cosmic Horror คืออะไร?

GIPHY
GIPHY

Cosmic Horror (อ่านว่า คอซ'มิค ฮอ'เรอะ) คือประเภทย่อย (Sub-Genre) ของแนวสยองขวัญ (Horror) ที่มองว่ามนุษย์อย่างเราๆ นั้นเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในจักรวาล ไม่ได้มีพลังอำนาจ ความรู้ หรือความสำคัญอะไร

โดยกว่าที่งานเขียนแนว Cosmic Horror จะมีชื่อเสียงโด่งดังจนเป็นแรงบันดาลให้กับงานอื่นๆ ในช่วงหลังนั้น เราต้องย้อนไปถึงการรังสรรค์งานเขียนจากปลายปากกาของนักเขียนเรื่องเหนือธรรมชาติชื่อดังจากอเมริกาอย่าง H.P. Lovecraft ที่หยิบองค์ประกอบ Cosmic Horror มาเขียนและดัดแปลงให้มีเอกลักษณ์กว่าเดิม ดังนั้นแล้วจึงมีการเรียกงานเขียนประเภทนี้ว่า “Lovecraftian” ตามชื่อของ H.P. Lovecraft ด้วยนั่นเองครับ

แม้ว่า H.P. Lovecraft จะไม่ใช่คนแรกที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับ Cosmic Horror แต่เขาก็เป็นบุคคลที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักงานเขียนประเภทนี้มากขึ้น โดยงานแนวนี้พูดถึงความหวาดกลัวของมนุษย์ที่เกิดจากความกังวลและความสงสัยในสิ่งนอกจักรวาลที่อยู่สูงและมีพลังอำนาจมากกว่าเรา ปัจจุบันสามารถพบงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Genre นี้ได้หลากหลายทั้งในวรรณกรรม งานศิลปะ การ์ตูน ภาพยนตร์ มิวสิกวิดีโอ หรือกระทั่งวิดีโอเกมต่างๆ   

Note: Cosmic Horror เป็นหมวดหมู่กว้างๆ ที่มีซับย่อยอย่าง Lovecraftian อยู่ภายใต้หมวด ดังนั้นแล้วงานที่อยู่ในประเภท Cosmic Horror ทุกชิ้นก็อาจไม่ได้ถือว่าเป็น Lovecraftian ไปซะหมด 

H.P. Lovecraft ตัวพ่อแห่ง Cosmic Horror

Wikipedia
Wikipedia / IMDB

ถ้าอยากจะเข้าใจในงานวรรณกรรมประเภทนี้ให้มากขึ้น เราก็ต้องรู้จักตัวนักเขียนกันด้วย วันนี้พี่เลยเรียบเรียงอัตชีวประวัติคร่าวๆ ของคุณ Lovecraft มาแบ่งปันกันครับ

ฮาเวิร์ด ฟิลิปส์ เลิฟคราฟต์ (Howard Phillips Lovecraft) เป็นชาวอเมริกัน เกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1890 ที่ Providence, Rhode Island เขาเกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะค่อนข้างดี เพียงแต่ฮาเวิร์ดเป็นเด็กที่ป่วยออดๆ แอดๆ ทำให้เขามักจะเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านและใช้เวลาที่มีไปกับการอ่านหนังสือในห้องสมุด ตอนนั้นเองที่เขาเริ่มหลงใหลในงานวรรณกรรมและการเขียนขึ้นมา ประกอบกับที่เขาเป็นเด็กฉลาดเกินวัย เริ่มท่องบทกลอนและเขียนหนังสือได้ตั้งแต่ยังเล็ก โดยแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องประหลาดสยองขวัญของเขาก็มาจากงานของนักเขียนดังๆ รุ่นก่อนอย่าง Edgar Allan Poe และ Algernon Blackwood นั่นเองครับ นอกจากนี้ฮาเวิร์ดยังใฝ่รู้ในเรื่องดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งแพสชันนี้ได้กลายมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานเขียนประเภท Cosmic Horror ของเขาอีกด้วย

Libriproibiti
Libriproibiti

แม้ชีวิตกำลังจะไปได้สวย แต่เขาก็เผชิญกับความสูญเสียครั้งใหญ่ ตอนอายุ 5 ขวบ ฮาเวิร์ดเสียคุณพ่อที่จากไปด้วยโรคซิฟิลิส หลังจากนั้นก็ยังเสียคุณปู่ไปอีก นั่นทำให้สถานะทางการเงินอันมั่งคั่งต้องสิ้นสุดลง สุดท้ายเขาและแม่ก็ต้องย้ายออกจากบ้าน ที่เปรียบเสมือนโลกทั้งใบของเขา

ถึงแม้ฮาเวิร์ดจะเป็นเด็กเรียนดี แต่ด้วยอาการป่วยเรื้อรังและฐานะที่ยากจนทำให้เขาไม่สามารถเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ ฮาเวิร์ดเลยใช้ชีวิตเป็นนักเขียนแบบจนๆ ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเสียชีวิต น่าเศร้าที่ผลงานเขียนของเขาเพิ่งจะเป็นที่ยอมรับและชื่นชมหลังจากฮาเวิร์ดจากโลกนี้ไปแล้วครับ

ที่น่าสนใจคือตลอดระยะเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ฮาเวิร์ดนั้นเป็นคนที่ไม่เชื่อในพระเจ้า (Atheist) แถมยังดูหมิ่นคริสต์ศาสนาอีก แต่เขากลับเชื่อในปรัชญา “Cosmicism” ซึ่งความคิดเหล่านี้นี่เองที่หล่อหลอมให้เกิดประเภทงานเขียนที่เรียกว่า Cosmic Horror หรือ Lovecraftian อันเป็นเอกลักษณ์ในผลงานของเขา

ปรัชญา Cosmicism

Unsplash
Unsplash

แนวคิดนี้คิดค้นและพัฒนาโดย H.P. Lovecraft ใช้อธิบายถึงหลักที่ว่า ในจักรวาลนี้ไม่มีผู้สร้างหรือพระเจ้าอยู่จริง มนุษย์แบบเราเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวเล็กๆ เมื่อเทียบกับจักรวาลที่ลึกลับและกว้างใหญ่ไพศาล ชีวิตของเราไม่ได้สำคัญหรือมีความหมายอะไร และหากมนุษย์อย่างเราพยายามจะตามหาคำตอบของชีวิตผ่านจักรวาลนี้ สิ่งที่ค้นพบอาจเป็นความลับอันน่ากลัวอะไรบางอย่างที่ทำให้ต้องล้มเลิกและกลายเป็นคนเสียสติได้ เนื่องจากจิตใจของมนุษย์ไม่ได้ออกแบบมาให้รับรู้เรื่องที่เหนือไปจากเรื่องบนโลกเหล่านั้นครับ

นอกจากนี้แนวคิด Cosmicism ยังมองว่ามนุษย์เป็นสปีชีส์ขนาดเล็กที่หยิ่งผยอง คิดเองเออเองว่าพวกเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและมีความสามารถมากพอ แต่ในความเป็นจริงเราอาจถูกทำลายได้ง่ายๆ โดยสิ่งที่มีพลังเหนือธรรมชาติจากนอกโลกที่ไม่แม้แต่จะเหลียวมองมาหรือใส่ใจมนุษย์แบบเราๆ ด้วยซ้ำ

อันที่จริงปรัชญานี้มีความใกล้เคียงกับแนวคิดสูญนิยม (Nihilism) แต่สิ่งที่ต่างคือ Cosmicism จะเน้นไปที่ชีวิตและการกระทำที่ไร้ความหมายของมนุษย์ ในขณะที่ Nihilism จะเป็นการปฏิเสธการมีอยู่ของสิ่งต่างๆ ฉะนั้นแล้วในหนังสือหลายเรื่องของ H.P. Lovecraft สิ่งที่ทำให้ตัวละครหลักเกิดอาการหลอนและคลั่งจนเสียสติ ไม่ได้เกิดจาก ‘การไม่มีอยู่ของสิ่งต่างๆ’ แต่จะเกิดจาก ‘การค้นพบว่ามนุษย์นั้นไม่สามารถแก้ไขหรือควบคุมสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากจักรวาลได้’ นั่นเองครับ

งาน Cosmic Horror ในสายตาของ Lovecraft

แน่นอนว่านอกจากต้องมีความลึกลับ ความดำมืด สิ่งมีชีวิตประหลาดจากต่างดาว และปริศนาที่มนุษย์ยากจะหยั่งถึงแล้ว ยังมีองค์ประกอบสำคัญอื่นๆ ที่ทำให้งานเขียนประเภท Cosmic Horror ของ Lovecraft นั้นสยดสยองและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไปอีก ดังนี้

 1. ชิงชังการเป็นมนุษย์ (Misanthropy)

Unsplash
Unsplash

งานประเภท Cosmic Horror ไม่ได้เน้นไปที่การเติบโตหรือพัฒนาการของตัวละครหลัก (Protagonist) เหมือนกับในงานประเภทอื่นๆ ที่เราเคยอ่านกัน ตัวละครเหล่านี้ไม่ได้ถูกสร้างมาให้คนอ่านรักและอยากมองดูการเติบโต ทว่าจะเน้นไปที่การมองมนุษย์แบบตื้นเขิน เป็นแค่เศษเสี้ยวสิ่งมีชีวิตในจักรวาลมากกว่า เรียกได้ว่าตัวละครหลักใน Genre นี้ไม่ต่างจากกระสอบทรายหรือหนูทดลองที่ใส่มาในเรื่องเพื่อรับบทเป็นผู้ประสบภัยจากหายนะต่างๆ ของผู้เขียนเลยครับ

2. สร้างความสยองขวัญจากสิ่งแปลกประหลาด

https://seanmmcbride.com/
https://seanmmcbride.com/

ถ้าหากลองไปอ่านงานเขียนของ H.P. Lovecraft สิ่งที่จะทำให้นักอ่านแต่ละคนขนลุกจะไม่ใช่พร็อพส์ (Prop) หรือฉากซ้ำซากแบบในหนังสยองขวัญเรื่องๆ อื่น อย่างเช่น โครงกระดูก เลือด หรือศพ แต่จะเป็นสสารหรือสิ่งของที่ให้ความรู้สึกชวนขยะแขยง เห็นแล้วอยากจะคลื่นไส้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นกองทัพหนูมหาศาลใน ‘The Rats in the Walls’ หนวดปลาหมึกสยองใน ‘The Call of Cthulhu’ รวมไปถึงเมือก ก้อนเนื้อ เอเลียน และสัตว์ประหลาดต่างๆ ที่ปรากฏออกมาให้เห็นในงานเขียนประเภทนี้บ่อยๆ ด้วย

3. ตัวละครหลักที่โดดเดี่ยว ตัดขาดจากโลกภายนอก

Unsplash
Unsplash

ตัวละครหลักในงานประเภทนี้มักจะเป็นคนรักสันโดษหรือไม่ก็ตัดขาดจากสังคม และส่วนมากเป็นคนสนใจงานวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ หรือวรรณกรรมต่างๆ แล้วความสนใจและความสงสัยใคร่รู้เหล่านี้นี่แหละ ที่มักจะพาตัวเอกไปค้นพบกับความลับหรือปริศนาอันน่ากลัวของจักรวาล 

4. เน้นย้ำถึงความเปราะบางของจิตใจมนุษย์

Unsplash
Unsplash

จากที่เกริ่นไปก่อนหน้าว่าแนวคิด Cosmicism มองว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่หยิ่งผยองในความรู้และความสามารถของตัวเอง คิดว่าตัวเองสามารถหาคำตอบกับทุกสิ่งและทำความเข้าใจจักรวาลได้ แต่ในงาน Cosmic Horror จะแสดงให้เราเห็นว่าแท้จริงแล้วมนุษย์นั้นอ่อนแอเกินกว่าจะยอมรับความจริงที่โหดร้ายและไร้เหตุผลของจักรวาลได้ โดยความจริงอันน่ากลัวที่ว่านั้นมักจะปรากฏออกมาในรูปแบบของเอเลียน สิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติ และสิ่งแปลกประหลาดอื่นๆ ที่ไม่สามารถระบุประเภทได้แน่ชัด

5. มักจบไม่สวยและไม่ได้ให้คำตอบกับผู้อ่าน

Unsplash
Unsplash

ถ้าใครที่ชอบงานที่จบแบบ Happy-Ending อาจไม่เหมาะกับงานประเภท Cosmic Horror หรือ Lovecraftian เท่าไหร่นัก เพราะงานนี้มักจบที่โศกนาฏกรรมเสมอ ปริศนาหรือข้อสงสัยที่ตัวละครหลักพยายามจะตามหามักจะไม่ถูกเฉลยออกมา หากเปิดเผยก็จะได้รู้กันเพียงแค่เสี้ยวเดียว ทิ้งให้ผู้อ่านอยู่กับความสับสนและไม่ได้รับคำตอบที่น่าพึงพอใจ เช่นเดียวกับเหล่าตัวละครที่มักจะไม่เข้าใจสิ่งประหลาดที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ตอกย้ำจุดเด่นของงานแนวนี้ที่เน้นความกลัวในสิ่งที่เราไม่สามารถทำความเข้าใจได้ รวมไปถึงสิ่งที่อยู่นอกเหนือไปจากขอบเขตของโลก จักรวาล และกาลเวลานั่นเอง~

แนะนำ 4 งานเขียนของ H.P. Lovecraft

1. The Call of Cthulhu

Amazon
Amazon

ใครอยากลองเริ่มอ่านแนะนำให้เริ่มจาก The Call of Cthulhu เลยครับ เพราะผลงานชิ้นนี้ดังมากและเป็นตัวแทนที่อธิบายคำว่า Cosmic Horror ได้ดีที่สุด! 

เนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับชายหนุ่มชื่อ ‘ฟรานซิส’ ที่ได้ออกรวบรวมข้อมูลและหลักฐานปริศนาจากคุณลุงผู้ล่วงลับของเขา ที่สุดท้ายจะพาเขาไปไขความลับเกี่ยวกับสัตว์ประหลาดจากนอกโลกที่มีชื่อว่า ‘คธูลู’ ซึ่งเข้ามาแฝงตัวอยู่ใต้ทะเลบนโลกของเรา มันมีพลังทำลายล้างสูงและสามารถทำให้คนเกิดอาการคลั่งเสียสติได้ โดยหนังสือก็จะเน้นหนักไปที่ประเด็นของ ‘ความกลัวที่เกิดจากความไม่รู้’ และ ‘ความไม่สำคัญของมนุษย์’ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของงานแนวนี้นั่นเองครับ 

2.The Color Out of Space

Amazon
Amazon

เรื่องสั้นเกี่ยวกับตัวละครหลักนิรนามที่พยายามปะติดปะต่อเรื่องราวแปลกๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่อุกกาบาตปริศนาเคยตกลงมาใส่เมื่อ 50 ปีก่อน และผลจากเหตุการณ์ครั้งนั้นก็น่าสยดสยอง เพราะมันทำให้สรรพสิ่งรอบๆ เปลี่ยนไป พืชพรรณเจริญเติบโตงอกงามแต่กลับไร้รสชาติ สัตว์ในฟาร์มเกิดอาการคลั่งและกลายพันธ์ุจนดูน่าเกลียดน่ากลัว รวมถึงชาวบ้านในละแวกนั้นก็พากันเสียสติไปอีก หากอ่านเรื่องนี้จะได้กลิ่นความเป็นไซไฟ (Sci-Fi) ชัดเจน อีกทั้งยังได้รับการชื่นชมจากนักวิจารณ์ว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างวิทยาศาสตร์และความสยองขวัญด้วยนะ!

3.At the Mountain of Madness

Amazon
Amazon

เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ ด.ร. วิลเลียม ไดเยอร์ นักธรณีวิทยาและทีมสำรวจที่ได้ไปค้นคว้าวิจัยในทวีปแอนตาร์กติกาและพบเข้ากับเหตุการณ์ประหลาดที่ยากจะอธิบาย พวกเขาค้นพบอารยธรรมโบราณที่สร้างโดยเอเลียน ซึ่งมันอยู่บนโลกนี้มาแสนนานก่อนมนุษย์จะถือกำเนิดขึ้นซะอีก และยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตของโลกเมื่อหลายล้านปีก่อนผ่านภาพเขียนและงานแกะสลักในนั้น 

แล้วความพีกก็เริ่มจากการที่จู่ๆ สมาชิกในทีมก็หายไปทีละคน บางคนถูกไล่ล่าจากสิ่งมีชีวิตประหลาด ถ้าใครชอบบรรยากาศความเป็นขั้วโลก แผ่นน้ำแข็งเยือกเย็น และสัตว์ประหลาดน่าขนลุกต้อง ห้ามพลาดเรื่องนี้เลยครับ

4.The Dreams in the Witch House

Amazon
Amazon

‘วิลเตอร์ กิลแมน’ นักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่งได้ไปเช่าห้องใต้หลังคาของบ้านที่คนแถวนั้นเรียกกันว่าเป็น ‘บ้านแม่มด’ ระหว่างที่พักอยู่ที่นั่นเขาได้พบกับเรื่องราวประหลาด ไม่ว่าจะเป็นความฝันแปลกๆ ที่เขาได้หลุดเข้าไปในมิติพิศวงต่างๆ สิ่งที่เขาพบเจอนั้นทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเส้นแบ่งระหว่างความฝันและความเป็นจริงเริ่มจางลง เขาได้พบกับทั้งแม่มดที่เคยอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้และสัตว์ประหลาดรูปร่างเหมือนหนูแต่หน้าเป็นคน! เป็นเรื่องสั้นที่เล่นประเด็นเกี่ยวกับความฝันและความจริงได้อย่างสมบูรณ์แบบ คนที่ชอบเรื่องไสยเวทแม่มด (Witchcraft) หรือเวทมนตร์ต่างๆ ต้องชอบแน่นอนครับ

นอกจาก 4 เรื่องที่ยกมาแนะนำกันแล้ว ยังมีผลงานร่วมสมัยอีกมากมายจากนักเขียนคนอื่นๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนของ H.P. Lovecraft ถ้างานเขียนที่เราน่าจะรู้จักกันก็อย่างเช่น ‘IT’ ของ Stephen King หรือ ‘Annihilation’ ของ Jeff VanderMeer ซึ่งในเวลาต่อมาทั้ง 2 เรื่องนี้ก็ถูกนำมาดัดแปลงให้เป็นภาพยนตร์ ใครยังไม่เคยดู ลองไปหาดูกันนะครับ รับรองไม่ผิดหวัง!

. . . . . . . .

นอกจากนี้ยังมีงานเขียนเรื่องอื่นๆ ของ H.P. Lovecraft ให้ลองไปหาอ่านกัน และบางเรื่องก็มีเวอร์ชันแปลไทยด้วยนะ ถ้าน้องๆ เป็นสายอ่านที่กำลังหาแนวสยองขวัญเหนือธรรมชาติและแปลกใหม่ ห้ามพลาดครับ // ส่วนใครมีข้อมูลมุมอื่นอยากแชร์หรือแนะนำเรื่องไหน คอมเมนต์มาคุยกันได้เลย~ 

. . . . . . . .

Reference:https://lovecraft.fandom.com/wiki/Lovecraftian_Horrorhttps://www.hplovecraft.comhttps://www.britannica.com/biography/H-P-Lovecrafhttps://shadowsandsorcery.wordpress.com/2020/06/13/lovecraft-a-defense/https://www.cbr.com/what-is-cosmic-horror-subgenre-explained/
Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น