สวัสดีค่ะน้อง ๆ ถ้าให้พูดถึง TCAS รอบที่ 2 หรือที่เรียกกันว่ารอบโควตา (Quota) หลายคนคงนั่งทำหน้าเศร้า หรือเบือนหน้าหนี ไม่สนใจในรอบนี้ เพราะคิดว่าเป็นรอบของเพื่อนๆ ในภูมิภาคต่างๆ เท่านั้น เราไม่มีสิทธิ์สมัคร เพราะเป็นเด็กกรุงเทพฯ เด็กภาคกลาง.....ไหนๆ ใครกำลังคิดแบบนี้อยู่ พี่แนนนี่ขอบอกตรงนี้เลยว่า “พลาดแล้วล่ะค่ะ เพราะรอบนี้ไม่มีแต่โควตาพื้นที่เท่านั้น”
 

 
      จริงอยู่ที่รอบที่ 2 หรือรอบโควตา จะเป็นรอบที่บรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ จะเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีภูมิลำเนา หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ ในจังหวัดที่กำหนด หรือเรียนอยู่โรงเรียนในภูมิภาคเดียวกับมหาวิทยาลัยได้สมัครในรอบนี้ แต่หลายมหาวิทยาลัยยังเปิดรับโครงการอื่นๆ ที่ไม่ได้กำหนด “พื้นที่” แต่จะมีการใช้คุณสมบัติอื่น ๆ เป็นเกณฑ์การพิจารณา ซึ่งพี่แนนนี่ได้ไล่ดูระเบียบการของปี 2563 ก็สามารถแยกออกเป็นโครงการหลัก ๆ ได้ 3 รูปแบบ ดังนี้
โครงการความสามารถพิเศษ
      ไม่ว่าจะเป็นความสามารถพิเศษทางด้านวิชาการ ด้านดนตรี-นาฏศิลป์ ด้านกีฬา หรือความสามารถเฉพาะด้านอื่น ๆ ตามที่กำหนด เช่น โอลิมปิกวิชาการ นักเรียนเรียนดี หรือผ่านการแข่งขัน ได้รับรางวัลต่าง ๆ ก็ยังมีหลายมหาวิทยาลัยเปิดรับในรอบนี้ ซึ่งน้อง ๆ จะต้องมีคุณสมบัติเหล่านี้ และคะแนนสอบตามที่กำหนดไว้ เช่น GAT-PAT O-NET วิชาสามัญ หรือวิชาเฉพาะ
ตัวอย่างโครงการ
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : รับผู้มีความสามารถทางด้านศิลปวัฒนธรรม (16 คณะ 73 ที่นั่ง)
เกณฑ์การคัดเลือก > GPAX (ขั้นต่ำ) + คะแนน GAT-PAT 40% + ทดสอบความสามารถฯ 60% และสอบสัมภาษณ์
 
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : รับผู้มีความสามารถดีเด่นทางการกีฬา (18 คณะ 59 ที่นั่ง)
เกณฑ์การคัดเลือก > GPAX (ขั้นต่ำ) + คะแนน GAT + คะแนน O-NET
 
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รับผู้มีความสามารถพิเศษด้านสถาปัตยกรรม
เกณฑ์การคัดเลือก > คะแนน GAT + คะแนน O-NET + คะแนนวิชาสามัญ + สัมภาษณ์

 
โครงการบรรพบุรุษ-ทายาท
      ถ้าน้อง ๆ เป็นลูกหลานของสายอาชีพนั้น ๆ โดยตรง หรือครอบครัวทำธุรกิจ/ทำงานที่เกี่ยวกับกับสาขาวิชา หรือแม้แต่เป็นลูกหลานของศิษย์เก่า หรือบุคลากรในสถาบัน ก็สามารถยื่นสมัคร พร้อมคะแนนต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ได้เลย
ตัวอย่างโครงการ
  • มหาวิทยาลัยมหิดล: สาขาวิชาแพทย์แผนไทยประยุกต์ โครงการทายาทสายตรงของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้าน
เกณฑ์การคัดเลือก > GPAX (ขั้นต่ำ) + คะแนน GAT-PAT + คะแนน O-NET
 
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : โครงการลูกพระพิรุณ รับบุตรบุคลากร นิสิตเก่า หรือตามหน่วยงานที่กำหนด (12 คณะ 103 ที่นั่ง)
เกณฑ์การคัดเลือก (แล้วแต่คณะ) > GPAX (ขั้นต่ำ) /คะแนน GAT-PAT /คะแนน O-NET /คะแนนวิชาสามัญ/สอบสัมภาษณ์
 
  • มหาวิทยาลัยศิลปากร: คณะมัณฑนศิลป์ โควตาบุตร-เจ้าของอุตสาหกรรม/ธุรกิจเครื่องประดับ
เกณฑ์การคัดเลือก > วิชาเฉพาะที่มหาวิทยาลัยจัดสอบ 2 วิชา

 
โครงการอื่น ๆ
      โครงการที่เปิดรับในรอบนี้ ทั้งที่เป็นโครงการที่ใช้คุณสมบัติอื่น ๆ หรือใช้คะแนนสอบอย่างเดียวเท่านั้น และอาจจะมีบางโครงการที่ใช้คุณสมบัติอื่น ๆ แต่กำหนดพื้นที่รวมเข้าไปด้วย เช่น โครงการนักเรียนพิการ โครงการเด็กดีมีที่เรียน โครงการจิตอาสา โครงการทุนการศึกษา-ขาดแคลน เป็นต้น
ตัวอย่างโครงการ
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ : โครงการเด็กไทยสู่สากล (6 คณะ 105 ที่นั่ง) รับนักเรียนที่จบจากห้องเรียนที่การเรียนการสอนเป็นภาษาต่างประเทศ
เกณฑ์การคัดเลือก (แล้วแต่คณะ) > GPAX (ขั้นต่ำ) /คะแนน GAT-PAT /คะแนน O-NET /คะแนนวิชาสามัญ/วิชาเฉพาะ/สัมภาษณ์
 
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาภาษาสเปน
เกณฑ์การคัดเลือก > คะแนน GAT 40% + คะแนนความสามารถทางภาษาสเปน (วิชาเฉพาะ) 60%
 
  • มหาวิทยาลัยบูรพา : โครงการรับตรงคณะศิลปกรรมศาสตร์
เกณฑ์การคัดเลือก > GPAX 10% + GPA 3 กลุ่มสาระฯ 20% + วิชาเฉพาะ 70% + สัมภาษณ์
 
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี : โครงการรับนักศึกษาพิการ (3 คณะ 12 ที่นั่ง)
เกณฑ์การคัดเลือก > GPAX + GPA กลุ่มสาระฯ + สัมภาษณ์
 
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ : โครงการรับตรงสอบข้อเขียน
เกณฑ์การคัดเลือก (แล้วแต่คณะ) > GPAX + วิชาเฉพาะ + สัมภาษณ์

 
ปล. บางโครงการในรอบโควตา จะคล้าย ๆ กับโครงการในรอบ Portfolio แต่จะต่างตรงที่ว่า รอบโควตาจะมีการใช้คะแนนข้อสอบกลาง หรือข้อสอบที่มหาวิทยาลัยจัดสอบขึ้น เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบการพิจารณา
 
      สำหรับในรอบโควตา หลาย ๆ มหาวิทยาลัยจะกำหนดพื้นที่ ให้น้องศึกษา “จังหวัด” หรือ “พื้นที่” ที่แต่ละมหาวิทยาลัยเปิดรับให้ดี เพราะบางที่มีเปิดรับจังหวัดที่ไม่ได้อยู่ในภูมิภาคของตัวเอง เช่น โครงการภาคตะวันออก ม.บูรพา เปิดรับนักเรียน จ.นครนายก อยุธยา สมุทรปราการ หรือบางมหาวิทยาลัยก็กำหนดเป็นโรงเรียนในเครือข่าย หรือพื้นที่ใกล้เคียงมหาวิทยาลัย เช่น ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.เกษตรศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น
 
      โครงการข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างที่เปิดรับในปีนี้เท่านั้น ดังนั้นสำหรับน้อง ๆ คนไหนที่ยกธงขาว ยอมแพ้ใน TCAS รอบที่ 2 หรือรอบโควตาไปแล้ว อาจจะลองไปเปิดระเบียบการของมหาวิทยาลัยที่สนใจ อาจจะเจอโครงการดีดี ที่เรามีคุณสมบัติพร้อม ซ่อนอยู่ก็ได้นะคะ
พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น