แชร์ประสบการณ์ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย : เฟรชชี่แต่ละคณะเตรียมตัวเรียนยังไง?

                        สวัสดีค่ะน้อง ๆ ถ้าพูดถึงจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ของเด็ก ม.6 ก็คงหนีไม่พ้นการโบกมือลาชีวิตมัธยมฯ ไปสู่โลกใบใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัย ยังไม่เปิดเทอมหลายคนกลัวไปแล้วหลายสิ่ง โดยเฉพาะกลัวเรียนไม่รอด T T 


 
                        วิธีหนึ่งที่จะทำให้เอาชนะความกลัวได้ ก็คือการทำความรู้จักสิ่งนั้นเยอะ ๆ ค่ะ ลองมาดูประสบการณ์จากรุ่นพี่แต่ละคณะกันว่า ก่อนเปิดเทอมเข้ามหาวิทยาลัย พี่ๆ เตรียมความพร้อมกันยังไงบ้าง จะได้หายกลัว       

กลุ่มวิทย์สุขภาพ 
                        (แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ กายภาพบำบัด สหเวชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุขศาสตร์ ฯลฯ)
                        คำแนะนำสำหรับน้อง ๆ กลุ่มวิทย์สุขภาพ รุ่นพี่บอกมาว่า “นอน” ค่ะ นอนพักให้เยอะ ๆ เพราะอนาคตน้องจะโหยหาการนอนมาก วิทย์สุขภาพเป็นกลุ่มคณะที่ค่อนข้างสอบบ่อย สอบยิบย่อยมาก อย่างไรก็ตามถ้าน้อง ๆ อยากเตรียมตัวก่อนเข้าไปเรียน ก็ควรเก็บพื้นฐานฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาให้แน่น ๆ เพราะจะมีการนำเนื้อหาบางส่วนมาปรับพื้นอีกครั้ง ส่วนใหญ่ชื่อวิชามักจะหลอก เช่น ชีววิทยาทั่วไป ฟิสิกส์ทั่วไป ฯลฯ แต่เนื้อหาไม่ทั่วไป จะเพิ่มระดับความยากมากขึ้น และเน้นนำความรู้ไปประยุกต์กับศาสตร์ของตัวเอง ถ้าความรู้เดิมไม่แม่นพอ อนาคตมีเหนื่อยแน่ ๆ ค่ะ 
                        นอกจากอ่านหนังสือแล้วอีกสิ่งที่สามารถเตรียมได้ก็คือสกิลเฉพาะทางต่าง ๆ เช่น ทันตะฯ ส่วนใหญ่เน้นงานหัตถการ หลายคนเลยใช้เวลาช่วงปิดเทอมไปกับฝึกงานฝีมืออย่าง ปั้นดินน้ำมัน ดัดลวด แกะสลักแวกซ์ หล่อปูนปลาสเตอร์ ฯลฯ เพื่อเวลาเข้าไปเรียนจะได้คล่องมือและมีผลงานดี ๆ มาการันตีฝีมือ  

กลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ
                        (สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ สถิติ จุลชีววิทยา ชีวเคมี ชีววิทยา เทคโนโลยีชีวภาพ ธรณีวิทยา พฤกษศาสตร์ พันธุศาสตร์ วัสดุศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ วาริชศาสตร์ วิทยาศาสตร์การประมงและทรัพยากรทางน้ำ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สัตววิทยา)
                        คณะกลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพก็จะเรียนคล้าย ๆ กับกลุ่มวิทย์สุขภาพเลยค่ะ ปีแรกทุกสาขาวิชาจะเรียนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาพื้นฐานก่อน บางวิชาเนื้อหาคาบเกี่ยว ม.ปลาย เลย แต่ค่อนข้างลึกกว่ามาก ลึกจนรุ่นพี่บาง ม. บอกว่าหลุดออกไปจาก ม.ปลาย จนลืมไปเลยว่าเคยเรียนอะไรมา! ปีถัดไปถึงจะลงลึกตามสาขา ข้อควรระวังก็คือในบรรดาวิชาหลักที่กล่าวมา ถึงน้องไม่ถนัดอะไร ก็ควรจะเก็บเนื้อหาให้แม่น เพราะว่าได้เจอกันแน่ ๆ เคยมีกรณีรุ่นพี่เลือกสาขาชีววิทยา เพราะคิดว่าจะหนีฟิสิกส์ หนีแคล หนี stat ปรากฏว่าเจอตั้งแต่ปี 1 แถมลง Lab รัว ๆ ถ้าพอหาข้อมูลในเว็บคณะได้ แนะนำให้รีบเปิด course syllabus ดูวิชาเรียนปี 1 ค่ะ เรายังไม่ถนัดอะไรจะได้รีบเติมวิชานั้นให้เต็ม 

กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ-วิทยาการคอมพิวเตอร์

 
 
                        สำหรับกลุ่ม IT - ICT ปี 1 จะเรียนพื้นฐานก่อนเช่นกัน (บาง ม. มีปรับพื้นฐานโปรแกรมมิ่งให้ตั้งแต่ยังไม่เปิดเทอม) ส่วนใหญ่รุ่นพี่คณะนี้จะบอกว่าปี 1 ยังเรียนสบาย ๆ อยู่ เน้นไปที่ภาพรวมของวิชา IT เช่น พื้นฐาน IT , โปรแกรมมิ่ง , อัลกอริทึม , Data , Digital System สิ่งที่จะได้เจอ เช่น วิเคราะห์ระบบและแก้ปัญหา ออกแบบเว็บ เขียนโปรแกรม ภาษาซี จาวา แคลคูลัส ฯลฯ ดังนั้น ช่วงเวลาปิดเทอมนี้ ควรใช้เวลาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ IT ฝึกออกแบบ ฝึกเขียนโปรแกรมมาก่อนค่ะ รุ่นพี่บอกว่าคณะนี้แทบจะต้องเรียนรู้ตลอดเวลา โดยเฉพาะข่าวใหม่ ๆ ในแวดวงเทคโนโลยี    

กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์ 
                        ปี 1 เด็กวิศวะฯ จะได้เรียนพื้นฐานเป็นหลักคณิคศาสตร์เน้นแคลคูลัส (ดิฟ+อินทิเกรต) ฟิสิกส์ เคมี ภาษาอังกฤษ แต่เนื้อหาจะเป็นแบบฟิสิกส์ ม.ปลาย ทุกบทจบใน 1 ปี และมีเนื้อหาเชิงลึกมาเติมด้วยอีกมาก รุ่นพี่บอกว่าช่วงหลัง ๆ หนังสือ ม.ปลาย แทบไม่ได้หยิบมาเปิดอีกเลย ถ้าเป็นไปได้ควรจะทบทวนนิยามคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ตระกูลแคลคูลัสและกลศาสตร์ให้แม่น อาจจะหยิบโจทย์มาฝึกทำ เรื่องที่ไม่เข้าใจลองดูคลิปประกอบตาม youtube เพื่อให้เห็นภาพ จะช่วยให้เข้าใจคอนเซปต์เร็วขึ้น เพราะเวลาเรียนจะใช้นิยามและทฤษฎีในแนวประยุกต์แก้ปัญหาแบบเข้มข้น เวลาสอบต้องแสดงวิธีทำอย่างละเอียด แทบไม่มีช้อยส์แล้ว    

กลุ่มบัญชี บริหารธุรกิจ การจัดการ เศรษฐศาสตร์
                        ส่วนใหญ่ว่าที่เด็กกลุ่มนี้ มักจะกลัวว่าถ้าคณิตศาสตร์อ่อนมาก ๆ จะไหวไหม คำตอบคือน้องไม่ได้เจอคณิตทุกเรื่องในระดับ ม.ปลาย อาจเจอตรรกศาสตร์ ฟังก์ชัน เซต แต่ที่เน้น ๆ ก็จะมีสถิติกับแคลคูลัส เพราะวิชากลุ่มนี้พื้นฐานมาจากคณิตศาสตร์ แต่จะนำมาประยุกต์ใช้กับสถานการณ์มากกว่า อย่างบริหารก็จะมีสถิติประยุกต์เชิงบริหาร เศรษฐศาสตร์ก็จะใช้คณิตศาสตร์ในการวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นต่าง ๆ ดังนั้น ทวนเนื้อหา+ฝึกทำข้อสอบเก่าให้เข้าใจหลักเกณฑ์ของ 2 ตัวนี้มาก่อนก็จะดีค่ะ

กลุ่มนิติศาสตร์/รัฐศาสตร์ 
                        กลุ่มนี้ก็เตรียมตัวอ่านตามสิ่งที่เราเลือกเรียนเลยค่ะ นิติศาสตร์เน้นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายมาก่อน พยายามทำความเข้าใจตัวบทกฎหมายและการนำไปปรับใช้ อาจจะดูแนวทางจากตัวอย่างข้อสอบ การเขียนตอบวิชากฎหมาย รุ่นพี่บางคนบอกว่าช่วงปิดเทอมใช้เวลาไปกับการท่องประมวลกฎหมายและมาตราสำคัญ ๆ เรียกว่าท่องล่วงหน้าและโยงกับหลักการ เพราะกลัวไม่ทัน ส่วนรัฐศาสตร์รุ่นพี่บอกว่าอาศัยตามข่าวการเมืองเยอะ ๆ แล้วก็ฝึกวิเคราะห์เหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันให้พอเป็นแนวทาง    

กลุ่มอักษรศาสตร์/มนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์/โบราณคดี



 
                        กลุ่มภาษาส่วนใหญ่จะเป็นหนอนหนังสืออยู่แล้ว ปิดเทอมนี่รุ่นพี่เห็นตรงกันว่าอ่านไปเลยค่ะ อ่านทุกสิ่งที่อยากอ่าน วรรณกรรม การ์ตูน อ่านไปเลย! แต่ที่อยากให้เน้นก็คือสกิลภาษา ภาษาอังกฤษควรฝึกมาให้ครบ 3 ด้าน Writing Listening Speaking ส่วนภาษาที่ 3 น้องสามารถฝึกทักษะเพิ่มเติมได้ตามสาขาที่เลือกเรียนเลย นอกจากนี้อยากให้ลองเพิ่มเติมเรื่องการจับใจความและการให้เหตุผล เพราะต่อไปจะได้นำมาใช้เยอะเลย

กลุ่มครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ 
                        สำหรับว่าที่คุณครูปี 1 จะมีวิชาพื้นฐานของคณะที่ทุกสาขาต้องเรียนรวมกัน เช่น สังคม อังกฤษ ไทย คณิต ฯลฯ แล้วก็จะมีเรื่องของวิชาชีพครู จิตวิทยาการศึกษา ก่อนที่จะเน้นกันไปตามสาขาค่ะ ถ้าถามวิธีเตรียมตัวหลัก ๆ รุ่นพี่ก็เตรียมไปตรงสาขาที่เลือกนะคะ เพราะวิชาที่เรียนรวมจะเป็นพื้นฐานทั่วไปมากกว่า สิ่งที่จะติดตัวไปตลอดคือสาขาหลักที่เลือก เพราะเรียนไปจะยิ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ รุ่นพี่บางคนก็ใช้เวลาช่วงปิดเทอมไปกับการฝึกสอนพิเศษ ซ้อมมือไปก่อนค่ะ   

กลุ่มนิเทศฯ วารสารฯ สื่อสารมวลชน 
                        คณะกลุ่มนี้อยู่ในแวดวงสื่อ ผู้เรียนจะต้องวางตัวเหมือนฟองน้ำพร้อมที่จะซึมซับความรู้ต่าง ๆ เข้ามา   สิ่งที่น้องจะได้เจอแน่ ๆ ตอนปี 1 ก็คือความรู้เบื้องต้นด้านการสื่อสาร เรียนความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับนิเทศศาสตร์ สื่อทางวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ ฯลฯ รุ่นพี่บางคนใช้เวลาช่วงปิดเทอมแข่งทำภาพยนตร์สั้นกับทีม หรือออกไปถ่ายรูปตามสถานที่ต่าง ๆ มาประกวดภาพถ่าย แต่สถานการณ์โควิดแบบนี้คงลำบาก น้อง ๆ อาจจะเริ่มด้วยการสำรวจคอนเท้นต์ตามสื่อต่าง ๆ แล้วลองครีเอตผลงานของตัวเองไปพลาง ๆ ก่อนก็ได้ค่ะ 

กลุ่มศิลปะ 
                        (สถาปัตยกรรม ศิลปกรรมศาสตร์ เรขศิลป์ นิเทศศิลป์ ทัศนศิลป์ นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ การแสดง การละคอน)


 
                        คณะกลุ่มศิลปะเป็นกลุ่มที่น้อง ๆ ผู้มีใจรักได้แสดงฝีมือและความคิดสร้างสรรค์กันอยู่แล้ว ส่วนใหญ่พื้นฐานที่เหมือนกันก็คือการฝึกทักษะวาดรูป สเก็ตรูป (ยกเว้น ดุริยางคศิลป์ สายนั้นเน้นไปที่ดนตรี) ดังนั้น ที่เตรียมตัวได้ดีก็คือน้องต้องหมั่นเติมความสามารถให้ตัวเองด้วยการฝึกปฏิบัติเยอะ ๆ ถ้าเป็นสายออกแบบก็ฝึกดูงานดีไซน์เยอะ ๆ เพื่อหาไอเดียเจ๋ง ๆ ส่วนดุริยางคศิลป์หรือการแสดงก็อาจจะอ่านทฤษฎีดนตรี ทฤษฎีการละครและการสื่อสาร ดูงานตามสื่อต่าง ๆ เพื่อเก็บเทคนิคมาปรับใช้กับตัวเองเหมือนกัน รุ่นพี่บางคนได้ประโยชน์ 2 ต่อจากช่วงปิดเทอม นอกจากจะฝึกฝีมือตัวเองแล้วยังนำไปสร้างรายได้ได้ด้วย อย่างเพื่อนพี่เมก้าก็เปิดร้านสมุดทำมือเก๋ ๆ ทำสร้อยข้อมือ D.I.Y ถ่ายคลิปเล่นดนตรีอัพลง Youtube รายได้เป็นกอบเป็นกำ

                        คนเรามักจะเกิดความกลัวทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง แต่จริง ๆ แล้วชีวิตมหาวิทยาลัยไม่มีอะไรน่ากลัวเลยค่ะ เรื่องการเรียนที่สูงขึ้นทำให้เรียนยากกว่า ม.ปลาย ก็จริง แต่มหาวิทยาลัยจะให้เวลาเราได้ทบทวนและหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเอง คาบเรียนที่น้อยลงต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ เวลาว่างที่เพิ่มขึ้นต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ แล้วน้องจะผ่านมันไปได้แบบไม่ทุกข์จนเกินไปและมีความสุขแบบพอดี ๆ ค่ะ สู้!  
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด