มาดู 7 วิธีการอ่านหนังสือที่ #dek61 บอกว่าเวิร์ค แต่พี่ว่ามันไม่ใช่!


          วัสดีค่ะ หลังจากที่ผ่านช่วงพีคของการสมัครสอบ GAT PAT และ 9 วิชาสามัญไปแล้ว ก็เหลือแต่รอ รอ และรอ เพื่อสอบในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.61 นับไปนับมาเหลือไม่ถึง 3 เดือนเต็มเลยด้วยซ้ำ น้องๆ เริ่มอ่านหนังสือกันแล้วใช่มั้ยคะ?

           แต่การสอบมันติดกันมาก ยังมี O-NET อีกอย่างที่สอบช่วงนั้น ไม่ว่ายังไงก็ต้องอ่านครบทุกวิชาอยู่ดี เลยมีหลายคนที่อ่านหนังสือด้วยวิธีลัดมากมาย แต่ดูไปดูมามันแปลกๆ พี่แป้งเลยรวบรวมมาเป็น
7 วิธีการอ่านหนังสือที่ #dek61 บอกว่าเวิร์ค แต่พี่ว่ามันไม่ใช่!  ไปดูกันค่ะ
 

1.อ่านโต้รุ้ง
           เป็นวิธีที่ฮิตที่สุดในวิธีการอ่านที่สุด ว่ากันว่าการอ่านโต้รุ่งแล้วไปสบเลย จะทำให้เราไม่ลืมแน่ๆ ... ใช่ค่ะ เราอาจจะไม่ลืมที่เราอ่านไป แต่ร่างกายเราพังแน่ก่อนไปถึงห้องสอบซะอีก เผลอๆ ไปเบลอใส่ข้อสอบ ตอบผิดแบบไม่รู้ตัว

คำแนะนำ: ไม่ว่าจะอ่านโต้รุ่งในคืนไหนๆ ยังไงคืนก่อนสอบต้องได้นอนนะคะ

2.อ่านแค่พารากราฟแรก
           รุ่นพี่หลายคนชอบบอกว่าใจความสำคัญอยู่พารากราฟแรก แต่แก ... มันไม่ได้เป็นแบบนั้นทุกวิชา จะอ่านแบบพารากราฟแรกทั้งหมดไม่ได้ วิธีการอ่านแค่พารากราฟแรกกับพารากราฟสุดท้าย เอาไว้ใช้ตอนทำข้อสอบ Reading ของภาษาอังกฤษพอค่ะ

คำแนะนำ: อ่านเนื้อหาให้ครบ อย่างน้อย 1 รอบก็ยังดี เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาในเรื่องนั้นๆ

3.อ่านเฉพาะโจทย์ที่ทำถูก
           แน่นอนว่าการอ่านหนังสือต้องควบคู่ไปกับการทำโจทย์ และวิธีการที่ใช้กันคือ อ่านเฉพาะโจทย์ข้อที่ทำถูก เพราะว่าทำถูกไปแล้ว เลยจำได้มากกว่าโจทย์ข้อที่ผิด เอ้า!!!!! แล้วคือยังไงอะ มันจะออกข้อสอบแต่โจทย์ข้อที่เราทำถูกหรอ? แล้วถ้าทำไม่ถูกเลยก็ไม่ต้องอ่านเลยงี้?

คำแนะนำ: ข้อไหนที่ทำผิดก็อ่านด้วย แล้วอ่านเนื้อหาเรื่องนั้นเพื่อจำได้แม่นขึ้น
 

4.อ่านสรุปของสรุปอีกที
           คนเรามันจะขี้เกียจได้เบอร์ไหน ... อ่อ เบอร์นี้แหละค่ะ เบอร์ที่อ่านสรุปของสรุปอีกที คือเอาสรุปเพื่อนมาสรุปอีกรอบนึง การทำสรุปคือใจความสำคัญมากอยู่แล้ว ก็ย่อให้สั้นลงไปอีกจนบางทีก็ไม่รู้เรื่อง (ก็แหงล่ะ) อ่านแบบนี้พี่อยากถามว่า หนูจะเอาอะไรไปสอบลูกกกกกกกกก

คำแนะนำ: สรุปใดในโลกที่ได้มา ถ้าเป็นสรุปมาแล้ว อ่านเถอะ อย่าไปสรุปมันอีก

5.อ่านแต่หัวข้อ
           บางคนชอบบลัฟเพื่อนประมาณว่า อ่านเล่มนั้นจบแล้ว เล่มนี้ก็จบแล้ว แต่การอ่านก็คืออ่านแต่หัวข้อ โดยเฉพาะวิชาที่เนื้อหาเยอะๆ อย่างชีววิทยา สังคมศึกษา ภาษาไทย อ่านแต่หัวข้อหลักๆ แล้วปิดจบ เหมือนรู้ว่าโครงมีอะไร แต่ไม่รู้ไส้ในอะไรเลย มันก็จะกลวงๆ หน่อย

คำแนะนำ: อ่านวนไปค่ะ ถ้าไม่ได้ก็บอกไม่ได้ อย่าบอกคนอื่นว่าได้ มันเสียหน้า

6.อ่านแบบข้ามๆ
           ต่อจากการอ่านแต่หัวข้อ ก็คือการอ่านแบบข้ามๆ นี่แหละค่ะ เหมือนหลอกตัวเองว่าอ่านแล้ว แต่อ่านข้ามๆ คือข้ามจากสายตาออกจากสมองไปเลย อ่านแล้วไม่ได้เข้าใจหรือจำอะไรเลยได้ เป็นการอ่านที่เสียเวลาที่สุด ถ้าปลอบใจตัวเองก็คือ อย่างน้อยก็ได้ผ่านตาบ้าง

คำแนะนำ: ก่อนหน้าให้ตั้งสมาธิก่อน ถ้าถึงจังหวะที่ไม่เข้าหัวแล้วควรหยุดพักสัก 10-15 นาทีแล้วค่อยอ่านต่อ
 

7.อ่านไปเล่นมือถือไป
           เชื่อว่าหลายคนเคยเจอ แบบทักเพื่อนไป-ทำอะไรอยู่แก เพื่อนตอบ-อ่านหนังสืออยู่ คืออ่านไปเล่นมือถือไปนั่นเอง ถือจะอ่าน แต่ก็ตั้งสเตตัสได้ กดไลก์รูปในไอจีได้ ตอบไลน์ได้ เก๋ป่ะหล่ะ ไม่เลยจ้าาาาา สมาธิไม่อยู่ตรงนี้เลยจ้าาาาาา

คำแนะนำ: หยุดทุกสิ่งแล้ววางมือถือไกลๆ อ่านให้จบที่เราตั้งเป้าแล้วค่อยกลับมาเล่น

           ถ้าใครยังทำวิธีเหล่านี้อยู่ ลองกลับไปเทสกับตัวเองว่ามันเวิร์คมั้ย (แต่พี่ว่าไม่) ส่วนใหญ่เป็นการอ่านแบบจำในระยะสั้นเท่านั้น แปบเดียวก็ลืม ลองรื้อใหม่แล้วตั้งต้นใหม่ตอนนี้ก็ยังไม่สายนะคะ วางแผนดีๆ กลั้นใจอีกนิด สอบเสร็จก็สบายแล้ว :)


 
พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น