สวัสดีค่ะ คาดว่าสัปดาห์หน้า น่าจะรู้กันแล้วว่าแนวทางของ TCAS 63 จะออกมาเป็นแบบไหน ในระหว่างที่รอรายละเอียดจาก ทปอ. พี่แป้งมีอีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจและอยากให้น้องๆ รู้ก่อน นั่นก็คือ โควตาประเภทต่างๆ ที่ต้องเจอในระบบ TCAS พร้อมแล้วไปดูกันเลย

โควตาเรียนดี
โควตาสำหรับน้องๆ ที่มีผลการเรียนดี จะกำหนดผลการเรียนขั้นต่ำ เช่น GPAX ต้องไม่ต่ำกว่า 3.00, GPA คณิต > 2.75 เป็นต้น ส่วนใหญ่จะพิจารณาโดยใช้เกรดและการสอบสัมภาษณ์ บางโครงการอาจจะใช้ Portfolio ร่วมด้วย
ตัวอย่างโควตา : โครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

โควตาพื้นที่
เป็นโควตาที่กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร ต้องมีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านตรงกับพื้นที่ที่กำหนดในโควตานั้นๆ อาจจะมีการกำหนดเกรดหรือไม่มีก็ได้ โควตาพื้นที่มีหลายแบบ เช่น โควตาภาคเหนือ, โควตาภาคอีสาน, โควตา 12 จังหวัดภาคตะวันออก, โควตา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, โควตาพิเศษ 30 จังหวัด เป็นต้น
ตัวอย่างโควตา : โควตา 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


โควตาโอลิมปิกวิชาการ
เป็นโควตาเฉพาะน้องๆ ที่ผ่านค่ายโอลิมปิกวิชาการ แต่ละโครงการจะกำหนดต่างกัน บางโครงการกำหนดว่าต้องได้เหรียญ แต่บางโครงการกำหนดถึงการผ่านค่าย(ไม่ต้องได้เหรียญก็ได้) หรือบางโครงการกำหนดว่าอยู่ในลำดับที่ 1-50 ของการสอบโอลิมปิกวิชาการ โดยส่วนใหญ่จะมีระบุว่าเป็นค่ายไหน สอวน. หรือ สสวท.
ตัวอย่างโควตา : โครงการโอลิมปิกวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล


โควตาโรงเรียน
โควตาประเภทนี้ จะเป็นโครงการที่กำหนดคุณสมบัติของน้องๆ ว่าต้องเป็นนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนที่กำหนดเท่านั้น เช่น โควตาโรงเรียนสาธิต, โควตาโรงเรียน MOU เป็นต้น โดยบางโครงการอาจจะกำหนดภูมิลำเนาด้วย โควตาประเภทนี้จะส่งตรงถึงโรงเรียน เฉพาะมากจริงๆ
ตัวอย่างโควตา : โครงการความร่วมมือ "โรงเรียนสาธิต มศว และโรงเรียนในเครือข่าย" มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


โควตาผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิชาการ
ใครที่มีความสามารถพิเศษด้านวิชาการ เรียกง่ายๆ ว่าเรียนเก่งแต่เก่งเป็นวิชา ต้องตามข่าวโควตาประเภทนี้เลยค่ะ เป็นโควตาที่กำหนดคุณสมบัติให้กับน้องๆ ที่เก่งเป็นรายวิชาไป เช่น มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์, มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ, มีความสามารถทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยความสามารถนั้นจะดูจากเกรดหรือการแข่งขันที่เคยได้รับรางวัลนั่นเอง
ตัวอย่างโควตา : โควตาผู้ที่มีความสามารถทางวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


โควตาผู้มีความสามารถพิเศษด้านศิลปะ-วัฒนธรรม
นอกจากความสามารถพิเศษทางด้านวิชาการแล้ว ยังมีโควตาที่เป็นความสามารถด้านศิลปะ-วัฒนธรรม เช่น ศิลปะ, ดนตรีไทย, ดนตรีสากล, นาฏศิลป์ เป็นต้น ซึ่งโควตาประเภทนี้จะเจอเยอะมากใน TCAS รอบ 1 เพราะต้องแสดง Portfolio บางโครงการมีให้สอบปฏิบัติเพิ่มด้วย
ตัวอย่างโควตา : โครงการรับผู้มีความสามารถดีเด่นด้านดนตรี นาฏศิลป์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง


โควตานักกีฬา
อันนี้เป็นโควตาพิเศษเฉพาะน้องๆ ที่เป็นนักกีฬา ส่วนใหญ่จะไม่กำหนดเกรด หรือถ้ากำหนดก็น้อยมากๆ ประเภทกีฬาก็ขึ้นอยู่กับที่แต่ละโครงการกำหนด ที่ฮิตสุดๆ ก็เช่น ฟุตบอล ว่ายน้ำ วิ่ง เทควันโด เป็นต้น แน่นอนว่าจะเข้าโควตาประเภทนี้ได้ต้องเป็นนักกีฬาระดับจังหวัดขึ้นไปที่เคยชนะการแข่งขันในรายการที่โครงการกำหนดด้วย
ตัวอย่างโควตา : โครงการรับผู้มีความสามารถทางด้านกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

โควตาทายาท
เป็นอีกโควตาที่เฉพาะทางมากๆ คุณสมบัติหลักของผู้ที่จะสมัครโควตานี้ก็คือ ต้องเป็นทายาทตรงกับสาขาที่จะสมัคร เช่น คณะเภสัชศาสตร์ ต้องเป็นทายาทร้านยาโดยตรง, คณะสัตวแพทยศาสตร์ ต้องเป็นทายาทของสัตวแพทย์ หรือ สาขาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ต้องเป็นทายาทของผู้ประกอบการด้านนี้ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง เป็นต้น
ตัวอย่างโควตา : โครงการทายาทผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย /การแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน มหาวิทยาลัยมหิดล


โควตาผู้พิการ
เป็นโควตาพิเศษสำหรับน้องๆ ที่มีความผิดปกติทางร่างกาย หรือเป็นผู้พิการที่ได้รับบัตรผู้พิการแล้ว โดยความพิการนั้นต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา แต่ละโครงการจะมีการกำหนดไว้ว่าผู้พิการประเภทใดที่สามารถสมัครได้ เช่น คณะครุศาสตร์ ผู้พิการทางด้านสายตา ก็สามารถสมัครได้ เป็นต้น
ตัวอย่างโควตา : โครงการนักศึกษาพิการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


โควตาเด็กกิจกรรม
เป็นโควตาสำหรับเด็กกิจกรรม ที่ได้เข้าร่วมการทำกิจกรรมในประเภทต่างๆ โดยโควตาประเภท แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีนี้มีชื่อเรียกต่างกัน เช่น โควตาเด็กดีมีที่เรียน, โควตาพลเมืองจิตอาสา, โควตาผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณะ เป็นต้น ซึ่งรายละเอียดจะคล้ายๆ กันคือต้องมี Portfolio เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ที่เคยเข้าร่วม โควตานี้ใน TCAS รอบ 1 มาหลายมหาวิทยาลัยเลยค่ะ
ตัวอย่างโควตา : โครงการนักเรียนพลเมืองจิตอาสา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


โควตานักเรียนห้องวิทย์
ในบางโรงเรียนจะมีห้องเรียนพิเศษ เป็นห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ที่มีชื่อเรียกต่างกัน เช่น โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน (วมว.), โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ซึ่งห้องพิเศษเหล่านี้จะมีโควตาเข้าคณะสายวิทย์ เช่น คณะวิทยาศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์ แล้วก็ต้องไปสอบคัดเลือกอีกทีหนึ่ง
ตัวอย่างโควตา : โครงการรับนักเรียนโครงการ วมว. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี


โควตาผู้เรียนดีแต่ขาดทุนทรัพย์
โควตาสุดท้ายเป็นโครงการที่เข้ามาสนับสนุนการศึกษาสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และเป็นผู้ที่มีผลการเรียนดี ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ว่า ครอบครัวมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 200,000 บาท มีการกำหนดเกรดขั้นต่ำเฉลี่ยที่ 3.00 และต้องมีการสอบคัดเลือก เมื่อสอบติดแล้วทางโครงการจะสนับสนุนค่าเรียน บางโครงการมีเบี้ยเลี้ยงรายเดือนให้ด้วยค่ะ
ตัวอย่างโควตา : โครงการจุฬาฯ-ชนบท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเจอโควตาประเภทต่างๆ ไม่ได้เจอแค่ TCAS รอบโควตาเท่านั้นนะคะ เราสามารถเจอได้ตั้งแต่ TCAS รอบแรกเลย แต่จะมีการคัดเลือกที่ต่างกัน โควตาในรอบ 1 จะใช้ Portfolio ในการคัดเลือก แต่ในรอบ 2 อาจจะมีใช้คะแนนสอบ GAT PAT, วิชาสามัญมาด้วย เพราะฉะนั้นเตรียมตัวให้ดีเน้อ รอบแรกเริ่ม 2 ธ.ค.นี้แล้ว!

 
"ไม่อยากพลาดรอบ TCAS ในฝัน พี่ๆ Dek-D ชวนมาอัปเดตระบบ TCAS 63 แบบเจาะลึก พร้อมทริคเตรียมตัวสอบและการเอาตัวรอดใน TCAS รอบต่างๆ มาเจอกันได้ที่ Dek-D's TCAS on Stage DEBATE รอบพิเศษ ตอน TCAS'63 รอบไหนที่ใช่คุณ? 5 ต.ค.นี้ ที่ฮอลล์ EH 106 ไบเทคบางนา รายละเอียดคลิก " 
 
พี่แป้ง
พี่แป้ง - Columnist นักข่าวสายรับตรง พร้อมเสิร์ฟข่าวสอบเข้าทุกมหา'ลัย เติมพลังได้จากชาเย็นหวานน้อย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น