เวลาจะสมัครสอบ TCAS หรือ รับตรง แต่ละที น้องๆ ต้องเตรียมเอกสารเยอะแยะมากมาย ทั้งใบสมัคร หลักฐานการยืนยันตนและหลักฐานทางการศึกษาต่างๆ เตรียมไปเตรียมมาหลายคนก็คงปวดหัว โดยเฉพาะกับพวกเอกสารหลักฐานทางการศึกษาที่ต้องทำเรื่องขอกับทางโรงเรียน ต้องใช้ระยะเวลาหลายวัน แถมมีหลายอย่างอีกด้วย ถ้าใครขอผิดใบ ต้องกลับไปขอใหม่ เสียเวลา เสียอารมณ์ บางทีอาจจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มด้วยนะ
 

 
     วันนี้พี่แนนนี่ก็จะมาบอกเคล็ดลับป้องกันอาการปวดหัวกับเอกสารหลักฐานทางการศึกษา ค่ะ ถ้าพร้อมแล้ว ไปลุยกับบรรดาเอกสารกองโตกันก่อนเลย
 
     ก่อนอื่นเลย น้องๆ ต้องทำความรู้จักกับเจ้าตัวปัญหาก่อน นั่นก็คือ เอกสารหลักฐานทางการศึกษา หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อ “ปพ.” ย่อมาจาก “เอกสารประเมินผลตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน" เป็นเอกสารหลักฐานการศึกษาประจำโรงเรียน ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดขึ้น มีทั้งหมด 9 ประเภท ซึ่งก็ทำหน้าที่แตกต่างกัน แต่ว่าหน้าตาของเอกสารประเภทเดียวกันของทุกโรงเรียนจะเหมือนกันค่ะ
 
ปพ. 1 ระเบียนแสดงผลการเรียน
     เอกสารบันทึกผลการเรียนของนักเรียน ทุกกลุ่มสาระวิชา และกิจกรรมต่างๆ ที่ได้เรียนในแต่ละช่วงชั้นของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  จะได้รับเมื่อเรียนจบในแต่ละช่วงชั้น คือ ช่วงชั้นที่ 1 (ป.3) ช่วงชั้นที่ 2 (ป.6) ช่วงชั้นที่ 3 (ม.3) และช่วงชั้นที่4 (ม.6) สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานแสดงสถานภาพและผลการเรียนของนักเรียนแต่ละคน เป็นหลักฐานในการสมัครเข้าเรียนต่อ และการสมัครเข้าทำงาน
 

 
ปพ. 2 หลักฐานแสดงวุฒิการศึกษา
     ประกาศนียบัตรที่จะได้รับเมื่อจบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี (จบม.3) และสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน (12 ปี จบ ม.6) น้องๆ สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานแสดงระดับวุฒิการศึกษาของตัวเองได้ค่ะ
 

 
ปพ. 3 แบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา
     แบบรายงานรายชื่อและข้อมูลของนักเรียนที่จบการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับและหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช้เป็นหลักฐานสำหรับตรวจสอบ ยืนยันและรับรองวุฒิการศึกษาของนักเรียนแต่ละคน โดยโรงเรียนจะส่งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษาจะส่งไปให้กระทรวงศึกษาธิการ
 
ปพ. 4 แบบแสดงผลการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์
     เอกสารรายงานพัฒนาการ ด้านคุณลักษณะของนักเรียนเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม ค่านิยม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่โรงเรียนกำหนดขึ้น โรงเรียนจะจัดทำขึ้นให้นักเรียนทุกคนควบคู่กับระเบียนแสดงผลการเรียน(ปพ.1) ใช้เป็นหลักฐานแสดงคุณสมบัติของนร.ประกอบในการสมัครเข้าศึกษาต่อ หรือสมัครทำงาน
 
ปพ. 5 แบบบันทึกผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
     เอกสารที่บันทึกเวลาเรียน ข้อมูลการวัดและประเมินผลการเรียน และข้อมูลการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนแต่ละคน เพื่อตัดสินผลการเรียน รวมทั้งใช้เป็นหลักฐานสำหรับตรวจสอบ ยืนยัน ด้านการเรียน การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ในวิชาที่เรียนค่ะ
 

Cr: http://bit.ly/2wrfXU9

 
ปพ. 6 แบบรายงานผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนรายบุคคล
     สมุดแจ้งเกรด หรือสมุดบันทึกผลการเรียน หรือที่เรียกกันติดปากว่า "สมุดพก" ซึ่งครูประจำชั้นจะต้องออกให้นักเรียนเป็นเทอม หรือเป็นปีก็ได้ค่ะ เพื่อให้นักเรียนนำกลับไปแจ้งผลการเรียนกับผู้ปกครอง ฮั่นแน่!! สารภาพมา ใครชอบเอาไปแอบพ่อกับแม่ ไม่ให้ดูบ้าง
 

Cr: http://bit.ly/2wb525C

 
ปพ. 7 ใบรับรองผลการศึกษา
     ใบรับรองสถานภาพชั่วคราว ว่าเป็นนักเรียนของโรงเรียนนั้นจริงๆ หรือใช้เป็นหลักฐานชั่วคราวแทน ปพ.1 เพราะใบ ปพ.1 จะออกตอนที่เราจบในแต่ละช่วงชั้น และ ปพ.7 จะมีอายุแค่ 120 วัน หรือ 4 เดือน สำหรับการขอแต่ละครั้ง ซึ่งจะต้องมีตราโรงเรียนประทับอยู่ด้วย
 

 
ปพ. 8 เอกสารระเบียนสะสม
     เอกสารที่มีข้อมูลทุกอย่างของนักเรียน เกี่ยวกับพัฒนาการและผลงานด้านต่างๆ ของนักเรียน ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน เพื่อเป็นการทำความรู้จักนักเรียน และแลกเปลี่ยนข้อมูลในการช่วยเหลือดูแลนักเรียน โดยปกติโรงเรียนจะเก็บข้อมูลตอนม.1 หรือม.4 และพยายามทำให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันที่สุด
 
ปพ. 9 สมุดบันทึกผลการเรียนรู้
     เอกสารที่โรงเรียนทำขึ้นเพื่อบันทึกรายวิชาต่างๆ ที่นักเรียนจะต้องได้เรียนตามโครงสร้างหลักสูตรของโรงเรียน และผลการประเมิน ผลการเรียนแต่ละวิชา ถ้านักเรียนย้ายโรงเรียนจะสามารถนำไปใช้เทียบโอนวิชาเรียนได้
 
     ในส่วนของการสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย มักใช้หลักฐานการสมัครอยู่ 3 ชิ้น คือ ปพ.1 ปพ.2 และ ปพ.7 ซึ่งถ้าน้องยังเป็นนักเรียน ม.6 อยู่ จะใช้ ปพ.1 กับ ปพ.7 เป็นหลัก ส่วนน้องจบ ม.6 แล้วจะใช้ ปพ.1 กับ ปพ.2 เป็นหลัก ทั้งนี้อยู่ที่แต่ละคณะแต่ละมหาวิทยาลัยด้วยค่ะ
      สำหรับการยื่นคำร้องขอเอกสารหลักฐานทางการศึกษา บางโรงเรียนก็ให้นักเรียนไปที่ห้องธุรการ บางที่ก็ห้องทะเบียน บางที่ก็ฝ่ายวิชาการ แล้วแต่การจัดการของแต่ละโรงเรียน แถมบางโรงเรียนยังเรียกเก็บค่าธรรมเนียมด้วย
      ส่วนระยะเวลาในการขอเอกสาร ส่วนใหญ่จะประมาณ 3-7 วันทำการ (ไม่นับวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) หมายความว่า ถ้าน้องๆ ยื่นคำร้องไปวัันศุกร์ ก็จะนับวันจันทร์เป็นวันที่ 1 นั่นเอง ดังนั้นทางที่ดี น้องๆ ควรถามครูประจำชั้น หรือครูผู้สอนก่อนนะคะ

 

 
      ตอนนี้เราก็ทำความรู้จักเจ้าตัวปัญหาไปเรียบร้อยแล้ว ทีนี้ขั้นตอนต่อไปคือ น้องๆ ต้องอ่านระเบียบการสมัครสอบของคณะที่ต้องการให้ละเอียด แล้วเขียน Check list ออกมาว่าสมัครสอบเมื่อไหร่ ส่งเอกสารสอบเมื่อไหร่ และต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ซึ่งถ้าน้องต้องการสมัครหลายๆ ที่พร้อมกัน พี่แนนนี่ก็แนะนำว่า ให้เขียนไว้ทีละคณะ ทีละมหาวิทยาลัยจะดีกว่าค่ะ
 

 
      จากนั้นน้องก็วางตารางเตรียมเอกสาร ดูจาก Check list ที่ทำไว้ว่า ต้องใช้ใบ ปพ.อะไรบ้าง ใช้ทั้งหมดกี่ใบ แล้วมาดูว่ากำหนดวันที่ต้องส่งเอกสารการสมัครคือวันไหน แล้วน้องๆ ก็ลองนับปฏิทินล่วงหน้าก่อนวันสมัครสัก 10-15 วัน ให้เป็นวันที่ไปยื่นใบคำร้อง เพราะกำหนดที่ช้าสุดคือ 7 วันทำการ พี่เลยแนะนำให้เผื่อเวลาเอาไว้ก่อน ถ้าหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นจะได้แก้ไขได้ทันเวลาค่ะ
      แล้วอย่าลืม!! ดูว่าเขาต้องการตัวจริง หรือสำเนา ถ้าเป็นสำเนาก็ต้องเซ็นชื่อ-นามสกุลรับรองกำกับให้เรียบร้อยด้วยนะ รู้แบบนี้แล้ว ก็วางแผนเตรียมตัวกันให้ดีดี จะได้ไม่ปวดหัว และไม่ผิดพลาดกันนะคะ
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น