สวัสดีค่ะชาว Dek-D และเด็กแอดฯ ทุกคน เวลาเดินผ่านไวจริงๆ อีกไม่กี่วันน้องๆ จะได้ลงสอบ O-NET สนามสอบที่ขึ้นชื่อว่าง่ายที่สุด (แต่ก็ไม่ควรประมาทนะ) O-NET มีความสำคัญยังไง? อย่างแรกเลย เป็นสัดส่วนสำหรับแอดมิชชั่นถึง 30% อย่างที่สอง เป็นน้ำหนักที่ใช้ถ่วงเกรดในโรงเรียนเพื่อวัดผล และสำคัญมากสำหรับน้องๆ ที่รอผล กสพท. เพราะใช้เป็นเกณฑ์ด่านสุดท้าย 60% ต่อให้ได้คะแนน กสพท. ดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่ผ่าน O-NET 60% ก็ถือว่าจบค่ะ
 

 

         น้องๆ จะเห็นได้ว่า ในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา พี่ๆ Dek-D.com ทั้งขุด ทั้งสรรหา เทคนิคการสอบ O-NET มาฝากมากมาย อยากให้ทั้งเด็กแอดมิชชั่นและเด็ก กสพท. ได้คะแนนดีทุกคน และวันนี้ พี่มิ้นท์ขอพารุ่นพี่ "พี่ปูน" จากแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล มาเล่าประสบการณ์การสอบ O-NET กับสถานการณ์กดดัน ต้องได้ 60% เท่านั้น
    
    
พี่มิ้นท์ : แนะนำตัวให้น้องๆ ชาว Dek-D.com รู้จักหน่อยจ้า
     พี่ปูน : สวัสดีครับ พี่ชื่อ ธนภัทร พรสุขจันทรา ชื่อเล่น ปูนครับ ตอนนี้เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลครับ เข้ามาเรียนด้วยระบบ กสพท. ครับ

     พี่มิ้นท์ : ก่อนจะไปรู้เทคนิคต่างๆ ขอถามก่อนว่าคะแนน O-NET เป็นยังไงบ้าง
     พี่ปูน : รุ่นที่พี่สอบ ต้องสอบทั้ง 8 วิชานะครับ คือภาษาไทย สังคมศึกษา อังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สุขศึกษาพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี คะแนนที่ได้ก็ถือว่าน่าพอใจครับ โดยได้ ไทย 81, คณิต 72.5, ภาษาอังกฤษ 84, วิทยาศาสตร์ 68, สังคม 53.13, สุขศึกษา 75, ศิลปะ 50.50, การงานอาชีพฯ 62
 

 

     พี่มิ้นท์ : โอ้โห คะแนนแต่ละวิชาสูงมาก ได้คะแนนรวม กสพท. เท่าไหร่คะ
     พี่ปูน : คะแนนสอบ กสพท. (รวมวิชาสามัญ) ได้ 71.3794 ครับ

     พี่มิ้นท์ : ย้อนกลับไปตอนสอบ เรามีความกดดันกับเกณฑ์ o-net 60% มั้ย และมีวิธีคลายเครียดยังไงบ้าง
     พี่ปูน : ผมว่ามันเรื่องปกตินะที่เราจะกดดัน เพราะกลัวว่าเฉลี่ยจะไม่ถึง 60 คะแนน ความรู้สึกมันประมาณว่าข้ามภูเขาลูกใหญ่มาได้แล้วแต่มาสะดุดก้อนหินตายหน้าเส้นชัย อะไรแบบนี้ ฮ่าๆ แต่ตอนนั้นก็กำลังใจดีครับ และคิดว่าผ่าน 7 วิชาสามัญมาได้แล้ว ONET คงไม่น่ายากเกินไปสำหรับเราครับ คือ มีความกดดันก็จริง แต่ไม่กดดันตัวเอง ก็ทำตัวชิวๆ ไปครับ ไม่อยากเครียด
       แต่ถ้าเครียด ผมก็มีวิธีคลายเครียดคือ เล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง ตามประสาวัยรุ่นทั่วไปครับ

     พี่มิ้นท์ : คิดว่าการสอบ o-net เป็นยังไงบ้าง ถ้าเทียบกับสนามสอบอื่นๆ
     พี่ปูน : ถ้าเทียบกับการสอบอื่นๆ เช่น วิชาสามัญ หรือ GAT PAT พี่คิดว่า ONET ง่ายกว่าระดับหนึ่งเลยนะ เพราะว่าข้อสอบ ONET ได้ออกแบบมาให้ทั้งสายศิลป์และสายวิทย์ทำได้ ข้อสอบเลยต้องไม่ยากหรือซับซ้อนมากเกินไปครับ ดังนั้นน้องๆ ไม่ต้องกังวลเกินไปครับ

     พี่มิ้นท์ : การสอบแต่ละวิชาเป็นยังไงบ้างคะ
      พี่ปูน : อย่างที่บอกไปครับว่าข้อสอบ O-NET จะไม่ยากมาก เป็นเนื้อหาที่ออกตามหลักสูตร สามารถอ่านได้จากหนังสือที่เราเรียนเลย แต่จะยากตรงเรื่องการตัดสินใจครับ เพราะมี 5 ตัวเลือก บางทีก็รู้สึกว่าตัวเลือกนี้ก็ใช่ อันนั้นก็ใช่ ก็ต้องตั้งสติและเลือกข้อที่มีความเป็นไปได้ที่สุด
      ถ้าให้เรียงลำดับความยากง่ายของข้อสอบ O-NET สำหรับพี่่ ขอยกให้สังคมศึกษายากที่สุด รองลงมาคือวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษครับ ที่คิดว่าสังคมศึกษายากที่สุด เพราะว่าเนื้อหาออกสอบนั้นเยอะมาก เรียกว่าแทบจะขนมาทั้ง ม.4-6 ซึ่งเป็นวิชาที่พี่ไม่ถนัดอย่างรุนแรง ส่วนคณิตศาสตร์ วิชาที่หลายคนกลัว ก็อาจจะไม่ได้ยากอย่างที่คิดนะครับ แต่โจทย์ค่อนข้างหลากหลาย มียากง่ายปนกันไป ถ้าเตรียมตัวมาดีๆ ข้อง่ายๆ ก็น่าจะเก็บคะแนนมาได้ไม่ยาก

 

 

     พี่มิ้นท์ : แอบขอสูตรเดาหน่อยค่ะ มีเทคนิคการเดาวิชาไหนบ้างมั้ยเอ่ย
     พี่ปูน : เทคนิดการเดา ขอยกตัวอย่างคณิตศาสตร์แล้วกันครับ ก็พยายามดูเรื่องเศษส่วนเพราะบางข้อชอบหลอกแบบสลับไปสลับมา เช่น มี 2 ข้อ ข้อนึง x/y อีกข้อ y/x ก็ต้องดูว่าสูตรที่ใช้เป็นอะไรแล้วต้องระวังเรื่องสลับข้างสมการ ประมาณนี้ครับ อีกวิชาที่มีทริคก็คือ อังกฤษ พาร์ท Error ก็พยายามหาพวก s. v. obj. adj. adv. ให้เจอ แล้วเราจะรู้ว่าส่วนไหนมันไม่ควรจะอยู่ตรงนั้นครับ  
      ส่วนการเดาในเเต่ละวิชา ตามวิธีของพี่ จะไม่ได้เดาตั้งแต่แรกนะครับ คือ พยายามทำข้อที่ได้ให้หมดก่อน พอเราทำข้อสอบเสร็จ ให้ลองนับช้อยส์ดูว่าแต่ละช้อยส์ที่เราเลือกมีอะไรบ้าง อย่างละเท่าไหร่ เช่น ข้อสอบ 100 ข้อ ก ข ค ง 4 ช้อยส์ เราควรจะตอบอย่างละ 25 ข้อ เพราะว่าการสอบโดยทั่วไปจะจัดช้อยส์ให้พอๆกันอยู่แล้ว ที่เหลือก็เดาให้เข้าสัดส่วนที่สุดครับ

     พี่มิ้นท์ : มีเทคนิคในการเตรียมตัวสัปดาห์สุดท้ายก่อนสอบมั้ยค
     พี่ปูน :  ต่อให้ใกล้สอบยังไง พี่ก็ยังอยากให้อ่านหนังสือนะครับ แต่ไม่ต้องเครียดหรือกังวลมาก ให้อ่านหนังสือเรื่อยๆ เน้นไปที่การทวนเนื้อหาที่ไม่ได้หรือไม่ค่อยถนัด เพิ่มเติมคือ หาข้อสอบเก่าๆ มาทำเยอะๆ ครับ ที่สำคัญ อย่าหักโหมมากเกินไป เดี๋ยวเครียดหัวระเบิดครับ พักผ่อนบ้าง จัดตารางอ่านดีๆ แล้วเราจะมีความสุข
      สำหรับสายวิทย์ ขอแนะนำเพิ่มเติมว่าอย่าลืมอ่านเนื้อหาที่ไม่ได้ออกใน GAT PAT หรือ 9 วิชาสามัญด้วยนะ  

     พี่มิ้นท์ : ถ้าอ่านไม่ทันจริงๆ น้องปูนคิดว่าควรเก็บวิชาไหนดีที่สุด ที่แบบคุ้มค่าที่สุดในเวลาที่จำกัดแบบนี้
     พี่ปูน : ต้องบอกก่อนว่า วิชาที่ควรเก็บ ส่วนนึงพี่คิดว่ามันเป็นที่ความถนัดของแต่ละคนเนอะ ว่าชอบวิชาไหนที่สุดก็น่าจะทำให้เรามีความสุขกับการอ่านวิชานั้นและทำมันออกมาได้ดี แต่ถ้าพูดในภาพรวมแบบอ่านไม่ทันแล้วจริงๆ ไฟลนก้นก่อนสอบแบบนี้ จากประสบการณ์การผ่านข้อสอบที่ผ่านมา คิดว่าวิชาที่น่าจะเก็บได้คือ ภาษาไทยครับ เพราะว่าออกไม่ยากมาก เน้นคิดวิเคราะห์ ซึ่งทำกันได้อยู่แล้วแหละ ซึ่งถ้าวิชานี้ได้คะแนนดีก็ช่วยเพิ่มคะแนนโดยรวมของเราให้ดีขึ้นได้  ส่วนอีกวิชาที่พี่คิดว่าน่าจะเก็บได้คือ คณิตศาสตร์ ครับ คือมันไม่ได้ยากขนาดนั้น ถ้าคิดว่าคณิตศาสตร์ของตัวเองไม่ได้แย่มาก วิชานี้ก็น่าสนใจครับ

     พี่มิ้นท์ : ถามเรื่องเรียนปัจจุบันหน่อยดีกว่า ได้เข้ามาเรียนคณะแพทยศาสตร์แล้ว เป็นยังไงบ้างคะ
     พี่ปูน : ตอนนี้เรียนแพทย์ชั้นปีที่ 2 ครับ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อตอนปี 1 เนื้อหาที่เรียนก็คล้ายๆ ม.ปลายทั่วไป แต่ระดับความยากนี่คนละชั้น 555  มีเรียน Organic Chem, Biochem ที่เพิ่มขึ้นมา ส่วนเรื่องกิจกรรม ก็ทำอยู่เรื่อยๆ ครับ มีการจัดค่ายรามาปณิธาน ทำแสตนด์ พี่ว่าเรียนหมอ ตอนปี 1 นี่สบายๆสุดแล้ว
      ส่วนตอนขึ้นปี 2 เราจะได้เรียนเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ โดยที่เราจะเรียนในทุกๆ ส่วนเลยไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ตามองเห็นมองไม่เห็น เรียนจนหมดเกลี้ยง ตอนเรียน พอเจอวิชาแรกเข้าไปนี่แทบหงายหลัง ทั้งยากทั้งเยอะ แถมยังสอบถี่มากๆ  ส่วนอีกวิชาที่น้องจะได้เจอก็จะเป็น การผ่าอาจารย์ใหญ่ (Gross Anatomy) หรือส่องกล้องจุลทรรศน์  (Histology) สรุปง่ายๆ เนื้อหาที่เรียนเยอะมากๆ แต่ความสนุกก็สนุกมากเหมือนกัน อยากให้น้องๆ ที่เลือกสอบแพทย์ ใน กสพท. สอบติดและได้เข้ามาเรียนครับ

 

 

     พี่มิ้นท์ : สุดท้าย อยากให้น้องปูน ฝากข้อคิด ให้กำลังใจ สำหรับ ม.6 ที่จะสอบ o-net หน่อยจ้า
     พี่ปูน : สำหรับน้องๆ ม.6 ที่จะสอบ ONET (ซึ่งก็สอบทุกคนอยู่แล้ว) ก็ขอให้น้องๆ มีความตั้งใจอ่านหนังสือ (ไม่มากก็น้อย ขอให้มีแล้วกันครับ) อย่าเครียดจนเกินไป เพราะความเครียดจะทำให้ทุกอย่างแย่ลง แต่ก็ห้ามประมาท ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ทำให้ดีที่สุด แล้วก็ขอให้น้องๆได้คะแนนตามที่หวังทุกครับ
  
       ได้รับคำยืนยันจากรุ่นพี่อีกคนแล้วว่า O-NET ไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรประมาทนะคะ ขอแค่เตรียมตัวให้เต็มที่ที่สุด พี่มิ้นท์เชื่อว่าถ้าเราเตรียมตัวมาอย่างดี พอได้เจอข้อที่ออกตรงกับที่เราอ่าน นาทีนั้นเราจะยิ้มได้อย่างมีความสุขสุดๆ ค่ะ ก็ขอให้กำลังใจกับน้องๆ ทุกคนไม่ว่าจะสอบเพื่อเก็บคะแนนรอแอดมิชชั่น หรือ สอบเพื่อมุ่งเป้าที่ 60% ขอให้ได้คะแนน "มากกว่า" ที่หวังทุกคนค่า
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

7 ความคิดเห็น

supisara_nf Member 30 ม.ค. 59 22:20 น. 1

เห็นพี่แต่ละคนล้ะ ปลืื้มๆ ทำคะแนนได้สูงๆ

ทั้งนั้น จะพยายามให้ได้มากที่สุดน้อวว จะขึ้น ม.6ล้าวว  เสียใจ#Dek60โกรธรักเลย ยังงัยก้อต้องสู้ แน่นอน

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
จิดาภา กากแก้ว 10 ม.ค. 60 20:43 น. 7
อยู่แค่ป.6 แต่เค้ามาอ่านแล้วคือแบบว่าฮือๆๆ ยากเว่อ 4กุมพาพันธ์ 2560 ก็สอบแล้วว แต่ยังไม่ได้อ่านหนังสือเลย ทำไงดีๆๆ ฮือๆ ไม่ผ่านๆแน่ๆ ทำยังไงถึงจะทำขอสอบวิชาอังกฤษได้น่ ยากที่สุดล่ะ ช่วยหน่อยยๆๆ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด