ที่สุดของความภูมิใจ! ครั้งแรกในไทย จุฬาฯ ติด Top 100 มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการ จาก QS Ranking


                เรียกว่าเป็นข่าวดีของวงการการศึกษาไทย เมื่อประเทศไทย มีสถาบันการศึกษาที่สามารถติด Top 100 ของโลกในด้านวิชาการแล้ว นั่นก็คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งติดอันดับ 96 ของโลก จากการจัดอันดับของ QS World University Ranking 2021 ประกาศผลไปเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยขยับจากปีที่แล้วขึ้นมาถึง 39 อันดับ เป็นการตอกย้ำว่าการศึกษาไทยเป็นที่ยอมรับของโลก

                    การจัดอันดับของ QS WORLD UNIVERSITY RANKINGS นับว่าเป็นการจัดอันดับที่เป็นที่นิยมอันดับต้นๆ ของโลก โดยพิจารณาตัวชี้วัด 6 ด้านคือ ความมีชื่อเสียงด้านวิชาการ (40%) การเป็นที่ยอมรับจากนายจ้าง (10%) สัดส่วนอาจารย์ต่อนิสิต (20%) ผลงานวิชาการต่ออาจารย์ (20%)  สัดส่วนของอาจารย์ชาวต่างชาติ (5%) และสัดส่วนของนิสิตชาวต่างชาติ (5%) ซึ่งความมีชื่อเสียงด้านวิชาการ เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโดย QS ได้สะท้อนความเชื่อมั่นผ่านการแสดงความคิดเห็นจากตัวแทนนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และสถาบันการศึกษากว่า 100,000 คนทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีมหาวิทยาลัยที่ติด TOP 100 ของ QS WORLD UNIVERSITY RANKINGS

 

                    ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ผู้รักษาการแทนอธิการบดี จุฬาฯ ได้กล่าวถึงผลการจัดอันดับนี้ว่า เป็นผลจากการเรียนการสอนและงานวิชาการที่ไม่หยุดนิ่งโดยประชาคมจุฬาฯ เพื่อพัฒนาคนไปพร้อมกับการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทำให้วันนี้จุฬาฯ เป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่ง 3 แกนหลักที่จุฬาฯ มุ่งผลักดันพัฒนาให้ถึงขีดสุด ค่อ คน นวัตกรรม และความยั่งยืนทางสังคม

                    แกนที่ 1 การพัฒนาคน จุฬาฯ เสริมสร้างและพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณสมบัติพร้อมเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศและโลก มีความสามารถด้านวิชาการที่ควบคู่ไปกับจิตสาธารณะและความเป็นผู้นำ
                    แกนที่ 2 การสร้างสรรค์นวัตกรรม จุฬาฯ ไม่เพียงแต่เน้นด้านวิชาการ แต่คณาจารย์ นักศึกษาในมหาวิทยาลัย ต่างมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ นวัตกรรมของจุฬาฯ จะต้องนำไปใช้ประโยชน์ได้ แก้ปัญหาได้จริง เป็นที่นิยมของผู้ใช้งาน และจะต้องมีมูลค่าในเชิงพาณิชย์ด้วย โดยในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส covid-19 จุฬาฯ มีนวัตกรรมที่เกิดขึ้น เช่น
                    - การพัฒนาต้นแบบ "วัคซีน COVID-19" โดยทดลองในลิงเป็นแห่งแรกในประเทศไทย
                    - "Chula Baiya Strip Test" นวัตกรรมชุดตรวจภูมิคุ้มกันเชิงรุก ปูพรมตรวจภูมิคุ้มกันก่อนคลายล็อกดาวน์ให้ชาวปัตตานีนัับหมื่นราย หรือที่ถูกขนานนามให้เป็น "ปัตตานีโมเดล"
                    - innovation District ศูนย์รวมการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมของประเทศและเป็นพื้นที่สำหรับการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ

                    นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 คณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ ได้สร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของประเทศ สร้างชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น
                    - น้องปิ่นโต หุ่นยนต์ส่งอาหารและยาระยะไกล พร้อมระบบ Telepresence เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานหน้างาน มีการใช้งานจริงจากโรงพยาบาลกว่า 10 แห่ง
                    - หุ่นยนต์นินจา หุ่นยนต์ช่วยหมอในช่วงโควิด สามารถเคลื่อนไหวและเชื่อมต่ออุปกรณ์วัดบันทึกสัญญาณชีพ เช่น วัดความดัน วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดชีพจร วัดอุณหภูมิได้ นอกจากนี้แพทย์และพยาบาล สามารถควบคุมสั่งการทำงานของหุ่นยนต์จากระยะไกลได้
                    - น้องกระจก คืออุปกรณ์ที่เปรียบเสมือนกระจก ที่แสดงภาพและเสียงบุคคลในการสื่อสารกัน คุณหมอและพยาบาลสามารถติดต่อสื่อสารและสังเกตอาการของผู้ป่วยโดยไม่จำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้ป่วย โดยอุปกรณ์นั้นจะใช้แท็บเล็ตที่เชื่อมต่อกันด้วยระบบสื่อสารทางไกล
                    - สเปรย์หน้ากากกรองฝุ่น กันไวรัส เป็นสเปรย์ที่ใช้สำหรับการฉีดลงบนหน้ากากผ้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันไวรัส และยังสามารถกันฝุ่น PM 2.5 ได้ และยังช่วยลดจำนวนขยะจากหน้ากากอนามัยได้เป็นจำนวนมาก

                    แกนที่ 3 การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน เป็นหลักคิดในการดำเนินนโยบายของมหาวิทยาลัยตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา จุฬาฯ มองไกลถึงคุณภาพชีวิตของประชาคมจุฬาฯ ชุมชนโดยรวม ได้เริ่มต้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการจัดการสิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มหาวิทยาลัยได้มอบอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ เพื่อเป็นปอดกลางกรุงแก่ชุมชน อีกท้งยังปลูกจิตสำนึกด้านการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ผ่านโครงการ Chula Zero Waste ซึ่งผลการรณรงค์ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา สามารถลดการเกิดขยะไปแล้วกว่า 100 ตัน

 
                    สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้ครองอันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทยเป็นปีที่ 12 ติดต่อกัน โดยอยู่อันดับที่ 96 ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิชาการของโลก และอยู่ในอันดับที่ 46 ของมหาวิทยาลัยระดับเอเชีย
 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น