แชร์เทคนิค อ่านไทย-สังคมฯ ไม่ให้หลับก่อนอ่านจบ! ที่เด็กวิทย์ก็เอาไปใช้ได้

        โค้งสุดท้ายจริงๆ แล้วสำหรับการเตรียมตัวสอบของเด็ก ม.6 ที่จะต้องสอบ 4 สัปดาห์รวด คือ GAT PAT, O-NET, วิชาเฉพาะแพทย์ และ 9 วิชาสามัญ แม้ว่าวิชาอื่นๆ จะเลือกสอบได้ แต่ O-NET บังคับสอบทุกวิชา ทำให้น้องๆ ที่เตรียมตัวไม่ทัน หรือเด็กสายวิทย์ ที่ไม่ถนัดวิชาสายนี้อยู่แล้ว มักจะ "เท" บางวิชาไป "ภาษาไทย" และ "สังคมศึกษา" มักจะเป็น 2 ตัวเลือกนั้น
       ความยากของ 2 วิชานี้คือ เนื้อหาเยอะ กว้าง โดยเฉพาะวิชาสังคมที่ออกครอบจักรวาลจนเนื้อหาตีกันไปหมด ในขณะที่ภาษาไทย เนื้อหาก็เยอะ กฎเยอะ ถ้าไม่ท่องจำก็ทำแทบไม่ได้ จริงๆ แล้วการอ่านในเวลาน้อยๆ ก็พอมีเทคนิคอยู่นะคะ มาดูให้เป็นแนวทางแล้วนำไปปรับใช้กันค่ะ


 

    อ่านภาษาไทยยังไงดี?
    ภาษาไทยจะว่าง่ายก็ง่าย แต่คนที่ไม่เข้าใจเลย มันจะยากมากๆ ค่ะ เพราะมีกฎไวยากรณ์เต็มไปหมด พี่มิ้นท์มี 3 เทคนิคที่จะช่วยให้อ่านเรื่องต่างๆ ง่ายขึ้น ไม่น่าเบื่อ และนำไปใช้สอบได้จริง แต่ต้องบอกก่อนว่าข้อสอบส่วนใหญ่จะเป็นส่วนผสมระหว่างหลักการใช้ภาษา วรรณคดี และการนำไปใช้ ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน
  

   หาต้นแบบบทกลอน / สร้างประโยคการจำขึ้นมาใหม่
     ปัญหาหลักที่เจอส่วนมาก คือ พอเจอถามเรื่องฉันทลักษณ์ในบทกลอน หรือ ให้ผันวรรณยุกต์ อักษรสูง อักษรต่ำ หลายคนเทไปเลย เพราะนับไม่ถูก ผันไม่เป็น บอกเลยว่า ใครทำพาร์ทนี้ได้ โกยคะแนนให้ทิ้งห่างคนอื่นได้เยอะมาก
     วิธีแก้คือ ให้สร้างประโยคในการจำขึ้นมาเอง คล้ายๆ จำเป็นเพลงในภาษาอังกฤษนั่นแหละค่ะ เหมือนที่แต่เด็กเราท่องกันว่า ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง คือ อักษรกลาง ก็จะรู้ได้ทันทีเลยว่า อักษรกลางประกอบไปด้วย ก จ ด ฎ ต ฏ บ ป อ นั่นเอง ลองสร้างแพทเทิร์นการจำในสิ่งทีเราไม่เคยจำได้ จะสนุกและดึงขึ้นมาใช้งานได้ดีขึ้น
     ส่วนพวกฉันทลักษณ์บทกลอนต่างๆ จะมานั่งจำรูปเอก โท อยู่ตรงไหน ก็ดูจะเปลืองเวลาชีวิตมาก หากลอนดังๆ ที่เป็นต้นแบบของคำประพันธ์ชนิดนั้นมาแล้วจำเป็นกลอนไปเลย เหมือนที่เราจำ "เสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย" ให้เป็นต้นแบบของโคลงสี่สุภาพ เวลาต้องใช้ก็ร่างออกมาเป็นแผนผังได้เลย สะดวกมาก
 
   
ฝึกอ่านบทความหลายๆ แบบ
    หลายคนอาจจะบอกว่าพี่คะ อ่านหนังสือปกติก็เบื่อจะแย่อยู่แล้ว ยังต้องให้อ่านบทความอะไรอีก น้องๆ คงคิดเหมือนที่พี่มิ้นท์คิดแหละค่ะ ว่าอ่านหนังสืออะไรก็ไม่น่าเบื่อเท่าหนังสือเรียน ในเมื่อภาษาไทยมีวัดเรื่องการใช้ภาษา เราก็ต้องหาแหล่งจริงเลย ไม่ว่าจะเป็นอ่านนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หนังสือเรียน หนังสือวิชาการ ใบประกาศ ป้ายรณรงค์ต่างๆ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปตามหาอ่านวันเดียวให้หมดนะคะ สามารถอ่านสะสมได้ตั้งแต่วันนี้
     ประโยชน์ของการอ่านงานหลายๆ แบบมีอะไรบ้าง? ก็เพื่อได้เห็นรูปแบบของงานเขียนหลายๆ ประเภท ตรงนี้แหละที่ทำให้เราเห็นว่า การเขียนคนละประเภท มีระดับการใช้ภาษาที่แตกต่างกัน ซึ่งข้อสอบเรื่องระดับภาษาก็มีออกทุกปีนะจะบอกให้ นอกจากได้เห็นระดับภาษาแล้ว ยังได้ฝึกการจับใจความด้วย ทุกครั้งที่อ่าน น้องๆ อย่าลืมสรุปให้ตัวเองฟังเบาๆ ว่า ใจความสำคัญของสื่อชนิดนั้นคืออะไร ผู้เขียนมีจุดประสงค์แบบไหน แค่นี้เราก็สามารถฝึกการอ่านนอกตำราเรียนได้แล้ว

    อ่านสรุปเรื่องวรรณคดี
     วรรณคดีเป็นเรื่องยากและน่าเบื่อสำหรับหลายๆ คน เพราะกว่าจะถอดความแต่ละวรรคได้ก็แทบจะหลับแล้ว พี่มิ้นท์แนะนำให้น้องๆ อ่านเรื่องย่อที่ถอดความมาแล้วก่อนเลยค่ะ ให้เราเข้าใจเรื่องทั้งหมด ซึ่งวรรณคดีทุกเรื่องสนุก การที่เราอ่านเวอร์ชั่นที่มันสนุก มันจะไม่น่าเบื่อ หลังจากรู้เนื้อเรื่องนั้นคร่าวๆ แล้ว การกลับมาอ่านต้นฉบับที่เป็นบทกลอนจะไม่ยาก เป็นการอ่านเก็บรายละเอียดค่ะ

    อ่านสังคมศึกษายังไงดี?
    ความกว้างของวิชาสังคมศึกษาก็เหมือนมหาสมุทรค่ะ กว้างสุดลูกหูลูกตา ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องประวัติศาสตร์ การปกครอง การเมือง เศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ศาสนา ฯลฯ เรียกว่าใจไม่รักจริง ไม่มีใครอ่านจบแน่นอน พี่มิ้นท์มีทริกการอ่านเรื่องที่มีรายละเอียดเยอะๆ ให้จำได้ง่ายขึ้นค่ะ มาลองกัน

    ศาสนา
     เคยมั้ยที่เจอข้อสอบถามหลักธรรม แล้วก็ทะเลาะกับตัวเอง เห้ยย อันนี้อริยสัจ 4 หรือ อิทธิบาท 4 หรือ สังคหวัตถุ 4 กันแน่? ทุกอย่างล้วนลงท้ายด้วย 4 หมด จำผิดจำถูก แล้วไปนั่งงงในห้อง ท่องจำเอาแบบนี้ไม่น่าเวิร์กนะ มี 2 วิธีมาให้เลือกค่ะ
     วิธีที่ 1 ทำตารางเปรียบเทียบหลักธรรมในพระพุทธศาสนา >> ความหมาย ประกอบด้วยอะไรบ้าง แต่ละตัวมีเพื่ออะไร การรวมอยู่ใน A4 แผ่นเดียว แล้วมองเป็นภาพ จำง่ายกว่าการนั่งท่องทีละอันไปเรื่อยๆ
     วิธีที่ 2 สร้างสตอรี่ ให้หลักธรรม เพื่อช่วยเชื่อมโยงว่าหลักธรรมไหนเหมาะกับเรื่องไหนในชีวิตประจำวัน เช่น
          นาย A เป็นนักเรียน ม.6 มุ่งมั่นจะเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ให้ได้ ต้องใช้อิทธิบาท 4 เข้าช่วย (เราก็จะเก็ทแล้วว่า อิทธิบาท 4 คือ ธรรมแห่งความสำเร็จ : ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา)
          นาย B และ นาง C เพิ่งแต่งงานกัน จะใช้ชีวิตครอบครัวให้รอด ต้องมี ฆราวาสธรรม 4 เข้าช่วย (เราก็เก็ทแล้วว่า ฆราวาสธรรม 4 คือ ธรรมสำหรับการครองเรือน : สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ)
    
     นี่เป็นแค่ตัวอย่างนะคะ ลองนำหลักธรรมแต่ละหมวดไปผูกเรื่องกับชีวิตประจำวันดูค่ะ แล้วเอาธรรมแต่ละข้อไปใส่ในเรื่องของเราด้วย เราจะจำง่ายขึ้น 90% เลย
    
  
ทำไทมไลน์เทียบประวัติศาสตร์ไทย-สากล
    ถ้าต้องจำประวัติศาสตร์ไทยแบบ พ.ศ. ไปพร้อมๆ กับจำประวัติศาสตร์โลก แบบ ค.ศ. มีหวังสมองระเบิดแน่ๆ ค่ะ แต่ถ้ามันต้องจำจริงๆ ก็ต้องทำให้ได้เนอะ วิธีนี้จะทำให้เรียงลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ได้ทั้งโลก วิธีการก็คือ การทำเส้นไทม์ไลน์ โดยจะเรียงเป็น พ.ศ. หรือ ค.ศ. ก็ได้แล้วแต่ถนัด และใส่ข้อมูลเรียงตามเส้นไปเลย จะเห็นเลยว่า ในแต่ละช่วงเวลา เหตุการณ์ของไทยตรงกับเหตุการณ์อะไรของโลก ทำให้เข้าใจและมองภาพรวมประวัติศาสตร์มากขึ้น แถมเวลาดึงความรู้มาใช้ ก็แค่นึกเป็นภาพไทม์ไลน์ที่สร้างขึ้นมาเท่านั้นเองค่ะ


credit:
http://rs4hiland.blogspot.com/2015/10/timeline-of-ancient-civilisation.html?spref=pi

ตัวอย่างการทำไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์
น้องๆ ออกแบบใส่ทั้งประวัติศาสตร์ไทย-สากลในเส้นเดียวกันได้เลย

   ดูหนัง-ละคร เชื่อมโยงกันหลายๆ เรื่อง
     อีกวิธีของการเรียนประวัติศาสตร์ ก็คือ การดูหนัง-ละครเยอะๆ ค่ะ ถึงแม้ว่าละครจะมีการปรับเพิ่มเสริมเนื้อหา แต่จะยังคงเค้าเดิมของประวัติศาสตร์ไว้ อย่างตอนที่ละครบุพเพสันนิวาสออนแอร์ จากคนที่ไม่เคยรู้ประวัติศาสตร์ ก็ได้รู้จักเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ได้รู้จักหมื่นสุนทรเทวา ซึ่งตัวละครต่างๆ เป็นตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ค่ะ หากดูละครที่นำเสนอในช่วงเวลาเดียวกันหรือต่อๆ กัน ก็จะประติดประต่อเรื่องกันได้เลย


   เศรษฐศาสตร์
     เศรษฐศาสตร์เหมือนเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ ใกล้ตัวมากๆ เพราะเงินๆ ทองๆ การซื้อขาย หรือ นโยบายการเงิน การคลังของรัฐ ล้วนเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของเราค่ะ อ่านแล้วต้องแปลงจากภาษาทางการให้เป็นคำอธิบายง่ายๆ โยงเข้ากับชีวิตประจำวันให้ได้ ยกตัวอย่างเช่น
     เงินเฟ้อ คือ การที่อำนาจการซื้อของเงินลดลง จากที่เคยซื้อก๋วยเตี๋ยวชามละ 30 บาท กลายมาเป็น 50 บาท หมายความว่ามีเงินเท่าเดิม แต่ซื้อของได้น้อยลง แต่เงินเฟ้อทำให้เงินอยู่ในตลาดเยอะ รัฐต้องออกแนวทางเพิ่มดอกเบี้ย เพื่อให้คนเก็บเงินมากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจจะกู้เงินก็ต้องคิดเพราะดอกเบี้ยเพิ่ม อาจชะลอการผลิต เพื่อลดปริมาณเงินในระบบนั่นเอง มันจะเกี่ยวข้องกันหมดนี่แหละค่ะ ทั้งประชาชน ภาคธุรกิจ และรัฐบาล
      เงินฝืด ตรงกันข้ามกับเงินเฟ้อ คือ การที่อำนาจการซื้อของเงินมีมากขึ้น สามารถซื้อของได้มากขึ้นในปริมาณเงินเท่าเดิม แต่ถูกแค่ไหนประชาชนก็จะไม่ค่อยกล้าใช้เงิน เพราะหาเงินยากขึ้น ผลต่อไปคือคนขายขาดทุน ธุรกิจเรียงหน้าเจ๊ง แนวนโยบายการเงินที่รัฐต้องออกมาใช้คือ การลดดอกเบี้ย เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าฝากแล้วไม่คุ้ม เอาเงินออกมาซื้อของดีกว่า ส่วนผู้ผลิตได้เงินกู้ในดอกเบี้ยต่ำ ก็เอาไปพัฒนาธุรกิจต่อได้
      เห็นมั้ยคะ การโยงเหตุและผล และโยงกับชีวิตประจำวันเราจริงๆ ทำให้เราเข้าใจแก่นของมันจริงๆ แบบไม่ต้องท่องจำเลย

     หวังว่าเทคนิคตรงนี้จะช่วยน้องๆ ในการอ่านวิชาภาษาไทยและสังคมศึกษาได้มากขึ้นนะคะ ข้อดีไม่ใช่แค่ทำให้อ่านไม่น่าเบื่อ แต่ถ้ามองจนเข้าใจ มันจะอยู่ในความจำเราได้นานเลยค่ะ อย่าลืมนำไปใช้กันดูนะ^^
 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด