มีครบรึยังลองดู! เช็กลิสต์แพลนที่ทำให้เด็กซิ่วสอบติด By พี่เฟิร์น

        สวัสดีน้องๆ เด็กซิ่วที่น่ารักทุกคนนะคะ เหมือนไม่ได้เจอกันนานมากกก คิดถึง! เดือนหนึ่งเราจะได้เจอกันสักครั้งเนอะ วันนี้พี่เมก้าก็เลยพาพี่สาวคนพิเศษมาพบกับน้องๆ ด้วยค่ะ ปรบมือต้อนรับ "พี่เฟิร์น เมธาพร ศรีไพบูลย์" หน่อยเร้ว!!


 
        ประวัติการซิ่วของพี่เฟิร์นนั้นไม่ธรรมดานะคะ ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาหมดแล้วกว่าจะพบกับคณะที่ใช่ รับรองว่าน้องๆ อ่านบทความนี้จบ นอกจากจะได้แพลนดีๆ ที่ทำให้ซิ่วสอบติดแล้ว ยังช่วยเติมไฟให้กับตัวเองได้อีกเยอะเลยค่ะ

ทักทายน้องๆ หน่อยค่าาา
        สวัสดีค่ะน้องๆ พี่ชื่อ "เฟิร์น เมธาพร ศรีไพบูลย์" เรียกสั้นๆ ว่า "พี่เฟิร์น" ก็ได้ แอ่แฮร่! ครั้งหนึ่งพี่ก็เป็นเด็กซิ่วเหมือนน้องๆ นี่แหละค่ะ ซิ่วมาก็หลายครั้ง พี่สอบเข้ามหาวิทยาลัยครั้งแรกติดคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล หลังจากนั้นพี่ก็พยายามซิ่วเข้าทันตะฯ คณะที่เป็นเป้าหมายของพี่ตอนนั้น แต่ว่าก็ไม่ติดอีก คราวนี้เลยพยายามซิ่วเข้า "เภสัชฯ ศิลปากร" มาเรียนคณะที่สอบติดและรู้สึกโอเคที่สุดแล้วในศักยภาพที่เราทำได้ ตอนนี้ก็ใช้ชีวิตอยู่ในรั้วเขียวมะกอกมาจนถึงปี 3 แล้วค่ะ

กว่าจะซิ่วติดต้องมีแพลน
        ใช่ค่ะ! เป็นแพลนส่วนตัวที่เราควรเช็กตัวเองตั้งแต่ก่อนซิ่ว ระหว่างซิ่ว ไปจนถึงวันที่ซิ่วติดแล้วก็ยังใช้ได้อยู่ค่ะ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับน้องๆ ที่จะซิ่ว เลยอยากลองนำมาแบ่งปันดู

ควรถามตัวเองก่อนซิ่ว


 
        สิ่งแรกที่น้องๆ ควรทำคือถามตัวเองว่า "อยากได้คณะในฝันนั้นจริงๆ ไหม รู้จักคณะนั้นมากแค่ไหน" พี่ซิ่วมาหลายครั้ง เจอกับตัวเองมาเยอะว่า คณะในมุมที่พี่เคยมองก่อนซิ่ว พอได้มาสัมผัสจริงๆ มันไม่เหมือนกัน พี่เคยอยากเป็นทันตะฯ มากๆ แต่ตอนนี้กลับไม่ได้อยากสู้เพื่อจะเป็นขนาดนั้น แล้วชีวิตน้องต้องการคณะอะไรกันแน่ ตอบโจทย์ตรงนี้ให้ได้ก่อน เพราะการที่เราตัดสินใจซิ่ว แปลว่าเราต้องกล้าเสี่ยงกับเวลานะ แลกเวลาและค่าใช้จ่ายในการสอบต่างๆ ไป 1 ปี ซิ่วไม่ติดทบไปอีกหลายปี อยากให้คิดดีๆ ค่ะ ซิ่วแล้วมีความสุขลุยเลย แต่ถ้ายังกลัวๆ กล้าๆ ก็อย่าเพิ่งเลย มันเสี่ยง

ประเมินความสามารถตัวเอง
        พอรู้คณะเป้าหมายแล้ว น้องๆ ก็ต้องรีบมาประเมินตัวเองว่า "เราอยู่ในระดับไหน" วิธีก็ง่ายๆ ค่ะ หยิบเกรด หยิบคะแนนมาดูซิ ที่ผ่านมาเทียบกับเพื่อนในห้อง ในโรงเรียน เราอยู่ในระดับไหน แล้วถ้าสอบทั้งประเทศล่ะ ดูจากช่วงคะแนน สู้คนอื่นไหวรึเปล่า? ถ้าดูคะแนนแล้วมันห่างจากความเป็นจริงเกินไป เรายังอยู่ในระดับ Min อยู่เลย ให้โอกาสตัวเองแก้ตัวได้ ลองซิ่วได้ แต่ไม่ควรเกิน 1 ปี ถึงเวลาที่น้องต้องมองคณะที่อยู่ในขีดความสามารถตัวเองแล้วค่ะ มันคือความจริงที่ต้องยอมรับให้ได้นะ

ตุนแนวข้อสอบทุกช่องทาง
        น้องๆ ต้องพอรู้แนวข้อสอบมาบ้างว่าจะออกประมาณไหน ส่วนตัวพี่เฟิร์นแนะนำให้เน้นทำข้อสอบสัก 70% อ่านหนังสือ 30% ก็พอ ทำข้อสอบเก่าเยอะๆ มันเหมือนเราได้เผชิญข้อสอบด้วยตัวเอง รู้ว่าข้อสอบต้องการถามอะไร คุ้นชินกับโจทย์มากขึ้นด้วย ส่วนเรื่องหาแนวข้อสอบ อันนี้พี่ไม่ได้เอาใจพี่ๆ Dek-D นะคะ แต่พี่ชอบเข้าบอร์ดแอดมิชชั่นอ่านกระทู้รีวิวสอบจากพี่ๆ น้องๆ ในบอร์ดนี่แหละ คือได้ประโยชน์ เพราะได้เห็นข้อสอบจริง จากคนที่ไปเจอมาจริงๆ บางทีถ้ามีบทความติวเตอร์เข้ามาก็ได้แนวข้อสอบจากตรงนี้อีกทีหนึ่ง


 
        ถ้าซิ่วหลายปี อยากให้น้องๆ พยายามอัปเดตข้อมูลด้วย เพราะบางทีข้อสอบมันจะเปลี่ยนแนวไปเรื่อยๆ ค่ะ ตามอาจารย์ที่กวดวิชาไว้ด้วยก็ดี อย่างพี่สอบสายวิทย์สุขภาพ ก็ตามพี่ณัฐ อุดมพาณิชย์ กับเคมีครูกุ๊กค่ะ มักจะมีไกด์ไลน์ข้อสอบออกมาช่วงใกล้ๆ สอบ 

คาดการณ์แนวโน้มคะแนน
        ถ้าเคยซิ่วมาก่อนก็จะพอรู้บ้างว่าคะแนนเด้งประมาณไหน ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวได้ แต่ถ้าไม่เคย น้องๆ ลองดูแนวโน้มคะแนนย้อนหลังสัก 4 ปีอะค่ะ ความยากง่ายของข้อสอบจะยังไม่ทิ้งห่างกันมาก นำมาเทียบกับคะแนนเราเองจะค่อนข้างใกล้เคียงกับความเป็นจริงอยู่ว่า "ต้องทำคะแนนอีกเท่าไหร่ ถึงจะสอบติด" ถ้าจะปรึกษารุ่นพี่ที่เคยติดมาก่อน อยากให้เลือกรุ่นพี่ปรึกษาดีๆ เป็นคนที่ติดตามข่าวอยู่เสมอ รู้ข้อมูลทันกระแสปัจจุบัน คาดการณ์คะแนนตลอดทุกปี แล้วตามผลตลอดว่ามีน้องที่มาปรึกษาสอบติดทุกคนทุกปีจริงๆ เพราะถ้ารุ่นพี่รู้แค่ข้อมูลเก่าๆ อาจจะทำให้เราหยิบข้อมูลผิดๆ มาใช้ก็ได้  

มีโอกาสให้คว้าไว้
        โอกาสสำหรับเด็กซิ่วมันน้อยกว่าน้องๆ ม.6 อยู่แล้วค่ะ ดังนั้น หากมีการสอบไหนที่น้องๆ สอบได้ให้รีบคว้าไว้เลย อย่างเด็กซิ่วบางคนเน้น กสพท เพราะคณะตัวเองเปิดรับเยอะ ก็จะสอบแต่วิชาสามัญ กับวิชาเฉพาะแพทย์ ไม่สนใจคะแนนอื่นๆ เลย ซึ่งพี่ไม่แนะนำให้น้องทิ้งคะแนนทุกสนามสอบ เพื่อมุ่งไป กสพท ทางเดียว อยากให้สอบ GAT PAT ไว้ด้วย เผื่อมีรับตรงที่ไหนเปิด จะได้นำคะแนนไปใช้ได้

วางแผนคณะสำรอง
        อันนี้เป็นทริกส่วนตัวของพี่เอง น้องๆ ควรลิสต์คณะสำรองเผื่อไว้ด้วย แบบมี Plan A B C

        A = คณะที่เป็นทางเลือกที่เราโอเคที่สุด คือดีสุดแล้วรองจากคณะในฝัน
        B = คณะที่พลาดจาก A หรือคณะที่เรียนแล้วทรมานใจน้อยที่สุด เพราะแนวโน้มคะแนนแต่ละปีมันเหวี่ยงได้ ให้เลือกคณะที่มีประโยชน์ต่อการซิ่วไปคณะในฝันอีกรอบ หรือคณะ A ก็ได้ ถ้ากล้าเสี่ยงซิ่วอีกปีนะคะ          
        C = คณะอะไรก็ได้ที่เป็นผลผลิตจากการเปิดใจให้เวลากับสิ่งใหม่ หากพลาดมาถึงขั้นนี้ น้องอาจจะต้องจัด Plan หรือปรับเปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิตใหม่เลย คือเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามต้องการให้ได้

        ส่วนใหญ่น้องๆ เด็กซิ่วจะพลาดมาไม่ถึงคณะแพลน C หรอกค่ะ แต่ถึงจะมาถึงแพลน C ก็ไม่เป็นไร หลายคนนะคะที่พี่เฟิร์นเคยเห็นว่าไม่ยอมแพ้กับการซิ่วจนจิตใจย่ำแย่ แล้วเสียโอกาสยิ่งกว่าเดิม พี่แนะนำให้น้องๆ มองว่า "บางครั้งการเลือกรถไฟผิดขบวนก็อาจพาเราไปเจอทางที่ใช่" น้องอาจถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องเลือกคณะที่ไม่ถูกใจเรา แต่บางทีการฝืนใจเลือกมันอาจจะดีกว่าการที่เราทุ่มเท ดึงดันเพื่อจะไปจนหมดแรง แต่ก็ยังไปไม่ถึง 
น้องอาจพบว่าคณะที่เราเลือกนั้นเหมาะสมกับเรามากกว่าคณะในฝันซะอีก การประสบความสำเร็จเรื่องเรียนไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต การเรียนเป็นแค่ส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตเท่านั้นค่ะ

อย่าตึงเกินไป
        วินัยและความรับผิดชอบสำคัญกับการซิ่วก็จริงค่ะ แต่อย่า Strict ตัวเองมากไป อย่างตัวพี่เฟิร์นเองก็ไม่ใช่เด็กซิ่วที่เนิร์ดมาก อ่านหนังสือตลอดเวลานะคะ พี่ทุ่มอย่างรู้ระดับตัวเองค่ะ คือดูรวบยอดว่าวันนี้จะต้องทำอะไรบ้าง เช่น อ่านหนังสือ 3 วิชา วิชาละกี่บท ทำข้อสอบเก่ากี่วิชา กี่พาร์ท ฯลฯ วันหนึ่งต้องทำให้เสร็จ แต่ยืดหยุ่นได้ว่าเหนื่อยก็พัก จะไม่บังคับตัวเองว่าต้องอ่านติดกันกี่ชั่วโมงเป๊ะๆ มันล้า


 
หมดไฟต้องคลายเครียด
        เด็กซิ่วน่าจะเข้าใจอารมณ์เหมือนกันคือมันเครียดมากกก เวลากดดันพี่จะใช้เวลาไปกับการทำสิ่งที่ตัวเองชอบค่ะ พี่เล่นกับน้องหมา เค้าทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว อีกวิธีคือคุยกับเพื่อนสนิท เลือกคนที่เค้าแคร์เราจริงๆ นะ ไม่ใช่ไปคุยกับเพื่อนช่างติอะค่ะ ขอให้ได้ตำหนิเราไว้ก่อน ระวังเลย! เพราะฟังแล้วค่อนข้างทำร้ายจิตใจมาก คนรอบข้างก็มีส่วนนะว่าจะทำให้เราเครียดหรือไม่เครียด

ให้กำลังใจตัวเอง
        กำลังใจก็มีผลต่อการทำให้เราซิ่วติดเหมือนกันนะคะ อยากให้น้องๆ คิดถึงอนาคตตัวเองเยอะๆ ว่าถ้าเราผ่านไปได้ เราก็จะประสบความสำเร็จไปอีกก้าว เราจะใช้ชีวิตอย่างอิสระได้ พี่เฟิร์นมักจะอ่านงานเขียนให้กำลังใจบ่อยๆ ค่ะ นักเขียนในดวงใจของพี่คือคุณปะการัง เขาสอนให้เรามองโลกในความเป็นจริง แต่ก็ให้กำลังใจค่ะ ถ้าน้องๆ กำลังท้อแท้อยู่ ลองหามาอ่านดูนะคะ รับรองว่าเติมไฟให้ได้แน่นอน!

ฝากถึงเด็กซิ่วหลายปี
        สำหรับน้องๆ ที่ซิ่วหลายปี แต่ยังสับสนกับทางของตัวเอง ยังไม่รู้ว่าอะไรคือคณะที่ใช่สำหรับเรา พี่เฟิร์นแนะนำให้หยุดคิดเรื่องซิ่วสักพัก แล้วอ่านหนังสือเยอะๆ หนังสืออะไรก็ได้ที่จะช่วยเปิดประสบการณ์ชีวิตให้เรา น้องจะได้ไม่จมอยู่กับความคิดตัวเองที่ยังไม่กว้างพอ เราต้องมองอะไรที่หลุดโฟกัสจากเรื่องเรียนบ้างค่ะ ลองถามตัวเองก็ได้ว่าอยากใช้ชีวิตในอนาคตยังไงก่อนเลือกคณะ แล้วคณะที่เลือกจะมาเติมเต็มชีวิตเราได้ยังไงบ้าง

        ส่วนน้องๆ ที่ซิ่วหลายปี แต่ยังไม่ติดสักที การไล่ตามความฝันเป็นสิ่งที่ดีนะคะ แต่พี่ไม่อยากให้น้องๆ ตีกรอบชีวิตตัวเองไว้แค่คณะอันดับ 1 ไม่ใช่ว่าเราต้องได้อันดับ 1 เสมอไปถึงจะประสบความสำเร็จ น้องสามารถมีความสุขกับสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ได้กับคณะที่เป็นความฝันรองลงมา เลือกคณะที่เราโอเคกับการเรียนและใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างมีความสุขแค่นั้นก็พอแล้ว เอาความสุขของตัวเองเป็นหลัก ไม่ต้องสนใจคนอื่นนะคะ ตัดสินใจด้วยตัวเอง เพราะคนอื่นไม่ได้รับผิดชอบความสำเร็จหรือความล้มเหลวของเรา มีแต่เราที่ต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองค่ะ สู้ๆ

        โอ้โห! ปิดท้ายได้คมคายมาก เชื่อว่าน้องๆ ที่กำลังเตรียมตัวซิ่ว คงพอรู้แนวทางที่จะทำให้ตัวเองสอบติดขึ้นอีกเยอะ พี่เมก้าก็ขอขอบคุณพี่เฟิร์นผ่านทางบทความนี้อีกครั้งนะคะ ยืนยันว่าพี่สาวคนนี้แกร่ง มุ่งมั่น และอดทนต่อการซิ่วมากจริงๆ ค่ะ น้องคนไหนที่พยายามอยู่ ก็สู้เข้านะคะ อีกไม่นานได้พบกับความสำเร็จแบบพี่เฟิร์นแน่นอน!!  
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด