#dek61 พร้อมไหม? มาดูการทำ Portfolio ให้เป๊ะปัง! เหมาะกับ TCAS61


          สวัสดีค่ะ ช่วงนี้ก็ผ่านการสัมภาษณ์แอดมิชชั่นของน้องๆ #dek60 มาเป็นที่เรียบร้อย นอกจากรอเปิดเรียนแล้ว หลายคนก็อาจจะกำลังเล็งๆ รับตรงที่ยังเปิดรับสมัครรอบหลังแอดฯ กันอยู่ ยังไงก็ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ปี 60 ทุกคนกันด้วยนะคะ
          ส่วนน้องๆ #dek61 ก็คงจะต้องเริ่มตื่นตัว เพราะตอนนี้อยู่ ม.6 แล้ว แถมระเบียบการคร่าวๆ แบบภาพรวม ของทุกมหาวิทยาลัย ก็ออกมาให้ศึกษากันแล้ว รอช้าไม่ได้แล้วค่ะ สัปดาห์ก่อน พี่แป้งพาน้องๆ ไปดูกันแล้วว่ารอบแรกที่จะรับเร็วที่สุด คือ รอบ Portfolio นั้น เป็นยังไง ใช้เกณฑ์อะไรบ้าง วันนี้พี่อีฟเลยขอพาน้องๆ ไปเตรียมตัวกับพระเอกในรอบนี้ว่า Portfolio แบบที่จะยื่นในระบบใหม่ TCAS ทำยังไงจะเป๊ะปัง! ถูกใจกรรมการตั้งแต่รอบแรก ไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ
 

     Portfolio ฉบับ TCAS 61 รอบใช้ Portfolio
          ถึงจะบอกว่า TCAS รอบที่ 1 เป็นรอบที่ใช้ Portfolio แต่จริงๆ แล้วก็มีอีกหลายเกณฑ์เลยนะคะที่ใช้ในรอบนี้ด้วยทั้ง GPAX, GPA, คะแนนทดสอบทางภาษาอังกฤษ, สอบสัมภาษณ์ ฯลฯ ดังนั้น ก็อย่าลืมฟิตในส่วนอื่นด้วยค่ะ แต่สิ่งที่สำคัญที่จะพาน้องๆ ไปดูกันวันนี้ ก็คือในส่วนของ Portfolio ที่เป็นพระเอกของรอบนี้ ปกติในปีที่ผ่านมา Portfolio ก็ถือเป็นส่วนที่สำคัญในการรับน้องๆ เข้าศึกษาต่ออยู่แล้วนะคะ ในรอบรับตรงแทบจะตัดสินกันที่ Portfolio เลย ดังนั้น อย่างแรกที่น้องๆ ควรรู้เลยก็คือ Portfolio แบบไหนที่น่าสนใจสำหรับกรรมการ
     
    
► Portfolio ที่มีความคิดสร้างสรรค์ อย่าว่าแต่อาจารย์เลยค่ะ ถ้าเป็น Portfolio สวยๆ ขนาดเราเป็นเพื่อน หรือเป็นแค่คนรู้จัก เราก็ยังอยากจะเปิดดูเนอะ ดังนั้น ใครมีไอเดียอะไร แนะนำให้เอามาใช้ในรอบนี้ได้อย่างเต็มที่เลย นอกจากความสามารถที่ขนมาโชว์กรรมการแบบเต็มที่แล้ว ความสามารถในการนำเสนอให้อาจารย์ได้เห็นจาก Portfolio ก็ไม่ควรเป็นสองรองใครนะคะ

     ► Portfolio ที่มีผลงาน โอ้โห! ออกแบบสวยมากกกกก แต่ไม่มีผลงานอะไรเลย T^T" แบบนี้ก็น่าเสียดายแย่เลยนะคะ เพราะมหาวิทยาลัยที่รับเราเข้าไป ก็คงอยากจะเห็นความสามารถของเราตามโครงการที่รับเข้าไปจริงๆ เวลาแบบนี้มีผลงานอะไรต้องขุดมาให้หมดค่ะ ไม่ว่าผลงานจะเล็กน้อยแค่ไหน อย่าลืมมีหลักฐานประกอบด้วยนะคะ อาจจะเป็นรูปถ่าย หรือเกียรติบัตร เพื่อให้กรรมการได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ดังนั้น ช่วงนี้ก่อนเปิดรับสมัคร มีกิจกรรมอะไรที่มีประโยชน์+น่าสนใจ ก็อย่าลืมไปเข้าร่วมนะคะ

     ►​ Portfolio ที่มีความถูกต้อง ความถูกต้องที่พี่อีฟหมายถึง ขอยกตัวอย่างตั้งแต่ความถูกต้องของการจัดเรียงข้อมูล เนื้อหาให้เป็นระเบียบ รวมไปถึงความถูกต้องในการใช้คำหรือสะกดคำด้วยนะคะ เพราะถึงจะมีความคิดสร้างสรรค์หรือมีผลงานเยอะแค่ไหน แต่ถ้าสะกดผิดเยอะมาก แบบที่ไม่ใช่จากความผิดพลาดเล็กน้อย แต่เกิดจากความไม่รอบคอบ หรือไม่ตรวจทานของเราเอง แบบนี้อาจารย์ก็ไม่น่าจะปลื้มเท่าไหร่ค่ะ
 

     5 ส่วนประกอบที่สำคัญของ Portfolio
     1.หน้าปก พี่อีฟขอยกให้หน้าปก เป็น 1 จุดขายที่สำคัญของผลงานนี้เลยค่ะ หัวใจหลักที่สำคัญ คือ ทำยังไงก็ได้ให้โดดเด่น จนอาจารย์อยากหยิบขึ้นมาอ่าน ใครมีฝีมือด้าน Photoshop หรือ Illustrator ก็ลองมาโชว์ฝีมือในผลงานนี้ได้เลย ส่วนใครที่ไม่มีฝีมือด้านนี้ ก็อย่าเพิ่งน้อยใจไปค่ะ พี่อีฟขอแนะนำ Words ธรรมดา หรือ Power Point ที่เราใช้กันบ่อยๆ นี่แหละ ถ้าตกแต่งให้ดี ก็สวยเป๊ะปังไม่แพ้ Photoshop เลย

     2.ประวัติส่วนตัว+การเรียน ถ้าจะถามว่าส่วนนี้สำคัญแค่ไหน ก็ต้องบอกว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้กรรมการรู้จักเราเลยค่ะ ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน หรือมีความน่าสนใจอะไร กรรมการบางท่านเห็นเรามาจากจังหวัดเดียวกัน อาจจะเอ็นดูเราเป็นพิเศษได้เลยนะคะ นอกจากนั้น ประวัติทางด้านการเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญค่ะ เพราะ Portfolio นี้ เราตั้งใจทำมาเพื่อสมัครเข้าเรียน ดังนั้น อาจารย์ก็ควรได้รู้ค่ะ ว่าเราจบจากที่ไหน และผลการเรียนเป็นยังไงบ้าง แนะนำว่าในส่วนนี้ควรทำเป็นลำดับข้อหรือตาราง จะดูง่ายกว่าการเขียนความเรียงค่ะ

     3.ผลงาน+กิจกรรมที่เคยเข้าร่วม Portfolio หรือที่เราเรียกกันในชื่อภาษาไทยว่า แฟ้มสะสมผลงาน จะไม่มีผลงานและกิจกรรมที่เราเคยเข้าร่วม ก็คงจะไม่ใช่ค่ะ ดังนั้น น้องๆ ควรเลือกผลงานที่มีความโดดเด่น อาจจะเป็นผลงานระดับโรงเรียน หรือระดับประเทศได้เลย หรือเลือกกิจกรรมที่เคยเข้าร่วม เช่น กิจกรรมกีฬาสี กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ฯลฯ แต่อย่าลืมว่าผลงานหรือกิจกรรมที่คัดมา ก็ควรจะเกี่ยวข้องกับคณะหรือมหาวิทยาลัยที่เราจะเข้าด้วยนะคะ จะได้เพิ่มความน่าสนใจขึ้นมาอีกค่ะ

       4.เกียรติบัตร+รูปถ่าย ผลงานที่ดี ควรมีหลักฐานการเข้าร่วมค่ะ ทั้งเกียรติบัตรและรูปถ่ายสามารถช่วยเล่าเรื่องราว รวมไปถึงผลงานของเราอย่างน่าสนใจ บางคนอาจจะมองว่าการถ่ายรูปตลอดเวลาที่ร่วมกิจกรรม อาจจะดูสร้างภาพไปรึเปล่า พี่อีฟแนะนำว่าอาจจะเลือกถ่ายแค่บางอริยาบถ แค่เพียง 1-2 รูปก็พอค่ะ ส่วนเกียรติบัตรก็อย่าลืมเลือกแบบที่เกี่ยวข้องกับคณะ/สาขาที่เราจะเข้าด้วยค่ะ และควรมีทั้งฉบับจริงและฉบับสำเนานะคะ เพราะถ้าหากคณะไม่คืน Portfolio น้องๆ คงไม่สามารถไปหาใบใหม่ได้อีกแล้วค่ะ 

     5.เอกสารอ้างอิง หลักฐานหรือเอกสารที่นอกเหนือจากเกียรติบัตร ก็สามารถนำมารวบรวมไว้ตรงนี้ได้เลย อาจจะเป็นสำเนาใบแสดงผลการเรียน, ป้ายชื่อจากกิจกรรมที่เราเคยเข้าร่วม, โปสเตอร์แสดงกิจกรรมหรือผลงานของเรา ฯลฯ รวมไปถึงเอกสารเข้าร่วมงานต่างๆ ที่เราเคยเข้าร่วมค่ะ อาจจะเป็นส่วนสุดท้ายที่น้องๆ บางคนมักจะมองข้ามและไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่ แต่บอกเลยว่าเป็นอีกส่วนที่สำคัญเลยค่ะ 
 

     3 สิ่งที่ควรระวัง ถ้าอยากให้ Portfolio ปัง ประทับใจกรรมการ 

     1.อย่าลอกผลงาน
     ถึงผลงานจะน้อย หรือไม่เคยทำกิจกรรมอะไรเลย สิ่งที่น้องๆ ไม่ควรทำที่สุด ก็คือการแอบอ้างผลงานของคนอื่นมาเป็นของตัวเองค่ะ ยิ่งเกียรติบัตรหรือรางวัลอะไรที่มีหลักฐาน แล้วน้องๆ ทำการปลอมแปลงหรือแก้ไข นอกจากจะไม่น่ารักแล้ว ยังถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมายอีกด้วยนะคะ ถ้าอาจารย์จับได้หรือรู้ความจริง พี่อีฟคิดว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แล้ว อย่าให้อนาคตที่อยากจะเข้าคณะในฝันหลุดลอยไปเพราะเรื่องแบบนี้เลยดีกว่าค่ะ เคยทำอะไรหรือมีผลงานแค่ไหน ก็ใส่เท่าที่เราทำดีกว่าค่ะ ถ้ากลัวว่าน้อยเกินไป ก็แนะนำตัวหรือพูดคุยกับอาจารย์ให้น่าสนใจดีกว่าค่ะ

     2.อย่าทำอะไรเกินพอดี
     ไม่ว่าจะมากไปหรือน้อยไป ก็ไม่มีอะไรดีทั้งนั้นค่ะ ถ้าน้องๆ เลือกทำผลงานให้เรียบจนเกินไป Portfolio ก็อาจจะไม่โดดเด่นหรือน่าสนใจสำหรับกรรมการก็ได้ แต่ถ้าน้องๆ ทำผลงานโดยอยากให้โดดเด่นจนเกินไป ใส่สีมาไม่ซ้ำ แถมสลับกันไปมา แบบนี้อาจารย์ก็อาจจะตาลาย หรือตกใจจนปิด Portfolio แทบไม่ทันเลยค่ะ ดังนั้น เลือกให้พอร์ทของเราน่าสนใจแบบพอดีดีกว่านะคะ

     3.เน้นคณะ/สาขาที่สมัครเข้าไว้
     เชื่อว่า TCAS61 รอบนี้ จะต้องมีน้องๆ ขน Portfolio มาประชันกันมากกว่าเดิมแน่นอนค่ะ เพราะรอบนี้เป็นรอบที่เปิดรับน้องๆ ก่อนใครเพื่อนเลย แถมจำนวนรับก็ไม่ใช่น้อยๆ ด้วย ใครๆ ก็คงอยากมีที่เรียนกันไว้ก่อน ดังนั้น เรื่องไอเดียความสามารถคงจัดเต็ม แต่มีอีกหนึ่งเทคนิคค่ะที่เราควรทำ ถ้าอยากให้โดดเด่นจนอาจารย์ประทับใจ คือการที่น้องๆ ควรทำ Portfolio โดยคำนึงถึงคณะ/สาขาเข้าไว้ อาจจะเป็นหน้าปก ผลงาน หรือกิจกรรมใน Portfolio ที่ทำให้อาจารย์รู้ไปเลยค่ะ ว่าเราอยากเข้าอยากคณะ/สาขานี้จริงๆ แบบนี้รับรองว่าอาจารย์ประทับใจแน่นอน
 

          เป็นยังไงกันบ้างคะกับเคล็ดลับในการทำ Portfolio ที่พี่อีฟเอามาฝากกันวันนี้ น้องๆ คนไหนที่ยังกังวลใจ ก็ยังมีเวลาเตรียมตัวก่อนถึงเดือน ต.ค. ที่จะเริ่มเปิดรับรอบแรกกันนะคะ อย่าลืมว่าผลงานที่เกี่ยวข้องกับคณะ/สาขาที่เราสมัคร มีความคิดสร้างสรรค์ เรียบร้อย สวยงาม ก็ยังเป็น Portfolio ที่สวยงาม ถูกใจอาจารย์กรรมการทุกยุคทุกสมัยค่ะ :D
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ผิดลิขสิทธิ์ ขัดต่อหลักกฎหมาย หรือศีลธรรม

กำลังโหลด
กำลังโหลด